หน้าร้อนอากาศแห้งแล้งแต่แฝงไปด้วยทรงจำ Summer Breeze ศิลปิน Seals & Crofts จะถูกเลือกนำมาเปิด

เมื่อสีเขียวของใบไม้แผ่ขยายให้บรรยากาศรายรอบชุ่มฉ่ำขณะฝนพรำ ชวนเป็นเพลง Forever Green ของ Tom Jobim

พอปฏิทินหมุนล่วงสู่ความเย็นเยือก Hold On To Me (The Winter Long) ของ The Strawbs ก็ชวนคลอเคล้าบรรยากาศมนต์เมืองเหนือ ดั่งมีใครโอบกอดปลอบประโลม 

หรือบทเพลงบอกกล่าวฤดูกาลอันแสนประทับใจ อย่าง How I remember you จาก Michael Franks ก็ฟังได้ทุกครั้งเวลานึกถึงใครสักคน

ปี 2525 วงการเพลงไทยสากลมีหมุดหมายสำคัญหลายอย่าง เกิรล์กรุ๊ปในวันวานเช่น ‘สาว สาว สาว’ ออกอัลบั้ม ‘รักคือฝันไป’ วงป็อปร่วมสมัย ‘ดิอินโนเซ้นท์’ (The Innocent) เปิดตัวสมาชิกใหม่ ‘ชาตรี คงสุวรรณ’ กับอัลบั้ม ‘มนต์รักไทรโยค’ หรือแม้แต่บริษัท อาร์.เอส.ซาวด์ จำกัด เริ่มเจาะตลาดเพลงวัยรุ่น ที่มีศิลปินทั้ง คีรีบูน, ฟรุตตี้ และอีกมากมายผุดเกิดตามมา

ช่วงเวลาธุรกิจบันเทิงในไทยกำลังขยับขยาย คนหนุ่มสาวบางส่วนสนใจงานด้านสื่อสารมวลชน อาจเพราะรายได้และการได้ทำสิ่งใหม่อยู่ในกระแสยุคสมัยตลอดเวลา ดีเจในยุคนั้นจึงมีค่าตอบแทนเยอะ เป็นอาชีพที่ตลาดยังต้องการ เพราะวิทยุกำลังโต ยังไม่มีสื่อใหม่ๆ เหมือนยุคปัจจุบัน

ปีนั้น ‘ดีเจอ้อ’ ทัดดาว ประเทืองบูลย์ บอกเล่าถึงวัยวันที่การสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะด้านนิเทศศาสตร์ มีอัตราการแข่งขันสูง เมื่อผลประกาศว่าเธอสอบติด หญิงสาวจึงออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงภาควิชาการสื่อสารมวลชน (ขณะนั้นอยู่ในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อมด้วยดนตรีและรายการวิทยุอันเป็นความชอบติดตัวตั้งแต่ยังจำความได้ 

ไม่ว่าเธอจะคิดฝันสิ่งใดไว้ตั้งแต่แรกเข้า มช. แต่เสียงเพลงและบทบาทนักจัดรายการวิทยุที่เริ่มจากคลื่น 100.75 MHz อสมท.เชียงใหม่ ก็พาเธอเดินทางไกลนับ 4 ทศวรรษแล้ว 

‘ไนท์สปอต’ แหล่งเพาะบ่มรสนิยมฟัง

ทัดดาวเล่าที่มาของการเริ่มฟังเพลงขณะยังแรกรุ่น จากเครื่อง Pick Up คล้าย Turntable ร่วมกับแผ่นเสียง ตั้งแต่ยุคแผ่นครั่ง ยุคสุนทราภรณ์ ยุคประมาณ 1950s-1960s

“ประมาณปลาย 1960s-1970s ช่วงคาบเกี่ยวศิลปินแบบ Santana, วง Pilot พี่ชายก็เริ่มมีแผ่นซิงเกิลที่เป็นแผ่นไทยเป็นแผ่นก๊อปปี้ คือเพลงอะไรที่ในตลาดตอนนั้นฮิต ก็จะมีก๊อปปี้ออกมาขายตามใกล้ๆ โรงหนัง ก็ตามฟังมาตลอด” 

ความทรงจำที่แจ่มชัดคือหลังปี 2518 เมื่อ อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ดีเจคนสำคัญของเมืองไทย เริ่มรายการวิทยุของ ‘ไนท์สปอต’ มีการเปิดเพลงลักษณะแตกต่างออกไปจากที่เคยได้ยิน ยิ่งนำชาร์ตเพลง American Top 40 ที่เปิดเพลงสากลนับถอยหลังจากอันดับ 40 ถึงอันดับที่ 1 ของชาร์ต มาเปิดออกอากาศ เมื่อฟังแล้วเห็นความแปลกต่างจากโสตสัมผัส จนแตกแขนงไปพบอีกหลากเพลงหลายศิลปิน ผ่านทั้งรายการ Nite Spot Show และ Radio Active

“กระแสดนตรียุคปี 1970 ปลายๆ เริ่มต่อจากยุคทองของ Punk, Post Punk เป็น New Wave, Synth, Electronic จะมีวงจากอังกฤษเยอะมาก ในรายการไนท์สปอต ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร ที่จบเมืองนอกมา และถนัด British Music จะเปิดเพลงพวกนี้ เช่น Depeche Mode, Prefab Sprout ซึ่งคลื่นอื่นจะไม่มี คนก็ได้ฟังเพลงหลากหลายมากขึ้น”

กล่าวได้ว่าไนท์สปอตเป็นแหล่งรวมความก้าวหน้าของวงการเพลงไทยในขณะนั้น ยิ่งเมื่อพวกเขามีค่ายเพลงใต้ชื่อ WEA RECORDS ตอนปี 2526 คาบเกี่ยวช่วงเข้ามหาวิทยาลัย ก็ทำให้ทัดดาวและชาวไทยได้รู้จักศิลปินคุณภาพทั้ง ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล (ไปทะเล), มัม ลาโคนิคส์ (ขอเพียงเข้าใจ), ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ (แดนศิวิไลซ์), อัสนี วสันต์ (บ้าหอบฟาง) ไปจนถึงดูโอในตำนานอย่าง เบิร์ดกะฮาร์ท (ห่างไกล

หรือแม้แต่ตอนไนท์สปอตจับธุรกิจคอนเสิร์ต วงการฟังเพลงเมืองไทยจึงได้เห็นศิลปินนอกอย่าง Sherbets, Rosetta Stone, Blondie หรือแม้แต่ David Bowie มาเปิดทำการแสดงอย่างเป็นปรากฏการณ์ 

สำหรับทัดดาว ทรงจำกับไนท์สปอตช่างเป็นอะไรที่พิเศษ ยังผลความประทับใจ และคิดว่าสักวันหนึ่งเธอเองก็อยากมีที่ทางนำเสียงเพลงไปสู่ผู้ฟังบ้าง

100.75 MHz (เชียงใหม่) จุดเริ่มผลิบานยาวไกล

อาคารดวงตะวัน ลอยเคราะห์ซอย 3 คอนโดมิเนียมแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2528 สถานีวิทยุ อสมท. แห่งแรกของภาคเหนือ เริ่มต้นที่ตรงนั้น พร้อมกับระบบที่แตกต่างไปจากสถานีอื่นๆ ในเชียงใหม่ ที่รายการยังไม่ใช่รูปแบบดีเจ แต่เป็นลักษณะมีช่างคอนโทรลอยู่ห้องหนึ่ง คนจัดอยู่ห้องหนึ่งแบบยุคดั้งเดิม 

“ที่ อสมท. ดีเจจะควบคุมเองทั้งหมด ไม่ต้องมีช่าง มีมิกเซอร์ มีอุปกรณ์ทุกอย่างในห้องแล้วดีเจอยู่คนเดียว คุณก็ว่าไปเลย จะเปิดสปอตตอนไหน จะพูดตอนไหน จะเล่นเพลงตอนไหน นี่คือ Disc jockey”

ดีเจอ้อเล่าอีกว่า คนที่มาร่วมทีม อสมท.เชียงใหม่ เคยทำ อสมท. จากกรุงเทพฯ มาก่อน จึงมีทั้งอุปกรณ์ เทคโนโลยี ทั้งแผ่นเสียง ติดมาด้วย

“เขามีไอเดียจากที่เคยทำ และก็มาสร้างอะไรต่อที่คลื่น 100.75 MHz เหมือนเป็นการเปิดโลก เชื่อมต่อจากที่เราเคยฟังจากกรุงเทพฯ ว่าวันหนึ่งเชียงใหม่ก็มีนะ เลยสนใจ อยากจัดรายการที่นี่”

ปีถัดมา หลังเรียนจบ พบว่ามีรุ่นพี่สาขาแมสคอมที่จบไปก่อนหน้า 3 คน ทั้งภานุ จุมปามัน, ศักดิ์ระพี วงษ์แข และศรีสุดา ชวชาติ ต่างเป็นนักจัดรายการวิทยุคลื่น อสมท. แห่งนั้นแล้ว

สำหรับตัวทัดดาว อาจเพราะเรียนมาก็ส่วนหนึ่ง บวกอาศัยประสบการณ์การฟัง เหมือนเลียนแบบนักจัดรุ่นเก่า มีต้นแบบ พูดจังหวะแบบไหน เพลงอย่างนี้ควรต่อด้วยเพลงอะไร

“วันหนึ่งเราเข้าไปที่สถานี เพราะอยากจัดรายการบ้าง คุยกับพี่ๆ ว่าพอจะมีตำแหน่งว่างไหม ทางนั้นบอกว่าถ้าสนใจ ลองไปจัดเป็นเทปมาให้ฟังหน่อย จึงไปใช้ห้องอัดแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เช่าเวลาทำรายการขึ้นมาใส่เทปคาสเซ็ตต์แล้วไปให้เขาฟัง” 

เมื่อย้อนไปถึงทรงจำแรกของการจัดรายการวิทยุที่คลื่น อสมท. เชียงใหม่ ทัดดาวจำไม่ได้ว่าเปิดเพลงอะไรเป็นเพลงแรก แต่รู้ว่าเอามาจาก American Top 40 เป็นเพลงยุค 70-80 บางแทร็ก และเอามาจากแผ่นที่เธอพอรู้จักเข้ามามิกซ์กัน ขณะที่บรรยากาศก็ชวนตื่นเต้น ด้วยอุปกรณ์ไม่คุ้นมือ

“เริ่มจากเปิดแผ่นไวนิล และที่ยากคือสถานีไปเอาแผ่น American Top 40 อันที่เขาส่งมาเป็นตัวอย่าง ให้ทดลองว่าโอเคไหม จะซื้อไหมก็ว่ากันไป และไอ้แผ่นไวนิลเนี่ย เรารู้กันว่ามันเป็นแทร็กที่ต้องมีสคริปต์ เพราะรายการต้องมีตัดโฆษณาตามร่อง ต้องมีสคริปต์ ต้องละเอียดมาก ตรงนี้ดีเจจะพูด ตรงนี้ต้องเป็นจิงเกิ้ลโฆษณา ตรงนี้จะเป็นเพลงอันนี้ๆ ไล่อันดับ แล้วเขาให้เราไปดูเองว่าจะเปิดเพลงอะไร ตอนจัดจริง ก็คือเอิ๊กๆ อ้ากๆ เปิดไมค์จังหวะไม่ได้ เดดแอร์ เจอหมดเลย จนจัดต่อไม่ได้แล้ว รุ่นพี่เขาฟังอยู่ เขาก็เข้ามาจัดต่อ เพราะฉะนั้นวันแรกขอบอกว่าพังค่ะ”

แม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่นับจากวันนั้นชื่อทัดดาว ประเทืองบูลย์ ก็ก้าวเข้าสู่อาชีพดีเจ ที่กลายเป็นการงานและชีวิตที่แยกออกจากกันไม่ได้ถึงทุกวันนี้ 

Disc Jockey Artiste

วิโรจน์ ควันธรรม และวาสนา วีระชาติพลี สองดีเจคาแรกเตอร์โดดเด่นจากยุคไนท์สปอต เป็นบุคคลต้นแบบการจัดรายการวิทยุของทัดดาว ยิ่งกับการนำเสนอเพลงที่คนไทยยังไม่ค่อยนิยม ให้กลายเป็นที่ยอมรับได้ ทัดดาวกล่าวถึง 2 คนนี้ว่า

  “พี่วิโรจน์จะชอบเพลงโซล ตอนเด็กๆ เราไม่รู้ว่าเพลงโซลคืออะไร ฟังแล้วก็ยังขัดหู แต่กลายเป็นว่ารู้ตัวอีกทีก็ชอบเพลงโซลไปแล้ว ส่วนพี่วาสนาเป็นคนที่สนุกกับการจัดรายการแบบไม่คิดชีวิตเลย เรารู้สึกว่ามันเข้มข้น มันใช่ แล้วแกก็เป๊ะมาก”

มากกว่านั้นคือ เป็นวิธีคิดแบบดีเจค่ายไนท์สปอต ที่ชัดเจนในแนวทางของตัวเอง ปฏิบัติตนอย่างศิลปินแขนงหนึ่ง

“เขาจะมีคาแรกเตอร์อย่างหนึ่ง ไม่ชอบให้ใครมายุ่ง ไม่ชอบให้ใครเข้าไปดูระหว่างจัดรายการ พี่วิโรจน์จะไม่ให้เราเข้าไปยุ่งตอนจัดรายการ เพราะต้องใช้สมาธิ ใช้จินตนาการ ในโลกส่วนตัวของเขา อย่างพี่แต๋ว วาสนา ก็ไม่ชอบให้ใครโทรศัพท์หาแก ถ้าแกไม่ได้ถามคำถามในรายการก็จะไม่รับโทรศัพท์ อีกอย่างหนึ่งก็คือไม่ใช่ขอเพลงไปเรื่อย ถ้าแกไม่ชอบก็จะไม่เปิด แกจะพูดตรงๆ เลยว่า ไม่เอาไม่เปิด”

กล่าวได้ว่าโลกของนักจัดรายการวิทยุในแบบที่ทัดดาวได้สัมผัสมาระหว่างเข้าฝึกงานที่ไนท์สปอต ทำให้เธอเองก็เป็นดีเจที่แน่วแน่ในสิ่งที่อยากนำเสนอ โดยเฉพาะการเลือกเปิดแต่เพลงสากล ตามแบบที่ตัวเองถนัดและมาตรฐานที่อยากให้เป็นไป 

“เราชอบเพลงไทยนะ อย่างเพลงยุค 80s ของ ดนู ฮันตระกูล แต่ไม่ได้เปิดเลย ถ้าเราจัดรายการทุกวัน ต้องดูด้วยว่าวัตถุดิบเราพอไหม วัตถุดิบจะหนุนเราได้ไกลแค่ไหน ต้องทุ่มเทพอสมควร หมายถึงต้องไปตามฟัง ไปรื้อฟื้น เพราะไม่ได้จับเพลงไทยนานแล้ว เพลงลูกทุ่งสมัยก่อนเราก็ชอบ หรือเพลงโบราณหน่อยก็ชอบ คิดว่าอาจจะมีสักวันที่จะจัดให้เป็นแนวนี้สักช่วง” 

เชียงใหม่ Vibes

“เชียงใหม่มีการผสมผสานหลายแบบ ทั้งผู้คน แนวทาง วิถีชีวิต วัฒนธรรม มีทั้งความสงบ ชีวิตชีวา กระตือรือร้น กระโตกกระตาก หนวกหูก็มี บางทีก็ดูมีความละเมียดละไม พูดได้ว่าผู้คนที่นี่มีหลาย Vibes”

ห้วงเวลา 35 ปี ในวงการคลื่นวิทยุเชียงใหม่ ทัดดาวยอมรับว่านักจัดรายการวิทยุก็มีลักษณะเอารสนิยมส่วนตัวไปกำหนดรสนิยมของเมืองนั้นๆ

“เราเอาช่วงเวลาเป็นโจทย์ทำงาน ช่วงเย็นๆ บ่ายๆ ก็ดูไลฟ์สไตล์ของคน หรือวิถีของคนในท้องถิ่นว่าเขาทำอะไรอยู่ ตอนไหน ขับรถอยู่หรือทำงาน ก็จะเปิดเพลงที่น่าจะสอดคล้องกับบรรยากาศช่วงบ่ายๆ หรือผสมเพลงที่ชอบฟังด้วย มีจังหวะบ้าง ดูเฟรชหน่อย ไม่มีคำจำกัดความอะไรมาก” 

ไม่ว่ากับอะไร พื้นฐานแรกของเพลงที่เปิดของดีเจอย่างทัดดาว มาจากเพลงที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ที่อาจเป็นตัวจุดประกาย แล้วจึง Cross Over ไปเรื่อยๆ เช่น ศิลปินที่เคยชอบ หรือศิลปินที่ทำงานมานานมากแต่ก็ยังมีผลงานใหม่ๆ 

ถัดมา ดีเจอ้อคิดถึงว่าคนฟังอินกับสิ่งที่ดีเจเปิดหรือไม่ มันฟังยากหรือฉีกเกินไปหรือเปล่า ต้องคอยตบให้อยู่ในการฟังเพลิน ฟังแล้วคุ้นเคย หรือฟังแล้วแปลกใหม่ ผสมผสานกันไป 

“สมมุติเรามีสังกัด อาจถูกกำหนดว่าต้องจัดรายการแบบนี้ เปิดอย่างนี้ไม่ได้ มีสคริปต์มาเป๊ะ แต่ดีที่สุดคือไม่ต้องให้สถานีมากำหนด และให้อิสระในการคิดเองว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ของเรา”

อย่างไรก็ดี ด้วยประสบการณ์และแนวทางที่อยากนำเสนอ ก็มีบางแนวเพลงที่เป็นข้อจำกัดให้ต้องพิจารณา

“ที่จะไม่เปิดเลยคือเพลงที่หนักเกินไป เช่น เพลงเต้นรำ (EDM) ร็อกแบบเฮฟวี่เมทัล แต่ร็อกก็เปิด แต่จะเน้นเมโลดี้หรือเป็นเพลงที่เราชอบ คนฟังของเราค่อนข้างจะมีอายุ บางทีต้องค่อยๆ ใส่ไปทีละนิด ถ้าอยากจะนำเสนอเพลงใหม่ให้เขาฟัง อาจจะไม่ใช่ใหม่ทีเดียว แต่เป็นคัฟเวอร์ของวงรุ่นใหม่ๆ เราไม่ได้เล่นเพลงยุคโอลดี้อย่างเดียว แนวเพลงใหม่ๆ ซาวนด์ใหม่ๆ ก็ยังพอมี”

ดีเจเสียงใสกับอิทธิพลทางใจถึงผู้ฟัง

หลายสิบปีกับบทบาทคนวิทยุที่ผ่านทั้งยุคเฟื่องฟู จนมาถึงยุคซบเซา หากพูดถึงปีที่ประทับใจสำหรับดีเจผู้นี้ เธอเล่าว่าอยู่ราวปี 2530 เป็นต้นมา

“ช่วงนั้น อสมท. เชียงใหม่เป็นเบอร์หนึ่ง คลื่นทันสมัยที่สุด นักจัดไฟแรงหนุ่มสาวแต่ละคนมีแนวของตัวเองและมีทุกแนว ตั้งแต่โอลดี้ เพลงใหม่ เพลงไทย เพลงร็อก เพลงลูกทุ่ง ครอบคลุมหมด เป็นเจ้ายุทธจักรอยู่ยาวนานทีเดียว”

ไม่เพียงแต่กระแสในเชิงพาณิชย์ คลื่นวิทยุก็ดูจะมีภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับการลงทุน “อสมท. มีฝ่ายขายเป็นเรื่องเป็นราว ผู้ค้าวิ่งเข้าหา สินค้าแน่น จนล้นผัง เมื่อทุกคนต่างแย่งมาลง กบว. (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์) ต้องบอกว่าหนึ่งชั่วโมงให้เปิดสปอตและโฆษณาแค่ 8 นาที”

ยิ่งช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการต่อสู้เรื่องเพลงของสองค่ายยักษ์ในประเทศ จะต้องมีการพรีเซนต์เพลงผ่านการโปรโมท ภายใต้คำโฆษณา ‘เพลงละพัน วันละเพลง’ หมายถึงค่ายเพลง จะต้องเอาเพลงไปเสนอให้ดีเจ เพื่อเปิดโปรโมตเพลงและจ่ายเงินให้ 

“ที่เขาว่า เพลงละพันวันละเพลง เราไม่เคยได้เลย เชื่อไหม เพราะเปิดเพลงสากล แล้วทาง อสมท. เข้มงวดมาก เราจะไม่มีการรับเงิน แต่อันนั้นเขาต้องเปิดเชียร์เพลงไทย ซึ่งก็ทำให้รู้ว่าเป็นช่วงธุรกิจวิทยุที่โตและเข้มข้นมาก”

อย่างยากปฏิเสธ สำหรับทัดดาว ดีเจหรือนักจัดรายการวิทยุในยุคของเธอ ส่งอิทธิพลทางใจต่อผู้ฟังไม่น้อย 

“มันเป็นอะไรที่เจอกันทุกวัน แค่หมุนหาคลื่นก็เจอกันแล้ว และคุ้นเคยใกล้ชิดกัน เหมือนเราเป็นเพื่อนกัน คล้ายเป็นที่พึ่งทางใจ ใช้วิธีการเขียนจดหมายมาปรึกษาปัญหาก็เยอะ หรือโทรศัพท์มาหา ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นญาติ เป็นคนคุ้นเคย”

อาจเพราะสมัยที่ยุคอินเทอร์เน็ตไม่แพร่หลาย คนทั่วไปไม่ได้เข้าถึงเพลงได้ง่ายเหมือนคนที่อยู่สถานีวิทยุ ซึ่งมีวัตถุดิบด้านเพลงเยอะ หนึ่งในสิ่งที่ดีเจพบเจอคือ ผู้ฟังบางรายโทรศัพท์ไปขอเพลงเพื่อที่จะขอบันทึกเสียงเพลงนั้นผ่านการออกอากาศ 

“อย่างที่เรารู้ ยุคนี้มันง่ายมากที่เราจะไปหาเพลงมาฟังเอง สมัยก่อนเราต้องรอฟังจากสถานี ไม่ใช่ว่าทุกเพลงที่เราชอบจะมีขาย ถึงจะมีเทปคาสเซ็ตต์หรือแผ่นเสียงวาง แต่ก็เข้าถึงยาก เพราะฉะนั้น ดีเจก็จะมีอิทธิพลในส่วนนี้มากพอสมควร”

กระทั่งจุดเปลี่ยนในยุคที่วิทยุสามารถฟังออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ รวมไปถึงสตรีมมิงที่ใครต่อใครต่างเป็นสื่อและจัดรายการในรูปแบบที่หลายหลากทั้งภาพและเสียง

“มาถึงยุคนี้ เรื่องอุปกรณ์เท่าทันกันทุกคน อยู่ที่ว่าเราจะใช้อะไรอย่างไรมากกว่า ส่วนวิทยุก็เป็นเสน่ห์ของมัน เช่น เราไปจับแผ่นเสียง ไปนั่งอยู่ในบรรยากาศนั้นจริงๆ ปล่อยเพลงให้ไหลไปตามเวลาของมันจริงๆ ซึ่งก็เป็นคาแรกเตอร์ของแต่ละคน แต่ละรูปแบบของแพลตฟอร์ม”

ขณะเดียวกับดีเจหลายคนที่เติบโตมายุคใกล้กัน ผันตัวไปทำงานโทรทัศน์หรือจัดอีเวนต์คอนเสิร์ตใหญ่ แต่กับทัดดาว เธอให้มุมมองว่า “เราอาจมีข้อจำกัดแบบอินโทรเวิร์ต คือไม่ชอบให้ใครเห็นเรา เป็นคนวิทยุจริงๆ เพราะไม่ชอบทีวีที่จะต้องไปแต่งหน้าให้คนเห็น แต่ถ้าใครทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดีนะ”

I’m So Glad I’m Standing Here Today

จากชีวิตดีเจที่อุทิศตัวตนให้กับการจัดรายการวันต่อวันมา 35 ปี กระทั่งจุดเปลี่ยนมาถึง ในวันหนึ่งช่วงต้นปี 2565 เมื่อสถานีวิทยุ 100.75 MHz อสมท.เชียงใหม่ ปรับโครงสร้าง เป็นเหตุให้นักจัดรายการที่ยืนหยัดมาหลายสิบปีอย่างทัดดาวไม่ได้จัดรายการในคลื่นนั้นต่อ

“มีผลต่อจิตใจเยอะเหมือนกัน เพราะว่าเราก็ผูกพันกับสิ่งที่เราทำ เราแอบโทษตัวเองนิดหนึ่งว่า ไม่ได้เตรียมตัวทางอื่นเลย คล้ายกับว่าปล่อยมันไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีอีกความหวังเป็นแสงสว่างในเส้นทางอย่างอื่นอยู่นะ แต่โดยภาพรวมทั้งหมด อสมท.ทำงานสนุกที่สุด เป็นสถานที่ที่เราแฮปปี้ในการที่เราไปนั่งจัดรายการ

“เหมือนพอรู้มาบ้างว่าจะไม่ได้จัดรายการต่อ วันสุดท้ายมีแฟนรายการเอาของมาฝากถึงสถานี และมีคนไลน์มาเยอะเลย คือกะว่าวันนี้วันสุดท้าย ลาแล้วไปเลย อาจจะดูใจดำไปหน่อยที่ไม่บอกกล่าวหรือไม่บอกเล่าอะไรมากกว่านั้น ไม่อยากดราม่า ในแง่ดีแค่อาจจะจบภาคแรกของเรา แล้วค่อยเจอกันอีก”

สำหรับทัดดาว คุณสมบัตินักจัดรายการวิทยุที่ดีต้องทำงานให้สนุก ทำให้ตัวเองและผู้ฟังมีความสุข ยิ่งถ้าทั้งสองฝั่งมาเจอกันได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

“ดีเจเป็นทั้งงาน เป็นทั้งชีวิต แยกกันไม่ออก เราไม่มีงานอื่นเป็นหลัก มุ่งมาจัดรายการอย่างเดียว แต่เพราะองค์ประกอบที่เราไม่มีภาระชีวิตมากมายจึงทำได้ มันไม่ใช่รับราชการในสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง แต่เป็นอาชีพที่คล้ายกับเราซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เขาต่อสัญญาเราก็ได้จัดต่อ เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่กับความไม่มั่นคงให้ได้”

ย้อนไปตลอด 35 ปีที่ผ่านมา ในการออนแอร์แต่ละครั้ง แต่ละรายการ อาจมีบางช่วงที่ต้องปรับตัว แต่เมื่ออยู่ตัวแล้ว การจัดรายการของทัดดาวเสมือนการบำบัดให้ชีวิตผ่อนคลาย 

“เหมือนทุกอย่างอยู่ในหัว เรารู้ว่ารายการเราต้องจัดประมาณนี้ แค่ไปตรงนี้ แล้วก็คิดตรงนั้นเลย เพราะวัตถุดิบจะอยู่ตรงหน้า ยิ่งเป็นสถานีที่เป็นรุ่นเก่าหน่อยและมีซีดีก็จะคล่องตัวนิดนึง แต่ถ้าเราใช้สตรีมมิงมาเสริมกับซีดีด้วย จะรู้สึกว่า เรารู้ว่าวัตถุดิบมีอะไรบ้าง แทบไม่ต้องมานั่งเขียนสคริปต์ ว่าต้องเปิดอะไร ส่วนเรื่องร่างกายก็ออกกำลังกายง่ายๆ ให้มีพลังที่จะทำงานได้สม่ำเสมอเท่านั้นเอง”

ถึงอย่างนั้น ดีเจมากประสบการณ์ก็ยังมีช่วงที่หนักหนาและอ่อนล้าจากการจัดรายการ “มีช่วงที่จัดรายการ อสมท. ทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงอาทิตย์มากกว่าสิบปี จะหยุดต้องทำเป็นเทปไว้ มีบ้างที่หยุด แต่น้อย เหมือนกับตื่นมาก็คิดว่าวันนี้ฉันต้องไปจัดรายการ มีเบื่อบ้าง แต่เราก็ต้องอยู่กับสิ่งที่เราทำ แล้วจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากตรงนั้นเป็นอัตโนมัติ”

เมื่อถามถึงการฟังเพลงในชีวิตประจำวัน เธอรีบชิงตอบว่า “หลังจัดรายการวิทยุจะเข้าสู่โหมดเงียบ เพลงในรถแทบจะไม่ฟัง เพราะยิ่งเราจัดสามชั่วโมงก่อนหน้า เราอยากให้หูมันเงียบแล้ว กลับบ้านไม่ฟังต่อ นานๆ ทีถ้าอยากฟังเพลงบางเพลง อยากอยู่ในบรรยากาศเก่าๆ ก็หยิบมาฟังสักหน่อย เพราะคิดดูว่าจัดรายการมายาวนานขนาดนี้ อยู่กับเพลงมาตลอด”

เมื่อลองให้เธอนึกถึงบทเพลงที่เคยเปิดตลอดชีวิต ที่กินความหมายการเป็นดีเจ ทัดดาวเล่าว่า I’m So Glad I’m Standing Here Today ของคณะ The Crusaders ในอัลบั้ม Standing Tall บอกเล่าทั้งจุดจบหรือจุดเปลี่ยนหมุนเวียนของชีวิต 

“Joe Cocker เป็นนักร้องรับเชิญ ด้วยชื่อเพลงต้องมีปูมหลังบางอย่างที่นักร้องเพิ่งผ่านปัญหาติดเหล้า ติดยามา แล้วเขาทำงานไม่ได้ จนไปบำบัดเยียวยา แล้วกลับมาร้องเพลงนี้ให้ Crusaders มีครั้งหนึ่งเขาไปขึ้นเวทีแกรมมี่ช่วงปี 1981-1982 คิดดูว่าสภาพว่าคนที่ล้มลงไปแล้ว แต่สามารถที่จะลุกขึ้นมาใหม่และร้องเพลงบนเวที เพลง I’m So Glad I’m Standing Here Today มันเป็นกำลังใจ และบอกว่าถ้ายังหายใจเราก็ยังไปต่อได้” 

ในส่วนลึกกับอาชีพนี้ เธอให้ทัศนะว่า “มันสนุก มีความสุขที่ได้อยู่กับเพลง เงื่อนไขอื่นๆ ไม่ได้บีบคั้นเราเกินไป องค์กรก็ดี เขาให้อิสระในการที่เราจะทำงาน และมีความสุขเพลิดเพลินในชีวิตดี”

ก่อนย่างเข้าสู่ปีต่อๆ ไป ของแวดวงนักจัดรายการวิทยุ ทัดดาว ประเทืองบูลย์ ทิ้งทายเสมือนลาจากการออนแอร์ด้วยน้ำเสียงอบอุ่นครั้งนี้ว่า

“ชีวิตการทำงานของนักจัดรายการวิทยุให้ประสบการณ์เยอะและทำให้เราได้เติบโตจากงานที่เราทำมากมาย สอนให้เราเรียนรู้ที่จะปรับตัว ต้องเจอจุดเปลี่ยนผ่านหลายจุดตามยุคสมัย ตามโลกที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ มันเป็นธรรมดาของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและเดินต่อไป”

Fact Box

ช่วงปี 2565 หลังจากหยุดจัดรายการที่คลื่น 100.75 MHz อสมท.เชียงใหม่ สถานีที่เธอใช้เวลา 35 ปี สร้างมิตรภาพ-ความอบอุ่นให้กับผู้ฟังผ่านเสียงเพลงมาอย่างยาวนาน ปัจจุบัน ‘ดีเจอ้อ’ ทัดดาว ประเทืองบูลย์ ก็ยังได้รับเชิญจัดรายการตามสถานีวิทยุในเชียงใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับอยากที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ ผ่านทางออนไลน์ แน่นอนว่ายังคงมีการเปิดเพลงสากลอย่างที่เธอถนัดเช่นเดิม แต่จะเพิ่มการเปิดพื้นที่ชวนพูดคุยเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน สุขภาพ ศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องจิตวิญญาณ เชิญชวนแฟนรายการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ติดตามการทดลองใหม่ๆ ของเธอได้ทาง facebook.com/MyRadioFriend

Tags: , , , ,