การไปทำงานอาสาสมัครที่ศูนย์อนุรักษ์เต่ายักษ์แห่งกาลาปากอส ของ ‘จุ๊’ ธิดารัตน์ มีสุขศรี สาวไทยซึ่งมีหน้าที่การงานเป็นผู้จัดการโครงการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ แห่งศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ของเนสท์เล่ ประเทศเยอรมนี มีจุดเริ่มต้นที่ไม่ชวนฝันนัก เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่การเดินทางไปยังหมู่เกาะกาลาปากอส ประเทศเอกวาดอร์ในครั้งแรกของชีวิต มาจากการสานต่อทริปฮันนีมูนที่เธอเคยวางแผนไว้กับคนรัก แต่เมื่อว่าที่คู่ชีวิตชาวฝรั่งเศสของเธอเสียชีวิตลงจากการติดเชื้อมาลาเรียเมื่อคราวไปทำงานอาสาสมัครสร้างโรงเรียนให้เด็กชาวแคเมอรูน ทริปนี้ของเธอจึงเปลี่ยนเป็นทริปการทำงานอาสาสมัคร กับโครงการ Projects Galapagos ซึ่งก่อตั้งโดย วิลเลียม พูกา วาสเควซ ชาวเกาะกาลาปากอสโดยกำเนิด ที่ดำเนินมาแล้ว 25 ปี และโครงการนี้ก็ได้พาเกาะกาลาปากอสที่สัตว์ท้องถิ่นอย่างเต่ายักษ์เคยถูกล่าจนเกือบจะสูญพันธุ์จากเกาะไปแล้วให้กลับมาเพิ่มจำนวน และสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพอีกครั้ง 

นอกจากการทำงานอาสาสมัครครั้งนี้ จะจุดประกายการทำงานเพื่อโลกซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวกันของมนุษย์ทุกคนแล้ว ความสุขใจในการทำงานยังพาเธอก้าวข้ามความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้นจากงานอาสาจนอยากจะวางมือ ให้กลับมาทำงานที่เธอรักได้อย่างเต็มหัวใจอีกครั้ง

สวมเสื้ออาสาสมัคร ทำงานกับเจ้าบ้านแห่งกาลาปากอส 

“จุ๊ชอบทำงานอาสาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย กระทั่งทำงานก็ยังทำอยู่ งานอาสาสมัครที่ทำจะเป็นด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันสอดคล้องกับที่ตัวเราชอบเที่ยวอุทยานแห่งชาติด้วย และงานอาสาหนึ่งที่ทำมาตลอดคืองานอนุรักษ์เต่าทะเลตั้งแต่อยู่เมืองไทย เราชอบความน่ารักของเต่า ตอนไปประจำอยู่ที่สิงคโปร์ก็เคยข้ามไปทำงานที่ศูนย์อนุรักษ์เต่าที่มาเลเซียด้วย ตอนหลังแม้ไม่ได้ไปก็ใช้วิธีบริจาคเงินสนับสนุนการอนุรักษ์เต่าแทน”

เมื่อเป้าหมายของการไปกาลาปากอสเปลี่ยนไป จุ๊จึงเริ่มหาข้อมูลงานอาสาสมัคร และสมัครเข้าทำงานกับโครงการ Projects Abroad องค์กรที่ทำหน้าที่จัดหาอาสาสมัครจากทั่วโลก เพื่อไปร่วมโครงการต่างๆ ทั่วโลก และ Projects Abroad ก็เป็นสะพานเชื่อมให้เธอเข้าไปเป็นหนึ่งในอาสาสมัครโครงการ Projects Galapagos องค์กรท้องถิ่นที่ก่อตั้งโดย วิลเลียม พูกา วาสเควซ ชาวกาลาปากอสโดยกำเนิด ที่ย้ายกลับมายังบ้านของตัวเองในวันที่เกาะถูกทำลายไปมาก และร่วมกับอาสาสมัครฟื้นฟูกาลาปากอสจนกลับมาเข้มแข็ง ด้วยเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน 

“ตอนแรกไม่คิดว่าจะยากนะคะ เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำงานอนุรักษ์เต่าในไทยกับในมาเลเซีย งานของเราคือดูแลที่เพาะไข่ เอาไข่เต่าไปปล่อย มีงานที่ต้องลงแรงบ้างก็ง่ายๆ เช่นทำความสะอาดบ่อ แต่ที่กาลาปากอสมีงานให้เราทำครบทุกอย่าง ตารางการทำงานชัดเจน โดยงานของเราคือการทำงานกับเจ้าหน้าที่อุทยาน ในการสำรวจและอนุรักษ์เต่ายักษ์กาลาปากอส สิงโตทะเล นก และสัตว์อื่นๆ ซึ่งเป็นสัตว์พื้นถิ่นบนเกาะ”

Created with RNI Films app. Preset ‘Agfa RSX II’

ที่พักและการทำงานของจุ๊อยู่บนเกาะซาน คริสโตบอล ในหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์อนุรักษ์เต่ายักษ์แห่งกาลาปากอสด้วย โดยอาสาสมัครที่เดินทางมาจากทั่วโลก มีทั้งคนทำงานที่สนใจงานอนุรักษ์และใช้วันหยุดยาวเช่นเดียวกับเธอ นักศึกษาที่งานอาสาสมัครบรรจุอยู่ในโปรแกรมการเรียน นักเรียนที่เรียนจบมัธยมปลายและใช้เวลาช่วง Gap Year หรือ 1 ปีก่อนเข้ามหาวิทยาลัยทำสิ่งที่อยากทำ ฯลฯ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาที่นี่ และใช้ระยะเวลาสั้นยาวต่างกันไป แต่ละวันจะมีตารางการทำงานที่ชัดเจน โดยวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เป็นการทำงานสำรวจสิงโตทะเลและดูแลเต่า อังคาร และพฤหัสบดี เป็นวันออกสำรวจนก อีกัวน่า ไปจนถึงงานด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในชุมชน ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์เป็นวันหยุดที่อาสาสมัครจะได้ใช้เวลาส่วนตัวหรือสังสรรค์กันบนเกาะ ซึ่งแต่ละวันบนเกาะแห่งนี้คือประสบการณ์ที่ได้จุดประกายและต่อยอดไปสู่การทำงานที่มีคุณค่าในนามของอาสาสมัครของเธออยู่ไม่น้อย

เข้าป่าตัดต้นโอทอย ดูแลเต่ายักษ์ที่เหลืออยู่เพียงสองแห่งในโลก

เต่ายักษ์กาลาปากอส หรือ Galapagos giant tortoise นั้นเป็นที่มาของชื่อหมู่เกาะกาลาปากอส ตามคำเรียกของภาษาสเปน ซึ่งกาลาปากอส แปลว่า เต่า จุ๊ให้ข้อมูลว่าเต่าเหล่านี้เดินทางมาจากดินแดนทวีปอเมริกาใต้เมื่อ 2- 3 พันปีก่อน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอาศัยอยู่บนเกาะนี้ และมีวิวัฒนาการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย นับเป็นเต่าสายพันธุ์ที่ตัวโตที่สุดในโลก อายุเฉลี่ยประมาณ 300-400 ปี และมีเหลืออยู่แค่สองแห่งคือที่หมู่เกาะกาลาปากอส และเกาะเซเชลส์ ในทวีปแอฟริกา

“เชื่อกันว่าก่อนที่จะมีมนุษย์เข้ามาอาศัยอยู่บนเกาะนี้ ที่นี่เคยมีเต่ายักษ์มากถึง 250,000 ตัว พอมีคนเข้ามาอยู่ จำนวนเต่าก็ลดลงเพราะถูกล่าไปเป็นอาหาร ตอนนี้มีเต่ายักษ์อยู่ประมาณ 35,000 ตัว เจ้าหน้าที่เล่าว่าทางอุทยานแห่งชาติมีเป้าหมายที่จะอนุรักษ์และเพาะพันธุ์เต่ายักษ์ทั่วหมู่เกาะ โดยประสบความสำเร็จแล้วประมาณ 5,000 ตัว 

งานดูแลเต่ายักษ์เริ่มต้นประมาณ 7.30 น. หลังจบจากอาหารเช้า อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่จะเข้าไปในป่าเพื่อตัดต้นโอทอย (Otoy) ซึ่งมีลักษณะคล้ายต้นบอน และเป็นอาหารที่เต่ายักษ์โปรดปรานเพราะมีน้ำอยู่ในลำต้น ป่าโอทอยจะอยู่ในเขตอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติกาลาปากอส เมื่อตัดแล้วก็จะต้องมีการปลูกทดแทนเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารด้วย

ตอนไปตัดไม่เท่าไร แต่การต้องแบกออกจากป่าเพื่อนำไปยังบริเวณป้อนอาหารนั้นเหนื่อยกว่ามาก มัดหนึ่งที่เราแบกนี่ใหญ่และหนักมาก เราจะแบกออกมาจากป่า เดินออกมาขึ้นรถกระบะที่รอรับแล้วพาไปยังบริเวณป้อนอาหารซึ่งอยู่บนเนินเขา จุดแรกอยู่ใกล้หน่อย เดินจากลานจอดรถประมาณเกือบกิโลฯ เป็นเต่าใหญ่อายุ 50-150 ปี บางตัวน้ำหนัก 400 กิโลกรัมเลย จุดนี้เราสามารถโยนต้นโอทอยให้เขาแทะกินเองทั้งต้นได้ ส่วนจุดที่สองอยู่บนเนินขึ้นไปอีก เป็นเต่าวัยรุ่น กินเองได้เหมือนกันแต่ก็ต้องเป็นต้นที่เล็กลงมาหน่อย ไม่เหมือนจุดที่สามที่อยู่บนเนินสุดและไกลสุด มีทั้งที่เพาะไข่ ฟักไข่ และเต่าแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เราต้องตัดใบหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพราะเขายังแทะไม่ได้ บนจุดที่สามจะแยกเต่าเด็กไว้ต่างหาก เพราะอายุสัก 5 ขวบจะเริ่มกินต้นได้ แต่เราก็ต้องหั่นให้เล็กก่อน งานนี้จะเป็นงานหลักที่ทำทุกวัน วันหนึ่งก็จะเดินขึ้นลงเนินหลายรอบ บางวันเจ้าหน้าที่ก็มอบหมายงานเสริม เช่น งานล้างบ่อที่ไม่สะอาด ถางหญ้าที่เริ่มรก”

กฎการอยู่ร่วมกันของคนกับเต่าบนเกาะนี้ค่อนข้างแข็งแรง ตั้งแต่การห้ามจับเต่าที่หากละเมิดจะต้องเสียค่าปรับ มีการควบคุมโดยพื้นที่ที่เต่าอาศัยอยู่จะไม่อนุญาตให้คนเข้ามาได้เลยนอกจากเจ้าหน้าที่อุทยานเท่านั้น หากพบเห็นว่าเต่าหลุดออกไป ชาวบ้านจะแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาดูแล ความร่วมมือของชาวบ้านเช่นนี้เองที่ทำให้งานอนุรักษ์เต่าเป็นไปอย่างเห็นผล

“พวกเราซึ่งเป็นอาสาสมัครก็ห้ามจับค่ะ ทำได้คือเข้าไปให้อาหาร นอกจากจำเป็นจริงๆ ถึงจะสัมผัสตัวเต่าได้ จุ๊ได้มีโอกาสจับครั้งหนึ่งตอนเข้าป่าไปตัดต้นโอทอยแล้วเจอเต่า คิดว่าน่าจะหลุดออกมาจากป่า เจ้าหน้าที่เลยต้องพาไปศูนย์อนุรักษ์ก่อนเพื่อพาไปตรวจสุขภาพ เราก็คอยจับชั่งน้ำหนักตัว วัดขนาด เลยได้จับกระดองเขานิดหนึ่ง (หัวเราะ) เขาบอกว่าตัวนี้เป็นพ่อพันธุ์ที่ดีได้เลย” 

สิงโตทะเล เจ้าถิ่นที่มีสิทธิเข้านอกออกในชุมชนได้ ไม่ว่าใครก็ห้ามแตะ 

งานที่ทำให้จุ๊ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าและออกจากที่พักทันทีในทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ คือการออกสำรวจสิงโตทะเล โดยช่วงเช้าตรู่จะเป็นการนับจำนวนแบบแยกเพศผู้และเพศเมีย ส่วนงานช่วงบ่ายเป็นงานสำรวจพฤติกรรมและสิ่งคุกคาม เพื่อนำผลสำรวจเหล่านั้นไปกำกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน 

“ช่วงสัปดาห์แรกจะออกไปกับหัวหน้างานที่ชายหาดที่มีจำนวนสิงโตทะเลไม่มากนัก เขาจะสอนให้แยกแยะสิงโตทะเลประเภทต่างๆ การแยกเพศบางครั้งก็ดูยากเหมือนกัน สัปดาห์ที่สองงานเริ่มยากขึ้นเพราะต้องออกไปนับจำนวนตามชายหาดที่มีประชากรมากสุดคือ 400-500 ตัว ก็ยังไปกับหัวหน้างานหรือเพื่ออาสาสมัครที่มีประสบการณ์มากกว่า พอถึงสัปดาห์ที่สามเราต้องฉายเดี่ยวแล้วและอาจต้องสอนอาสาสมัครที่เข้ามาใหม่ด้วย”

จากที่คลุกคลีกับสิงโตทะเลแทบทุกวัน จุ๊เล่าถึงพฤติกรรมของสิงโตทะเลให้ฟังว่าเป็นสัตว์ที่อาศัยกันอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ มีผู้นำครอบครัวเป็นเพศผู้เรียกว่า ‘อัลฟ่า’ รายล้อมด้วยฮาเร็มตัวเมียเกือบ 20 ตัวพร้อมลูกเล็กอีกเป็นฝูง ความเป็นผู้นำสังเกตได้จากบุคลิกที่ดุดัน โหนกค่อนข้างใหญ่ ตัวสีดำเข้ม มักจะว่ายน้ำไปมาและส่งเสียงดังคำรามเพื่อป่าวประกาศศักดาของตัวเอง ส่วนตัวผู้อื่นๆ ในบริเวณที่ปกครองที่ไม่ได้เป็นจ่าฝูงจะตัวเล็กกว่าอยู่กันอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว แต่ก็จะมีการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่และฮาเร็มกันอยู่เป็นระยะ ตัวเมียจะมีขนสีอ่อนกว่า ส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือเทาอ่อน หน้าตาจิ้มลิ้ม แม่สิงโตจะมีลูกน้อยรายล้อม วัยรุ่นหน่อยก็ขี้เล่นไม่อยู่นิ่ง แต่ถ้าเป็นลูกสิงโตทะเลก็น่าเอ็นดูคล้ายลูกสุนัข

“บริเวณที่มีประชากรสิงโตทะเลจำนวนมากจะมีการกั้นเขตเอาไว้เพื่อป้องกันการรบกวนจากมนุษย์ แต่สิงโตทะเลเขาก็เรียนรู้ว่าถ้าเป็นช่วงสืบพันธุ์หรือมีลูกอ่อน ก็จะย้ายไปอยู่ตามชายหาดที่เป็นเขตทหารเรือเพราะนักท่องเที่ยวเข้าไปไม่ได้ เราเป็นอาสาสมัครก็จะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าพื้นที่เพื่อทำการสำรวจอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือได้ใกล้ชิดและได้เรียนรู้พฤติกรรมของสัตว์ชนิดนี้แบบที่นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถทำได้ ข้อเสียคือมีความน่ากลัวเหมือนกัน เพราะสิงโตทะเลเป็นสัตว์ที่เดาใจยาก มีทั้งความขี้เล่นและดุร้าย เวลาที่เข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงเราอาจโดนจู่โจมเมื่อไรก็ได้ ต้องระมัดระวังมากๆ”

ภาพที่นักท่องเที่ยวมักจะเห็นเมื่อไปเที่ยวบนเกาะในหมู่เกาะกาลาปากอส คือสิงโตทะเลที่มักมาเล่นอยู่ตามชายหาด บ้างก็ขึ้นไปบนเรือ บ้างนอนอยู่บนสะพานทางเดิน กฎการอยู่ร่วมกันของชุมชนคนท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และสิงโตทะเล คือห้ามเข้าใกล้สัตว์เกิน 2 เมตร หากสิงโตทะเลจะเข้ามานอนอยู่บ้านก็ห้ามไล่และไม่ควรเข้าใกล้ ด้วยเหตุผลว่าที่นี่คือบ้านของสิงโตทะเลมาก่อน มนุษย์จึงต้องให้เกียรติเจ้าบ้าน 

“ถ้าสิงโตทะเลเริ่มเข้าหาคนมากขึ้น หรือมีคนเข้าหามากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็จะต้องเข้าไปดูแลตรงนั้นมากขึ้นเพื่อให้มีระยะห่างระหว่างสิงโตกับนักท่องเที่ยว เพราะถ้าคนไปใกล้ชิดเขามาก จะไปเปลี่ยนพฤติกรรมเขา เหมือนที่บ้านเรามีกรณีที่คนให้อาหารลิง กลายเป็นว่าลิงมีความเกรี้ยวกราดมากขึ้น ศูนย์ฯ จึงพยายามให้สิงโตทะเลได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติมากที่สุด เพราะถ้าพฤติกรรมสัตว์เปลี่ยนไปทำร้ายคน ก็จะไม่มีใครอยากมาเที่ยว เขาจึงพยายามทำให้ที่เกาะนี้เป็นที่ที่คนอยู่กับสัตว์ได้โดยไม่ทำร้ายกันและกัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย”

งานอนุรักษ์คือการสร้างรากที่แข็งแรงให้เศรษฐกิจบนเกาะท่องเที่ยว

เศรษฐกิจของหมู่เกาะกาลาปากอสขับเคลื่อนด้วยธุรกิจการท่องเที่ยว การเข้ามาทำงานอนุรักษ์ของ Project Galapagos เพื่อนิเวศที่สมดุลและยั่งยืน ได้ออกดอกผลให้กาลาปากอสเข้มแข็งด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ จุ๊เล่าให้ฟังว่า นอกจากสิงโตทะเลและเต่า สัตว์อื่นๆ บนเกาะล้วนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะกิ้งก่าทะเล หรือนกสายพันธุ์ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการป้องกันและกำจัดวัชพืชนอกถิ่นและสัตว์นอกถิ่นด้วย 

“มีงานสำรวจนกนางแอ่นที่เราต้องเข้าไปในป่าลึก งานนี้ยากหน่อยเพราะเขาจะเลือกคนที่อึดจริงๆ โชคดีจุ๊อยู่ในข่ายนั้นเลยได้ไปทำ (หัวเราะ) เป็นป่าฝนที่เราต้องลุยโคลน ตัวเปียกแฉะตลอด นอกจากนับจำนวนนก เรามีงานที่ต้องกำจัดหนูด้วย เพราะเขาจะควบคุมไม่ให้มีสัตว์จากถิ่นอื่นเข้ามาในป่า หนูเหล่านี้มากจากคนในชุมชนที่ทิ้งเศษอาหารนอกบ้าน แล้วแพร่พันธุ์จนขยายเข้ามาในป่า มากินไข่นกนางแอ่นหรือฆ่าตัวอ่อนนก เขาเลยกำจัดด้วยยาเบื่อ แต่ด้วยความที่จุ๊เป็นสายออร์แกนิก ก็เลยคุยกับเขาว่าเปลี่ยนเป็นใช้ยาออร์แกนิกได้ไหม เขาก็รับฟังนะคะ ตอนนี้เขากำลังวิจัยกันอยู่ว่าจะเปลี่ยนไปใช้อะไรที่ไม่เป็นสารเคมีอันตราย”

ประสบการณ์ในการทำงานอาสาในอดีต ทักษะส่วนตัว รวมถึงประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และงานรีไซเคิลที่เธอมีอยู่ ได้รับการยอมรับในกลุ่มเจ้าหน้าที่และคนทำงานด้วยกัน การแลกเปลี่ยนและรับฟังความเห็นที่มองปลายทางไปในทิศเดียวกัน เป็นหนึ่งหัวใจของการทำงานอนุรักษ์ที่นี่ และสำคัญที่สุด จุ๊มองว่าความสำเร็จนี้มาจากความเข้มแข็งของชุมชน

เขาให้ความสำคัญกับคนในชุมชน เพราะที่นี่เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่แท้จริง เขาควบคุมคนข้างนอกไม่ให้เข้ามาทำธุรกิจ ไม่ใช่ห้ามแค่คนต่างชาติมาลงทุนนะคะ แม้แต่คนเอกวาดอร์ซึ่งอยู่แผ่นดินใหญ่ก็ไม่มีสิทธิ คนจากแผ่นดินใหญ่จะอยู่บนเกาะนี้ได้ไม่เกินสองปี เขาพยายามพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดกับคนท้องถิ่น บริษัททัวร์ ร้านอาหาร ที่พัก เป็นของคนบนเกาะทั้งหมด จากที่เริ่มต้นกันเองเล็กๆ ตอนนี้ร่ำรวยกันหมด

การให้คนท้องถิ่นทำธุรกิจเอง เขาจะรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรและไม่ทำร้าย เพราะหากทำร้ายก็จะมีผลกับเศรษฐกิจของตัวเอง ที่เห็นได้ชัดคือตอนนี้ผู้ประกอบการบนเกาะก็ให้ความสำคัญกับเรื่องขยะ เวลาพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำเขาเอาอุปกรณ์ไปหุงหากินกันบนเรือ ถ้วยจานก็เอาจากบ้านไปเพราะล้างใช้ได้ ไม่มีกล่องโฟมหรือพลาสติกเลย 

พอเขารู้ว่าจุ๊ทำเรื่องออกแบบผลิตภัณฑ์ เรื่องรีไซเคิล เขาก็พาไปดูศูนย์รีไซเคิลของเกาะว่ามีอะไรที่เขาต้องปรับไหม แล้วเขาทำงานเร็วมาก อาทิตย์เดียวเขามีถังขยะไว้แยกขยะตามบ้านแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาทำได้หมดจดนะคะ เพราะว่าการขอความร่วมมือมันก็มีบ้างที่บางคนจะไม่ได้ใส่ใจ อย่างมีวันหนึ่งที่จุ๊ไปสำรวจสิงโตทะเล ได้เห็นกับตาว่าสิงโตตัวเล็กกำลังกินซองลูกอม เราเห็นแล้วจุกมาก ก็มานั่งสังเกตว่าที่นี่มีขยะซองลูกอมเยอะที่สุดเลย เด็กกินกันเยอะมาก ก็เลยใช้วิธีคุยกับเด็กโดยตรง ถึงผลเสียทั้งเรื่องสุขภาพและขยะที่ไปตกที่สัตว์ทะเล

งานของเราจะมีงานทำความสะอาดชายหาด จัดการขยะชุมชม และให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนด้วย มีครั้งหนึ่งเราเดินผ่านคลอง เพื่อนที่เป็นคนบนเกาะบอกว่าเวลาหน้าฝนน้ำพวกนี้จะไหลลงทะเล นั่นหมายความว่าขยะในคลองจะลงทะเลหมดเลย เราก็เลยชวนกันเปลี่ยนกิจกรรมมาทำความสะอาดคลองกัน แล้วชวนชาวบ้านมา ตอนแรกผู้ใหญ่ไม่มา แต่เด็กมาเพราะเขาอยากมาเล่นด้วย เราก็คุยแล้วให้ความรู้กับเด็ก แล้วเด็กไปคุยกับคนที่บ้าน ข้อดีคือผู้นำที่นั่นทำงานเร็วมาก

แม้ตอนนี้จุ๊จะกลับไปอยู่เยอรมนีและทำงานตามปกติแล้ว แต่เธอยังคงทำงานร่วมกับ Project Galapagos อยู่ ด้วยการออกแบบและทำเว็บไซต์รวมถึงดูแลด้านโซเชียลให้กับองค์กร 

เหมือนมันจุดประกายให้เรามีอะไรที่อยากทำอีกเยอะมาก และเราก็อยากทำต่อ แต่วันหยุดเรามีอยู่เท่านี้ ก็ช่วยทำในด้านที่ทำได้ ทาง Project Aboard ก็ติดต่อมาว่าถ้ามีโครงการที่ใกล้ๆ ในยุโรปหรือเยอรมนีก็จะชวนไปทำ 

มีเรี่องหนึ่งที่จุ๊แลกเปลี่ยนกับวิลเลียม เขาบอกว่าก่อนหน้านี้เกาะนี้เคยแย่มาก่อนเพราะมีผู้นำที่หวังผลประโยชน์ แต่ตอนนี้เขาได้ผู้นำที่เข้มแข็ง ทำให้พาที่นี่ดีไปด้วย แต่กว่าที่เขาจะทำให้เกาะนี้เป็นแบบนี้ได้ ก็ต้องใช้เวลาและทุ่มกับมันจริงๆ เขาเป็นแรงบันดาลใจให้เรามาก จุ๊เองก็อยากกลับมาทำแบบนี้บ้างที่บ้านตัวเองในวันหนึ่งข้างหน้า เขาบอกว่าเขาเข้าใจคนที่ยังกลับบ้านไม่ได้ ดังนั้นก็ให้มองว่าโลกนี้คือบ้านของเราสิ เมื่อเรามองว่าโลกนี้คือบ้าน การที่เรายังไม่ได้กลับบ้าน เราก็ยังสามารถเราทำงานนี้ที่ไหนในโลกก็ได้ แค่เราทำก็คือการได้ช่วยแล้ว” 

ภาพ : ธิดารัตน์ มีสุขศรี

Tags: ,