‘รักแรกมันลืมยาก ฉันคงลืมยาก’
‘อยากเป็นเฮอร์ไมโอนีจะเสกให้พี่มารักแต่หนู’
‘ฉันชอบตัวเองเวลาที่อยู่กับเธอ’
ไม่ว่าปกติคุณจะฟังเพลงไทยมากน้อยแค่ไหน ตราบใดที่ยังใช้ชีวิตในประเทศไทย เมื่อออกไปเดินห้างสรรพสินค้าหรือแวะร้านกาแฟ ก็คงต้องเคยได้ยินเนื้อเพลงข้างต้นผ่านหู ด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่จับใจ ร้องตามได้ทุกเพศทุกวัย ทำให้เพลงเหล่านี้กลายเป็นที่นิยมในวงกว้าง
ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘เนื้อเพลง’ ฮิตทั้งหมดนี้ ย่อมหนีไม่พ้นเหล่านักแต่งเพลงทั้งหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ นักแต่งเพลง นักร้องไกด์ และโปรดิวเซอร์สาว ที่ฝากผลงานไว้กับวงการเพลงไทยมากกว่า 200 เพลง นับตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของค่ายกามิกาเซ่ (Kamikaze) มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อทีมงาน The Momentum ตัดสินใจทำมินิซีรีส์ ‘T-Pop: Back on Top’ ชื่อของแอ้มจึงเป็นชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึง
คอลัมน์ The Frame ชวนมาพูดคุย ถกเถียง เกี่ยวกับอุตสาหกรรม T-Pop ผ่านมุมมองของผู้หญิงคนหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงมาเกินหนึ่งทศวรรษ เพื่อหาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า
เพลงไทยมีโอกาสไปไกลระดับโลกได้หรือไม่?
สูตรความสำเร็จของ ‘เพลงแนวกามิ’ ที่คนยังคงรักและคิดถึง คืออะไร?
แล้วเมื่อไรที่ T-Pop จะป็อปปูลาร์สมชื่อได้จริงๆ?
ถอดรหัสความสำเร็จ ‘กามิกาเซ่’
ย้อนไปยุคก่อนค่ายกามิกาเซ่รุ่งเรือง คุณมองว่าแนวเพลง T-Pop มีให้เห็นในวงการดนตรีบ้างหรือยัง และหากมี เป็นเพลงลักษณะไหน หรือเป็นผลงานของศิลปินคนใด
ความจริงเราได้ยินคำว่า T-Pop ครั้งแรกตอนอยู่กามิกาเซ่ ถ้าเข้าใจไม่ผิด คนแรกที่พูดถึงคำนี้คือ พี่เอฟู (ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์) หัวเรือใหญ่ค่ายกามิกาเซ่ ตอนนั้นเริ่มจากมี J-Pop และ K-Pop เป็นที่นิยม พี่เอฟูก็บอกว่าเรากำลังทำ T-Pop อยู่
ส่วนเรื่องเพลงของกามิกาเซ่ที่พี่เอฟูอยากจะสร้างให้เป็น T-Pop เป็นช่วงที่ทำเพลงแบบผสมผสานความเป็นไทยเข้าไปในเมโลดี เพลงที่ชัดมากๆ คือ เหงาปาก – K-Otic เป็นเพลงที่มีความเป็นดนตรีไทย และมีสเกลที่เรียกว่าเพนทาโทนิก (Pentatonic Scale)
ปัจจุบันคำว่า T-Pop กว้างขึ้น หลายคนมีนิยามเป็นของตัวเอง บางคนบอกว่า ถ้าเป็นเพลงไทยแล้วป็อปก็คือ T-Pop จึงไม่อยากบอกว่าอันไหนใช่หรือไม่ใช่ แต่ถ้าให้ถอดลักษณะของ T-Pop เราคิดว่าเพลงไทยมีเอกลักษณ์ คือมีเมโลดีจำง่าย ร้องตามได้ ฟังแล้วติดหู เพราะคนไทยชอบสนุกสนานเวลาดูคอนเสิร์ต ชอบร้องเพลง ร้องคาราโอเกะ เพลงไทยที่ฮิตๆ ก็จะมีเมโลดีที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป มีท่อนฮุกติดหู ยิ่งปัจจุบันมี TikTok เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงดัง ท่อนฮุกก็ยิ่งต้องติดหูเข้าไปใหญ่ เพราะคนคาดหวังจะเอาท่อนฮุกไปตัดใช้ใน TikTok
พูดถึงเอกลักษณ์ของเพลง T-Pop โดยรวมไปแล้ว หากเจาะจงมาที่ค่ายกามิกาเซ่เอง จะเห็นว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นมากเช่นกัน ถึงขั้นมีการแปะป้าย ‘เพลงแนวกามิ’ เกิดขึ้น อยากทราบว่า ความจริงแล้วองค์ประกอบของ ‘เพลงแนวกามิ’ ต้องมีอะไรบ้าง
ครั้งแรกที่ฟังเพลงของกามิกาเซ่แล้วรู้สึกตกใจ คือเพลง MSN – เฟย์ ฟาง แก้ว เราฟังวิทยุอยู่แล้วลุกขึ้นมาเลย มีคำหนึ่งแวบขึ้นมาว่า ‘วงการเพลงวัยรุ่นไทยมีความหวังแล้ว’ เรารู้สึกขนาดนั้นเลย มันเป็นเพลงสไตล์ใหม่และมีพลังบวกมากๆ
ตอนแรกเราไม่ได้ทำงานกับค่ายกามิกาเซ่เยอะขนาดนั้น ได้ฟังเพลงพวกนี้ก่อนในฐานะคนนอก รู้สึกว่า ในแง่ของดนตรี เพลงกามิมีซาวนด์สังเคราะห์ผสมเยอะหน่อย เมโลดีฟังง่าย ร้องตามง่าย มีความน่ารัก แต่ก็จะมีจุดที่แปลกๆ หน่อย เช่น มีแรปหรือมีเมโลดีที่ร้องรัวๆ ซึ่งยุคก่อนหน้านั้นจะไม่มีเพลงแนวนี้
ดีไซน์การร้องก็สำคัญมาก กามิกาเซ่จะมีดีไซน์การร้องเฉพาะตัว เช่น การไถโน้ต ถ้าโตมากับกามิจะมีธรรมชาติตรงนี้อยู่ จะเห็นนักร้องรุ่นใหม่ๆ ไถโน้ตแบบนี้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ มีการฝืนโน้ตบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องแต่งเนื้อเพลงให้ลงเมโลดีนะ แค่เป็นการดีไซน์โน้ตอีกแบบหนึ่ง พี่เอฟูอยากดึงเอกลักษณ์ของนักร้องแต่ละคนออกมาจริงๆ เช่น หวาย (ปัญญริสา เธียรประสิทธิ์) เป็นเด็กที่พูดภาษาอังกฤษตลอด พอร้องภาษาไทยแล้วไม่ชัด พี่เอจะมองว่าเป็นเสน่ห์ ยิ่งใช้ตรงนี้เป็นจุดขาย ไม่ค่อยเปลี่ยนสำเนียงของนักร้องมากเกินไป หรืออย่าง K-Otic เราก็จะได้ยินแต่ละคนร้องสำเนียงไม่เหมือนกัน มีทั้งภาษาเกาหลีและญี่ปุ่นอยู่ในเพลงได้ด้วย
รู้สึกว่ากามิกาเซ่มีความสนุกอยู่ในเพลง มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ค่อยมีเพลงเรียบๆ แบบที่ผู้ใหญ่ฟังได้ทั้งเพลง มันจะต้องมีท่อนที่ฟังแล้วเอ๊ะ ในช่วงนั้นผู้ใหญ่บางส่วนก็จะรู้สึกเกลียดและขัดใจเพลงกามิกาเซ่
ในเมื่อเป็นดนตรีแนวใหม่ที่ขัดหูผู้ฟังหลายคน ทำไมค่ายกามิกาเซ่จึงยังโด่งดังและประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น
ในความรู้สึกเราคิดว่าเพลงเพราะ มีอะไรบางอย่างที่รู้สึกว้าว และถ้าพูดถึงเนื้อหาของเพลง ค่ายจะรีเสิร์ชเลยว่าเด็กวัยรุ่นพูดจาอย่างไร ช่วงนี้วัยรุ่นทำอะไรกัน เช่น เพลง ‘ขัดใจ’ เพลงเปิดตัวค่าย ก็ทำรีเสิร์ชเยอะมากว่าช่วงนี้อะไรกำลังฮิต เรารู้สึกว่ากามิกาเซ่เป็นมากกว่าเพลง แต่เป็นป็อปคัลเจอร์ เนื้อเพลงแต่ละเพลงอาจมีคำฮิตในตอนนั้น ทำให้คนที่เริ่มฟังเพลงในยุคนั้นรู้สึกว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเพลง และมีเนื้อหาเข้าใจง่าย ทีมเบื้องหลังก็จะคุยกันว่าเนื้อหาเพลงมันเกิดจากที่เด็กวัยนี้จะพูดหรือเปล่า เด็กวัยนี้สามารถอกหักได้ประมาณไหน กว่าจะเขียนเนื้อเพลงแต่ละเพลงออกมาได้เป็นเรื่องยากมาก
พัฒนาการของ T-Pop
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแส T-Pop กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง พร้อมกำเนิดเหล่าเกิร์ลกรุ๊ปและไอดอลมากมาย ในมุมมองของคุณ เป็นเพราะอะไร
เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เราเคยคุยกับพี่ๆ ในวงการว่า ช่วงนี้ไอดอลกำลังเกิดขึ้นในบ้านเราเยอะขึ้น ทุกคนพูดเหมือนกันว่า การสร้างตลาดไอดอลต้องมาแบบเป็นภาพรวมทั้งวงการ ถ้ามีวงเดียวจะแปลกๆ ซึ่งช่วงแรกไม่มีงานที่รองรับไอดอลเลย วงที่เกิดใหม่จะหางานยากมาก มีคนส่วนหนึ่งที่มองว่า ไอดอลขายแค่หน้าตา เขาไม่เข้าใจว่าไอดอลสมัยนี้เก่งทุกอย่าง ทั้งร้องและเต้นก็ต้องดี หน้าตาก็ต้องดีด้วย ไม่ใช่คนธรรมดาจะเป็นได้ ช่วงแรกจึงอาจมีคนที่พร้อมเป็นไอดอลจริงๆ ไม่เยอะมาก เพราะเป็นวงการที่กำลังพัฒนา แต่ปัจจุบันมีเยอะขึ้นเพราะตลาดพร้อมขึ้น คนเปิดใจและให้ความสนใจมากขึ้น เมื่อมีวงหนึ่งและอีกหลายวงตามมา ทำให้เราสามารถจัดงานเฟสติวัลที่มีไอดอลเยอะๆ ได้ กลุ่มคนที่ชอบดูโชว์แบบไอดอล ชอบดู Performance ก็จะรวมตัวกันสนับสนุนไอดอลหลายๆ วง
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของไอดอลคือ Performance ถ้าเราอยากจะเข้าใจไอดอลแบบสมบูรณ์แบบ เราต้องดู Performance บนเวทีเท่านั้น ถ้าดูแค่เอ็มวีก็อาจดูผ่านๆ ไป ทีนี้เมื่อก่อนเรามีเวทีน้อยมาก ทำให้ไอดอลไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่พอเริ่มมีเวทีมากขึ้น เอเจนซีเริ่มซื้อไอดอลเป็นพรีเซนเตอร์ ทำให้ความนิยมเกิดขึ้น ตอนนี้วงการไอดอลคึกคักมาก มีคนอยากลองเสี่ยงกับวงการนี้มากขึ้น
อีกอย่างที่ช่วยคือซีรีส์วาย คือคนกลุ่มนี้จะมีน้องๆ ที่มีลักษณะคล้ายไอดอลมาร้องเพลงประกอบซีรีส์ เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างวัฒนธรรมแฟนคลับ ซึ่งวัฒนธรรมแฟนคลับช่วยสนับสนุนวงการนี้ได้ดีมาก เพราะการทำงานแบบนี้ไม่ได้ขายแค่ตัวเพลง แต่ต้องการคนสนับสนุน เช่น เมื่อศิลปินปล่อยเพลงออกมาแล้วเขากดซื้อเพลงใน iTunes ถึงจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มันทำให้ค่ายเพลงทำงานต่อได้ หรือการที่ศิลปินออกงานแล้วมีคนมาดู ก็ทำให้ศิลปินมีงานต่อไป แฟนคลับมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้วงการไอดอลอยู่ได้
มีเสียงวิจารณ์ว่าเพลง T-Pop ทุกวันนี้เน้นเกาะกระแส หยิบคำฮิตในโลกอินเทอร์เน็ตมาแต่งเพลง คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
คิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย สมมติเราเอาคำที่กำลังฮิตในช่วงนี้มาแต่งก็มีความเสี่ยงสูงเหมือนกันนะ กว่าจะแต่งเพลง ถ่ายเอ็มวี และอื่นๆ ถ้าเกิดมีคนอื่นปล่อยเพลงก่อนเรา ชื่อเพลงเหมือนกันเลยจะทำอย่างไร การใช้คำฮิตมันมีความเสี่ยงที่จะซ้ำกับคนอื่นอยู่แล้ว และถ้าสมมติตอนนี้คำนี้ฮิตมาก อีกสามเดือนคนเขาเลิกพูด เพลงก็จะกลายเป็นเพลงเก่าไปเลย เทียบกับเพลงที่แต่งเป็นเนื้อธรรมดาก็จะเป็นเพลงที่อยู่ได้เรื่อยๆ
แล้วคุณคิดว่าการนำคำฮิตมาแต่งเพลงเป็นการลดทอนความลึกซึ้งหรือคุณค่าของเพลงไหม
จะเป็นการลดทอนก็ต่อเมื่อท่อนอื่นไม่มีอะไร ถ้านำคำฮิตมาเป็นจุดดึงดูดเฉยๆ แต่ส่วนอื่นของเพลงก็คิดมาอย่างละเอียดเหมือนเพลงปกติ มันก็จะยังทำให้เพลงนั้นมีคุณค่าอยู่ แต่ถ้าแค่ใช้คำนี้ แล้วส่วนที่เหลือช่างมัน เขียนเพลงออกมาฟังไม่รู้เรื่อง นั่นคือการลดคุณค่า แต่ไม่ได้ลดเพราะคำ ลดเพราะคนทำเพลงไม่ใส่ใจ เราต้องดูที่วัตถุประสงค์ของการทำเพลงด้วย ถ้าเขาตั้งใจจะขายแค่คำนี้ก็ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเขาใช้คำนี้เป็นประตูให้คนกดเข้ามาฟัง อันนี้เราว่าไม่เป็นไร
เมื่อพูดถึงการแต่งเพลงแบบไม่ใส่ใจเนื้อหา ทำให้เรานึกถึงแอปฯ TikTok ขึ้นมา มีเสียงวิจารณ์ว่าสมัยนี้คนพยายามทำเพลงให้ฮิตติด TikTok โดยเน้นท่อนฮุกที่ติดหู แต่ท่อนอื่นไม่มีอะไร คุณคิดเห็นอย่างไร
เป็นเรื่องจริง เราเคยได้ยินคนพูดว่า เพลงสมัยนี้ทำแค่สองประโยคในฮุกก็พอแล้ว เดี๋ยวคนก็ฟังแค่สิบห้าวินาทีนั่นแหละ แต่เราไม่ทำแบบนั้นเพราะไม่รู้ว่าทำเพลงให้ฮิตใน TikTok แล้วจะได้อะไร เราต้องการให้เพลงเป็นเพลงที่ฟังได้ในทุกแพลตฟอร์ม เรารักทุกเพลงที่ทำออกไป ฉะนั้นถ้ามันฮิตอยู่แค่สิบห้าวินาทีเราก็เสียใจนิดหนึ่ง หรือเพลงประกอบซีรีส์ก็ทำขึ้นมาเพื่อให้ซีรีส์นั้นมันสมบูรณ์แบบขึ้น ทุกเพลงควรมีหน้าที่ของมัน แต่ถ้าสมมติเป็นเพลงที่มีโจทย์ว่าทำขึ้นเพื่อ TikTok จริงๆ ก็ถือว่าตอบโจทย์ในเรื่องนั้น แต่หากเป็นเพลงที่ทำขึ้นเพื่อซีรีส์แล้วมีแค่สองประโยคที่น่าสนใจ แต่ส่วนที่เหลือเละเทะ ก็ไม่สนับสนุนเท่าไร
เพลงที่ประสบความสำเร็จสำหรับคุณคือเพลงแบบไหน
เราคาดหวังไม่ค่อยเยอะมาก สำเร็จในแพลตฟอร์มไหนก็ได้สักแพลตฟอร์มหนึ่ง สมมติเป็นเพลงประกอบซีรีส์ แค่ผู้กำกับโทรศัพท์มาบอกว่า วางเพลงนี้ลงไปในฉากแล้วน้ำตาไหลเลย ก็คือสำเร็จแล้วสำหรับเรา ถ้าคนฟังไม่ด่าก็โอเค (หัวเราะ)
ถ้าเป็นเพลงซิงเกิลอาจจะคาดหวังเยอะขึ้นนิดหนึ่ง เพราะศิลปินที่ทำซิงเกิลเขาต้องทำเพื่ออยู่ต่อในวงการ หากเพลงมันเงียบเราอาจจะเกร็งและเครียดนิดหนึ่งว่า ศิลปินเขาจะเดือดร้อนไหม หรือเขาจะโดนตัดงบฯ ในเพลงหน้าไหม เราจึงชอบทำเพลงประกอบซีรีส์มากกว่า แค่ทำเพลงให้เข้ากับฉากให้ดีที่สุด ถ้าเพลงจะฮิตต่อก็ถือเป็นแต้มบุญของเรา แต่หากทำเพลงซิงเกิลเราต้องเดาใจคนทั้งประเทศว่าเขาจะชอบไหม จะมีคนฟังเยอะไหม มีกระแสไหม ถ้าทำให้ศิลปินสามารถต่อยอดงานของเขาได้ก็จะดีใจมากๆ
ปกติคุณเลือกวัตถุดิบในการแต่งเพลงอย่างไร หยิบยกมาจากประสบการณ์จริงบ้างไหม
เอามาจากคนอื่นตลอดเลย ไม่ค่อยชอบเอาความรู้สึกของตัวเองมาแต่ง เดี๋ยวอินเกินแล้วตรวจงานไม่ได้ (หัวเราะ) แต่ในความไม่อินมากก็ควรมีความเข้าใจนิดหนึ่ง เช่น คนที่กั๊กๆ ในความสัมพันธ์ ถ้าเราไม่เคยเจอเองจะไม่เข้าใจ เราฟังคลับฟรายเดย์ตอนเด็กๆ เราจะรู้สึกว่า ก็แค่ต้องเลิกป่ะ แต่พอเราเคยเจอเรื่องแบบนี้ เราจึงเข้าใจว่าเลิกไม่ได้เว้ย ต้องใช้เวลา เราจะเริ่มรู้ความรู้สึกของคนนั้นแล้วว่าการที่เลิกไม่ได้เป็นอย่างไร
อีกอย่าง ถ้าจะเขียนเพลงก็ต้องคำนึงถึงระดับของความรักด้วยว่ามันอยู่ในช่วงไหน เพิ่งแอบรัก รักแล้วไม่บอกเพราะอะไร กำลังรวบรวมความกล้าอยู่หรือไม่คิดจะบอกรักเลยก็แตกต่างกัน เป็นเรื่องของจิตวิทยาความรักมากกว่า
ในกระบวนการเขียนเนื้อร้องให้ศิลปินสักคนหนึ่ง มีขั้นตอนอย่างไรที่ทำให้เพลงตรงกับคาแรกเตอร์ของเขามากที่สุด
จะมีศิลปิน 2 แบบ คือศิลปินที่อยากให้เพลงดูเป็นตัวเองมากๆ และศิลปินที่อยากเล่าเรื่อง ถ้าเป็นศิลปินที่อยากได้เพลงแนวพูดถึงตัวเองมากๆ เราจะคุยกับเขาเยอะหน่อยว่า เขามีทัศนคติกับความรักอย่างไร ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้เขาจะทำอย่างไร สมมติศิลปินบอกว่าถ้าอกหักเราก็หาใหม่สิ เราก็จะไม่เขียนเพลงแนวอกหักจมปลักให้กับเขา เพราะตัวจริงเขาไม่ทำแบบนั้น ส่วนศิลปินที่อยากเล่าเรื่องออกไปให้ดีที่สุด เช่น ศิลปินสายร้องจริงๆ ที่เขาอยากเป็นผู้ถ่ายทอด เราจะดูเรื่องของโน้ตหรือคำที่เข้าปากเขามากกว่า แต่อย่างไรเนื้อเพลงก็ต้องไม่ขัดกับความเชื่อของคนที่มองเข้ามามากเกินไป เช่น พี่ป๊อบ ปองกูล เราคงไม่ทำเพลงแนวรักครั้งแรกให้เขา เพราะว่าโตแล้ว เพลงแนวไม่เคยรักใครมาก่อนในชีวิตคงไม่ใช่
ช่วยยกตัวอย่างศิลปินสักคนที่คุณทำเพลงโดยอิงจากคาแรกเตอร์ของเขาให้ฟังหน่อย
นุนิว (ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์) คือก่อนหน้าที่จะมาทำซิงเกิล นุนิวมีเพลงประกอบซีรีส์มาประมาณ 10 เพลงแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นร้องในฐานะตัวละคร เมื่อจะทำซิงเกิลแรก เพลงจึงต้องบอกเล่าความเป็นนุนิวดีมากๆ ซึ่งก็มานั่งวิเคราะห์กันว่านุนิวคืออะไร นุนิวบอกว่าเขาร้องอะไรก็ได้ แต่เพลงที่เคยร้องแล้วสบายใจที่สุดคือ รักแท้ กับ จะรักฉันอยู่ไหม ซึ่งเป็นเพลงช้า เราเลยรู้สึกว่าเอาเป็นเพลงช้าเถอะ ส่วนเนื้อเพลง นุนิวเป็นคนที่อะไรก็ได้ ยอมคนอื่นตลอด ถ่อมตัวมาก ชอบทำตัวเล็กๆ รักแฟนคลับ จึงนำตรงนี้มาเขียนเป็นเพลงชื่อ หมอนอิง ที่พูดถึงประมาณว่า ไม่ต้องเกรงใจที่เราทำอะไรให้ เพราะความรักของเราคือแค่นี้แหละ ไม่ต้องรักตอบก็ได้ ถ้าวันไหนอยากจะรักก็ค่อยรักแล้วกัน เนื้อเพลงคือนุนิวเลย
คุณติดตามฟีดแบ็กของผู้ฟังมากน้อยแค่ไหน และฟีดแบ็กเหล่านี้มีผลต่อการแต่งเพลงในอนาคตของคุณหรือไม่
ส่งผลนะ คือมีน้อยมากที่คนจะว่า แต่ถ้ามีเราก็จะนอยด์ เพราะเราไม่ได้มั่นใจขนาดนั้น ไม่เคยคิดว่า “ฉันมีผลงานมาตั้งเยอะแล้ว เธอเป็นใครมาว่าฉัน” ไม่ได้คิดแบบนั้นเลย เพราะเราไม่ใช่คนเบื้องหน้าที่เป็นนักร้องและคนชอบฟังเสียงของเรา ไม่ได้มีใครมานั่งสนใจขนาดนั้นว่าใครเป็นคนแต่งเพลง ทุกเพลงที่เราทำจึงเป็นการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
ถ้ามีสิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่ คงเป็นประมาณว่า “ทำไมเพลงนี้เขาแต่งแบบนี้ เหมือนไม่ตั้งใจทำเลย” เรารู้สึกโกรธกับคำพูดแบบนี้เพราะเราไม่เคยไม่ตั้งใจ แต่บางทีมันเป็นโจทย์ หรือเป็นทิศทางของวง ของค่าย แล้วมาว่าเราว่าทำไมไม่ทำเหมือนเพลงนั้นเพลงนี้ ก็ทิศทางมันต่างกัน
มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เพลงเพลงหนึ่งฮิตขึ้นมา เช่น เพลง เจ็บเมื่อไหร่ – KRIST ตอนแรกก็เงียบๆ แต่เราคิดอยู่แล้วว่าเพลงนี้ควรจะดังใน TikTok ได้ พอมีคนหยิบมาเต้น แล้วท่าเต้นมันใช่ มันก็ดังมาก จึงรู้สึกว่าก็มีโชคชะตาบ้างในบางที เมื่อเพลงดังขึ้นมาคนก็จะไม่ว่าเราแล้ว แต่ก่อนที่เพลงจะดัง หรือหากเพลงไม่ดัง เขากลับว่าเรา มันไม่ยุติธรรม เราตั้งใจเท่าเดิม เพลงนี้มันก็อยู่ของมัน แค่ขึ้นอยู่กับว่าจะดังหรือไม่ดังอย่างนั้นเหรอ เธอก็ว่าเราเหรอ บางครั้งเราก็ท้อเหมือนกัน ถ้าทำงานกับใครแล้วมีคนว่าเยอะๆ เราก็จะไม่กล้าทำเพลงให้คนนั้นไปเลย
ขอสามเพลงที่คุณยกให้เป็นมาสเตอร์พีซของตัวเอง นับตั้งแต่เริ่มเส้นทางนักแต่งเพลงมา
เราขอเลือกเป็นเพลงที่มีผลอะไรบางอย่างกับชีวิต และดูจากเสียงตอบรับต่างๆ ด้วยแล้วกัน ก็จะเป็นเพลงแรกที่ทำ คือเพลง รักได้รักไปแล้ว – โฟร์ มด เป็นเพลงที่แต่งทำนองและเนื้อเพลงท่อนฮุก เหมือนเป็นเพลงที่กำหนดหน้าที่การทำงานของเราว่าเราถนัดเพลงช้า สไตล์ Pop หรือ R&B จึงทำให้เราได้งานสไตล์นี้ต่อมาเรื่อยๆ เมื่อเพลงแรกของเรามีเสียงตอบรับที่ดีทำให้รู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว ความจริงดีใจตั้งแต่เฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) เลือกเพลงนี้มาเป็นเพลงโปรโมตแล้ว ไม่เช่นนั้นเราคงไม่กล้าแต่งเพลงอื่นๆ ต่อ
ต่อมาเป็นเพลง ภาพจำ – ป๊อบ ปองกูล เพลงนี้เป็นเพลงที่สร้างเครดิตหลายๆ อย่างให้กับตัวเอง เป็นเพลงที่ได้ร่วมงานกับศิลปินชายแนวร็อกๆ หน่อย ซึ่งในวันนั้นพี่ป๊อบดูเป็นรุ่นใหญ่มากเมื่อเทียบกับเราที่โนเนมประมาณหนึ่ง ทำให้คนอื่นมองว่าเราเก่งขึ้นจากเพลงนี้ องค์ประกอบของเพลงมันลงตัวจริงๆ โดยเฉพาะเสียงร้องของพี่ป๊อบที่ทำให้เพลงนี้ดูสูงส่งขึ้นมาก ก่อนหน้านั้นแอ้มมักถูกคนถามว่า “เธอเคยทำเพลงให้กามิกาเซ่เหรอ เธอทำเพลงรุ่นใหญ่ได้ไหม” หรือ “เป็นผู้หญิงจะทำเพลงผู้ชายได้เหรอ” เราก็ไม่รู้จะตอบอย่างไรเพราะเราไม่มีผลงานไปยืนยันกับเขา แต่จริงๆ ในวงการนี้ ผู้ชายแต่งเพลงผู้หญิงเยอะนะ โฟร์ มด หรือ Girly Berry คนแต่งเป็นผู้ชายตลอดนะ แล้วทำไมผู้หญิงแต่งเพลงผู้ชายไม่ได้ เพลงภาพจำเป็นเพลงที่ทำให้คนเชื่อว่าแอ้มทำเพลงแบบนี้ได้ เราจึงได้รับงานแนวผู้ใหญ่ต่อมาอีกเรื่อยๆ
และล่าสุดคือเพลงรักแรก – นนท์ ธนนท์ ที่เรารู้สึกว่า ไม่เคยเจอสิ่งนี้มาก่อน เพลงขึ้นชาร์ตทุกที่พร้อมๆ กัน เป็นครั้งแรกที่มีคนถ่ายวิดีโอมาให้ดูว่าเอาเพลงไปร้องในงานหนึ่ง แล้วคนดูร้องตามได้ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย เป็นเพลงที่เด็ก ผู้ใหญ่ และทุกคนฟังได้ทั้งหมด ทำให้รู้สึกประหลาดใจเหมือนกัน เพราะแอ้มชอบฟังเพลงบัลลาดที่เป็นออริจินัลซาวนด์แทร็กหรือเกาหลีหน่อยๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่น่าจะได้รับความนิยมในไทย เพลงนี้ก็ไม่ได้ใช้คำศัพท์วัยรุ่น เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ตอนแรกไม่ค่อยได้พื้นที่สื่อด้วยซ้ำ เราก็ลุ้นเหมือนกันว่าจะไปได้ไหม แต่ตอนนี้กลายเป็นเพลงที่ทุกคนร้องได้ วันก่อนไปงานปิดกล้องละครเรื่องหนึ่ง นักดนตรีที่ร้านบอกว่า “เพลงนี้เป็นเพลงประจำคนกรุงเทพฯ ไปแล้ว คนขอทุกวันเลย” เราจึงรู้สึกว่า เฮ้ย เพลงนี้ได้รับความนิยมจริงๆ ดีใจมาก ต้องขอบคุณคนทำดนตรีด้วย คือคุณชล (ชลทัศน์ ชาญศิริเจริญกุล) และที่สำคัญมากคือนนท์ ธนนท์ ที่ทำให้ทุกคำในเพลงนี้มันเพราะจริงๆ ไม่มีคำไหนที่นนท์ร้องไม่เพราะเลย เพลงนี้ทำให้เรารู้ว่าถ้าทำเพลงที่เพราะมากๆ และจับความรู้สึกคนได้จริงๆ แม้จะเป็นเพลงแนวที่ไม่น่าได้รับความนิยม มันก็สามารถนิยมขึ้นมาได้ ไม่ต้องพยายามตามกระแส
คุยเรื่องบทบาทนักแต่งเพลงของคุณมามากแล้ว อยากรู้เกี่ยวกับการเป็น Music Director รายการ 789 Survival บ้าง
เราเคยทำ Music Direction ของรายการ The Star ค้นฟ้าคว้าดาว และ LAZ iCON มาแล้ว แต่ความท้าทายของ 789 Survival คือการตัดสินนี่แหละ (หัวเราะ) ที่อยากทำรายการนี้เพราะเราเห็นว่าเด็กๆ ทั้ง 24 คน น่าสนใจ และอยากทำรายการกับพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) อยู่แล้ว
สิ่งที่เราทำคือการเตรียมเพลงว่าเราจะเตรียมอย่างไรดี และสื่อสารกับเด็กทั้ง 24 คน สิ่งที่ยากมากๆ คือเราต้องจำเสียงของทุกคนได้ว่า คนนี้ร้องเสียงอย่างไร ต้องจินตนาการว่าถ้าคนนี้ร้องแบบนี้จะดี หรือคนนี้ร้องแรงกว่านี้ได้ เราต้องเข้าใจธรมชาติของเสียงน้องๆ ทั้ง 24 คน ซึ่งก็ใช้เวลาอยู่ประมาณหนึ่ง เช่นเพลง LIMIT BREAK 24 ก็เป็นเพลงที่ยากมากเพราะเป็นเพลงคีย์สูงที่น้องไม่น่าร้องได้ แต่สุดท้ายพอลองดูก็เห็นว่าน้องทำได้ ทำให้เราเชื่อว่าเราต้องพยายามทลายกำแพงศักยภาพของศิลปินออกมาจึงจะเจอสิ่งที่ดีกว่า บางทีน้องๆ นำเพลงแนวนี้มาเสนอ ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เราคิด แต่เราก็รู้สึกดีไปอีกแบบ ทำให้เราเปิดใจทำงานรูปแบบใหม่ๆ ได้
ความคาดหวังต่อวงการ T-Pop ในอนาคต
คุณคิดว่าจุดอ่อนและจุดแข็งของวงการ T-Pop คืออะไร
จุดอ่อนคือเงินน้อย (ตอบทันที)
อันนี้คือเรื่องจริง เทียบกับเกาหลีใต้ที่เขามีเม็ดเงินเยอะมาก คือเขาได้เงินจากการขายเพลงเยอะมาก หรือถ้าแอ้มเป็นโปรดิวเซอร์เกาหลีใต้ ทำงานเยอะเท่าที่ทำตอนนี้ ก็น่าจะเป็นเศรษฐีแล้ว (หัวเราะ) ในประเทศไทยอาจเริ่มดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่หลายคนก็ยังมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ดีๆ อยากสร้างเพลงขึ้นมาก็สร้าง เหมือนเราไม่ได้ใช้เงินเลย ยังมีคนถามแอ้มว่า “ทำไมคิดราคาการทำเพลงแพงจัง ทำเพลงก็ไม่มีต้นทุนนี่” เฮ้ย ความจริงมันมีนะ มีทั้งความรู้ที่เราต้องศึกษา ค่าไฟก็ต้องใช้ ไหนจะค่านักดนตรี ค่าห้องอัด และค่าโอกาสอีก มีหลายสิ่งมาก แต่คนที่ยังไม่เข้าใจในส่วนนี้มีเยอะมาก
ก่อนหน้านี้ช่วงที่เป็นการออกเทปหรือแผ่นซีดี ทุกคนยังได้เงินจากการขายแบบเป็นชิ้นเป็นอัน แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัล คนฟังเพลงฟรีมากขึ้น รายได้ส่วนนี้จึงลดไปเยอะมาก ทุกวันนี้ถึงเพลงจะฮิตก็ไม่ได้เงินหลักล้าน แฟนคลับที่อยากซัพพอร์ตจะเข้าใจเลยว่า การที่เขาเข้าไปกดซื้อเพลงใน iTunes มันช่วยได้เยอะมากๆ ทำให้มีเงินมาซัพพอร์ตค่ายและศิลปิน หรือเมื่อเราทำสินค้าออกมาขาย มันไม่ใช่การแสวงหาผลกำไรเสียทีเดียว เป็นการทำเพื่อให้อยู่รอดเหมือนกัน
ส่วนจุดแข็งคือ T-Pop ฟังง่าย ร้องตามได้ง่าย ถ้าร้องเนื้อเพลงไม่ได้ก็ยังฮัมตามได้ง่าย เพราะเมโลดีของเพลงไทยค่อนข้างติดหู ไม่ยากเกินไป และส่วนตัวรู้สึกว่าวงการซีรีส์วายทำให้เราเห็นอะไรบางอย่าง เช่น ซีรีส์ไปดังในต่างประเทศ เมื่อเพลงประกอบซีรีส์ไปดังอยู่ที่ประเทศอื่น ไปขึ้นชาร์ตวิทยุประเทศอื่น หรือเวลาที่นักแสดงและศิลปินไปทัวร์แล้วคนที่นั่นร้องตามได้ ทั้งที่เนื้อเพลงเป็นภาษาไทยแต่เขาก็ฝึกร้องมา เราจึงรู้สึกว่าเพลงไทยมีศักยภาพที่จะไปต่างประเทศ หรือถ้าเพลงใดมีเนื้อร้องภาษาอังกฤษ เขาก็จะยิ่งร้องได้ ถ้าเกิดเราเจอกันตรงกลางโดยทำเพลงที่มีภาษาอังกฤษแล้วช่วยกันซัพพอร์ตไปสู่ต่างประเทศ เราคิดว่าศิลปินไทยน่าจะไปได้อีกเยอะ ซีรีส์วายทำให้รู้ว่าต่างชาติก็ชอบเพลงไทยเหมือนกันนะ เช่นคนญี่ปุ่นร้องเพลงคั่นกู – ไบรท์ วชิรวิชญ์ ตามได้ เราจึงรู้สึกว่าเพลงไทยและศิลปินไทยไม่ได้ด้อยเลย
ในอนาคต คุณอยากให้ภาครัฐสนับสนุนวงการ T-Pop เรื่องอะไรบ้าง
อาจมีเฟสติวัล หรือการที่เราจะไปทำเพลงต่างประเทศก็ต้องอาศัยการประสานงานของรัฐ จะทำให้เกิดผลงานได้ง่ายขึ้น เช่น หากสถานทูตเป็นคนพาศิลปินไปต่างประเทศ ก็จะง่ายกว่าเอกชนติดต่อเอง ไม่แน่ใจว่าภาครัฐทำได้ถึงจุดไหน หรือทำอะไรได้บ้าง แต่รู้สึกว่าต้องมีการสนับสนุน ถ้าเขาเปิดให้หารือเรื่องนี้ก็จะรีบไปเลย (หัวเราะ)
ยกตัวอย่างวงการของเกาหลีใต้ ที่ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนั้นเพราะภาครัฐเขาสนับสนุน ตอนนี้ในประเทศไทยคนก็เริ่มออกมาเรียกร้องเรื่องนี้กันมากขึ้น ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ก็ได้ แอ้มรู้สึกว่าวงการเพลงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่อาจทำให้คนอยากมาเที่ยวไทยก็ได้ สมมติมีเอ็มวีเพลงหนึ่งที่ดัง แล้วเอ็มวีนั้นถ่ายที่แลนด์มาร์กของไทย ก็อาจเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว อาหารไทย วัฒนธรรมไทย แบรนด์เสื้อผ้าของไทย หรือสิ่งอื่นๆ ได้อีกเยอะมาก อยากให้ดูวงการ K-Pop เป็นตัวอย่างว่าที่เขาทำสำเร็จเพราะเขาไปด้วยกันทั้งหมด
คิดว่า T-Pop Back on Top หรือยัง
ยังค่ะ คิดว่าเรายังไปได้อีก ที่สำคัญเลยคือเราไประดับโลกได้ แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
Tags: T-POP, T-Pop Back on Top, tpop, kamikaze, 789survival, อัจฉริยา, โปรดิวเซอร์, The Frame