ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เข้าร่วมรายการ UTMB PTL การแข่งขันวิ่งเทรลที่ขึ้นชื่อว่า ‘ยาก’ ที่สุดในโลก ซึ่งมีระยะทางรวม 302.9 กิโลเมตร มีความชันรวม 27,649 เมตร ที่สำคัญคือต้องวิ่งให้จบภายใน 152 ชั่วโมง 30 นาที หรือประมาณ 6 วันครึ่ง โดยในปีนั้น ธนาธรซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกทีม TrueSouth ถูกคัตออฟ หรือบังคับให้ออกจากการแข่งขัน หลังจากเริ่มวิ่งไปได้ 121.23 กิโลเมตร

จึงเป็นเหตุให้การแข่งขัน UTMB PTL 2022 ทีม TrueSouth ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการซ้อมทั้งกายและใจใหม่ เริ่มตั้งเป้าหมายด้วยคติ ‘ไม่ว่าข้างหน้าจะเป็นอะไร ก็จะขอวิ่งพุ่งชนให้หมด’ จนสุดท้ายพวกเขาสามารถเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ โดยใช้เวลารวม 152 ชั่วโมง 30 นาที เป็น 1 ใน 48 ทีมที่สามารถจบการแข่งขันได้จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 110 ทีม

กลายเป็นตัวแทนจากประเทศไทยทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถชนะการแข่งขันรายการนี้ได้

หลังจบการแข่งขันได้ไม่นาน The Momentum ได้มีโอกาสพูดคุยกับธนาธร ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดของ UTMB PTL 2022 ตั้งแต่ทัศนคติที่เปลี่ยนไปหลังความผิดพลาดครั้งก่อน ความโหดร้ายของเส้นทางที่ทำให้เท้าของเขาขยายบวมขึ้นมาถึง 3 ไซซ์ และชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจบการแข่งขัน ที่ได้เข้าใจว่าการก้าวข้ามขีดจำกัดของกายและใจ มันทรงคุณค่ากับมนุษย์คนหนึ่งอย่างไรบ้าง

หากพูดคำว่า UTMB PTL 2021 การแข่งขันครั้งก่อนหน้าที่คุณวิ่งไม่จบการแข่งขัน ในหัวคุณจะนึกถึงเรื่องอะไรเป็นอย่างไร

‘ความประมาท’

UTMB PTL 2021 พวกเราดูถูกสนามมากเกินไป ไม่คิดว่ามันจะยากขนาดนั้น จึงเตรียมตัวเตรียมใจกันไปไม่ถึง หลายคนบอกเราเสมอว่ามันยาก เราก็รู้ว่ามันยาก แต่ที่เจอมันเกินความคาดหมายไปมาก ในระหว่างแข่ง เรารู้ทันทีเลยว่าไม่มีทางวิ่งจบได้ การแข่งขันในครั้งนั้นได้ทำลายความยโสโอหังความภูมิใจของเราราบคาบเลย

พอ UTMB PTL 2022 พวกเราจึงตั้งใจว่าจะกลับไปแก้แค้น เพราะเรื่องนี้มันติดค้างอยู่ในใจมาตลอด ดังนั้นในระหว่าง 1 ปีที่ผ่านมา คือ 1 ปีแห่งการเตรียมร่างกายและเตรียมจิตใจของทีม TrueSouth เพื่อพร้อมความท้าทายและยากลำบากในการแข่งขัน

การเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับ UTMB PTL 2022 ในครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนอย่างไรบ้าง

ในปีที่แล้วพวกเราให้ความสำคัญกับการซ้อมยาว เราซ้อมหนัก จึงทำให้ Intensity (ความถี่) ในการซ้อมไม่เพียงพอ ปีที่แล้วเราจะเน้นเรื่องการซ้อมนาน บางทีก็ 5 ชั่วโมง บางทีก็ 20 ชั่วโมง วิ่งขึ้นลงตึกไทยซัมมิทบ้าง

แต่คราวนี้เราเปลี่ยนแผน อย่างผมเองคือจะตั้งเป้าไว้เลยว่าใน 1 อาทิตย์ เราต้องซ้อมวันละ 1.30-3.00 ชั่วโมง ให้ได้ 5 วัน ส่วนการซ้อมยาวเราจะอาศัยการลงแข่งงานวิ่งเทรลแทน ซึ่งในปีที่ผ่านมาทีมของพวกเราลงแข่งในระยะ 100 กิโลเมตรขึ้นไป 4-5 ครั้งเท่านั้น

พอเปลี่ยนมาเน้นความถี่ในการซ้อมแบบนี้ 1 ปีที่ผ่านมาก็ซ้อมสัปดาห์ละ 5 วันมาโดยตลอดไม่มีพักเลยใช่ไหม

ใช่ เราอาศัยวินัยและความสม่ำเสมอเป็นอาวุธแทน เรารู้ว่าเราจะเอาชนะ UTMB PTL ต้องมีวินัยในการซ้อม เพราะการวิ่ง 20 ชั่วโมงต่อวันในการแข่ง หมายความว่าคุณใช้งานอวัยวะหนึ่งของร่างกายแทบจะตลอดทั้งวัน  ดังนั้นถ้ามีแต่ใจแต่ร่างกายมันไม่สู้ก็ไม่สามารถผ่านการแข่งขันที่ยากแบบนี้ได้

ในช่วงปีที่ผ่านมา คุณมีตารางการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง

ถ้ารวมถึงชีวิตเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนเดิมนะ กลางวันก็ทำงาน แล้วกลางคืนก็ค่อยซ้อม คือผมไม่ใช่คนตื่นเช้ามาออกกำลังกาย ก็ตื่นประมาณ 07.00-08.00 น. ออกไปทำงาน กลับมาถึงบ้าน 21.00 น. ส่งลูกเข้านอนเสร็จ 22.00 ก็เริ่มซ้อมจนถึง 01.00 น. แล้วก็วนแบบนี้ไปในแต่ละวัน

นอกจากเรื่องร่างกายแล้ว ในส่วนของจิตใจมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

เรื่องนี้ชัดเจนเลยว่าพวกเราเปลี่ยน ครั้งที่แล้วพอเจอภูเขาที่สาหัสหน่อย ก็ออกอาการกันแล้ว บ่นท้อ น้อยอกน้อยใจ โกรธแค้นภูเขา ครั้งนี้เราทำความเข้าใจใหม่ก่อนว่า ภูเขามันก็อยู่ของมันมาตลอด มันเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันนี้มาเสมอ ดังนั้นไม่ต้องไปบ่น ไปท้อ ไปงอแงกับมัน ซัดมันอย่างเดียว

ผมจำได้เลยว่าวันแรกที่เริ่มการแข่งขัน ก็มีนักแข่งจากหลากหลายประเทศยืนอยู่หน้าจุดสตาร์ท แอลวินเพื่อนร่วมทีมผมบอกว่า “พี่เอก ดูนี่สิ คู่แข่งของพวกเรา” ผมตอบเขากลับทันที “ไอ้แอลมึงบ้าเหรอ คู่แข่งของพวกเราอยู่ที่ภูเขานู่น คู่แข่งเราไม่ใช่นักวิ่งคนอื่น แต่มันคือภูเขา คือตัวเราเอง ไม่ใช่นักวิ่ง” ดังนั้นคราวนี้พอเจอเส้นทางที่มันยากๆ เราจ้องจะอัดกับมันอย่างเดียว

คือเรามุ่งมั่นมากขึ้น ปีที่แล้วผมจะใช้คำว่าพวกเราใจไม่ถึง ไม่พร้อมกับความยากขนาดนั้น แต่ปีนี้เราวิ่งกันด้วยอารมณ์ประมาณว่า ยากขนาดไหนมึงมาสิ กูพร้อม

ได้เตรียมใจไหมว่าการแข่งขันนี้จะไม่จบเหมือนปีที่แล้วอีก

เตรียมใจสิ ลองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ดูสิ ผมไม่เคยไปป่าวประกาศว่าจะจบการแข่งขันในครั้งถัดไปแน่ๆ อะไรแบบนั้นเลย เพราะผมรู้ว่ามันยาก เลยไม่กล้าไปบอกใครเขา ดังนั้นก่อนเริ่มการแข่งขันผมจะเงียบมาก ไม่มีข่าว เพราะส่วนหนึ่งก็เผื่อใจไว้เหมือนกัน กลัวจะทำให้ผู้คนผิดหวัง

สมมติหากการแข่งขันครั้งนี้ไม่จบจริงๆ UTMB PTL 2023 จะกลับมาเอาอีกไหม

แน่นอน ก็ต้องซัดกับมันต่อปีหน้า

ที่คุณพูดว่าเส้นทางของ UTMB PTL 2022 ยากมากๆ พอจะอธิบายโดยคร่าวได้ไหมว่ายากอย่างไร

ผมจะขอเกริ่นให้ฟังก่อนว่าเส้นทางโดยรวมของการแข่งขันเป็นอย่างไร

UTMB PTL คือการวิ่ง 300 กิโลเมตร ขึ้นเขาลงภูเขา ประมาณ 10 กว่าลูก ความสูงสะสม (Elevation gain) อยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นเมตร ซึ่งหากเทียบกับภูเขาเอเวอเรสต์ที่มีความสูงสะสม 8,000 เมตร พูดง่ายๆ คือเหมือนเราวิ่งขึ้นลงภูเขาเอเวอเรสต์ 3 ลูกจากระดับน้ำทะเล และด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-3,000 กว่าเมตร หมายความว่าเราต้องเจอทุกสภาพอากาศ กลางวันอากาศร้อนก็ร้อนจริง เพราะด้วยซีกโลกเหนือมันใกล้พระอาทิตย์ แล้วอยู่ที่สูง ดังนั้นกลางวันก็ร้อนแผดเผา คุณดูมือผมจะเห็นว่ามันแผดเผาจนเละไปหมด กลางคืนก็จะหนาวมาก คือพอพ้นแนวต้นไม้ไปแล้วอากาศคือต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสแน่นอน ดีไม่ดีต่ำกว่านั้นอีก แล้วลมก็แรงและหนาวมาก

ในการแข่งขัน บังคับให้เราต้องแบกทุกอย่างเอง อาหาร เสื้อผ้า เสื้อกันหนาว เครื่องรักษาความปลอดภัย น้ำ ดังนั้นเราแบกกระเป๋าประมาณ 8-9 กิโลกรัมตลอดการวิ่ง อีกอย่างคือต้องไปเป็นทีม ห้ามอยู่ไกลจากกันเกิน 100-200 เมตร และต้องอยู่ในระยะที่ตะโกนสื่อสารกันได้ เพราะมันอันตราย ต่างคนต่างวิ่งไม่ได้ เป็นทีมก็ต้องอยู่ด้วยกันประมาณนี้ ตลอด 300 กิโลเมตร

ที่สำคัญคือเราไม่มีมาร์กเกอร์บอกทาง ไม่มีธงบอกทาง เวลาไปแข่งที่อื่นจะมีริบบิ้นบอกทางว่าไปทางไหนใช่ไหม อันนี้ Self-navigate ก็คือหาเส้นทางด้วยตัวเอง เขาให้แต่ GPS มาแล้วคุณก็ไปหาเส้นทางเอง

แล้วใน 300 กิโลเมตรนี้มีจุดที่เรียกว่าไลฟ์เบส (Life Base) 2 จุด คือจุดที่เขาให้เราเอาของใส่กระเป๋า ใส่อะไรก็ได้ ใส่อาหาร ใส่เสื้อผ้าอะไรก็ได้ ไลฟ์เบส คุณจะเจอกระเป๋าใบนี้ 2 ครั้ง บางคนก็ใส่รองเท้าไว้เปลี่ยนรองเท้า เสื้อผ้า

เมื่อถึงไลฟ์เบสแล้วไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่จะได้สดชื่น ใส่อาหารเติมไว้ โดย 300 กิโลเมตร ทุก 100 กิโลเมตรจะได้เจอกระเป๋าไลฟ์เบส 1 ครั้ง นี่คือสภาพภาพรวมของการแข่งขัน แล้วหลังจากนั้นเขาก็มีอาหารให้ 4 มื้อ ส่วนมื้อที่เหลือถ้าคุณอยากกินต้องซื้อเองหรือต้องเอาไปเอง การแข่งขันทั้งหมดมีคนสมัครไป 109 ทีม ปีที่แล้วก็ 100 กว่าทีม จบ 30 กว่าทีม ปีนี้สมัคร 109 แข่งขัน 101 จบ 42 ทีม ซึ่งทีม TrueSouth ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ตลอด 6 วันในการแข่งขัน คุณเจออะไรบ้าง

วันแรกสำหรับผมคือง่ายที่สุด เป็นวันที่ขวัญกำลังใจดีกันมาก ยิ่งพอทางง่ายยิ่งเฮฮากันใหญ่ เพราะวันแรกเป็นทางเทรลธรรมดา ไม่มีอุปสรรคอะไร

แต่ขวัญกำลังใจเริ่มหล่นตั้งแต่วันที่ 2 เป็นต้นมา เส้นทางเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ และยากขึ้นทุกวัน ยกตัวอย่างเวลาทางขึ้น ก็ขึ้นไม่มีจุดสิ้นสุด แล้วมันชันเอามากๆ บางจุดเราทำระยะได้แค่ 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือบางทีก็ไม่ถึง 1 กิโลเมตรด้วยซ้ำ เท่านั้นยังไม่พอ มันยังมีหลายจังหวะที่ต้องปีนป่าย ใช้มือปีน จำได้ว่าวันที่ 4 มีเขาอยู่ลูกหนึ่งที่ใช้มือตลอดทั้งลูกเลย มันไม่ใช่วิ่งแล้ว มันคือการปีนผา (Rock climbing) แล้ว ส่วนขาลงก็จะเป็นหินหลวมๆ วิ่งยากและอันตราย ต้องใช้เทคนิคเยอะมาก

ผมจำไม่ผิดคือวันที่ 1 มีคนเสียชีวิตด้วย เป็นทีมจากประเทศบราซิล เขาตกหน้าผาเสียชีวิต เพราะจุดนั้นมันคือทางแคบที่ฝั่งหนึ่งคือผาแนวตั้งสูงตระหง่าน อีกฝั่งคือเหวลึกลงไปเลย ซึ่งทางเดินกว้างเท่ากับโต๊ะแค่นั้นเอง แล้วทางเองก็ไม่ได้เรียบมีก้อนหินเต็มไปหมด จังหวะไหนคุณก้าวพลาดก็ร่วงลงไปได้เลย

ตอนนั้นที่มีคนเสียชีวิต ทางผู้จัดก็ตัดสินใจอยู่ 2 คืนว่าจะยุติการแข่งขันไหม ซึ่งสุดท้ายเขาก็ให้ดำเนินการแข่งขันต่อ แต่เรื่องนี้มันส่งผลต่อจิตใจผู้เข้าแข่งขันที่เหลืออยู่นะ พอมีคนเสียชีวิต พวกเราก็จะรู้ว่า ฉิบหายแล้ว! จากทางที่ควรจะผ่านได้ง่ายๆ ก็ต้องระวังมากขึ้น คิดให้มากขึ้นว่ามืออยู่ตรงไหน ขาอยู่ตรงไหน ก็ทำให้เราวิ่งช้าลงไปอีก

ดังนั้นผมกล้าพูดเลยว่านี่ไม่ใช่การวิ่งเทรลธรรมดา การแข่งขันครั้งนี้มันยากสมคำร่ำลือ ถ้าคุณกลัว คุณใจฝ่อ อย่างไรก็ไม่รอด

Credit: Sawangjit Seung Saengow

แล้วปัญหาที่ทำให้คุณวิ่งไม่จบการแข่งขันอย่างเรื่องการหายใจ ครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ยังเป็นอยู่นะ แต่ดีกว่าเดิมเยอะ ปีนี้เราเตรียมตัวมาดี ก่อนจะแข่งขันผมไปปีนเขาลูกหนึ่งที่มีความสูงประมาณ 4,000 เมตร เพื่อปรับสภาพร่างกายมาก่อน

คือถ้าคุณแข่งขันในระดับความสูง 3,000 เมตร แต่เราดันเพดานร่างกายให้สูงกว่านั้นก่อน มันก็จะสบาย ปอดก็จะคุ้นชินกับสภาพอากาศแบบนี้

แล้วจุดไหนที่คิดว่ายากที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้

จริงๆ ต้องบอกว่าพวกเราทำเวลาดีมาก เวลาดีที่สุดของทีม TrueSouth บางช่วงลำดับเราขึ้นไปถึงระดับที่ 30 จากทั้งหมด จนถึงช่วงคืนก่อนสุดท้าย ก่อนจะถึงเส้นชัยบริเวณคัตออฟสุดท้าย ที่เราไปถึงช่วงตี 3 ของคืนนั้น แต่ถึงจุดหนึ่งพวกเรากลับหลงทาง

เราวิ่งอีกเส้นทางลงภูเขาไป 1,500 เมตร แล้วต้องกลับมาขึ้นทางเดิมอีก 1,500 เมตร ซึ่งตรงนั้นเราใช้เวลาไป 4 ชั่วโมง เลยทำให้จากเวลาที่เหลือ วิ่งได้สบายๆ กลายเป็นความกดดันแทน จากควรถึงคัตออฟจุดนั้นเวลา 21.00 น. กลายเป็นเราถึง 1.30 น. จากที่มีเวลานั่งพัก เติมพลัง นอนหลับสบายๆ ได้ กลายเป็นกินได้ครึ่งชั่วโมง นอนได้ 45 นาที ก็ต้องวิ่งต่อแล้ว เพราะถ้าตี 3 คุณยังไม่ออกจากจุดคัตออฟตรงนี้ เขาจะถือว่าคุณไม่ไหว ตัดออกจากการแข่งขันเลย ทำให้จากเดิมที่มีเวลา 4-5 ชั่วโมง กลายเป็นเราต้องวิ่งหนีคัตออฟ

ถ้าคุณไปดูในเพจของแอลวิน ตอนนั้นคือมันโพสต์ว่าจะร้องไห้อยู่แล้ว เพราะคิดว่าไม่ทันแล้ว และสถานการณ์ในทีมตอนนั้นก็ตึงเครียดมาก กำลังใจของทุกคนดิ่งฮวบ แอลวินที่เป็นคนดู GPS ก็รู้สึกผิด รู้สึกกดดัน แต่ในระหว่างการแข่งขันเราก็ไม่เคยพูดอะไรกับเขานะ เพราะไม่ต้องการให้เขาเสียกำลังใจ

แต่สุดท้ายคุณก็ผ่านคัตออฟสุดท้าย และวิ่งเข้าเส้นชัยจนได้

ใช่ แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น คือหลังจากวิ่งออกจากคัตออฟ จะเหลือขึ้นเขาลูกเดียวแล้วก็ลงยาวไปที่เส้นชัยเลย แต่ภูเขาลูกนี้ก็ไม่ธรรมดา ‘ชันฉิบหาย’ เหมือนกัน

แล้วพอถึงตรงนั้น ปัญหาอีกอย่างที่เกิดขึ้นคืออาหารไม่พอ คือในการแข่งขันมันต้องใช้พลังงานเยอะมาก โดยเฉลี่ยคือ 800-1,000 กิโลแคลอรี่ต่อชั่วโมง ดังนั้นคุณต้องกินให้ถึงครึ่งหนึ่งมันถึงจะหล่อเลี้ยงร่างกายให้แข่งต่อได้ ซึ่งพออาหารเราไม่พอ ผมในฐานะพี่ก็แบ่งมะม่วงอบแห้งให้ซึงไปก่อน แบ่งคุกกี้ให้แอลวินไปในตอนแรก

จริงๆ ตอนนั้นก็คำนวณแล้วนะ ว่าเรากินแค่เท่านั้นน่าจะพอ แต่สุดท้ายไม่พอ กลายเป็นผมที่หมดแรงเอง แล้วพอได้พักน้อยจากที่วิ่งหลงกันก่อนหน้านี้ด้วย คือผมแทบจะหมดสติเลย เวลาที่คุณไม่ได้นอนเยอะๆ ติดต่อกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาพหลอน เดินๆ อยู่ก้อนหินมีชีวิตขึ้นมา ใบไม้เปลี่ยนสี เป็นอาการเห็นภาพหลอน (Hallucination) ผมคือแทบจะเดินไปหลับไปแล้ว

เลยต้องมานั่งวางแผนกันใหม่ เพราะตอนนั้นคือความขัดแย้งในทีมมันเกิดขึ้น คือซึงกับแอลวินที่เป็นนักกีฬากึ่งมืออาชีพแล้ว เขาต้องการเข้าเส้นชัย มันเป็นอาชีพ เป็น Career Path ของพวกเขา แต่ตัวผมก็ไม่ไหว มันก็เลยเกิดการฉุดยื้อ ดึงกระชากกันในทีมตลอดทาง แอลวินก็บอกให้ผมเร็วกว่านี้ ตัวผมก็ไม่ไหว สุดท้ายผมก็บอกแอลวินตรงๆ ว่า

“แอลวินคุณไม่ต้องมากดดันผม ผมได้เท่านี้แหละ ถ้าคุณอยากให้ผมเข้าเส้นชัย มันมีวิธีที่ดีกว่าการมากดดันผม คือคุณต้องวิ่งไปข้างบนให้เร็วๆ ไปถึงข้างบนที่มีร้านค้าตั้งอยู่ แล้วซื้อเอสเพรสโซ่ดับเบิลช็อตให้ผม เอาแบบเข้มที่สุด แล้วช็อตเดียวไม่พอ ต้องเป็นดับเบิลช็อต จากนั้นซื้อขนมปังก้อนใหญ่ๆ ให้ผมก้อนหนึ่ง ขอแค่นี้แหละ”

แอลวินก็ตกลง วิ่งไปซื้อเอสเพรสโซ่กับขนมปังมาให้ผม พอได้ของกินมาแอลวินก็ถามอีกว่า พี่เอกเดินไปกินไปได้ไหม ผมบอกว่าไม่ได้ ผมต้องการความละเมียดในการกินกาแฟชั่วโมงนี้ ผมขอ 10 นาที ใจเย็นๆ เข้าถึงเส้นชัยแน่นอน ขอให้ผมได้ฟื้น กาแฟมันดึงสติกับร่างกายเข้าหากัน

พอกินเสร็จ หลังจากนั้น 10 นาที อาหารเริ่มออกฤทธิ์ ขนมปังเริ่มย่อย กาแฟเริ่มทำงาน ผมเริ่มวิ่งได้ ถึงอัดความเร็วลงมาเป็นช่วงสุดท้าย กลายเป็นคลิปที่ทุกคนเห็น คือหลังจากนั้นเราก็พยายามชดเชยเวลาที่เสียไป ผมเป็นคนเริ่มวิ่งด้วยความเร็วอัดลงมา บอกทุกคนว่า ถ้าอยากเข้าเส้นชัยต้องอัดตามมา ซึงกับแอลวินก็เลยตามมา คือมันเป็นความเร็วที่อันตรายนะ ถ้าสะดุดหินสักก้อนเดียวก็คือกลิ้งลงเลย ซึ่งสุดท้ายก็ทันเวลา ใช้ไปทั้งหมด 152 ชั่วโมง 30 นาที พอดี

ตอนที่วิ่งอัดความเร็วลงมาจากยอดเขาในหัวคุณคิดอะไรอยู่

152 ชั่วโมง 30 นาที อย่างเดียว ไม่ได้คิดอะไรอย่างอื่นเลย

ได้เผื่อใจว่าจะไม่ทันไว้บ้างไหม

ไม่เลย เพราะคำนวณดูแล้วทันเวลาแน่นอน ผมคิดในใจแล้วว่าต้องเริ่มก้าวตั้งแต่วินาทีไหนถึงจะทัน

Credit: Sawangjit Seung Saengow

ถ้าตอนนั้นไม่ได้กาแฟกับขนมปัง แล้วพยายามวิ่งต่อไป หนังคนละม้วนเลยใช่ไหม

จบเห่เลย เพราะมันไม่มีแรงแล้วตอนนั้น ผมเดินขึ้นนี่คือทางไม่ได้มอง ผมให้ความไม่มีสติมันนำทางเลย ร่างกายก็ไปเองของมัน ถ้าเกิดไม่ได้กาแฟนะ ผมว่ายอดเขาจนมาถึงเส้นชัย ผมคิดว่าต้องมี 1-2 ชั่วโมง ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ตึงเครียดที่สุดของการแข่งแล้ว

พูดแล้วย้อนกลับไปคิดคือมันตึงเครียดมากเลยนะ ตั้งแต่ช่วง 20.00 น. ที่เราเริ่มหลงทาง จนถึงตอนวิ่งถึงเส้นชัย 16.00 น. ก็เกือบ 1 วันที่วิ่งด้วยความกดดัน

ตลอด 6 วันระหว่างการแข่งขัน พูดคุยเรื่องอะไรในทีมมากที่สุด

พูดคุยกันน้อย คือเราคุยกันจนรู้ไส้รู้พุงหมดแล้ว มันผ่านอะไรด้วยกันมาเยอะ 2 เดือนที่แล้วก็เพิ่งไปซ้อมไปแข่งรายการหนึ่งมา 250 กิโลเมตร ก็อยู่ด้วยกันมา 5 วัน ดังนั้นมาเลยไม่เหลือเรื่องคุย มองตาก็เข้าใจแล้ว

ดังนั้นในการแข่งขันคุยกันน้อยมากจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่กดดัน ในช่วงเวลาที่เราวิ่งช้า มันทำให้เราต้องตั้งใจวิ่ง มองพื้นอย่างเดียว เดินทีละก้าว วิ่งให้เร็วทีละก้าว เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเพื่อน

การแข่งแบบทีมแตกต่างจากการวิ่งแบบเดี่ยวอย่างไร

อย่างที่บอกคือเส้นทางมันอันตราย ถ้าไปคนเดียวแล้วตกลงไปตายไม่มีใครรู้เลย อย่างการแข่งนี้บางจุดก้าวพลาดทีเดียวคือถึงชีวิตเลย ดังนั้นการแข่งขันแบบยาวแบบนี้ จัดไปเป็นทีมถูกแล้ว เพราะระหว่างทางยังพอช่วยเหลือกันได้ แต่ถ้าไปคนเดียวอันตรายมาก

แต่กลับกัน ข้อดีของการไปคนเดียวคือมีอิสระมากกว่า อยากพักเมื่อไร พัก อยากฉี่เมื่อไร ฉี่ อยากกินเมื่อไร กิน แต่ไป 3 คนมันเหนื่อยไม่เหมือนกัน ง่วงไม่เหมือนกัน เลยกลายเป็นว่าปลอดภัยมากกว่า แต่เงื่อนไขเยอะกว่า

ยกตัวอย่างคืนหนึ่งของการแข่งครั้งนี้ ตอนนั้นเวลา 21.00 เราอยู่ในจุดที่มีแนวต้นไม้ใหญ่ปกคลุมความสูงไม่เกิน 2,000 เมตร ตอนนั้นแอลวินง่วง เราก็เลยตัดสินใจพักตรงนั้นกัน แต่ผมกับซึงไม่ง่วงก็เล่นโทรศัพท์ คุยกับดวงดาวกันไปเรื่อย

แต่พอหลังจากนั้นเราวิ่งต่อไปอีก 2-3 ชั่วโมง ช่วงประมาณ 5 ทุ่ม กลายเป็นผมเองที่ง่วงและไม่ไหว ซึ่งตอนนั้นความสูงมันอยู่ที่ 2,500-3,000 เมตร เป็นแนวหินมีพื้นที่เปิดโล่งแล้ว ซึ่งมันหนาวมาก แต่ก็ต้องนอนเพราะผมไม่ไหว อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นมาในการแข่งแบบทีม

เรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขัน เป็นอย่างไรบ้าง

ผมใช้รองเท้า 3 คู่ในการแข่งขันครั้งนี้ คู่แรกที่ใช้เป็นของแบรนด์ La Sportiva ก่อนที่จะมีปัญหาในช่วงวันที่เจอกระเป๋าในไลฟ์เบสแรกที่เตรียมรองเท้ารุ่นเดียวกันแต่ไซส์ 45 เอาไว้ ใหญ่กว่าคู่แรก 1 ไซส์ เพราะต้องเผื่อเท้าบวมขึ้นจากการวิ่งเป็นเวลานาน แต่ปรากฏว่า 45 ผมก็ยังยัดเท้าไม่เข้า กลายเป็นว่าเท้าผมบวกกว่าที่คาดไว้มาก

แต่โชคดีที่ในกระเป๋าผมติดรองเท้าแตะมาด้วย คู่ที่ใส่มาสัมภาษณ์วันนี้เลย ดังนั้นผมเลยใส่คู่นี้วิ่งในช่วงที่ 2 ของการแข่ง ถามว่าเสี่ยงไหมต้องบอกว่าน่าวิตกกังวลเลย เพราะถ้าขาดกลางทางก็จบเห่ แต่ถ้าจะฝืนใส่คู่ที่เตรียมมาก็รู้ว่าจะไม่จบแน่นอน จนถึงจุดไลฟ์เบสที่ 2 ผมก็ให้ทีมงานไปซื้อรองเท้าอะไรก็ได้ไซส์ 47 มาให้ผม ตอนนั้นถึงจะได้เปลี่ยนมาใส่รองเท้าผ้าใบ และเป็นรองเท้าที่ผมใช้วิ่งเข้าเส้นชัยอย่างที่พวกคุณเห็นกัน

ปกติคุณเคยใส่รองเท้าแตะวิ่งแข่งขันไหม

ไม่เคยใส่วิ่งไกลเลย เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อวิ่งอยู่แล้ว แต่ผมรู้ว่าถ้ายังฝืนใส่คู่ 45 ที่เตรียมมา ให้ตายอย่างไรก็วิ่งไม่จบ เพราะมันบีบเท้ามาก

หลังจากจบการแข่งขัน UTMB PTL 2021 มองว่าตัวเองมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

แข็งแกร่งขึ้นแน่นอนทั้งร่างกายและจิตใจ เห็นได้ชัดเลยว่าพอเจออุปสรรคไม่มีงอแง ไม่มีบ่นไม่มีร้อง ทุกคนแข็งแกร่งขึ้นหมดทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งแอลวินและซึงด้วย ทุกวันนี้ต้องบอกว่าผม ‘พร้อม’ เผชิญกับอุปสรรคมากขึ้น

เวลาอธิบายเรื่องนี้มันเข้าใจยากนะ คุณต้องมาอยู่ในโลกแบบนี้ก่อน คุณจะเข้าใจว่าเวลาคุณได้สร้างคุณค่าบางอย่างขึ้นมา แล้วพอมันออกดอกผลไปใช้ในชีวิตหลากหลายมิติได้ มันทรงคุณค่ามาก

ดูคุณเป็นคนให้ความสำคัญกับการผลักดันศักยภาพของมนุษย์เสมอ

ก็คงพูดแบบนั้นได้ ผมเองก็อยากรู้ว่าตัวเราจะไปได้ถึงไหน อยากรู้ว่าขีดจำกัดทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางอารมณ์อยู่ที่ไหน อะไรคือขีดสุดท้ายเกินกว่านี้ไม่ได้ มันก็เลยนำมาซึ่งความท้าทายตัวเอง ซึ่งถ้าคุณลองทำก็จะพบแต่ความเหลือเชื่อเต็มไปหมด

ตอนที่ผมเริ่มทำครั้งแรกคือตอนอายุ 30 หลังจากที่สมัยก่อนเราก็เป็นนักกีฬา เล่นบาสเก็ตบอล ตีปิงปอง ว่ายน้ำ เล่นแบดมินตัน ฟุตบอล เราก็เล่นกีฬามาหมด แต่พอเริ่มทำงานประมาณช่วงอายุ 22-23 ปี ผมก็ทิ้งกีฬาไปเลย แทบไม่เคยวิ่ง เตะบอลปีละครั้งกับเพื่อนตามงานโรงเรียนอะไรแบบนี้ คือไม่เคยออกกำลังกายจริงจังเลย 10 ปี จนอายุ 30 ร่างกายเริ่มมีปัญหา ตอนนั้นก็คือผมถ่ายเป็นเลือดทุกครั้ง ตื่นเช้าขึ้นมาผมสั่งขี้มูกเป็นเลือด หายใจยาก ถ่ายแข็ง นอนลำบาก ตื่นสาย เส้นมันยึดไปหมด ปัญหาสุขภาพมันเริ่มมาตอนอายุ 30

จนพอได้เริ่มออกกำลังกาย โลกเลยเปลี่ยนเลย ตื่นง่ายขึ้นนอนหลับง่ายขึ้น ถ่ายเป็นเลือดก็ไม่มี อะไรที่อุดตันจมูกขี้มูกเป็นเลือดทุกเช้าก็ไม่มี ทุกอย่างมันดีขึ้นหมดเลย เรื่องแบบนี้พอเราเริ่มทำ ร่างกายเรามันก็ดีขึ้น แล้วหลังจากนั้นก็เลยเริ่มไปวิ่ง เริ่มไปขี่จักรยาน ถ้าใครบอกว่าเมื่อก่อนให้ไปวิ่งเทรลขึ้นเขา 50 กิโลเมตร ไม่ไปแน่ๆ ใครจะไปทำได้ พอเราเริ่ม 50 กิโลเมตรเราทำได้ 100 กิโลเมตรเราทำได้ ไป 250 กิโลเมตร 500 กิโลเมตรเราทำได้ มันก็เลยข้ามขีดจำกัดไปเรื่อยๆ

สำหรับผม เรื่องนี้มันมีประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอยู่ด้วยนะ ใน 3 เรื่อง

ประเด็นแรกคือสาธารณสุข ประเทศที่คนแก่ตัวไปส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น เพราะเขามีการส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยคนแก่ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นภาระของสังคม เป็นภาระของครอบครัว เยอะมากนะ ซึ่งต่างกับคนแก่ในต่างประเทศ ขับรถได้ ไปจ่ายตลาดเองได้ เดินไปขึ้นรถเองได้ อันนั้นคือแก่แบบมีคุณภาพ

คุณภาพชีวิตของคนจะดีขึ้นขนาดไหน ถ้าได้เริ่มออกกำลังกายตั้งแต่วันนี้ วันละนิดละหน่อย วันละ 15 นาที วันละครึ่งชั่วโมง มันจะช่วยในบั้นปลายเยอะเลย ทำให้คนมีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้นเยอะเลย

ประเด็นที่ 2 ก็คือการใช้ชีวิตกลางแจ้ง การใช้ชีวิต Outdoor ผมมองว่าการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกมันทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ การจะทำให้คนรักธรรมชาติ แล้วออกมาปกป้องโลกได้จริงๆ คือเราต้องทำให้คนเข้าไปใกล้ชิดกับธรรมชาติ อย่างผมไปยุโรป 2 ปีติดกัน ผมเห็นเลยว่าปีนี้กับปีที่แล้ว ธารน้ำแข็งเดิมที่ไปมา สั้นลงไป 300 เมตร มันเห็นชัดขนาดนั้นเลย หมายความว่า 10 ปี เทือกเขาแอลป์ดีไม่ดีอาจจะไม่มีน้ำแข็งในหน้าร้อนแล้ว

ดังนั้นถ้าคุณอยากจะรักษาโลก อยากให้คุณเข้าใจจริงๆ ว่าระบบนิเวศของธรรมชาติมันถูกทำลายไปแค่ไหน ก็คือต้องไปดู ไปเห็น ไปเข้าใจ ไปใกล้ชิดกับธรรมชาติ ผมไม่เคยเห็นใครที่เข้าไปใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้วทิ้งขยะบนภูเขา ผมไม่เคยเห็นนะ ผมเห็นแต่คนที่อยากจะมีส่วนร่วมในการดูแลธรรมชาติ

และประเด็นที่ 3 ผมคิดว่า มันเป็นการออกไปอยู่ข้างนอก การไปเรียนรู้จากตัวเอง ทำให้ตัวเองคุ้นเคยกับร่างกาย คุ้นเคยกับโลกภายนอก ช่วยให้คิดในแง่บวก ไม่ยอมแพ้ สร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าเรื่องพวกนี้มันจะช่วยส่งเสริมให้คุณใช้ชีวิตในแง่บวกและมีคุณภาพมากขึ้น ผมจึงอยากสนับสนุนให้ทุกคนออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ออกไปใช้ชีวิตผจญภัย

หลังจากนี้มีความท้าทายอะไรที่อยากพิชิตบ้างไหม

ตอนนี้คิดไว้ 2-3 โปรเจกต์ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ อันแรกก็คือโปรเจกต์ขั้วโลกใต้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อทีม TrueSouth ที่จะเดินจากขอบทวีปแอนตาร์กติกาไปถึงขั้วโลกใต้ ซึ่งสิ่งนี้ยังไม่มีคนไทยเคยทำได้ คิดอยู่ว่าจะทำสักครั้งหนึ่ง อีกอันก็คิดไว้อยู่แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ก็คือแล่นเรือใบจากภูเก็ตไปยังมัลดีฟส์โดยไม่ใช้เครื่องยนต์

นอกจากเรื่องการวิ่งแล้ว ในเรื่องการเมืองสนใจในแง่ไหนบ้าง

ในเรื่องการเมืองผมต้องบอกว่า ผมยังมีความหวังกับประเทศนี้อยู่มาก แม้ถ้าดูผิวเผินอาจจะรู้สึกน่าเป็นห่วงอยู่ น่าหดหู่ ดูเหมือนประเทศไม่มีความหวัง แต่ตัวผมเองยังเชื่อว่าการเลือกตั้งในปี 66 ไม่ว่าคุณประยุทธ์จะอยู่ 8 ปีหรือไม่ 8 ปี จะยุบสภาฯ หรือไม่ยุบสภาฯ ก็ตาม จะมีความหมายอย่างมากต่อประเทศ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีโอกาสที่ฝ่ายค้านจะกลับมาเป็นรัฐบาล ดังนั้นมันจะมีโอกาสที่เราจะได้กลับมาทำให้ประเทศไทยเดินในทิศทางที่ถูกต้อง

ผมคิดว่าทุกวันนี้เรามีการเดินทางไปในแนวทางอำนาจนิยม เป็นทิศทางที่ทำให้ทรัพยากรของประเทศกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มน้อย ซึ่งมาจากอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผมคิดว่าอันนี้เป็นเส้นทางที่ผิด ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายค้านพลิกกลับขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ เราจะมีโอกาสพาประเทศไทยเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

อันนี้คือความหวังและความสำคัญของการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งหลังจากวันนี้จนถึงวันเลือกตั้ง จะต้องเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า การเปลี่ยนขั้วมาให้ฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลเท่านั้นที่จะพาประเทศไทยให้กลับไปเดินในทิศทางที่ถูกต้องได้

Credit: Sawangjit Seung Saengow

Tags: , , , , ,