หน้าปกวารสาร Molecular Biology and Evolution ฉบับเดือนสิงหาคม 2021 มีฉากหลังเป็นภาพอาณาจักรสุโขทัย ซ้อนด้วยเส้นคู่บิดเป็นเกลียวของดีเอ็นเอ แสงฉายฉานออกมาจากจุดศูนย์กลางของภาพ ผู้ออกแบบปกวารสารทางวิทยาศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์โดย Oxford University Press บอกว่า “มันแสดงถึงความหลากหลายของดีเอ็นเอของกลุ่มคนในประเทศไทยครับ”

วิภู กุตะนันท์ ไม่ใช่นักออกแบบ และมักถ่อมตัวเสมอหากต้องตอบคำถามเชิงสุนทรียศาสตร์ “คำถามมัน Abstract เกินไปสำหรับผม” คือถ้อยถ่อมตนของนักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เขาเป็นนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา ผู้เขียนเปเปอร์ชิ้นสำคัญดังกล่าว นอกจากจะเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้แล้ว เขายังได้รับเกียรติจากวารสาร Molecular Biology and Evolution ให้เป็นผู้ออกแบบภาพปกวารสารฉบับที่ตีพิมพ์งานวิจัยที่หาคำตอบว่า ‘คนไทยคือใคร’ ผ่านการตรวจดีเอ็นเอที่สมบูรณ์ที่สุด 

นี่คืองานวิชาการระดับโลกที่ควรบรรจุลงในแบบเรียนภาษาไทยเพื่อป้องกันมลภาวะทางทัศนคติและอคติทางวิชาการ 

นี่คืองานชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยและสำคัญกับประวัติศาสตร์ส่วนตัวของผู้ทำการศึกษา เพราะ “ตอนเป็นเด็ก ปู่มักบอกเสมอว่า ปู่เป็นคนไทย” รศ.ดร.วิภู กล่าวถึงปู่ผู้ล่วงลับ ก่อนจะบอกว่า “แต่ผมไม่เชื่อปู่”

“คุณได้คำตอบรึยังว่าเป็นใครมาจากไหน ประวัติครอบครัวที่ปู่เล่าเชื่อถือได้มั้ย” เราถามหลังจากที่วิภูพบคำตอบแล้ว มันปรากฏบนเกลียวดีเอ็นเอที่เขาศึกษา

“ชัดเจนแล้วครับ” เขามั่นใจในผลการศึกษาระดับชาติที่ทับซ้อนกับความปรารถนาส่วนตัว เขาอยากรู้ที่มาของตนเอง 

“เวลาทำแล็บ ผมใช้ดีเอ็นเอของตัวเองเป็นคอนโทรล ผมมีดีเอ็นเอของตัวเองครบทุกชนิด ผมบอกพ่อกับแม่ไว้ว่า ผมได้ทำและเก็บดีเอ็นเอของตัวเองไว้ในคอมพิวเตอร์ ถ้าผมตายแล้วไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ศพได้ ให้บอกตำรวจว่ามีหลักฐานที่จะเปรียบเทียบได้ว่าศพที่พบคือลูกของฉันหรือเปล่า” 

แรงผลักดันที่ทำให้คุณกลายเป็นเนิร์ดด้านดีเอ็นเอ และลงลึกศึกษาดีเอ็นเอของทั้งคนปัจจุบันและดีเอ็นเอโบราณของคนในพื้นที่ประเทศไทย คืออะไร

เป็นคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผมในวัยเด็ก ผมคือใคร? 

แต่เหตุทั้งหมดน่าจะเกิดจากปู่นั่นแหละ ในตอนที่ผมยังเด็ก ปู่มักจะบอกเสมอว่าปู่เป็นคนไทย เป็นไทยพิจิตร แต่ผมไม่เชื่อ การทำงานวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าคนไทยคือใคร จึงมีที่มาจากประวัติของครอบครัว ความสนใจประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมถึงคำถามเกี่ยวกับที่มาของตัวเอง

ทำไมไม่เชื่อเรื่องเล่าของปู่

ในครอบครัวของผมมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ยายของผมเป็นคนเมืองน่าน ยายพูดภาษาหนึ่ง ย่าพูดภาษาหนึ่ง อาสะใภ้เป็นลาวโซ้ง พูดอีกแบบหนึ่ง รูปร่างของอาสะใภ้แตกต่างจากคนพิจิตร คนพิจิตรผิวคล้ำ ลาวโซ้งผิวขาว ภาษาพูดไม่เหมือนกัน ผมไม่เชื่อปู่ตั้งแต่ตอนนั้น ผู้คนในครอบครัวของผมมีความไม่ไทยอยู่สูง แต่ปู่บอกว่าปู่เป็นคนไทย

หลายสิบปีต่อมา หลังจากที่ผมหาคำตอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผมก็คิดถึงและอยากจะบอกปู่เหมือนกันนะ แต่ปู่เสียไปแล้ว (ยิ้ม) 

ถ้าปู่ของคุณยังมีชีวิต จะบอกเขาว่าอะไร

ผมอยากจะบอกปู่ว่า ผลการศึกษาด้วยวิธีการทางดีเอ็นเอที่ผมได้ทำอย่างละเอียดและสมบูรณ์ มันบอกว่าจริงๆ แล้วเราไม่ใช่คนไทยนะ ปู่เป็นคนมอญนะ (หัวเราะ) 

คุณเติบโตมาจากครอบครัวแบบไหน

ผมโตมาในครอบครัวชาวมอญเมืองพิจิตร ย่าเป็นคนมอญ นามสกุลอินตะมะ แต่ปู่บอกว่าปู่เป็นคนไทย ผมคิดว่าปู่น่าจะเป็นคนมอญ แต่ปู่ไม่ยอมรับ ปู่เคลมว่าปู่เป็นคนไทย ปู่เป็นครูในยุคที่โรงเรียนวัดยังเป็นแหล่งความรู้สำคัญของระบบการศึกษาไทย ปู่พูดคำควบกล้ำชัดมาก เช่นคำว่าน้ำปลา เขาจะคอยติงให้เราออกเสียง ล.ลิง ให้ชัดเจน ด้วยความเป็นครูด้วย ปู่จึงปลูกฝังให้เด็กๆ รักประเทศไทย “เราเป็นคนไทยนะ” ปู่พูดแบบนี้อยู่เสมอ 

ส่วนครอบครัวฝั่งแม่ ตาเป็นชาวพวนอพยพเข้ามาเมื่อ 2-3 เจเนอเรชันก่อน ตาพูดภาษาพวน ยายเป็นสาวเหนือเมืองน่าน เวลาที่ยายเจอกับย่า คนหนึ่งไม่สามารถพูดเหนือได้ อีกคนพูดไทยกลางไม่ได้ ยายมีความเป็นคนเมืองมาก ไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยกลางได้เลย ผมคิดว่าความเป็นมาของตัวผมและความเป็นมาของครอบครัว น่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผมชอบประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อก่อนไม่ได้อินขนาดนี้ ผมเป็นเด็กคนหนึ่งที่มีความสนใจในวิชาประวัติศาสตร์และวิชาสังคม แต่เนื่องจากกระแสสังคมในตอนนั้นมองว่าการเรียนสายวิทย์จะสร้างความมั่นคงให้ชีวิต มีการงานที่มั่นคงกว่าการเรียนสายศิลป์ เพื่อนๆ ก็เรียนสายวิทย์กันแทบทั้งนั้น ผมก็เรียนสายวิทย์มาตลอด

เนื่องจากผมได้ทุน พสวท. ซึ่งเป็นทุนให้คนที่อยากเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก ผมก็มุ่งมาทางวิทยาศาสตร์โดยตลอด จนมีโอกาสได้มาเจออาจารย์หลายๆ ท่าน อาจารย์ที่จุดประกายผมชื่ออาจารย์ดาวรุ่ง กังวานพงศ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจงานด้านสังคมศาสตร์ ผมทำโปรเจ็กต์ตอนปริญญาตรีกับอาจารย์ดาวรุ่ง ซึ่งก็ทำให้ผมได้พบกับอาจารย์รัศมี ชูทรงเดช (นักโบราณคดีหญิงคนสำคัญของโลก) และอาจารย์สุภาพร นาคบัลลังก์ ซึ่งปัจจุบันอาจารย์สุภาพรได้เสียชีวิตไปแล้ว ท่านเป็นนักมานุษวิทยากายภาพ ท่านให้โอกาสผมในการติดตามไปด้วย ตอนนั้นอาจารย์สุภาพรทำงานร่วมกับอาจารย์รัศมีในการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีที่ลำปาง และที่แหล่งโบราณคดีในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โปรเจ็กต์ที่ทำตอนเรียนปริญญาตรี ผมสืบสาวด้วยวิธีการทางพันธุศาสตร์เพื่อหาคำตอบว่าลัวะเมืองน่านมีจริงหรือไม่ จากนั้นผมก็มุ่งมาทางพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา หลังจากจบปริญญาเอก ผมได้งานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอาจารย์ได้สักพักก็ได้รับทุนไป Postdoctoral Appointment (นักวิจัยหลังปริญญาเอก) ที่เยอรมนี ซึ่งเป็นสถาบันอันดับ 1 ด้านมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ ชื่อว่าสถาบันวิจัยแมกซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology) เขาให้อิสระในการทำงานวิจัย ตัวเราเองก็มีอีกหลายอย่างที่อยากรู้ ผมเริ่มทำงานวิจัยที่ภาคอีสาน ตอบคำถามเล็กๆ ที่เราอยากรู้ว่า ดีเอ็นเอของคนภาคอีสานมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ลักษณะของคนในแอ่งที่ราบสกลนครกับแอ่งโคราช หรืออีสานเหนือกับใต้ ดีเอ็นเอของพวกเขาแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงดีเอ็นเอของคนอีสานในหลายกลุ่ม ภูไท ญ้อ แสก กะเลิง ซึ่งมีประวัติศาสตร์การอพยพมาจากเวียดนาม ผมอยากรู้ว่าพวกเขายังมีดีเอ็นเอที่เหมือนกับคนไทยในเวียดนามมั้ย หรือหลังจากอพยพมา 200 ปี เขาได้ผสมผสานกับคนเขมรหรือมอญแถบนี้มากน้อยแค่ไหน

จบโปรเจ็กต์ภาคอีสาน ผมก็มาต่อที่ภาคกลาง ก็ได้กลับมาทำวิจัยที่บ้านเกิดตามความต้องการที่มีมานาน ผมไม่ลังเลที่จะไปหาผู้ใหญ่บ้าน เขายินดีช่วยเหลือ เราก็มีโอกาสได้กลับไปทำประโยชน์ให้ชุมชน แต่ชุมชนก็อาจจะไม่เข้าใจมากนักในเรื่องที่เราทำ เพราะพอผมบอกว่าดีเอ็นเอของพวกเราเป็นมอญนะ เขาก็หัวเราะเลย “มันมาจากไหนน้อ” เขาคิดว่าเขาเป็นคนพิจิตร เป็นคนไทยมาตลอด เขาคิดว่าพิจิตรคือไทย ก็เป็นความสนุกในการทำงาน 

คำถามที่ว่า ‘เราคือใคร’ หรือ ‘คนไทยคือใคร’ มันก่อตัวขึ้นมาตอนไหน

ผมไม่ค่อยจะคล้อยตามในสิ่งที่เขาบอกมาตั้งแต่เด็ก ในครอบครัวของผมมีความหลากหลาย ซึ่งขัดแย้งกับคำบอกเล่าของปู่ ผมคิดว่าคำถามนี้มันก่อตัวตั้งแต่เรียนมัธยม แต่ด้วยสังคมโรงเรียนตอนนั้นไม่ได้มีใครที่จะมาให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ ผมเรียนมัธยมปลายในช่วงปี พ.ศ. 2540-2542 เด็กยุคนั้นไม่ได้เข้าถึงแหล่งหาข้อมูลหรืออินเทอร์เน็ตได้ง่ายอย่างสมัยนี้ ห้องสมุดก็เป็นห้องสมุดประจำจังหวัดหรือห้องสมุด กศน. ซึ่งไม่ได้มีหนังสือเยอะ ผมเริ่มสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่เรียนมัธยม แต่ไม่ได้มีอะไรมาสนับสนุนให้เราไปไกลได้มากกว่านั้น ความสนใจก็หยุดแค่นั้น จนกระทั่งสามารถที่จะหาวิธีตอบคำถามของตัวเองในวัยเด็ก ซึ่งมันเกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง ในช่วงที่ผมอายุ 30 ปีเป็นต้นมา ความรู้สึกของผมเข้มข้นมากกับการหาคำตอบ ก็พยายามที่จะหาคำตอบด้วยวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองมีมากขึ้น เพื่อตอบคำถามที่มาของตัวเอง 

ผมได้ทำวิจัยมาระดับหนึ่ง คิดว่าตัวเองมีพื้นฐานเพียงพอที่จะตอบคำถามนี้ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ ที่ผ่านมาเรามีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือ ข้อจำกัดของความรู้ที่ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างเต็มปากเต็มคำนักว่า จริงๆ แล้วคนไทยคือใคร เมื่อเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประสบการณ์ของผมเพิ่มมากขึ้นจากการได้ไปทำงานต่างประเทศ จนเกิดความมั่นใจว่าผมสามารถหาคำตอบนี้ได้ เป็นคำตอบที่ไม่สามารถคัดค้านได้นอกจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชุดใหม่ที่จะมาหักล้าง

เพื่อทำให้ผู้อ่านมองเห็นพัฒนาการในการไขคำตอบที่ว่า ‘คนไทยคือใคร’ ผ่านดีเอ็นเอ อยากให้ช่วยเล่าความพยายามของนักสังคมศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ไทยผ่านเครื่องมือดีเอ็นเอ

สำหรับประเทศไทย การศึกษามานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ เริ่มต้นจากการศึกษาดีเอ็นเอในกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อปี 2001 งานนี้เริ่มต้นมาจากอาจารย์กุลนภา ฟู่เจริญ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ศึกษาดีเอ็นเอของกลุ่มชาติพันธุ์ 5-6 กลุ่มในประเทศไทย คนเชียงใหม่ ขอนแก่น ลาวโซ้ง ชอง มานิ เขาศึกษาดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียบริเวณที่มีความหลากหลายสูง ความยาวประมาณ 300 คู่เบส 

ในปี 2007 อาจารย์จตุพล คำปวนสาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำปริญญาเอกภายใต้ที่ปรึกษาคืออาจารย์ดาวรุ่ง กังวานพงศ์ ศึกษาดีเอ็นเอของกลุ่มคนไทกะไดภาคเหนือ เช่น ลื้อ เขิน ยอง ยวน เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของคนจีนตอนใต้และดีเอ็นเอของคนมอญและลัวะ พบว่าดีเอ็นเอของกลุ่มคนไทกะไดภาคเหนือคล้ายกับดีเอ็นเอของคนจีนตอนใต้ แต่ก็เช่นกัน งานนี้ศึกษาดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียที่มีความหลากหลายสูงประมาณ 300 คู่เบส 

หลังจากนั้นเปเปอร์ในปี 2008 ก็ออกมา เป็นการศึกษาของทีมอาจารย์พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ และอาจารย์เสมอชัย พูลสุวรรณ เป็นการศึกษาดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียจากตัวอย่างโบราณที่บ้านโนนวัดกับเนินอุโลก จังหวัดนครราชสีมา สกัดดีเอ็นเอจากฟันโบราณในแหล่งโบราณคดีสมัยสำริดและโลหะเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของคนปัจจุบันในประเทศไทยและในทวีปเอเชีย งานในปี 2008 นี้ได้คำตอบที่สนับสนุนทฤษฎีที่อธิบายว่า บรรพบุรุษทางเชื้อสายของชาวไทยในประเทศไทยน่าจะมิได้เป็นคนพื้นเมืองของภูมิภาคมาแต่ดั้งเดิม แต่อพยพลงมาจากทางตอนใต้ของจีน โดยคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ก่อนแล้วเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในช่วงแรกตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2008 ยังมีข้อจำกัดในเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้หาลำดับเบส เนื่องจากดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียมีขนาดใหญ่ ความยาว 16,569 คู่เบส แต่ในผลงานวิจัยช่วงแรกที่ตีพิมพ์ออกมา ยังศึกษาได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนั้น ดีเอ็นเอยังมีการถ่ายทอดหลากหลายแบบ มีทั้งถ่ายทอดผ่านพ่อ (โครโมโซมวาย) ผ่านแม่ (ไมโทคอนเดรีย) ผ่านทั้งพ่อและแม่ (ออโตโซม) ซึ่งการศึกษาช่วงแรกยังไม่มีการรายงานการศึกษาดีเอ็นเอบนออโตโซมและโครโมโซมวาย 

ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา เรามีเทคโนโลยีการหาลำดับเบสที่ก้าวหน้าไปอย่างมากและราคาในการทำแล็บถูกลง พร้อมกับวิธีการวิเคราะห์ผลด้านพันธุศาสตร์ประชากรและชีวสารสนเทศที่พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ สามารถทลายข้อจำกัดในสมัยก่อน เราสามารถหาดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียจากความยาวเพียง 300 เป็น 16,569 คู่เบสได้ในราคาที่เท่ากัน ดังนั้นในปี 2017 ผมจึงทำดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียทั้งจีโนมของตัวอย่างคนไทยจำนวน 1,234 คน ใช้วิธีการวิเคราะห์ผลที่พัฒนามากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อจะตอบคำถามว่าคนไทยคือใคร ดังนั้นเปเปอร์แรกที่ออกมาจะเป็นเปเปอร์ที่ได้ผลจากการศึกษาดีเอ็นเอไมโทคอนเดีย ต่อมาในปี 2018 ผมก็ขยายการศึกษาเริ่มหาลำดับเบสดีเอ็นเอโครโมโซมวาย ความยาว 2.3 ล้านคู่เบส ที่ส่งถ่ายในฝ่ายชาย และได้ตีพิมพ์ในปี 2019 ในปีนี้ผมตีพิมพ์เปเปอร์อีกชิ้นที่ศึกษาดีเอ็นเอออโตโซม 

ผมจึงมั่นใจในคำตอบที่ได้ คำถามที่ว่าคนไทยคือใครมีคำตอบที่ชัดเจนแล้ว เนื่องจากเครื่องหมายพันธุกรรมที่ใช้และเทคโนโลยีที่ใช้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นก็จะเห็นว่าเราสามารถสืบย้อนประวัติศาสตร์จากปัจจุบันไปถึงอดีตได้จากดีเอ็นเอทุกรูปแบบ ซึ่งในการหาคำตอบว่าคนไทยคือใคร ผมได้ศึกษาดีเอ็นเอทุกชนิดดังที่กล่าวมา

พบอะไรในรหัสพันธุกรรมคนไทยในปัจจุบันทุกภูมิภาค

หลังจากศึกษาดีเอ็นเอทุกรูปแบบ คำตอบคือคนไทยภาคกลางเป็นคนมอญ ซึ่งคำตอบนี้แตกต่างจากดีเอ็นเอคนภาคเหนือและดีเอ็นเอคนภาคอีสาน 

ในการศึกษาดีเอ็นเอของผมแบ่งเป็นสองส่วน คือการศึกษาดีเอ็นเอคนในปัจจุบัน ผมทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากทั้งในประเทศไทยและจากสถาบันวิจัยแมกซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology) ประเทศเยอรมนี เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 จนถึงปัจจุบัน ผลงานชิ้นนี้เผยแพร่ในวารสาร Molecular Biology and Evolution ซึ่งศึกษาดีเอ็นเอในรูปแบบของ SNPs ในจีโนมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และเปรียบเทียบกับประชากรอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ผลการศึกษาหลักๆ พบว่าดีเอ็นเอของคนไทยในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน คนเมืองซึ่งเป็นประชากรหลักในภาคเหนือของไทย มีดีเอ็นเอคล้ายกับชาวไดจากสิบสองปันนา ประเทศจีนตอนใต้ ส่วนคนอีสานมีดีเอ็นเอที่มีการผสมผสานระหว่างกลุ่มประชากรที่พูดมอญ-เขมรกับดีเอ็นเอของคนไทยในสิบสองปันนา ซึ่งดีเอ็นเอของคนอีสานมีความต่างระหว่างชายกับหญิง คนลาวอีสานเพศหญิงมีดีเอ็นเอเหมือนคนไทยสิบสองปันนา ในขณะที่ผู้ชายอีสานมีดีเอ็นเอเหมือนคนมอญ-เขมร น่าจะบ่งบอกเหตุการณ์ในอดีตและรูปแบบของการอพยพ 

ในการอพยพของคนลาวอีสานน่าจะเป็นการอพยพมาทั้งชายและหญิงกลุ่มใหญ่ แต่เนื่องจากประชากรที่เป็นประชากรดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานปัจจุบันเป็นคนกลุ่มมอญ-เขมรมาก่อน เมื่อเกิดรูปแบบการแต่งงาน ทำให้ดีเอ็นเอของคนอีสานในปัจจุบันเป็นแบบนี้ 

ส่วนคนไทยภาคกลางและภาคใต้มีดีเอ็นเอที่เหมือนดีเอ็นเอของชาวมอญ และยังพบว่าดีเอ็นเอของคนภาคกลางและภาคใต้ยังมีบางส่วนเหมือนกับชาวอินเดียตอนใต้ ซึ่งแสดงถึงการผสมผสานทางพันธุกรรมจากเอเชียใต้สู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งสามารถประมาณอายุได้ 600-700 ปี ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาของไทย งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่บ่งบอกถึงรายละเอียดโครงสร้างพันธุกรรมของคนไทยในแต่ละภาคว่ามีความแตกต่างกันและแตกต่างกันอย่างไร ผมได้รับเกียรติจากวารสาร Molecular Biology and Evolution ให้ออกแบบภาพลงปกวารสารด้วย เป็นภาพของสุโขทัยและมีเกลียวดีเอ็นเอตรงศูนย์กลางและมีแสงรัศมีแตกออกจากจุดศูนย์กลาง ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายของดีเอ็นเอของกลุ่มคนในประเทศไทย

ทำไมจึงเลือกภาพสุโขทัยเป็นฉากหลังของภาพปก

เพราะเนื่องจากสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกของกลุ่มคนไทกะไดสมัยประวัติศาสตร์ และหลังจากสุโขทัยเป็นต้นมาได้มีการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนจำนวนมากในเอเชียอาคเนย์ และความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบันก็เกิดขึ้นในช่วงยุคประวัติศาสตร์ ดังนั้นผมจึงเลือกสุโขทัย เพราะเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของความหลากหลาย

ศึกษาดีเอ็นเอมาแบบนี้ ตอบได้หรือไม่ว่าความเป็นไทยแท้มีอยู่จริงไหม

(หัวเราะ) ไม่มีครับ คนไทยภาคกลางจากตัวอย่างประมาณ 300-400 ตัวอย่างจากหลายจังหวัด ทั้งราชบุรี กาญจนบุรี พิจิตร สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ทั้งกลางตอนบน กลางตรงกลาง และกลางข้างล่าง เป็นมอญหมดเลย แล้วเราก็มีตัวอย่างจากมอญเยอะมาก มอญบ้านแพ้ว มอญสังขละ มอญโคราช ซึ่งชาวมอญเหล่านี้มีดีเอ็นเอคล้ายกัน แล้วเหมือนกับดีเอ็นเอของกลุ่มตัวอย่างคนภาคกลางที่ผมกล่าวไปมากๆ ถ้าเทสทางสถิติแล้วไม่แตกต่างกันในกลุ่มชาติพันธุ์ นั่นแปลว่าคนไทยภาคกลางคือคนมอญ

ในปี 2018 รายงานที่ชื่อว่า The prehistoric peopling of Southeast Asia ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science ซึ่งคุณเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัย ตอนนั้นนักวิจัยต้องการรู้อะไรจากดีเอ็นเอโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การที่เราศึกษาดีเอ็นเอโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราต้องการรู้ว่าดีเอ็นเอของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทั้งคนไทย เวียดนาม พม่า ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่แท้แล้วพวกเราสืบเชื้อสายมาจากใคร นักโบราณคดีสันนิษฐานถึงการอพยพของมนุษย์จากแอฟริกาในอดีตเข้าสู่เอเชีย เราต้องยอมรับแล้วว่า มนุษย์ปัจจุบันอพยพมาจากแอฟริกาเมื่อประมาณ 60,000-70,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 60,000 ปี จะมีลักษณะของนิกริโต มีลักษณะผมหยิก ผิวดำ ตัวเตี้ย นี่คือหลักฐานฟอสซิลที่เจอที่ถ้ำผาลิง ประเทศลาว นักโบราณคดีจึงบอกว่า นี่คือมนุษย์กลุ่มแรกที่อพยพเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประชากรนิกริโตที่เจอในไทยเหลืออยู่เพียงกลุ่มเดียวคือกลุ่มมานิ คำถามของนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาก็คือแล้วทำไมหน้าตาของคนไทยส่วนใหญ่หรือคนเอเชียส่วนใหญ่จึงไม่เหมือนนิกริโต ทำไมเรามีผิวที่ขาวกว่า รูปร่างที่ต่างไปจากพวกเขา จึงมีสมมติฐานว่าคนที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันน่าจะสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มอื่นที่เป็นคนละกลุ่มกับนิกริโต สมมติฐานอีกข้อมีอยู่ว่า จริงๆ แล้วคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มที่ทำเกษตรกรรมในจีนที่ค่อยๆ อพยพจากจีนลงมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อ 4,000 ปีที่ผ่านมา ตรงกับยุคหินใหม่ แล้วนำความรู้ด้านเกษตรกรรมมาด้วย

สำหรับการศึกษาดีเอ็นเอโบราณในปี 2018 ผมได้ร่วมทีมกับนักวิจัยจากหลากหลายสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ ศึกษากระดูกหูส่วน petrous จากแหล่งโบราณคดี Man Bac จากประเทศเวียดนาม (สมัยหินใหม่ อายุ 4,100 ถึง 3,600 ปีมาแล้ว) Nui Nap จากประเทศเวียดนาม (สมัยสำริด อายุ 2,100 ถึง 1,900 ปีมาแล้ว) Oakaie 1 จากประเทศพม่า (สมัยหินใหม่ตอนปลาย อายุ 3,200 ถึง 2,700 ปีมาแล้ว) บ้านเชียงจากประเทศไทย (สมัยหินใหม่ตอนปลาย-เหล็ก อายุ 3,500 ถึง 2,400 ปีมาแล้ว) และ Vat Komnou จากประเทศกัมพูชา (สมัยโลหะ อายุ 1,900 ถึง 1,700 ปีมาแล้ว) 

ผลการศึกษาพบว่า ตัวอย่างโบราณในยุคหินใหม่มีพันธุกรรมที่ใกล้ชิดกับประชากรที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติก แสดงถึงการแพร่ขยายของเกษตรกรรมในช่วงยุคหินใหม่ ซึ่งนำมาโดยกลุ่มคนที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับประชากรออสโตรเอเชียติกในปัจจุบัน และกลุ่มคนที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติกนี้มีพันธุกรรมของชาวนิกริโตที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ประมาณร้อยละ 30 อย่างไรก็ตามการสืบเชื้อสายของประชากรในแต่ละพื้นที่ เช่น ไทย เวียดนาม และพม่า มีการสืบเชื้อสายที่แตกต่างกัน 

ในประเทศไทยกลุ่มคนในสมัยสำริดจากบ้านเชียงมีดีเอ็นเอที่เหมือนกับกลุ่มออสโตรเอเชียติก และแตกต่างไปจากคนที่พูดภาษาไท-กะไดในปัจจุบัน ในประเทศเวียดนามกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในสมัยหินใหม่ (Man Bac) และ สมัยสำริด (Nui Nap) มีพันธุกรรมที่ไม่เหมือนกัน แสดงถึงการเกิด Genetic Turnover ระหว่างยุคทั้งสอง โดยคนเวียดนามปัจจุบันได้รับพันธุกรรมที่ส่งต่อมาจากสมัยสำริด ซึ่งแตกต่างจากการสืบเชื้อสายของประชากรที่พูดภาษาจีน-ทิเบตในพม่า ซึ่งประชากรเหล่านี้มีพันธุกรรมที่คล้ายกับตัวอย่าง Oakaie ซึ่งอยู่ในสมัยหินใหม่ตอนปลาย ซึ่งผลสรุปของการศึกษาครั้งนี้คือการมีต้นกำเนิดที่แตกต่างกันของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ก็ได้มีนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งศึกษาเรื่องเดียวกัน และได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่สอดคล้องกัน และทั้งสองงานได้เผยแพร่พร้อมกันในวารสาร Science 

คำตอบในรหัสพันธุกรรมบอกเล่าถึงความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่ประเทศไทย คนภาคกลางและภาคใต้คือคนมอญที่มีดีเอ็นเอของคนอินเดียผสม คนอีสานคือส่วนผสมระหว่างมอญ-เขมรกับจีนตอนใต้ คนทางเหนือคือคนจีนตอนใต้ที่อพยพลงมา พูดง่ายๆ ก็คือเรามีความหลากหลายของดีเอ็นเอสูงมาก แล้วตอนไหนที่ไทยเข้ามา 

(นิ่งคิด) เป็นคำถามที่เซนซิทีฟมากพอสมควร ผมคิดว่าน่าจะเกิดมาจาก 2 สาเหตุ สาเหตุแรกก็คือชนชั้นผู้ปกครองหรือกษัตริย์พูดภาษาไทย เมื่อคนที่อยู่ในสถานะสูงสุดของสังคมพูดภาษาไทย คนที่อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าก็ต้องพูดภาษาเดียวกัน ผมคิดว่าในพื้นที่นี้ก็คงมีคนที่พูดภาษาไทกะไดอยู่เป็นส่วนน้อย แต่ส่วนน้อยนั้นอยู่ชั้นสูง ก็ทำให้เกิด Cultural Change หรือ Language Shift เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก ภาษาของกลุ่มคนเปลี่ยนแปลงกันได้ อันนี้จึงเป็นประโยชน์ของการใช้วิทยาศาสตร์มาศึกษา เพราะภาษาเปลี่ยนแปลงได้ แต่ดีเอ็นเอไม่เปลี่ยน ก็เลยเป็นการคอนเฟิร์มในเรื่องของพันธุกรรมของคนภาคกลางกับคนมอญ

โดยหลักการศึกษาการสืบเชื้อสายในอดีตของมนุษย์ เราสามารถศึกษาได้จากดีเอ็นเอของคนปัจจุบัน ถ้าเราเก็บเอาดีเอ็นเอของคนปัจจุบันมา ซึ่งทุกคนต่างก็ได้รับดีเอ็นเอมาจากบรรพบุรุษ ผมได้รับดีเอ็นเอครึ่งหนึ่งจากพ่อ อีกครึ่งหนึ่งจากแม่ พ่อกับแม่ของผมก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าเราต้องการจะสืบเชื้อสายจากปัจจุบันกลับไปยังอดีต เราสามารถศึกษาข้อมูลดีเอ็นเอจากคนปัจจุบันได้ แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าคนในปัจจุบันก็มีการผสมผสานกันระหว่างเชื้อชาติ เราไม่รู้ว่าในอดีตการผสมผสานเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง บางคนอาจจะบอกว่าตนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ A แต่ในท้ายที่สุด เขาอาจจะเป็น B ก็ได้ เพียงแต่ว่าเขาใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ A 

ยกตัวอย่างคนไทยภาคกลาง มีภาษาพูดเป็นภาษาไทย ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษาไทกะได แต่ดีเอ็นเอของคนที่อาศัยในภาคกลางของประเทศไทยมีความใกล้เคียงกับดีเอ็นเอของกลุ่มชาติพันธุ์มอญมากที่สุด เมื่อผลดีเอ็นเอบอกแบบนี้ เราก็สามารถอธิบายได้ว่า เขาตกอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าในเชิงรัฐศาสตร์การเมืองหรือในเชิงประวัติศาสตร์ก็ตามแต่ เขาจึงต้องเปลี่ยนมาพูดภาษาไทย เรากำลังหมายความว่าภาษากับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่ดีเอ็นเอส่งตรงมาจากพ่อแม่บรรพบุรุษโดยตรง

ดูเหมือนว่าเวลาที่ตีความผลการศึกษาจากดีเอ็นเอ นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้ศาสตร์อื่นในการเทียบเคียง

ใช้เยอะครับ คนที่ทำงานด้านนี้ต้องมีใจรักประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก็จะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากพอสมควร เวลาที่เราอ่านประวัติศาสตร์ เราไม่สามารถเชื่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการเขียนประวัติศาสตร์ของคนในแต่ละยุค เขาเขียนให้คนที่มีผลประโยชน์ดูดี ดังนั้นเวลาอ่านประวัติศาสตร์เราก็ต้องชั่งใจว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า 

การนำวิทยาศาสตร์เข้าไปตอบคำถามที่เป็นคำถามจากนักสังคมศาสตร์หรือนักโบราณคดี ซึ่งเป็นคำถามที่เขาอยากรู้กันมานานแล้ว ว่าจริงๆ แล้วคนไทยคือใคร นักวิทยาศาสตร์เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยตอบคำถามด้านสังคม ผมไม่ได้มองตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ผมเป็นเพียงคนที่เอาความรู้เข้าไปตอบคำถามให้คนอื่นๆ ดังนั้นถามว่าความรู้ด้านประวัติศาสตร์จำเป็นสำหรับการตีความไหม จำเป็นมาก เพราะว่าเราจำเป็นที่จะต้องเทียบให้ได้ ผมหาอายุเชื้อสายคนอินเดียที่ปรากฏในหลักฐานดีเอ็นเอของคนไทยภาคกลาง เราจำเป็นต้องรู้ว่าช่วงเวลา 600-700 ปีที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้นในช่วงประวัติศาสตร์ ถ้าเรารู้ว่าเวลา 600-700 ปีที่ผ่านมาคือยุคสมัยอยุธยา มีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่และเวลานั้น มันจำเป็นมากที่ต้องอาศัยนักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์ ร่วมกันหาคำตอบ

ทัศนคติทางการเมืองหรือรสนิยมทางการเมืองของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งมีผลต่อการตีความข้อมูลดีเอ็นเอไหม

ผมคิดว่าไม่มี เพราะในทีมที่ทำงานวิจัยด้วยกัน ซึ่งเราไม่ได้มีความคิดทางการเมืองเหมือนกันเลยนะ คืออาจจะพูดได้ว่าสุดโต่งทั้งสองขั้วทางการเมือง แต่เวลาที่เราตีความข้อมูล เราตีความบนฐานวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่าเราจะต้องเอาเรื่องสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จำเป็นมากที่เราจะต้องตัดความรู้สึกด้านการเมืองออกไปจากการตีความวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นธรรมชาติครับ ธรรมชาติเป็นแบบไหนเราก็อ่านธรรมชาติแบบนั้น ถึงแม้ว่าเราจะต้องเอาเหตุผลมาประกอบเพื่ออธิบายธรรมชาติมากมาย แต่ตัวแกนหลักของธรรมชาติมันบอกเล่าเรื่องราวที่เราไม่สามารถเบี่ยงเบนเนื้อหาได้ วิทยาศาสตร์ต้องตรงไปตรงมาครับ

ถามให้ลึกขึ้นอีกนิด เหตุผลประกอบการอธิบายธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์หยิบขึ้นมาใช้อภิปรายร่วม ประกอบด้วยประวัติศาสตร์นิพนธ์ ชาติพันธุ์ มานุษยวิทยา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมมีอคติของผู้เขียนอยู่ มันทำให้สายตาของนักวิทยาศาสตร์ในการตีความข้อมูลเบี่ยงเบนไหม

ในการเขียนงานทางวิทยาศาสตร์ เรานำเสนอผลทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก แล้วนำเหตุที่สอดคล้องกับผลมาอธิบายร่วมกัน ผมนำงานของผมเข้าไปตอบคำถามในสิ่งที่นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา นักสังคมศาสตร์อยากรู้ แต่การเขียนงานวิทยาศาสตร์มีรูปแบบที่ไม่เหมือนงานด้านสังคม ในการทำงานร่วมกับนักโบราณคดี เราจะมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งมากพอสมควรระหว่างแบ็กกราวด์ของสังคมศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ เพราะเรามีวิธีการเขียนไม่เหมือนกัน อาจารย์รัศมีก็จะบอกเสมอว่าผมควรปรับการเขียนให้เป็นแนวสังคมมากขึ้น ซึ่งแบ็กกราวด์ของผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในการเขียนงานทางวิทยาศาสตร์ เราเขียนผลที่ได้จากการศึกษาเป็นหลัก ส่วนเหตุผลด้านสังคมหรือภาษาศาสตร์เราเอามาอภิปรายร่วมกับผลทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เราเจอ 

คำถามที่ว่าทัศนคติทางการเมืองหรือการชอบหรือไม่ชอบแนวคิดทางการเมืองใดแนวคิดหนึ่งมีผลต่อการเขียนงานวิทยาศาสตร์ไหม ผมว่าน้อยมาก และพวกเราพยายามเลี่ยงการใช้เหตุผลที่มีอคติมาอภิปราย 

คำถามที่ว่า ‘คนไทยมาจากไหน’ เป็นคำถามที่กว้างมาก ในการศึกษาเพื่อที่จะหาคำตอบ ทุกศาสตร์จึงสัมพันธ์และสอดคล้องกัน ทำให้การตอบคำถามคำถามหนึ่งมีความสมบูรณ์ มีข้อด้อยน้อยที่สุด การศึกษาในแต่ละศาสตร์มีข้อจำกัดในตัวเอง ภาษาศาสตร์ก็มีข้อจำกัดของตัวเอง เช่น การเปลี่ยนภาษาของผู้คน ประวัติศาสตร์ก็มีข้อจำกัด เช่น อคติของนักประวัติศาสตร์ โบราณคดีก็มีข้อจำกัด หลักฐานอาจฝังใต้ดินสักแห่ง แต่คนยังขุดไม่เจอ ดีเอ็นเอก็มีข้อจำกัด แต่ผมก็มองว่าข้อจำกัดของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์มีน้อยกว่าข้อจำกัดของสาขาอื่น 

เพราะเวลาที่เราหาผู้กระทำความผิดหรือพิสูจน์หลักฐานเรายังเชื่อหลักฐานดีเอ็นเอเลยใช่มั้ย การตรวจพ่อแม่ลูก หาคนกระทำความผิด ซึ่งดีเอ็นเอสามารถบอกได้ว่าใครเป็นใคร ดีเอ็นเอถูกส่งผ่านมาจากพ่อแม่สู่ลูก เป็นหลักการโดยทั่วไป ดังนั้นเราจึงสามารถสืบเรื่องราวย้อนกลับไปในอดีตได้ ผมมองว่าความลำเอียงจากการศึกษาของวิทยาศาสตร์น่าจะมีไม่มาก

หลังจากพบคำตอบที่อยากรู้มาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้คุณกำลังสนใจอะไร

ผมอยากทำดีเอ็นเอโบราณต่อ เพราะทั้งหมดที่พูดกันมาเรากำลังพูดถึงดีเอ็นเอของคนปัจจุบัน แต่ในอนาคต ถ้าเราได้ดีเอ็นเอโบราณ ซึ่งโบราณไปกว่ายุคประวัติศาสตร์ 2,000 ปีขึ้นไป เราจะตอบคำถามถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ได้ ถึงแม้ว่าอดีตเมื่อ 5,000 ปีของพื้นที่นี้จะไม่ใช่ประเทศไทยก็ตาม แต่อย่างน้อยนี่คือแผ่นดินที่เราอยู่ ก็อาจจะเป็นอีกคำถามหนึ่ง เป็นการสืบประวัติของคนโบราณ แต่เราก็จะไม่เรียกคนไทยแล้ว เพราะคนไทยน่าจะหมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยใช่ไหม

ผมอยากรู้ว่าใครดำรงอยู่มาก่อนที่คนไทยในปัจจุบันจะอพยพเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า มีกลุ่มคนออสโตรเอเชียติกหรือพวกมอญ-เขมรอาศัยอยู่มาก่อนที่จะมีคนอพยพลงมาจากจีนตอนใต้ในภายหลัง แล้วก่อนหน้านั้นล่ะ? ก่อนที่มอญ-เขมรอยู่ มันต้องมีคนกลุ่มอื่นอาศัยอยู่ มันต้องมีการผลัดเปลี่ยน พลวัตของประชากรเปลี่ยนแปลงตลอด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ผมอยากรู้ถึงเวลาที่เก่าแก่ไปกว่านั้น

ในขณะนี้ผมกำลังศึกษาดีเอ็นเอโบราณจากตัวอย่างในวัฒนธรรมโลงไม้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแมกซ์พลังก์และนักโบราณคดีในไทย (ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช) ซึ่งคาดว่าจะผลการศึกษาเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นและจะแล้วเสร็จในปี 2565 

ในฐานะที่ศึกษาดีเอ็นเอคนไทยมาทุกภูมิภาค มองปรากฏการณ์ #คลับเฮ้าส์toxic เรื่องการเหยียดชาติพันธุ์ช่วงที่ผ่านมาอย่างไร 

ผมมองว่าการเหยียด ไม่ว่าจะเหยียดเพศ เหยียดศาสนา เหยียดชาติพันธุ์ มักจะเกิดมาจากกลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาต่ำ ระบบการศึกษาของเรายังไม่ดี เราต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาบ้านเราไม่ดี เพราะถ้าการศึกษาดี จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ รัฐบาลไม่ค่อยโปรโมตเรื่องการศึกษาเท่าไร หรือเขาไม่อยากให้คนมีการศึกษา ผมก็ไม่แน่ใจ ใครๆ ก็รู้ใช่มั้ยว่าการศึกษาจะทำให้สังคมดีขึ้นและพัฒนาในทุกมิติ

สิ่งที่คุณศึกษาหาคำตอบ ควรมีที่ทางอยู่ตรงไหน

มันควรออกสื่อและอยู่ในแบบเรียน คนควรได้รู้ว่านักวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องราวเหล่านี้อยู่ คนในสังคมไทยควรได้รับรู้ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ถ้าคนภาคกลางที่ไปเหยียดคนอีสานรู้ว่าตัวเองเป็นใครก็ไม่รู้ ซึ่งไม่ใช่คน Native ของพื้นที่นี้ด้วยซ้ำ เขาก็ไม่ควรจะไปเหยียดคนอื่น หรือถ้าเขารู้ว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้มีจุดกำเนิดเริ่มต้นมาจากทวีปแอฟริกา เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิด เพราะคุณก็มาจากจุดนั้นเหมือนทุกคนบนโลกใบนี้ ผมเคยเจอเด็กคนหนึ่งเหยียดคนผิวสี แล้วพ่อแม่ก็ไม่ได้ห้าม สิ่งนี้สะท้อนว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหาอย่างรุนแรง

ผมพยายามติดต่อเพื่อนที่ทำงานใน สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ซึ่งพยายามนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปอยู่ในหนังสือแบบเรียน แต่เนื่องจากความรู้วิทยาศาสตร์มีเยอะมาก เขาก็ต้องเลือก ผมพยายามนำเสนองานตรงนี้ให้ไปปรากฏอยู่ในหนังสือเรียน ม.1 ม.2 ม.3 เล่มไหนก็ได้ แต่ยังไม่สำเร็จ

ไม่นานมานี้มีการเผยแพร่ข้อสอบของนักเรียนชั้นประถมศึกษา คำถามนี้มีอยู่ว่า ‘ข้อใดคือสาเหตุทำให้ชาติไทยเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน’ มีคำตอบให้เลือก 3 ข้อ ก. มีเทคโนโลยีทันสมัย ข. มีประชากรจำนวนมาก ค. มีบรรพบุรุษไทยที่เสียสละ เด็กเลือกตอบ ก. แต่คำตอบที่ถูกต้องคือ ค. คุณคิดว่าถ้าผลการศึกษาที่คุณทำมันเข้าไปอยู่ในแบบเรียน คำตอบของข้อสอบนี้จะเปลี่ยนไปไหม

ผมว่าเปลี่ยน (หัวเราะ) แต่การผลักดันให้มันเข้าไปอยู่ในหนังสือเรียนที่เด็กต้องเรียน ต้องอาศัยคนที่มีพาวเวอร์มากกว่าผม ต้องอาศัยคนในกระทรวงที่มองเห็นตรงนี้ ผมฝันไว้ว่าเราควรมีผู้ใหญ่หรือคนทำงานในกระทรวงศึกษาฯ ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการที่ไม่มีอคติในเรื่องเหล่านี้ ไม่เอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ระบบการศึกษาน่าจะดีขึ้น ถ้าประตูของการบรรจุความรู้ในหนังสือเรียนมีจุดยืนบนความจริงทางวิชาการที่สามารถพิสูจน์และหักล้างได้ด้วยวิทยาศาสตร์  

Fact Box

  • รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
  • นอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญดีเอ็นเอของคนปัจจุบัน รศ.ดร.วิภู ยังนำนวัตกรรมการตรวจดีเอ็นเอโบราณไปร่วมศึกษาแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการวิจัยสหวิทยาการ ‘โครงการมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงใน อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน’ โดยมี ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช เป็นหัวหน้าโครงการ 
Tags: , , , , , , ,