ทุกวันนี้หลายองค์กรต้องปรับตัวให้เข้ากับคนเจน Z ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีสไตล์การทำงานแบบใหม่ แต่สำหรับบุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี ตอนนี้เจน Z ไม่ใช่กลุ่มคนที่อายุน้อยที่สุด เพราะกลุ่มเจน Alpha เริ่มตบเท้าก้าวเข้ามาในวงการนี้แล้ว

ในวันที่ใครๆ ต่างมองว่า การร่วมงานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทัศนคติต่างกันเป็นเรื่องยาก กระทั่งหลีกเลี่ยงที่จะรับมือหรือต่อกร The Momentum ชวน เต้-กฤตยา เทพไพฑูรย์ ไดเรกเตอร์แห่งบริษัทดนตรี ONErpm สาขาประเทศไทย บริษัทจำหน่ายเพลงบนสตรีมมิงแพลตฟอร์ม และบริการอื่นๆ สำหรับศิลปิน ผู้บริหารเจน Y ที่มีโอกาสได้ทำงานคลุกคลีกับกลุ่มคนรุ่นใหม่เสมอ และได้เห็นพื้นฐานความคิดของเจน Z และเจน Alpha มาตลอด พูดคุยในเรื่องผู้ใหญ่ต้องเบลนด์ตัวเองให้เข้ากับวัยรุ่นอย่างไร รวมถึงพาไปสำรวจโลกดนตรีของเจน Z และเจน Alpha ว่า เพลงที่ผู้ใหญ่บอกฟังไม่เข้าใจ เพราะอะไรถึงถูกใจคนเจเนอเรชันนี้

ONErpm ทำงานกับเจน Z และเจน Alpha

เมื่อพูดบริษัทดนตรี เราอาจจะเข้าใจการทำงานของค่ายเพลงว่า เป็นธุรกิจที่ดูแลรับผิดชอบศิลปินในสังกัด แต่สำหรับรูปแบบการทำงานของบริษัท ONErpm มีทั้งส่วนที่เหมือนค่ายเพลง และในส่วนที่ไม่เหมือนค่ายเพลง กล่าวคือ ONErpm มีบริการหลายรูปแบบ จัดจำหน่ายเพลงบนสตรีมมิงแพลตฟอร์ม และทำหน้าที่ดูแลศิลปินในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมต ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด หรือให้คำแนะนำอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ศิลปินเป็นผู้กำหนดออกแบบเองว่า ต้องการให้ ONErpm ดูแลในส่วนไหนบ้าง

“ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าศิลปินอยากให้เราซัพพอร์ตในเรื่องไหน เช่น เขาอาจจะอยากปล่อยเพลงบนสตรีมมิงแพลตฟอร์ม เขาอาจจะอยากไปเล่นโชว์ที่ต่างประเทศ อยากให้เราหาพีอาร์ให้ หรือคุยกับสื่อให้ เราก็จะช่วยตรงนี้ หรือกระทั่งว่าศิลปินอยากหาโปรดิวเซอร์ในแนวเพลงต่างๆ ที่เขาอยากลองทำ เราก็จะช่วยหาให้ได้” เต้อธิบายถึง ONErpm

ส่วนของ ONErpm ไทยแลนด์ที่ทำหน้าที่ดูแลศิลปินไทย ในการทำงานของไดเรกเตอร์อย่างเต้ที่คลุกคลีกับกับศิลปินจำนวนไม่น้อย เล่าถึงสถานการณ์วงการเพลงตอนนี้ว่า เริ่มมีกลุ่มเจน Alpha ทำเพลงเองแล้ว

กลุ่มเจน Alpha เกิดระหว่างปี 2567-2553 ดังนั้นคนที่โตที่สุดในปีนี้จะมีอายุ 15 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเริ่มลงมือแต่งเพลงเอง แต่ที่น่าสนใจคือ เด็กเจน Alpha พวกเขาใช้อุปกรณ์อะไรในการทำเพลง อัดเพลง และเขาเล่าเรื่องอะไรในเพลงของตัวเองบ้าง 

“ถามว่าทำเพลงที่ไหน แล้วแต่คนเลย ส่วนใหญ่ทำเพลงที่บ้าน ที่เจอบ่อยมักจะใช้บีตจาก Youtube แล้วเอามาแต่ง ส่วนเพลงเขาเล่าเรื่องอะไร ก็จะไปเรื่องราวในช่วงวัยที่เขาพบเจอ แต่ส่วนใหญ่อาจจะเป็นเรื่องของความรัก-ความสัมพันธ์ เพราะว่าพอเริ่มวัยรุ่นก็จะเริ่มมีความรักกันแล้ว และสมัยนี้ความสัมพันธ์ก็มีหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นด้วย” เต้กล่าว

แม้จะเป็นเรื่องดีที่เด็กสามารถค้นหาตัวเองได้เร็วว่า อยากลองทำอะไร แต่สำหรับเด็กวัยรุ่นเจน Alpha ที่อยู่ในช่วงประกอบสร้างตัวตน อาจต้องใช้เวลาอีกสักหน่อย เพื่อยืนยันกับตัวเองว่า เพลงแนวไหนคือเพลงที่เขารู้สึกอินกับมันจริงๆ 

“เจน Alpha เท่าที่เราสอดส่องมาก็มีเด็กที่เขาทำเพลงดีหรือเฟี้ยวเลยก็มี แต่เขาอาจต้องใช้เวลาอีกนิด เพื่อค้นหาว่า ตัวเองชอบสิ่งนี้จริงหรือเปล่า ถามว่าเราไปแตะได้ไหม ได้นะ แต่เราต้องยอมรับว่ามันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง สมมติเด็กเจน Alpha ทำเพลงแรปออกมาเวิร์กมาก แต่ว่าพออีกปีหนึ่ง เขาอาจจะบอกว่าเขาไม่ชอบแล้ว เขาอยากทำ T-Pop แล้วก็ได้ เราก็ต้องปรับตาม” 

ถึงจุดนี้จึงทำให้เราสงสัยว่า การทำงานร่วมกับเด็กวัยรุ่นในฐานะเพื่อนร่วมงาน พาร์ตเนอร์หรือเป็นฝ่ายสนับสนุนดูแล จำเป็นต้องมี Emotional Support หรือต้องเป็นที่พึ่งพิงทางอารมณ์ให้กับเด็กๆ หรือไม่ อย่างไร

ควรจะต้องมี ไม่ได้บอกว่าต้องมีนะ แต่อย่างน้อยคือต้องใส่ใจหน่อย ธรรมชาติของเด็กรุ่นใหม่ เขาเป็นคนคิดเยอะ คิดในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในสิ่งที่คนเจนเรา อาจไม่ได้มองว่าสำคัญ หรือคิดว่าทำไปทำไม แต่เด็กเขาคิด ซึ่งบางทีคำพูดของเรา รีแอ็กชันของเราที่ใช้กับคนรุ่นเดียวกัน แต่บางทีสำหรับเด็กเจนนี้เขาอ่อนไหว เราต้องระวัง ทำให้การสื่อสารกับเขาต้องละเอียด เพราะบางครั้งเขาเข้าใจเหตุผล แต่อาจจะรู้สึกเหมือนโดนว่ากล่าว ซึ่งเราอาจไม่ได้ตั้งใจ จึงต้องอธิบายให้ชัดเจน” เต้พูดในมุมมองของเธอ

ดังนั้นทักษะที่ควรมีเมื่อต้องทำงานกับเด็กเจนใหม่ๆ สำหรับเธอคือ ทักษะการสื่อสาร รวมถึงความเห็นอกเห็นใจ

“สกิลที่สำคัญที่สุดคือ การสื่อสารกับความเห็นอกเห็นใจสำคัญมาก เด็กๆ ที่เราทำงานด้วยก็มีไม่น้อยที่เมื่อรู้สึกอะไร เขาจะเก็บไว้ไม่พูดออกมา หรือถ้ารู้สึกไม่ไว้ใจก็จะเก็บความรู้สึกไว้อย่างนั้น เรามีหน้าที่ทำให้เขารู้สึกสบายใจในการคุย เราจะได้รู้ความต้องการของเขาจริงๆ ซึ่งก็ยากเหมือนกัน แต่เราก็ทำมาแล้ว แล้วก็สนุกดี” เธอกล่าวอย่างเปิดใจ

เมื่อถามว่าวิธีการอย่างไรที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไว้ใจและพูดคุยด้วย เต้บอกว่า เป็นวิธีที่ทั้งง่ายและยากในเวลาเดียวกันคือ ให้ความรัก

“เราต้องรักเขา ไม่ต้องรักเหมือนลูกเหมือนหลานก็ได้ อย่างน้อยต้องเมตตา ถ้าเรามีความเมตตาให้เขา มีความพยายามที่จะเข้าใจว่า เขามาจากไหน เขาเจออะไรมา ถ้าเปิดใจทำความเข้าใจ เราจะรู้จักและเข้าใจเขามากขึ้น รู้ว่าเขามีความเป็นมาอย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญ”

นอกจากนี้เต้ยังเสริมว่า ปัญหาระหว่างวัยในที่ทำงานที่ผู้ใหญ่มองว่า เด็กเจน Z อีโก้สูง ก็อาจมีเด็กบางคนที่เป็นเช่นนั้น แต่ในบางกรณีปัญหาอาจเกิดขึ้น เพราะการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน ซึ่งเป็นเพราะเติบโตมาคนละยุคจึงมีทัศนคติต่อโลกที่ต่างกัน และยังรวมไปถึงรสนิยมอื่นๆ อีกด้วย

เพลงที่ผู้ใหญ่ไม่ Get แต่เด็กมัน Feel

ถ้าเราเล่น TikTok หรือ Reel ใน Instagram แล้วเลื่อนดูคลิปไปเรื่อยๆ เราจะพบว่า เพลงประกอบคลิปสั้นของวัยรุ่น มักจะเป็นเพลงที่ต่างจากมาตรฐานเพลงสมัยก่อนที่มีคำร้องชัดเจน ฟังแล้วเข้าใจเนื้อหาได้ทันที อีกทั้งยังมีเพลงที่นำมาเร่งความเร็ว ปรับสปีดจนฟังเสียงร้องไม่ถนัด อย่างไรก็ตามเพลงเหล่านี้เป็นที่นิยมในกลุ่มคนเจเนอเรชันใหม่ จนทำให้ผู้ใหญ่เกิดอคติต่อรสนิยมวัยรุ่นว่า เป็นเพลงที่ ‘ฟังไม่รู้เรื่อง’ และ ‘สั้นเกินจะเป็นเพลง’ 

แล้วในฐานะที่เต้เติบโตมากับบรรทัดฐานของเพลงยุคก่อน เมื่อมาเจอกับสไตล์เพลงใหม่ๆ เธอมีความคิดเห็นอย่างไร 

เต้เริ่มเล่าว่า เด็กเจน Z และเจน Alpha เติบโตมากับโลกดิจิทัลและชอบดูอนิเมะ แม้มองกลับไปในวัยเด็กของชาวเจน Y ก็คงบอกว่า โตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นในทีวีเช่นกัน แต่ความน่าสนใจคือ อนิเมะมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ในด้านจินตนาการมาก จึงทำให้เด็กเจน Z และเจน Alpha สร้างสรรค์เพลงออกมาตามอารมณ์ความรู้สึก ไม่จำกัดอยู่ในกรอบของเพลงที่ต้องชัดเจนถูกหลักภาษาอย่างในอดีตอีกต่อไป

“เราคิดว่าเด็กเจน Z เติบโตมากับการเสพสื่อออนไลน์ สื่อดิจิทัล และในความเห็นของเรา เรามองว่า อนิเมะก็มีส่วนสำคัญมาก สิ่งพวกนี้มักเป็นตัวแปรที่ทำให้เด็กยุคนี้มีจินตนาการที่เลิศล้ำมากๆ โดยธรรมชาติเขาจะคิดเยอะ ละเอียด และชอบสังเกต สังเกตทุกสิ่งอย่าง ทำให้เขาเข้าใจ เนื้อเพลงที่หลายคนบอกว่าฟังไม่รู้เรื่อง แม้บางส่วนจะความไม่ชัดถ้อยชัดคำบ้าง มีภาษาอื่นปนมาในเพลงบ้าง นี่แหละเป็นสิ่งที่ศิลปินอยากพรีเซนต์มู้ดแอนด์โทนของเมโลดีมากกว่าเน้นเนื้อเพลง สำหรับคนเจน Z เวลาฟังเพลง เขาไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา มันก็ฟีลดี ฟังเอาฟีล ตามความรู้สึก จินตนาการ อารมณ์ มันคือวิธีการสื่อสารของเขา ซึ่งมันต่างจากวัยเรา” เต้อธิบาย

กระบวนการทำเพลงของศิลปินเจน Z ไปจนถึงเจน Alpha ส่วนใหญ่เริ่มใช้บีต (Beat) สำเร็จรูปจาก Youtube ที่ตนเองฟังแล้ว ‘ฟีลมันได้’ ก็หยิบเอามาแต่งเติมเนื้อเพลงลงไปในบีตนั้น เมื่อบีตสั้นจึงทำให้เพลงสั้นลงไปด้วย จึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมเพลงใหม่ๆ ถึงสั้น ไม่เหมือนเพลงในอดีตที่ความยาว 3 นาทีขึ้นไป

“เรื่องเพลงที่สั้นลง เท่าที่ทราบจากเด็กๆ เป็นเพราะบีต Youtube มีมาแค่นั้น แต่อาจจะบวกว่า คนสมาธิสั้นลงด้วยหรือเปล่า เพราะคลิป TikTok ก็สั้นนิดเดียว ดูคลิปไม่นานก็ปัดทิ้งแล้ว ซึ่งศิลปินบางคนเขาก็ไม่ได้ตั้งใจว่าต้องสั้นกว่า 3 นาที เขาแค่อยากทำเพลงให้คนฟังจริงๆ แต่ส่วนตัวเราไม่ได้คิดว่ามันแปลกนะ” เต้ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตามเจน Z และเจน Alpha ที่ทำเพลงโดยใช้บีตจาก Youtube ในมุมมองผู้ใหญ่อาจมองว่า เป็นขั้นตอนที่ง่ายดาย จนทำให้ผลงานเพลงของคนรุ่นใหม่ถูกลดทอนคุณค่าลงไป ซึ่งเต้อธิบายว่า ความจริงแล้วการทำเพลงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งการเป็นศิลปินรุ่นใหม่ก็มีความยากในอีกรูปแบบหนึ่ง

“ยุคเราจะทำเพลงได้ต้องนั่งเขียนเนื้อเพลง หรืออย่างน้อยก็ต้องเล่นดนตรีเป็นสัก 1 อย่าง ผู้คนส่วนใหญ่จึงคิดว่า เด็กยุคนี้ทำเพลงได้ง่ายๆ ซึ่งมันไม่ง่ายนะ แล้วความท้าทายอยู่ตรงที่ ใครๆ ก็ลงมือก็ทำเพลงได้ แสดงว่าสนามการแข่งขันกว้างมาก แล้วศิลปินสักคนที่จะบูมขึ้นมาก็ไม่ง่ายเหมือนกัน มันอาจจะไวรัลได้สักพักหนึ่งแล้วก็ไป แต่การจะทำให้กระแสยังอยู่เรื่อยๆ ในเพลงถัดๆ ไป เป็นเรื่องยากสำหรับศิลปินยุคนี้เหมือนกัน”

จากเพลงที่สั้นลงเพราะบีตจาก Youtube สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ หากศิลปินรุ่นใหม่ขึ้นแสดงจริงบนเวทีคอนเสิร์ต คงเป็นบรรยากาศที่คอนเสิร์ตที่แตกต่างออกไป เพราะศิลปินบางคนอาจต้องเปิดเสียงแบ็กกิงแทร็ก แทนการใช้วงดนตรีสดเล่นเป็นแบ็กอัปให้ จุดนี้เป็นปัญหาในการชมหรือไม่

“เราคิดว่า การร้องเพลงเปิดแบ็กกิงแทร็กก็สามารถสร้างอรรถรสได้ไม่แพ้วงดนตรีที่เล่นสดเลย ขึ้นอยู่กับการดีไซน์โชว์ และการทำหน้าที่ของศิลปินในฐานะฟรอนต์แมน ตราบใดที่คุณเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ที่ดี สื่อสารกับผู้ชม ผู้ฟัง พาเขาอินไปกับเพลงได้ สนุกไปกับการแสดงก็เพียงพอแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคลด้วย” เต้ตอบทิ้งท้าย

Tags: , , , , , , , , ,