รักและการปฏิวัติ เคยมีความหนาเพียง 15 หน้า และเกือบจะถูกพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานสมรสระหว่างเขากับคนรัก ก่อนที่ ธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะค้นคว้าขยายเนื้อหาเป็นรายงานวิจัยเรื่อง ความคิดและการเคลื่อนไหวทางความคิดเรื่อง ‘ความรักที่ก้าวหน้า’ ของนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยในช่วงระหว่างทศวรรษ 2490-2520 และปรับปรุงอีกครั้งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยการเมืองเรื่องความรักเล่มนี้

เดือนมีนาคมแห่งการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ได้ทำให้หลายกิจกรรมโคจรเข้าสู่โลกออนไลน์ รวมถึงการเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัย ธิกานต์เดินทางกลับมาพำนักยังบ้านหลังเล็กในเมืองเล็กๆ ที่อุตรดิตถ์ บ้านหลังนี้มีห้องสมุดเล็กๆ ที่ภรรยาของเขาใช้สอนหนังสือเด็กๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ มันถูกเรียกว่า White Cabin มีห่าน 7 ตัว ผักสวนครัวหลายชนิด และรั้วสังกะสีที่เขาต้องซ่อมหากมันชำรุด 

ในวัยเด็กผมโหยหาบ้านเกิดที่อีสานซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวนา บ้านหลังนี้มอบบรรยากาศแบบนั้นให้ผมอีกครั้ง” ธิกานต์กล่าวถึงบ้านหลังนี้ สถานที่ซึ่งเขาผลิตต้นฉบับหนังสือเล่มที่เรากล่าวถึง แต่บ้านของเขาไม่น่าจะหมายถึงเพียงแค่สถานที่

หัวข้อที่เราพูดคุยกับนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาของฝ่ายซ้ายไทยอย่างจริงจังคนหนึ่งคือเรื่องความรัก ความรักในฐานะปริมณฑลการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายซ้าย และความรักในฐานะที่ตั้งฝั่งซ้ายของหัวใจ 

คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ธรรมชาติติดตั้งหัวใจไว้ฝั่งนี้ – สำนวนของรองผู้บัญชาการมาร์กอสแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา ยืนยันถึงพลานุภาพของอำนาจในการช่วงชิงการนิยามความหมายทางการเมือง ด้วยการอุปมาอุปไมยตำแหน่งที่ตั้งทางชีววิทยาของความรัก 

ในห้วงของการระบาดทำให้เราไม่สามารถเดินทางข้ามเมืองไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ ภาพถ่ายที่คุณเห็นในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นฝีมือของช่างภาพจำเป็น เธอคือผู้หญิงซึ่งปรากฏชื่อในหน้าคำอุทิศของหนังสือ ซึ่งเขียนโดยคนรักของเธอ

ในหน้าคำอุทิศ คุณเขียนคำอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้ภรรยา อุปมาอุปไมยว่าเธอเป็น ‘ความรัก’ และ ‘บ้าน’ สองคำนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไรจนเกิดเป็นความหมายที่มอบแก่ตัวคุณเอง

จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้แยกไม่ออกจากความรัก ตอนที่ผมจะแต่งงานปี 62 คุณ ‘ไผ่’ – ศรัณย์ วงศ์รจิต แนะนำให้นำบทความขนาด 15 หน้าที่ผมเขียนมาพิมพ์หนังสือที่ระลึกสำหรับแขกเหรื่อที่ร่วมงาน แต่ก็ไม่ได้ทำ จนกระทั่งผมปรับปรุงบทความจำนวน 15 หน้า จนเป็นหนังสือเล่มนี้ ผมเขียน รักและการปฏิวัติ ในช่วงที่มาอยู่บ้านหลังนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ใช้ผลงานชิ้นนี้ในการขอตำแหน่ง ก็เลยอยากจะมอบหนังสือเล่มนี้ให้กับแฟน เป็นเหมือนของที่ระลึกในการแต่งงาน

บ้านกับความรักสำคัญกับผม ผมเติบโตมาจากครอบครัวชาวนาภาคอีสานที่ยากจน เป็นแรงงานเด็กในภาคเกษตรกรรมเหมือนเด็กอีสานทั่วไป พ่อเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างในกรุงเทพฯ แยกทางกับแม่แล้วแต่งงานใหม่ การอาศัยอยู่กับปู่และน้องๆ ของพ่อที่ต่างก็มีครอบครัวของตัวเอง ทำให้รู้สึกเหมือนเติบโตมาในครอบครัวของคนอื่น ผมไม่เคยมีบ้านเป็นของตัวเอง กระทั่งได้มาเจอแฟนคนนี้ก็ถือว่าผมได้มีบ้านแล้วจริงๆ บ้านกับความรักจึงเกี่ยวข้องกันในแง่นี้ 

ในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ คุณเขียนสื่อสารกับคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน ว่าควรจะวิพากษ์หรือทำลายความคิดเรื่องความรักที่ครอบงำสังคมเราอยู่ ทำไมความรักจึงสำคัญกับการต่อสู้ทางการเมือง

ความรักเป็นปริมณฑลหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งความรักเป็นหนึ่งในหลายปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพศสภาพ อาหาร เครื่องแต่งกาย ทรงผม การศึกษา ความทรงจำ พื้นที่เชิงวัฒนธรรมเป็นฐานที่มั่นสำคัญของการต่อสู้ช่วงชิงความหมาย ในที่นี้ผมเลือกศึกษาปฏิบัติการเกี่ยวกับความรัก เพื่อนำเสนอให้คนรุ่นปัจจุบันนำไปต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ ทำให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่หรือสังคมใหม่ที่เราอยากให้เป็น ผมหยิบประวัติศาสตร์ของคนหนุ่มสาวรุ่นก่อนมาเล่าให้พวกคุณฟัง ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยใช้ความรักต่อสู้ทางการเมือง แต่คนรุ่นใหม่จะทำอย่างไรไม่ให้ล้มเหลวเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับพวกเขา เพราะในท้ายที่สุด ความรักได้กลายเป็นความขัดแย้งในขบวนการปฏิวัติระหว่างคนหนุ่มสาว กับ พคท.

ผมนำเรื่องนี้มาเล่าเพื่อให้ผู้คนในยุคสมัยของเราคิดต่อยอด และชี้ให้เห็นว่าในทุกพื้นที่ของชีวิตล้วนแต่เป็นพื้นที่การช่วงชิงและต่อสู้ทางการเมือง

คุณเริ่มสอนหนังสือมาตั้งแต่ปี 2554 คลุกคลีอยู่กับนักศึกษามาตลอด โดยเฉพาะนักศึกษากลุ่มที่ออกมาต่อต้าน คสช. ในปี 2558 กระทั่งย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พอจะสังเกตเห็นไหมว่าพวกเขามีมโนทัศน์เรื่องความรักแบบไหน

ผมไม่อยากขึ้นป้ายว่าความรักของพวกเขาคือความรักแบบกระฎุมพี แต่ข้อเท็จจริงที่สังเกตเห็นก็ใกล้เคียงที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขายึดถือเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับความผูกพันหรือพัฒนาความสัมพันธ์ไปจนถึงการสร้างครอบครัวมากนัก พวกเขาไม่อินกับเรื่องเหล่านี้ แน่นอนว่านิสัยใจคอยังเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะดูเรื่องฐานะทางสังคมด้วย ผมก็ไม่เคยถามพวกเขานะ แต่ที่สัมผัสได้พวกเขาจะสนใจเรื่องรูปร่างหน้าตา เห็นใครดูดีเดินมาต้องมีแซวกันแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนนะ บางเรื่องของพวกเขาทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองหัวโบราณไปเลย ผู้หญิงจีบผู้ชายนี่เป็นเรื่องปกติ เขาเรียกว่าอ่อย ลูกศิษย์ของผมมีแฟน เพื่อนก็ถามว่า “ได้มายังไง” มันก็ตอบว่า “ก็กูบอกว่านี่มันเสียให้มาช่วยซ่อมที่ห้องกู” ผมหัวโบราณไปเลย ผู้หญิงก็มีเหลี่ยมคูของเขาในการแสดงความสนใจผู้ชาย ลูกศิษย์ก็มักจะแซวว่าผมหัวโบราณ 

ที่บอกว่าตัวเองเป็นคนหัวโบราณ อยากทราบว่าความคิดเรื่องความรักของคุณเป็นแบบไหน 

ผมจะตอบคำถามนี้อย่างซื่อตรงที่สุดนะ ผมก็อยากเจอผู้หญิงที่สวย ไม่ต้องสวยมาก แต่ก็มีความสวยในแบบของเขา แต่สำคัญที่สุดคือมีความคิดทางการเมืองไปในทางเดียวกัน รวมถึงศาสนาด้วย ถ้าเคร่งศาสนามากๆ ผมก็ไม่ไหว เพราะผมเป็นพวกไม่มีศาสนา แต่ไม่มีปัญหากับคนนับถือศาสนานะครับ ถ้าเรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องเจ้า ถ้าเขาเอาเจ้านี่จบข่าวเลย ถึงจะสวยแค่ไหนก็จะไม่สวยทันที มันจะรู้สึก (ถอนหายใจ) ไม่ได้อะ

ถ้าเป็นความรักในกรอบคิดของ พคท. ในยุคหลัง 14 ตุลาคม ความคิดเรื่องความรักของคุณก็จะต้องถูกวิจารณ์และดัดนิสัยใหม่ เพราะ พคท. บอกว่า ความรักที่ถูกต้อง จะต้องไม่คำนึงเพียงแค่รูปร่างหน้าตา

ก็ต้องดูดีบ้าง ไม่ใช่ดูไม่ได้เลย นี่พูดแบบจริงใจเลยนะครับ บางทีเราปิ๊งเขาเพราะเขาน่ารัก แต่ถ้าพูดออกไปแบบนี้ผมโดนด่าแน่เลย (หัวเราะ)

โอเค คุณกำลังจะบอกว่านี่คือปัญหาของ พคท. ที่ละเลยเรื่องของอารมณ์ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ใช่ เป็นปัญหาของพรรคที่ปิดกั้นและให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกน้อยไป แม้แต่เพลงที่แสดงถึงอารมณ์ ก็ถูกมองว่าเป็นการแสดงความรู้สึกแบบนายทุนน้อย เพลงในป่าจะไม่อนุญาตให้มีความรู้สึกแบบนายทุนน้อยออกมา

ยกตัวอย่างเพลง ด้วยรักของอุดมการณ์ (ประพันธ์โดย กมล สุสำเภา หรือสหายประดิษฐ์ ผู้แต่งเพลงนี้ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า เขาได้รับแรงดลใจจากสหายชายคนหนึ่งซึ่งมีคนรักร่วมขบวนปฏิวัติอีสานใต้ แต่อยู่คนละหน่วยงาน ชื่อเพลงได้นำมาจากชื่อนวนิยายของวัฒน์ วรรลยางกูร)

เพลงนี้เป็นเพลงรักที่แต่งในป่า แต่ยังนำมาขับร้องกันได้ เพราะเนื้อหามีสัดส่วนของการปฏิวัติอยู่สูง ช่วงหลังนักศึกษานักกิจกรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็เอามาขับร้องกัน (ปลายทศวรรษ 2530) มันเป็นเพลงรักของนักกิจกรรมเลยนะ เป็นความรักที่พูดไม่ได้

ดูเหมือนว่าความรักกับความคิดทางการเมืองจะผูกโยงกันอย่างแนบแน่น เพราะคำตอบของคุณเมื่อครู่นี้ก็ส่วนหนึ่ง และในปี 2563 มีวลี ‘จีบได้ไม่ใช่สลิ่ม’ ซึ่งสะท้อนความคิดเรื่องความรักของยุคสมัย คุณมองปรากฎการณ์นี้อย่างไร 

จริงๆ ผมก็ลืมเรื่องนี้ไปเสียอย่างนั้น ผมลืมเขียนถึงมันในหนังสือของผม ระหว่างที่เขียนรักและการปฏิวัติ เสียงเหล่านี้ปรากฏเต็มไปหมด ผมมองว่าเรามาถึงจุดที่ความคิดทางการเมืองสร้างความแตกต่างให้กับผู้คนในสังคมอย่างชัดเจนและสุดขั้ว มันไม่สามารถไปด้วยกันได้ถ้าคุณมีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างกันคนละขั้ว ไม่ว่าคุณจะมีรูปร่างหน้าตาสวยหล่ออย่างไร ถ้าทัศนคติทางการเมืองต่างกันมาก เขาก็ไม่สนใจคุณ คล้ายกับยุคหลัง 14 ตุลาฯ ที่ความแตกต่างของความคิดทางการเมืองแยกคนออกอย่างชัดเจน คุณเอาหรือไม่เอานายทุน เอาหรือไม่เอาศักดินา ในยุคนั้นจะมีเรื่องชนชั้นเข้ามากำกับอีกเรื่องหนึ่ง เช่น ถ้าคุณทำตัวเป็นชนชั้นกระฎุมพีก็อาจจะไม่ได้รับความสนใจ แต่ปัจจุบันไม่มีเรื่องชนชั้นมาเกี่ยวเท่าไร เรื่องชนชั้นคลี่คลายไปแล้ว ถ้าทัศนคติทางการเมืองตรงกัน คุณจับมือไปด้วยกันได้ แต่ถ้าอยู่ชนชั้นเดียวกันแต่ทัศนคติทางการเมืองไม่ตรงกัน คนสองคนก็อาจจะไปด้วยกันลำบาก

ปรากฏการณ์ที่เราคุยกันนี้ก็เกือบจะเป็นกระบวนทัศน์เหมือนกันนะครับ ผมกำลังหมายถึงหลักการใดหลักการหนึ่งที่ผู้คนประยุกต์เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ในกรณีที่เราคุยกันก็คือการเลือกคู่ครอง แต่ในปัจจุบันหลักการใดการหนึ่งไม่ได้ทำงานเป็นระบบ แต่ในยุคหลัง 14 ตุลาฯ มันมีคนอธิบาย จัดระบบความรู้ และอัดฉีดให้อย่างเป็นระบบ

ในยุคนั้น พคท. หรือนักคิดของ พคท. ก็พยายามทำหน้าที่นี้อย่างเป็นระบบ พยายามที่จะสร้างชุดความรู้อย่างเป็นระบบ ถ้าคุณอยู่ในชนชั้นหนึ่ง คุณจะมีความคิดแบบหนึ่ง มีรสนิยมแบบหนึ่ง จะไม่มีทางเหมือนกับชนชั้นอื่น จะมีชุดความคิดหรืออุดมการณ์ต่างกันทั้งชุดเลย แต่สมัยนี้ไม่มีคนมาจัดระบบอธิบายเหมือนที่เคยเกิดในสมัยนั้น พวกเราต่างเรียนรู้เอง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดี 

 

พคท. ในยุคนั้นก็เป็นเหมือนไลฟ์โคชในยุคนี้ พวกเขาจัดระบบความคิดในการใช้ชีวิตให้เยาวชน ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำเรื่อง 3 ช้า 4 ห่วง อบรมเยาวชนในตอนนั้นว่า ความรักที่ดีควรเป็นเช่นไร แต่ในยุคสมัยของเรา อะไรหล่อหลอมให้เกิดความคิดแบบ ‘ไม่เอาสลิ่มมาทำแฟน’ ในหมู่คนรุ่นใหม่

นี่คือจุดแตกต่างจากยุคหลัง 14 ตุลาฯ คนหนุ่มสาวยุค 14 ตุลาฯ สั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองขึ้นมาจากการที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน แต่ขณะเดียวกัน พคท. ก็เป็นองค์กรจัดตั้งที่มีชุดความรู้เป็นระบบสั่งสมมานาน เขาก็อัดฉีดแนวคิดทั้งแนวคิดทางการเมืองและแนวคิดเรื่องโลกทัศน์และชีวทัศน์ พิมพ์หนังสือ สิ่งพิมพ์ เผยแพร่อย่างกว้างขวางในช่วงเวลานั้น

แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมคิดว่าผู้นำหรือคนที่อัดฉีดความคิดเหมือน พคท. ในยุคนั้นไม่มีแล้วในยุคนี้ ผมคิดว่าคนหนุ่มสาวยุคนี้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จนตกผลึกเป็นคอนเซ็ปต์ของยุคสมัย “ถ้าคุณไม่ใช่สลิ่ม ก็คบกันได้” เป็นการกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ กลั่นมาจากตัวของคนหนุ่มสาวเอง และกลั่นมาจากโลกทางการเมืองอันเป็นจริงที่พวกเขาเผชิญอยู่ ซึ่งพวกเขาเรียนรู้สองส่วนนี้ผ่านประสบการณ์ เหมือนเข้าโรงเรียน สู้ไปเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เจอประสบการณ์ที่ต่อมาเขาจะกลั่นกรองเลือกเก็บไว้หรือไม่ก็คัดออก ระหว่างการต่อสู้ทางความคิดก็ได้เจอกับคำพูดของดาราหล่อๆ สวยๆ ซึ่งเป็นคำพูดที่ไปด้วยกันไม่ได้กับโลกทางการเมืองที่พวกเขาประสบพบเจอด้วยตนเอง จนถึงขั้นประกาศ “กูไม่เอามึงแล้ว” 

ต่อให้คุณสวยหรือหล่อขนาดไหนเขาก็ไม่เอา คนที่พวกเขาพึงพอใจก็จะเป็นคนที่มีความคิดทางการเมืองเหมือนหรือไปในแนวทางที่พวกเขาคิดว่ามีความชอบธรรม ถ้าสนับสนุนประชาธิปไตยมันจะไกด์บอกส่วนอื่นๆ ในตัวตนของคนคนนั้นประมาณหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้ แต่ถ้าใครสักคนนำหลักการที่พวกเขายึดมั่นมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริง เช่น ถ้าคุณสนับสนุนประชาธิปไตย คุณต้องเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนยากคนจน คุณต้องมองเห็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในสังคม การเอารัดเอาเปรียบ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนี่เป็นคอนเซ็ปต์ที่มาจากวลีที่ว่า ‘ไม่เอาสลิ่มมาทำแฟน’ 

คนหนุ่มสาวรุ่นนี้เรียนรู้จากประสบการณ์ทางการเมืองจนเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ที่พวกเขานำมาใช้ในบางแง่มุมของชีวิต ในแง่นี้ก็คือการเลือกคนรัก

คนรุ่นใหม่เสนอไอเดียใหม่ๆโดยตั้งคำถามเรื่องความรักผ่านแนวคิดกตัญญู พวกเขาเสนอว่าไม่คาดหวังให้คนรุ่นลูกมาเลี้ยงดูยามแก่เฒ่าอีกแล้ว โดยมองว่าสภาพอนาถาที่เกิดกับผู้สูงวัยในสังคมไทยควรแก้ไขด้วยโครงสร้างทางการเมืองด้วยรัฐสวัสดิการ คุณค้นพบหลักฐานทำนองนี้ในยุค พคท. ไหม เราสามารถพูดได้ไหมว่านี่คือมโนทัศน์ความรักที่ก้าวหน้าซึ่งเสนอโดยเยาวชน 

ผมคิดว่าซ้ายไทย (เเบบ พคท.) ไม่ได้คิดหรือมีนโยบายเรื่องสวัสดิการของคนสูงอายุในครอบครัว นโยบายของ พคท. ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคก็ไม่มีไอเดียแบบนี้ นโยบายของ พคท. ที่ใกล้เคียงที่สุดคือนโยบายข้อ 9 ที่ให้การสงเคราะห์ทหารปฏิวัติ ผู้ทำงานปฏิวัติที่ทุพพลภาพ ครอบครัวผู้พลีชีพเพื่อการปฏิวัติ และครอบครัวทหารปฏิวัติ คนเหล่านี้ต้องทิ้งครอบครัวไปเป็นทหารปฏิวัติ ทำให้ขาดแรงงานในครัวเรือน ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงมวลชนทั่วไปในสังคม ดังนั้นผมคิดว่าข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ที่ให้รัฐจัดสวัสดิการถ้วนหน้า จึงถือว่าใหม่กว่ามาก

อย่างน้อยที่สุดก็คือ พคท. ไม่เคยฉายภาพให้เห็นว่า คนแก่คนเฒ่าในครอบครัวหลังการปฏิวัติสำเร็จจะถูกดูแลจัดการอย่างไร

ผมคิดว่านี่คือเรื่องใหม่ ผมคิดว่าเด็กรุ่นนี้ไปไกลมาก จนผมหัวโบราณไปเลย นี่เป็นอีกครั้งที่ผมพูดคำว่าหัวโบราณใช่ไหม ผมเคยได้ยินผ่านๆ นะแบบที่คุณว่า เรื่องตั้งคำถามกับความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูก เรื่องของความกตัญญู ตั้งคำถามว่าจำเป็นต้องกตัญญูไหม 

ซึ่งในยุค พคท. ก็อาจจะมีลักษณะที่หากฝ่ายซ้ายคนไหนมีความเห็นแตกต่างไปจากพ่อแม่ ระดับเบาสุดก็พยายามจะประนีประนอมกับพ่อแม่ ไม่ถึงขั้นตัดขาดจากความเป็นพ่อแม่ลูก แต่เพื่อไม่ให้พ่อแม่มาขัดขวางการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม พวกเขาก็ตัดขาดจากกันชั่วคราว เพราะเท่าที่เห็นสุดท้ายก็กลับมาหากันอยู่ดี พวกเขาเลือกที่จะเข้าป่าไปโดยไม่บอกพ่อแม่ แต่เมื่อเวลาล่วงไปหลายปีค่อยส่งข่าวกลับมาบอก กระทั่งพรรคแตกก็กลับมาหาพ่อแม่อยู่ดี ถ้าตามงานเขียนประเภทชีวทัศน์ของเยาวชน ก็พยายามบอกว่า อย่าให้ครอบครัวมาเป็นตัวถ่วงการทำงานปฏิวัติ ถ้าครอบครัวถ่วงก็ต้องตัด นี่คือในระดับสุดโต่งนะ 

ใน พคท. มีพื้นที่ให้กับ LGBTQ อย่างไรบ้าง

พคท. มีปัญหาการรับมือกับ LGBTQ เขาไม่มีไอเดียเรื่องเหล่านี้ นอกจากไอเดียเรื่องหญิงชาย แต่ก็ต้องเข้าใจ พคท. ว่าในแต่ละพื้นที่เจือไปด้วยคนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ ต่อให้คิดเรื่องความเท่าเทียมทางชนชั้นได้แต่การที่ผู้ชายจะแต่งงานกับผู้ชายก็คงเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ พอจะนึกออกมั้ยครับ แต่หลักฐานชิ้นหนึ่งที่ถูกเขียนในพื้นที่อีสานใต้ระบุว่า คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ เพราะพรรคฝ่ายนำยินยอม แต่ยอมเพราะเพื่อนๆ ช่วยกันประท้วง เพื่อนๆ เห็นว่าหญิงข้ามเพศคนนี้ทำงานไม่ต่างจากผู้ชาย ขยันขันแข็ง มีวินัย ไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ฉะนั้นฝ่ายนำก็โอนอ่อนยอมให้ 

อีกกรณีเป็นเรื่องราวของหญิงรักหญิงที่มีการถกเถียงกันอยู่ว่าเธอฆ่าตัวตายหรือไม่ บางฝ่ายให้ข้อมูลว่าฝ่ายนำไม่ได้ห้ามความรักกรณีนี้ แต่โอเค มันปฏิเสธไม่ได้ว่า พคท. มีปัญหาในเรื่องนี้ และไม่สามารถจัดการได้ พวกเขายังไม่สามารถขยายแนวคิดของตัวเองให้กว้างขวางขึ้นในเรื่องเพศสภาพที่หลากหลาย ยังมีความคิดแบบคู่ตรงข้ามชายกับหญิง ความรักคือชายกับหญิงเท่านั้น เขาก็เลยรับมือไม่ถูก ไม่รู้จะจัดการยังไงกับความรักแบบนี้ 

ผมลองเสนอแบบนี้นะครับ ด้วยบริบททางการเมืองโลกในตอนนั้น ถ้า พคท. เลือกโอบรับความหลากหลายทางเพศ พคท. ก็จะได้รับข้อกล่าวหาว่ากำลังรับมือแบบเดียวกับพวกจักรวรรดินิยม ทำตัวไม่ต่างไปจากซากเดนของพวกทุนนิยม พคท. ก็ไม่สามารถเลือกทางเลือกนี้ ไม่สามารถยอมให้มีเสรีภาพแก่ปัจเจกบุคคล 

มีความรักแบบไหนบ้างในการช่วงชิงอำนาจของการกำหนดความหมาย ที่คุณค้นพบระหว่างทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องความรัก

ผมจัดประเภทให้เห็นภาพอย่างกว้างว่า ในช่วงเวลาที่ผมศึกษานั้นมีความรักอยู่ 3-4 แบบ คือ 1. ความรักแบบเจ้า 2. ความรักแบบไพร่ 3. ความรักแบบกระฎุมพี และ 4. ความรักที่ก้าวหน้า ซึ่งผมได้ไอเดียมาจากงานของอาจารย์ชูศักดิ์ (ภัทรกุลวณิชย์) กับอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ผมค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อทำให้ไอเดียเหล่านี้ปรากฏเป็นตัวเป็นตน เราจะพบว่าความรักของชนชั้นสูงในวรรณกรรมสมัยอยุธยาเป็นเรื่องของเทพเทวดาเป็นผู้กำหนดไว้แล้ว ไม่ว่าจะระหกระเหินไปสุดโลก ตัวเอกสองคนนี้จะต้องเจอกัน มีความรักต่อกัน ความรักไม่ได้มาจากเจตจำนงของตัวละครอย่างเป็นอิสระ แต่เป็นลักษณะเทพอุ้มสม พรหมลิขิต บุญนำกรรมชัก 

ในช่วงหลังทศวรรษ 2460 เป็นต้นมา ความรักแบบเทพอุ้มสมก็ค่อยๆ จางหายไป แต่ความรักก็ยังขึ้นอยู่กับผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นความรักแบบที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนในนวนิยาย เป็นความรักอันดีงามที่ผู้ใหญ่จัดหาคู่ครองให้ ไม่เชื่อในเรื่องเสรีภาพในการเลือกเอง 

ขณะที่ความรักแบบกระฏุมพีก็เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อความรักแบบชนชั้นสูง ชนชั้นกลางกระฎุมพีอยากเลือกคู่ครองด้วยตนเอง ผู้หญิงและชายมีเสรีภาพในการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว มีอาชีพอะไร ฐานะอะไร ก็ย่อมกำหนดชีวิตตนได้ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งที่สำคัญในช่วงก่อนและหลัง 2475 มีวรรณกรรมที่พูดเรื่องความรักที่ขัดแย้งแบบนี้ตั้งแต่ก่อน 2475 ถึง 2490

ขณะที่ความรักแบบไพร่ ผมค้นคว้าด้วยความสนุก เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม ผมไปค้นงานเขียนของพระยาประชากิจกรจักร พยายามจะดูว่าเขาพูดเรื่องขนบธรรมเนียมความรักของสามัญชนไว้อย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่อาจารย์นิธิอธิบายว่าความรักของคนชั้นล่างสัมพันธ์กับวิถีการผลิต 

ขณะที่ความรักที่ก้าวหน้ามีไอเดียต่อยอดมาจากความรักแบบชนชั้นกลางกระฎุมพี คือรักที่มีเสรีภาพในการเลือก แต่ความรักที่ก้าวหน้าไม่หยุดแค่เรื่องส่วนตัว ต้องเผื่อแผ่ไปสู่ประชาชนผู้ทุกข์ยากด้วย

ทัศนะของความรักที่ก้าวหน้าเกิดจากฝ่ายซ้ายที่อยู่ในและนอก พคท. 

ในกรณีของฝ่ายซ้ายนอก พคท. เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ และเสนีย์ เสาวพงศ์ พวกเขาได้รับอิทธิพลมาร์กซิสต์มาจากการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ในทศวรรษ 2490 กระแสความคิดลัทธิมาร์กซ์ แพร่กระจายเข้ามาในสังคมไทย โดยปัญญาชนใน อักษรสาส์น ของสุภา ศิริมานนท์ มีบทบาทสูงในการแปลทฤษฎีมาร์กซ์เข้าสู่สังคมไทย ว่ากันว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ก็รับแนวคิดมาร์กซ์มาจากการอ่านงานแปลของคนรุ่นนี้ 

ความรักที่ก้าวหน้าของเสนีย์กับกุหลาบ เป็นรักที่หนุ่มสาวมีสิทธิ์เลือก แต่เมื่อมีสิทธิ์เลือกคู่ครอง พวกเขาไม่หยุดแค่นั้น เพราะความรักจะต้องขยายไปสู่คนทุกข์ยากด้วย กรณีของรัชนีกับสาย สีมา ในนิยายเรื่องปีศาจ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน รัชนีเป็นชนชั้นสูง แต่ไม่ยอมให้พ่อมีอิทธิพลในการเลือกคู่ครองแทนตน

ขณะที่ฝ่ายซ้ายใน พคท. อย่าง อุดม ศรีสุวรรณ ก็ใช้แนวคิดกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาในการนำเสนอทัศนะเรื่องความรัก ในหนังสือวิจารณ์วรรณกรรมของอุดมเรื่อง ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี (2493) มีบทวิจารณ์นิยายเรื่อง จนกว่าเราจะพบกันอีก ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขาวิจารณ์โกเมศ ตัวละครของกุหลาบ ว่าทำตัวเป็นชนชั้นกลางไปหน่อย ถ้าโกเมศเป็นชนชั้นล่างกว่านี้ก็น่าจะถูกต้องกว่านี้ ก็เป็นการวิจารณ์แบบคอมมิวนิสต์ 

อุดม เขียน สารแด่…นิด (2500) โดยใช้นามปากกาว่า ‘ประสาน’ ซึ่งมีอิทธิพลต่อนักศึกษาในยุคต่อมามาก 

ใน สารแด่…นิด จะพูดในทำนองว่า ถ้าคุณจะเข้าใจความรัก คุณต้องเข้าใจประวัติศาสตร์สังคม ความรักไม่ได้ลอยอยู่เหนือปัญหา แต่เป็นความคิดที่อยู่ภายใต้ลักษณะของสังคมที่คุณสังกัด ถ้าคุณอยู่ในสังคมศักดินา ความรักของคุณจะถูกครอบงำด้วยทัศนะความรักแบบศักดินา เช่นเดียวกับความรักแบบทุนนิยม

ความรักที่ก้าวหน้าเข้าไปมีอิทธิพลกับนักศึกษาหลัง 14 ตุลาฯ ได้อย่างไร

หลัง 14 ตุลาฯ ทัศนะเหล่านี้ถูกขุดค้นขึ้นมาจากทั้งปัญญาชน 2 กลุ่มดังที่ได้กล่าวไป ก็คือปัญญาชนกลุ่มนอก พคท. เช่น กุหลาบและเสนีย์ และกลุ่มใน พคท. เช่น อุดม ศรีสุวรรณ สุวัฒน์ วรดิลก เขียนเรื่อง พิราบแดง (2518) รวมถึงบทกวีของนายผี ซึ่งหลัง 14 ตุลาฯ งานเหล่านี้ถูกนำกลับมาพิมพ์ใหม่ 

แต่งานเขียนอีกสายคืองานประเภท ‘โลกทัศน์-ชีวทัศน์ของเยาวชน’ ที่เผยแพร่ออกมาเป็นจำนวนมาก งานเขียนเหล่านี้เรียกร้องให้เยาวชนคนหนุ่มสาวดัดแปลงการใช้ชีวิตของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับการรับใช้ประชาชน เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติได้อย่างเต็มที่ เช่น โลกทรรศน์ของเยาวชน (2517) ของอนุช อาภาภิรมย์, ชีวทัศน์หนุ่มสาว (2519), เสริมทฤษฎี (2518), ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของผู้หญิง ของ ฤดี เริงชัย (ไม่ทราบปีที่พิมพ์), ทัศนะความรักที่ก้าวหน้า (2519)

งานเขียนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนทัศนะความรักของเยาวชนคนหนุ่มสาวในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ พคท. พิมพ์งานเหล่านี้ออกมาเผลอๆ จะก่อน 14 ตุลาฯ ด้วยซ้ำ แต่ยังไม่มีอิทธิพล เริ่มเข้ามามีอิทธิพลหลัง 14 ตุลาฯ

งานเขียนอย่างทัศนะความรักที่ก้าวหน้า (2519) ของ อารยา แสงธรรม และ พิทักษ์ ชัยสูงเนิน เป็นงานตัวอย่างในการปรับใช้ในชีวิตจริงที่อยู่ท่ามกลางการปฏิวัติ เมื่อคุณมีความรักในห้วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงสังคม คุณจะปฏิบัติตัวอย่างไร คุณลองทำแบบนี้สิ คุณอยู่ห่างกันใช่มั้ย เวลาทำงานให้เอางานเป็นตัวตั้ง เวลาจะคิดถึงคนรักที่อยู่ไกลกัน คุณก็คิดถึงผ่านดวงดาว 

ความรักต้องสอดคล้องกับการปฏิวัติ ถ้ายังไม่มีคนรักก็อย่าเพิ่งมี แต่ถ้ามีแล้วก็อย่าเพิ่งแต่งงาน ถ้าแต่งงานแล้วก็อย่าเพิ่งมีลูก สำหรับเยาวชน เขาไม่แนะนำให้มีความรัก เพราะความรักทำให้ไขว้เขวต่องานปฏิวัติ แต่ถ้ามีความรักแล้วและหากมีปัญหากับคนรัก ก็ให้เลือกการปฏิวัติ 

ช่วง 14 ตุลาฯ พคท. เข้ามามีอิทธิพลทางความคิดกับคนหนุ่มสาวมากกว่าเรื่องการจัดตั้ง การจัดตั้งคือผมเข้าไปจัดตั้งคุณให้คุณเป็น ย. (เยาวชน) หรือให้เป็น ส. (สมาชิกพรรค) ซึ่งลักษณะการจัดตั้งแบบนี้มีน้อยมาก เพราะ พคท. ไม่ได้มีอิทธิพลในการเข้าไปชี้นำขบวนการนักศึกษา แต่นักศึกษาได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก พคท. แน่นอนว่าขบวนนักศึกษาก็ซื้อไอเดียและเห็นด้วยกับการวิเคราะห์สังคมไทยของ พคท. ว่าเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ต้องทำการปฏิวัติโค่นพวกนี้ลง รวมถึงต่อต้านวัฒนธรรมของชนชั้นนำ ต่อต้านในทุกๆ ตารางนิ้วของชีวิต ไม่ให้วัฒนธรรมที่ตนต่อต้านเข้ามามีพื้นที่ในชีวิตประจำวัน รวมถึงเรื่องความรักด้วย

มโนทัศน์ความรักที่ก้าวหน้าหายไปพร้อมกับการล่มสลายของขบวนการปฏิวัติของปัญญาชนได้อย่างไร 

ก่อน 6 ตุลาฯ นักศึกษามีช่องให้หายใจหายคออยู่ เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ภายใต้ขบวนการปฏิวัติ แต่ก็มีการวิจารณ์กัน เหมือนปัจจุบัน ถ้าใครโพสต์อะไรที่ไม่เข้าท่าในเฟซบุ๊กก็จะมีทัวร์ไปลง คนเข้าไปวิจารณ์ว่าที่คุณทำอยู่มันผิดนะ แต่ถามว่าคุณไปทำอะไรเขาได้ไหม ก็ทำไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้อยู่ภายใต้การปฏิวัติโดยพรรค 

แต่หลังจาก 6 ตุลาฯ เรื่องราวก็จะต่างไปจากนี้แล้ว เพราะหลัง 6 ตุลาฯ นักศึกษาเข้าไปอยู่ในขบวนการปฏิวัติ ฉะนั้นพวกเขาต้องอยู่ในกรอบคิดและแนวปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนำไปสู่ปัญหามากมาย ซึ่ง พคท. ใช้วิธีรับมือกับปัญหาด้วยการให้จัดตั้งสอดส่องและควบคุมคนในขบวนการปฏิวัติ ซึ่งสร้างผลเสียมากกว่าผลดี รวมถึงการไม่มีพื้นที่ให้กับเพศสภาพอื่นหรือคนรักเพศเดียวกัน ขณะที่ความขัดแย้งในบริบทการเมืองโลกส่งผลให้เกิดความขัดแย้งภายในขบวนการปฏิวัติที่นำโดย พคท. นำไปสู่การแยกตัวออกมาของนักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมากนับตั้งแต่ปลายปี 2523 เป็นต้นมา กระแสวิพากษ์วิจารณ์การจัดการกับความรักของพคท. ก็เกิดในช่วงนั้นด้วย ในที่สุดขบวนการปฏิวัติที่นำโดย พคท. ก็ล่มสลายลงพร้อมกับมโนทัศน์ความรักที่ก้าวหน้า

เว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์แห่งหนึ่ง ระบุถึงหนังสือรักและการปฏิวัติ ว่าเป็นผลงานของผู้เขียนหนังสือขายดี เขากำลังกล่าวถึง หลัง 6 ตุลาฯ หนังสือเล่มแรกของคุณซึ่งตีพิมพ์ซ้ำมาแล้ว 3 ครั้ง นักแสดงอย่างอ๋อม สกาวใจ ก็ยังอ่านหนังสือเล่มนี้ บรรยากาศทางการอ่านในตอนนี้เหมือนหรือต่างไปจากบรรยากาศการอ่านในยุคก่อนและหลัง 14 ตุลา

ผมว่าคล้ายกันมาก เพียงแต่ยุคสมัยของเราไม่มี พคท. หรือผู้ปฏิบัติงานของ พคท. เข้ามาจัดตั้งความรู้ ความคิด และปฏิบัติการทางการเมือง 

เมื่อเช้านี้ ลูกศิษย์ของผมส่งบทสัมภาษณ์ที่เขาไปพูดคุยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาให้อ่าน ซึ่งก็เป็นไปตามที่ผมคาดหมายไว้อยู่นะ เพราะบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้นเผยให้เห็นว่านักศึกษารุ่นปัจจุบันไม่เคยรู้เรื่อง 6 ตุลาฯ มาก่อน ความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ถูกทำให้หายไปเหมือนที่ความทรงจำในทศวรรษที่ 2490 หายไปจากคนรุ่น 14 ตุลาฯ ผลงานของนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายทศวรรษที่ 2490 หายไปพร้อมกับการยึดอำนาจของจอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์ ตั้งแต่ปี 2500 การออกคำสั่งการจับกุมตาม พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนอย่างเหลือล้น ในการคุมตัวผู้ต้องหาได้ตลอดระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกำหนดระยะเวลาการควบคุมตัวตามกฎหมาย ศาลทหารคือผู้มีอำนาจพิจารณาคดี อำนาจเหล่านี้ครอบงำสังคมไทยยาวนาน จากสฤษดิ์ถึงจอมพลถนอมก็กินเวลาถึง 10 ปี เป็นช่วงเวลาที่อาจารย์ประจักษ์ (ก้องกีรติ) เรียกว่า ‘การทำลายความทรงจำ’ แต่พอถนอมถูกโค่นอำนาจ บรรยากาศทางสังคมมันอวลไปด้วยเสรีภาพ สิ่งที่ตามมาก็คือการเผยแพร่และผลิตซ้ำภูมิปัญญาที่เคยถูกทำให้หายไป

สำหรับคนรุ่นปัจจุบัน ผมคิดว่าพวกเขาอยากรู้และลงมือศึกษาเพื่อค้นหาว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบไหนกันแน่ สังคมไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ คนรุ่นก่อนต่อสู้หรือเคลื่อนไหวทางความคิดกันอย่างไร มีใครเป็นนักต่อสู้ที่พวกเขาสามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจได้ไหม ผมคิดว่าบรรยากาศของทั้งสองยุคสมัยมีความคล้ายคลึงกันในแง่นี้ 

งานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาจัดแบบเงียบๆ มาโดยตลอด แม้ว่าการผลิตหนังสือจะมีความสม่ำเสมอ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและสำนักพิมพ์อ่านช่วยพยุงความทรงจำของสังคมเอาไว้รอให้คนตามมาอ่านตามมาจดจำ แต่บริบทของยุคสมัยที่เราอยู่ในตอนนี้กระตุ้นให้เขาอยากรู้ อะไรที่ลึกลับซับซ้อนคนก็อยากรู้ แม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ในปีการศึกษาที่ผ่านมามีนักศึกษามาเรียนวิชาการเมืองกับผมเยอะกว่าทุกปี เด็กประมาณ 40 คนลงทะเบียนมาเรียน ซึ่งก็มีแผ่วๆ ไปบ้างตอนปลายเทอม หรือแม้แต่ลักษณะบุคลิกของเด็กปีหนึ่งที่มีความกล้าแสดงออก กล้าพูดกล้าเถียงมากขึ้น อาจารย์หลายคนก็พูดถึงเด็กปีหนึ่งเป็นเสียงเดียวกัน 

ผมมองว่าบรรรยากาศของยุคสมัยกำลังเป็นแบบนี้ ความอยากรู้อยากเห็นคือแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือของคนรุ่นใหม่ พวกเขาต้องการคำอธิบายของประวัติศาสตร์บาดแผล หรือคำถามที่ว่า 6 ตุลามีความเกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์จริงหรือ พวกเขาอยากหาคำตอบ อีกข้อสังเกตหนึ่งผมพบว่าเด็กรุ่นนี้อยากรู้เรื่อง พคท. หนังสือบันทึกความทรงจำของคนที่เคยเข้าร่วมกับ พคท. ในป่าเป็นหนังสือขายดี มันเกิดอะไรขึ้น เด็กรุ่นใหม่สนใจคอมมิวนิสต์เยอะมาก

แล้วมีคำตอบไหมครับ

ผมคิดว่าพวกเขาอยากได้ชุดความรู้ ในสายตาของเยาวชนคนหนุ่มสาวอาจจะมีเครื่องหมายคำถามอยู่ว่า หากสังคมเป็นประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มิติต่างๆ ของสังคมจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร พวกเขาอยากได้ชุดความคิดเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมสมัยของพวกเขา การกลับไปสำรวจความรู้หรือประวัติศาสตร์ของ พคท. เป็นแค่กระแสหนึ่งเท่านั้น อย่าลืมว่า พคท. เป็นองค์กรที่ปฏิเสธสถาบันกษัตริย์ เหมือนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงหนึ่งก็ถูกสังคมดันให้เป็นพระเอก พวกเขากำลังหาตัวแบบทางประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามฝ่ายเจ้า ซึ่ง พคท. อาจจะเป็นแบบนั้น คล้ายกับว่าถ้าใครอยู่ตรงข้ามเจ้า ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ให้ความสนใจ

 

เดือนธันวาคมปี 2563 เพจเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ซึ่งเป็นแนวร่วมหนึ่งในการชุมนุมของเยาวชนคนหนุ่มสาว ได้ใช้สัญลักษณ์ค้อนเคียวในการสื่อสารกับสาธารณะ จนได้รับเสียงวิจารณ์ตอบกลับถึงจุดยืนและข้อเรียกร้อง เช่น ตกลงจะเอาประชาธิปไตยหรือจะเอาอะไร คุณมองว่าคอมมิวนิสต์ในมุมมองของเยาวชนคนหนุ่มสาว กับคอมมิวนิสต์ในมุมของรัฐไทยที่สิงสู่อยู่ในการรับรู้ของผู้คน เป็นคอมมิวนิสต์เดียวกันหรือไม่

คนละอย่างแน่ๆ คอมมิวนิสต์ในมุมมองของรัฐยังเป็นคอมมิวนิสต์ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคสงครามเย็น เราจะเห็นหน้าตาของคอมมิวนิสต์แบบนี้ได้จากคำพูดของพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ made in cold war เป็นพวกทำลายล้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังเป็นความรู้เดิมที่หยุดนิ่ง แล้วก็เป็นคอมมิวนิสต์ที่จำกัดตัวอยู่ในช่วงเวลาเฉพาะสงครามเย็นด้วยนะ จีนในปัจจุบันไม่เกี่ยวแล้วนะ เพราะรัฐไทยในปัจจุบันไปมาหาสู่กับจีน

สำหรับคอมมิวนิสต์ของนักศึกษา แน่นอนว่าต้องมีเยาวชนบางส่วนที่คิดเหมือนรัฐ เพราะได้รับอิทธิพลการรับรู้มาจากโฆษณาชวนเชื่อ แต่เราจะกล่าวเฉพาะคนหนุ่มสาวที่หันกลับไปสำรวจความรู้ทางประวัติศาสตร์ของ พคท. รวมไปถึงจอมพล ป. ก็ดี คณะราษฎรก็ดี สังเกตไหมว่าตัวแบบเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างในประเทศไทย น่าสนใจเหมือนกันนะครับว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 หรือการปฏิวัติของรัสเซียหรือการปฏิวัติของจีน ไม่ได้ถูกนำมาเป็นตัวอย่างหรือถูกพูดถึงเท่าที่ควร นี่คนหนุ่มสาวก็มีความเป็นชาตินิยมกับเขาด้วยเหมือนกันหรือนี่ (หัวเราะ) 

พวกเขาหันกลับไปสำรวจกลุ่มขบวนการในอดีตที่เคยมีลักษณะปฏิเสธสถาบันกษัตริย์ พวกเขามองเห็นคณะราษฎร มองเห็นจอมพล ป. และอีกขบวนการหนึ่งก็คือ พคท. ผมคิดว่าพวกเขาสนใจคอมมิวนิสต์ในเซนส์นี้มากกว่า และผมก็มั่นใจว่า พวกเขาไม่มีทางจะยึดเอาแนวทาง พคท. แน่นอน แต่ไม่แน่นะ สำหรับแนวทางของคณะราษฎร แนวทางรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นทางเลือกให้ยุคสมัยของพวกเขาอยู่ ผมมองว่าการหันกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์มีการเลือกสรรอยู่ แต่ พคท. มีลักษณะเย้ายวนใจ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ หรือใครต่อใคร

ผมเคยพูดคุยกับเยาวชนคนหนุ่มสาว พวกเขาบอกว่าไม่ได้สนใจคอมมิวนิสต์ไทยเลย พคท. อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขาด้วยซ้ำ ซึ่งต้องกลับไปนั่งอ่านกันใหม่ แต่เขาสนใจคอมมิวนิสต์แบบในโลกสากล เซนส์ของการเอาค้อนเคียวขึ้นมาสื่อสาร จึงไม่ใช่ค้อนเคียวของ พคท. แต่คือคอมมิวนิสต์ที่ยืนอยู่บนหลักการสากล เนื่องจากการต่อสู้ของนักศึกษาได้เดินทางมาถึงแกนกลางของปัญหาสังคมไทยแล้ว มันทะลุมาสุดทางแล้ว ซึ่งในโลกขององค์ความรู้ทางวิชาการและการต่อสู้ทางการเมืองระดับสากลมีแนวคิดจำนวนมากที่อธิบายเรื่องพวกนี้เต็มไปหมด คอมมิวนิสต์ก็เป็นแนวความคิดหนึ่งที่มีปัญหากับระบบฟิวดัล ศักดินา หรือสถาบันกษัตริย์ ค้อนเคียวน่าจะมาจากเซนส์นี้ ไม่ใช่ พคท. แน่นอน

หัวใจหลักของคอมมิวนิสต์คือหลักการคนเท่ากัน ต่อให้พรรคหรือองค์กรรูปธรรมจะเกิดและตายไปอีกกี่หนกี่แห่ง แต่หลักการยังอยู่นะ ไอเดียเรื่องคอมมิวนิสต์เป็นหลักการที่ยังสามารถนำมาพูดมาคิดได้อยู่เสมอ แต่จะออกแบบอย่างไรให้แนวปฏิบัติไม่พัฒนาไปสู่การเป็นเผด็จการทรราชฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มันเป็นเรื่องที่ออกแบบได้ แต่มันไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปว่าคอมมิวนิสต์เท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มันไม่ใช่แบบนั้นครับ 

ผมชอบประโยคหนึ่งของ อี.พี.ทอมป์สัน (E.P. Thompson) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษและนักเคลื่อนไหวซ้ายใหม่ เขาเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเกาะบริเตนใหญ่ (CPGB) ลาออกจากพรรคในช่วงที่สตาลินครองอำนาจไปทั่วโลก ซึ่งพรรค CPGB ในปี 1956 ก็เป็นแบบสตาลิน เขาบอกว่า “ผมลาออกจากพรรค แต่ไม่ได้ลาออกจากความเป็นคอมมิวนิสต์” เขาเป็นคอมมิวนิสต์ที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย มีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์แบบสตาลิน 

นอกจากไอเดียเรื่องคอมมิวนิสต์ ก็มีไอเดียเรื่องรีพับลิกที่สามารถท้าทายปัญหาใจกลางที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่อย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงความคิดเรื่องรีพับลิก

คำคำนี้มีลักษณะของคำต้องห้าม เป็นคำที่อันตราย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เคยอธิบายในวิทยานิพนธ์ (The Communist Movement in Thailand) ว่า รัฐไทยไม่เคยแยกคำว่า ‘รีพับลิก’ หรือ ‘สาธารณรัฐ’ กับคำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ ออกจากกัน พวกเขามองว่าเป็นสิ่งเดียวกัน มีความหมายเดียวว่าคุณกำลังโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ผมก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมคำว่ารีพับลิกจึงดูอันตรายมากกว่าคอมมิวนิสต์ คืออนุญาตให้พูดเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ แต่ไม่อนุญาตให้พูดเรื่องรีพับลิก แต่เป็นไปได้ว่ารีพับลิกมีความเป็นไปได้มากกว่า มันเกิดขึ้นมาในโลกและดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน มีปัญหาน้อย มันจึงน่ากลัวในสายตารัฐไทย

Fact Box

  • ธิกานต์ ศรีนารา เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ผลงานเขียน 2 เล่ม ได้แก่ หลัง 6 ตุลาฯ ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และ รักและการปฏิวัติ: การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยความรักของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยยุคสงครามเย็น
Tags: , , ,