“ถ้าถามว่าเสน่ห์ของฟุตบอลเยอรมันอยู่ตรงไหน อยู่ที่ระเบียบวินัยและความจริงใจในระบบการทำงานของพวกเขา นี่แหละคือลักษณะของสายเลือดเยอรมันโดยแท้”

4 ทศวรรษที่ผ่านมา ชื่อของ ‘ก.ป้อหล่วน’ หรือพลอากาศโท รองศาสตราจารย์นิกร ชำนาญกุล อยู่คู่กับวงการลูกหนังต่างประเทศ โดยเฉพาะ ‘บุนเดสลีกา เยอรมัน’ มาโดยตลอด ด้วยฝีไม้ลายมือในการจรดปากกาถ่ายทอดเรื่องราวฟุตบอลจากเมืองเบียร์ลงในคอลัมน์ของนิตยสารระดับตำนานอย่าง ‘สตาร์ซอคเก้อร์’ (Star Soccer) 

ส่วนใครที่ชอบดูฟุตบอลเยอรมันพากย์ไทยก็ต้องไม่พลาดท่วงท่าและลีลาในเกม อัดแน่นไปด้วยองค์ความรู้เบื้องหลังฟุตบอลเยอรมันภายใต้ชื่อ ‘อานิกร’

ในฐานะแฟนบอลเยอรมัน และแฟน ‘ก.ป้อหล่วน’ ตัวยง เราชวน ‘อานิกร’ พูดคุยถึงบทบาทและประสบการณ์ทั้งในหมวกของคอลัมนิสต์ นักข่าว และนักพากย์ พร้อมกับย้อนไปดูเรื่องราวการเดินทางของเขา ที่เปรียบเสมือนประตูบานใหญ่ส่งให้เขาก้าวไปสู่การเป็น ‘กูรูลูกหนังเมืองเบียร์’ มือฉกาจของเมืองไทย

วินัยและวิธีคิดที่ถูกปลูกฝังจากเยอรมนีถือเป็นกำไรมหาศาล 

เส้นทางทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในปี 1974 ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก และพวกเขาคว้าแชมป์ได้สำเร็จ

ณ ขณะนั้น อานิกรคือเด็กผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่หลงใหลในโลกของฟุตบอล และมีความชื่นชอบในนักเตะของทีมอินทรีเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นสุดยอดลิเบอโร่ตลอดกาลอย่าง ฟรันซ์ เบ็กเคินเบาเออร์ (Franz Beckenbauer) หรือดาวยิงระดับตำนาน อย่าง แกร์ด มึลเลอร์ (Gerd Müller) ไปจนถึง เซ็ปป์ ไมเออร์ (Sepp Maier) ผู้รักษาประตูระดับท็อปคลาสของทีมชาติเยอรมนีในยุคนั้น

“จากฟุตบอลโลกปี 1974 ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแล้วได้แชมป์ ฟรันซ์ เบ็กเคินเบาเออร์ แกร์ด มึลเลอร์ และเซ็ปป์ ไมเออร์ ตัวละครเหล่านี้ลอยอยู่ในมโนสำนึกของเรามาตลอดว่าสักวันหนึ่งอยากไปดูว่าบ้านเมืองที่เขาอาศัยอยู่เป็นอย่างไร อยากไปเห็นความเจริญ และอยากสัมผัสวัฒนธรรมของเขา”

เด็กหนุ่มที่ยังไม่แม้แต่บรรลุนิติภาวะในวันนั้นถูกแต่งแต้มไปด้วยความสงสัยและใฝ่ฝัน ไม่เฉพาะเรื่องของฟุตบอลเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงแก่นลึกในมิติต่างๆ ของความเป็นชนชาติเยอรมัน โดยตั้งคำถามไปกระทั่งว่าเยอรมนีมีดีอย่างไร เหตุใดจึงได้รับการขนานนามในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ไปจนถึงเรื่องของการปลูกฝังคนในชาติ

จนกระทั่งในปี 1978 ก็ได้เวลาที่ประตูแห่งโอกาสสำคัญพร้อมเปิดต้อนรับเด็กหนุ่มคนนั้นเข้าไป ช่วงเวลานั้น เขากำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนนายเรืออากาศ และต่อมาไม่นานก็มีโอกาสสอบชิงทุนไปศึกษาที่ต่างประเทศได้สำเร็จ 

แน่นอน เยอรมนีคือจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ที่ถูกปักธงไว้อย่างแน่วแน่มาตั้งแต่แรก โดยช่วง 6 เดือนแรกต้องไปเรียนภาษาที่โคโลญ (Cologne) ต่อมาได้ไปเรียนพลทหารที่เนือร์นแบร์ค (Nürnberg) อีก 9 เดือน จากนั้นจึงไปเป็นทหารสัญญาบัตรใกล้กับมิวนิค (Munich) อีกเป็นเวลากว่าปีครึ่ง หลังภารกิจทุกอย่างเสร็จสิ้นลง อานิกรมองเห็นลู่ทางในเรียนมหาวิทยาลัยต่อ จึงตัดสินใจสมัครเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจนจบ 

นอกจากเรื่องลำดับการเดินทางเก็บประสบการณ์ตามเมืองต่างๆ แล้ว เรื่องของ ‘การปลูกฝังคน’ ก็ถืออีกเป็นสิ่งที่ชายตรงหน้าย้ำกับเรา

“เราที่เป็นทหารจากประเทศไทยมาแล้ว 3 ปีก่อนหน้า เมื่อถึงวันที่มาเป็นทหารเยอรมัน ได้เจอกับเด็กมัธยมของเยอรมันที่เพิ่งจะเข้ามาเป็นทหารวันแรก เราเห็นพฤติกรรมของเขาจากกิจกรรมต่างๆ ที่ทำแล้ว รู้เลยว่าวินัยเขาเหนือกว่าเรามาก ส่วนวินัยที่เราถูกปลูกฝังมาสู้เขาไม่ได้เลย แต่เมื่อเราไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของเขาเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้กลับซึมซับเข้ามาในตัวตนของเรา ระเบียบวินัย วิธีคิดต่างๆ ค่อยๆ หล่อหลอมให้เรามีบุคลิกและวิธีการทำงานในแบบฉบับคนเยอรมันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน วินัยและวิธีคิดที่ถูกปลูกฝังมาจากบ้านเขาถือเป็นกำไรมหาศาล ที่เอาเงินเท่าไรมาแลกก็ไม่ได้”

เช่นเดียวกันกับมิติของกีฬา กูรูฟุตบอลเมืองเบียร์ก้มลงมองเสื้อสีขาวเรียบๆ อกซ้ายปักด้วยตราสัญลักษณ์ของทัพอินทรีเหล็กที่ตนสวมใส่ พร้อมอธิบายถึงความหมายที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้การถักทอเหล่านี้ว่า นี่คือเสื้อที่ทีมชาติเยอรมนีได้แชมป์ฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในปี 1954 ซึ่งถือเป็นสิ่งที่หล่อหลอมจิตวิญญาณของคนเยอรมันเข้าไว้ด้วยกัน แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ฟุตบอลพวกเขาก็ยังสามารถเป็นแชมป์โลกได้ ผลลัพธ์เช่นนี้ก็นับว่าเป็นความสำเร็จภายใต้ระเบียบวินัยที่พวกเขายึดถือ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเยอรมนีต่างก็ภาคภูมิใจในความเป็นตัวตนและชนชนชาติของพวกเขา 

“ความสำเร็จด้านต่างๆ ของชาวเยอรมัน ชวนให้สงสัยว่าคนที่นั่นจะต้องมีอะไรที่พิเศษกว่าที่อื่น และเมื่อบินไปถึงก็เห็นความพิเศษอย่างนั้นจริงๆ ทุกคนจะโฟกัสไปที่การมีระเบียบวินัยเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะทำอะไร จะต้องยึดมั่นวินัยในตนเองไว้เสมอ จึงเป็นอันกระจ่างแล้วว่าบ้านเมืองและสังคมของเยอรมนีเจริญก้าวหน้าเพราะอะไร”

ภาพถ่ายในความทรงจำ ณ ช่วงเวลาที่นิกรไปประจำการทหารที่ประเทศเยอรมนี

สู่จุดเริ่มต้นในฐานะ ก.ป้อหล่วน

จากความรักความชอบในฟุตบอลและความเป็นชนชาติแบบเยอรมนีที่สั่งสมเรื่อยมา ประกอบขึ้นเป็นองค์ความรู้ ขัดเกลาจนกลายเป็นประสบการณ์ โอกาสในการต่อยอดจึงอยู่ไม่ไกล

“อากลับมาจากเยอรมนีเมื่อปี 1982 ซึ่งในระหว่างนั้น เอกชัย นพจินดา หรือ พี่ย.โย่ง กำลังหานักข่าวที่จะมาแปลบทความจากนิตยสารเยอรมัน ซึ่งตอนนั้นท่านมีอยู่แล้ว 1 คน คือพี่ช่อคูณ เจษฎา วิจารณ์ พี่ช่อคูณจึงแนะนำให้ติดต่อมาที่อา นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้แปลบทความแรกลงในนิตยสารรายสัปดาห์ของสยามกีฬา โดยเรื่องแรกที่แปลออกมานั้นยังจำได้ขึ้นใจ คือตำนานของโบรุสเซียเมินเชินกลัดบัค (Borussia Mönchengladbach) จากสยามกีฬารายสัปดาห์ ขยับไปเป็นรายวัน จากนั้นจึงเกิดเป็นสตาร์ซอคเก้อร์อย่างที่ได้เห็นกัน”

ในส่วนของการเกาะติดสถานการณ์ข่าวฟุตบอลเยอรมนีเพื่อนำมาเขียนคอลัมน์ในทุกวันนั้น อานิกรเล่าว่าข้อมูลข่าวสารจะได้มาจากเพื่อนสนิทที่อยู่เยอรมนีคอยรวบรวมจากแหล่งต่างๆ ของสื่อเยอรมันและส่งให้ ทว่าในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วดังเช่นในปัจจุบัน การส่งข้อมูลจึงต้องใช้วิธีการส่งด้วยแฟกซ์ จึงจะเห็นได้ว่าคอลัมน์แปลที่มาจาก ก.ป้อหล่วน มักจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นเชิงลึกจากเยอรมนีในทุกๆ วัน 

เมื่อองค์ความรู้จากการทำงานทั้งหมดผ่านการสะสมจนเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ก.ป้อหล่วนจึงค่อยๆ ขยับขยายตนเองไปถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารในรูปแบบของการพูดคุยผ่านทางรายการวิทยุและโทรทัศน์ตามลำดับ

“คอนเทนต์ องค์ความรู้ หรือเนื้อหาเฉพาะด้านที่มีอยู่ในตัวเรา ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นข้อเขียน มาเป็นสื่อเสียงวิทยุ จากนั้นออกมาเป็นภาพฟุตบอลในหน้าจอต่างๆ นี่จึงเป็นที่มาของการเข้าสู่วงการนี้ เพราะเขารู้ว่าเรารู้เรื่องนี้ เขาจึงเชิญเราไปมีส่วนร่วมในการที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ออกไป ซึ่งในส่วนนี้ต้องขอกราบขอบพระคุณพี่ระวิ โหลทอง ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามสปอร์ต ที่เมตตา สนับสนุน และเปิดโอกาสให้ได้ทำงานในสิ่งที่รักมาตั้งแต่ต้น จนมี ก.ป้อหล่วน จนถึงในปัจจุบัน”

เอกลักษณ์การพากย์สุดแสนเรียบง่าย กลับเรียกเสน่ห์ติดหูจนคอบอลต้องคารวะ

“น้ำเสียงที่นุ่มนวล หากแต่ไม่ง่วงเหงา จังหวะการบรรยายที่ไม่หวือหวา ทว่ากลับน่าติดตาม ผสมเข้ากับการแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นประโยชน์ต่อการชมเข้ามาระหว่างเกม ผลลัพธ์จึงออกมากลมกล่อม มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร”

นี่เป็นคำบรรยายจากความรู้สึกในฐานะผู้ชมและผู้ฟังจากการติดตามอานิกรในบทบาทของผู้บรรยายเกมการแข่งขันฟุตบอลหรือนักพากย์บอลมาเป็นเวลาหลายปี

อานิกรมองว่า การชมถ่ายทอดสดฟุตบอล แน่นอนว่าสิ่งที่เราได้เห็นในแน่ๆ คือผลแพ้ชนะ หรือเสมอของคู่นั้นๆ นั่นคือข้อเท็จจริง ทว่าจะต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่อยู่ในจอนั้นมีมากกว่าจากเกมการแข่งขันวิ่งไล่ลูกกลมๆ ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอลจากทีมทั้งสองฝั่ง กรรมการ กองเชียร์ข้างสนาม และสิ่งแวดล้อมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ผู้บรรยายหรือนักพากย์ทั้งหลายจะต้องพยายามหาโอกาสในการถ่ายทอดให้ถึงผู้ชม ซึ่งการที่จะถ่ายทอดออกไปนั้น ผู้บรรยายจะต้องทราบว่านักเตะ 11 คนในแต่ละฝั่งเป็นใครบ้าง ยืนในตำแหน่งใด นอกจากนี้ยังต้องทราบว่ากองเชียร์ฝั่งซ้ายขวาเป็นใคร สนามแห่งนั้นคือที่ไหน สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกนำมาสื่อสารกับคนดูให้ได้มากที่สุด แต่จะต้องอยู่ในความเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

จึงอาจกล่าวได้ว่าการพากย์ฟุตบอลเป็นเรื่องของศิลปะการสื่อสาร สิ่งสำคัญที่สุดคือการศึกษาข้อมูลมาอย่างถี่ถ้วน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นสื่อสารออกไปในช่วงจังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากการแข่งขันในสนามไม่ได้มีเพียง A ส่งบอลให้ B ต่อบอลกัน จากนั้นเข้าทำประตู สิ่งเหล่านี้สามารถเห็นได้ผ่านหน้าจอเป็นปกติ แต่สิ่งที่ผู้ชมอาจไม่เห็นจากจอ อาทิ แฟนบอลที่นั่งอยู่ข้างสนาม ชูป้ายข้อความบางอย่าง หากเป็นภาษาภาษาท้องถิ่น หรือภาษาที่ 3 ผู้บรรยายจะต้องมีการเตรียมข้อมูลเพื่อมาอธิบาย ซึ่งข้อความเหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเกม หรือมีผลต่อเกมการแข่งขันที่กำลังถ่ายทอดอยู่ไหม ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ผู้บรรยายจะต้องมีข้อมูลและเข้าใจในเนื้อหาเป็นอย่างดีจึงจะนำมาอธิบายต่อได้

“อย่างน้อยการเข้าไปพากย์จะต้องมีการเตรียมข้อมูลล่วงหน้า 2-3 วัน เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้ชมและให้เกียรติวิชาชีพของตนเอง ถ้าเราเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นได้แล้วอธิบายต่อก็จะเป็นสิ่งที่เติมเข้าไปและช่วยแสดงให้เห็นว่าเราทำการบ้านมา ทั้งยังเกิดเป็นเสน่ห์ ว่าเรารู้จริง ติดตามข่าวจริง เพราะการถ่ายทอดสด นอกจากเกมการแข่งขันในสนามแล้ว ยังมีสิ่งต่างๆ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสังคมจิตวิทยา ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ถ้าเราทำให้เขาผู้ชมได้ข้อมูลที่ประโยชน์ เขาก็น่าจะพึงพอใจ แต่อย่างไรก็ตามจะทุกอย่างจะต้องอยู่ในความเหมาะสมและความพอดี”

แมตช์พากย์สุดตราตรึงในชีวิต

หากให้ลองนึกถึงแมตช์ในความทรงจำ แมตช์ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังจำความรู้สึกแทบทุกวินาทีในเหตุการณ์นั้น แมตช์ที่ทีมรักของคุณประสบความสำเร็จ ได้ถือไพ่เหนือกว่าอีกฝั่ง หรือไม่แน่ว่าเกมในความทรงจำตลอดกาลอาจเป็นแมตช์บีบหัวใจตลอดทั้ง 90 นาที ไปจนกระทั่งเหตุการณ์พลิกล็อกในจังหวะท้ายเกมที่เข้ามาจุดหรือดับฝันให้กับผู้ชมมาแล้วนับไม่ถ้วน เชื่อว่ามาถึงตรงนี้ไม่ว่าอย่างไรคอบอลจะต้องมีภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวไม่น้อยกว่า 1-2 ภาพอย่างแน่นอน 

ส่วนเกมสุดประทับใจที่ผุดเข้ามาในความคิดแรกของนักพากย์ท่านที่อยู่กับเรานี้ คือฟุตบอลยูโร 2008 ที่สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) และออสเตรีย (Austria) เป็นเจ้าภาพร่วม แมตช์รอบรองชนะเลิศ โดยเยอรมนีพบตุรกีที่สนามเซนต์จาค็อบพาร์ก (St. Jakob-Park) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2008  

 “ณ วันที่แข่งขันเป็นเหตุการณ์ที่เราไปอยู่ในภาคสนาม พี่ระวิจะส่งอาไปทำงานภาคสนามทุกครั้งที่เป็นฟุตบอลยุโรป เกมนี้เป็นเกมที่ได้รายงานสดทางโทรศัพท์ ช่วงโฟนอิน มันมีช่วงเวลาหนึ่งที่สัญญาณภาพฝั่งเมืองไทยขัดข้อง ทำให้จอมืด แน่นอนว่าคนพากย์ที่เมืองไทยจะไม่ได้เห็นภาพและไม่สามารถบอกผู้ชมทางบ้านได้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสนามได้ แต่ในขณะเดียวกัน อาอยู่ที่ขอบสนาม กำลังรายงานจังหวะที่เยอรมนีได้ประตูพอดี ตอนนั้นที่เมืองไทยไม่ได้เห็นภาพ แต่ได้ฟังเสียงจากวิทยุ FM 99 เมกกะเฮิรตซ์ (MHz) จากโฟนอินของอา ซึ่งวันนั้นเยอรมนีพลิกเกมชนะ 3-2 ถือว่าเป็นจังหวะไม่มีใครคาดคิด จึงเป็นแมตช์การแข่งขันที่ได้มีโอกาสพากย์สดๆ และประทับใจไม่ลืม”

สมุดไดอารีที่จดบันทึกความทรงจำ พร้อมแนบภาพถ่ายคู่กับอดีตนักเตะชื่อดังยามออกทำข่าวภาคสนาม

‘เก่าแต่ไม่ล้าหลัง’ ทัศนคติและการปรับตัว ในยุคที่คอนเทนต์กีฬาเติบโตถึงขีดสุด 

จากการศึกษาของ นีลเซ็น (Nielsen) และลาลีกาเทค (LaLiga Tech) แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ผู้รับสารวัยหนุ่มสาวบริโภคคอนเทนต์กีฬาในอัตราที่มากกว่าหรือเท่ากับคนรุ่นก่อน แต่ช่องทางและวิธีการบริโภคเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดย 46% ของแฟนกีฬาวัยรุ่นบอกว่าชอบดูรายการกีฬาบนสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต และ 15% มีแนวโน้มที่จะดูคอนเทนต์แบบตามความต้องการของตนเอง และกลุ่มนี้ยังมีโอกาสเล่นเกมขณะชมการแข่งขันมากกว่า 50% อีกด้วย

เมื่อพฤติกรรมของผู้รับสารเปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าการหันมาใช้บริการแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาข้อมูลที่พบว่า OTT (Over-the-top) หรือที่รู้จักในชื่อโฆษณาสตรีมมิงทีวี กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วจะเข้ามาแทนที่การแพร่ภาพแบบสื่อดั้งเดิม โดยรวมแล้ว 41% ของแฟนกีฬาทั่วโลกรับชมการแข่งขันกีฬาผ่านช่องทางสตรีมมิ่งเป็นอย่างน้อยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ชมกลุ่มนี้ ยังเปิดโทรทัศน์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน 

นอกจากนี้ยังมีผลสรุปของการศึกษาที่พบว่า การผลิตคอนเทนต์ด้านการแข่งขันกีฬาลงบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของตนเองนั้น มีโอกาสในการเติบโตที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นแล้วว่าในปัจจุบัน การใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เปิดกว้างทางด้านเทคโนโลยี และการสร้างสรรค์เนื้อหาในแบบของตนเองลงบนแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถกระโดดเข้ามาลงสนามแข่งขันกันได้ 

ก.ป้อหล่วน ในฐานะคอลัมนิสต์ นิกร ชำนาญกุล หรืออานิกร ในฐานะนักพากย์ ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด กูรูฟุตบอลเยอรมันท่านนี้ยังยึดมั่นว่า ในยุคที่วิวัฒนาการเปลี่ยนผ่านเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ มาจนถึงยุคสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ สิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตหรือปรับตัวของคอนเทนต์คือเรื่องเนื้อหา พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือการเน้นไปที่ตัวข้อมูลที่ต้องการจะนำเสนอเป็นหลัก 

“การผลิตคอนเทนต์เปรียบเสมือนเกมฟุตบอล การเตะบอลกันในสนามมันก็ยังเตะ 90 นาทีเหมือนเดิม เมื่อร้อยปีที่แล้วกติกาคือเอาลูกฟุตบอลเข้าไปอยู่ในกรอบประตูเพื่อผ่านเส้นประตูเข้าไปให้ได้ ตอนนี้กติกาก็ยังเหมือนเดิม นี่แหละคือคอนเทนต์ 

“แต่จะเล่นแบบไหนให้เท่าทันคู่ต่อสู้ เล่นเกมรุก เกมรับ ออกซ้าย ออกขวา เจาะตรงกลาง ริมเส้น เกมรุกต้องมีสีสัน พาบอลไป โยนบอลผ่านแนวรับเข้าไป ใช้จังหวะเซอร์ไพรส์ สวิตซ์เกมให้เร็ว สิ่งเหล่านี้คือลีลา คือรสชาติที่ผู้ผลิตจะต้องส่งให้ผู้รับสาร ส่วนช่องทางในการนำเสนอที่ทุกวันนี้จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยก็จะเปรียบเสมือนพาหนะที่จะขับเคลื่อนเนื้อหาของเราให้มันส่งต่อไป”

โดยเชื่อว่าคอนเทนต์ของผู้ผลิตแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีใครเหมือนใคร เพราะแต่ละคนต่างก็มีแนวความคิด และความสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนกัน คำตัดสินสุดท้ายจึงขึ้นอยู่ที่ว่าผู้รับสารจะพึงพอใจในแบบใด ทว่าสิ่งที่จะต้องยึดมั่นไว้เสมอคือ ความถูกต้อง ซื่อตรง ยุติธรรม ทั้งหมดนี้จะต้องคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อในรูปแบบใดก็ตาม

“ทุกวันนี้ทุกคนเป็นนักข่าวได้หมด เพราะเทคโนโลยีมันเปิดให้ทำได้ ไม่จำเป็นต้องไปเป็นสื่อกระแสหลัก แต่ก็อยู่ที่ว่าการจะสร้างตัวเองขึ้นมาให้น่าเชื่อถือได้นั้นต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพราะการจะได้รับความนิยมก็ต้องมาจากความเชื่อมั่นว่า ทุกวันนี้เราจะเห็นคอนเทนต์บางคนใช้คำพูดเอาสะใจเป็นหลัก แต่ไม่ได้นึกถึงผู้รับสารว่าจะกรองได้ขนาดไหน สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ โดยคิดว่าเป็นเรื่องปกติหรือถูกต้องสมควรแล้ว”

ก่อนจากการเราจึงถามคำถามที่คิดว่าหลายคนคงสงสัยเช่นเดียวกัน ว่าแท้จริงแล้วนามปากกาที่ว่า ‘ก.ป้อหล่วน’ มีที่มาที่ไปอย่างไร

“เอาเป็นว่าเป็นชื่อที่มีความหมายต่ออามาก และเป็นชื่อที่ทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ด้วยชื่อนี้เราจะต้องไม่เหนื่อย จะต้องดี จะต้องยึดมั่นในคุณธรรม ชื่อนี้จะไม่มีทางทำสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน”

Fact Box

  • นอกจากคอลัมนิสต์ ผู้จัดรายการวิทยุ และนักพากย์แล้ว นิกรยังมีบทบาทในการเป็นเลขาธิการสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย
  • นิกรเคยผ่านประสบการณ์การทำงานภาคสนาม ในรายการใหญ่อย่างฟุตบอลโลก 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 1994-2014 และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปถึง 7 ครั้ง ตั้งแต่ปี 1988-2012
  • นิกรในฐานะประธานสยามกีฬาฟุตบอลเยอรมันแฟนคลับ ได้จัดโครงการสาธารณกุศลเพื่อสังคม ด้วยการนำอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การศึกษา และทุนการศึกษา ไปให้กับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันทำมาแล้ว 24 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งที่ไป มีการมอบทุนการศึกษา ‘ทุนสร้างคน’ ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอีกด้วย
Tags: , , , , ,