ท่ามกลางความวุ่นวายของการจราจร แสงไฟ ผู้คน และฝุ่นควัน สิ่งที่คนในเมืองใหญ่ถวิลหาอาจเป็นเพียงมุมสงบ พื้นที่โล่งสบายที่ช่วยให้ผ่อนคลายและมอบแรงบันดาลใจ

The Momentum ขอพาผู้อ่านมาสัมผัสพื้นที่ศิลปะขนาดกว่า 3,000 ตารางเมตรใจกลางกรุงเทพฯ เดินจากปากซอยเกษมสันต์ 2 เยื้องสนามกีฬาแห่งชาติ เพียงไม่กี่นาที ก็จะพบอาคารโอ่อ่า ผสมผสานมนต์เสน่ห์แบบมินิมอลกับองค์ประกอบที่คนไทยคุ้นชิน อิฐแดงเรียงเป็นลายคล้ายผ้าไทย เหล็กตกแต่งอาคารที่อ้างอิงจากสถาปัตยกรรมไทย

ตึกนี้คือที่ตั้งของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน และอาร์ไคฟ์ ซึ่งก่อสร้างขึ้นใหม่บนที่ดินใกล้กับพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน

กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน รอต้อนรับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เมื่อถามถึงแนวคิดในการออกแบบอาคาร เธออธิบายว่าสถาปนิกจากดีไซน์กว่า (Design Qua) ได้ศึกษาเรื่องราวของจิม ทอมป์สันอย่างละเอียด เพื่อหลอมรวมความเป็นไทยในอดีตสู่โลกสมัยใหม่ จากการเดินชมรอบอาคาร สัมผัสได้ว่าการใส่องค์ประกอบที่สะท้อนวัฒนธรรมของภูมิภาคลงไปในตัวอาคารนั้น มีส่วนช่วย ‘ย่นระยะ’ ระหว่างผู้คนกับผลงานศิลปะได้มากทีเดียว

“คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าหอศิลป์ฯ จัดแสดงเฉพาะผ้าไทย ซึ่งแรกๆ เราเน้นทั้งผ้าไทยและผ้าโบราณ มีผลงานของ คริสตียง ลาครัวซ์ (Christian Lacroix) ซึ่งถวายงานให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพราะฉะนั้น คนจะติดภาพว่าใครจะมาแสดงงานที่นี่ต้องเป็นงานผ้า

“เราก่อตั้งในปี 2003 ยุคนั้นยังไม่มีหอศิลป์ฯ ที่จัดแสดงโมเดิร์นอาร์ต หรือศิลปะร่วมสมัยในไทยเลย เราใช้วิธีการคล้ายของร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Center) ที่นิวยอร์ก คือจัดแสดงผ้าโบราณสลับกับศิลปะร่วมสมัย ช่วงหลังมีงานผ้าน้อยลง และเราก็เน้นศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น โดยเน้นศิลปะของภูมิภาคนี้ เพราะอยากให้คนรู้จักศิลปะในแถบอาเซียน แถบลุ่มแม่น้ำโขง ลองสังเกตว่าเราอ้างอิงเมืองนอก แต่คนไทยแม้กระทั่งในวงการศิลปะจะไม่ค่อยรู้จักศิลปินเวียดนามหรือศิลปินสิงคโปร์”

กฤติยามองว่าหากพื้นที่ศิลปะในภูมิภาคอาเซียนมุ่งแต่จะมองไปในทางตะวันตกแล้ว ศิลปะของคนในพื้นที่จะถูกละเลย และเลือนหายไปกับกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย

 

“โจทย์ของคนทำพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ฯ คือเราจะทำอย่างไรไม่ให้มันผลักคุณออก มันต้องอยากให้คุณเข้ามาหา”

 

ความท้าทายในการสร้างหอศิลป์ฯ

“โจทย์ของคนทำพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ฯ คือทำอย่างไรไม่ให้มันผลักคุณออก แต่ต้องอยากให้คุณเข้ามาหา ถ้าเข้าไปชมบ้านไทย จะเห็นว่าเราพยายามอนุรักษ์ให้เหมือนเดิมมากที่สุด เพราะเป็นบ้านตั้งแต่ยุค 1950 ช่วงที่คุณจิม ทอมป์สันยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่รุ่นเขา แต่ถ้ามาที่ตึกใหม่ที่เราตั้งใจขยาย ไม่ใช่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เรามีไว้ให้วัยรุ่นไทยด้วย เรียกว่าเป็น trans-generation”

กฤติยาเสริมว่า ความท้าทายในการทำงานของเธอตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมามีอยู่ในทุกรายละเอียด และเนื่องจากจิม ทอมป์สันเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์คนหนึ่ง ประเด็นการสื่อสารจึงละเอียดอ่อน สัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องราวตั้งแต่ยุคสงครามเย็น พื้นที่หอศิลป์ฯ แห่งนี้จึงต้องพยายามประสานอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ด้วยกัน

หอศิลป์ฯ แห่งนี้มีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถมาพบปะพูดคุยกันได้อย่างผ่อนคลาย พื้นที่บริเวณอาคารจึงมีทั้งร้านกาแฟในบรรยากาศปลอดโปร่ง ร้านขายสินค้าและงานออกแบบต่างๆ ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน พื้นที่แสดงงานในหอศิลป์ฯ และยังมีดาดฟ้าซึ่งสามารถขึ้นไปเดินเล่น ชมวิว และถ่ายภาพได้ตามอัธยาศัย

พื้นที่ของทุกคน

กฤติยาเล่าว่า กลุ่มคนที่มาชมผลงานของหอศิลป์ฯ แห่งนี้มีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือนักท่องเที่ยวที่ไม่มีความรู้ด้านศิลปะ แต่ตั้งใจมาชมพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ชื่นชอบศิลปะซึ่งมีความรู้พื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นงานแต่ละชุดที่จัดแสดง ทางหอศิลป์จำเป็นต้องสื่อสารให้เข้าถึงคนทั้งสองกลุ่ม คือมีการเกริ่นนำให้เข้าใจบริบท เพื่อให้หอศิลป์ฯ เป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง

 

“สงครามเย็นสำหรับที่นี่ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น”

 

ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามเย็นที่มีอิทธิพลต่อหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

“สงครามเย็นสำหรับที่นี่ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น เพราะปลายปี 1945 ที่คุณจิมมาถึงไทย สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็สิ้นสุดลงแล้ว” กฤติยาเท้าความถึงครั้งแรกที่จิม ทอมป์สันได้รับมอบหมายจากกองทัพสหรัฐฯ ให้มาประจำการที่ประเทศไทย ภารกิจเดิมของจิมคือต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น แต่เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง และเข้าสู่ช่วงสงครามเย็น เขาได้รับตำแหน่งหัวหน้าสถานียุทธศาสตร์ในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นไม่นานจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในกองทัพสหรัฐฯ และมาใช้ชีวิตในประเทศไทย

ไม่กี่ปีต่อมา บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยจึงถือกำเนิดขึ้นและเป็นรากฐานของมูลนิธิจิม ทอมป์สัน โดยเฮนรี ทอมป์สัน หลานชายผู้ได้รับมรดกได้ก่อตั้งมูลนิธิฯ นี้ขึ้นในปี 1976 หลังจากที่จิมหายสาบสูญไปประมาณ 9 ปี

แน่นอนว่าตัวตนของ จิม ทอมป์สัน มีอิทธิพลต่อหอศิลป์ฯ นั่นคือการหลอมรวมองค์ประกอบและภูมิปัญญาไทย ตั้งแต่ก่อนยุคสงครามเย็นเข้ากับวัฒนธรรมอเมริกัน

กฤติยากล่าวว่า หากใครสนใจชีวิตของจิม ทอมป์สันและประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น ก็สามารถศึกษาและค้นคว้าข้อมูลได้จากห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ซึ่งตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่นักเขียน-นักประวัติศาสตร์ผู้บันทึกเรื่องราวของจิม ทอมป์สันไว้หลายเล่ม เช่น Jim Thompson: The Unsolved Mystery, Jim Thompson: The House on the Klong ฯลฯ ซึ่งแต่ละเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ภาษารัสเซีย บนชั้นหนังสือของวิลเลียม วอร์เรน โดยเฉพาะในห้องสมุดแห่งนี้

 

“งานศิลปะเป็นภาษาสากลในตัวเอง เราต้องใช้คุณค่านั้นเชื่อมโยงกับโลก”

 

แนวทางการคัดสรรงานของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

ปัจจุบัน กฤติยาวางแผนให้พื้นที่หอศิลป์ฯ เปิดกว้างและเปิดรับผลงานศิลปะร่วมสมัยทุกแขนงจากทั่วโลกที่มีจุดเชื่อมโยงกับประเด็นในภูมิภาคอาเซียน เธอยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง คือการประชุมนานาชาติบันดุง (Bandung Conference) ที่จัดขึ้นในปี 1955 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

การประชุมครั้งนั้นเป็นการพบปะกันของผู้นำทางการเมืองในประเทศแถบเอเชียและแอฟริการวม 29 ประเทศ นับเป็นการประชุมครั้งแรกของนานาประเทศ เพื่อร่วมหารือกันสร้างภาคีทางการเมืองอันจะนำไปสู่อิสรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงให้พ้นจากอิทธิพลของชาติมหาอำนาจ เพราะกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการล่าอาณานิคมจนเกิดรอยแผลบาดลึกจากสงครามในภูมิภาคนี้มีอยู่ไม่น้อย และประเทศเหล่านี้รวมถึงภูมิภาคอาเซียนยังคงวนเวียนอยู่ในวงจรปัญหาเดิม นั่นคือปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง รัฐเผด็จการ คอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเป็นรากของปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การศึกษา ความยากจน ฯลฯ 

กฤติยามองว่างานศิลปะเป็นภาษาสากล และการคัดสรรผลงานจำเป็นต้องหาจุดเชื่อมโยงของแต่ละภูมิภาค เมื่อหาจุดเชื่อมโยงได้แล้ว การจัดแสดงงานย่อมจะเป็นสากล สามารถเชื่อมต่อความเข้าใจของผู้ชมได้แม้ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง

Future Tense: Imagining the Unknown Future, Contemplating the Cold War Past

กฤติยานำเราเดินขึ้นบันไดเหล็กสไตล์โมเดิร์น ผ่านประตูกระจกเข้าสู่พื้นที่จัดแสดงงานซึ่งแบ่งเป็น 2 ห้อง นิทรรศการที่กำลังจัดแสดงอยู่มีชื่อว่า ‘Future Tense: Imagining the Unknown Future, Contemplating the Cold War Past’ เป็นการสะท้อนภาพอนาคตอันไม่แน่นอนซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามเย็น โดยรวบรวมผลงานของศิลปิน 14 คน จากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บอสเนีย นอร์เวย์ โคลัมเบีย เนเธอร์แลนด์ จีน ออสเตรีย เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เยอรมนี และไทย มาจัดแสดง จากจุดริเริ่มที่หอศิลป์ฯ เปิดให้ศิลปินจากทุกมุมโลกส่งผลงานเข้ามา ซึ่งมีผู้ส่งเข้าร่วมเกือบ 100 ชิ้น

หลังจากผ่านการคัดกรองโดยภัณฑารักษ์มากประสบการณ์ 4 คนจาก 4 ประเทศ ก็ได้ผลงานที่สะท้อนยุคสมัยอันเยือกเย็นและเปราะบางได้ดีที่สุด พื้นที่จัดแสดงนี้จึงมีผลงานหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพเคลื่อนไหว งานจัดวาง จิตรกรรม ภาพถ่าย สื่อผสม อาทิ ฟรานซิสโก คามาโช เฮอร์เรรา (Francisco Camacho Herrera) ศิลปินชาวโคลอมเบียน นำเสนอผลงานในรูปแบบกิจกรรมศิลปะชุมชน

ผลงานท้าทายขนบจาก ฮวน มิคาเอล เอสคาเลนเต (Juan Michael Escalente) ศิลปินเม็กซิกัน ซึ่งใช้ AI ทำงาน แสดงฐานข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วงในเม็กซิโก

วัชรนนท์ สินวรวัฒน์ ศิลปินไทยวัย 24 ปี ผู้มีอายุน้อยที่สุดในการแสดงงานครั้งนี้ เลือกสร้างผลงานจิตรกรรมสะท้อนภาพบ้านเกิดที่สุพรรณบุรีในช่วงสงครามเย็น

ในพื้นที่เดียวแต่ผู้ชมจะได้รับประสบการณ์หลากมิติ เมื่อเดินชมผลงานทั้งหมดอย่างละเอียด จะเห็นจุดเชื่อมโยงของเนื้อหาและพบเอกภาพในความหลากหลาย

 

“ศิลปะร่วมสมัยต้องสื่อถึง Here and Now”

 

นิยามศิลปะร่วมสมัยในมุมมองของกฤติยา

“ศิลปะร่วมสมัยต้องสื่อถึง ‘Here and Now’ ต้องสะท้อนถึงสภาพในปัจจุบัน อย่างคำที่สังคมไทยรณรงค์กันตลอดเวลาคือ การกระจายอำนาจ (Decentralization) ความที่เราเป็นเด็กบ้านนอก เราจะคาใจอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมบ้านฉันไม่มี เราไม่ควรจะต้องมาอยู่กรุงเทพฯ อย่างที่เชียงใหม่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงรายมีขรัวฝิ่น

“หอศิลป์ฯ แสดงงานศิลปะร่วมสมัยในไทยยังมีน้อย แต่ถ้านับจาก 10 ปีที่แล้ว ก็ถือว่าเยอะขึ้น หลังจากปี 2000 ความตื่นตัวดีขึ้น ทั้งจากเอกชนและฝั่งรัฐบาล มีเบียนนาเล่ มีแกลเลอรีซึ่งขยายตัวออกไป ไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่นก็มีใหม่อีหลี มีบ้านนอก ที่ราชบุรีมีเถ้าฮงไถ่ ปัตตานีมีดีพเซาท์ แรงกระเพื่อมตอนนี้เยอะมาก และเราคาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้นอีก” 

ผลกระทบของหอศิลป์ฯ จากโควิด-19

“ที่นี่ก็มีเลย์ออฟ ทุกคนโดนหักเงินเดือนและเวิร์กฟรอมโฮม เพราะมูลนิธิฯ เราอยู่ได้ด้วยค่าตั๋ว ประมาณ 80-90% มาจากนักท่องเที่ยว เราเป็นเอกชน เลยไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ตอนนี้เราปรับให้มีการเก็บค่าเข้าชมและมีค่าสมาชิก ถ้าอยากสนับสนุนมูลนิธิฯ ก็อยากให้แวะมาเข้าชมงานกัน”

 

“เทรนด์ศิลปะการเมืองและงานแอบสแตรกต์กำลังมา”

 

นิยามศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่สากล

“ทุกวันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนไทยทำแค่เรื่องในไทย เขมรก็ทำเรื่องเขมร ต่างคนต่างก้มหน้าทำงานเกี่ยวกับประเทศตัวเอง การพูดคุยระหว่างกันมีน้อย สมัยนี้มีการสื่อสารมากขึ้น ก็เชื่อว่าอะไรๆ จะดีขึ้น อย่างล่าสุด กลุ่มคิวเรเตอร์แถบแอฟริกาไปค้นฐานข้อมูลแล้วพบเรื่องการประชุมบันดุง ก็มีการนำสิ่งเก่าๆ รื้อขึ้นมาทำงานศิลปะ”

แนวโน้มเทรนด์งานศิลปะในปีนี้

“เชื่อว่าเทรนด์ศิลปะการเมืองและงานแอบสแตรกต์กำลังมา กระแสของสองอย่างนี้ค่อยๆ มีมาตั้งแต่ปีที่แล้วและไม่น่าจะหายไปง่ายๆ”

ประโยคสุดท้ายที่เราถาม กฤติยา — ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ที่เปี่ยมพลังงานสร้างสรรค์ คือคำถามพื้นๆ ว่า มีอะไรที่อยากฝากไว้กับศิลปินรุ่นใหม่ เธอยิ้มกว้างแล้วตอบชัดเจนว่า “อยากทำอะไรทำเลย”

 

Fact Box

  • Jim Thompson Art Center เปิดให้เข้าชม 6 วันต่อสัปดาห์ (ปิดทำการทุกวันอังคาร) เวลา 10.00-18.00 น.
  • เดินทางมาโดยรถไฟฟ้า BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ แล้วเดินเข้าซอยเกษมสันต์ 2 หรือขับรถมาจอดได้ที่ใต้อาคาร
  • นิทรรศการ Future Tense: Imagining the Unknown Future, Contemplating the Cold War Past เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ศกนี้
  • ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.jimthompsonartcenter.org/
Tags: , , , , ,