เริ่มด้วยคำท้าทาย ดำเนินด้วยเสียงหัวเราะ และจบลงด้วยรอยยิ้ม

ข้างต้นคือสมการง่ายๆ ที่ทำให้การละเล่น ‘บอร์ดเกม’ เป็นกิจกรรมยอดนิยมของคนทุกวัย ตั้งแต่วงครอบครัว เพื่อนฝูง จนถึงสมาชิกในที่ทำงาน จะเพื่อสานสัมพันธ์หรือผ่อนคลายเน้นสนุกก็ดีไม่แพ้กัน จึงไม่แปลกใจที่กิจกรรมดังกล่าวจะมีวิวัฒนาการเนิ่นนานกว่า 2,000 ปี 

Spyfall, AZUL, CAMEL UP, CASCADIA ฯลฯ คือชื่อสารพัดบอร์ดเกมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ด้วยการออกแบบกลไกวิธีเล่นเหนือชั้น สามารถพลิกแพลงตามไหวพริบผู้เล่น แต่กว่าจะถึงมือผู้เล่นอย่างเราๆ กลับไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไรนัก เมื่อต้องฝ่าฟันกระบวนการมากมาย ทั้งเจรจาลิขสิทธิ์จากเจ้าของฝั่งต่างประเทศ นำมาแปลเป็นภาษาไทยด้วยถ้อยคำเข้าใจง่าย ก่อนจะใช้กระดาษและหมึกคุณภาพดีพิมพ์ออกมา

เช่นเดียวกับ ‘Tower Tactic Games’ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบอร์ดเกมเบอร์ต้นของประเทศไทย ที่คงวิธีการคุณภาพข้างต้น และที่มากกว่านั้นคือคอนเซปต์การขับเคลื่อนองค์กรที่เน้น ‘ความสนุก’ จนสามารถเทียบเคียงกับองค์กรจำหน่ายบอร์ดเกมชั้นนำรายอื่นๆ เห็นชัดจากเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาคือโต้โผในการจัดมหกรรมบอร์ดเกมระดับโลก ‘CMON EXPO Thailand 2023’ 

เนื่องในปีที่พวกเขามีผลงานน่าประทับใจ เราไม่รอช้ารีบติดต่อชวน แบงค์-วันเฉลิม เตรียมล้ำเลิศ ผู้บริหาร Tower Tactic Games มาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นขององค์กรแห่งนี้ วิธีการบริหารงานด้วยความสนุก และความเชื่อที่ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพดีพอจะเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของอุตสาหกรรมธุรกิจบอร์ดเกมโลก

จากความสนุกเล็กๆ ในกลุ่มเพื่อนฝูง สู่ความตั้งใจที่อยากเห็นวัฒนธรรมบอร์ดเกมเติบโตในประเทศไทย

“สวัสดีครับ ต้องขอโทษล่วงหน้า วันนี้ภายในออฟฟิศอาจจะดูวุ่นวายเล็กน้อย” ชายหนุ่มร่างสมาร์ต บุคลิกดี เดินเข้ามาทักทายเราพลางขอโทษขอโพย

 ใช่แล้ว เขาคือวันเฉลิม ชายที่เรานัดแนะมาสนทนากันในวันนี้ ท่ามกลางความวุ่นวายภายในออฟฟิศ เพราะมีชาวต่างชาติมากหน้าหลายตามาเจรจาติดต่อร่วมงานกับพวกเขา ก่อนวันเฉลิมจะพาเราปลีกตัวออกมาหามุมสงบ แต่ที่น่าสังเกตคือไม่ว่าจะมุมไหนก็ล้วนมีบอร์ดเกมวางเรียงรายทุกตารางนิ้ว

“จุดเริ่มต้นของ Tower Tactic Games เกิดขึ้นเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมและกลุ่มเพื่อนสนิทที่มหาวิทยาลัยราว 6-7 คน มักใช้เวลายามว่างจากการเรียนทำกิจกรรมร่วมกัน กระทั่งมารู้จักกับวัฒนธรรมการเล่นบอร์ดเกม แรกๆ ก็เล่นสนุกกันตามคาเฟ่ ก่อนจะลองซื้อมาเล่นกันเอง ซึ่งเกมแรกที่ซื้อมามีชื่อว่า CAMEL UP กับ Sheriff of Nottingham (หยิบกล่องบอร์ดเกมขึ้นมาให้ดู) จากที่เล่นแค่ตามคาเฟ่ ก็เริ่มนัดแนะไปเล่นที่บ้านเพื่อนบ้าง บางครั้งก็พกติดไปเล่นตอนเที่ยวไกลๆ

“ช่วงนั้นคาเฟ่บอร์ดเกมอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต ถ้าจำไม่ผิดในกรุงเทพฯ น่าจะมีอยู่เกือบ 10 ร้าน หลังเรียนจบผมกับเพื่อนๆ ยังนัดรวมตัวเล่นบอร์ดเกมเป็นครั้งคราว แต่สมาชิกอาจจะไม่ครบเท่าเดิม (หัวเราะ) เพราะแต่ละคนก็มีหน้าที่การงานเป็นของตัวเอง” วันเฉลิมย้อนวันวานให้เล่าฟังด้วยรอยยิ้ม 

ถึงกระนั้น จากความชอบคนเด็กมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง กลับพลิกผันกลายเป็นธุรกิจคาเฟ่บอร์ดเกม ที่วันเฉลิมกล่าวเต็มปากว่า กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและเป็นช่วงที่คู่แข่งในวงการมีอยู่แค่หยิบมือเท่านั้น

“ถ้าถามว่า จู่ๆ จากคนเล่นบอร์ดเกมธรรมดา ทำไมถึงมาลงมือทำธุรกิจบอร์ดเกมเสียเอง คงต้องบอกตรงๆ ว่า เราเห็นความเป็นไปได้ที่ธุรกิจนี้จะเติบโตและสามารถทำกำไรได้ ผมกับกลุ่มเพื่อนก็เลยไปรีเสิร์ชว่า ถ้าจะเปิดธุรกิจประเภทนี้หลักๆ ต้องมีอะไรบ้าง พอเราศึกษาทำความเข้าใจแจ่มแจ้ง จึงค่อยตัดสินใจเปิดคาเฟ่บอร์ดเกมชื่อว่า The Stronghold ที่สยามสแควร์ ซอย 9

“ช่วงแรกที่เปิดตัวบรรยากาศภายในร้านครึกครื้นใช้ได้เลยนะ เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของเรา คือกลุ่มเพื่อนฝูงหรือครอบครัวที่กำลังหัดเล่นบอร์ดเกมร่วมกัน แต่ละวันก็จะมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ อีกมุมหนึ่งก็ตรงกับอีกหนึ่งความตั้งใจของเราที่อยากเห็นวัฒนธรรมการเล่นบอร์ดเกมแพร่หลายในคนหมู่มาก” 

เพราะได้ ‘เปิดโลก’ จึงตัดสินใจขยับขยายกิจการในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบอร์ดเกมเบอร์ต้นของไทย

“แล้วเพราะอะไรคุณกับเพื่อนๆ จึงตัดสินใจขยายกิจการมาเป็น Tower Tactic Games” ผมถามเพราะความฉงน จากสายตาคนนอกการขยับขยายกิจการจากตัวแทนจำหน่าย สู่ผู้นำเข้าและผู้ผลิตดูจะเป็นอีกโลกหนึ่ง ว่ากันตามตรงก็เหมือนยืนอยู่บนเส้นด้าย ที่อาจเป็นเส้นทางถึงจุดหมายหรือตกลงสู่ก้นบึ้งความล้มเหลว

“หลังจากเปิดร้าน The Stronghold สักระยะ ผมมีโอกาสได้เดินทางไปที่งาน SPIEL ESSEN ซึ่งเป็นงานบอร์ดเกมระดับโลกของประเทศเยอรมนี ที่นั่นผมมีโอกาสได้พูดคุยสำนักพิมพ์บอร์ดเกม บริษัทบอร์ดเกม และผู้ส่งออกบอร์ดเกมรายต่างๆ เขาก็แนะนำว่า คุณสามารถซื้อลิขสิทธิ์บอร์ดเกมมาแปลภาษาและจัดจำหน่ายเองในไทยได้นะ หลังจากนั้นเราก็เริ่มกรุยทางนำบอร์ดเกมต่างๆ ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษมาขาย

“ที่เยอรมนีสังคมบอร์ดเกมของเขาพัฒนามาเกือบ 50 ปี จนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของบ้านเขา ช่วงที่เราไปงานเฟสติวัลดังกล่าวถือเป็นช่วงที่บอร์ดเกมกำลังพีกสุดขีด ลองนึกตามเหมือนงานบอร์ดเกมที่จัดในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่มีพื้นที่จัดใหญ่กว่า 5-6 เท่า ภายในงานนอกจากสินค้าวางจำหน่าย ก็จะมีฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ในวงจรอุตสาหกรรมบอร์ดเกม ตั้งแต่ดีไซเนอร์เกม สำนักพิมพ์ อินฟลูเอนเซอร์ในวงการ จนถึงตัวแทนจัดจำหน่าย

“แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากๆ คือตอนที่เดินทางด้วยรถไฟ ไม่ว่าจะขบวนไหนก็ตาม มักจะเห็นใครต่อใครหยิบบอร์ดเกมขึ้นมาเล่นบนโต๊ะเพื่อฆ่าเวลา เช่น พ่อแม่ที่สอนลูกเล่นเพื่อหวังฝึกทักษะการตัดสินใจ หรือวันหยุดสุดสัปดาห์คนเยอรมนีก็มักจะนัดเพื่อนฝูงมาเล่นบอร์ดเกมจริงจัง ในฐานะคนไทยผมรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องใหม่มากเลยนะ และผมก็หวังว่า Tower Tactic Games จะสามารถสร้างบรรยากาศแบบนี้ในสังคมบ้านเราได้บ้าง ไม่ใช่แค่ในร้านคาเฟ่บอร์ดเกมแต่หมายถึงในทุกๆ ที่” วันเฉลิมเล่ายาวถึงความประทับใจที่เขาไม่มีวันลืม ซึ่งกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นและปณิธานสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรของเขา

ทุกอย่างไปได้สวยเพราะพื้นฐานเริ่มจาก ‘ความสนุก’ 

ถ้าถามว่า Tower Tactic Games ณ เวลานี้เติบโตขนาดไหน ในแง่ตัวเลขคงไม่ใช่คำตอบเสียเต็มประดา แต่หากมองในมุมมูลค่าแบรนด์และโอกาสเติบโตในบ้านเราคงจะพออธิบายได้ เพราะหลังเติบโตในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายจนกลายเป็นเบอร์ต้น ‘CMON’ บริษัทบอร์ดเกมยักษ์ใหญ่จากฮ่องกงจึงตัดสินใจยื่นสัญญาควบรวมกับพวกเขา เพื่อขยายศักยภาพธุรกิจบอร์ดเกม รวมไปถึงการขยับขยายอุตสาหกรรมบอร์ดเกมในบ้านเราและเอเชีย โดยเฉพาะการจัดมหกรรมบอร์ดเกมส์ ‘CMON EXPO Thailand’ ที่ได้รับการตอบรับดีเกินคาด

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากสินค้าที่วางจำหน่ายไม่เตะตาโดนใจผู้บริโภค และนี่ถือเป็นจุดเด่นของ Tower Tactic Games กับการคัดสรรเกมจากต่างประเทศมาแปลและพิมพ์ผลิต โดยสมัยตั้งไข่เมื่อ 8 ปีก่อน พวกเขาเริ่มแปลจากเกม ‘AZUL’ ซึ่งภายหลังได้รับรางวัล ‘Spiel des Jahres’ หรือเวทีรางวัลบอร์ดเกมระดับโลกปี 2018 

แต่คำถามสำคัญคือ แล้วพวกเขามีเซนส์หรือเทคนิคในการเลือกเกมมาแปลภาษาและวางจำหน่ายอย่างไร

“ปัจจัยแรกแรกคือเล่นแล้วต้องสนุก (หัวเราะ) ในฐานะผู้จัดจำหน่าย ฟังก์ชันการเล่นหรือธีมเกมเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนกันได้ แต่ความรู้สึกแรกถ้าจะเลือกบอร์ดเกมสักชิ้นมาขาย คือหลังทดลองเล่นจบแล้วต้องสนุก 

“ฟังดูเหมือนง่ายแต่นี่เป็นเกณฑ์สำคัญมากๆ บอร์ดเกมมีหลายประเภท ทั้งเกมแนวปาร์ตี้ แนววางแผน แนวสำหรับครอบครัว หรือแนวสำหรับเด็ก ฉะนั้น ไม่มีทฤษฎีใดดีไปกว่าเล่นแล้วสนุก เล่นแล้วประทับใจอยากกลับไปเล่นอีกครั้ง 

“ปัจจัยที่สองคือขายได้ไหม มีหลายเกมที่เราลองเล่นแล้วรู้สึกสนุก แต่พอมาดูว่ากลุ่มเป้าหมายของเกมนี้เป็นใครเรากลับไม่รู้เสียอย่างนั้น ฉะนั้น หน้าที่ต่อมาของเราคือต้องรีเสิร์ชว่ากลุ่มเป้าหมายเกมนี้เป็นใคร มีกลุ่มเป้าหมายใหญ่ขนาดไหน แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าจะไปต่อดีไหม แต่ถ้าจนแล้วจนรอดไม่มีแววเลย ก็ต้องย้อนกลับไปคุยกับดีไซเนอร์เกมว่า คุณเปลี่ยนธีมได้ไหม เปลี่ยนฟังก์ชันการเล่นได้หรือเปล่า แต่ต้องคงความสนุกอยู่นะ” 

“ปัจจัยที่สามคือเรื่องของอาร์ตเวิร์ก ยกตัวอย่างเกมที่ดีไซน์ตัวหมากหน้าตาเป็นผีเสื้อ งู หรือสัตว์ประเภทใดก็ตาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่ก็ต้องระวังเพราะอาจจะมีคนบางกลุ่มที่กลัวสัตว์ประเภทที่ว่า”

จากความน่าสนใจของวิธีการข้างต้น ขณะเดียวกัน ยังสามารถสอดแทรกวิธีการบริหารองค์กรได้อย่างน่าสนใจ โดยวันเฉลิมอธิบายเสริมว่า ช่วงพักกลางวันหรือช่วงที่ไอเดียตีบตัน บรรดาพนักงานจะรวมกลุ่มเล่นบอร์ดเกม ทั้งรูปแบบที่วางจำหน่ายแล้วหรือรูปแบบ Prototype ประโยชน์ประการแรกเพื่อผ่อนคลาย ประการที่สองคือการกระชับความสัมพันธ์ในองค์กร และประการสุดท้ายคือการทดลองสินค้าไปในตัว ทำให้พนักงานทุกภาคส่วนคือผู้ตัดสินใจว่า เกมไหนบ้างที่จะผ่านเข้ารอบรอวันวางจำหน่าย

ร่วมผลักดัน ‘ดีไซเนอร์’ และ ‘ผู้เล่น’ สู่เวทีบอร์ดเกมระดับโลก

ถึงตรงนี้คงไม่ใช่แค่เรื่องกลยุทธ์การวางขายสินค้าหรือหวังผลกำไรที่ Tower Tactic Games ให้ความใส่ใจ เพราะวันเฉลิมยืนยันว่า พวกเขายังคงความตั้งใจที่จะผลักดันอุตสาหกรรมบอร์ดเกมทุกภาคส่วนให้เติบโตทัดเทียมประเทศอื่นๆ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างดีไซเนอร์และนักเล่นบอร์ดเกมหรือที่ผู้นิยามว่า นักกีฬา B-Sport 

“เมื่อสำเร็จในแง่ของช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เราจึงตัดสินใจร่วมกับบริษัท B2S และ CMON จัดการประกวดดีไซเนอร์บอร์ดเกมที่มีชื่อว่า ‘EUREKA’ ซึ่งเราเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์บอร์ดเกมทั่วประเทศสามารถส่งผลงานเข้ามาประกวด ผ่านการคัดเลือกจากกรรมการ 5 รอบ จนได้ผู้ชนะเลิศ เช่นในปี 2021 ที่ผู้ชนะเลิศคือเกม BUILDER OF BABEL

“แต่ขณะเดียวกัน ดีไซเนอร์ก็สามารถเดินเข้ามานำเสนองานกับเราได้นะ เช่นเกมที่มีชื่อว่า SLOT MACHINE ที่ออกแบบโดยคุณมนตรี ทองรุ่งรัต เขานำโปรโตไทป์ของเกมดังกล่าวมานำเสนอกับเรา ชนิดที่ยังไม่มีหน้าตาอาร์ตเวิร์กใดๆ พอเราทดลองเล่นก็สัมผัสได้ถึงความสนุกและศักยภาพของตัวเกม เราเลยตัดสินใจร่วมกับดีไซเนอร์ช่วยกันพัฒนาฟังก์ชันการเล่นจนสมบูรณ์ รวมถึงหน้าตาอาร์ตเวิร์กจนมีหน้าตาสากลสามารถขายได้ในไทยหรือดีพอส่งขายต่างประเทศ

“นิยามของ SLOT MACHINE คือเกมดวง วิธีการเล่นเหมือนคุณต้องหยอดเหรียญลงตู้สล็อตแมชชีนเพื่อให้ดวงไฟวิ่ง จากนั้นคุณต้องทายว่าดวงไฟจะหยุดวิ่งตรงตัวเลขใด โดยคุณสามารถกำหนดการวิ่งได้เล็กน้อยเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาเท่ากับแจ็กพ็อต

“ถ้าดูผ่านๆ จะแทบไม่รู้เลยว่า SLOT MACHINE เป็นเกมที่คนไทยออกแบบ เพราะเราได้ศิลปินดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง TAN-STAR มาช่วยออกแบบให้อาร์ตเวิร์กมีความเป็นสากล มีกลิ่นอายความเป็นไซเบอร์พังก์

“หรือในแง่ของ B-SPORT เราก็พยาพยามผลักดันผู้เล่นผ่านงาน CMON EXPO Thailand โดยแต่ละปีก็จะสลับบอร์ดเกมที่ใช้แข่งขันกันไป เช่น ปี 2021 คือ AZUL, ปี 2022 คือ CASCADIA และปี 2023 คือ Century Golem

“เสน่ห์ของบอร์ดเกม คือแต่ละเกมมีเรื่องราวและกติกาวิธีการเล่นที่แตกต่างกัน ไป เหมาะสำหรับการเป็นสื่อบันเทิง ขณะเดียวกัน ก็เหมาะกับการใช้แข่งขันในฐานะ ‘กีฬา’ คนที่จะประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้ได้ก็ต้องผ่านการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ผมดีใจนะที่หลายๆ ภาคส่วนช่วยกันผลักดันจนเกิดคำว่า B-SPORT คงจะดีถ้าสักวันบอร์ดเกมถูกบรรจุเป็นชนิดกีฬาในทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ หรือโอลิมปิก เหมือนที่วงการ E-SPORT ก้าวไปถึง” วันเฉลิมกล่าวอย่างภาคภูมิใจ 

อนาคตของบอร์ดเกมที่มากกว่าแค่เล่นสนุกไปวันๆ

เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเศษที่เรากับวันเฉลิมคุยกันออกรสออกชาติ อย่างไรก็ดี สาระสำคัญที่เราจะไม่ถามเลยไม่ได้ นั่นคือ ‘อนาคต’ ของวงการบอร์ดเกมไทยจะสามารถสร้างมูลค่าไปถึงจุดไหน และคำตอบที่ได้จากเขาก็ทำให้เราประหลาดใจไม่น้อยเลยทีเดียว

“ผมว่าการที่ต่างชาติให้ความสนใจเลือกประเทศไทยจัดงานมหกรรมบอร์ดเกมน่าจะเป็นคำตอบที่ดีนะ ว่าทิศทางอุตสาหกรรมบอร์ดเกมบ้านเราจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะการที่เขาเลือกเรานั่นหมายความว่า ต่างชาติเขาเล็งเห็นถึงความสำคัญและมูลค่าที่สามารถต่อยอดได้ ยกตัวอย่างงาน CMON EXPO Thailand ที่มีแววว่าปีต่อๆ ไปจะขยับขยายสเกลของงานมากขึ้นไปอีก

“ว่ากันตามตรงอุตสาหกรรมบอร์ดเกมบ้านเราอาจจะเพิ่งเติบโต หากเทียบกับประเทศในแทบเอเชีย ไม่ว่าจะจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ แต่ด้วยศักยภาพของกลุ่มคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม ผมเชื่อว่าเร็วๆ นี้ เราน่าจะตามรอยประเทศเหล่านั้นทัน

“ขณะเดียวกัน บอร์ดเกมยังสามารถเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการเผยแพร่วัฒนธรรมไปสู่สายตาชาวโลก เช่นงานประกวดดีไซน์บอร์ดเกม EUREKA ในปี 2023 ที่มีธีมคือ ‘Thai Soft Power: ดึงความเป็นไทยใส่ในบอร์ดเกม’ โดยแต่ละเกมที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศมีความน่าสนใจต่างกันไป เช่น เกมตุ๊กตุ๊ก กรุงเทพฯ ที่จะพาผู้เล่นทำความรู้จักกับสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ผ่านการนั่งรถตุ๊กตุ๊ก, เกมตุ๊กตุ๊ก ภูเก็ต ที่วิธีการเล่นคล้ายคลึงกับเกมแรก แต่เปลี่ยนสถานที่เป็นเกาะภูเก็ต, เกมเกี่ยวกับผ้าไทย ที่เราจะได้ทดลองนำผ้าไทยลายต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในการประกวดตกแต่งบ้าน ตกแต่งอาคาร และสุดท้าย คือเกมมวยไทยสามขุม ที่นำธีมแม่ไม้มวยไทยสมัยโบราณมาประยุกต์กับโลกอนาคต ผ่านวิธีการเล่นที่ผู้เล่นต้องออกลีลาการชก การเตะ เพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ 

“เหล่านี้ผมว่านอกจากความสนุกยังเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า บอร์ดเกมมีอะไรที่มากกว่าความสนุก แต่ยังทำให้ผู้เล่นเข้าใจวัฒนธรรมความเป็นไทยมากขึ้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ไม่เคยเดินทางมาบ้านเราเลย และการเล่นบอร์ดเกมข้างต้นอาจทำให้เขาสนใจเดินทางมาเที่ยวตามรอยสักวัน” วันเฉลิมกล่าวยืนยันถึงความเชื่อและของเขา 

“ถ้าให้คะแนนการเล่นบอร์ดเกมของตัวเองจาก 10 คะแนนเต็ม คิดว่าตัวเองจะได้คะแนนเท่าไร” ผมถามหยิกแกมหยอกวันเฉลิมก่อนเราจะจากกัน

“(หยุดคิดครู่หนึ่ง) จริงๆ ไม่กล้าจัดเลยนะ (หัวเราะ) แต่ถ้าต้องจัดก็อาจจะอยู่สัก 7-8 เวลาผมเล่นเล่นเต็มที่นะ คิดรอบคอบก่อนเดินเกมในแต่ละตา จะชนะหรือไม่ชนะก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือได้ยิ้มและสนุกไปพร้อมกับคนที่เล่นกับเรา” 

Fact Box

  • สามารถติดตามกิจกรรมและสินค้าบอร์ดเกมต่างๆ จาก Tower Tactic Games ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Tower Tactic Games และเว็บไซต์ towertacticgames.com 
  • CMON คือค่ายบอร์ดเกมจากประเทศฮ่องกง ที่จัดจำหน่ายและส่งออกบอร์ดเกมรวมถึงการ์ดเกมชื่อดังไปรอบโลก โดยมีทั้งรูปแบบออริจินัลและส่วนที่ร่วมมือกับแฟรนไชส์การ์ตูนจนถึงซีรีส์ระดับโลก เช่น God of War, Scooby Doo, Wacky Race, NACOS, KICK-ASS โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง www.cmon.com
  • CMON EXPO Thailand คืองานมหกรรมบอร์ดเกมระดับโลกที่จัดขึ้นในประเทศไทย เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2020 โดยแต่ละปีมักมีค่ายบอร์ดเกมระดับโลกเข้าร่วมมากมาย เช่น CMON Studio, AEG, IELLO, Board and Dice, Feuerland, Tabletop Tycoon, Oink Games, Portal Games, Blue Orange, Klask Meeple in Saigon, Alchymyst ฯลฯ รวมไปถึงค่ายบอร์ดเกมในไทยอีกมากมาย
  • Spiel des Jahres คือเวทีที่มอบรางวัลให้แก่บอร์ดเกมหรือการ์ดเกมน่าประทับใจและเหมาะสำหรับครอบครัวในปีนั้นๆ จัดขึ้นที่เมืองเนิร์นแบร์ก ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ปี 1978 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบอร์ดเกมในประเทศเยอรมนี
Tags: , , ,