การช่วงชิงมรดกของตระกูลอภิมหาเศรษฐี ความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังของพี่น้องในตระกูล การมีอยู่ของสาวรับใช้สะท้อนถึงความแตกต่างของมนุษย์ในแต่ละชนชั้น
เหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบของซีรีส์และละครไทยมาช้านาน ซึ่งในแต่ละยุคสมัยก็มีการเปลี่ยนแค่ส่วนเนื้อเรื่องเพียงเล็กน้อย ความสัมพันธ์ในบางจุด หรือนักแสดงที่กำลังนิยมในขณะนั้น แต่สุดท้ายก็ยังคงแก่นของพล็อตเรื่องประมาณนี้ไว้ คืออำนาจและความโลภ
สืบสันดาน ผลงานล่าสุดระหว่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) และกันตนาเป็นโปรดักชัน ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ดำเนินตามขนบของละครประเภทนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจและแตกต่างคือการได้ ศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้กำกับ ที่รัก Eternity (2553), Autumn in My Heart (เวอร์ชันไทย, 2556), Remember You คือเธอ (เวอร์ชันไทย, 2564) และ 23:23 สัญญาสัญญาณ (2566) มาร่วมคุมบังเหียนนั้น ทำให้ผลงานเรื่องนี้แตกต่างออกไป
‘วิธีเขียนความสัมพันธ์ของตัวละคร และวิธีการออกแบบซีนต่างๆ’ ถือเป็นไม้เด็ดของเขามาโดยตลอด ซึ่งใน สืบสันดาน เขาตั้งใจจะหยิบ ‘ความเป็นมนุษย์’ มาสวมกับบทที่ทุกคนเคยดูและสัมผัส เพียงแต่ว่าคราวนี้เขาจะเค้นมันออกมาจนให้คนดูเห็นว่า ‘สันดานดิบ’ ของมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร
จุดเริ่มต้นของซีรีส์เรื่องสืบสันดาน เป็นอย่างไร
ต้องพูดถึงโครงสร้างของซีรีส์เรื่องนี้ก่อน คือมันเริ่มจากทางกันตนาเป็นโปรดักชันที่เป็นเจ้าของโปรเจกต์ และเน็ตฟลิกซ์ที่มาทำงานร่วมกัน แล้วเขาก็มาชวนเราว่า สนใจเรื่องประมาณนี้ไหม ซึ่งด้วยความที่เราก็รู้จักกับทางกันตนามาประมาณหนึ่ง รวมถึงได้รู้ว่าจะทำงานกับเน็ตฟลิกซ์ด้วยก็เลยตัดสินใจลองทำดู
จนพอได้มาอ่านเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นพล็อตที่มีให้เห็นอยู่บ้างในท้องตลาด ซึ่งปกติแล้วถ้าเจอพล็อตประมาณนี้หลายคนคงส่ายหน้า บอกว่ามันจำเจ แต่สำหรับเรา เราเชื่อว่าเวลาเน็ตฟลิกซ์ตั้งใจจะทำอะไรบางอย่าง แสดงว่าเขาต้องมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในอะไรบางอย่างของพล็อตแบบนี้ ดังนั้นถ้าผู้ผลิตเขายืนกรานจะไปต่อ หน้าที่ของเราที่เป็นผู้กำกับเลยมีหน้าที่เดียวคือ ต้องอินและทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้
เราใช้เวลาอยู่เป็นปีเลยเพื่อตกตะกอนกับเรื่องนี้ จนสุดท้ายก็ไปเจอรายละเอียดต่างๆ ในพล็อต เช่นเรื่องความดำดิ่งในสันดานของมนุษย์ การจะเป็นผู้ชนะจึงต้องเหยียบหัวคนอื่นขึ้นไป ดังนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องของรวยหรือจนแล้ว แต่มันคือสันดานของมนุษย์ที่มันกระทำต่อกันในมิติต่างหาก
พอเจอแบบนี้ เรารู้เลยว่า ซีรีส์เรื่องนี้ไปต่อได้แน่ๆ แล้วก็อยู่กับมัน 2 ปียาวๆ เลย เป็น 2 ปีที่อยู่กับอำนาจ ความโลภ และการเอาชนะ
ดูเหมือนว่า ‘อำนาจ’ เป็นแก่นของเรื่องนี้
ใช่ มันคือแก่นของหนังสือ (บทเรื่อง) เล่มนี้ ที่เราหิ้วไปอ่านที่ทะเล อ่านวนไปวนมาถึง 3 รอบ อีกอย่างที่เราเห็นคือ ความเป็นมนุษย์ ที่ถูกอำนาจบงการและแรงจูงใจที่ทำให้สิ่งมีชีวิตประเภทนี้เลือกจะทำอะไรบางอย่าง เช่นการเอาชนะมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งบางทีมันก็ถึงขนาดต้องมานั่งคิดเลยว่า สรุปจะแพ้กันไม่ได้เลยเหรอ ต้องเอาชนะแม้กระทั่งสายเลือดเดียวกัน ต้องเกลียดกัน ต้องเอาให้ตายกันไปข้างหนึ่งเลยเหรอ
การทำเนื้อเรื่องการต่อสู้ระหว่าง ‘เศรษฐีและคนใช้’ ในบ้านหลังใหญ่ พล็อตแบบนี้อย่างไรให้ยังคงทำงานกับคนในปัจจุบัน
จริงๆ สำหรับเราเรื่องนี้ยังเป็นปริศนานะ ว่าทำไมถึงยังคงฮิตกันถึงทุกวันนี้
แต่สุดท้ายสืบสันดาน ทำขึ้นโดยคาดหวังว่าจะแตกต่างจากงานพวกนั้น เราไม่ได้อ้างอิงจากงานประเภทนี้ที่เคยมีมา เราออกแบบวิธีเล่าและเส้นเรื่องใหม่ทั้งหมด แต่ถ้าถามว่าเซ็ตอัปแบบนี้ โลกแบบนี้ ตัวละครแบบนี้ ที่มันยังอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ คิดว่ามันคงต้องมีอะไรบางอย่างที่ไปคลิกกับผู้ชมโดยเฉพาะคนไทย ทำให้เขายังสนุกทุกครั้งที่ได้ดูอะไรแบบนี้
แต่สำหรับซีรีส์เรื่องนี้สิ่งที่พยายามทำคือ ไม่ใช่แค่นำเสนอว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ตาผู้ชมเห็นคือคนรวย แต่ทำให้เขาต้องรู้สึกว่า สิ่งที่ตัวละครคิด ตัวละครทำ คือคนรวยจริงๆ
เช่นพฤติกรรมชอบสตัฟฟ์ผีเสื้อ ที่ทีมงานไปศึกษาและอบรมกับที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะอยากรู้ว่า ความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของ อยากครอบครองแบบคนรวยเขาทำกันอย่างไร หรือไปรีเสิร์ชว่า การที่คนจะซื้อที่บนพื้นที่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพียงเพราะอยากเป็นเจ้าของแผ่นดินที่ได้ชื่อว่า อากาศดีที่สุดในประเทศไทย เขาทำไปทำไม เขาคิดแบบไหนอยู่ เราก็พยายามทำความเข้าใจอะไรแบบนี้
ที่ต้องทำขนาดนี้เพราะเราเชื่อว่าสิ่งนี้มันเป็นสากล พวกรสนิยมหรือสันดานของคนรวยเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องและเข้าใจร่วมกันได้ เช่นเดียวกับที่หนังเรื่อง Parasite (2019) เคยทำ ดังนั้นด้วยความที่ซีรีส์จะฉายลงบนสตรีมมิงอย่างเน็ตฟลิกซ์แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องใช้ประโยชน์จากมัน เพื่อให้คนดูกว่า 190 ประเทศเข้าใจสิ่งที่เราจะเล่า
ซีรีส์สืบสันดานมีความแตกต่างจากงานที่ผ่านมาของคุณอย่างไร
นอกจากเนื้อเรื่องที่มันสดใหม่แล้ว วิธีการทำงานก็ยังท้าทายเราอยู่ไม่น้อย
คือในการทำสืบสันดาน เราวิ่งไประหว่างทางด้วยนะ พูดตรงๆ คือตอนถ่ายทำก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน งานนี้เป็นงานประเภทที่ระหว่างทางเราพูดว่า แป๊บหนึ่งนะ ยังคิดไม่ออกว่ะ ขอเวลาหน่อย แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมายังเป็นไปตามมาตรฐานอยู่
คือพอมาทบทวนวิธีการของตัวเองอีกที จริงๆ ไม่แย่เลยนะ การทำงานที่ทุกคนมีเวลาให้คิด ให้ทำ เอื้อให้งานที่ดีถูกผลิตออกมา เพราะสุดท้ายไม่มีใครเป็นอัจฉริยะ ทำทุกอย่างได้รวดเร็ว ได้ตามเวลาขนาดนั้นหรอก
การจ้างงานที่มีพื้นที่ทั้งด้านเวลา ขนาด และคุณภาพของกองถ่าย มันเป็นสิ่งที่เอื้อให้คนในอุตสาหกรรมทำงานออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ปล่อยทีเด็ดออกมา เราเชื่อแบบนั้น
ในงานนี้เรามีเวลาได้ทำอะไรสนุกๆ เยอะเลย เช่นมีฉากหนึ่งที่เราถ่ายกันแบบ Long Take แล้วนักแสดงใส่ 2 ชุด จากนั้นมีคนแอบอยู่หลังฉากกระตุกชุดตัวแรกออก แล้วกลายเป็นชุดอีกตัวหนึ่ง อีกเหตุการณ์หนึ่งแทน ทีมช่างไฟก็เปลี่ยนแสงจากกลางวันเป็นกลางคืน โดยไม่ใช้กราฟิกเลย อะไรแบบนี้
ซึ่งได้ทำแบบนี้แล้วสนุกมาก ผู้กำกับคนอื่นก็ควรจะได้ลองทำอะไรแบบนี้ด้วย แต่ที่ผ่านมามันถูกจำกัดด้วยเวลา งบประมาณ และมาตรฐานของกอง ทำให้เขาไม่ได้ปล่อยของเท่าที่ควร แล้วพอเขาต้องทำงานภายใต้ขอบเขตเดิมๆ หรือถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็จะกลายเป็นแค่คนที่นั่งหน้ามอนิเตอร์แบบผีดิบ หัวใจก็จะเริ่มเต้นไม่ค่อยแรงแล้ว แบบนี้ไม่ดีกับพวกเขาหรอก เชื่อเราเถอะ
การสร้างโลกของมหาเศรษฐีแบบในเรื่อง มีวิธีการออกแบบอย่างไร
ขยายความจากเรื่องการสตัฟฟ์ผีเสื้อ ที่เราเล่าว่ามันหมายถึงพฤติกรรมอยากครอบครองของคนรวย คือเรามองว่าสิ่งนี้เป็นเหมือนของเล่นคนรวย ที่เวลาอยากได้อะไรก็จะต้องได้ ใช้คนไปตามหามาแม้จะอยู่ในป่าที่ลึกที่สุด หรือเป็นผีเสื้อที่หาตัวยากที่สุดก็ตาม ซึ่งเราก็จะมีข้อมูลพฤติกรรมประมาณนี้ของคนที่มีฐานะทางการเงินอยู่
จากนั้นเราก็เอาไปจินตนาการต่อ ประมาณว่า ชีวิตของผีเสื้อมันน่าเศร้าจังเลยนะ พอมันถูกจับมาโดยคนรวย โดนพวกเขาเอาเข็มจิ้มลงไป หลังจากนั้นไม่นาน มันก็กลายเป็นของไร้ค่าเสียแล้ว ถูกเก็บลงไปใต้ลิ้นชัก และไม่ถูกนำขึ้นมาดูอีกตลอดกาล เราก็พยายามประกอบอะไรแบบนี้ขึ้นมา และต่อยอดไปสู่เรื่องอื่นๆ
ซึ่งอะไรแบบนี้ สำหรับคนรวยมากๆ คือเขามองว่าเป็นสิ่งที่ปกติ อาจจะเพราะด้วยสันดานและพฤติกรรมที่ทำมาตั้งแต่คนรุ่นก่อน เลยไม่รู้สึกว่ามันผิดแปลกหรือแตกต่างอย่างไร
ดังนั้นความรวยไม่ใช่แค่ บ้าน ข้าวของ หรือเสื้อผ้า แต่มันคือภาษากาย คือพฤติกรรม คือลมหายใจของคนรวย
หลายคนบอกว่า พล็อตเช่นนี้ ซ้ำซาก ไม่นำไปสู่อะไร คุณมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
อาจเป็นเพราะภาพจำจากละครหรือซีรีส์ที่ผ่านมา แต่สำหรับเรื่องนี้เราพยายามทำออกมาให้รสมือแตกต่างนะ ทั้งเรา เน็ตฟลิกซ์ และทีมงาน เราปลดล็อกกันตั้งแต่ทำงานโดยไม่มีงานอื่นๆ มาอ้างอิง มันกลุ่มก้อนเทาๆ ที่ทีมงานและนักแสดงเข้าไปจับ และถ่ายทอดออกมา ทำให้สืบสันดานแม้จะมีโครงเรื่องที่เหมือนกัน แต่เส้นทางที่ตัวละครพาไป มันจะแตกต่างจากขนบเดิมๆ
แต่สุดท้ายจะรู้สึกว่ามันซ้ำซากก็คงไม่แปลก เพราะเรื่องแบบนี้มันจริงและใกล้ตัวกับทุกคนมากๆ ชิงรักหักสวาท เกิด แก่ เจ็บ ตาย สุดท้ายทุกคนจะต้องเจอหมดไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง วันนี้คุณดูสืบสันดานแล้วอาจมองมันว่าไกลตัว แต่พอคุณกลับไปบ้าน คุณก็เจออะไรแบบนี้ไม่ต่างกัน เพียงแต่วันนี้คุณปฏิเสธมัน ปฏิเสธสิ่งที่ว่าละครชีวิต
ในวันนี้มองทิศทางของวงการซีรีส์ในไทยอย่างไรบ้าง
ในวันนี้เรามาถูกทางแล้ว ในเรื่องความหลากหลาย แต่ผมอยากนำเสนอในแง่ของเนื้อหาที่อยากให้ครบรสมากขึ้น
คือบางวันผมก็ไม่อยากดูอะไรที่เข้าใจยาก ยังกลับไปดูรายการก็มาดิคร้าบอยู่เลย ดังนั้นถ้าซีรีส์โดยเฉพาะในสตรีมมิงมีความหลากหลายมากขึ้น คือถ้ามีพี่หม่ำ (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) มีพี่พจน์ (อภิรุจ มิ่งขวัญตา) มีพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) มีพื้นที่ให้พี่ๆ ช่องสีต่างๆ มาผลิตซีรีส์ จะทำให้ครบรสมากขึ้น
ไม่อย่างนั้นจะเกิดเหตุการณ์ที่ค่ายหนังหนึ่งทำหนังประเภทหนึ่งขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จ สุดท้ายเขาก็จะมุ่งแต่ทำหนังแบบนั้น รสชาติแบบนั้นไปตลอด ซึ่งมันไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ทั้งตัวค่ายหนัง ผู้ชม และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งหมด
หนึ่งในนักแสดงของซีรีส์เรื่องนี้ที่หลายคนจับตาคือ ชาย-ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ สำหรับคุณมองนักแสดงรายนี้อย่างไร
เรื่องการคัดเลือกนักแสดง เป็นอะไรที่ท้าทายมากเพราะทุกคน ไม่ใช่แค่พี่ชาย พวกเขาคือมืออาชีพทั้งหมด ดังนั้นคุณภาพระดับมาตรฐานที่เขาเป็น ไม่ต้องกังวลเลย เราจะได้เห็นในเรื่องนี้อยู่แล้ว
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเป็นมนุษย์ ที่เราอยากกลั่นออกมาจากตัวนักแสดงเหล่านี้ต่างหาก
คือวันที่มาอ่านบทกันกับนักแสดง เราพูดในวงนั้นตรงๆ เลยว่า ตัวเราที่ทำงานมา 20 ปี และพวกพี่ๆ ที่เป็นนักแสดงกันมานาน มีอะไรที่เบื่อและไม่อยากทำบ้าง รวมถึงมีอะไรที่ไม่เคยทำและอยากทำบ้าง เรามาลองทำดูกัน
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราพยายามยัดเยียดความสดใหม่ให้กับเขา ในบางจังหวะเราอาจขอให้เขาแสดงในบทที่แปลกใหม่ๆ บางอันก็เพิ่งคิดเดี๋ยวนั้นเลย คือเราอยากรู้ว่าความเป็นมนุษย์ของตัวละครที่เขาสร้างขึ้นมา จะมีปฏิกิริยากับสิ่งนี้อย่างไร
อย่างพี่ชายเอง เขาเป็นคนที่ประสบการณ์โชกโชนอยู่แล้ว จะสั่งให้น้ำตาข้างไหนไหลออกมาเขาก็ทำได้ แต่การบอกพื้นที่ตัวละครที่เทาๆ ให้มีทั้งรัก ทั้งเกลียด ทั้งอยากปกป้อง อยากฆ่า ความกระอักกระอ่วนแบบนี้ จะทำให้พี่ชายและบทของเขามันมีชีวิตชีวา รวมถึงเป็นมนุษย์มากขึ้น
ซึ่งหากให้ประเมินจากที่สัมผัสในกองถ่ายทั้งเขาและผมก็สนุกที่จะทำอะไรแบบนี้
ความยากของการทำงานกับทีมและนักแสดงแบบนี้คือเรื่องอะไร
คือทีมงานต้องรู้มือเราพอสมควร ที่สำคัญคือต้องคุย ต้องตกลงกันให้ดี เหมือนตอนที่เราบอกกับทีมนักแสดง บอกตรงๆ ว่าเราต้องการ เราคาดหวังงานแบบนี้
คุณชื่นชอบนักแสดงคนไหนมากที่สุดภายในเรื่อง
เราก็ยังอยู่ฝั่งคนใช้อยู่นะ โดยเฉพาะตัวละคร ไข่มุก (แสดงโดย ญดา นริลญา) ซึ่งเป็นรถคันหนึ่งที่แล่นอยู่ในซีรีส์แล้วมีเสน่ห์มาก คือเธอเป็นนางเอกแหละ แต่ในบางซีนที่เธอไม่ได้พูด หรือไม่ได้เป็นซีนของตัวเธอเอง ก็ยังโดดเด่น ยังทำให้เราหลงรักอยู่
คิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้มอบอะไรกับคุณในฐานะผู้กำกับ
ในแง่การทำงานคือ เราได้สัมผัสความเป็นมืออาชีพและมาตรฐานที่เป็นสากล หลังจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมในบ้านเรา ที่มันไม่มียูเนียน (Union) ไม่มีคนจัดระเบียบมาให้ แต่พอในคราวนี้ได้ทำงานกับหลายภาคส่วน เลยได้เห็นมาตรฐาน คุณภาพของทีมงาน รวมถึงสเกลของโปรดักชันที่มันใหญ่ ทำให้เรายังรู้สึกใจเต้นทุกครั้งที่ได้มากำกับเรื่องนี้
คิดว่าสารสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้คืออะไร
มันคือคำถามถึงผู้ชมว่า เราจะเลือกส่งต่อสันดานทั้งดีและเลวให้กับคนอื่นไหม ที่ผ่านมาเราเผลอทำร้ายส่งต่อความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับใครไว้หรือเปล่า และหากจะยับยั้ง สุดท้ายแล้วต้องทำอย่างไร
Tags: The Frame, Master of the House, สืบสันดาน, ศิวโรจณ์ คงสกุล, Netflix