“ถ้าเป็นหนังไทยจ้างให้ดูฟรีก็ไม่ดู”

หลายคนคงเคยได้ยินคำปรามาสดังกล่าวบ่อยครั้ง หรือแม้แต่คุณเองที่ต้องการชมภาพยนตร์ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็ดูเหมือนว่า ‘หนังไทย’ จะไม่ใช่ตัวเลือกลำดับแรกที่คุณพร้อมจ่าย แต่เงินในกระเป๋ามักตกเป็นของภาพยนตร์ฮอลลีวูดระดับบล็อกบัสเตอร์ หรือหนังแนวซูเปอร์ฮีโรค่ายใดค่ายหนึ่งเสียมากกว่า

คำปรามาสที่ว่าอาจมีน้ำหนัก และการตัดสินใจของคนดูก็อาจมีเหตุผล ด้วยความที่พบแต่พล็อตซ้ำซากของหนังไทย ที่ไม่พ้นหนังผีก็หนังรัก หรืออาจมีเพียงผลงานของผู้ผลิตรายเก่าๆ ที่ย่ำเท้าอยู่กับรอยความสำเร็จเดิม

ประกอบกับผลพวงจากการระบาดหนักของโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2564 ที่โรงภาพยนตร์ต้องปิดให้บริการ และส่งผลถึงวงการหนังไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธ ทั้งสร้างไปก็ไม่มีโรงให้ฉาย หรือออกฉายก็อาจไม่ได้รับความนิยม

แต่เมื่อช่วงเวลาอันสาหัสผ่านพ้นไป ช่วงปลายปีที่ผ่านมาโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศไทยได้กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง พร้อมกับเกิดปรากฏการณ์น่าสนใจกับหนังไทยเรื่องหนึ่ง เมื่อผู้คนพากันแห่ไปชมภาพยนตร์เรื่อง ‘4 KINGS’ ที่เล่าถึงชีวิตเด็กช่างอาชีวะ อันเป็นผลงานของค่ายใหม่ ‘เนรมิตรหนัง ฟิล์ม’ กระแสความนิยมของหนังไทยเรื่องนี้ ถึงขั้นเบียดโปรแกรมหนังต่างประเทศเรื่องอื่นๆ และกวาดรายได้ถึง 100 ล้านบาท ตามมาด้วยการเข้าชิงรางวัลด้านภาพยนตร์จากหลายสำนักทั้งในประเทศและต่างแดน

ล่าสุด หลังจากความสำเร็จของ ‘4KINGS’ เนรมิตรหนัง ฟิล์ม เพิ่งปล่อยภาพยนตร์ลำดับที่สอง ‘ไลโอโคตรแย้ยักษ์’ (LEIO) เราจึงถือโอกาสสนทนากับ น้อย-กนกวรรณ วัชระ กรรมการผู้จัดการแห่งค่ายหนังน้องใหม่นี้ ถึงแนวทางขององค์กร ท่ามกลางคลื่นลมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่ประสบกับ disruption ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ทั่วโลก

อะไรที่ทำให้ค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม กล้าเสี่ยงและพร้อมก้าวต่อไป… เพื่อลบคำปรามาสข้างต้น และมีส่วนที่จะทำให้คนไทยนึกอยากดูหนังไทย แบบไม่นึกเสียดายเงิน

4 KINGS เป็นหนังเรื่องแรกที่เนรมิตรหนัง ฟิล์มผลิต เกินคาดไหมสำหรับรายได้ทะลุหลัก 100 ล้านบาท

ตอนแรกเราไม่ได้คาดหวังว่าหนังฉายออกไปแล้วจะต้องทำเงิน ต้องได้เข้าชิงรางวัล หรือจะต้องไปออกฉายยังต่างประเทศ เรามีแค่แพสชั่นอยากผลิตหนังที่เป็นของคนไทยจริงๆ เพื่อออกมาให้คนไทยได้ดู และเปิดโอกาสให้ผู้กำกับฯ หน้าใหม่ได้แสดงฝีมือ

ถือเป็นความภาคภูมิใจของเราค่ะ ที่หนังเรื่องแรกของเราเปิดตัวและสามารถยอดได้ทะลุเป้า แต่อีกมุมก็ถือเป็นความกดดันของเราเช่นกัน เพราะพอเราถูกตั้งมาตรฐานเอาไว้แล้ว ทำให้น้องในทีมยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่ก็ถือเป็นแรงผลักดันให้พวกเราอยากจะนำเสนอผลงานดีๆ ต่อไป

 

ในขณะที่วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซบเซาลงด้วยหลายๆ ปัจจัย เช่น การเมือง เศรษฐกิจ โควิด-19 และ diruption ทางเทคโนโลยี แต่เหตุใดคุณยังกล้าตัดสินใจลงทุน

เรามองปัญหาเหล่านั้นเป็นโอกาสมากกว่า หลายๆ ค่ายอาจจะคิดว่าสถานการณ์แบบนี้ ไหนจะเศรษฐกิจ ไหนจะโควิด อย่าเพิ่งลงทุนทำหนังดีกว่า แต่เราเลือกคิดต่างออกไป เราคิดว่ายังมีคนไทยที่อยากดูหนังไทย เราจึงใช้ช่วงที่ค่ายอื่นเก็บตัวอยู่ สร้างโอกาสปล่อยผลงานออกไปให้กลายเป็นกระแสถูกพูดถึง และอีกความตั้งใจของเราคือต้องการเป็นค่ายหนังที่สามารถผลิตหนังคุณภาพใกล้เคียงกับระดับสากล และทำให้ผู้คนเห็นว่าหนังที่คนไทยทำก็ไม่แพ้ต่างชาติ 

เราเข้มงวดกวดขันทีมงานอย่างมากในช่วงระหว่างถ่ายทำที่โควิดยังระบาดหนักอยู่ ต้องคอยติดตามทุกมาตราการของรัฐ ไปจนถึงคิดหนักในการเลือกช่วงเวลาปล่อยหนัง 

ส่วนถ้าถามว่าเราเป็นค่ายน้องใหม่จะมีพาวเวอร์พอดึงดูดนักแสดงให้มาสนใจโปรเจ็กต์ได้ขนาดไหน ต้องอธิบายว่าเราเอาแพสชั่นเข้าไปนำเสนอตัวนักแสดงตรงๆ ว่า เราอยากทำหนังสักเรื่องนะ คุณสนใจหรือเปล่า ให้เขาเห็นความทุ่มเทของทางค่าย ขณะเดียวกันเราก็พร้อมเปิดพื้นที่ให้ตัวผู้กำกับฯ ทีมงาน และนักแสดงได้โชว์ศักยภาพ โชว์ไอเดียของเขากันเต็มที่

 

เนรมิตรหนัง ฟิล์ม วางแผนเจาะกลุ่มตลาดคนดูประเภทไหน

เราวางแผนเจาะกลุ่มตลาดคนดูทุกกลุ่ม เพราะเราไม่ได้คิดทำแค่หนังประเภทแอ็กชั่นหรือแกงสเตอร์อย่าง 4KINGS เพียงอย่างเดียว เนรมิตรหนัง ฟิล์ม ตั้งใจจะทำหนังที่ฉีกไปจากแนว 4KINGS อยู่อีกหลายเรื่อง ทั้งแนวแฟนตาซี ดราม่า สยองขวัญ หรือแม้แต่หนังรัก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับทุกกลุ่มคนดู

ค่ายอื่นๆ อาจมองกลุ่มตลาดคนดูหนังเป็นวัยรุ่นเสียส่วนใหญ่ แต่เรากลับมองว่าคนดูหนังไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ยังคงชอบดูหนัง เราเลยไม่คิดเจาะจงเฉพาะแค่วัยรุ่น เรามองถึงกลุ่มผู้สูงอายุ วัยทำงาน แม้แต่เด็กช่างอาชีวะ ซึ่งการที่ได้ดูหนังร่วมกับเพื่อนๆ หรือคนรักในโรงภาพยนตร์ย่อมมีความสุข และมีโมเมนต์ให้จดจำต่างไปจากการดูผ่านสตรีมมิง

 

คุณไม่มองว่าเป็นความเสี่ยงหรือ ที่ต้องวางแผนการตลาดให้ครอบคลุมกับผู้ชมทุกกลุ่ม

ไม่ เรามองว่านั่นคือความท้าทายและเราต้องทำให้ได้ (ยิ้ม)

 

เพราะอะไรจึงกล้ามอบโอกาสและเงินทุนจำนวนมากให้ พุฒิพงศ์ นาคทอง ที่เป็นผู้กำกับฯ หน้าใหม่

น่าแปลกเหมือนกันนะ (สีหน้าจริงจัง) เวลามีหนังเรื่องไหนเข้าฉายคนมักจะถามก่อนว่าผู้กำกับเป็นใคร คนเขียนบทเป็นใคร ถ้าสมมติไม่ดังเขาก็เลือกที่จะไม่ดู อย่างในรายของพุฒิพงศ์ก็เป็นผู้กำกับที่ไม่เคยมีผลงานหนังใหญ่มาก่อน แต่ถ้าเราไม่ให้โอกาสคนใหม่ๆ ได้แสดงฝีมือเลย แล้วเมื่อไรเขาถึงจะมีประสบการณ์หรือชื่อเสียง ดังนั้นเราเลยอยากจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานให้แด่คนที่มีใจรักในการทำหนังจริงๆ และเราเชื่อค่ะว่าตราบใดที่ผลงานเรื่องนั้นเป็นผลงานเรื่องแรก ผู้กำกับจะแสดงความสามารถและถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้สดใหม่ดีที่สุด

 

คุณเคยดูหนังสั้นที่เป็นต้นฉบับ 4KINGS ของพุฒิพงศ์ ก่อนจะตัดสินใจอนุมัติด้วยใช่ไหม

ใช่ ตอนนั้นเราสนใจมากเลยนะ เพราะหลังจากเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) หรือเรื่องอันธพาล (2555) ก็เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่แทบไม่มีหนังแนวนี้ผลิตออกมา เลยเป็นโจทย์ใหญ่ให้เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้หนังที่หลายคนมองเป็น Niche Market กลายเป็น Mass Market

พุฒิพงศ์เคยเล่าตอนมาเสนอขอทำเรื่อง 4KINGS กับเราว่า เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ซุ่มเขียนบทหนังเรื่องนี้มานาน 7-8 ปี แต่พอนำไปเสนอให้กับค่ายหนังกลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุเพราะไม่ใช่หนังตลาด กลับกัน เราคิดว่าน่าเสียดาย ที่คนคนหนึ่งที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นและรู้สึกอินกับสิ่งที่เขาทำต้องถูกปฏิเสธโอกาส หนังของเขาไม่ควรจบลงแค่ 15 นาที เราเลยคิดจะผลักดันผู้กำกับหน้าใหม่รายนี้ให้ได้โชว์ผลงานภายใต้ชื่อค่ายของเรา นี่ถือเป็นนโยบายหลักของเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ว่าเราจะเป็นค่ายหนังให้กับคนรุ่นใหม่

เราไม่ได้มองด้วยว่าคนดู 4KINGS แล้วจะต้องออกไปตีกัน และเราไม่ได้ยุยงส่งเสริมให้ใครทำแบบนั้น ในหนังก็ยังพยายามสอดแทรกถึงประเด็นความรักเพื่อน รักสถาบันครอบครัว จริงอยู่ที่ในตัวบทอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กอาชีวะ แต่นั่นก็คือเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นในสังคม และตัวผู้กำกับก็พยายามสะท้อนให้เห็นถึงผลเสียของการกระทำ

  

คุณไม่มองภาพลักษณ์หนังแนว Gangster วัยรุ่นยุค 90s หรือประเภทสัตว์ประหลาดยักษ์ว่าเป็นหนังเชยตกยุค

ส่วนตัวคิดว่าหนังหรือศิลปะไม่มีคำว่าตกยุค หนังแนวที่ยกตัวอย่างมาก็ไม่ได้ตกยุค ถ้าเนื้อหายังสามารถตอบโจทย์ทำให้คนรู้สึกสนุกได้อยู่ หนังไทยไม่ได้มีแค่ผี รัก ตลก แต่ยังสามารถนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่ อย่างเรื่องล่าสุด LEIO นอกจากตัวสัตว์ประหลาด เรายังพยายามนำเสนอวัฒนธรรมของทางภาคอีสาน

เอาเข้าจริงแม้คนจะมองว่าหนังสัตว์ประหลาดไทยดูเชย ไม่เหมือนพวก Jurassic Word แต่คำถามคือเราจะทำอย่างไรล่ะให้หนังสัตว์ประหลาดไทยออกมาแบบนั้นได้บ้าง เราจึงพยายามทั้งในส่วนของผู้กำกับฯ นักแสดง ตลอดจนถึงฝ่ายเอฟเฟ็กต์ และ CG (Computer Graphic) เพื่อลบคำสบประมาทที่ผ่านมา

กับที่มักพูดกันว่า คนไทยไม่อุดหนุนหนังไทย ส่วนหนึ่งเพราะคุณภาพของโปรดักชั่นสู้หนังต่างประเทศไม่ได้

ปัญหานี้มีมานานมาก คนที่คิดแบบนั้นก็ไม่ได้ผิด ทั้งที่จริงหนังบางเรื่องดีมากเลยนะ แต่กลับไม่ได้รับการโปรโมทอย่างเหมาะสม กลายเป็นคนมักจะมาชื่นชมตอนฉายบนสตรีมมิงมากกว่าตอนฉายโรง อีกส่วนหนึ่งคือเขาอาจจะเคยผิดหวังกับหนังไทยมาก่อนด้วยตัวบท ด้วยโปรดักชั่น เลยหันไปดูหนังต่างชาติที่ตอบโจทย์ได้ถึงอรรถรสกว่า ซึ่งเราก็พยายามจะเปลี่ยนทัศนคติความคิดแบบนั้นให้ได้

ไม่ว่าคุณจะซื้อตั๋วเพื่อเข้ามานั่งดูเพราะอยากจับผิดหรืออยากวิจารณ์ คุณก็มีส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมหนังไทย และเราก็หวังว่าทุกคนจะได้เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้มีส่วนร่วม

คิดว่ากลยุทธ์การโปรโมทถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หนังของค่ายเนรมิตรฯ ประสบความสำเร็จด้วยไหม

ด้วยส่วนหนึ่ง (หัวเราะ) คนมักจะมองว่าค่ายจำเป็นต้องกดต้นทุน เพื่อให้หนังอยู่

ในกรอบของจำนวนค่าใช้จ่าย แต่การไปตีกรอบแบบนั้นย่อมส่งผลเสียทำให้คุณภาพของหนังไปไม่สุด ผู้กำกับฯ ไม่สามารถแสดงไอเดียบรรเจิดได้มากมาย ซึ่งทางค่ายไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องทุนการตลาดและการโปรโมทเราเต็มที่ เรามองว่าการโฆษณาเป็นเรื่องที่ควรลงทุน ผลกำไรไม่ได้สำคัญไปกว่าการที่ผู้คนจะได้รู้ถึงสิ่งที่เราทำ ถ้าคนดูเห็นคุณภาพของหนัง สุดท้ายผลกำไรจะตามมาเอง

ทราบมาว่าเนรมิตรหนัง ฟิลม์ เปิดโปรเจกต์ให้นักศึกษาส่งภาพยนตร์เข้ามาประกวดด้วย

ใช่ค่ะ อย่างที่บอกว่าเราอยากเป็นพื้นที่ให้กับผู้กำกับฯ หน้าใหม่ ขณะเดียวกันเราก็อยากเห็นฝีมือของเด็กวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่เราอาจช่วยพวกเขาพัฒนาผลงานให้กลายเป็นหนังดีๆ สักเรื่อง ถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังไทยไปด้วยในตัว

 

คุณคิดไหมว่า หากมีพื้นที่เปิดกว้างให้คนทำหนังนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้ทุกประเด็น และภาครัฐร่วมสนับสนุน จะทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยกลายเป็น Soft Power ที่เข้มแข็งได้มากกว่านี้

เห็นด้วยค่ะ รัฐอาจจะมองว่าอุตสาหกรรมคนทำหนังเป็นเพียงแค่ธุรกิจหนึ่ง ถ้าคุณทำหนังประสบความสำเร็จ รายได้ก็เข้าคุณ 

ที่ผ่านมาทางเราพยายามจะเป็นค่ายหนังที่ผลักดันทั้งเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แต่ ณ เวลานี้เรายังเป็นจุดเล็กๆ ที่ไม่มีพาวเวอร์เปลี่ยนแปลงหรือยกระดับได้มากมายมหาศาล แต่สมมติถ้าวงการหนังไทยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีพื้นที่กิจกรรม ได้รับการช่วยเหลือหรือโปรโมทอยู่เรื่อยๆ อุตสาหกรรมหนังไทยย่อมกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้มแข็ง ยกตัวอย่างง่ายๆ ซีรีส์เกาหลี แค่ฉากกินปิ้งย่าง นั่งดื่มโซจู เขาสามารถทำให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์สร้างมูลค่าให้ประเทศได้

ทุกวันนี้กว่าผู้ผลิตกว่าจะปล่อยหนังได้สักเรื่องต้องผ่านกองเซนเซอร์ กลายเป็นว่าเนื้อหาของหนังที่ต้องการจะสื่อถูกตัดยับ บ้างก็ถูกจำกัดเรตการฉาย มันเลยเกิดข้อเปรียบเทียบกับหนังต่างประเทศอยู่บ่อยครั้งว่า ทำไมฉากคล้ายกันเลยแต่ทำไมของเขาถึงฉายได้ ของไทยถึงไม่ได้

 

ปัญหาอีกอย่างของอุตสาหกรรมนี้ คือการทำงานของทีมงานในกองถ่ายทำที่ต้องทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือได้รับผลตอบแทนไม่สมน้ำสมเนื้อ ในฐานะผู้ลงทุน คุณคิดว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร

เรามองว่าปัญหามาจากเรื่องของต้นทุนที่หมดไปกับค่าเบี้ยบ้ายรายทางต่างๆ ส่งผลให้เงินต้นทุนที่ควรจะอยู่กับคนทำงานหรือโปรดักชั่นมีไม่มากพอ และยิ่งคนทำงานโดนแบบนั้นบ่อยครั้งเข้า แพสชั่นของเขาจะหมดไปสักวัน ดังนั้นเราจึงพยายามให้ความสำคัญตรงจุดนี้ เราบอกกับกองถ่ายเสมอว่าคุณนำเสนอไอเดียมาเลย เราพร้อมให้ทุนสนับสนุน เพราะกว่าหนังเรื่องหนึ่งจะออกมาได้ทุกคนต้องใช้แรงกาย แรงใจหนักหนาสาหัส และถ้าหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เราก็อาจจะแก้ไขข้อกฎหมายแรงงานให้ดียิ่งขึ้น 

ด้านปัญหาเรื่องทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง เรามองว่าธรรมชาติการทำงานในกองถ่ายนั้นไม่สามารถกำหนดเวลาได้อย่างแน่นอนว่าอะไรจะเสร็จตอนไหน ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างของงานโปรดักชั่น ยกตัวอย่างเซ็ตกองถ่ายกันตี 4 รอถ่าย 8 โมงเช้า ปรากฏฝนตกหนักถ่ายไม่ได้ ฉะนั้น ที่สำคัญคือเราต้องให้ค่าแรงที่สมน้ำสมเนื้อเทียบเท่ากับเวลาชั่วโมงที่พวกเขาทำงาน

เพราะอย่างตอนนี้ค่ายหนังก็ประสบกับปัญหาที่รายได้จากการฉายโรงถูกจัดจำหน่ายแบบลดหลั่น น้อยกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายปัญหาก็จะวนกลับมาว่าอุตสาหกรรมคนทำหนังไทยควรจะได้รับการสนับสนุนและแก้ไขให้ข้อกำหนดหลายๆ อย่างบาลานซ์มากขึ้น

 

อีกส่วนที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของคนในวงการนี้ ก็คือบรรดาภาพยนตร์ฟรีที่ฉายผ่านเว็บไซต์เถื่อน ซึ่งเป็นตัวทำลายรายได้หลักของคนทำหนัง 

ใช่ค่ะ (สีหน้าจริงจัง) เราพยายามเข้มงวดกวดขันกับปัญหานี้มาก ถึงขั้นที่เราต้องมีทีมทนายของค่ายไว้จัดการ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง เช่น ช่วงที่ 4KINGS เข้าฉายในโรง ให้คนทำผิดเห็นว่าเราเอาจริง เพราะนั่นไม่ใช่แค่การทำลายรายได้ แต่ยังเป็นการทำลายความตั้งใจของคนทำหนัง ที่เขาใช้แรงกายแรงใจทุ่มเท อดหลับอดนอน แล้วเหตุใดคุณถึงเอาไปฉายกันฟรีๆ และก็ควรแก้กันที่เรื่อง Mindset ของคนดูด้วย ที่เราควรดูหนังแบบถูกลิขสิทธิ์กันให้เป็นเรื่องปกติ

 

เป้าหมายในอนาคตของค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ต่อจากนี้คืออะไร

เรากำลังพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิงของค่ายเราด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อเพิ่มช่องทางการดูหนังของเราทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงวางแผนเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจอยากทำหนังกับเราสามารถใช้เหรียญโทเคน (Token) เพื่อร่วมสนับสนุน และอีกอย่างคือเราจะลบคำสบประมาทที่มองว่า เนรมิตรหนัง ฟิล์ม จะประสบความสำเร็จได้แค่เรื่องเดียว (หัวเราะ)

Fact Box

  • นอกจากจะเป็นหนังเรื่องแรกของค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ที่สามารถทำรายได้รวม 170 ล้านบาท 4KINGS ยังสามารถคว้ารางวัลคมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 18 ในสาขานักแสดงนำชายและนักแสดงสมทบยอดเยี่ยม เข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเวทีชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 30 และเข้าชิงรางวัล Audience Award กับ ABC Award จากเวที Osaka Asian Film Festival 2022 ที่ประเทศญี่ปุ่น
  • 4KINGS เป็นผลงานการกำกับครั้งแรกของ พุฒิ-พุฒิพงษ์ นาคทอง ก่อนหน้านี้หนังเรื่องดังกล่าวเคยออกฉายบนยูทูบในรูปแบบหนังสั้น (ความยาว 15 นาที) มียอด view กว่า 12 ล้านครั้ง ก่อนพุฒิพงศ์จะนำมาเสนอกับทางค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม และได้รับการอนุมัติด้วยทุนสร้าง 15 ล้านบาท
  • ไลโอ โคตรแย้ยักษ์ (LEIO) ถือเป็นการกลับมาของหนังแนวสัตว์ประหลาดไทยในรอบหลายสิบปี โดยได้ Fatcat Studios มาเป็นทีมผลิตวิชวลเอฟเฟกต์
  • ไม่ใช่แค่ 4KINGS และไลโอ โคตรแย้ยักษ์ เพราะเร็วๆ นี้ เนรมิตรหนัง ฟิล์ม ยังมีภาพยนตร์น่าสนใจอีกหลายเรื่องที่รอคิวฉาย เช่น แสงกระสือ 2 และ The One Hundred
Tags: , , ,