บทสัมภาษณ์สะท้อนเส้นทางชีวิตของชายที่เคยหนัก 100 กิโลกรัม ที่สามารถวิ่งระยะ 100 กิโลเมตรจบได้ในเวลาต่อมา เรื่องราวของความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมุมมองต่อชีวิตที่แตกต่างของมนุษย์ทำงานคนหนึ่ง ที่หวังเป็นแรงบันดาลใจ ชวนทุกคนออกมาวิ่งเพื่อสุขภาพของตนเอง
ก้าวแรก
ก่อนที่จะมาเป็น พี่นะ นักวิ่งขวัญใจของนักวิ่งไทยเช่นนี้ ก่อนหน้านี้คุณเป็นใคร ทำอะไรมาก่อน
ก่อนหน้านี้ผมก็เป็นคนธรรมดาทั่วไป เรียนหนังสือจบมาทำงาน เป็นพนักงานออฟฟิศ และก็ไม่ได้เคยออกกำลังกายเลยตั้งแต่เด็ก เพราะว่าไม่ได้มีโอกาสในการไปเล่นกีฬากับใคร ฐานะบ้านผมไม่ดี ต้องไปช่วยแม่ขายของ เรื่องการออกกำลังกายเลยไม่ใช่สิ่งสำคัญของชีวิตมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ในวันนั้น มองคำว่าการวิ่งหรือว่านักกีฬาวิ่งอย่างไรบ้าง
เป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่สุด จะเคยได้ยินหรือได้เห็นก็เฉพาะเวลาที่มหกรรมกีฬาระดับชาติต่างๆ ที่มีแข่งกรีฑา วิ่ง 100 เมตร 9 วินาที ก็จะได้เห็นเพียงแค่นั้น แล้วผมก็ไม่มีภาพเลยว่าตัวเองในฐานะนักวิ่งจะเป็นอย่างไร เพราะมันไกลตัวมากจริงๆ
จนถึงเมื่อไหร่ที่ การวิ่ง ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ
อย่างที่เล่าไป ผมก็ทำงาน ใช้ชีวิตปกติ หนึ่งวัน ตื่นเช้ามาก็ทำงาน กลับถึงบ้านก็มีปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนๆ มีดื่มกินตามประสาวัยรุ่น ไม่ระมัดระวังตัวเอง น้ำหนักที่เคยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มมีโรคประจำตัว มีความดันผิดปกติ เป็นโรคเบาหวาน เหล่านี้ก็เข้ามาในร่างกายเรื่อยๆ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคการใช้ชีวิตนะ คิดแต่ว่าป่วยก็ไปรักษา แล้วเอาค่ารักษาไปเบิกกับบริษัท คิดเพียงแค่นั้น ก็ใช้เงินแก้ปัญหากับร่างกายมาตลอด
จุดเปลี่ยนมาอยู่วันหนึ่งผมนั่งอยู่ที่บ้าน นั่งคุยกับภรรยา กับลูก แล้วก็เผลอหลับที่โซฟา จนพอภรรยาเขามาปลุกให้ขึ้นไปนอนบนเตียงที่อยู่ชั้นบน ผมก็ลุกไปปัสสาวะ แล้วก็กำลังจะขึ้นบันได
แต่สุดท้ายผมล้ม ล้มแบบไม่รู้ตัวเลย ล้มฟาดชักโครก ล้มเหมือนต้นไม้ล้ม
เท่าที่จำความได้คือเหมือนกับผมล้มลงบนเตียงนุ่มๆ ไม่รู้สึกเจ็บเลย แต่ภรรยาบอกว่าผมล้มแรงมากๆ จากนั้นก็ไปรู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาล ตอนนั้นยังถามภรรยาอยู่เลยว่าพามาทำไม กำลังนอนสบายๆ อยู่บนเตียง แต่พอเอามือจับหน้าคือเลือดเต็มหน้า จนวันนั้นคุณหมอตรวจทั้งหมดแล้ว ปฐมพยาบาลแล้ว เขาก็ยังไม่ให้กลับ เขาบอกอาการมันผิดปกติ ต้องทำ CT Scan ก่อนในตอนเช้า
ตอนนั้นก็คิดในใจว่า โห เราใช้ชีวิตแย่ขนาดนี้เลยเหรอ ทำไมร่างกายถึงเป็นแบบนี้ แล้วในระหว่างคืนนั้นที่นอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาลก็คิดแต่ว่า เงินที่เก็บมาเท่าไรในชีวิตเอาไปให้หมดเลยนะ ขอมีโอกาสครั้งนึง ลุกจากเตียงนี้ให้ได้ จะขอปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นในเรื่องของสุขภาพ เรื่องของการใช้ชีวิต
ลูกผมก็ยังเล็ก เงินเก็บก็พอมีบ้าง เรียกได้ว่าชีวิตก็มีความสุขดี แต่หากวันนั้นผมล้มแล้วไม่ได้กลับมาล่ะ คือมันก็จะพรากเราไปจากทุกอย่างเลยนะ วันนั้นก็เลยเสียใจมาก
จนพอออกจากโรงพยาบาล แผลยังสดๆ อยู่เลยนะ ผมก็เริ่มมีความคิดว่า จะไปทำอะไรดีให้ร่างกายดีขึ้น แต่เนื่องจากตัวเองไม่มีพื้นฐานของกีฬาเลย จะเตะฟุตบอล ก็ต้องไปชวนเพื่อนมาเล่นด้วย จะตีแบดมินตันก็ต้องหาคู่ตี ก็เลยเลือกวิ่ง เอาวิ่งนี่แหละ วิ่งคนเดียวเลย
พอกลับไปถึงบ้านก็เปลี่ยนเอาชุดลำลองที่มี รองเท้าก็ผ้าใบลำลองทั่วไป แล้วขับรถไปสวนรถไฟ (สวนวชิรเบญจทัศ) เนื่องจากต้องไปรับภรรยาแถวนั้น แล้วก็ตัดสินใจว่าจะวิ่งรอบสวน วิ่งแบบไม่ได้มีเทคนิคอะไรเลย พอไปถึงก็วิ่งดุ่มๆ ไปเลย หนึ่งรอบ 3.5 กิโลเมตร เห็นผู้สูงอายุ เห็นเด็กๆ วิ่งกันได้ เราอายุ 40 ต้นๆ น่าจะมีแรงอยู่ก็เลยลองวิ่งดู
เป็นอย่างไรบ้าง สำหรับการวิ่งครั้งแรกของคุณ
ปรากฏว่าไปได้แค่ประมาณ 400 เมตร ก็ไปต่อไม่ไหวแล้ว มันหายใจไม่ทัน จำได้ว่าทรุดลงไปเลย เพราะมันเจ็บแผลที่เพิ่งล้มมาด้วย วันนั้นเสียใจมาก เพราะมันก็ตอกย้ำว่าเราสุขภาพไม่ดีจริงๆ แค่ 400 เมตรก็ไปไม่ไหวแล้ว
ก็เลยเดินซึมๆ กลับบ้านไป บอกกับตัวเอง ไม่เป็นไร พรุ่งนี้มาใหม่ แล้วก็มาจริงนะ แต่วันที่สองนี้ ร่างกายตึงไปหมด เพราะคนมันไม่เคยออกกำลังกายมา 40 ปี ร่างกายมันปรับตัวไม่ทัน เหมือนไปฝืนธรรมชาติของมัน
ซึ่งวันที่ 2 ทำได้ดีกว่าเดิมไหม ก็ไม่ วิ่งไปได้ 400 เมตร ก็หอบเหมือนเดิม ก็บอกกับตัวเอง ไม่เป็นไร วันที่ 3 มาอีก 4 มาอีก 5 มาอีก จนถึงวันหนึ่งเริ่มสังเกตสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้คือ เห้ย ระยะหอบมันไกลขึ้น มันคือการปรับปรุงของร่างกาย มันคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ครั้งแรกผมวิ่งแล้วไปหอบที่ระยะ 400 เมตร พอผ่านไปอาทิตย์นึงหอบที่ระยะ 500 เมตร
นี่คือกำลังใจเล็กๆ ที่ทำให้รู้ว่า มันคือการพัฒนาของร่างกาย จนประมาณ 3 เดือน สามารถวิ่งจบได้ 2.5 กิโลเมตร รอบสวนรถไฟ ดีใจมากๆ วันนั้นร้องไห้เลย มันเหมือนมาราธอนแรกในชีวิต เพราะผมมาจากร่างกายที่ติดลบจริงๆ คนอื่นในสวนเขาคงงงว่าร้องไห้ทำไม บางคนเขาวิ่งกัน 10 20 รอบ แต่สำหรับผมมันคือความภูมิใจ มันคือความสำเร็จจากการที่ไม่ยอมหยุด ยังสู้ต่อไป ก็ดีใจมากๆ วันนั้น
หลังจากนั้นร่างกายมันก็ดีขึ้น ร่างกายแข็งแรง หายใจดีขึ้น น้ำหนักตัวก็ลดลงอาหารการกินก็เริ่มปรับ คือจากเมื่อก่อนเมนูโปรดคือต้องไปร้านข้าวขาหมูที่ขายข้าวมันไก่ด้วย แล้วต้องสั่งข้าวมันขาหมู ก็เปลี่ยนมาเริ่มกินข้าวขาวปกติ เริ่มกินเนื้อสัตว์ไม่ติดหนัง น้ำหนักก็เลยลงมา จาก 105 กิโลกรัม ลงมา 90 80 70 เรื่อยๆ ระยะการวิ่งก็เริ่มเพิ่มขึ้น เหมือนตรรกะความคิดมันเริ่มเปลี่ยน
จนกระทั่งทุกวันนี้ผมไม่ได้ทานแป้ง ทานแต่เนื้อสัตว์ และก็ผัก ไข่ ถั่ว นม แป้งจะทานเฉพาะวันที่แข่งขัน แน่นอนว่าตอนแรกๆ อาจจะทรมานหน่อย แต่พอทำได้เรื่อยๆ มันก็ทำให้เราปรับปรุงร่างกาย ปัจจุบันน้ำหนักของผมอยู่ที่ประมาณ 55-56 กิโลกรัม จาก 105 กิโลกรัม แล้วก็คงที่อย่างนี้มาตลอด
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เจอเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต แล้วจะมีแรงฮึดสู้ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นนี้ สำหรับคนที่กำลังท้อแท้ หรือหมดหวังอยู่ มีอะไรอยากจะบอกพวกเขาบ้าง
ผมว่าหลายอย่างมันต้องเริ่มจากศูนย์ ผมคงไม่สามารถเดินไปที่สวนรถไฟแล้ววิ่ง 10 กิโลเมตรได้เลย ดังนั้นคุณต้องทำความเข้าใจและยอมรับความจริงตรงนี้ก่อน จากนั้นก็ค่อยวางแผน พัฒนา อดทน ต่อสู้ไปเรื่อยๆ
ที่สำคัญอย่าพึ่งยอมแพ้ ผมเห็นนะ หลายคนเลย คือถ้าเปรียบเหมือนการขึ้นภูเขา อีกนึดหนึ่งก็จะถึงยอดเขา แล้วจะได้เดินลงเขาแบบสบายๆ แล้ว แต่กลายเป็นว่าเขาถอดใจไปก่อน มันน่าเสียดายนะ ดังนั้นเวลาที่รู้สึกท้อแท้ ไม่ไหวแล้ว อยากยอมแพ้ อยากให้ลองคิดถึงอนาคตที่วาดฝันไว้ ตัวเราที่ไม่ต้องนอนอยู่โรงพยาบาล ได้อยู่กับครอบครัว สุขภาพแข็งแรง มีความสุข อะไรแบบนั้น
คำเดียวเลยคือ อย่ายอมแพ้
ไม่ยอมแพ้ ต้องสู้ครับ สุดท้ายอย่างไรก็จะถึงเป้าหมาย อาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง ก็อยู่ที่พื้นฐานของแต่ละคน แต่เชื่อเถอะว่าสุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์มันคุ้มค่ากับความพยายามของทุกคนเสมอ
จากการวิ่งเพื่อแก้ไขตัวเองในอดีต จนถึงจุดไหนที่การวิ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ
ครั้งแรกที่ผมวิ่ง มันมีแต่ความเจ็บปวด เจ็บขา เจ็บเข้า เจ็บเข่า เจ็บแข้ง เหนื่อย หอบ แต่พอทำไปเรื่อยๆ อดทนทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่ามันเหนื่อยน้อยลง มันเริ่มเหมือนการเดินมากขึ้น ระบบหายใจเริ่มดี กล้ามเนื้อเริ่มเข้าที่ ก็เลยเหมือนรู้สึกได้ยกระดับตัวเองขึ้นมา แล้วกลายเป็นว่าการวิ่งเริ่มกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว ไม่รู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคของการใช้ชีวิต
ตื่นมาสามารถวิ่งได้เลย ตกเย็นสามารถวิ่งได้เลย จะวิ่งตอนนี้ วิ่งตอนเที่ยง วิ่งตอนกลางวัน สามารถวิ่งได้เลย วิ่งเหมือนกับการอาบน้ำ แปรงฟัน เหมือนการกินข้าว
และท้ายที่สุดคือต้องมีความสุขกับมันด้วย หลายคนแข็งแรง ลมหายใจดี แต่ไม่มีใจ ตอบคำถามตัวเองไม่ได้ว่ามาวิ่งทำไม ทำไมยืนอยู่ตรงนี้ เขาก็ถอดใจ ดังนั้นพอร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ก็อยากให้ลองพยายามหาความสุขของการวิ่งทั้งในระหว่างฝึกซ้อม วันแข่งขัน หรือหลังเส้นชัยเองก็ตาม
ก้าวต่อไป
สำหรับเป้าหมายการวิ่ง ในจุดหนึ่งคุณก็สามารถวิ่งจนรอบสวนได้แล้ว ไม่เหนื่อยหอบกับการวิ่งแล้ว เป้าหมายสู่การแข่งขันมันพัฒนาต่ออย่างไร
คือพอผมอธิบายว่าความสุขของการวิ่งมันเหมือนกับการอาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าว ดังนั้นมันเลยนำไปสู่จุดที่ว่า วันไหนไม่ได้วิ่ง ก็เหมือนเราไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้กินข้าว เหมือนชีวิตจะขาดอะไรบางอย่างไป ก็เลยต้องวิ่งต่อมาเรื่อยๆ
แต่บางทีมันก็มีเบื่อบ้างนะ ระหว่างทางที่วิ่ง ดังนั้น Step ต่อไปของนักวิ่งส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นการหารายการแข่งขันวิ่ง เพื่อทดสอบ วัดศักยภาพการวิ่งของตัวเอง หรือบ้างก็หาประสบการณ์ใหม่ๆ สร้างกำลังใจ สร้างแพชชั่นในการวิ่งต่อไป
จำได้ว่ากว่าผมจะลงวิ่งงานแรก ก็ซ้อมมาสักพักแล้ว น้ำหนักก็ลงมาตลอด เลยตัดสินใจไปลงงานวิ่งระยะมินิมาราธอน (10 กิโลเมตร) ตอนนั้นไม่ได้กลัวอะไรเลย กลัวอย่างเดียวคือ จะเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้าย จะอายเขา แต่พอวิ่งจบ ได้รับเหรียญก็รู้สึกดีใจนะ มันได้รับความรู้สึกดีๆ ได้แรงฮึดที่จะวิ่งต่อไป
จำได้ว่าหลังจากงานนั้นบอกกับภรรยาเลยว่า ไม่เอาแล้วการลงงานวิ่ง แต่สุดท้ายก็คิดแบบนี้ได้แค่วันสองวัน ผมก็อยากลงสมัครงานวิ่งต่อไปอีกแล้ว กลายเป็นว่าทุกวันอาทิตย์ ก็จะต้องหางานวิ่ง ก็ขับรถยนต์ไปวิ่ง วิ่งเสร็จก็กลับบ้าน เป็นความสุขของสุดสัปดาห์ทุกๆ แล้วอีกอย่างคือเหมือนเราได้ไปเที่ยวด้วย ก็ทำแบบนี้มาตลอด จนมันพัฒนามาเรื่อยๆ จากวิ่งมินิมาราธอน ก็อยากวิ่งฮาลฟ์มาราธอน (21 กิโลมตร) แล้วขยับเป็นฟูลมาราธอน (42.195) ตามลำดับ
คือมันมีงานหนึ่งที่ลงวิ่งในระยะมินิมาราธอน ได้เหรียญมา ก็รู้สึกภูมิใจนะ แต่ในงานเดียวกัน ผมเห็นคนวิ่งระยะฟูลมาราธอนได้เหรียญเหมือนกัน แล้วผมกลับรู้สึกว่า พวกเขาต้องภูมิใจมากกว่าแน่ๆ คือมันเหมือนวิ่งแบบที่เราวิ่งอยู่ 4 เท่า ผมคิดแบบนี้ ดังนั้นจะวิ่งได้ที่เท่าไรไม่สำคัญ แค่คุณวิ่งมาราธอนจบ คุณก็สุดยอดแล้วในความคิดของผม
หลังจากนั้นก็ตั้งเป้าหมายเลยว่าอยากวิ่งจบระยะมาราธอนบ้าง ก็เปลี่ยนตารางซ้อมให้หนักมากขึ้น จนงานแรกที่ลงจำได้ว่าเป็นงานมาราธอนที่จังหวัดระยอง คนวิ่งประมาณ 400 กว่าคนเองน้อยมาก เพราะตอนนั้นมาราธอนยังไม่เป็นที่นิยม วันนั้นก็ยังมีความกลัวเหมือนเดิม คือกลัวจะได้อันดับสุดท้าย แต่ก็วิ่งๆ ไป จำได้ว่าวันนั้นพอถึงระยะที่ 30 กิโลเมตรเริ่มไม่อยากวิ่งแล้ว แต่อีกใจก็คิดว่าอีกแค่นิดเดียว เหลืออีก 12 กิโลเมตรเอง ต้องเอาให้จบ ก็บ่นไปวิ่งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวิ่งเข้าเส้นชัย ที่เวลา 4 ชั่วโมง 45 นาที
ก็ดีใจมาก ดีใจจนร้องไห้เลยแหละ ร้องไห้ตรงนั้นเลย แล้วผมก็บอกภรรยาเหมือนเดิมว่าพอแล้ว ไม่เอาแล้ว วันนั้นดีใจมาก ขับรถกลับบ้านมา คือขายังแข็งอยู่เลย ลงจากรถแทบไม่ได้ ต้องให้พี่ชายมาอุ้ม เพราะตอนนั้นก็ยังยืดเหยียดร่างกายหลังวิ่งไม่ค่อยเป็น
แต่สุดท้ายมันก็เป็นประสบการณ์ที่ผมประทับใจ เป็นช่วงเวลาที่จดจำได้ว่าสารเอ็นโดรฟินในร่างกายมันหลั่ง แล้วรู้สึกมีความสุข มันก็เลยพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นนักวิ่งมาราธอน
ฟังดูเหมือนการลงสมัครแข่งขันงานวิ่งเป็น เหมือนเชื้อไฟในการเติมแรงบันดาลใจในการวิ่งของคุณ
ใช่ แล้วผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะผมวิ่งเยอะ วิ่งทุกวัน มันต้องหาพลังงานดีๆ มาเติมใจตลอด หรือบางทีต้องหาวิธีวิ่งแปลกๆ มาเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง บางวันก็วิ่งรอบเมือง จากที่นู่น มาที่นี่ บางอาทิตย์ช่วงวันหยุดผมก็วิ่งจากแถวงามวงศ์วาน ไปเซ็นทรัลบางนา บ้าง ไปเซ็นทรัลพระราม 2 บ้าง อะไรแบบนี้เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นเทคนิคที่ทำให้คุณวิ่งได้อย่างไม่มีเบื่อ
เบื่อมากๆ ก็วิ่งรอบจังหวัด วิ่งไปจังหวัดนครปฐม วิ่งเสร็จนั่งเรือกลับบ้าน ขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้านบ้าง มันก็ได้กึ่งออกกำลังกาย กึ่งเที่ยว ได้สุขภาพและมีความสุขด้วย ก็ใช้วิธีแบบนี้มาตลอด
ต้องทำให้การวิ่งกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของตัวเรา
ให้อยู่ในทุกรูปแบบของชีวิตเลย บางทีขับรถไปทานข้าวกับภรรยา หรือว่าไปธุระกับภรรยา ก่อนถึงบ้านประมาณ 10 กิโลเมตร ขอลงจากรถ ให้เขาขับรถกลับบ้าน แล้วผมก็วิ่งกลับ แบบนี้ก็มีบ่อยครับ บางทีรถติดมากๆ ซึ่งจากที่ทำงานผมกับที่บ้านต้องผ่านแถว ม.เกษตรศาสตร์ ก็จะจอดรถฝั่งตรงข้าม แล้วก็เปลี่ยนชุดในรถ เข้าไปวิ่งใน ม.เกษตรศาสตร์ ไปวิ่งสัก 10 กิโลเมตร แล้วค่อยขับรถกลับ เชื่อไหมว่าสุดท้ายถึงบ้านพร้อมกัน แต่คือแบบนี้ผมได้สุขภาพ ได้ใช้เวลาคุ้มค่ากว่าด้วย
หากให้เลือกงานมาราธอน 3 งานที่สำคัญต่อคุณ จะเป็นงานไหน
อันแรกสุดเลยคือ งานมาราธอนแรก เพราะผมมีร่างกายที่มาจากติดลบ ไม่ได้เป็นนักกีฬาเก่า ดังนั้นการวิ่ง 40 กว่ากิโลเมตรได้ครั้งแรก มันเป็นอะไรที่มีความหมายในชีวิตมาก มันจึงส่งต่อให้ผมได้ไปมาราธอนถัดๆ ไป
ส่วนมาราธอนต่อมาที่ประทับใจอีก คือ โตเกียว มาราธอน (Tokyo Marathon) ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นสนามที่สามารถวิ่งเพื่อคัดเลือกไปลงแข่งขันในสนาม บอสตัน มาราธอน (ฺBoston Marthon) ได้ วันนั้นไปวิ่งที่โตเกียว ผมต้องคุมความเร็ว เพื่อให้ปลายทางระยะเวลาในการวิ่งของเราอยู่ในเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งผมต้องวิ่งที่เวลา 4.40 นาที ต่อ 1 กิโลเมตร ช้ากว่านั้นไม่ได้ ดังนั้นเป้าหมายในวันนั้นคือวิ่งแล้วดูนาฬิกาอย่างเดียว
จำได้ว่าพอปล่อยตัวนักวิ่งแล้ว ระหว่างวิ่ง ผมคิดอยู่อย่างเดียวเลยคือ ไม่ตายต้องไปต่อ อยู่ในหัวตลอดคำนี้ ไม่ตายไปต่อ ไม่ตายไปต่อ เพื่อสร้างพลังงานให้กับร่างกายต่อสู้
จนกระทั่ง 2 กิโลเมตรสุดท้าย ที่รู้แล้วว่าเวลาผ่านเกณฑ์คัดเลือก ได้ไปวิ่งที่งานบอสตันมาราธอนแน่ๆ ตอนนั้นร้องไห้เลย กล้องที่ถ่ายทอดสดจับภาพผมได้เลย คือตอนนั้นในใจก็บอกกับตัวเองตลอด ไออ้วน ไอหมูตอน เราทำได้แล้วนะ ผมจะได้ไปบอสตันแล้ว คือผมเอาคำที่เพื่อนเคยบูลลี่เรา ที่แต่ก่อนเขาเรียกเราไออ้วน ไอหมูตอน ไอตือโป้ยก่าย มาเป็นแรงผลักดัน จนวิ่งเข้าเส้นชัยเสร็จ ก็ร้องไห้อีกหนึ่งโฮใหญ่ เดินเข้าช่องรับเหรียญรางวัล
ตรงจุดนี้มีอีกเรื่องที่น่าภูมิใจคือ ช่องรับเหรียญจะมีช่องที่อาสาสมัครมาเป็นคนมอบเหรียญให้ กับอีกช่องหนึ่งเป็นผู้ว่าราชการของเมืองโตเกียวจะเป็นผู้มอบ ผมตอนนั้นก็ร้องไห้อยู่ ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก เขาเห็นเราร้องไห้ดราม่ามั้ง เลยให้ไปรับกับผู้ว่าราชการ ซึ่งพอรับเสร็จเขาจะบิลด์บอร์ดเล็กๆ ให้นักวิ่งได้ฝนตัวเลขเป็นเวลาที่สามารถจบการแข่งขันได้ เราก็ฝนไป 3 ชั่วโมง 20 วินาที แล้วก็เขียนต่อว่า ‘นฤพนธ์ โกบอสตัน ไทยแลนด์’ เขียนแบบนี้เลยนะ
ซึ่งพอผมจะเอากระดาษของเราที่แปะอยู่บนป้ายตรงนั้นกลับ ทีมงานไม่ให้ผมเอากลับ เขาบอกว่าให้ถ่ายรูปได้อย่างเดียว ผมก็ไม่เข้าใจ เพราะเห็นคนอื่นก็เอากลับไปได้ แต่ก็ไม่เป็นไร แค่ถ่ายรูปก็พอ จนสุดท้ายมารู้ว่า กระดาษใบนั้นที่ผมฝนเวลา เขาเอาไปใส่กรอบ ติดไว้บนรถไฟฟ้าใต้ดินของเมืองโตเกียว คือถ้าเราโหนรถไฟฟ้าอยู่ ก็จะเห็นกระดาษของผมติดอยู่บนผนังในขบวน
ก็เป็นความประทับใจที่เกิดขึ้นในการแข่งครั้งนี้ สุดๆ แล้ววันนั้น
สุดท้ายงานที่จะไม่เลือกก็ไม่ได้คือ ชิคาโก มาราธอน (Chicago Marathon) เป็นสนามที่ได้เหรียญพอนเดอริง จากการวิ่งจบมาราธอนระดับโลก 6 แห่ง (World Marathon Majors) วันนั้นตอนที่แข่งอยู่ ช่วงประมาณกิโลเมตรที่ 30 ปรากฏว่ารถยนต์ที่อยู่บริเวณนั้นเกิดยางระเบิด แล้วลวดมันมาตำที่ขาของเรา ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้สึกตัวหรอก เพราะผมวิ่งเร็ว ก็วิ่งไปเรื่อยๆ แต่ก็มีความรู้สึกว่าอะไรมันเหมือนตอดๆ ที่ขาอยู่ ก็วิ่งจนเข้าเส้นชัย จนมารู้ว่าโดนลวดตำ คือแทงเข้าไปเป็นก้านเลย แต่ก็ไม่เป็นอะไรมาก
คือส่วนหนึ่งที่ไม่รู้สึกว่าโดนตำ คงเป็นเพราะตอนนั้นคิดอย่างเดียวคือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้องวิ่งให้จบ ห้ามออกจากการแข่งขันเด็ดขาด เป็นสนามสุดท้ายแล้วที่เราจะได้เหรียญพอนเดอริง
จำได้ว่าตอนมอบเหรียญทาง Abbott World Marathon Majors ผู้จัดงานเขาขึ้นเวทีมามอบให้ ก็เห็นผมร้องไห้หนักมาก ตอนนั้นก็พูดประมาณว่า เมื่อก่อนเราเคยน้ำหนักตัวเยอะมาก จนการวิ่งมันเปลี่ยนชีวิตเราได้ ก็พูดเรื่องราวชีวิตให้เขาฟัง จำได้ว่ามันมีความสุขมาก มันปลดล็อกทุกอย่างของการวิ่งเลย
แล้วต่อมาเขาก็เอาวิดีโอที่สัมภาษณ์ผมอันนี้ เอาไปทำสกู๊ปสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิ่งคนอื่น ก็เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้น
ในวันที่ได้เหรียญ Six star Medal คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
สุดๆ ของชีวิต ใช้คำว่ามหัศจรรย์ได้เลย เพราะจากแต่ก่อนจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ใช้ชีวิตเสี่ยงมาก จนกระทั่งมาใส่ใจการวิ่ง ที่ในวันแรกได้แค่ 400 เมตรเอง เรื่องการวิ่งมาราธอนไม่ต้องพูดถึงเลย ไกลตัวมาก แต่วันนี้มันทำได้แล้ว มันเหมือนกับได้ปริญญาอีกใบในชีวิต คิดแบบนั้นเลยนะ เพราะมันผ่านอะไรมาเยอะมากจริงๆ มันต้องงวิ่ง มันต้องซ้อม มันต้องแลกกับความเหน็ดเหนื่อย
ประเทศไทยกับต่างประเทศ มีวิธีการจัดงานวิ่งแตกต่างกันอย่างไรบ้างในความคิดของคุณ
ในมุมมองผม สนามในเมืองไทยกับต่างประเทศ สิ่งที่แตกต่างอย่างมากเลยคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน
ในต่างประเทศ ผู้คนกว่า 80-90% อยากออกมาเชียร์และให้ความร่วมมือกับภาครัฐ คือหากมีการประกาศว่าจะมีปิดถนนในช่วงนั้น ช่วงนี้เขาก็จะออกมาเชียร์กัน ซื้อน้ำ ซื้อขนม ซื้อเจลให้พลังงาน ซื้อยานวด ยาฉีด เพื่อบริการให้กับนักวิ่ง
ซึ่งแตกต่างจากบ้านเรา ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนยังน้อย ในต่างประเทศหลายอย่าง เขามีระบบการจัดการหลายอย่างที่รอบด้านกว่า ทั้งเรื่องการจราจร การประชาสัมพันธ์ต่าง การจัดงานต่าง ซึ่งก็ทำให้การจัดงานวิ่งในบ้านเขามีปัญหากับสังคมค่อนข้างน้อย ไม่ค่อยไปกระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชน เพราะทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและสนุกไปด้วยกันหมด จนกลายเป็นงานประจำปีของพวกเขาเลย ที่พอถึงช่วงเวลานี้ เขาจะเตรียมตัวสำหรับกิจกรรมในงานวิ่งโดยเฉพาะ
เพราะเขารู้ว่ามันเป็นช่องทางทำเงินให้กับเมือง ค่าเช่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่าอยู่อาศัย คือทุกคนในเมือง ในประเทศได้ผลประโยชน์หมด เขาเลยสนับสนุนในเรื่องนี้
ดังนั้นก็เป็นไปได้ ที่ประเทศไทยจะมีเมืองสำหรับการแข่งขันมาราธอน ที่ดึงดูดนักกีฬา นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้
ใช่ ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย สมมติเล่นๆ ถ้าบ้านเราได้จัดมาราธอนระดับโลกนะ ผมว่าเงินจะเข้ามาอย่างมหาศาลแน่นอน ชาวต่างชาติอย่างไรก็มาแน่ๆ ประเทศไทยของกินก็อร่อย ราคาก็ไม่แพง
นอกจากการวิ่งบนพื้นถนน การวิ่งเทรลขึ้นภูเขาของคุณก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มันเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
วิ่งที่สวนหรือวิ่งมาราธอนบนถนน สุดท้ายมันก็เป็นการวิ่งที่จำเจ ดังนั้นการได้วิ่งบนภูเขา ได้เห็นป่าลำเนาไพร ได้ขึ้นไปจุดที่รถขึ้นไปไม่ถึง ก็เลยกลายเป็นการสร้างความแปลกใหม่ในการวิ่ง จุดเชื้อไฟใหม่ๆ ให้การวิ่งยังรู้สึกสนุกอยู่ในความคิดของผม การวิ่งเทรลมันสนุกมากนะ ได้ใช้กล้ามเนื้อคนละส่วน สภาพแวดล้อมก็แตกต่าง วิ่งแล้วสดชื่นมาก
การเติมเชื้อไฟ มันเลยเถิดไปถึงขั้นจบการแข่งขันรายการ UTMB ได้อย่างไร
พอวิ่งเทรลมาได้สักพัก ผมก็เริ่มอยากหางานแข่งขันวิ่งเทรลดูบ้าง ซึ่งงานแรกก็ไปวิ่งที่เขาใหญ่ ระยะ 100 กิโลเมตร ก็ดีใจมาก มันยิ่งใหญ่มากนะ แต่ตอนนั้นงานที่เขาใหญ่ไม่ได้ยากมาก มีความชันเล็กน้อย ผมเลยลองเลือกงานที่มันยากขึ้น เริ่มไปวิ่งที่เกาะช้าง วิ่งที่แถบตะนาวศรี ไปวิ่งที่เชียงใหม่ ก็ท้าทายและมีความสุขมาก
ปกติผมวิ่งบนถนนก็เห็นแต่ตึก เห็นแต่รถยนต์ แต่วิ่งเทรลทางข้างๆ มันคือต้นไม้ใหญ่ๆ ท้องฟ้าสวยๆ กลางคืนมีพระจันทร์ มีดาว มีลมเย็นๆ มันก็ทำให้ไม่เบื่อ ไม่จำเจ สนุกดีเหมือนกัน
ก็พัฒนาไปเรื่อย จนได้รู้ว่าการวิ่งเทรลปลายทางมันอยู่ที่รายการ UTMB (Ultra-Trail du Mont-Blanc) ก็เลยค่อยๆ วิ่งสนามต่างๆ เพื่อเก็บแต้มของงานวิ่งเทรลที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ผ่านเกณฑ์คัดเลือก เข้าไปวิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยมีโอกาสได้วิ่งในต่างประเทศมากขึ้น ทีนี้ก็ยิ่งสนุกไปใหญ่ ได้เห็นป่า เห็นเมืองที่ไม่รู้จัก แล้วก็ไปจบ UTMB ที่ระยะ 170 กิโลเมตร เมื่อปีที่ผ่านมา (2022) ได้
ก้าวของทุกคน
สิ่งหนึ่งที่นักวิ่งมักประสบปัญหาคือ ในระหว่างการวิ่งมันช่างยาวนานและน่าเบื่อ คุณในฐานะนักวิ่งระยะไกล ที่ใช้เวลาแข่งขันค่อนข้างนาน มีวิธีจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไรบ้าง
แบ่งเป็น 2 อย่าง ระหว่างซ้อมกับระหว่างแข่ง
ตอนแข่งส่วนใหญ่ผมจะโฟกัสไปที่การแข่งขันอย่างเดียวเลย ถ้าเป็นเทรลก็พยายามมีความสุขกับธรรมชาติรอบตัว เจอป่าสวย ๆ เจอก้อนหินสวย ๆ เจอหน้าผา เจอภูเขาขาว ๆ เจอหิมะ จะต้องจินตนาการแบบนั้น มันจะทำให้มีพลังงานไปเรื่อยๆ
เพราะถ้าคิดแต่ว่า 5 กิโลเมตรเหนื่อยขนาดนี้แล้ว เหลืออีก ตั้ง 100 กิโลเมตร จะไหวเหรอ คิดแบบนี้อย่างไรก็ไม่รอด
จิตใจเป็นเรื่องสำคัญ ตอนวิ่งมาราธอนบนถนนก็เช่นกัน พยายามมีความสุขกับมวลบรรยากาศของนักวิ่ง หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนข้างทาง กระทั่งตัวเราเองก็ตามขณะวิ่งพยายามมองหาอะไรที่สามารถเป็นกำลังใจได้ อย่างผมเองบางทีเห็น คนที่ขาขาดใส่ขาเทียมแบบติดสปริงมาวิ่งข้างๆ กัน มันก็สร้างกำลังใจได้นะ เห็นคนพิการมานั่งเชียร์ข้างสนามก็เติมไฟได้ไม่แพ้กัน อะไรแบบนี้เป็นต้น
ส่วนเรื่องการซ้อมวิ่ง ผมใช้วิธีทำสมาธิ ก็คือวิ่งไปเรื่อยๆ เอาสักเรื่องหนึ่งมาคิด มาจดจ่อกับมัน บางทีก็เอาเรื่องงานมาคิดด้วยนะ คิดแก้ไขปัญหางาน เชื่อไหมบางงานนั่งคิดแทบตาย อย่างไรก็คิดไม่ตก พอไปวิ่งสัก 20 กิโลเมตร วิ่งไปได้สักพัก ก็หาคำตอบให้มันได้แล้ว
เพราะอะไร เพราะมันได้อยู่กับตัวเอง ได้คุย ได้ตกผลึกกับตัวเองเพียงลำพัง มันเลยให้การซ้อมของผมไม่ค่อยรู้สึกน่าเบื่อ
อีกปัญหาคือ หลายคนมักรู้สึกว่าเขาเป็นนักวิ่งที่ช้า ไม่มีความเร็ว ทำให้รู้สึกท้อแท้เวลาเห็นนักวิ่งที่เร็ว ที่เก่ง ที่ประสบความสำเร็จ มีอะไรอยากจะบอกคนกลุ่มนี้บ้างไหม
จริงๆ พื้นฐานผมเอง ก็เป็นคนไม่ได้วิ่งเร็ว เมื่อก่อนก็เป็นคนที่วิ่งช้า วิ่งช้ามากๆ
วิธีที่ผมใช้ฝึกเลยคือ พยายามปรับลมหายใจให้มันทำงานได้ดีก่อน แล้วมันจะวิ่งเร็วได้เอง เพราะเวลาเพิ่มความเร็ว เราจะรู้สึกเหนื่อยน้อยลง ระบบหายใจมันดีขึ้น
อีกเรื่องที่อยากแนะนำคืออย่าไปคิดว่าวิ่งช้าไม่เก่ง สำหรับผมคนวิ่งช้า คือคนวิ่งได้นาน ร่างกายเขาต้องอึดมากเลยนะ ซึ่งถ้าพื้นฐานตรงนี้ดี ฝึกต่อไปเรื่อย ทำต่อไปจะกลายเป็นคนที่วิ่งเร็วได้แข็งแรงมากๆ อย่างผมเองเวลาซ้อมก็ไม่ได้วิ่งเร็วตลอด วิ่งช้าเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ แต่เวลาแข่งก็สามารถวิ่งเร็วได้
ดังนั้น อย่ายอมแพ้ ซ้อมต่อไปเรื่อยๆ
ดังนั้น วิ่งช้าไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง
ไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง จริงๆ ผมนับถือคนวิ่งช้า เพราะว่ามันน่าเบื่อ มันนานมากกว่าจะถึงเป้าหมาย แล้วมันต้องสู้กับจิตใจตัวเองเยอะมากๆ ส่วนการวิ่งเร็วไม่ต้องคิดอะไร โฟกัสเรื่องหายใจอย่างเดียวเลย เดียวก็เข้าเส้นชัยแล้ว คนวิ่งเร็วๆ 10 กิโลเมตร ใช้เวลา 40 นาที แต่คนวิ่งช้าบางคนเขาใช้เวลาถึง 1.30 ชั่วโมง มันมากกว่าเท่าตัวเลยนะ แต่เขาก็วิ่งจนจบได้ แสดงว่าเขาก็ต้องมี ‘ของ’ ในแบบฉบับของนักวิ่งช้าอยู่บ้าง
อีกอย่างคือกีฬาวิ่งมีพื้นที่ให้ทุกคนเป็นผู้ชนะ กีฬาอื่นมีโพเดี้ยมแค่อันดับ 1 2 3 มีเหรียญทอง เงิน และทองแดง ใช่ไหม แต่กีฬาวิ่งมีเหรียญให้กับคนที่เข้าเส้นชัยทุกคนเลย ดังนั้นจะวิ่งแบบไหน เก่ง หรือไม่เก่ง ช้าหรือเร็ว ถ้าเข้าเส้นชัยได้ คุณคือผู้ชนะแล้ว ยิ่งระยะไกลๆ เช่นมาราธอนนะ การวิ่งจบได้โคตรสุดยอด ผมนับถือเลย จะช้าหรือเร็ว เชื่อว่าเบื้องหลังเขาต้องซ้อมมาอย่างหนักหน่วงแน่นอน ผมจะชื่นชมความเก่งในมุมแบบนี้มากกว่า
ทุกวันนี้ เป้าหมายและก็ความสุขของการวิ่งของคุณคืออะไร
เป้าหมายของผมตอนนี้ปรับเปลี่ยนไปแล้ว แต่ก่อนเป็นเรื่องของถ้วยรางวัล เป็นเรื่องของเหรียญรางวัล เรื่องของการได้ไปวิ่งในงานแข่งดังๆ ระดับโลก แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องของการส่งพลังงานดีๆ ให้สังคมและทำอย่างไรก็ได้ให้คนไทยมาวิ่งกันเยอะๆ
ทุกวันนี้ผมพยายามโพสต์เรื่องราวการวิ่งของตัวเองให้ทุกคนได้เห็น ว่าการวิ่งมันสร้างความสุข สร้างพลังงานดีๆ ให้กับตัวเราอย่างไร ซึ่งก็มีคนเห็นเรื่องราวตรงนี้ แล้วก็ไปเริ่มเส้นทางการวิ่งในแบบของตัวเอง มีบ่อยมากนะที่ทักหลังไมค์มาบอกว่า แต่ก่อนวิ่งได้แค่ 10 กิโลเมตร วันนี้จบมาราธอนนะ เพราะเห็นพี่นะทำได้ ผมเลยลองทำบ้าง อะไรแบบนี้ผมจะดีใจมาก เป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิตเลย
อีกอย่างที่ผมพยายามส่งและบอกทุกคนต่อตลอดคือ สุดท้ายแล้วปลายทางการวิ่งคือสุขภาพ ทุกวันนี้ พฤติกรรมสังคมเราส่วนใหญ่จะทำงานหาเงินเพื่อมารักษาร่างกาย เพื่อมารักษาตัวในช่วงบั้นปลายชีวิต ดังนั้นหากการวิ่งมันจะทำให้เขาแข็งแรง สุขภาพดี มีแรงไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและสังคม ผมก็พยายามบอกเล่าเรื่องราวการวิ่งให้พวกเขาต่อไปเรื่อยๆ
ทุกวันนี้ผมเองก็อายุ 52 แล้วนะ แต่ก็ยังเดินเหินอะไรคล่องมาก ใช้ชีวิตมีความสุข จะขึ้นบันได เดินไปไหนก็ทำเองได้ กระโดดโลดเต้นได้ ส่วนเรื่องโรคต่างๆ ที่เคยเป็นก็หายหมด ไม่ได้ไปหาหมอมา 3-4 ปีแล้ว ก็ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาที่ต้องไปซ่อมแซมสุขภาพไปได้เยอะ
ผมเลยอยากเห็นคนไทยมาวิ่งเยอะๆ เพราะผมเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนชีวิตและสุขภาพของพวกเขาดีขึ้นได้จริงๆ
Tags: นฤพนธ์ ประธานทิพย์, How Far We Run, มาราธอน, วิ่ง, นักวิ่ง, การวิ่ง, The Frame, พี่นะนักวิ่ง, อัลตรามาราธอนเทรล