หลายคนอาจคุ้นกับผลงานของ ‘บิ๊ก’ – เฉลิมพล จั่นระยับ นักวาดภาพประกอบในสไตล์ที่เห็นปราดเดียวก็นึกไปถึงลายเส้นเท่ๆ แบบอเมริกันคอมิกส์ ที่เรามักเห็นจากหนังสือการ์ตูนแนวแฟนตาซี ซูเปอร์ฮีโร่ ของโลกตะวันตก และนำมายำรวมกับเหตุบ้านการเมืองแบบไทยๆ จนกลายเป็นสำเนียงที่มีความเซอร์เรียลแบบ ‘ไทย-อเมริกัน’ ในแบบฉบับของเขาเอง

ไม่ว่าจะเป็นผลงานชุด The Amazing Thailand ที่หยิบการเมืองผสมกับคอมิกส์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก The Amazing Spider-Man ฮีโร่ที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก หรือการวาดภาพประกอบในหนังสือ นิทานวาดหวัง ที่ก่อให้เกิดกระแสถกเถียงอย่างกว้างขวาง จากการวาดภาพแกนนำผู้ชุมนุมราษฎร อาทิ ไผ่ ดาวดิน, รุ้ง ปนัสยา และ เพนกวิน พริษฐ์ 

เฉลิมพลจึงถือเป็นนักวาดภาพประกอบที่สนใจเฝ้ามองปรากฏการณ์ทางสังคมห่างๆ และถ่ายทอดความคิดออกมาผ่านภาษาภาพได้อย่างน่าสนใจและมีเอกลักษณ์มากที่สุดคนหนึ่ง 

ปีนี้ ในวาระครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม และ 110 ปีของคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 เฉลิมพล มีโอกาสได้ร่วมงานกับโปรเจ็กต์ปฏิทินป๋วย 2565 ‘The 2475 Vanguard คณะราษฎร’ ที่ชวนมาทำความรู้จักกับเหล่า ‘คณะราษฎร’ พร้อมมรดกที่แต่ละคนได้มอบไว้ให้ประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ที่เขานำเสนอออกมาในรูปแบบลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์บนปฏิทินน่าเก็บสะสม ซึ่งเขามองว่าเป็นเสมือน ‘การบันทึกเหตุการณ์เพื่อมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันว่า เราควรเดินทางไปในทิศทางไหนต่อ และจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์หรือจากอดีตอย่างไร เพื่อมาปรับปรุงปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้น 

“มันเป็นการทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เลย แต่ต้องการจะลืมหรือลบไป เราจะไม่มีทางเดินที่สว่างไปกว่านี้ในอนาคต”

คนส่วนใหญ่จะรู้จักคุณจากผู้วาดภาพประกอบ นิทานวาดหวัง ที่มีทั้งการวิจารณ์และสนับสนุน ความจริงแล้วตอนนี้คุณทำอะไรอยู่บ้าง

เราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อยู่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง นอกจากงานประจำก็จะมีงานนอก คือเป็นนักวาดภาพประกอบ ซึ่งคนที่มาว่าจ้างจะชื่นชอบลายเส้นของเราที่เป็นแบบอเมริกันคอมิกส์ และก็เป็นวิทยากรไปบรรยายตามมหาวิทยาลัย แต่พอมีโควิดก็เปลี่ยนการบรรยายมาเป็นในรูปแบบออนไลน์ ปัจจุบันเราเป็นศิลปิน NFT ด้วย ทำหลายอย่างมาก สรุปง่ายๆ พาร์ตแรกคืองานประจำ อีกพาร์ตคือเป็นนักวาดเขียนอิสระ

เรื่อง NFT เป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจมากในช่วงที่ผ่านมา สำหรับคุณ ในฐานะนักวาดภาพประกอบที่กระโดดเข้าสู่ในโลกนี้ด้วย มองเห็นความสำคัญอย่างไร มันสร้างมูลค่าให้กับคนที่เป็นศิลปินและนักวาดภาพอย่างไรบ้าง

เรารู้จัก NFT มาตั้งแต่ตอนไปเรียนที่ออสเตรเลีย แต่ตอนนั้นยังไม่มีคำว่า NFT Artist มันยังเป็นเหมือนการเทรดเหรียญเล่นหุ้นอะไรอย่างนี้ พอเรากลับไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมามันเริ่มกลับมาฮิต ส่วนตัวเรามองว่า มันสามารถเอางานศิลปะที่เคยคิดว่าขายไม่ได้ มาสร้างมูลค่าในโลกดิจิทัลได้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของศิลปินที่อาจไม่มีคนรู้จัก แต่สามารถทำให้คนทั่วโลกรู้จักผ่านผลงานในรูปแบบดิจิทัล เช่น สมมติงานชิ้นนี้ขายในเมืองไทยได้มูลค่าไม่เยอะ แต่เราสามารถไปตั้งราคาขายในโลกของ NFT ได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถตั้งราคาให้สูงได้ตามที่เราต้องการ มันจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่ง และเป็นการสร้างเงินในอนาคต ซึ่งในอนาคต รูปแบบของเงินอาจไม่ได้เป็นแบบธนบัตรแล้ว

ยิ่งมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กออกมาพูดเรื่องเมตาเวิร์ส มันก็ยิ่งเชื่อมโยงผูกกันไปหมด ตอนนี้น่าจะเป็นโอกาสหนึ่งที่เราควรรีบเริ่มต้น ถ้าเราเริ่มช้า อาจต้องมานึกเสียดายทีหลังก็ได้

ในมุมของคุณ จำเป็นไหมที่คนทำงานศิลปะทุกคนต้องเข้าสู่โลก NFT 

ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ เราว่ามันจำเป็นที่ต้องเรียนรู้โลกนี้ด้วย ในสมัยก่อนอาจไม่มี NFT แต่ก็จะมีแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น ArtStation หรือ DamienHirst ที่เป็นพื้นที่ให้เราได้แสดงความสามารถ โดยรับเงินผ่าน PayPal ซึ่งโลก NFT ก็อาจจะเป็นอีกช่องทางที่ทำให้เราเติบโตได้ ส่วนศิลปินที่เป็น Traditional Art ก็มีหลายคนที่โดดเข้ามาในโลก NFT มันคือการเดินตามโลก เดินตามอนาคตที่กำลังจะมา ดังนั้นไม่มีอะไรไม่เสียหาย ทั้งคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่สามารถไปพร้อมกันได้ อยู่ที่ว่าจะเลือกจับไหม หรือจะได้ประโยชน์จากตรงนั้นไหม

คนจดจำคุณจากภาพประกอบแนวอเมริกันคอมิกส์ คุณได้ลายเส้นแบบนี้มาได้อย่างไร

ลายเส้นนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่เราเริ่มวาดภาพการ์ตูนช่วงแรกๆ เพราะเราเป็นคนเขียนภาพมังงะไม่ได้ เขียนการ์ตูนตาหวานไม่เป็นเลย และจำได้ว่าตอนเด็กๆ ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนของสไปเดอร์แมนมาก เราชอบฮีโร่ตัวนี้ที่สุดในมาร์เวล เราเลยฝึกวาดสไปเดอร์แมนจากการ์ตูนมาร์เวลมาเรื่อยๆ จนเราไปเรียนที่ออสเตรเลีย แล้วได้ไปวาดการ์ตูนให้กับนักเขียนคนหนึ่งในงาน Oz Comic-Con ปี 2014 ตอนนั้นเราหาข้อมูลจากการวาดภาพสไตล์ตะวันตกเยอะมาก ทั้งการลงสี การใช้ลายเส้น มุมภาพ มุมมอง กระทั่งช่วงที่หนังเรื่อง Mad Max: Fury Road ฉายที่ออสเตรเลีย ซึ่งก่อนหนังเข้าจะมีพรีคอมิกบุ๊ก คือเป็นการ์ตูนเล่มบางๆ ประมาณ 25 หน้า มาแจกหน้าโรงหนัง เราก็เก็บเล่มนั้นมาเผื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานอะไรสักอย่างในอนาคต

กระทั่งมาเริ่มทำงานแบบอเมริกันคอมิกส์จริงจัง ตอนช่วงทำงานการเมืองชุด The Amazing Thailand ตอนนั้นเรามาคิดว่าจะวาดแบบไหนให้แตกต่างจากคนอื่น ก็เลยกลับมามองที่ตัวเองว่าชอบอะไร อ๋อ ชอบอเมริกันคอมิกส์ เราเลยหยิบลายเส้นนี้มาก่อนอันดับแรก แล้วก็มาคิดต่อว่าจะเล่าเรื่องแบบไหนดี ซึ่งเราถนัดเล่าเรื่องแบบภาพเดียวจบ เหมือนภาพอิลลัสเตรชันก็คิดว่าเอาตรงนั้นมาผสมกันจนได้เป็นรูปแบบของปกหนังสือการ์ตูน แล้วก็สอดแทรกเรื่องราวของเหตุการณ์การเมืองหรือเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยเข้าไป

อย่างที่เห็นว่างานภาพประกอบของคุณมักเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองอยู่เสมอ คุณสนใจเรื่องการเมืองในแง่มุมไหน

ต้องบอกตามตรงว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องการเมืองลึกมากขนาดนั้น แต่เราเป็นคนชอบฟังข่าว ดูข่าว อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ทั้งฝั่งที่รัฐเขียน แล้วก็หนังสือนอกตำรา รวมถึงการฟังเรื่องราวจากคนอื่น ดังนั้น ในมุมมองการเมือง เราจะดูข่าวแล้วแปลสารมาเป็นภาพ ถ้าเราวาดตามทัศนคติส่วนตัว มันอาจออกมาไม่ครอบคลุม เพราะงานที่เราวาดจะเป็นคำถามปลายเปิดต่อไป ให้คนคิดได้ต่อ หรือไปหาข้อมูลต่อ เราเองไม่ได้วาดแค่ข่าวของฝั่งรัฐบาลอย่างเดียว เราวาดของอีกฝั่งหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยหยิบประเด็นข่าวที่มีการพูดถึงมากที่สุดมาทำเป็นคอนเทนต์

ยากไหมกับการเลือกทำงานในกับทุกฝ่าย ในยุคที่คนอาจมองว่าควรเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปเลย

มันค่อนข้างสร้างข้อจำกัดให้กับศิลปินในการวาดภาพการสร้างสรรค์มาก เพราะถ้าเราวาดบุคคลหนึ่งแล้วทำให้อีกฝั่งไม่พอใจ เราจะกลายเป็นคนผิดไปเลย ซึ่งมันยากมากที่จะเขียนเล่าเรื่องอย่างไรให้ทั้งสองฝั่งเห็นแล้วเข้าใจ และสามารถไปตีความต่อได้ แต่ตอนนี้จะเขียนอะไรออกมาก็เป็นเป้าโจมตีแน่นอน เพราะว่าตอนนี้เป็นช่วงที่มีการสู้กันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังไม่ได้มีการมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง และส่งผลมาถึงคนที่ทำงานสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่นักวาด แม้กระทั่งสื่อมวลชน การจะสื่ออะไรตรงไปตรงมาบางทียังยากเลย ด้วยระบบของประเทศซึ่งกดทับให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา จึงเห็นคนสร้างสรรค์งานศิลปะน้อยมาก บางคนก็หนีไปอยู่โลก NFT บางคนก็ไปทำงานสายอื่นเลย แต่เรามองว่ามันมีบริบทการเมืองสอดแทรกอยู่ในงานทุกชิ้น แค่จะมากหรือน้อยเท่านั้น

อีกประเด็นคือ ในช่วงที่ผ่านมามีนักวาดภาพประกอบหลายคนที่โดนรัฐคุกคาม ซึ่งมันก็สร้างบรรยากาศความกลัวให้กับคนทำงานศิลปะในบ้านเราค่อนข้างเยอะเหมือนกัน

อีกอย่างคือเวลาวาดต้องดูทิศทางลมด้วย คือวาดเอาสะใจทำได้ง่ายมาก แต่วาดให้คมคายแล้วสามารถส่งสารต่อไปให้กับคนดูทั้ง 2 ฝั่งได้ เราว่ายากกว่า

งานของคุณค่อนข้างเป็นเชิงสัญลักษณ์ ที่เป็นคำถามปลายเปิด ทำไมถึงไม่ใช้วิธีการสื่อสารตรงๆ แบบที่คนสมัยนี้ชอบเสพกัน

อย่างที่บอก ถ้าวาดแบบสื่อสารตรงๆ มันง่าย แต่การสื่อสารโดยซ่อนอีสเตอร์เอ้ก ซ่อนความหมายต่างๆ เราว่าดูน่าค้นหามากกว่า ซึ่งความจริงงานเราแทบจะไม่ได้ซ่อนอะไรเลย น้อยมาก แต่แค่หยิบเรื่องราวที่เป็นประเด็นมาจับใส่ตัวละครที่อยู่ในภาพเท่านั้น มันเป็นเรื่องราวช่วงเหตุการณ์ในวันนั้น เวลานั้น ยกตัวอย่างตอนคดีเสือดำ เราก็เลือกวาดบันทึกเหตุการณ์ช่วงนั้น หรือเหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าเราก็วาด ก่อนเลือกตั้งล่าสุดก็วาด วาดทุกเรื่องราวที่เป็นประเด็นทางสังคม ซึ่งพอมองย้อนกลับไปจากวันนี้ มันเหมือนเป็นการบันทึกผ่านการ์ตูนของเรา การเมืองบ้านเราร้อนแรงมาก ข่าวแต่ละข่าวก็รุนแรง เราเลยคิดว่าอย่างน้อยมันอาจช่วยลบความรุนแรงลงได้บ้าง

บางคนไม่ได้ฟังข่าว แค่มาเห็นภาพการ์ตูนเรา เขาก็ไปตามข่าวต่อ แล้วมันเป็นคำถามปลายเปิดว่า เขาจะไปหาคำตอบจากข่าวที่เขาเห็นจากภาพที่เราเขียนอย่างไร

คุณคิดว่าเรื่องการเมืองที่กลายมาเป็นป็อปคัลเจอร์หรือวัฒนธรรมกระแสหลัก จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไรบ้าง

เราคิดว่าไม่มากก็น้อยนะ แต่อาจจะต้องใช้เวลา มันอาจจะไม่ใช่ในช่วงเวลาหนึ่งหรือสองปี แต่อาจจะห้าปี สิบปี แต่ในอนาคตทุกคนจะกลับมามองว่า งานทางศิลปะสื่อต่างๆ หรือว่าทุกอย่างที่เป็นสายทัศนศิลป์ มันขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับการเมืองและวัฒนธรรมโดยที่เราไม่รู้ตัว เราเชื่อว่างานศิลปะเป็นพหุอย่างหนึ่ง และมีอานุภาพมากพอๆ กับปืน แต่อยู่ที่ว่าเราจะใช้ศิลปะในการสื่อสารอย่างไรให้คมคายมากพอที่จะเป็นสารออกไปถึงผู้มีอำนาจ หรือเปิดปัญญาให้กับคนที่ไม่เข้าใจเหตุการณ์ หรือให้กับคนที่มีความสนใจ 

ในมุมคนที่เป็นคนทำงานสร้างสรรค์มองว่าน่าเบื่อไหม ที่ยุคนี้มีแต่เรื่องการเมือง ซึ่งถ้างานของใครไม่แตะเรื่องการเมือง ก็อาจไม่ได้รับการพูดถึง

สำหรับเราไม่น่าเบื่อ แต่คนอื่นเราไม่รู้ เพราะว่าเราวาดงานหลายแนวมาก นอกจากการเมืองเราก็ยังวาดแฟนอาร์ต วาดโปสเตอร์หนังที่เป็นคอมิก วาดไพ่ วาดหนังสือการ์ตูน เราวาดหมด แล้วแต่คนจ้าง เราเลยหลีกหนีจากความน่าเบื่อเหล่านั้นไปทำงานอย่างอื่นได้

แต่ยอมรับว่าตอนที่วาดการเมืองช่วง 2 ปีแรก เราเครียดมาก เราเห็นข่าวทุกวัน เราวาดแทบจะทุกวัน พอช่วงหนึ่งมันพักไป เราก็ไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง อย่างน้อยมันก็ช่วยขัดเกลาจิตใจเราให้มันไม่ตีบตันจนเกินไป

ทุกวันนี้เราเห็นกลุ่มความสนใจต่างๆ ที่พยายามร่วมมือกันผลักดันประเด็นทางสังคม สำหรับกลุ่มที่เป็นศิลปิน มีการร่วมมืออะไรบ้างไหม

เท่าที่รู้จักก็มีการร่วมมือกันเขียนแคมเปญ เช่น ‘ยืน หยุด ขัง’ หรืออย่างของแอมเนสตี้ บางทีเขาก็จะมาโพสต์หน้าเฟซบุ๊ก พอนักวาดเห็นแล้วสนใจก็เข้าไปร่วมจอยกัน โดยมากจะรู้จักกันผ่านผลงานมากกว่า ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แล้วก็คุยกันผ่านเพจ พร้อมกับทำงานร่วมกันไปด้วย

ล่าสุด คุณมีโอกาสได้วาดภาพประกอบให้กับ ปฏิทินป๋วย 2565 ‘The 2475 Vanguard คณะราษฎร’ คุณมามีส่วนร่วมกับงานนี้ได้อย่างไร

ช่วงประมาณสองปีที่แล้ว เรามีโปรเจ็กต์หนึ่งคือ วาดรูปนายกรัฐมนตรีไทยวันละคนในรูปแบบโปสการ์ด แล้วเอามาพรีออร์เดอร์ขายเป็นโปสการ์ดรวม เหมือนเป็นการบันทึกเอาไว้ แล้วก็มีพิพิธภัณฑ์สามัญชนซื้องานโปสเตอร์ไป ทีนี้ก็มีพี่คนหนึ่งที่เขาอยู่กองบรรณาธิการที่ทำปฏิทินไปเห็น เขาชื่นชอบและบอกว่าลายเส้นอเมริกันคอมิกส์ของเรามีความเป็นสากล มันเป็นการเชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจติดต่อมา และบอกว่ากำลังมีโปรเจ็กต์จะทำปฏิทินคณะราษฎรปีนี้ เราเลยมีโอกาสได้มาร่วมงานด้วย

คอนเซ็ปต์ของปฏิทินคณะราษฏรคืออะไร ทำไมคุณถึงเลือกถ่ายทอดออกมาเป็นแนวนี้

ทีมงานให้วาดในรูปแบบลายเส้นของเราเลย ส่วนโจทย์คือเรื่องราวที่ว่า กลุ่มคณะราษฎรเคยมีบทบาททางสังคมอย่างไร ส่งผลอะไรในช่วงที่มีการยึดอำนาจมา เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา, จอมพล ป. หรือนายปรีดี เคยทำอะไรมาบ้าง พอได้โจทย์ตรงนั้นมา เราก็มาย่อยให้เป็นในรูปแบบมินิโปสเตอร์เล็กๆ คือเป็นโปสเตอร์การ์ตูนขนาดย่อม

ความจริงตอนแรกก็หวั่นเหมือนกัน แต่เราเชื่อมั่นในทีมงาน เพราะเขามีข้อมูลค่อนข้างแน่นมาก ซึ่งบุคคลบางคนในคณะราษฎรเรารู้จักผ่านแค่ตำราเรียน แต่อันนี้เป็นนอกตำรา บางคนเราไม่รู้จักด้วยซ้ำ แต่เราก็ยังมีโอกาสได้วาด มันเหมือนเป็นการได้เรียนประวัติศาสตร์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งโดยมากข้อมูลต่างๆ จะมาจากทีมงานที่เขาเล่าให้เราฟัง เราก็เอามาย่อยเป็นภาพวาดอีกที แต่เราคิดว่ามันไม่ได้มีเนื้อหาอะไรที่รุนแรง มันเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะมันก็ส่งผลมาถึงยุคสมัยนี้ ไม่ว่าเราจะพยายามลบแค่ไหน แต่ประวัติศาสตร์มันยังคงอยู่ รูปภาพก็มี วิดีโอก็มี มันลบไปไม่ได้อยู่แล้ว

เราคิดว่ามันเป็นการบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น เพื่อมาเปรียบเทียบดูในเหตุการณ์ปัจจุบันว่า เราควรจะเดินทางไปในทิศทางไหนต่อ จะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์หรือจากอดีตอย่างไร เพื่อมาปรับปรุงในปัจจุบันและอนาคตให้ดีต่อไป 

คุณกังวลไหมว่าการนำบุคคลในประวัติศาสตร์มาวาดในลายเส้นสไตล์อเมริกันคอมิกส์ ที่มีความเป็นตัวละครฮีโร่ในมาร์เวล อาจจะเป็นการยกบุคคลในเรื่องให้กลายเป็นฮีโร่ในสังคม

มีคนเคยถามเราเหมือนกันว่า ทำไมชอบเอาบุคคลที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของรัฐมาวาดให้เป็นซูเปอร์ฮีโร่ เราไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะมันคือลายเส้นของเรา แต่ด้วยสไตล์เราออกมาอย่างนั้น คนเลยไปตีความว่าเอาคนบุคคลเหล่านี้มาทำให้ดูเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ซึ่งเราไม่ได้พยายามชูให้ใครเป็นซูเปอร์ฮีโร่เลย เราแค่อยากวาดภาพเท่านั้นเอง จะให้เราเปลี่ยนเป็นลายเส้นอย่างอื่นก็คงไม่ใช่ เพราะมันเป็นลายเซ็นเรา มันเป็น fingerprint ของเรา

แล้วการที่งานดังกล่าวมาอยู่ในรูปแบบสิ่งของใกล้ตัวอย่างปฏิทิน ต่างกับการเป็นงานที่เราต้องไปดูตามพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีอย่างไรบ้าง

ต่างกันนะ อันนี้มันเป็นศิลปะในเชิงแบบพาณิชย์ศิลป์ การทำงานแบบนี้ไม่ต้องใส่ข้อความหรือใส่เนื้อหา เพราะอาจจะลึกเกินไป แต่แค่สื่อสารให้คนดูตรงๆ เป็นรูปพอตเทรตกับรูปสถานที่ ซึ่งต่างกับงานในแกลเลอรีหรือหอศิลป์ ที่เป็นงาน Pure Art ที่จะต้องเข้าถึงความคิด แล้วก็กระตุ้นปัญญา 

ความสนุกในการทำโปรเจ็กต์นี้สำหรับคุณคืออะไร

คงเป็นการได้ฟังเรื่องราวในอดีตของกลุ่มคณะราษฎรจากทีมงาน มันสนุกจนเหมือนเราเห็นภาพจริง เราฟังจนอยากจะเขียนการ์ตูนเป็นเล่มเป็นเรื่องเลย เราว่างานนี้น่าจะช่วยเติมเต็มอดีต ให้คนมองเห็นอดีตว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร จนถึงปัจจุบัน หรือยกตัวอย่างในปัจจุบัน เอาแค่ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยก็ยังมีการ์ตูนเลย ยิ่งสังคมมีความหลากหลาย มันยิ่งสนุกมากนะ แต่ความหลากหลายต้องไม่มีการไปโจมตีหรือไปคุกคามกัน ถ้าหลากหลายและสามารถเข้าใจกันได้ เราว่าสังคมมันไปด้วยกันได้ดีกว่าและไกลกว่า

สำหรับคุณ ความสำคัญของการได้มาทำงานในโปรเจ็กต์ปฏิทินคณะราษฏรนี้คืออะไร

มันทำให้เราเห็นว่า กลุ่มคณะราษฎรเมื่อ 80 ปีที่แล้ว เป็นกลุ่มคนที่มาก่อนกาล มาก่อนเวลา มาก่อนยุคสมัย เช่นเดียวกันกับกลุ่มเด็กที่ออกมาชุมนุมในปัจจุบัน พวกเขาก็มองเห็นอนาคตของพวกเขาเช่นกัน เขาต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทุกคนมีเป้าหมายอยากเห็นประเทศดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งบุคคลที่อยู่ในยุค 2475 เขาก็คิดแบบนั้นเช่นเดียวกัน เราว่า 80 ปีที่แล้วจนมาถึงตอนนี้ก็ไม่ได้ต่างกัน เหตุการณ์ก็ยังวนอยู่เหมือนเดิม แต่อย่างน้อยที่สุด มันเป็นการทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เลย แต่ต้องการจะลืมหรือลบไป เราจะไม่มีทางเดินที่สว่างไปกว่านี้ในอนาคต

Fact Box

  • ปฏิทิน The 2475 Vanguard คณะราษฎร จัดทำโดยมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปเพื่อโครงการอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในวาระครบรอบ 90 ปีอภิวัฒน์สยาม และ 110 ปีของคณะปฏิวัติติ ร.ศ. 130 จึงอยากพาผู้คนรำลึกถึง ‘เหล่าผู้ก่อการ’ และผลงานของพวกเขาที่ยังส่งผลต่อพวกเราจนถึงทุกวันนี้ ผ่านเรื่องราวของเหล่าผู้ก่อการในปฏิทินแต่ละเดือน

  • ปฏิทินป๋วย 2565 สั่งจองได้แล้วตั้งแต่วันนี้ในราคาเล่มละ 110 บาท จัดส่งฟรีทั่วประเทศ ทางเพจ 100 ปี ชาติกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์  หรือ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป หรือทางอีเมล [email protected]

Tags: , , ,