เครยอน ชินจัง เป็นมังงะสายแก๊กหรือสายคอเมดี้ชื่อดังแห่งยุคที่สุดท้ายจบลงอย่างกะทันหันเพราะผู้เขียนอย่างโยชิโตะ อิซูอินั้นประสบอุบัติเหตุ พลัดตกเขาและเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2009 ซึ่งแน่นอนครับว่าการเสียชีวิตของผู้เขียนก็นำมาซึ่งบทอวสานของมังงะเรื่องนี้ไปโดยปริยาย เป็นการจบลงที่น่าสลดเศร้าเกินกว่าที่แก๊กใดๆ ในมังงะคอเมดี้นี้จะช่วยเยียวยาได้จริงๆ
หลายท่านคงจะรู้จักมังงะแก๊กชื่อดังเรื่องนี้อยู่แล้ว และก็อาจจะสงสัยว่ามันจะมีอะไรให้เขียนถึงอยู่หรือ? บอกตามตรงครับว่าผมเองในตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้จะมีประเด็นอะไรเป็นพิเศษ จนกระทั่งเขียนงานอีกชิ้นหนึ่งที่ต้องใช้ผลงานชิ้นสำคัญของโรล็อง บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักปรัชญาชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 20 ที่ชื่อ ‘มายาคติ’ (Mythology) และทำให้นึกขึ้นได้ว่า มีประเด็นที่เกี่ยวข้องในลักษณะสวนทางกับข้อเสนอของบาร์ตส์อยู่ในมังงะอย่างเครยอนชินจังด้วย มันจึงเป็นที่มาของงานชิ้นนี้ไปในที่สุด
แต่ก่อนที่ผมจะไปว่าถึงงานของบาร์ตส์ ผมขอพูดถึงเรื่องเครยอนชินจังสักหน่อยนะครับ เผื่อจะมีคนที่ไม่เคยอ่านเรื่องนี้อยู่ด้วย เรื่องเครยอนชินจังเป็นเรื่องราวของกลุ่มเด็กประถม ที่นำโดยตัวละครหลัก (พระเอก?) ของเรื่องอย่าง ‘โนะฮารา ชินโนะสึเกะ’ หรือที่เพื่อนๆ เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ชินจัง’ เซ็ตติ้งของเรื่องจะง่ายๆ เป็นเรื่องราวแบบที่เห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน (Everyday life story) ว่าอีกแบบก็คือ เหตุการณ์หลักของเรื่องเครยอน ชินจังนั้นวางอยู่ใน โครงสร้างความเป็นปกติวิสัย ปกติวิถีของสังคมหนึ่งๆ นั่นเอง ด้วยเรื่องราวอย่างการอยู่กันในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก และน้องสาว (วัยแบเบาะ), ไปโรงเรียนเจอกลุ่มเพื่อนและครู รวมไปถึงการมีชุมชนกลุ่มเพื่อนบ้าน ตัวละครฮีโร่ที่ชอบ สัตว์เลี้ยงที่รัก การไปเที่ยวต่างจังหวัดต่างแดนนานๆ ที เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดา แสนจะปกติวิสัยสุดๆ นั่นเองครับ
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ ‘ความเป็นปกติ’ ที่อยู่ในเซ็ตติ้งของเรื่องชินจังนั้น เรากลับได้พบกับการดำเนินชีวิตที่ไม่ปกติ ไม่เป็นที่คุ้นชินนัก เพราะตัวคาแรกเตอร์ที่ค่อนข้างจะยูนีคหรือมีความเฉพาะตัวสูง (เป็นคำสุภาพของ ‘พฤติกรรมแปลกๆ ประหลาดๆ’) ของชินจังและแทบทุกตัวละครในเรื่อง ในแง่หนึ่งจะบอกว่าเรื่องชินจังนี้มีลักษณะที่คล้ายกับซีรี่ส์ซิตคอม (Situation Comedy/Sit-Com) มากทีเดียว ที่คาแรกเตอร์แทบทุกตัวมีลักษณะเฉพาะที่ถูกขับเน้นให้เด่นออกมาแบบมากๆ เจ้าชินโนะสึเกะ หรือชินจังมีนิสัยที่กวนตีน ทะเล้น และทะลึ่งตึงตัง นิยมชมชอบการดึงช้างน้อยของตัวเองเล่น หรือเปิดก้นโชว์แล้วเต้นท่าดุ๊กดิ๊กไปเรื่อย บวกกับความแก่แดดระดับแปดอยู่ในตัว เขาจึงชอบเถียงและกวนมิซาเอะผู้เป็นแม่อยู่เป็นประจำ พร้อมๆ ไปกับเห็นดีเห็นงามในการอ้อร้อสาวสวยไปกับฮิโรชิ พ่อของเขาผู้มีชื่อเสียงด้านเท้าเหม็น และก็ทะเลาะตบตีกับน้องสาวอย่างฮิมาวาริ ที่ชอบบุกทำลายของเล่นของพี่ชาย รวมถึงชอบเครื่องประดับสวยงามวิบวับจนแอบหยิบเอาของแม่ไปแอบซุกซ่อนไว้เป็นประจำ
ลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่แต่กับเฉพาะครอบครัวของชินจังแต่ปรากฏอยู่เกือบจะทั่วในทุกตัวละคร อย่างเพื่อนของชินจังคนหนึ่งที่ชื่อเนเน่จัง จะเรียกว่ามีลักษณะสองบุคลิกก็อาจจะพอได้ แต่เอาเป๊ะๆ คือ ‘ขยันตีสองหน้า’ มากกว่า คือ ต่อหน้าเพื่อนๆ และสังคมจะต้องทำท่าเป็นคุณหนูเด็กดี แล้วเก็บมาระบายใส่ตุ๊กตากระต่ายสุดซวยของเธอ เป็นต้น และนั่นแหละครับเรื่องราวอันเป็นปกติชีวิตประจำวันก็ดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างที่คนอ่านอย่างเราต้องขำและรู้สึกไม่ปกติกับมันนัก ด้วยคาแรกเตอร์เฉพาะตัวล้นๆ ของเหล่าตัวละครที่ว่ามา
แต่ผมคิดว่าต้องเข้าใจให้ชัดกันตรงนี้นะครับ ว่าความรู้สึกว่า “มันเป็นชีวิตประจำวันที่ไม่ธรรมดา ไม่ปกติ” นั้น มันอาจเกิดเฉพาะกับตัวพวกเราเองซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ภายนอก หรือก็คือ เรามองจากข้างนอกจักรวาลของชินจังเข้าไปนั่นเอง และใช้มาตรฐานความปกติของจักรวาลของเราเอง ชีวิตอันเป็นปกติของเราเองไปมองหรือตัดสินความเป็นปกติของเรื่องชินจังไปพร้อมๆ กับที่เราอ่านด้วย ฉะนั้นความไม่ปกติที่ทำให้เราขำ เราฮา มันอาจจะเป็นอะไรที่ปกติมากๆ ก็ได้สำหรับตัวละครที่อยู่ในจักรวาลของตัวเรื่องชินจังนี้ก็ได้
แนะนำเรื่องเครยอนชินจังแต่พอคร่าวๆ ไปบ้างแล้ว คงจะถึงเวลาเล่าถึงอีตาลุงโรล็อง บาร์ตส์กับงานเรื่องมายาคติของเขากันบ้าง
หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า ‘มายาคติ’ หรือ Mythology มาก่อนอยู่แล้ว เพราะมันดังก้องโลกเหลือเกิน ซึ่งนั่นก็แสดงถึงอิทธิพลทางความคิดที่แนวคิดหรือคำอธิบายในทางสังคมศาสตร์นี้มีกับโลกเราด้วย แต่พร้อมๆ กันไปชื่อของโรล็อง บาร์ตส์อาจจะไม่ได้เป็นที่คุ้นหูเท่ากับตัวแนวคิดที่เขาเสนอ อย่างที่ผมเกริ่นในตอนต้นครับว่าบาร์ตส์เป็นนักปรัชญาชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 20 เขาเป็นชาวฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในบิดาคนสำคัญของสำนักคิดที่เราเรียกกันแบบหลวมๆ ว่าหลังสมัยใหม่ หรือ Postmodernism โดยเขาอธิบายถึงอิทธิพลของการใช้สัญญะ (Sign) ต่างๆ ที่แฝงอยู่ในแทบจะทุกสิ่งรอบตัวเรา ให้กลายมาเป็นเบ้าหลอมพฤติกรรมและวิธีคิดของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว จนเรารู้สึกว่าสิ่งที่สัญญะเหล่านี้ชักจูงเรา ใช้เราเป็นร่างทรงของมันนั้นกลายเป็น ‘ความปกติ’ ของสังคมไป และความปกติที่เกิดจากการโดนสัญญะชักจูงไปนี้เอง คือสิ่งที่บาร์ตส์เรียกว่า ‘มายาคติ’ ครับ
งานของบาร์ตส์มักจะพูดถึงอำนาจเชิงวัฒนธรรมของสัญญะที่อยู่กับสิ่งรอบตัวเรา ที่เราเข้าไปสัมผัสหรือยุ่งเกี่ยวกับมันจริงๆ ครับ อย่างไวน์, มวยปล้ำ, โฆษณาสบู่และผงซักฟอก, นวนิยายต่างๆ, หรือกระทั่งของเล่น เป็นต้น นอกจากงานเรื่องมายาคติแล้ว อีกหนึ่งในผลงานชื่อดังของบาร์ตส์ก็คือ ความตายของผู้ประพันธ์ หรือ The Death of the Author ที่บาร์ตส์อธิบายว่า ‘ผู้แต่ง’ (ประพันธกร/Author) ในฐานะผู้ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดของตัวเองและสร้าง ‘สื่อ/เนื้อความ’ ตามสิ่งที่ตนคิดนั้นได้ตายไปหมดแล้ว จะเหลือก็คงแต่เพียง ‘ผู้เขียน’ (Writer) ที่เป็นเพียงร่างทรงของภาษาและสัญญะ ที่ไม่ได้มีตัวตนอะไรของตนเองอีกต่อไป แต่เป็นเพียงเปลือกที่ความคิดถูกแทนที่ด้วยการชักนำของโครงสร้างทั้งหมดนั่นเอง พูดอีกแบบก็คือ “มายาคติได้เข้ามาแทนที่ตัวตนของเรา และทำให้เราไม่ใช่เราอีกต่อไป แต่เป็นเพียงเปลือกที่ขยับตามมายาคติพาไป” ผู้แต่งจึงตาย เหลือแต่เพียงผู้เขียนนั่นเองครับ
ด้วยความที่บาร์ตส์เป็นคนแรกๆ ที่บุกเบิกแนวคิดลักษณะนี้ ซึ่งในช่วงสมัยของเขานั้น มันยังใหม่มากๆๆๆๆๆๆๆ เขาจึงถูกจัดเป็นหนึ่งใน Difficult Thinkers หรือนักคิดนักปรัชญาที่งานอ่านยากมากที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย (แถมยังเป็นตาลุงที่เท่โคตรๆ อีกต่างหาก) แต่อย่างที่บอกไป ด้วยแนวคิดที่มันกลับความเข้าใจของโลก โดยเฉพาะแนวคิดมนุษยนิยมแบบเรอเน่ เดส์การ์ตส์ ที่บอกว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็นฉัน” (I think, therefore I am.) ซึ่งเป็นกระแสคิดหลักที่อธิบายตัวตนและความเป็นมนุษย์ของมนุษย์อย่างเรา มันจึงทรงอิทธิพลครับ และเปิดทางในการสร้างคำอธิบายแนวคิดใหม่ๆ ให้กับโลกอีกมากมายตามมา แม้แต่งานของมิเชล ฟูโกต์เอง หรือฌาคส์ ร็องสิแยร์ ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงอิทธิพลของนักคิดสุดเท่คนนี้
เอาล่ะครับ ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญของเราว่า แล้วลุงบาร์ตส์สุดเท่ของผม มาเกี่ยวอะไรกับเด็กกะล่อนดึงกระเจี๊ยวเล่นอย่างชินจังได้?
ผมคิดว่าต้องอธิบายกรณีเรื่องชินจังนี้จากสองมิติ คือ 1. มิติของความสัมพันธ์ของชินจังที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบกายของเขา เช่น ของเล่น เพื่อนๆ ครอบครัว ฯลฯ กับ 2. มิติของการตีความตัวตนของชินจังอีกทีหนึ่ง (ว่าง่ายๆ ก็คือเขยิบออกมาอีกหนึ่งก้าว)
สำหรับมิติแรกนะครับ ผมอยากจะยกเรื่องหนึ่งของบาร์ตส์มาอธิบายเพื่อจะได้เห็นภาพมากขึ้น และเป็นชิ้นที่ผมน่าจะชอบที่สุดในเล่มมายาคติของเค้า นั่นก็คือบทว่าด้วย ‘ของเล่น’ (แม้ผมจะไม่ชอบ The Toy นักก็ตาม … /เดี๋ยวโดนแฟนเพลงรุมตบอีก) บาร์ตส์อธิบายถึงบทบาทของของเล่นต่างๆ ที่มักจะมีลักษณะเป็นเหมือน “แบบจำลองของโลกจริงที่ย่อส่วนมาให้เล็กลง” อย่างของเล่นที่เป็นตุ๊กตาบาร์บี้ ที่เป็นคนและเสื้อผ้าแบบต่างๆ ที่ขนาดเล็กลง, ของเล่นพวกรถยนต์, เครื่องบิน, บ้านจำลอง, ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่าหากจับมาโยงกับสมัยนี้ก็อาจจะไล่ไปถึงเกมต่างๆ โดยเฉพาะพวกเกมแนว Simulation ได้ด้วยซ้ำ ของเหล่านี้เองมีเป้าหมายหลักอยู่ที่เด็ก แต่มันคือการจำลองโลกของผู้ใหญ่มาให้เด็กได้ดูได้เห็น
ภายในโลกจริงขนาดย่อส่วนที่เรียกว่าของเล่นเหล่านี้ เด็กจะได้เห็นถึงกลไกการทำงาน “ที่ควรจะเป็น” ของหน่วยต่างๆ ในสังคม ผู้หญิงหากจะให้สมหญิงแล้วควรแต่งตัวอย่างไร เสื้อผ้าควรมีแพทเทิร์นในการใส่แบบไหน ผู้หญิงควรมีทรวดทรงแบบไหนจึงจะดี ก็อาจจะเป็นข้อความที่แฝงอยู่ในตุ๊กตาบาร์บี้ หรือเครื่องบิน รถยนต์ต่างๆ มีขึ้นเพื่อทำหน้าที่อะไร ตำรวจ-ผู้ร้าย รถดับเพลิงในเมืองจำลองมีหน้าที่ยังไงบ้าง เป็นต้น นี่คือ สัญญะที่แฝงอยู่ในเหล่าของเล่นต่างๆ มากมาย ที่มันกำหนดกรอบและสร้างวิธีคิดให้กับเรา ก่อนที่เราจะมีโอกาสได้จินตนาการ หรือตกผลึกทางความคิดของตัวเองอะไรเลยเสียอีก
เราถูกสอนให้เป็นสมาชิกของสังคม และเข้าเป็นสมาชิกของสังคมและระเบียบโลก ตั้งแต่ก่อนที่เราจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ว่าไปซะงั้น
แต่ตัวตนของชินจังที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ นั้นดูจะเป็นการถามท้า หรือถามทวนแนวคิดของบาร์ตส์ขึ้นมาว่า “จริงหรือ?” สัญญะมันมากำหนดเราจริงหรือ? เพราะแม้เราจะมีของเล่นต่างๆ หรือกรอบต่างๆ อยู่ตรงหน้า และแน่นอนว่ามันย่อมมีอำนาจของสัญญะในการจะชักจูงให้เรา “เล่นตามแบบที่มัน (ของเล่น) อยากให้เราเล่น” ซึ่งตรงนี้เนี่ย ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ของเล่นนะครับ กับสิ่งต่างๆ ด้วย อย่างทุกวันนี้ เราก็ทำไปโดยเป็นปกติอยู่แล้ว ตามีไว้ดู หูมีไว้ฟัง เป็นต้น เราจะเห็นได้ว่ากับหน้าที่หรือฟังก์ชั่นของร่างกายนั้น เราได้กำหนดสภาวะอันเป็น ‘ปกติสภาพ’ ของมันไว้หมดสิ้นแล้ว ฉะนั้นเวลาที่เราเห็นใครสามารถใช้อวัยวะต่างๆ ทำหน้าที่อื่นๆ นอกเหนือจากปกติสภาพของมันได้ เราจึงมักจะตื่นตะลึง เช่น คนใช้ปากวาดรูป เป็นต้น
เราเห็นฉากในมังงะแทบจะนับไม่ถ้วนที่ดูจะยืนยันคำอธิบายนี้ของบาร์ตส์ ทั้งมังงะที่อิงกับโลกจริงไปยันมังงะสายแฟนตาซี แต่ชินจังนี้เองกลับทำการถามทวนความคิดของบาร์ตส์อย่างรุนแรงที่สุดในสายตาผม เพราะชินจังมีเซ็ตติ้งที่ใกล้เคียงสภาพทั่วไปในชีวิตประจำวันมากๆ เป็นเซ็ตติ้งแบบที่เราทุกๆ คนสัมผัสได้ และต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเซ็ตติ้งลักษณะเดียวกันกับที่บาร์ตส์เองก็ใช้ในงานของเขา
แต่สิ่งที่ชินจังบอกกับเราคือ “ไม่อะ ผู้แต่งหรือประพันธกรอาจจะยังไม่ตายก็ได้” มายาคติมีจริง อำนาจของสัญญะมีจริง แต่คนที่เลือกหรือไม่เลือกจะไปตามคำชักจูงของอำนาจสัญญะเหล่านั้น ยังอยู่ที่เราอยู่ เราสามารถเลือกที่จะไม่ฟังคำชักจูงของสัญญะที่มีในสิ่งต่างๆ และตีความอำนาจหรือหน้าที่มันใหม่ได้” และนั่นแหละครับคือที่ทาง คือความอยู่รอดของประพันธกร
อวัยวะเพศชายที่มีกลไกฟังก์ชั่นในการระบายของเสียอย่างฉี่ หรือใช้ในสอดใส่ยามมีเซ็กส์ และมักจะเป็นของที่ถูกให้เก็บซ่อนไว้ เป็นของลับ (ซึ่งเป็นอิทธิพลของคริสตศาสนาที่แพร่ไปทั่วในสมัยวิคตอเรียน) แต่ชินจังกลับบอกว่า “ไม่อะ กูไม่สนคำแนะนำที่มึง (โครงสร้าง/สัญญะ) แนะนำมา กูจะตีความการใช้งานกระเจี๊ยวของกูเอง” แล้วเขาก็ดึงกระเจี๊ยวเล่น จนมันยืดเป็นมอซซาเรล่าชีสหรือไม่ก็ขนมโมจิกันเลยทีเดียว หรือตูดที่เอาไว้ขี้ไว้ตด (หรือกับสาย Sodomy – นิยมร่วมเพศทางทวารหนัก – ก็อาจจะเอาไว้ใช้ร่วมเพศด้วย) ชินจังก็ปฏิเสธคำชักจูงของสัญญะที่ว่าเสียสิ้น แล้วใช้มันในฐานะเครื่องแสดงความรู้สึกตื่นเต้นดีใจ ด้วยการเปิดส่ายแล้วเต้นดุ๊กดิ๊กๆ
ซึ่งแน่นอนว่าอำนาจการชักจูงของสัญญะเหล่านี้ที่มีในตัวกระเจี๊ยวหรือก้นโดยทั่วๆ ไปนั้นก็ยังปรากฏให้เห็นในเรื่องชินจังอยู่ ดังจะเห็นได้จากมาตรฐานของการประเมินตัวชินจังเองว่า “สิ่งที่ชินจังทำนั้นมันสัปดน มันพิเรนทร์” ซึ่งนั่นแปลว่าค่ามาตรฐานหรืออำนาจของสัญญะแบบที่มีในโลกจริง ก็มีอยู่ในจักรวาลของชินจังด้วย จึงสามารถสร้างเกณฑ์ที่เรียกว่า “ความไม่ปกติ” ขึ้นมาได้ แต่นั่นเอง เมื่อมันยิ่งชัดว่าในโลกของชินจังก็มีอำนาจของสัญญะที่ว่านี้ การเลือกตีความเอง ไม่ฟังอำนาจของสัญญะในสิ่งต่างๆ กระทั่งแทบจะกลับตาลปัตรเสียหมดนั้นจึงเป็นการตอกหน้ากลับใส่ลุงบาร์ตส์แบบตรงๆ ว่า “ประพันธกรยังไม่ตายไปเสียทั้งหมดหรอกนะลุง”
และประเด็นที่ว่านี้เองครับที่มันมาเชื่อมโยงกับมิติที่สองที่ผมจะพูดถึง นั่นคือ มิติที่ว่าด้วยการตีความตัวพฤติกรรมของชินจังเอง ที่ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้เป็นการถามทวนเรื่องมายาคติของบาร์ตส์แบบในมิติแรก แต่เป็นการลองเขย่าเราให้ออกจากภวังค์ของมายาคติที่เรากำลังตกอยู่เองมากกว่า (ซึ่งในกรณีนี้มันแปลว่า มันก็ยอมรับการมีอยู่และอำนาจของมายาคติอยู่ด้วยนั่นเอง) คือ เวลาเราอ่านชินจัง แล้วเราขำ เราฮาต่างๆ นานานั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะมันหลุดจาก ‘ความปกติที่เราคุ้นชิน’ และแม้เราจะขำ เราจะมีความสุขเวลาได้อ่านหรือดูชินจัง แต่ถ้าลูกหรือหลานเรามาทำตัวแบบชินจังจริงๆ เราก็อาจจะขำไม่ออกนัก บางคนอาจจะถึงขั้นเอาเท้าก่ายหน้าผากกันเลย
นั่นเพราะตัวเราเองก็อยู่ภายใต้อำนาจของโครงสร้าง คำชักจูงของสัญญะอยู่ว่า “อะไรคือสิ่งที่เด็กควรจะเป็น” คือ เรามักจะคิดถึงเด็กในฐานะผ้าขาว คือความบริสุทธิ์ ซึ่งไม่ใช่แค่สังคมไทยนะครับ เป็นกันทั้งโลกนั่นแหละ ความไร้เดียงสา (Innocent) ของเด็กมันจึงมีความเป็นสากล และเป็นอำนาจในเชิงบทบาทและทำการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้กับเด็ก เพราะฉะนั้นความน่ารัก ความน่าเอ็นดูของเด็กจึงสะท้อนผ่านความไม่เดียวสา ความขาวใสนี้
การดึงกระเจี๊ยวเล่น หรือทำท่าหื่นใส่สาวสวยไปเรื่อยของชินจัง หรือชอบแซวขนาดนมของแม่ตัวเอง หรือเปิดตูดโชว์คนไปทั่วของเด็กอนุบาลอย่างชินจังนั้นมันจึงมากระทุ้งแก่นกลางของมายาคติที่เราถือครองอยู่ว่า “เด็กควรจะเป็น” อย่างมากไปพร้อมๆ กันด้วย และนี่เองคือการกระทุ้งเราจากภวังค์ของมายาคติที่ผมว่าไว้ ว่า “ความไร้เดียงสา ความบริสุทธิ์” นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะมาตีค่ากำกับเป็นความดี ความถูกต้องไปในตัวมันได้เลย ความไร้เดียงสา และความบริสุทธิ์ต่อโลกนั้นเองก็เป็นสิ่งซึ่งมีโอกาสจะพลิกมาอยู่ในฝั่งที่ตัวเราเองไม่ได้นิยมชมชอบ ไม่ได้อยู่ในกรอบของความควรจะเป็นของเราได้เสมอ และอย่างมีโอกาสพอๆ กัน และนั่นก็เป็นความปกติอีกแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน
ผมคิดว่าเรื่องเครยอน ชินจังเองมันกำลังบอกเราไปพร้อมๆ กันด้วยนะครับว่า “เราสามารถอยู่กับความเป็นปกติที่อาจจะอยู่อีกฟากผั่งหนึ่งของสิ่งที่เราคิดว่าควรจะเป็นได้อย่างเป็นปกติด้วย” เหมือนกับชีวิตของชินจัง ที่อาจจะไม่ได้เป็นชีวิตแบบที่ควรจะเป็นในสายตาเรา ไม่ใช่การกระทำที่ปกติในสายตาเราด้วย แต่มันก็สามารถ “เป็นอยู่ของมันอย่างเป็นปกติได้” ด้วย และหากเปลี่ยนมุมมองดีๆ เราก็อาจจะมีความสุขไปกับมันได้ ฉะนั้นก่อนที่เราจะไปสร้างกรอบอะไรให้เด็ก หรือใครๆ ก่อนที่เราจะเอามาตรฐานความถูกความควรของเรา (ซึ่งเป็นผลผลิตจากมายาคติที่สร้างเราขึ้นมา) ไปตัดสินหรือกำหนดความเป็นไปของใครแล้ว บางทีการปล่อยให้เค้าได้ตีความโลกในแบบของเขาเสียก่อน อย่างที่ชินจังเป็น ก็อาจจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราไม่อยากให้ประพันธกรสูญพันธุ์ไปเสียทั้งหมดก่อน
ขอให้สนุกกับมังงะครับ
Tags: Theories of Manga, Theory of Manga, Shin Chan, ชินจัง