เมื่อพูดถึง ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ (Geopolitics) คุณจดจำมันในรูปแบบไหน

อำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความขัดแย้ง มหาอำนาจ และ Buzzword อันแสนน่ารำคาญที่คนได้แต่พูด แต่ไม่รู้ความหมาย หรืออาจจะให้คำตอบว่า ‘ใช่’ ทั้งหมดก็ไม่ผิดแต่อย่างใด 

แม้ภูมิรัฐศาสตร์อยู่คู่กับมนุษย์ตั้งแต่โบราณกาล ทว่าน้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีอันล้ำสมัยผสมผสานกับความเชื่อแรงกล้าในศักยภาพของมนุษย์ ผู้เอาชนะข้อจำกัดทุกอย่าง ได้ค่อยๆ พร่าเลือน ‘หัวใจสำคัญ’ ในการศึกษา 

นั่นคือ ‘ภูมิศาสตร์’ หรือธรรมชาติอันแปรเปลี่ยนไม่ได้ของรัฐ ปัจจัยที่ถูกมองข้าม แต่ทรงอานุภาพในทุกด้านต่อมนุษยชาติ ตั้งแต่วิถีชีวิตของคนธรรมดา จนถึงคำถามโลกแตกทางวิชาการว่า ทำไมสหรัฐฯ จึงเป็นมหาอำนาจ หรือเหตุใดรัสเซียจึงบุกยูเครน 

แต่หนึ่งในไม่กี่คนที่เข้าใจความหมาย และคุ้นเคยกับทั้งคำว่า ภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ เป็นอย่างดีคือ ต้น-คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ ชายที่สวมหมวกหลายใบทั้งเป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ภัณฑารักษ์ นักเล่าเรื่อง และนักแปลที่มีผลงานหนังสือน้ำดีอย่าง Prisoners of Geography: Ten Maps That Explain Everything About the World ของ ทิม มาร์แชลล์ (Tim Marshall) ผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวอังกฤษ ที่ ‘มาก่อนกาล’ ในการทำนายทายทักถึงสงครามยูเครน โดยอาศัยแผนที่และภูมิศาสตร์เป็นตัวตั้ง

นอกจากฝ่ากระแสธารทางความคิดในโลกทางวิชาการ ด้วยการประกาศตนว่า เป็น Geographic Determinism หรือคนที่เชื่อว่าภูมิศาสตร์กำหนดทุกอย่าง ความเชี่ยวชาญในแบบหาตัวจับยากของคุณากรยังถูกตอกย้ำด้วยฉายา ‘เนิร์ดแผนที่’ ผู้คลั่งไคล้กระดาษมหัศจรรย์ที่สามารถจำลองโลกได้ในผืนเดียวตั้งแต่เด็ก รวมถึงการเป็น ‘มัคคุเทศก์’ ผู้นำในการเดินทางทั่วโลกที่มีความรู้หลากหลาย และถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้ง 

เพราะโลกที่กำลังทวีความผันผวน และเรื่องราวในหนังสือของมาร์แชลล์ที่เป็นดัง ‘นอสตราดามุส’ ร่วมสมัย กำลังหมุนวนมาอีกครั้ง เมื่อศักราชใหม่เดินทางมาถึง ชื่อของคุณากรจึงกลายเป็นตัวเลือกแรก ที่เราอยากจะนั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบจัดเต็ม

 แม้ในบทสนทนาตลอด 2 ชั่วโมง อาจจะไม่ได้หนักหนาด้วยเรื่องราวทางวิชาการเหมือนที่ปูพื้นมา แต่เราขอรับรองว่า บทความนี้คับคั่งไปด้วยสาระใกล้ตัว เรื่องราวการท่องเที่ยวรอบโลก และแพสชันของชายเป็นผู้รักการผจญภัยไม่แพ้แผนที่ 

เนิร์ดแผนที่และคนที่อยู่ตรงกลางเส้นแบ่ง ‘วิทย์-ศิลป์’

เนิร์ดแผนที่

นอกจากบทบาทหลากหลายที่ทำให้เรานั่งใช้เวลาไตร่ตรอง ถึงคำจำกัดความตัวตนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณากร (ซึ่งคำตอบคือการเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์) ฉายาดังกล่าวยังถูกเรียกขานแทนชื่อ โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าเริ่มขึ้นตอนไหนและใครเป็นคนเริ่ม

แต่หากให้ย้อนว่า อะไรเป็นสาเหตุทำให้เขาอุทิศตนกับกระดาษผืนหนึ่งที่ดูเข้าถึงยากสำหรับบางคน อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์บอกได้อย่างเต็มปากว่า นั่นคือ 3 สิ่งที่ติดตัวตั้งแต่เล็กจนโตคือ ทักษะจดจำทุกอย่างเป็นภาพ คอลเลกชันแผนที่ในนิตยสารเล่มโปรด และความเป็นเนิร์ดไดโนเสาร์

ตรงข้ามกับใครหลายคน ความทรงจำของคุณากรถูกบันทึกในรูปแบบรูปภาพ (Photographic Memory) เขามักจะมองสิ่งรอบตัวเป็น ‘พื้นที่’ มากกว่าตัวอักษร โดยหนึ่งในภาพที่เขาจำได้ดีคือ ‘แผนที่แคว้นสักกะ’ (Sakka) ดินแดนในพุทธประวัติในเอเชียกลาง ที่ติดอยู่บนบอร์ดห้องเรียนของโรงเรียนวัดราชาธิวาสเมื่อครั้งเรียนพิเศษ เนื่องจากความแปลกและหลุดโลกไปจากสิ่งที่เด็กมัธยมรับรู้ในวิชาภูมิศาสตร์ของโรงเรียน

ขณะที่หนังสือที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขาตั้งแต่วัยเด็กคือ National Geographic นิตยสารชื่อดังระดับโลก โดยสิ่งที่บ่มเพาะความคลั่งไคล้คือ แผนที่ประกอบหนังสือ โดยเฉพาะแผนที่เฉพาะเรื่อง (Thematic Map) นับเป็นของหายาก ทรงพลัง และมหัศจรรย์สำหรับโลกที่เทคโนโลยียังไม่เข้าครอบงำสังคม ณ เวลานั้น 

“แผนที่บางชิ้นในยุคนั้นไม่มีทางที่คุณจะหาได้ ครั้งหนึ่ง National Geographic เคยมีซีรีส์แผนที่ที่ชื่อว่า ผู้คนจากอดีตกาล มันคือแผนที่ชุดหนึ่งที่เกี่ยวกับอียิปต์ โรมันโบราณ แต่ความน่าสนใจคือเป็นแผนที่ 2 หน้า หน้าหนึ่งแสดงขอบเขตของอาณาจักรโบราณ แต่อีกหน้าคือภาพกราฟิกจำลองบรรยากาศของกรุงโรมในยุคทอง นั่นหมายความว่า มันไม่ได้ใส่ทุกอย่างในเชิงพื้นที่ แต่เนื้อที่ส่วนหนึ่งใช้ภาพประกอบ แผนผัง ข้อความ ประวัติศาสตร์ หรือไทม์ไลน์” คุณากรอธิบาย

แม้คนจดจำในภาพนักวิชาการ ภัณฑารักษ์ จนถึงผู้แปลหนังสือด้านประวัติศาสตร์-สังคมศาสตร์ แต่อีกตัวตนหนึ่งของคุณากรที่หลายคนไม่รู้คือ ‘เนิร์ดไดโนเสาร์’ ผู้คลั่งไคล้สัตว์ดึกดำบรรพ์ตัวฉกาจ และมีคอลัมน์เป็นของตนเองตั้งแต่ชั้น ม.4 ในนิตยสาร ไดโนสาร 

คุณากรเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่มาที่ไปของการเป็นคอลัมนิสต์ตั้งแต่เด็กว่า เกิดจากการทำในสิ่งที่หลายคนจินตนาการไม่ถึง นั่นคือการส่งจดหมายไปหากองบรรณาธิการว่า เหตุใดคอลัมน์เรื่องไดโนเสาร์จึงหายไป ทั้งที่มีมาสคอตเป็นไดโนเสาร์ พร้อมกับยื่นข้อเสนอคือ การให้ข้อมูลจากหนังสือภาษาอังกฤษมากมาย ที่ซื้อระหว่างการไปเยี่ยมเยือนคุณอาที่สหรัฐอเมริกา จนพบกับ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ บรรณาธิการนิตยสารไดโนสารในช่วงนั้น และสร้างความประหลาดใจตั้งแต่แรกพบคือ การจับคู่การ์ดไดโนเสาร์ ของแถมกระตุ้นการออมเงินของเด็กจากธนาคารสีชมพู 60 ใบ เสร็จภายในชั่วพริบตา

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง การเป็นเนิร์ดไดโนเสาร์ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ชีวิตพัวพันกับแผนที่ เพราะหากคำนึงถึงบริบทในช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ยังไม่สูญพันธุ์ แผ่นดินบนโลกไม่แยกจากกันเหมือนทวีปปัจจุบัน ฉะนั้นการศึกษาแผนที่นำไปสู่กุญแจสำคัญที่อธิบายได้ว่า ทำไมครั้งหนึ่งเจ้าสัตว์ดึกดำบรรพ์จึงเคยครองโลกนี้

“ที่สำคัญแผนที่ต้องใช้มิติเชิงเวลาไปอีก เช่น ยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนต้น ไดโนเสาร์เกิดขึ้น 250 ล้านปีที่แล้ว ทวีปยังติดกันทั้งหมด อยู่ๆ ไปมีไดโนเสาร์คอยาวอย่างจูราสสิก (Jurassic) ทวีปแยกออกจากกัน สิ่งเหล่านี้อธิบายได้ว่า ทำไมไดโนเสาร์บางกลุ่มจึงพบในบางทวีปเท่านั้น อย่างทีเร็กซ์ (T-Rex) มีในอเมริกาเหนือ จีน มองโกเลีย เพราะมันเกิดในช่วงท้ายสุดของยุคไดโนเสาร์ และทวีปหลักๆ ของโลกแยกห่างออกจากกันมากแล้ว แต่แผ่นดินเอเชียตะวันออกและอเมริกาเหนือยังเชื่อมกันอยู่” 

ถึงจะเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในชีวิตคือ การเข้าไปเรียนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในชั้นปริญญาตรี จากเดิมที่มุ่งหมายจะเรียนด้านโบราณคดี เพราะความเข้าใจผิดจากคนรอบตัว แต่คุณากรกลับมาสานความตั้งใจเดิม ด้วยการเลือกเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) และนั่นได้บ่มเพาะตัวตนของเนิร์ดแผนที่ ผู้อยู่ตรงกลางระหว่างเส้นแบ่งความเป็น ‘สายวิทย์-สายศิลป์’

สำหรับเขา นิยามของแผนที่มีความหมายมากกว่ามิติทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง และเศรษฐกิจ ทว่ามันคือสมุดบันทึกและกระดาษแผ่นหนึ่ง ที่สร้างเรื่องราวได้ไม่ต่างจากบทประพันธ์ในหนังสือ อีกทั้งยังเป็น ‘สะพานเชื่อม’ ระหว่างความเป็นวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์เข้าด้วยกัน 

“แผนที่คือเทคโนโลยีครอบจักรวาลที่สุดที่มนุษย์ใช้สื่อความ ไม่ต่างจากการเขียนเรื่องเล่า เหมือนร้อยแก้วร้อยกรอง เหมือนกระดาษแผ่นหนึ่งที่สร้างเรื่องราวในเชิงพื้นที่ และเป็นอะไรมากกว่าการใช้งานทั่วไป อย่างการบอกเราว่า ต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา อะไรอยู่ห่างจากตรงไหนเท่าไร

“มันคือสมุดบันทึก คุณสามารถผลิตเรื่องราวในสมุดบันทึกอย่างไรก็ได้ ทั้งการผลิตชุดข้อมูลที่เป็นความจริง เช่น พิกัด ความหนาแน่นประชากร เส้นทางการบินในสายการบินหลักของโลก หรือแม้แต่ชุดข้อมูลของการเดินทางของตัวละครอย่าง Harry Potter แค่เพียงคุณแค่พิมพ์มันลงไปในแผนที่ มันก็สามารถเป็นเรื่องราวได้

“ขณะที่วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีเหตุผลมากๆ เหมือนกับแผนที่ในเชิงหนึ่ง มันคือพื้นที่ระนาบเทคโนโลยีในการใส่ข้อมูล สถิติ และสารสนเทศ เช่น คุณอยากทำแผนที่ความสูงของพื้นที่ คุณก็ทำ สร้างภาพออกมา เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ 

“แต่ในอีกแง่หนึ่ง แผนที่ก็ต้องอาศัยความรู้ในเชิงสังคมศาสตร์-สายศิลป์ ในการเลือกวิธีสื่อความ การสื่อสาร หรือการเล่าเรื่อง (Story-Telling) คุณใช้หัวเรื่องหรือฟอนต์อย่างไร อยากจัดไทม์ไลน์แบบไหน ใช้เส้น กราฟ หรือภาพตัวแทน ของพวกนี้เป็นมุมมองในเชิงสุนทรียศาสตร์ ความเข้าใจเชิงวัฒนธรรมในการให้คุณค่ากับมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดคือคุณค่าในเชิงสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

“อาจบอกได้ว่า จริงๆ แล้ว แผนที่เหมือนงานของมนุษย์ในเชิงสารคดีคือ ด้านหนึ่งอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง แต่อีกด้านหนึ่งอาศัยความรื่นรมย์ มีการจัดวาง มีการสนทนา มีเสน่ห์ที่ตรึงผู้อ่าน มันมีองค์ประกอบในมุมวิทยาศาสตร์และศิลปะ”

Prisoners of Geography และคนที่เชื่อว่าทุกอย่างทุกกำหนดด้วยภูมิศาสตร์

แม้ว่าผู้ชายที่นั่งอยู่ตรงหน้า จะเป็นทั้งอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ภัณฑารักษ์มือทองที่อยู่เบื้องหลังนิทรรศการจิ๋นซีฮ่องเต้ รวมถึงรุ่นพี่ที่ร่ำเรียนศาสตร์ที่เดียวกัน แต่เราเลือกเข้าเรื่องพูดคุยกับคุณากรในฐานะผู้แปล Prisoners of Geography: Ten Maps That Explain Everything About the World หนังสือภูมิรัฐศาสตร์ชื่อดังก้องโลกของมาร์แชลล์ นักข่าวชาวอังกฤษที่เล่าว่า ภูมิศาสตร์เป็นพันธนาการจองจำมนุษย์และรัฐ เฉกเช่นการเป็นสาเหตุทำให้ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำรัสเซีย เปิดฉากสงครามกับยูเครนหรือสหรัฐฯ ยืนหนึ่งเป็นมหาอำนาจได้ เพราะส่วนหนึ่งคือการมีทำเลทองเหมือนถูกหวย

แน่นอนว่า คำ 3 คำที่ต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นหัวใจสำคัญในการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ

 1. ภูมิศาสตร์ (Geography) ศาสตร์ที่เกี่ยวกับสภาวะในเชิงพื้นที่ ทั้งเชิงกายภาพ ธรรมชาติ และมนุษย์

 2. ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ว่าด้วยการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ โดยให้น้ำหนักกับ ‘พื้นที่’ ทั้งในเชิงกายภาพและมนุษย์ 

 3. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations: IR) การศึกษาพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์ โดยมีหน่วยพื้นฐานคือประเทศหรือรัฐ โดยมองว่าประเทศต่างๆ กับตัวแสดงอื่น เช่น องค์การระหว่างประเทศ มีความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาอาศัยเป็นกลุ่มก้อน

สำหรับคุณากร ที่จริงแล้วนิยามของ 3 คำ มีจุดร่วมที่ต่างออกไป แต่เวลาใช้ในทางความเป็นจริง คำว่าภูมิรัฐศาสตร์จะถูกใช้แทนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสมอ เป็นเพราะเหตุผลในเชิง ‘การตลาด’ และ ‘ความคุ้นชิน’ 

“จริงๆ แล้ว นิยามในตัวมันเองชัด แต่การที่สื่อหรือสาธารณะมาใช้ ทำให้คำว่าภูมิรัฐศาสตร์ เป็นคำใหม่ มันฟังดูเท่ เก๋ น่าสนใจกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในเชิงการตลาด เรามองว่า มันธรรมดาเกิน ไม่ได้ให้น้ำหนัก ไม่น่าสนใจ 

“มันเหมือนคุณพูดว่า เราจะมาเรียนราคาโดยเปรียบเทียบระหว่างผลไม้ชนิดต่างๆ แต่ถ้าคุณบิดมันด้วยคำว่า ยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ประจำถิ่นของไทย ฟังดูน่าสนใจ ภูมิรัฐศาสตร์ก็เหมือนกัน ฟังดูเป็นศัพท์วิชาการ ดูยาก มีมนตราความลี้ลับ และมันไม่เล่นกับหน่วยที่ธรรมดามากคือ คำว่าประเทศ”

แต่การมาแปลหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือลี้ลับ เพราะแต่ไหนแต่ไร คุณากรชื่นชอบ Prisoners of Geography ในแบบที่ ‘อ่านแล้วอ่านอีก’ เมื่อสำนักพิมพ์ BookScape ทาบทามมาจึงตอบตกลง และไม่ได้ยากเย็นเท่าไรในบรรดางานที่เคยทำมา เนื่องจากมีความรู้เนื้อหาในหนังสือเป็นทุนเดิม ภาษาไม่ยียวน ทำให้ง่ายกับการประสานตัวเองเข้ากับหนังสือทั้งในฐานะกึ่งคนเขียน-คนแปล

“เป็นหนังสือที่มีโครงสร้างชัดเจน ไม่ดิ้น เรารู้ว่ารัสเซียคือรัสเซีย แต่สิ่งที่อาจจะท้าทายคือ ทำอย่างไรให้เนื้อหาที่ตรงไปตรงมามีเสน่ห์ หมายถึงว่าน้ำเสียงของคนเขียนมีชีวิต มีมุก มีความสนุกนิดหนึ่ง ซึ่งจะต่างจากหนังสือเล่มอื่นที่แปลยาก เพราะมันอาจจะมีตัวตนของผู้เขียนอยู่เยอะ เขาเลือกจะบิดยังไงก็ได้ หรือเลือกจะเล่าแบบนี้”

อาจกล่าวได้ว่า เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้อีกอย่างหนึ่งคือ การคัดสรรประเด็น โดยคุณากรใช้คำว่า ‘กระบวนการจดจำและหลงลืม’ (Remembering and Forgetting) หมายถึง การเลือกเรื่องมาเล่าโดยพิจารณาถึงผู้รับสารเป็นหลัก ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ การทำแผนที่ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันอย่างการพูดคุยกับคนทั่วไป ที่ผู้คนมักจะหยิบแค่บางเรื่องออกมาเล่าเสมอ

“เราจะเห็นบทสนทนาจำนวนมากว่า ทำไมเขา (มาร์แชลล์) ถึงไม่พูดเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พูดเกาหลีเยอะหรือญี่ปุ่นน้อย สำหรับผมการเขียนหนังสือเหมือนกับการทำแผนที่ การเลือกบางอย่างมาปาถกฐาสัมมนา ทุกอย่างต้องเลือกอยู่แล้ว มันไม่มีคำว่า ‘Faithful Representation’ ในโลกนี้ เพราะคำว่าการนำเสนอ คือคุณต้องเลือกหยิบบางอย่าง หรือไม่เลือกหยิบบางอย่าง”

คุณากรยังขยายความต่อว่า นอกจากการมองผ่านเลนส์ว่า ‘อะไรไม่สำคัญ’ มนุษย์ยังจำแนกสิ่งต่างๆ ออกเป็นซับเซต เพราะไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในหน้าสารบัญหนังสือ จะไร้ตัวตนในบทความ แต่สอดแทรกผ่านบางบท เช่น บทบาทประเทศอาเซียนปรากฏในเรื่องจีนแทน ยังไม่รวมถึงภาพในหัวของคนยุโรป (ในฐานะผู้อ่านหลักของหนังสือ) ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไร้ความชัดเจน

เหล่านี้สะท้อนจากการที่ พีท เฮกเซท (Pete Hegseth) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่รู้จักอาเซียน จนกลายเป็นข่าวฉาวทั่วหน้าสื่อ เพราะแม้จะไม่ผิดในฐานะคนทั่วไป แต่โดยตำแหน่งที่อาศัยความสามารถ การรู้จักพื้นที่ทั่วโลกเป็นสิ่งจำเป็น

แล้วทำไมถึงนิยามตนเองว่าเป็น Geographical Determinism หรือคนที่เชื่อว่าทุกอย่างถูกกำหนดด้วยแผนที่

เราตั้งคำถามกับคุณากรต่อ เพราะต้องยอมรับว่าความคิดดังกล่าวติดอยู่ในหัวตั้งแต่กลางปี 2024 หลังมีโอกาสได้ฟังเขาอภิปรายในงานเสวนาหนังสือ Prisoners of Geography ในฐานะผู้แปล ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะความคิดของเขาไม่ค่อยแพร่หลายในบรรดานักวิชาการแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในไทย ทั้งที่เป็นศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเฉดหลากหลาย กว้างขวางไร้ขอบเขต และศึกษาความเป็นสากล

อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ค่อยๆ คลายความสงสัยด้วยการตั้งต้นว่า ที่จริงแล้วเขาไม่ได้นิยามตนเองว่าเชื่อในภูมิศาสตร์ตกขอบขนาดนั้น เหมือนกับนักทฤษฎีหลายคนในความเป็นจริง แต่ในแวดวงที่เต็มไปด้วยนักคิดหลายสาย ไม่ว่าจะคนที่เชื่อในเรื่องอำนาจอย่างสายสัจนิยม (Realism) หรือผู้ที่ฝักใฝ่ในความร่วมมือแบบนักคิดเสรีนิยม (Liberalism) เขาจำเป็นต้องเน้นย้ำว่าตนเองให้ความสำคัญกับภูมิศาสตร์เยอะขนาดไหน

“ผมมองว่า ตนเองให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านภูมิศาสตร์มาก มากล้นกว่าที่คนส่วนใหญ่ให้และโดดเด่นขึ้นมา แต่ไม่ได้เคร่งครัดขนาดนั้นว่า ทุกอย่างต้องล้มโต๊ะหมด แล้วภูมิศาสตร์ไม่ได้มีอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว แต่ผมอยากขยายความว่า นิยามของผมไม่ใช่แค่ภูมิศาสตร์เชิงกายภาพ มันยังมีมิติภูมิศาสตร์สังคม 

“ผมยกตัวอย่างเรื่องเรือกลไฟ มันอาจจะเล็กน้อยมากในเชิงธรณีวิทยา แผนที่เหมือนเดิม แค่สุดท้ายเทคโนโลยีเปลี่ยน สิ่งที่เคยมีอยู่ตรงนั้นแล้วไม่มีค่า กลับมีค่าขึ้นมา มันเกิดไดนามิกใหม่

“หรือทุกวันนี้ แร่นิกเกิลของอินโดนีเซีย ตอนดัตช์มาปกครอง เขามาขุดไหม ไม่มี แต่ทุกวันนี้ด้วยเรื่องของแร่หายากและการมีอยู่ของแบตเตอรี่ทำให้มันมีค่า สุดท้ายมันเกี่ยวข้องกับเรื่องภูมิศาสตร์ล้วนๆ แค่ถูกปัจจัยทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป”

แทบจะไม่ต้องถามต่อเลยว่า ทำไมมนุษย์จึงให้ค่าภูมิศาสตร์น้อยกว่าที่คิด คุณากรตอบทันทีว่า เป็นเพราะมนุษย์พอใจกับคำอธิบายว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นมาได้เพราะตนเอง หรือแนวคิดมนุษยนิยม (Humanism) ที่ติดตัวมนุษย์ตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) 

“ลึกๆ แล้วเป็นจิตวิญญาณของยุคแห่งตื่นรู้ทางปัญญา (Enlightenment) อาจจะบอกว่า เป็นเทววิทยาในศาสนาคริสต์ที่บอกว่า เราคือภาพสะท้อนของพระเจ้า เราเป็นคนที่สามารถสร้างทุกอย่าง เราอยู่ในภาวะที่ทำไม่ได้เหรอ เป็นไปไม่ได้หรอก ทุกอย่างต้องเป็นเพราะเรา

“เพราะอะไรที่ทำให้มนุษย์สิ้นอำนาจการต่อรอง และอยู่ในภาวะผู้ที่รับผลกระทบอย่างเดียว มนุษย์รับไม่ได้”

อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยังตอกย้ำพันธนาการด้านภูมิศาสตร์ที่เหนี่ยวรั้งข้อจำกัดของมนุษย์ คือ การที่กลุ่มกบฏฮูตี (Houthi) ยึดครองทะเลแดงเพื่อต่อรองกับชาติมหาอำนาจ เป็นเพราะปัจจัยอย่างการขนส่งทางทะเลเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์และราคาถูก จนถึงสถานการณ์ใกล้ตัวคือ การเมืองไทย เมื่อภูมิศาสตร์เข้ามามีบทบาทสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพราะตรงไหนมีข้าวย่อมมีถนน

สำหรับคุณากร ภูมิศาสตร์ปรับใช้ได้ทุกชนชั้น สถานการณ์ และบริบท ตราบใดที่มนุษย์ยังพึ่งพาธรรมชาติด้วยการสร้างบ้านบนดิน หรือเดินเรือบนน่านน้ำอยู่ ก่อนจะทิ้งข้อคิดให้เราตกผลึกจนถึงขณะนี้คือ การมองอะไรให้กว้างไกลกว่าที่เคยเป็น

“เสน่ห์ของการเรียน IR คือ ความกว้างและความพยายามบรรลุอะไรที่เป็นสากล ถ้าคุณจะกว้างต้องกว้างให้จริง ข้อสรุปหรือทฤษฎีต้องมีฐานในการนำเสนอ และความหลากหลายในเชิงวัฒนธรรมและพื้นที่ได้จริง”

เพราะการ ‘เดินทาง’ คือส่วนเติมเต็มความคลั่งไคล้จากแผนที่

จากการสัมผัสโลกในนิตยสารเล่มโปรดตั้งแต่เด็ก มาวันนี้ คุณากรยังสวมหมวกอีกใบที่น้อยคนนักจะรู้ คือ ‘มัคคุเทศก์’ ผู้นำทางและนักเล่าเรื่องที่มีความรู้หาตัวจับยาก ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และโบราณคดี 

ต้องสารภาพกับผู้อ่านตั้งแต่แรกว่า เดิมทีเราตั้งใจจะพูดคุยกับคุณากรในประเด็นการเมืองโลกปัจจุบัน เพราะทุกคน (และผู้เขียน) มักจดจำเขาในฐานะอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ แต่แล้วการนั่งฟังเรื่องราวของเขาราว 2 ชั่วโมง ก็ทำให้เราตัดใจ ‘ทิ้ง’ สคริปต์ที่มีอยู่ในมือ ก่อนจะค่อยๆ ปล่อยให้บทสนทนาเกิดขึ้นไปตามธรรมชาติแทน

“การเดินทางคือการเน้นย้ำประสบการณ์จากการอ่าน National Geographic มันเป็นสิ่งที่เราเห็นเอง ไม่ได้รับรู้ผ่านคำบอกเล่าของผู้เขียน นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วเวลาไป เรามีจิตวิญญาณของนักสำรวจอยู่” 

ทว่านิยามการเดินทางระหว่างเรากับคุณากรไม่เหมือนกัน เพราะอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์กำลังพูดถึงในบริบท 10 ปีก่อน เมื่อเทคโนโลยียังไม่ได้มีบทบาทสำคัญบนหน้าสมาร์ตโฟน มีเพียง ‘เข็มทิศ’ และ ‘ไหวพริบ’ เป็นเพื่อนคู่ใจในการนำทาง และการหลงทางคือเรื่องปกติ

“นิยามของคนรุ่นใหม่ในคำว่า หลง คืออ่านแผนที่ไม่ออก งง หาไม่เจอ ในยุคผม แผนที่แต่ละอันคุณก็ไม่มีแล้ว เมื่อก่อนผมไปเที่ยวต้องมีเข็มทิศเล็กๆ ติดตัว เพราะมันคือสิ่งเดียวที่จะทำให้ไม่หลง 

“มุมมองของการเดินทางระหว่างสมัยก่อนกับสมัยนี้ห่างกันคนละโลก แค่เพียง 15-20 ปี ทุกวันนี้ การเดินทางสำหรับผมไม่มีเสน่ห์ในแบบที่จะเป็น เพราะคุณหลงไม่ได้ โลกมันเล็ก อยากรู้ว่าหลงไม่ได้ก็เปิดเน็ต มันไม่มีความลึกลับ ไม่มีพื้นที่ให้คุณต้องใช้ทักษะการสังเกตอ่านตัวรอด เวลานั่งรถไม่สังเกตซ้าย-ขวา คุณก็รอให้มัน (GPS) บอกให้เดิน พอเดินไปก็ไม่รู้ว่าเดินผ่านอะไรมา มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเป็นแบบนี้ในเมื่อก่อน”

สาเหตุหนึ่งที่การเดินทางสำคัญสำหรับคุณากร เพราะในมุมผู้สนใจประวัติศาสตร์และคนที่จดจำอะไรเป็นภาพ การได้เห็นอะไรเบื้องหน้ากับตาตัวเอง เติมเต็มความรู้บนหน้าหนังสือในแบบฉบับที่เขาไม่มีทาง ‘จินตนาการ’ ออก ดังเช่นความสำคัญของแม่น้ำไนล์ ซึ่งก่อร่างสร้างอารยธรรมอียิปต์โบราณ

“แม่น้ำไนล์สร้างอารยธรรมอียิปต์อย่างไร คุณไม่มีวันเข้าใจเลยต่อให้ดูภาพ แต่เมื่อไปถึงที่นั่น คุณก็จะเห็นเองว่า ถ้าอยู่บนแม่น้ำไนล์ ห่างไป 5-10 กิโลฯ สองฝั่งริมแม่น้ำเป็นสีเขียวหมดเลย ไม่ได้แห้งแล้ง มีทั้งต้นไม้ ต้นปาล์ม มะเขือเทศ ส้มเต็มไปหมดเลย และสตรอว์เบอร์รีอร่อยมาก แล้วพอไปเลยจุดข้างหลังคือสีส้ม นั่นคือทะเลทราย จนถึงโมร็อกโก” 

จากจุดนี้คุณากรขยายความว่า แม่น้ำไนล์ทำให้อียิปต์แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่มีแบบแผนในดินแดนอุดมสมบูรณ์ จากฤดูที่มีการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และน้ำหลาก ขณะที่อีกด้านคือ ความไร้แบบแผน จากตัวแปรอย่างพายุทรายหรือชนเผ่าเร่ร่อน ทั้งหมดจึงทำให้โลกทัศน์ของพวกเขาเป็นโลก 2 ขั้วตรงกันข้าม ระหว่างโลกแห่งระเบียบกับยุ่งเหยิง

ขณะที่การได้เห็นบางอย่างแบบที่ไม่คาดคิด เช่น เนินทรายในเปรูที่สูงราว 2 กิโลเมตร เทียบเท่าดอยอินทนนท์ของประเทศไทย ได้กระตุ้นต่อมความรู้สึกราวกับการได้เห็นบทความใหม่ๆ จาก National Geographic ทำให้เขารู้ว่า โลกนี้ยังมีอะไรอีกมากมายที่มนุษย์ต้องตามหา

เมื่อได้ชื่อว่าเป็นนักเดินทางตัวยงที่ออกเดินทางมากกว่า 30 ประเทศ และไปบางประเทศซ้ำมากกว่า 40 ครั้ง เราจึงถามต่อว่า เขามีประสบการณ์การท่องโลกที่ประทับใจที่สุดในชีวิตไหม อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ตอบทันทีว่า ทริปนั้นคือ ‘เปรู’ ประเทศลาตินอเมริกาที่ไม่ได้อยู่ในเรดาร์ความสนใจของคนในยุคเมื่อ 15 ปีก่อน ท่ามกลางเงื่อนไขสำคัญคือ ประเทศผ่านสงครามกลางเมือง มีอาชญากรรมจับนักท่องเที่ยว และข้อจำกัดด้านการสื่อสาร

หากถามว่าการไปเยือนเปรูสร้างความวุ่นวายขนาดไหน อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เล่า ตั้งแต่ขั้นตอนการเดินทางไปสนามบิน ที่พนักงานทุกคนต้องรวมตัวกันเพื่อตรวจสอบว่า ประเทศใช้วีซ่าเข้าไหม จนถึงเมื่อเดินทางไปถึงแล้วต้องเผชิญกับมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยเป็นการประทับตรานิ้วมือและใช้กล้องวิดีโอถ่ายหน้าทุกคน เมื่อต้องนั่งรถบัสยามค่ำคืน

“เปรูเป็นประเทศที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ แล้วผมไปคนเดียวเกือบเดือน ไม่เอาโทรศัพท์ไป ในยุคนั้นคุณต้องไปอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ไม่มีสมาร์ตโฟน ผมบอกเพื่อนในกระทรวงการต่างประเทศและน้องสาวว่า ทุก 4-5 วันจะเขียนอีเมลกลับมาว่าอยู่ที่ไหน และให้แพลนว่า วันนี้จะอยู่ที่ไหนบ้าง”

แม้จะวางแผนไว้ดิบดี แต่สุดท้ายทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่ใช่แค่ข้อจำกัดจากเทคโนโลยีในยุคสมัย แต่เป็นเพราะเขาเลือกเดินทางตามความต้องการของตนเอง แทนที่จะเป็นสถานที่ยอดฮิตอย่างมาชูปิกชู (Machu Picchu), เมืองกุสโก (Qusqu) หรือทะเลสาบติติกากา (Titicaca)

“เราประทับใจที่ว่า เราหลุดไปในโลกที่ไกลแสนไกล ไม่มีสมาร์ตโฟน โลกที่มีเสียงตุ๊งติ๊งๆ เช็กเมลไม่ได้ แล้วก็ในเชิงสิ่งที่เราอยากดู ผมอยู่เกือบเดือน เพราะมีแหล่งโบราณคดีเยอะมาก 

“ผมใช้เวลาเดินทางนานมาก ในแง่หนึ่งได้ใช้เวลากับตัวเอง ได้ไปในที่ที่อยากไปในแบบมหาศาลมากมาย ส่วนใหญ่การท่องเที่ยวมักเกิดขึ้นในรูปแบบที่ว่า ไปแล้วต้องดูอันนั้นอันนี้นะ แต่เราไปแล้วอยากดูพีระมิดโบราณที่ตูคูเม (Tucume) เพราะเคยอ่านในบทความ ตอนนั้นปีนไปบนข้างบนพีระมิด เห็นทะเลทรายแผ่ไพศาล พีระมิดอยู่ในหมอกเต็มไปหมด ขณะที่มองลงไปเป็นเต็นท์ มีนักโบราณคดีขุดอยู่ 3 คน ไม่มีใครเลย”

เรื่องเล่าอันน่าทึ่งอย่างหนึ่งคือ การเดินทางของคุณากรไปเมืองฮัวราซ (Huaraz) แล้วพบเจอความแปลกประหลาดคือ ร้านอาหารที่เขียน Siam de los Andes (สยามในเทือกเขาแอนดีส) เขาจึงตัดสินใจเข้าไป และได้พบคนไทยที่ถือว่าเป็น ‘ของแรร์’ สำหรับที่นั่น ว่ากันว่าสามารถพบเจอได้ปีละ 1 คนเท่านั้น

‘ถูกที่ถูกเวลา’

คือนิยามของความประทับใจในการเดินทางครั้งนั้นของผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์ เพราะในแง่หนึ่ง ด้วยช่วงอายุคือความหนุ่ม ทำให้เขาไร้พันธนาการที่ต้องกังวลน้อยนิด หากเทียบกับปัจจุบัน ตั้งแต่พ่อแม่ อาการเจ็บป่วย หรือแม้แต่การงานอย่างการ ‘ส่งงาน’ และ ‘ติดต่องาน’ ก็ตาม 

แม้อาจมีโอกาสเดินทางเช่นนั้นได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเดินทางจะหายไปจากชีวิตของเขา เพราะการเป็นมัคคุเทศก์นำทางแขกระดับ VIP ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ยังทำให้เขาเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่บ่อยครั้ง

แต่ด้วยคุณสมบัติความเป็นนักประวัติศาสตร์​ มนุษย์แผนที่ นักเล่าเรื่อง ทั้งหมดนี้ทำให้คุณากรมีทักษะการเล่าเรื่องที่ต่างจากคนอื่นในแบบฉบับ ‘ลึกซึ้ง’ และ ‘มีที่มาที่ไป’ ไม่ใช่ว่าจะหยิบจับอะไรมาเล่าอย่างไร้บริบท 

“สมมติในโซล คุณพูดถึงเมืองฮันยาง (Hanyang: 한양) หรือพระราชวังคยองบก​ (Gyeongbokgung: 경복) ต้องเข้าใจก่อนว่า โซลเป็นเมืองหลวงในเชิงสัญลักษณ์และมีความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ที่สร้างในสมัยโชซอน (Joseon: 조선) หรือในยุคที่ลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) ครองเมือง

“คุณมองไปที่บัลลังก์หลังจักรพรรดิโซชอนสิ มีภูเขา 3 ยอดคือ บุกฮันซาน (Bukhansan: 북한산) ยอดเขาที่สูงที่สุดคือแพกึนแด (baegeundae: 백운대) 2 ข้างมีจุด 2 จุดคือ สีแดงกับสีเหลือง มันคือเรื่องขงจื๊อ หรือการมีขั้ว 2 ขั้วแบบหยินหยาง นั่นคือสัญลักษณ์ของกษัตริย์โจซอนเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษที่เกิดในแพ็กดูซาน (Baekdusan: 백두산 ) เป็นโอรสแห่งภูเขา แล้วก็ทำหน้าที่ธำรงสมดุลคือกลางวันและกลางคืน” คุณากรยกตัวอย่างถึงการเล่าเรื่องเมื่อครั้งไปเกาหลีใต้ในเดือนธันวาคม 2024

แม้บทสนทนาอย่างเป็นทางการจะสิ้นสุดตรงนี้ แต่เรายังนั่งคุยไปคุยมาจนได้ทราบเรื่องเล็กๆ คือ ทริค 101 ของเนิร์ดแผนที่ในการท่องเที่ยวคือ การไม่เปิดโทรศัพท์และต้องดูก่อนว่าจะไปไหน แม้อาจดูธรรมดาในสายตาใครหลายคน แต่คุณากรให้เหตุผลว่า หากไม่รู้อะไรเลย นั่นถือว่าเป็นการเปิดช่องว่างและจุดอ่อนให้กับ ‘โจร’ และ ‘มิจฉาชีพ’ 

ก่อนจากกันอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยังย้ำเตือนกับเรา ผู้กำลังเดินทางไปต่างประเทศในระหว่างที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ว่า ทักษะการสังเกตยังจำเป็น เพราะแผนที่ไม่เคย ‘เป็นกลาง’ โดยย้อนเล่าเรื่องแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์ (Mercator Projection Map) ที่เลือกที่จะ ‘สละ’ ความแม่นยำทางขนาดและสัดส่วนของประเทศ แต่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของรัฐและเส้นกริด เพื่อใช้ในการเดินเรือ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้กรีนแลนด์ดูใหญ่เทียบเท่าทวีปแอฟริกา ทั้งที่ในความเป็นจริงเล็กกว่า 10 เท่า

“ไม่มีแผนที่อะไรที่สะท้อนความจริง ต่อให้คุณวาดในระบบโลก ต่อให้กดในกูเกิลแมป คุณก็เห็นว่า แผนที่เลือกจะสะท้อนรถไฟฟ้า ถนน แม่น้ำ ภูเขา แต่มันไม่ได้สะท้อนอย่างอื่นนอกจากนี้ แผนที่จึงไม่ได้สร้างความจริง แต่ต้องเลือกไฮไลต์บางอย่างและทิ้งบางอย่างเสมอ” คุณากรทิ้งท้าย 

เช่นเดียวกับการที่มาร์แชลล์ร้อยเรียงพื้นที่รอบโลกที่อาจมีมากกว่าแสนแห่ง ให้เหลือเพียง 10 พื้นที่สำคัญบน Prisoners of Geography แต่ง่ายในการทำให้ผู้คนจดจำว่า ภูมิศาสตร์คือชะตากรรมและธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย

Fact Box

  • สถานที่ในบทสนทนาครั้งนี้คือ HARDCOVER: The Art Book Shop ตั้งอยู่ส่วน Open House Central Embassy ชั้น 6 
  • คุณากรมีผลงานแปลหนังสือที่โดดเด่นส่วนหนึ่ง ได้แก่ พลิกประวัติศาสตร์โลก (Almanac of World History), เส้นทางสายไหม (Silk Roads: A New History of the World), ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว และโลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง (An Inconvenient Truth)
  • คุณากรจบการศึกษาชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ศิลป์-ฝรั่งเศส ขณะที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
  • คุณากรเป็นภัณฑารักษ์ที่อยู่เบื้องหลังนิทรรศการจิ๋นซีฮ่องเต้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และนิทรรศการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ถึงจะเดินทางรอบโลกมากกว่า 30 ประเทศและบางพื้นที่มากกว่า 40 ครั้ง แต่คุณากรเล่าว่า เขาไม่ได้ใส่ใจตัวเลขเท่าไร ขอแค่ให้การเดินทางครั้งนั้นบรรลุเป้าหมายคือ การได้เห็นอะไรและเคยไปแล้วอยากไปอีก
  • แม้จะเดินทางเยอะ แต่คุณากรเล่าว่า เขาไม่เคยเจอเรื่องลึกลับหรือเหนือธรรมชาติอย่างผีสางเลย
Tags: , , , , , ,