เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มตระหนักถึงภาวะโลกรวนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ จนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่เพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยการแยกขยะ หรือหันมาเลือกใช้ของดีมีคุณภาพที่สามารถใช้งานได้นาน ไม่ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว ตลอดจนใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล หรือสิ่งของจากขยะที่ผ่านกระบวนการแปรรูปให้นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

จึงเป็นเหตุให้ OGGA ธุรกิจจัดหาและผลิตสินค้าพรีเมียมเพื่อเป็นของขวัญสำหรับองค์กร ของ โอ-นันธวัฒน์ วิทย์วัฒน์ดำรง และเชล-ธีรยาฏ์ วิทย์วัฒน์ดำรง ที่ในวันนี้สินค้าต่างๆ ทั้งกระบอกน้ำ กระเป๋า หรือแกดเจ็ต (Gadget) ล้วนมาจากการรีไซเคิลและลดคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด รวมถึงมีแนวคิดการนำขยะออกจากเกาะเต่าและแปรรูปให้เป็นสินค้าของแบรนด์ 

เพื่อสำรวจแนวคิดเพิ่มเติม The Momentum จึงติดต่อขอพูดคุยกับ นันธวัฒน์ ถึงเบื้องหลังของโปรเจกต์การแปรรูปขยะให้กลายเป็นสินค้าพรีเมียมรักษ์โลก และความตั้งใจจะสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม

สำหรับจุดเริ่มต้น OGGA นันธวัฒน์เล่าว่าตนเติบโตมาจากโรงพิมพ์ของพ่อ รับพิมพ์โลโก้ พิมพ์รูปภาพลงวัตถุต่างๆ ทำให้นันธวัฒน์ได้ช่วยหยิบจับงานในโรงงานตั้งแต่ยังเด็ก โดยสินค้าหลักที่โรงงานรับพิมพ์ในอดีตคือการพิมพ์ลวดลายบนขวดนมเด็ก

“สมัยก่อนสินค้าหลักๆ ของที่บ้านคือพิมพ์ขวดนมเด็ก แต่สินค้าที่มีชื่อเสียงสำหรับโรงงานของคุณพ่อคือแก้วน้ำโรงหนัง ซึ่งเรื่องแรกที่เราพิมพ์ให้คือเรื่อง Titanic (1997) กลายเป็นของสะสมของใครหลายคน เพราะสมัยก่อนกระบวนการพิมพ์ลงบนวัสดุอย่างแก้วน้ำมันทำยาก”

จากการช่วยกิจการที่บ้านนันธวัฒน์เล่าต่อว่า หลายครั้งพบกับปัญหาในการผลิตสินค้า เช่น สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรือชำรุด จนนำไปสู่การตั้งคำถามกับปลายทางของสินค้าเหล่านั้นที่ต้องไปอยู่ในมือผู้ใช้ “ลูกค้าของโรงงานตอนนั้นมีหลายบริษัทที่ให้พิมพ์สินค้าพรีเมียม ผมก็เป็นช่าง ช่วยที่บ้านทำงาน เอาของใส่เครื่อง แล้วมันมีอยู่หลายครั้งที่ผมเจอว่าของมันพังคามือ เลยสงสัยว่าแล้วโลโก้ของบริษัทที่ติดอยู่กับสินค้าแบบนี้ คนเป็นเจ้าของจะรู้สึกอย่างไร อีกหนึ่งคำถามคือจะมีคนที่ยอมจ่ายแพงเพื่อสินค้าคุณภาพสูงไหม เพื่อให้ได้สินค้าที่ใช้ได้จริง และใช้ได้นานๆ” นันธวัฒน์กล่าว

จนกระทั่งวันหนึ่งที่ได้กลายเป็นผู้ได้รับของขวัญจากบริษัทอื่นเองบ้าง แล้วพบว่าฟังก์ชันการใช้งานไม่ตอบโจทย์ เขาจึงได้เริ่มอยากมีธุรกิจเป็นของตนเองเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้

“ก่อนผมจะเริ่มทำธุกิจ ผมได้รับของขวัญจากบริษัทหนึ่งมอบให้เพื่อขอบคุณลูกค้า เป็นไฟฉาย แต่การจะเปิดมันต้องใช้มือหมุนตลอดเวลา ผมเลยคิดว่าหากต้องใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉินจริงคงใช้ไม่ได้ ถ้าฟังก์ชั่นมันใช้ไม่ได้ สุดท้ายมันก็กลายเป็นขยะทันที”

ด้วยความที่นันธวัฒน์เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมมา ทำให้มีความเข้าใจเรื่องการออกแบบและกายภาพของวัตถุ จึงตัดสินใจเปิดกิจการเป็นของตนเองร่วมกับธีรยาฏ์ ผู้เป็นภรรยาโดยขอเครื่องพิมพ์จากที่บ้าน และนอกจากการพิมพ์โลโก้ลงบนสินค้าแล้ว OGGA ยังทำหน้าที่เป็นผู้จัดหา จัดผลิตสินค้าพรีเมียมมีคุณภาพสูงเพื่อให้ของขวัญเหล่านั้นได้ถูกใช้จริง ไม่ถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ

นันธวัฒน์อธิบายว่า การเป็นผู้จัดหา วิธีการทำงานคือการเป็นคนกลางไปเจรจากับโรงงานหรือผู้ผลิตเจ้าที่ดีที่สุด และคอยจัดการปัญหาให้ลูกค้าเมื่อสินค้ามีปัญหา

“สินค้าที่หน้าตาเหมือนกัน มีหลายโรงงานผลิตได้ เรารับหน้าที่เสาะหาว่าโรงงานเจ้าไหนเก่งที่สุด ต้องไปทดลองใช้จริงด้วย”

เมื่อถามว่าสินค้าตัวแรกของ OGGA ในการรับหน้าที่เป็นผู้จัดการการผลิตคืออะไร นันธวัฒน์บอกว่า ‘ลำโพง’ ซึ่งเริ่มต้นมาจากความชอบของเขาและภรรยา ทำให้เป็นที่ไว้วางใจว่าหากเป็นสินค้าแกดเจ็ต ไม่ว่าจะเป็นลำโพง พาวเวอร์แบงก์ ที่ชาร์จไร้สาย จะได้รับของที่ดีที่สุด

“สินค้าตัวแรกที่ทำคือลำโพง  เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจะเข้าใจว่าเราเก่งเรื่องแกดเจ็ต ถ้าซื้อแกดเจ็ตจากเราจะได้ของที่ดีที่สุด เพราะมันเริ่มมาจากความชอบ ทั้งผมกับภรรยาเราสนุกที่ได้ไปทดลองเล่น จนกลายเป็นว่าเราศึกษามันเยอะมาก และเข้าใจมัน” นันธวัฒน์กล่าว

แต่สินค้าของ OGGA ไม่เพียงแค่เป็นของพรีเมียม แต่ต้องของพรีเมียมที่รักษ์โลก

ย้อนกลับไปก่อนหน้าเดิมทีสินค้าจาก OGGA ไม่ใช่สินค้าที่มีเป้าหมายเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พาร์ตเนอร์ของ OGGA ได้แก่บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์และบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส โดยทางฝรั่งเศสได้ประชุมเรื่อง ‘การชดเชยทางคาร์บอน (Carbon Offset)’ โดยใจความสำคัญคือต้องการเปลี่ยนการผลิตสินค้าให้เป็นของรีไซเคิลและมีคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยที่สุด เพราะในการผลิตสินค้าแต่ละครั้ง จะเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหน่วยกิโลคาร์บอน การชดเชยทางคาร์บอนจึงเป็นการทำกิจกรรมเพื่อชดเชยให้กับโลกให้เท่ากับจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ต้องปล่อยออกมา

แม้ในครั้งแรก นันธวัฒน์และธีรยาฏ์ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ แต่เมื่อได้ศึกษาลึกลงไป จึงเกิดการตระหนักรู้ถึงภาวะโลกรวน และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

แล้วขยะจากเกาะเต่าจะกลายเป็นสินค้าพรีเมียมได้อย่างไร

นันธวัฒน์เล่าว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากโครงการ OGGA Circular: Recycling with Koh Tao หรือการนำขยะรีไซเคิลจากเกาะเต่าออกมาทำเป็นสินค้าพรีเมียม เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา พี่ชายของนันธวัฒน์ทำงานอยู่ในแวดวงการตลาด ได้ชักชวนไปร่วมงานสปอตไลต์เกาะเต่า (Spotlight Koh Tao) โดยในงานมีการเสวนาเรื่องสิ่งแวดล้อมบนเกาะเต่าโดยชาวบ้านผู้ประกอบการโรงแรม และร้านอาหารบนเกาะเต่า ในตอนนั้น OGGA ได้มีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าที่ระลึกอย่างกระบอกน้ำพิมพ์ลวดลายใต้ทะเล เพื่อแจกให้กับเหล่าแขกที่มาร่วมงาน

แม้เกาะเต่าจะเป็นเกาะที่มีธรรมชาติสวยงาม การไปเกาะเต่าครั้งนั้น ทำให้นันธวัฒน์และธีรยาฏ์เห็นถึงปัญหาขยะบนเกาะ ทั้งเรื่ององค์ความรู้ในการแยกขยะยังไม่มากพอ และเรื่องการจัดการขยะในการนำขยะออกมาจากเกาะ

“พอไปเกาะเต่า เราได้คุยกับชาวบ้านว่ามันยังมีปัญหาขยะกองใหญ่ เลยเกิดเป็นไอเดียว่าเราพอจะช่วยอะไรเขาได้บ้างไหม ในเมื่อเราเองก็มีสินค้ารักษ์โลก หรือมีของรีไซเคิล ซึ่งพอภรรยาเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เราก็เลยเริ่มลงมือ” นันธวัฒน์กล่าว

ว่ากันถึงสาเหตุที่เกาะเต่ามีขยะล้นนั้น เกิดจากปัญหาเรื่องการขนส่ง เพราะการนำขยะออกจากเกาะเต่าแต่ละครั้งต้องใช้เรือในการขนออกมา และมีค่าใช้จ่ายในการจัดการ ดังนั้นเมื่อมันเป็นขยะ หรือของที่ถูกทิ้งแล้ว คนจึงไม่อยากใช้เงินเพื่อจัดการ

นอกจากนี้ภูมิประเทศเกาะเต่าไม่สามารถฝังกลบขยะไว้ใต้ดินได้ เพราะบนเกาะยังมีการใช้น้ำบาดาลอยู่ แต่ถึงแม้ไม่ใช้การฝังกลบ การกองไว้เป็นภูเขาขยะเช่นนี้ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเช่นกัน ซึ่งนันธวัฒน์มองว่า ปัญหาเหล่านี้อาจแก้ได้โดยการย้อนไปที่จุดเริ่มต้นคือการแยกขยะก่อนทิ้ง จึงต้องการสร้างองค์ความรู้ให้คนบนเกาะเต่าแยกขยะ โดยได้ความร่วมมือจากผู้นำชุมชน และคนในชุมชนบนเกาะเต่าหลายท่าน

“คนยังไม่ได้ตระหนักเรื่องการแยกขยะ เพราะปัญหาคือภาชนะกับเศษอาหารปนกัน ของนั้นจะกลายเป็นขยะกำพร้าทันที และเราเข้าใจว่าพอมันกลายเป็นขยะแล้ว คนจะไม่อยากจ่ายเงินในการจัดการขยะ หรือนำออกมาจากเกาะ” นันธวัฒน์กล่าว

นันธวัฒน์เล่าว่า มีผู้ใหญ่บนเกาะเต่าแนะนำให้ลองทำโครงการกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการแยกขยะ โดยตั้งบริษัทในโรงเรีนขึ้นมาชื่อว่า ‘ฮีโร่น้อยเกาะเต่า’ เพื่อรับซื้อขยะรีไซเคิลในโรงเรียน โดยในบริษัทมีหลายตำแหน่งทั้งผู้รับซื้อ และแผนกดีไซน์เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิลในอนาคต

“ตอนที่เรารู้ว่าราคารับซื้อขยะบนเกาะเต่าถูกกว่าบนฝั่ง เพราะต้องมีค่าจัดการ ค่าขนส่งทางเรือ เราจึงสร้างจูงใจด้วยการเติมกำไรให้เขา ส่วนเด็กนักเรียนเราจะให้ราคาที่สูงที่สุด เพราะเด็กเป็นกลุ่มคนที่เราอยากกระตุ้นมากที่สุด” นันธวัฒน์บอก

สำหรับขยะที่นำออกมาจากเกาะเต่าครั้งแรกเรียกว่าเป็นล็อตทดลองทั้งหมด 5 ตัน โดยขยะหลักคือขวด PET ที่มีมากถึง 40% ซึ่งภารกิจของ OGGA ตอนนี้คือการหาที่ไปให้ขยะทุกประเภทได้ถูกแปรรูปเป็นของใช้ 

ส่วนสินค้าชิ้นแรกที่ถูกแปรรูปจากขยะเกาะเต่า นันธวัฒน์บอกว่า คือเสื่อชายหาด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์บริษัทรีไซเคิลรายใหญ่เพื่อช่วยในการแปรรูป

“ของชิ้นแรกคิดแล้ว เริ่มดีไซน์แล้วด้วย มันจะเป็นเสื่อชายหาด มีขนาดใหญ่สำหรับนอนได้หนึ่งคน มีการใส่ลวดลายหลากหลาย เราก็หวังว่านักท่องเที่ยวน่าจะชอบ หรือเอาไปฝากผู้ประกอบการเจ้าของรีสอร์ทขายแล้ว ก็น่าจะขายได้ดี คนเห็นแล้วก็น่าจะซื้อและอยากถือกลับบ้าน” เขากล่าว

เมื่อถามว่ามีแผนขยายโครงการไปยังเกาะอื่นอีกไหม นันธวัฒน์บอกว่า มีทั้งเกาะลันตา เกาะช้าง และเกาะอื่นอีกหลายเกาะ โดยใช้โมเดลต่างกัน เพราะแต่เกาะมีลักษณะชุมชนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเกาะเต่าเอง เป็นเกาะที่มีคนพม่าอาศัยอยู่เยอะ ในกระบวนการแยกขยะ จึงชวนให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยธีรยาฏ์จะทำข้อมูลการแยกขยะและการขายขยะรีไซเคิลเป็นภาษาพม่า เพื่อให้เข้าใจแล้วช่วยกันทำให้เกาะเต่ามีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งคนบนเกาะเต่ามีความเหนียวแน่นและมีความต้องการดูแลรักษาทะเลกับชายฝั่งอยู่แล้ว

ไม่เพียงแค่คนบนเกาะ เพราะนันธวัฒน์คิดว่าการช่วยกันแยกขยะคือก้าวแรกในสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อม ที่ทุกคนสามารถทำได้

“ความยั่งยืนมันเป็นเรื่องของทุกคนตั้งแต่ต้นทางจนวนกลับมาปลายทางอีก ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้ใช้ ง่ายที่สุดคือเวลาเราสั่งอาหารเราต้องคิดว่าเราจะกินหมดไหม เพราะถ้ากินไม่หมดมันจะเหลือทิ้งเป็นขยะ เราก็ต้องแยกขยะออกจากภาชนะบรรจุภัณฑ์ ล้างให้สะอาดพอประมาณ เพื่อให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ อยากเชิญชวนให้ทุกคนลองทำกันดู ไม่ต้องถึงกับซีเรียสก็ได้ แค่เริ่มจากขวดน้ำดื่ม เทน้ำออกให้หมดก่อนทิ้ง หรือกระป๋องอะลูมิเนียม อย่าเอาอาหารหรือเศษขยะอื่นๆ สักครั้งก็ถือว่ารักษ์โลกแล้ว” นันธวัฒน์กล่าว

Fact Box

  • หากสนใจสินค้า ของขวัญพรีเมียม หรือผลิตภัณฑ์ของ OGGA สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ogga-idea.com/
  • สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มของโครงการ OGGA Circular: Recycling with Koh Tao ได้ที่ https://www.ogga-circular.com
Tags: , , , , ,