ในบ่ายวันหนึ่ง เราแวะไปยังร้าน Patchworks ย่าน MRT บางอ้อ ขณะกำลังเดินลงจากสถานี สิ่งที่สะดุดตาเป็นอย่างแรกคือ ศาลพระภูมิสีทองที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าร้าน แสงแดดยามบ่ายกระทบกับผิวของศาลจนเกิดประกายระยิบระยับอย่างสวยงาม และที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือ ศาลพระภูมินี้กลับกลมกลืนเข้ากับดีไซน์ของตัวอาคารอย่างน่าเหลือเชื่อ
นำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไม ‘ศาลพระภูมิ’ หน้าบ้านหรืออาคารในไทย จึงดูโดดเด่นและแตกต่างจากสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ศาลพระภูมิเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเชื่อและวัฒนธรรมไทยที่ยังคงความงดงามดั้งเดิมไว้ พร้อมเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์ดีไซน์ใหม่ๆ ที่ผสมผสานความคลาสสิกกับยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว
กร-ธนกร เสถียรวงศ์นุษา สถาปนิกผู้เคยตั้งคำถามกับความไม่สอดคล้องระหว่าง ‘สิ่งปลูกสร้าง’ กับ ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ เลือกหยิบศาลพระภูมิมาเป็นต้นทางของแนวคิดการออกแบบใหม่อีกครั้ง ภายใต้แบรนด์ Mahasan (มหาศาล) และเป็นผู้ดีไซน์ศาลพระภูมิที่เราเห็น
บทสนทนาต่อจากนี้จะพาคุณไปรู้จักแนวคิดเบื้องหลังแบรนด์มหาศาลจากคนที่มองศาลพระภูมิไม่ใช่แค่ในฐานะสิ่งเคารพ แต่คือพื้นที่เล็กๆ ที่สามารถออกแบบให้ร่วมสมัย โดยไม่ทิ้งรากฐานทางวัฒนธรรม
จุดเริ่มต้น
ความสนใจในศาลพระภูมิ ไม่ได้มาจากแค่การเป็นสถาปนิก แต่เกิดจากธุรกิจครอบครัว
ตอนเด็กผมอาจไม่รู้สึกสนใจหรือใส่ใจเรื่องศาลพระภูมิมากนัก แม้ว่าในบ้านจะทำธุรกิจขายศาลพระภูมิ แต่ผมก็แค่ช่วยงานที่บ้านไปตามปกติ จนมาเรียนสถาปัตย์และเริ่มทำงานเป็นสถาปนิก เริ่มมองเห็นความแตกต่างระหว่างรูปแบบศาลพระภูมิ และเริ่มสังเกตว่าบ้านสมัยใหม่ โดยเฉพาะบ้านสไตล์โมเดิร์นหรือบ้านตะวันตก มักไม่เข้ากับศาลรูปทรงดั้งเดิมเหล่านั้น
“ถ้าศาลต้องอยู่กับบ้าน ก็ไม่ควรขัดกับตัวบ้าน” ผมเริ่มตั้งคำถามว่า ถ้าศาลเป็นสิ่งจำเป็นกับบ้าน เราจะออกแบบให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ไหม จากนั้นผมไปเรียนต่อด้าน Design Entrepreneur และนำแนวคิดนี้ไปทำโปรเจกต์จบเกี่ยวกับการพัฒนาศาลพระภูมิ
อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดแบรนด์ ‘มหาศาล’ ขึ้นมา
ช่วงที่ผมทำงานสถาปนิก ในการออกแบบบ้านให้ลูกค้า ผมพบว่า เมื่อเจ้าของบ้านต้องการตั้งศาลหน้าบ้าน มักเจอปัญหาว่าศาลที่มีในท้องตลาดยังมีรูปแบบที่จำกัด หากเจ้าของให้ผู้ทำพิธีเลือกก็จะได้ศาลทรงไทย ที่ไม่เข้ากับการออกแบบบ้านหรือโครงการ นอกจากนี้หากสถาปนิกออกแบบศาลเองก็จะกลัวว่า จะไม่ถูกหลักพิธีกรรมจนต้องแก้ไขกันไปมา
ในขณะเดียวกัน ผมมีความรู้ในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และศาสตร์การจัดศาลพระภูมิ จึงคิดว่าตัวเองสามารถนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมให้ลูกค้าได้ หลายคนไม่รู้ว่าศาลมีหลายประเภท ทั้งศาลพระภูมิ ศาลพระพรหม ศาลหลักเมือง และอื่นๆ ที่มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของลักษณะ รูปแบบ และการใช้งาน
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเห็นถึงช่องว่างในตลาด ที่ขาดการออกแบบศาลให้เข้ากับบ้านสมัยใหม่ ทั้งที่ศาลเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนความเชื่อและวัฒนธรรมของเจ้าของบ้าน ผมจึงพัฒนาและสร้างแบรนด์มหาศาล เพื่อออกแบบศาลที่ตอบโจทย์ความเชื่อและสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
จาก ‘ศาลพระภูมิแบบดั้งเดิม’ มาถึง ‘ศาลพระภูมิแบบโมเดิร์น’ คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบท
แบรนด์มหาศาลมีแก่นของคอนเซปต์ที่เคารพความเชื่อของแต่ละบุคคล โดยเชื่อว่าความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัจเจกของเจ้าของศาล ซึ่งการออกแบบศาลพระภูมิไม่ใช่แค่การสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ต้องมีความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และบริบทของบ้านหรือสถานที่ต่างๆ
เราให้ความสำคัญกับการออกแบบศาลให้ดูสวยงามและน่าสนใจ เพื่อกระตุ้นความรู้สึกทางจิตใจและทำให้เจ้าของรู้สึกว่า ศาลเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ คำนึงถึงความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและรักษาความเชื่อ โดยการเก็บองค์ประกอบสำคัญจากศาลพระภูมิแบบดั้งเดิม เช่น ลักษณะทางสัญลักษณ์ และองค์ประกอบสำคัญต่างๆ แต่ปรับรูปแบบให้ดูเรียบง่ายขึ้น ลดความน่ากลัว ง่ายต่อการดูแลรักษา และสามารถติดตั้งหรือขนส่งได้สะดวก
นอกจากนี้ยังปรับการออกแบบให้เข้ากับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เพื่อให้ศาลสามารถสะท้อนเอกลักษณ์ขององค์กรหรือสถานที่นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอาคารเป็นโชว์รูมรถไฟฟ้า ที่ต้องการภาพลักษณ์ที่ดูอนาคต มีความทันสมัย ศาลก็ควรออกแบบให้ไปในทิศทางของคอนเซปต์ของโชว์รูมที่มีภาพลักษณ์อนาคต
การตีความและการออกแบบ
ในยุคที่คนรุ่นใหม่มีมุมมองด้านความเชื่อเปลี่ยนไป คุณออกแบบศาลพระภูมิอย่างไรเพื่อตอบโจทย์คนยุคนี้
แบรนด์มหาศาลเคารพความเชื่อที่หลากหลายและเห็นว่าศาลพระภูมิยังคงมีบทบาทสำคัญในสังคมไทย เรามองว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพิธีกรรม แต่ควรปรับรูปแบบของศาลให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่ยังให้ความสำคัญกับความเชื่อแต่ต้องการดีไซน์ที่เข้ากับบ้านในปัจจุบัน
ศาลพระภูมิยังคงมีความสำคัญกับวาระสำคัญต่างๆ ในการสร้างอาคารใหม่ของไทย เราจึงมุ่งเน้นที่การปรับดีไซน์ให้สอดคล้องกับบริบทของบ้านและโครงการ เพื่อให้สวยงามและเข้ากับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งสามารถกระตุ้นความรู้สึกของเจ้าของและสะท้อนถึงเอกลักษณ์และแนวคิดของแต่ละองค์กรได้
ถ้าสถานที่เป็นสไตล์โมเดิร์น แต่ศาลพระภูมิแบบไทยดูไม่เข้ากัน คุณจะแนะนำยังไง
เรามองว่าศาลไทยดั้งเดิมสามารถเข้ากับอาคารสมัยใหม่ได้ เพราะมีเสน่ห์ในตัวเองและช่วยเสริมบรรยากาศ ถ้าเจ้าของโครงการมีความชอบ ไม่รู้สึกว่าขัด อยากได้การออกแบบใหม่ๆ ก็สามารถตั้งแบบเดิมได้ แต่ถ้าต้องการดีไซน์ใหม่ เราก็พร้อมออกแบบให้ร่วมสมัย โดยยังคงความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ไว้ครบถ้วน
สิ่งสำคัญคือการทำให้ศาลดูเชื่อมโยงกับอาคารอย่างมีความต่อเนื่อง เช่น เมื่อผู้คนเดินเข้าสู่พื้นที่ ศาลพระภูมิถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่ช่วยสะท้อนแนวคิดบางอย่างของอาคาร ช่วยเน้นแนวทางการออกแบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เราอยากให้ศาลไม่ใช่เพียงของตั้งอยู่แยกออกมา แต่ต้องทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรมโดยรวม สร้างบรรยากาศที่กลมกลืนและมีความหมาย
แนวทางการออกแบบศาลให้ ‘ทันสมัยแต่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์’
การออกแบบศาลให้ดูทันสมัยแต่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการผสานความรู้สึกพิเศษที่เกิดขึ้นจากโมเมนต์เฉพาะ เมื่อแสงสะท้อนหรือวัสดุที่ใช้งานมาบรรจบกับการมองเห็นในช่วงเวลานั้น ทำให้เกิดความรู้สึกคล้ายกับปาฏิหาริย์ ซึ่งเรานำแนวทางนี้มาใช้ในการออกแบบศาล
เราต้องการให้ศาลมีความศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบที่มินิมอลและทันสมัย โดยใช้รูปทรงจั่วและแหลม ผสมผสานกับวัสดุที่สะท้อนแสงแดดและเงา เช่น สีทองแสดงถึงความมงคล และการใช้โลหะเคลือบเพื่อให้ดูหรูหราและทันสมัย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและศักดิ์สิทธิ์ ขณะเดียวกันก็เล่นกับวัสดุที่สะท้อนแสงธรรมชาติ เพื่อสร้างมิติที่แตกต่างตามเวลา
สำหรับสีที่ใช้ ส่วนใหญ่เน้นสีทองในโทนต่างๆ เช่น ทองเหลือง ทองคำขาว และทองสว่าง ซึ่งเมื่อโดนแสงแดดจะสร้างมิติที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา ทำให้ศาลดูมีชีวิตชีวาและเชื่อมโยงกับความเป็นไทยในแง่ของความงามและความศักดิ์สิทธิ์
วัสดุมีความสำคัญยังไงในแง่ของการออกแบบศาลที่อยู่กลางแจ้ง
สำคัญมาก เพราะศาลพระภูมิเป็นงานเอาต์ดอร์ ต้องเผชิญทั้งแดด ฝน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอด เราจึงเลือกใช้วัสดุสมัยใหม่ทั้งหมด เช่น สเตนเลสที่ทนต่อการเกิดสนิม ใช้กระบวนการเชื่อมและเคลือบสีแบบที่ใช้กับงานอุตสาหกรรมจริงๆ เพื่อให้ศาลคงทน สวยงาม และดูแลรักษาง่ายในระยะยาว
ศาลที่ดีในความคิดของคุณเป็นอย่างไร
เราคิดว่าศาลที่ดีควรทำให้ผู้คน ‘ยอมรับในสิ่งที่เราเป็น’ ได้ ไม่รู้สึกเขินอายกับรากเหง้าหรือความเชื่อของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเคารพได้อย่างเต็มที่ เราหวังว่างานของเราจะไม่ใช่แค่สิ่งที่สวยงามหรือดูร่วมสมัย แต่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้มองกลับมาที่รากฐานของตัวเอง แล้วกล้าที่จะพัฒนาและต่อยอดสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบันได้
ถ้าลูกค้าอยากได้ศาลที่เหมาะกับสถานที่เฉพาะ คุณมีวิธีเก็บข้อมูลหรือทำการบ้านยังไง
กระบวนการของเราจะเริ่มจากการเก็บข้อมูลความต้องการว่า ศาลที่ลูกค้าต้องการคืออะไร เช่น ศาลพระภูมิ ศาลตายาย ซึ่งแต่ละแบบมีองค์ประกอบเฉพาะ เราจะเก็บข้อมูลพื้นฐานทั้งหมดไว้ก่อน
จากนั้นในแต่ละโปรเจกต์ ถ้าลูกค้าต้องการให้ศาลสอดคล้องกับอาคารหรือคอนเซปต์ของพื้นที่ เราก็จะดูมู้ดแอนด์โทนของงานออกแบบโดยรวม ซึ่งบางครั้งเราทำงานร่วมกับทีมสถาปนิกเลย เช่น ถ้าโครงการเป็นแนวลอฟต์ มีความดิบ เท่ เราก็จะออกแบบศาลให้มีวัสดุหรือรูปลักษณ์ที่ตอบโจทย์นั้น โดยยังไม่ทิ้งความศักดิ์สิทธิ์
ตอนนี้เรามี 2 ไลน์หลักคือ สำหรับอาคารสถาปัตยกรรม เน้นดีไซน์สวยงาม ปรับวัสดุและคอนเซปต์ให้เข้ากับโครงการ พร้อมออกแบบพื้นที่วางศาลใหม่ทั้งหมด และไลน์ที่ 2 สำหรับบ้านพักอาศัยหรืออาคารขนาดเล็ก ราคาย่อมเยา มีแคตตาล็อกให้เลือกแบบและขนาด พร้อมจัดส่งทั่วประเทศ
ทำยังไงไม่ให้ศาลดูโดดหรือแปลกแยกจากพื้นที่
เราใช้คำว่า Harmony เพราะเราไม่ได้อยากให้ศาลแย่งความสนใจจากตัวอาคารหรือพื้นที่โดยรอบเกินไป เราอยากให้อยู่ร่วมกับเมือง อยู่ร่วมกับโครงการได้อย่างกลมกลืน คนเดินผ่านก็เห็นทุกวัน ไม่ใช่แค่รู้สึกเฉยๆ แต่รู้สึกน่าไหว้ อยากไหว้
เราจึงออกแบบให้ศาลสอดคล้องกับเส้นสายของอาคาร บางโปรเจกต์เราดึงสไตล์ รูปทรง หรือแม้แต่วัสดุบางอย่างมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้ทั้งศาลและอาคารดูเป็นสิ่งเดียวกัน และแน่นอนว่าทุกมุมที่มองเห็น เราต้องการให้สวยงามและศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็ควรให้ความรู้สึกเดียวกันว่า นี่คือพื้นที่ที่น่าเคารพบูชา
ถ้าพื้นที่มีข้อจำกัด เช่น อยู่ติดถนนหรือติดรถไฟฟ้า ทีมออกแบบยังไงให้ศาลกลมกลืนกับบริบท
มีหลายโปรเจกต์ที่พื้นที่มีข้อจำกัดเยอะ เช่น ติดถนน ติด MRT คนผ่านตลอดวัน เราต้องคิดว่าออกแบบยังไงไม่ให้ขัดแย้งกับสถาปัตยกรรม ไม่สร้างความรู้สึกกลัวหรือแปลกแยก แต่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้
ขั้นตอนก็คล้ายกับการทำงานสถาปัตย์เลย เราดูบริบทพื้นที่และออกแบบ 3D เพื่อนำเสนอให้ลูกค้าดู บางโครงการเจ้าของก็จะมีแนวคิดชัดมาก เช่น อยากให้ศาลอยู่ใกล้ซุ้มประตู หรืออยากให้เป็นจุดเด่นของโครงการ เพราะศาลคือสิ่งแรกที่ผู้คนเห็นและรู้สึกถึงความเป็นสิริมงคล
การสื่อสารความเชื่อและความเข้าใจผู้คน
การได้ร่วมงานกับพราหมณ์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมให้อะไรกับคุณในฐานะนักออกแบบ
เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พอๆ กับเรื่องการออกแบบเลย เพราะสุดท้ายแล้วศาลพระภูมิคือ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีหน้าที่รองรับพิธีกรรมแบบจริงจัง เราทำงานร่วมกับพราหมณ์อยู่เสมอ พูดคุย ถามความเห็น แลกเปลี่ยนกันว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม และอะไรที่เราสามารถพัฒนาไปสู่แนวทางใหม่ๆ ได้โดยไม่ขัดกับรากของความเชื่อ
ซึ่งสำหรับผมคือ ประสบการณ์ใหม่ในฐานะนักออกแบบ เพราะทำให้เราไม่ได้คิดแค่เรื่องความงามหรือฟังก์ชัน แต่ต้องคิดถึงจิตวิญญาณของพื้นที่ด้วยว่า งานออกแบบจะส่งเสริมพิธีกรรมได้ยังไง
โดยปกติแล้วจุดเริ่มต้นของการตั้งศาลมักจะมาคู่กับการเริ่มต้นอะไรใหม่ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ เปิดอาคาร เปิดโครงการ ซึ่งมักจะมีฤกษ์ที่กำหนดไว้ชัดเจน เช่น วันที่ 9 เดือน 9 เวลา 9 โมง 9 นาที พอเรารู้ฤกษ์ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทุกอย่าง เช่น การจัดส่ง การติดตั้งให้ตรงเวลา จากนั้นเราจะขอดูพื้นที่ก่อน บางคนส่งภาพ Perspective โครงการมาให้ดู แล้วเราจะเริ่มเก็บข้อมูลความต้องการ เช่น ต้องการศาลพระภูมิ พระพรหม หรือศาลตายาย บางคนตั้งแค่ 1 หลัง บางคน 3 หลังครบ เราก็จะเสนอแบบดีไซน์ให้เลือกและปรับให้เข้ากับพื้นที่จริง
ช่วงแรกๆ เราต้องไปอยู่ในพิธีด้วยเลย เรียนรู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง เช่น สินค้าต้องจัดส่งก่อนกี่โมง ต้องแกะออกตอนไหน ก่อนเริ่มพิธีต้องเตรียมอะไรให้พร้อม แล้วก็สอบถามกับพราหมณ์โดยตรงว่า แบบนี้โอเคไหม เราทำอะไรผิดหลักไหม มีอะไรต้องปรับไหม หลายท่านก็บอกว่า เห็นด้วยกับแนวทางของเรา ที่พยายามพัฒนารูปลักษณ์ของศาลให้ทันสมัยขึ้น เพราะหลักความเชื่อไม่ได้เปลี่ยน แต่พิธีกรรมและบริบทของแต่ละโครงการนั้นหลากหลายมาก บางที่ใช้พราหมณ์ บางที่ใช้ซินแส บางที่ให้พระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจและเคารพในความเชื่อของแต่ละคน
เคยมีความเห็นต่างระหว่างฝ่ายดีไซน์กับฝ่ายพิธีกรรมไหม
มี แล้วก็เป็นสิ่งที่เราเจอกันบ่อย อย่างที่คนมักจะพูดกันว่า อินทีเรียมักมีปัญหากับหมอดูหรือซินแส เพราะมุมมองต่างกัน ฝั่งหนึ่งมองเรื่องฟังก์ชันกับสุนทรียะ อีกฝั่งหนึ่งมองเรื่องฮวงจุ้ย ความเชื่อ และความเป็นมงคล
ในเคสของเรา ‘มหาศาล’ จึงทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวกลาง เราไม่ได้เลือกข้าง แต่พยายามประนีประนอมหรือหาทางสายกลางที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย เราเข้าใจดีไซเนอร์ว่า อยากให้งานออกมาสวย เข้าใจเจ้าของโครงการที่อยากให้ทุกอย่างราบรื่น และก็เข้าใจฝ่ายพิธีกรรมที่มีข้อกำหนดเฉพาะตัว
สิ่งที่เราพยายามคือ ทำให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้และทำให้โปรเจกต์นั้นประสบความสำเร็จทั้งในเชิงความเชื่อและความงาม ไม่ใช่เลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เราเชื่อว่า ความเชื่อก็พัฒนาได้และดีไซน์ที่ดีต้องไม่ละเลยหัวใจของความศรัทธา
ผลตอบรับจากผู้เข้าชมงานสถาปนิกที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องบอกว่า ผลตอบรับดีมาก คนที่มาเยี่ยมชมศาลของเราในบูทมีทั้งนักออกแบบ เจ้าของโครงการ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจงานออกแบบของเรา พอได้คุยกัน เขาก็ให้ความสนใจว่า ศาลพระภูมิสามารถมีดีไซน์ร่วมสมัยได้จริงๆ เหรอ ทำให้เรารู้สึกดีใจที่ไอเดียของเราสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้จริงๆ
เราได้รางวัล Smart Design Product of the Year 2025 เป็นรางวัลจากแพลตฟอร์มที่คัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจในแต่ละปี แล้วนำมาจัดแสดงในงานสถาปนิก ’68 เราก็เอาศาลของเราไปโชว์ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากสถาปนิกและคนในวงการเยอะ
จริงๆ เราเตรียมใจไว้ว่า อาจจะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เพราะเป็นเรื่องความเชื่อและรสนิยม แต่ปรากฏว่าเรามีประสบการณ์ที่เซอร์ไพรส์มากคือ เจอคุณตาอายุเกือบ 90 ปี ท่านบอกว่า น่าจะมีแบบนี้ตั้งนานแล้ว เบื่อของเก่าแล้ว ทำต่อไปนะ เป็นกำลังใจให้ เราไม่ได้คาดคิดเลยว่าจะได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหญ่ขนาดนี้
การบริหารธุรกิจ
ชื่อ ‘มหาศาล’ มีความหมายพิเศษอย่างไร
ชื่อ ‘มหาศาล’ มาจากคำมงคลที่แปลว่า ยิ่งใหญ่ เปี่ยมล้น เป็นชื่อที่เราตั้งใจให้สื่อถึงพลังของความเชื่อที่ยังคงอยู่ในสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง และในอีกแง่หนึ่งก็สามารถอ่านเล่นคำได้ว่า ‘มา-หา-ศาล’ เป็นการเชื้อเชิญผู้ที่กำลังมองหาศาลที่แตกต่าง ให้มาหาเรา
นอกจากนี้เรายังตีความว่า ‘มหา-ศาล’ คือ ‘ศาลที่มากกว่าศาล’ นั่นคือไม่ได้เพียงแค่ออกแบบวัตถุหนึ่งชิ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรม แต่เราอยากเป็นพื้นที่ที่นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการออกแบบร่วมกับความเชื่อดั้งเดิมของไทย โดยไม่ยึดติด ไม่เขินอาย และไม่ปฏิเสธรากเหง้าของตัวเอง
ธุรกิจของครอบครัวเรามีพื้นฐานมาจากงานไม้ งานศิลป์ งานศาลแบบดั้งเดิม เราไม่ได้ทิ้งสิ่งเหล่านั้น แต่เราพยายามพัฒนาให้ไปต่อได้ในบริบทของยุคสมัย ผ่านสายตาของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบเคารพต้นทาง
คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าเลือกศาลพระภูมิแบบโมเดิร์นของ ‘มหาศาล’
เราคิดว่ามหาศาลเป็นคำตอบของคนที่ต้องการทั้งการออกแบบ และความเชื่อในเวลาเดียวกัน เราเข้าใจว่าลูกค้าของเรามีทั้งความต้องการด้านความสวยงามและความถูกต้องตามหลักพิธีกรรม ดังนั้นเราจึงพยายามทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ที่สามารถบาลานซ์ทุกมิติให้สอดคล้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการ นักออกแบบ หรือทีมพิธีกรรม
กลุ่มลูกค้าของเราตอนนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก
กลุ่มแรกคือ ผู้ประกอบการและเจ้าของโครงการ เช่น โชว์รูมรถยนต์ โรงแรม หรือโครงการอสังหาฯ ต่างๆ ซึ่งต้องการศาลที่สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ ทันสมัย เรียบง่าย และมีดีไซน์ กลุ่มที่ 2 คือ เจ้าของบ้านพักอาศัย โดยเฉพาะในโครงการบ้านจัดสรร หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการศาลที่วางง่าย ดูแลง่าย เข้ากับบ้าน ซึ่งเราก็ออกแบบให้มีหลายขนาด หลายรูปทรง เช่น สามเหลี่ยม วงกลม หรือสี่เหลี่ยม เพื่อให้จัดวางกับตัวอาคารได้อย่างลงตัว
ลูกค้าส่วนใหญ่มักเลือกแบบสำเร็จรูปที่เราดีไซน์ไว้แล้ว เพราะต้องการความรวดเร็วและสะดวก ส่วนแบบคัสตอมก็มี โดยเฉพาะลูกค้าที่ต้องการงานเฉพาะทาง หรือมีพื้นที่และแนวคิดเฉพาะตัวที่ต้องการให้เราออกแบบร่วมด้วย
การเติบโตผ่านแรงบันดาลใจและการสร้างสรรค์ร่วมกัน
ในตลาดปัจจุบันมีนักออกแบบและสถาปนิกหลายท่านที่เริ่มทำงานในแนวทางที่ใกล้เคียงกับมหาศาล เราไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นคู่แข่ง แต่ถือเป็นเพื่อนร่วมวงการศิลปะที่มีลายเส้นและแนวคิดเฉพาะตัว ซึ่งสิ่งนี้ช่วยสร้างความหลากหลายและเติมเต็มให้กับอุตสาหกรรมงานออกแบบได้อย่างดีเยี่ยม
สำหรับเราการได้เห็นแนวคิดและดีไซน์ที่แตกต่างกันอย่างต่อเนื่อง คือแรงผลักดันที่สำคัญ ช่วยให้เราพัฒนาและก้าวหน้าไปพร้อมกับวงการดีไซน์โดยรวม
การทำศาลแบบคัสตอมมีความยากหรือง่ายอย่างไร
เป็นงานที่สนุกและท้าทาย เพราะเราจะได้พัฒนารูปแบบร่วมกับนักออกแบบคนอื่นๆ ซึ่งมักจะนำไปสู่ไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใคร ลูกค้าก็จะได้ศาลที่เปรียบเหมือนลิมิเต็ดอิดิชัน เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างมหาศาลกับสถาปนิกหรือเจ้าของโครงการ เป็นกระบวนการที่เติมทั้งพลังและความสร้างสรรค์ให้กับทีม
มีลูกค้าที่มีความเชื่อเฉพาะตัวหรือเงื่อนไขพิเศษในการออกแบบไหม
ถ้าลูกค้ามีภาพในใจที่ชัดเจน เราจะให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นเป็นอันดับแรก เช่น ในบางเคส ลูกค้าเน้นตัวเลขมงคลในการกำหนดขนาดฐานศาล เราก็สามารถออกแบบให้ตรงตามเงื่อนไขเหล่านั้นได้อย่างกลมกลืน
อีกเคสที่น่าสนใจคือ โชว์รูมรถยนต์ที่เจ้าของเป็นชาวต่างชาติ แต่ให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมไทยมาก เขาศึกษาเรื่องฤกษ์ การตั้งศาล และพิธีกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง เราเริ่มต้นประชุมกันด้วยภาษาอังกฤษเหมือนทำโปรเจกต์อีเวนต์ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก และสะท้อนให้เห็นว่าศาลไม่ใช่แค่เรื่องของความเชื่อ แต่ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อวัฒนธรรมผ่านงานออกแบบได้อย่างลึกซึ้ง
นอกจากการออกแบบโครงสร้างภายนอกแล้ว องค์ประกอบเล็กๆ อย่าง ‘บริวาร’ ภายในคุณจัดการอย่างไร
ใช่ เราไม่ได้คิดแค่โครงสร้างตัวศาล แต่รวมถึงสิ่งที่อยู่ภายในศาลด้วย เราเริ่มพัฒนา ‘บริวาร’ ต่างๆ ที่อยู่รอบองค์ประธาน เช่น ถ้าเป็นศาลพระพิฆเนศ ก็จะมีหนูอยู่ด้วยใช่ไหม หรือถ้าเป็นศาลตายาย ก็อาจจะมีคนรำ สาวใช้ ฯลฯ ซึ่งเป็นการจำลองรูปแบบการอยู่อาศัยของคนในบ้านในอดีต คือถ้ามีบริวารเยอะก็เหมือนฐานะดี มีคนงานเยอะ มีช่างไม้ หรือมีละครรำในบ้าน เป็นเหมือนความบันเทิงด้วย
ฟังดูคล้ายกับการเล่าเรื่องผ่านการออกแบบ
ใช่ บางร้านอาหารถึงขั้นถวายบริวารเป็นร้อยตัว เพื่อสื่อถึงความมั่งคั่งและอยากให้มีคนช่วยดูแลกิจการ ก็เหมือนเป็นกิมมิกเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกับสตอรีของแต่ละแบรนด์ ผมเองก็ไม่ได้รู้ตั้งแต่แรก แต่พอเริ่มศึกษาลึกๆ ก็พบว่า มีความเชื่อแฝงอยู่ในองค์ประกอบเล็กๆ เหล่านี้เยอะมาก
เราออกแบบบริวารให้เป็นลักษณะคล้ายๆ แคสเปอร์ที่มีลักษณะโปร่งใส เพราะเราอยากให้อิมเมจของศาลดูน่าเข้าหา ไม่ได้น่ากลัว ตัวตุ๊กตาในช่วงแรกๆ เราก็พยายามไม่ให้แย่งซีนองค์ประธาน ซึ่งเราเลือกใช้ทองเหลือง ส่วนบริวารจะใช้วัสดุอื่นที่กลืนไปกับศาลได้ดี ไม่เด่นเกินไป และแน่นอนว่ายังต้องพัฒนาวัสดุให้คงทนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
ความใส่ใจของแบรนด์ยังขยายไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ อย่างกระถางธูป ผ้าสามสี หรือมาลัย เราตั้งคำถามกับของเดิม เช่น ทำไมผ้าสามสีต้องเป็นชมพู เขียว เหลือง เราก็ลองปรับเป็นโทนพาสเทล หรือสีเงิน ทอง นาค ให้เข้ากับโทนของศาลมากขึ้น แล้วก็ทำเป็นของแถมให้ลูกค้า เหมือนเป็นการร่วมแสดงความยินดี
อีกจุดเด่นหนึ่งคือการทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ 3D และศิลปินสายอาร์ตทอย เพื่อออกแบบตุ๊กตาบริวารให้มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว ภายใต้แบรนด์ของเขาเอง ช่วยให้ดีไซน์มีเอกลักษณ์และสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ต่างจากศาลพระภูมิแบบเดิมๆ
มุมมองต่ออนาคต
คุณคิดว่า ‘ศาลพระภูมิ’ ของมหาศาล เป็นภาพแทนวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยได้ในสายตาคนรุ่นใหม่หรือชาวต่างชาติไหม
ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยได้เต็ม 100% ไหม เพราะขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน แต่จุดเริ่มต้นของเราคือการยอมรับว่า ศาลพระภูมิเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในสังคมไทย และก็น่าจะมีต่อไป เราเลยตั้งใจศึกษา แล้วพัฒนาให้ออกมาเป็นเวอร์ชันที่ดีขึ้น ถ้ามีคนชอบงานเรา เราก็รู้สึกดีใจและขอบคุณมาก
ผมอยากให้เราเป็นหนึ่งในทางเลือก ถ้าวันหนึ่งใครจะตั้งศาลขึ้นมา อยากให้มหาศาลเป็นคนช่วยออกแบบให้หน้าบ้านหรือหน้าโครงการดูสวยงาม มีเอกลักษณ์ และตอบโจทย์ทางใจของเจ้าของพื้นที่ด้วย
ในมุมของผู้ที่พบเห็นศาลของมหาศาล คุณอยากให้เขารู้สึกอย่างไร
ผมอยากให้เขารู้สึกเติมเต็มในสิ่งที่เขาปรารถนา เพราะสุดท้ายแล้วศาลก็คือที่พึ่งทางใจ เวลาเราไหว้หรือขอพร มันคือความหวังบางอย่างที่อยู่ในใจ และในขณะเดียวกัน คนสมัยนี้ก็มีรสนิยม มีความต้องการในแง่ดีไซน์ที่เปลี่ยนไป เขาอาจอยากได้ศาลที่ดูเรียบง่าย ทันสมัย เราก็แค่อยากตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อกับความงามในยุคปัจจุบัน
นอกจากศาลพระภูมิมีแผนจะขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ไหม
ผมสนใจทำสเปซหรืองานออกแบบที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือวัฒนธรรม ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาลพระภูมิอย่างเดียว แต่อาจเป็นงานสถาปัตยกรรม หรือพื้นที่ที่นำเสนอความเป็นไทยร่วมสมัยได้ ผ่านมุมมองของเรา
ในโลกที่ผู้คนมีความเชื่อหลากหลายขึ้น คุณอยากให้ศาลของมหาศาลทำหน้าที่อะไร
เราพยายามพัฒนาและนำเสนอสิ่งที่ดีขึ้นให้กับเมือง ในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนมีความหลากหลายทั้งในด้านวิถีชีวิตและความเชื่อมากขึ้น ดังนั้นเราจึงมองว่า การออกแบบศาลไม่ควรยึดติดแค่รูปแบบเดิม แต่ควรเป็นตัวแทนของความเชื่อที่สามารถตั้งอยู่ได้อย่างสวยงาม และกลมกลืนกับบริบทของเมือง
มันคือการแสดงออกถึงความยอมรับและการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่อาจเชื่อไม่เหมือนกัน แต่สามารถเคารพกันได้ในพื้นที่เดียวกัน
Fact Box
- สถานที่: ร้าน Patchworks ย่าน MRT บางอ้อ เลขที่ 293 2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กทม.