ถ้าหนังเรื่องหนึ่งคือส่วนผสมของต้นทุนชีวิตผู้กำกับ ‘บาส’ – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ บอกว่าต้นทุนของ One for the Road คือประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของเขา เขย่ารวมกับความสัมพันธ์ที่มีกับคนรอบข้าง

“ถ้าถามว่ามันเป็นหนังรักไหม มันอาจจะเป็นหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์มากกว่า” เขาว่า

ก่อนหน้าที่ One for the Road  จะเข้าฉายในประเทศไทย หนังเรื่องนี้เพิ่งไปคว้ารางวัล Grand Jury Prize ในเทศกาลหนังซันแดนซ์ และต้องรอฉายในบ้านเรากว่า 2 ปี อันที่จริง หนังว่าด้วยโร้ดทริปและภารกิจก่อนตายของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเรื่องนี้อยู่กับบาสมาตั้งแต่ปี 2018 นับตั้งแต่วันที่เขาได้รับการติดต่อจาก หว่องกาไว ผู้กำกับหนังรักที่มีลายเซ็นจัดอย่าง In the Mood for Love Happy Together, Chungking Express และอีกหลายเรื่องที่คนดูหนังยกให้เป็นตำนาน

ดีใจแค่ไหนที่ได้ยินว่าผู้กำกับระดับโลกชอบ ฉลาดเกมส์โกง ผลงานเรื่องล่าสุดของเขา ดีใจกว่านั้นคือหว่องเสนอตัวอยากโปรดิวซ์หนังให้ แต่ดีใจได้แค่ไม่นาน บาสก็กระโดดเข้าสู่ประสบการณ์การทำหนังที่น่าจะโหดหินที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต

ไม่ใช่เพราะหว่องกาไวเคี่ยวเกินไป ไม่ใช่เพราะบาสไม่มีทักษะมากพอ แต่ One for the Road คือหนังที่ ‘ส่วนตัว’ และชวนให้บาสตั้งคำถามกับความคิด ความเชื่อ และชีวิตของตัวเองแบบที่ไม่เคยทำกับเรื่องไหนมาก่อน

มากกว่านั้น นี่คือหนังว่าด้วยการขอบคุณ ขอโทษ และบอกลา ต่อผู้คนที่เคยผ่านเข้ามาและมีความหมายในชีวิตของเขา 

การได้ทำงานกับผู้กำกับในดวงใจอย่าง หว่องกาไว เป็นอย่างไรบ้าง

ความจริงแล้วพี่หว่องกาไวเข้ามามีส่วนร่วมเยอะที่สุด คือช่วงตอนทำบทกับการคัดเลือกนักแสดง เพราะมันคืออาวุธหลักของหนัง เป็นเหมือนตัวกำหนดไดเรกชั่นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่พอวันที่เขา Approved บทและได้นักแสดงแล้ว เขาก็ปล่อยมือจากโปรเจ็กต์เลย เราเคยทรีตเขาเป็นเหมือนลูกค้าโปรเจ็กต์ ส่ง Pre-production Book เสื้อผ้า หน้า ผม โลเคชันไปให้ แต่เขาไม่สน ไม่ดู เขาบอกยูอยากทำอะไรก็ทำ ถามว่าคุณจะไปออกกองด้วยไหมวันไหน เขาบอกไม่ไป ถ้าไปเดี๋ยวมึงเกลียดกูหนักกว่าเดิม (หัวเราะ)

ตั้งแต่ตอนก่อนถ่ายจนถึงโพสต์โปรดักชัน เราได้ฟังสตอรี ได้ฟังคำขู่จากหลายคนที่เคยทำงานกับเขามา แล้วก็ตั้งรับไว้ในระดับหนึ่ง พอเจอเขาหงายการ์ด ‘เรื่องของมึง’ แบบนี้ขึ้นมาก็คิดว่า เออ เซอร์ดีเหมือนกัน ไม่รู้ว่ายุ่งหรือว่าไว้ใจ (หัวเราะ) แยกไม่ออก

หนังของหว่องกาไวมักจะมีเอกลักษณ์ที่แฟนหนังจะเรียกว่า ‘กระทำความหว่อง’ พอเขาได้เป็นโปรดิวเซอร์เรื่องนี้ เขามีการคายตะขาบความหว่องมาให้คุณบ้างไหม

เราว่ามันเป็นการแชร์กันมากกว่า ข้อดีของหว่องคือ พอเราจับจังหวะการทำงานกับเขาได้ มันไม่เคยมีครั้งไหนที่เขาพูดว่า You have to do this (คุณต้องทำแบบนี้) เลย มันมีแต่ประโยคคำถามว่า What if (ถ้าหาก…) สิ่งนี้มันเป็นแบบนี้จะดีไหม เราก็จะพิจารณาแล้วก็เสนออีก What if กลับไปให้กับเขา เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วมันคือการแชร์รสนิยมกันและกัน ช่วยกันปั้นจนกลายเป็นหนัง ก็เลยไม่รู้ว่ามันมีการกระทำความหว่องไหม มันอาจจะมีก็ได้ในเชิงองค์ประกอบบางอย่างที่ก็เป็นความตั้งใจของผมเอง

แหม มีโอกาสได้ทำงานกับเขาทั้งที เราก็อยากจะซ่อนการ Tribute อะไรบางอย่างให้กับเขา ในฐานะที่เขาเป็นคนมอบโอกาสนี้ให้ แต่ในเชิงจิตวิญญาณและหัวใจสำคัญของมัน เราเชื่อว่ามันก็มาจากความเชื่อของเราค่อนข้างร้อยเปอร์เซ็นต์

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า One for the Road เวอร์ชันที่เราได้ดูกันนี้ไม่ใช่ไอเดียที่คิดไว้ตั้งแต่แรก เพราะในระหว่างช่วงเขียนบท หว่องกาไวล้มกระดานเวอร์ชันก่อนไป ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น

ไอเดียแรกที่จะทำไม่ใช่สตอรีนี้ แต่มันยังมีบิ๊กไอเดียเหลืออยู่คือเรื่องตัวละครหลักที่ใกล้จะหมดเวลาชีวิตแล้วอยากทำ Bucket List บางอย่าง เวอร์ชันก่อนมันค่อนข้างเป็นหนังรักแบบ Straight Forward มีตัวละครแบบชายหนุ่มหญิงสาวคนหนึ่งกำลังจะต้องลาจากโลกนี้ไปแล้วก็เดินทางไปทำ Bucket List ที่อยากทำด้วยกันจริงๆ ตามสถานที่ต่างๆ คือเราก็บอกไม่ได้นะว่าพล็อตไหนมันดีกว่ากัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในพล็อตแรกที่พัฒนากันไป เราทำงานในโหมดมือปืนรับจ้าง หมายถึงเรารู้ว่าสตอรีแบบนี้ เราก็หาทางจัดการกับมัน หากิมมิกที่คิดว่าคนหมู่มากจะสนใจ เป็นเรื่องที่รสชาติหวานทานง่าย ซึ่งสุดท้ายอาจจะไม่ได้ใส่ความชอบหรือตัวตนของเราลงไปในฐานะเชฟสักเท่าไร แต่มันอาจจะเป็นหนังที่ดีก็ได้นะ ไม่แน่ใจ (หัวเราะ) ที่แน่ๆ มันคนละโจทย์กัน

พอเราเขียนดราฟต์นั้นมาจนถึงจุดหนึ่ง พี่หว่องอ่านแล้วก็บอกว่าเราไม่น่าจะเชื่อในไอเดียนี้ เขาก็เลยลองให้ตั้งหลักใหม่ โดยยังคงความเป็น Bucket List ยังอยู่เหมือนเดิม แต่ทำยังไงให้ Bucket List นี้มันเป็นสิ่งที่เราเชื่อ 

หว่องกาไวรู้ได้อย่างไรว่าคุณไม่เชื่อในไอเดียนั้น

นั่นสิ ยังถามตัวเองว่ารู้ได้ยังไงวะ (หัวเราะ) ไม่ๆ แต่เราว่าหว่องเขาเป็นคนฉลาด เขาเข้าใจมนุษย์ จากที่เราสัมผัสคือหลังแว่นดำนั้น เขาสามารถมองทะลุและบอกได้เลยว่าเราเป็นคนแบบไหน คิดอะไรอยู่ และในขณะเดียวกัน เวลาที่เราพัฒนาตัวละคร เขาก็จะจี้ถามสิ่งที่เราคิดไม่ถึง จากที่เราคิดว่าเรารู้จักตัวละครแล้วนะ แต่พอเจอคำถามเขาแล้ว ไอ้เหี้ย กูไม่รู้จักเลยนี่หว่า พอเราตอบคำถามไม่ได้หลายๆ ครั้งเข้า ก็แปลว่าเราไม่ได้เชื่อในมันจริงๆ 

แล้วคุณทำอย่างไรต่อ

เราก็ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ในฐานะมนุษย์ เราอยากจะทำอะไรถ้ามันเป็นโอกาสสุดท้ายในชีวิตจริงๆ ซึ่งเราก็กินเหล้าไป 3 คืน แล้วก็ได้คำตอบมาว่าไอเดียหลักยังเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนตัวละครเซตใหม่ เปลี่ยนสถานการณ์ใหม่ เป็นมิชชันใหม่บนความเชื่อใหม่ และสิ่งที่อยากจะพูดใหม่หมด ค่อนข้างเป็นหนังคนละเรื่องกันเลย 

หากเปรียบหนังเรื่องนี้เป็นวงกินเหล้า หว่องกาไวถือว่าเป็นเพื่อนร่วมวงที่ดีไหม

เป็นเพื่อนกินเหล้าที่จะทำให้เราใส่ใจกับรสชาติค็อกเทลมากขึ้น

ถ้าให้ชั่งน้ำหนักระหว่างการเป็นหนังที่ทำตามโจทย์กับการเป็นหนังที่ถ่ายทอดเรื่องส่วนตัวมากๆ One for the Road เทน้ำหนักไปทางไหนมากกว่ากัน

โดยเรื่องราวมันค่อนข้าง Personal (ส่วนตัว) แต่สุดท้ายพอเราพัฒนากันไป เราก็ยังคงเล่าเรื่องราวที่ส่วนตัวนี้ด้วยท่าที่คิดว่าน่าจะเชื่อมกับคนวงกว้างให้ได้มากที่สุด ด้วยสตอรี ด้วย Execution ที่ยังเป็นวิธีการเดิมที่เราเคยทำ เพราะสุดท้ายแล้วพอพูดคำว่า Personal Story หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็ยังยืนยันคำเดิมว่าชีวิตเราไม่ได้มีอะไรที่พิเศษกว่าชาวบ้านเขานะ เราเชื่อว่ามีหลายๆ คนที่น่าจะมีชีวิตที่น่าสนใจกว่า แต่อย่างน้อยมวลสารความรู้สึกบางอย่างที่เราพูดถึงใน One for the Road มันคือความรู้สึกสากลที่หลายๆ คนน่าจะเข้าใจได้  

ความรู้สึกสากลที่ว่าคืออะไร

เราว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเราทุกคนคงเคยมีความสัมพันธ์หลายรูปแบบ ทั้งครอบครัว เพื่อน แฟน หรือแฟนเก่าเหมือนในหนัง ซึ่งเราก็เชื่อว่าถึงจุดหนึ่งในชีวิตเราต้องเคยทำร้ายคนอื่น ในเวลาเดียวกันเราก็โดนคนอื่นทำร้าย มันเหมือนเป็นเทปหน้า A หน้า B ที่มาคู่กัน

ความรู้สึกนี้มันเป็นความรู้สึกสากลที่เราต่างมีวิธีการรับมือกับมันไม่เหมือนกัน ทุกคนก็มีวิธีการรับมือกับสิ่งเหล่านี้ในแบบของตัวเอง นี่น่าจะเป็นจุดที่ทำให้หนังเรื่องนี้เชื่อมโยงกับทุกคนได้ อย่างเรื่องที่แล้ว เราไม่สามารถบอกได้ว่า มึงต้องเคยโกงข้อสอบสิวะ เพราะมันก็มีคนที่มันไม่เคยทำ แต่พอพูดถึงความรู้สึกอยากจะขอโทษและขอบคุณกับใครสักคนที่มีความหมายในชีวิตเรา เราว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สากล

คุณเคยใช้นิวยอร์กเป็นโลเคชันหลักใน Countdown และ One for the Road ก็ใช้เมืองเดียวกัน นิวยอร์กในหนังทั้งสองเรื่องนี้ต่างกันอย่างไร

One for the Road ใกล้ตัวกว่า

นิวยอร์กใน Countdown เป็นนิวยอร์กที่ผ่านสายตาของคนที่ไม่ใช่ตัวเราเอง แต่เป็นโลกที่เราเคยอยากจะไปใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น ขณะที่นิวยอร์กใน One for the Road คือโลกที่ตัวละครแม่งต้องไปอยู่นิวยอร์กในฐานะคนใช้แรงงาน คนที่ต้องทำงานในร้านอาหาร แล้วเกิดความสัมพันธ์ต่างๆ ขึ้น มันคือโลกที่เราผ่านมาแล้ว

เราไปนิวยอร์กตอนอายุ 25 ไปด้วยไม่มีอะไรจะเสีย ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ถึงก็เริ่มทำงานร้านอาหารจนผ่านไป 5 ปี ไม่เคยมีสัปดาห์ไหนที่ไม่ทำงานเลย 5 ปีที่เราอยู่ในโลกนั้นแบบจริงๆ จังๆ ทั้งที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องมาทำสิ่งนี้ เป็น 5 ปีที่เราเต็มที่กับชีวิต ทั้งในเชิงการเดินตามความฝันและการใช้ชีวิตในแต่ละวัน มันเติมเต็มและน่าจะเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต

เพราะการได้ไปอยู่นิวยอร์ก เราเลยได้ลองทำหนังสั้น และมันก็เป็นใบเบิกทางให้ได้กลับมาเริ่มอาชีพผู้กำกับที่ไทย มันเลยเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเรามากจริงๆ ใช้คำว่ามันเป็นกระดูกสันหลังในการทำงานทุกวันนี้ได้เลยนะ เราเลยคิดว่าถ้าเป็นไปได้ และถ้าไม่ยัดเยียดเกินไป เราอยากจะกลับไป Tribute ให้ช่วงเวลานั้นสักหน่อย 

พอมันเป็นหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ อยากรู้ว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ของคุณอย่างไร

ตอบยังไงไม่ให้โดนแฟนด่า (หัวเราะ) เรามองว่าทุกความสัมพันธ์เป็นต้นทุน โควตนี้มาจากพี่นุ่น ศิรพันธ์ และเรารู้สึกว่ามันสรุปภาพรวมของหนังเรื่องนี้ได้ดีมากเลย

ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่มัน Matter หรือไม่ก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนั้นมันเป็นต้นทุนของชีวิตเราหมดเลยว่ะ มันเป็นการลงทุนเวลา การลงทุนความรู้สึกที่พอผ่านไปแล้ว ไม่ว่าจะผ่านไปแบบดีหรือไม่ดี มันจะหล่อหลอมความคิดความเชื่อที่ส่งผลต่อเส้นทางชีวิตของเราในอนาคต 

มีหนังหลายเรื่องที่ผู้กำกับสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารถึงใครบางคนในชีวิตจริง One for the Road เป็นแบบนั้นหรือเปล่า

ใช่ มันเป็นจดหมายที่เราเอาไว้เขียนหาใครหลายๆ คนที่มีความหมายกับชีวิต หรือเคยมีความหมายกับชีวิตเราในจุดหนึ่ง ก็หวังว่าหลายๆ คนได้ดูแล้วจะสามารถรับแมสเสจเหล่านี้ที่เราอยากจะบอก ซึ่งเป็นแมสเสจที่เราไม่มีโอกาสได้พูดในชีวิตจริงหรือยังไม่มีโอกาสได้พูดในชีวิตจริง

กิมมิกสำคัญของ One for the Road คือเป็นหนังที่เล่าเรื่องชีวิตของบาร์เทนเดอร์ที่ฝันจะเปิดบาร์ของตัวเอง เรื่องนี้มาจากแพสชันอีกด้านของคุณด้วยใช่ไหม

ใช่ พอเราได้สตอรีแล้วเริ่มพัฒนาตัวละครกับหว่องกาไว มันดันเป็นช่วงที่เรากำลังจะทำ Mutual Bar พอดี ตอนนั้นยังไม่เปิดเลยนะ กำลังทำสถานที่ เริ่มศึกษาสูตรเครื่องดื่ม เริ่มก้าวเท้าเข้าไปในโลกนั้น แล้วพอต้องมาทำหนังด้วยในเวลาเดียวกัน มันเป็นช่วงเวลาที่เราจับเอาสองสิ่งที่กำลังอินที่สุดมาผสม แล้วมันก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หมายถึงว่าพอเขาถามมาว่าตัวละครควรประกอบอาชีพอะไร เราคิดแป๊บเดียวแล้วบอกว่าทำบาร์ เพราะมันเป็นสิ่งที่เรากำลังรู้สึกอินที่สุดในเวลานั้น แล้วก็ทำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ 

เห็นว่ามีการต่อยอดบาร์ One for the Road จากในเรื่องมาทำจริงๆ ด้วย

ตอนแรกไม่ได้วางแผนไว้ แต่มันเป็นความโชคดีในความโชคร้าย สาเหตุที่ทำจริงเพราะมันเป็นโลเคชันหลักในเรื่องเป็นบาร์ที่มีอยู่จริงในนิวยอร์ก เราถ่ายบางซีนไปแล้วแต่ยังไม่ครบ เพราะต้องรอฤดูเปลี่ยน แต่ปรากฏว่าในจังหวะที่เราถ่ายลอตแรกเสร็จแล้วบินกลับมาที่ไทย มันดันมีโควิดพอดี นิวยอร์กก็ปิดประเทศเลย ก็เลย อ้าว ฉิบหายแล้ว ทำยังไงวะ หนังก็ต้องถ่ายต่อ

สุดท้าย วิธีการแก้ปัญหาแบบมายาที่สุดก็คือการเซตอัพฉากนี่แหละ เซ็ตแบบจำลองไอ้บาร์นั้นที่เราถ่ายไปแล้วที่นิวยอร์กขึ้นมาใหม่ พอคำนวณเงิน เห็นตัวเลขแล้ว เราก็หันไปถามโปรดิวเซอร์ผมว่า ถ้าใช้เงินเยอะขนาดนี้เปิดจริงแม่งเลยไหมวะ ก็เลยลองไปถามคุณหว่องกาไวว่า แทนที่จะเซตในสตูดิโอ ขอหาโลเคชันจริงเลย เซ็ตมันขึ้นมา พอเสร็จแล้วก็รันมันเป็นบาร์จริงๆ เลยไหม เขาได้ยินอย่างนั้นก็เซย์เยสทันที ก็เลยเป็นที่มาของการได้เปิดบาร์ OFTR ที่ก็ย่อมาจาก One for the Road ซึ่งมีคุณหว่องกาไวเป็นหุ้นส่วนด้วย 

อีกจุดสำคัญของเรื่องนี้คือมันเป็นหนังเกี่ยวกับความตาย ในฐานะผู้กำกับ คุณมองความตายอย่างไร

มันเป็นสิ่งที่เราคิดถึงบ่อยขึ้นเมื่ออายุเยอะขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่ช่วงระหว่างการทำหนังเรื่องนี้ มีเหตุการณ์หนึ่งที่มันเกิดขึ้นจริงในชีวิตเราโดยที่ไม่ได้แพลนและไม่ได้ตั้งใจ แต่มันก็หล่อหลอมมุมมองที่เรามีต่อการทำ One for the Road และตัวละครหลักไปเยอะ

ระหว่างพัฒนาไอเดียกันกับพี่หว่องจนวันที่บทเขียนเสร็จ หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ เรามารู้ว่าเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตด้วยที่นิวยอร์ก หมายถึงใช้ชีวิตเหมือนอู๊ดกับบอสในเรื่องเลยนะ คือเป็นรูมเมทกัน ทำงานร้านอาหารเดียวกัน เที่ยวเล่นกินเหล้าด้วยกันมา แม่งเป็นมะเร็ง

เขาเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเหมือนที่อู๊ดเป็น แต่มันปิดเป็นความลับ วันที่เรารู้คือวันที่มันพ้นขีดอันตรายแต่ยังต้องแอดมิดอยู่ เราก็คิดว่า นี่มันเชี่ยอะไรวะ Art Imitates Life หรือยังไง จากนั้นก็ไปหามัน

กลายเป็นว่าพอเพื่อนรับรู้ถึงหนังที่เราจะทำ และเรารับรู้เรื่องการมีอยู่ของมะเร็งในตัวมัน เพื่อนคนนี้ก็มีบทบาทสำคัญในการทำหนังเรื่องนี้ ในเชิงว่ามันทำให้ความรู้สึกที่เราควรจะรู้สึกกับตัวละครมันชัดเจนขึ้น และเพื่อนคนนี้ก็ได้กลายมาเป็นแบบอย่างให้การแสดงของไอซ์ซึ (ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ ผู้รับบทอู๊ด) เขามาให้คำปรึกษา มาช่วยออกกองทั้งๆ ที่มันป่วยฉิบหายเลยนะ แล้วสุดท้ายมันก็อยู่ดูไม่ทัน เสียไปก่อนแล้ว

ถ้าถามว่ามุมมองที่เรามีต่อความตายในตอนนี้เป็นยังไง พอผ่านเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าความตายมันจับต้องได้มากขึ้นมั้ง แค่อย่าปล่อยให้มันมีบทบาทกับชีวิตเราในทางลบมากจนเกินไป แต่ในขณะเดียวกันมีสติรับรู้ถึงมันเพื่อทำให้เรามีสติในการใช้ชีวิตในแต่ละวันให้ดียิ่งขึ้น

คุณมี Bucket List ที่อยากทำก่อนตายไหม

ตอนนี้ไม่มีเลยนะ Bucket List สมัยวัยรุ่นคือการได้ทำหนัง เราก็ได้ทำแล้ว อยากทำอย่างอื่นไหม โดดบันจี้จัมพ์อะไรแบบนี้ ก็ไม่ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ชีวิตที่มีกับคนรอบข้างมันเป็นชีวิตที่เราก็แฮปปี้กับมัน

ไม่รู้ว่าจะเรียก Bucket List ได้หรือเปล่า แต่หลังจากนี้ยังอยากมีโอกาสทำงานที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็แล้วแต่ไปเรื่อยๆ แล้วก็ได้อยู่กับคนที่ตัวเองรักไปเรื่อยๆ แบบนี้มากกว่า ไม่มีอะไรโลดโผนเลย แก่แล้ว (ยิ้ม)

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า One for the Road มอบโอกาสให้คุณได้สำรวจสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน คือการวิเคราะห์และสำรวจตัวเองอย่างจริงจังในฐานะมนุษย์ ในการสำรวจนั้นคุณเจออะไรบ้าง

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เฮงซวยเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เอาจริงๆ มันไม่แปลกที่เราจะทำอะไรแย่ๆ ไม่ต้องปฏิเสธตัวเอง แต่ว่าพอยต์คือยิ่งเวลาผ่านไป เราผ่านประสบการณ์และความทรงจำหลายๆ อย่างที่เรามีกับคนอื่นหรือคนอื่นมีกับเรา มันคือการยอมรับในความเฮงซวยเหล่านั้น ยอมรับในข้อผิดพลาดเหล่านั้น แล้วก็หวังว่าจะใช้มันเป็นบทเรียนที่จะ Shape การกระทำเราในอนาคตได้ เราไม่รู้ว่าผมทำได้หรือยังนะ แต่ว่ามันก็เป็นการเตือนสติในระดับหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทำให้เราตั้งคำถามต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตมากขึ้น

ถ้าให้ทบทวน One for the Road เปลี่ยนมุมมองอะไรในตัวคุณบ้างไหม

ชีวิตมันก็เหมือนการกินเหล้า หมายถึงว่ามันมีส่วนผสมที่ทั้งหวานแล้วก็ทั้งขม ทั้งสดชื่นและทำให้เมาในเวลาเดียวกัน แต่ทุกส่วนผสม ทุกองค์ประกอบมันมีความสำคัญหมด ขึ้นอยู่กับว่าเราในฐานะบาร์เทนเดอร์เราต้องหาทางบาลานซ์เครื่องดื่มนี้ให้มันดีๆ เพื่อตัวเราเองและคนรอบข้างที่เขาต้องกินไปกับเรา

พอทำเรื่องนี้เสร็จ คุณพูดขอโทษหรือขอบคุณบ่อยขึ้นไหม

อยากย้อนกลับไปถามคนรอบตัวเรามากเลย อาจจะมีในชีวิตประจำวัน แต่มันก็ยังมีความสัมพันธ์หลายๆ ความสัมพันธ์ที่เรารู้สึกว่าอยากกลับไปพูดขอโทษและขอบคุณให้จริงจังและเป็นทางการ อยากให้คนเหล่านั้นได้ดูหนังด้วย แล้วหลังจากนั้นในชีวิตจริงอาจจะเป็นภาคขยาย

คนดูคาดหวังอะไรจาก One for the Road ได้บ้าง

พระเอกหล่อ (หัวเราะ) คำตอบเหี้ยมาก เอาจริงๆ ไม่อยากให้คาดหวังเลย เราว่าความคาดหวังแม่งเป็นอาวุธที่รุนแรงที่สุดเลยนะ อยากให้คิดว่าการดูเรื่องนี้เหมือนเราไปบาร์แล้วไปเจอเพื่อนใหม่สักคนที่เขากำลังเล่าเรื่องให้เราฟัง ลองเปิดใจ ใช้เวลากับเขา ฟังเรื่องราวเขาดู แล้วหลังจากบาร์ปิด กินแก้วสุดท้ายจบ ลองสะท้อนดูว่าเรื่องเล่านี้มันส่งผลกระทบอะไรกับความรู้สึกเราบ้าง

อาจจะไม่ส่งผลกระทบเลยก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก แต่ว่าอย่างน้อยก็คิดว่าคุณน่าจะมี Good Time ในระดับหนึ่งกับการดื่มเครื่องดื่มและได้สนทนากับสิ่งมีชีวิตด้วยกัน

สุดท้ายแล้ว ถ้าให้เลือกค็อกเทลแก้วหนึ่งที่แทนตัวคุณได้ดีที่สุด คุณจะเลือกแก้วไหน

เลือกแก้วเดียวยากไป (หัวเราะ) มนุษย์มันซับซ้อนมากเลย เราจะรู้ว่าแก้วเดียวมันบอกความเป็นตัวคุณไม่ได้ หรือบางทีคุณเลือกมาคนอื่นอาจจะบอกว่า มึงไม่ใช่แก้วนี้ก็ได้ มันยากที่จะพูดเหมือนกัน

แต่ถ้าให้เลือก น่าจะเป็น Spirit Forward เป็นเหล้าแรงๆ เพราะเราเป็นคนไม่หวาน แต่คิดว่าเป็นคนที่ดำดิ่งกับความรู้สึก

Tags: , , , ,