ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 ที่ผ่านมาระบุว่า มีคนไทย ‘ว่างงาน’ สูงถึง  8.1 แสนคน เพิ่มขึ้น 4.5 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้ตลาดของการหางานเต็มไปด้วยความตึงเครียด ผสมปนเปกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของ ‘เด็กจบใหม่’ และ ‘ผู้ถูกเลิกจ้าง’ อีกเป็นจำนวนมาก

The Momentum นัดคุยกับ ‘แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์’ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการของ JobThai เว็บไซต์หางานระดับแถวหน้าของเมืองไทย แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างมานานกว่า 20 ปี รวมทั้งทำหน้าที่ส่งต่อใบสมัครงานเข้าสู่องค์กรต่างๆ มากกว่า 1 ล้านครั้งต่อเดือน

คำถามน่าสนใจที่เราอยากฟังคำตอบจากเธอคือ ชั่วโมงนี้ สถานการณ์ของตลาดการหางานเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน มี New Normal อะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง และความต้องการของตลาดการหางานในอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร

 

JobThai รับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาด รวมถึงผลกระทบของโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมาอย่างไร

JobThai เป็นสื่อกลางการหางาน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 21 และเราก็ต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตลอด 

ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประเทศไทยได้รับผลกระทบ JobThai ก็ต้องได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งธุรกิจก็มีทั้งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมปีที่แล้วไปจนถึงพฤษภาคม องค์กรต่างๆ ก็หยุดการจ้างงาน สิ่งที่ JobThai ทำก็คือการ ‘ลีน’ ตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะลีนได้ แต่เราก็ยังต้องดูแลลูกค้าของเรา ต้องช่วยเหลือเวลาที่เขาลำบาก เพราะเมื่อเวลาที่เขาดีขึ้น เขาก็จะกลับมานึกถึงเรา

ตามปกติแล้ว มีหลายองค์กรซื้อพื้นที่รับประกาศหางานตลอดทั้งปี พอเจอแบบนี้ เขาก็บอกเราว่าต้องหยุดรับคนเพิ่ม ซึ่งมีลักษณะแบบนี้มากกว่า 100 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่บางแห่งก็บอกเราว่า ขอยืดระยะเวลาการประกาศหางานเพิ่ม ซึ่งมันก็ทำให้คนที่กำลังหางานอยู่มีโอกาสที่จะได้งานเยอะขึ้น

ในปี 2563 เราสังเกตได้ถึงพฤติกรรมการหางานแบบใหม่จากผู้หางาน คนจะเริ่มค้นหางานประเภท Work from home หรือการสัมภาษณ์งานทางออนไลน์เยอะขึ้น ทำให้ทาง JobThai ก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาให้ทันกับความต้องการของผู้ใช้งานเว็บไซต์

สำหรับ JobThai เอง ออฟฟิศเราอยู่ที่สีลม น้องๆ ทุกคนมาทำงานกันโดยรถไฟฟ้า ในช่วงแรกยังไม่มีใครรู้ว่าควรทำอย่างไร เพราะทุกคนก็ยังไม่รู้จักโควิด-19 ดี เราเลยเร่งกระบวนการต่างๆ ให้ทุกคนทำงานที่บ้านให้ได้เร็วที่สุด หลังจากนั้นก็มาศึกษาดูว่าพนักงานของเราขาดเหลืออะไรบ้างในการทำงานที่บ้าน โชคดีที่เราเป็นบริษัทไอที การทำงานทุกอย่างก็ทำงานผ่านออนไลน์กันอยู่แล้ว ทุกอย่างของเราอยู่ใน Cloud Storage หมด แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ ที่บ้านของน้องๆ ทุกคนไม่มีโต๊ะทำงานที่ดีพอ หรือเก้าอี้ที่สามารถนั่งทำงาน 8 ชั่วโมงได้อย่างไม่ปวดหลัง เราเลยอำนวยความสะดวกด้วยการส่งโต๊ะกับเก้าอี้ในออฟฟิศไปให้น้องๆ ถึงบ้าน เพื่อที่ว่าทุกคนจะได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นี่คือหนึ่งในสวัสดิการของเรา

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ทำให้คนจำนวนมากต้องตกงาน นำไปสู่การหางานใหม่กันมากขึ้น JobThai ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้บ้าง 

ธุรกิจการหางานนั้นประกอบไปด้วยสองฝ่ายคือ 1. ผู้ประกอบการหรือบริษัทที่เข้ามาประกาศรับสมัครงาน กับ 2. คนที่กำลังหางานทำ

รายได้หลักของ JobThai ในทุกแพลตฟอร์มมาจากผู้ประกอบการ เมื่อองค์กรต่างๆ ต้องลดค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เยอะที่สุดก็คือค่าจ้างพนักงาน พอเขาไม่รับคนเพิ่ม เงินที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดการหางานมันก็ลดน้อยลง ทางเราก็ได้รับผลกระทบอย่างโดยตรงอยู่แล้ว 

ในฐานข้อมูลของ JobThai จะเห็นได้เลยว่าความต้องการแรงงานของปี 2563 ลดลงไป 28% ถ้าเทียบกับปี 2562 แต่ทางฝั่งคนหางาน (Job seeker) ก็เข้ามาใช้แพลตฟอร์มของ JobThai เพิ่มขึ้น 17% มีผู้ใช้งานถึง 16 ล้านคน ตอนน้องเอาตัวเลขมาให้ดู เราก็ตกใจมากเหมือนกัน อุปสงค์และอุปทานของการหางานมันสวนทางกัน

รู้สึกดีใจไหมที่มีคนหางานผ่าน JobThai เยอะขึ้น หรือรู้สึกใจหายกับตัวเลขผู้ตกงานที่เยอะขนาดนี้

คนตกงานเราก็ต้องเสียใจอยู่แล้ว พอคนตกงานเยอะ ภาพโดยรวมมันก็แย่ แต่ในความเสียใจนั้นมันก็มีความดีใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งทำให้คนมีงานทำ เราก็คอยบอกน้องๆ มาตลอดว่า งานที่เราทำก็เป็นงานที่ช่วยเหลือผู้คนด้วยเหมือนกัน หลายครั้งเราได้ยินเสียงตอบรับที่ดีจากคนหางาน เป็นคำขอบคุณ เป็นกำลังใจต่างๆ ก็รู้สึกดีที่เวลาเขาลำบากก็นึกถึงเรา

 

ถ้าคนว่างงานน้อยลง JobThai จะมีความหมายต่อผู้คนน้อยลงไปด้วยไหม

ไม่มีใครทำงานที่เดียวไปตลอด โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานสำหรับบางคนอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ในชีวิตเขา เมื่อเขาต้องการเปลี่ยนงาน ต้องการหางานใหม่ เขาก็จะยังนึกถึงเราอยู่ 

เคยคุยหรือปรึกษาหารือเรื่องอัตราเงินเดือนขั้นต่ำกับผู้ประกอบการ และองค์กรต่างๆ บ้างไหม 

เคยคุยกับหลายบริษัทเลย เราอยู่ในธุรกิจนี้มานาน มักจะเจอบริษัทหลายแห่งชอบมาถามว่า ลงประกาศรับสมัครงานไปนานแล้ว ทำไมยังไม่มีใครมาสมัคร คำถามแรกที่เราจะถามเขาก็คือ ตำแหน่งอะไร และให้เงินเดือนเท่าไหร่ แต่ละงานเงินเดือนก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว เบื้องต้นเราจะเห็นได้ว่า น้องๆ ที่จบปริญญาตรี เงินเดือนขั้นต่ำคือ 15,000 บาท 

อย่างกรณีล่าสุด ผู้ประกอบการต้องการหาคนมาทำ Dev (เป็นคำย่อจากคำว่า Developer ซึ่งหมายถึงนักพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์, แอพลิเคชันต่างๆ รวมไปถึง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งนักพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Technology ใดก็ตาม จะเรียกว่า Developer ทั้งสิ้น) ให้เขา ซึ่งสายงานนี้มีการแข่งขันสูงมาก ด้วยความที่ว่าชีวิตของพวกเราได้ย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ พอเราถามเขาว่าให้เงินเดือนเท่าไหร่ เขาบอกว่า 20,000 บาท เราบอกว่า 20,000 บาท มันแทบจะเป็นขั้นต่ำเลยนะ สายงาน Dev สามารถมีเงินเดือนเริ่มต้นจาก 20,000-60,000 บาทเลย แต่ถามว่า 60,000 บาท ต้องทำอะไรได้บ้างล่ะ ก็ต้องเขียน AI ได้ ทำหุ่นยนต์ได้ วิเคราะห์ data ได้ นอกจากนั้นต้องพูดภาษาอังกฤษได้อีก แถมต้องสื่อสารไปยังคนอื่นได้ด้วย 

แต่ว่าถ้าเป็นงานที่ไม่ได้ต้องการทักษะอะไรมาก เช่น งานขาย งาน HR หรืองานแอดมิน เราว่าจบใหม่เงินเดือน 15,000 บาท มันก็ยังไม่น่าเกลียด

ในมุมมองของคุณ เงินเดือน 15,000 บาท ต้องทำอะไรได้บ้าง

จำนวนนี้มันก็คือเงินเดือนเริ่มต้น แต่จริงๆ เราก็แอบเห็นว่ามีบางบริษัทให้ต่ำกว่านั้นอีก ลงไปถึง 12,000 บาท ก็มี แต่ก็อย่างที่บอกว่ามันคือเงินเดือนของงานที่ไม่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางสักเท่าไหร่ เช่น งานธุรการ แต่สิ่งที่เขาจะดูกันเพิ่มเติมในเวลาสัมภาษณ์ก็คือเรื่องของบุคลิกภาพ ท่าทีของการสื่อสารว่าเข้ากับรายละเอียดงานไหม

ถ้าใครอยากได้งานเดือนสูงกว่า 15,000 บาท เราก็ต้องเพิ่มศักยภาพของตัวเองขึ้นมาให้เหนือกว่าคนอื่น แต่ไม่ได้เพิ่มแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวนะ เราต้องเพิ่มศักยภาพตัวเองให้ตรงกับความต้องการของตลาดด้วย

สังเกตว่าในหมู่คนรุ่นใหม่และเด็กจบใหม่ จะมีเสียงสะท้อนมาตลอดว่าหางานแรกได้ยากมาก ต้นตอของปัญหานี้อยู่ตรงไหน 

ยุคนี้คือยุคโควิด-19 มันก็จะยากนิดนึง สงสารน้องๆ ในรุ่นนี้เหมือนกัน โดยธรรมชาติยุคนี้ก็หางานยากกว่าปกติอยู่แล้ว ด้วยความต้องการแรงงานที่น้อยลง แต่คนหางานกลับเยอะขึ้น เด็กจบใหม่แข่งกันเองยังไม่พอ ต้องมาแข่งกับคนมีประสบการณ์ที่กระโดดข้ามสายงานมาอีก ทั้งจากธุรกิจการท่องเที่ยวบ้าง ธุรกิจการบินบ้าง ผลกระทบจากเรื่องนี้จึงทำให้หางานยาก

แต่น้องๆ มีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือ อัตราเงินเดือนเขาจะไม่สูงเท่าคนอื่นที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีโครงการจากรัฐบาลที่ช่วยสนับสนุนการจ้างงานเด็กจบใหม่ ซึ่งเป็นโครงการของ Co-Payment โดยใครที่จบปริญญาตรี รัฐจะจ่ายให้ 7,500 บาท แบ่งกับบริษัทเอกชนอีก 7,500 บาท รวมเป็น 15,000 บาทพอดี

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้องๆ หางานได้ยากตั้งแต่ช่วงก่อนยุคโควิด-19 ก็คือเรื่องปัญหาช่องว่างของทักษะ ที่ไม่เพียงพอต่อโลกของการทำงานจริง ถ้าน้องๆ อยากได้งานทำ ก็ต้องพัฒนาทักษะของตัวเองให้เข้ากับความต้องการของตลาด รวมถึงต้องไม่ปิดกั้นตัวเองว่าต้องทำงานที่ชอบเท่านั้น บอกเลยว่างานแรกนั้นอาจจะไม่ใช่งานที่ใช่ แต่พอทำไปสักพักแล้วเราอาจจะพบว่ามันเป็นงานที่ชอบก็ได้ ที่สำคัญคืออย่าปิดกั้นตัวเอง เปิดใจพิจารณางานอื่นๆ เพราะว่าประสบการณ์ทำงานนั้นมันสามารถต่อยอดได้แน่นอน เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะสำหรับเด็กจบใหม่อย่างเดียวเท่านั้น เราต้องคอยดูตลอดว่าตอนนี้เทรนด์การทำงานมันเป็นยังไง และก็ต้องพัฒนาตัวเองไปตามนั้น

 

แล้วตอนนี้องค์กรต่างๆ กำลังมองหาคุณสมบัติแบบไหนในตัวเด็กจบใหม่

นอกจากทักษะที่เหมาะสมกับรายละเอียดงาน ต้องมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ได้ดี เด็กจบใหม่โดดเด่นเรื่องนี้อยู่แล้ว และมันก็เป็นข้อดีมากๆ ด้วย นอกจากนั้นก็ต้องยินดีที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด รู้จักวิเคราะห์สิ่งต่างๆ แล้วนำมาปรับใช้กับตัวเอง ไม่ใช่รอให้คนอื่นมาสอนอย่างเดียว

อีกทักษะหนึ่งก็คือ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ด้วยความที่สถานที่ทำงานเป็นแหล่งรวมของคนหลากหลายช่วงอายุอยู่ด้วยกัน หลากหลายเจเนอเรชั่น มีทั้ง GenZ GenY GenX หรือ Baby Boomer คำถามคือเมื่อเจอคนหลากหลายขนาดนี้ เราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร

การสื่อสารและการถ่ายทอดข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการสื่อสารไม่ใช่เรื่องของการพูดอย่างเดียว มันครอบคลุมการพูด อ่าน เขียน เนื่องจากเราต้องนำเสนอข้อคิดเห็นต่อหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือใครทำงานมานานหน่อยก็ต้องมีลูกน้อง ถ้าเราสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ ก็จะก้าวหน้าไปในอาชีพได้ยาก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ใช่ในแง่มุมของศิลปะ หรือความสนุกอะไรต่างๆ นะ มันคือความคิดสร้างสรรค์ว่าเราจะสามารถทำงานของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ต้องเริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งเก่าๆ และคิดไปทีละเปลาะ เพื่อพัฒนางานของเราให้มีคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งหมดที่ว่ามา เป็นปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่นิยมการเป็นฟรีแลนซ์มากกว่าการทำงานประจำหรือเปล่า

จากข้อมูลของ JobThai มีอัตราความต้องการแรงงานฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น 85% แล้วก็มีคนสมัครงานฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น 103% 

การทำงานฟรีแลนซ์มันก็เป็นโอกาสที่ดีของคนรุ่นใหม่ แต่จากผลสำรวจของเรา ส่วนใหญ่ก็ยังต้องการมีงานประจำที่มั่นคงอยู่ โดยจะทำงานฟรีแลนซ์ในลักษณะของงานเสริม (Second Job) มากกว่า เพราะว่าเทคโนโลยีมันเอื้ออำนวยให้น้องๆ หลายคนทำงานเสริมได้ง่ายขึ้น ซึ่งตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ด้วย 

นอกจากนั้น บริษัทก็เปิดรับการทำงานประเภทฟรีแลนซ์เป็นโปรเจกต์เฉพาะกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้บริษัทต้องระมัดระวังในการใช้เงิน เนื่องจากการจ้างพนักงานประจำใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ จะให้ลาออกทีก็ต้องให้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า มีอะไรต่างๆ เยอะ ฟรีแลนซ์ก็เลยนิยมขึ้นมา

บริษัทต่างๆ มีปัจจัยใดบ้าง ที่สามารถดึงดูดคนทำงานได้มากที่สุด 

นอกจากเงินเดือน ปัจจัยของการที่บริษัทจะสามารถดึงดูดคนได้ ก็เปลี่ยนไปตามเทรนด์การทำงานของโลก ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ต้องมีออฟฟิศสวยๆ ต่อมาก็จะเป็นยุคที่มีอาหารและขนมฟรี ก่อนหน้านี้ก็มีช่วงหนึ่งที่ทุกบริษัทต้องมีเก้าอี้เม็ดโฟม แต่พอมาช่วงโควิด-19 สิ่งที่คนกำลังมองหามากที่สุดก็คือความมั่นคงแต่ว่ายืดหยุ่นในการทำงานได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่องค์กรจะดึงดูดคนได้ก็คือการทำงานแบบลูกผสม (Hybrid)

เหมือนกับที่ JobThai ทำ เราต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่การเข้างานอย่างเดียว แต่ต้องปรับกระบวนการทำงาน ปรับเอาขั้นตอนที่มันยุ่งยากออกไป เน้นความเร็วและทำให้ง่ายขึ้น เราต้องตั้งคำถามว่าเราจะทำอย่างไรให้น้องๆ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด แล้วยังต้องมีพื้นที่ทำงานแบบลูกผสม (Hybrid Workspace) 

ปัจจุบัน เราไม่ต้องการออฟฟิศที่ใหญ่โตเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะตอนนี้เราใช้หลักการทำงานแบบ Work From Anywhere ทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ว่าออฟฟิศก็ต้อนรับเสมอ ถ้าอยากจะเข้ามาเจอกัน 

คิดอย่างไรกับวาทกรรม “เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยอดทน”

ในโลกการทำงานมันมีคนหลายเจเนอเรชัน ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กรุ่นใหม่จะมีทัศนคติที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ เด็กรุ่นใหม่เขากล้าที่จะลองอะไรใหม่ๆ เพราะเขาอยากได้งานที่โดนใจเขา งานที่สนุก งานที่ท้าทาย ถ้าเขาไปเจอกับองค์กรที่มันไม่ตอบโจทย์ของตัวเอง ก็ไม่แปลกที่เขาจะไปหาองค์กรใหม่ที่ตอบโจทย์เขามากกว่า เขามีทางเลือกมากกว่าเด็กยุคก่อนๆ เยอะ 

องค์กรเองถ้าอยากจะรักษาบุคคลเหล่านี้ไว้ ก็ต้องหาวิธีการทำงานที่มันตอบโจทย์เขามากที่สุด มีเวทีให้แสดงออก เพื่อให้เขาโชว์ศักยภาพของตัวเองออกมาให้ได้เยอะที่สุด ส่วนคนรุ่นใหม่เองก็จะต้องทุ่มเททำงานให้เต็มศักยภาพ และพร้อมที่จะปรับวิธีทำงานของตัวเอง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน

แสดงว่าความจงรักภักดีของบริษัทนั้นเป็นวิธีคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว

เราอยู่ในปี 2021 แล้วนะ เราไม่ได้เชื่อในหลักการจงรักภักดีอะไรแบบนั้น เพราะทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคน ต้องดูว่าพนักงานคนนั้น เมื่อเขาอยู่กับเรา เขาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับเรามากน้อยแค่ไหน และเมื่อเขาลาออก ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมองหาโอกาสใหม่ๆ 

แต่สิ่งที่น่าสนใจน่าจะเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่า ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วมันมีการพัฒนา เกิดวันหนึ่งเขาลาออกไป มันก็น่าจะจากกันด้วยดี เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเราจะกลับมาร่วมงานกันในรูปแบบไหนได้อีก 

กลายเป็นว่าตอนนี้องค์กรต้องวิ่งเข้าหาคน มากกว่ารอให้คนวิ่งเข้าหาองค์กร

ใช่ องค์กรต่างๆ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในองค์กรของตัวเองให้ได้ เพราะว่าคนคือสมบัติที่มีค่าที่สุดขององค์กร ถ้าเราได้คนเก่งที่สามารถมาขับเคลื่อนองค์กรของเราได้ องค์กรของเราก็จะก้าวหน้าไปในทิศทางที่ดี

แล้วยังมีพื้นที่ให้คนที่มีความสามารถปานกลางแต่พร้อมที่จะเรียนรู้บ้างไหม 

มันก็มีอยู่แล้ว เพราะว่าสังคมเรามันกว้าง มีงานหลากหลายประเภทที่จะตอบรับคนในหลากหลายคุณลักษณะ แน่นอนคนเก่งย่อมอยู่บนยอดพีระมิด เขาก็จะได้รับเงินเดือนที่ดี ได้อะไรหลายๆ อย่าง 

แต่สิ่งที่ทุกคนควรจะมีก็คือ การพัฒนาตนเองอยู่ตลอด ทุกองค์กรอาจจะไม่ได้มองหา ‘คนเก่ง’ เท่านั้น แต่ว่าเขาต้องมองหาคนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรด้วย คนที่เก่งมากที่สุดจริงๆ อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์วัฒนธรรมองค์กรก็ได้

 

สำหรับการทำงานในยุคนี้ วัฒนธรรมองค์กรที่ดีสำคัญกว่าผลลัพธ์หรือไม่ 

มันต้องไปคู่กัน เพราะว่าวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน บางที่ที่มีวัฒนธรรมแบบการแข่งขันกัน ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่มันก็จะเป็นสถานที่ที่ท้าทายมาก ต้องฟาดฟันกันตลอดเวลา บางองค์กรก็ไม่ได้ต้องการคนที่เก่งมาก อยากได้คนระดับกลางๆ และขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมๆ กัน 

Jobthai อยู่มา 20 ปีแล้ว คุณมองเห็นอะไรในคนไทยที่โดดเด่นบ้าง และคนไทยยังขาดอะไรอยู่ 

คนไทยยังขาดเรื่อง STEM (การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เรายังขาดคนที่มีความเชี่ยวชาญ และคนที่มีความรู้เรื่องของไอทีอยู่เยอะมาก 

สายงานคอมพิวเตอร์ไอทีมีอัตราความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 13% แต่คนสมัครเพิ่มขึ้น 52% งานจำพวก Dev UX/UI ยิ่งถ้าเป็นงานออกแบบเว็บไซต์ มีอัตราต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 2% แต่มีคนสมัครงานประเภทนี้มากขึ้น 98% ในปีที่แล้ว 

ถ้าดูจากสถิติต่างๆ กล้าฟันธงไหมว่าอาชีพ Developer คืออาชีพแห่งปี 2021 และในอนาคตข้างหน้า

ใช่ ฟันธงเลย งานสายคอมพิวเตอร์ไอทีมาแรงมาก

ยุคนี้ คนรุ่นใหม่หลายคนมักนิยามว่าตัวเองเป็นเหมือน ‘เป็ด’ ที่มีความสามารถรอบด้าน แต่ว่าไม่ใช่เป็นเลิศที่สุดสักด้าน คุณยังเชื่อว่าคนที่ลักษณะเหมือน ‘เป็ด’ ยังมีคุณค่าต่อองค์กรอยู่ไหมในการทำงานยุคปัจบัน 

เราว่ายังมีค่าต่อองค์กรนะ เพราะว่าการทำงานแบบองค์กรต้องการคนทำงานหลายรูปแบบ องค์กรยังต้องการ ‘เป็ด’ อยู่เพราะเป็ดนั้นรู้หลายด้านและครอบคลุม สามารถสื่อสารกับทุกคนในองค์กรได้ สามารถพูดคุยกับลูกค้าได้ แถมยังมีความเข้าใจ แล้วแต่ว่าจะเหมาะสมกับรายละเอียดงานมากแค่ไหน

คนที่เป็นเป็ดสามารถโตไปได้หลายด้านมาก ขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละคนว่าอยากจะพัฒนา และโตไปทางด้านไหน องค์กรต้องการคนหลากหลายด้าน เป็ดก็คืออีกหนึ่งบุคลากรที่มีประโยชน์มาก ถ้าหากองค์กรใช้เขาอย่างถูกต้อง  

 

คุณเคยพูดว่าไม่อยากให้ JobThai เป็นแค่เว็บไซต์หางาน แต่เป็นสื่อน้ำดีให้กับคนไทยด้วย ความตั้งใจนั้นยังเป็นความจริงอยู่ไหม

ยังเป็นปณิธานเดิมอยู่แน่นอน พวกเราตัดสินใจว่า เราอยากทำอะไรดีๆ เพื่อช่วยเหลือคนตกงาน เพราะฉะนั้นเราก็ยังคงตั้งมั่นในการเป็นเว็บไซต์หางานที่ดี และช่วยเหลือองค์กรต่างๆ รวมถึงคนหางานให้ได้เยอะที่สุด เราอยากให้คนมีงานทำในช่วงวิกฤตแบบนี้ เรายังมีความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือให้คนมีงานทำ 

คุณรู้สึกว่ามันคือ ‘ความรับผิดชอบ’ ของ JobThai ไหม ที่ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือให้คนไทยมีงานทำ

มันไม่เชิงว่าเป็นความรับผิดชอบ เราเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในสังคมที่ว่า เราสามารถที่จะช่วยอะไรใครได้ เราก็อยากจะช่วยตรงนั้นมากกว่า มันไม่ใช่ความรับผิดชอบ เพราะทุกคนสามารถช่วยเหลือกันได้เพื่อสังคมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ในฐานะที่คุณอยู่ในวงการตลาดหางานมานาน อยากจะบอกอะไรกับคนรุ่นเก่าในเรื่องของการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ 

อยากให้ทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ ก่อนหน้านี้เคยบอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน ไม่สู้ แต่ว่าเทคโนโลยีมันขับเคลื่อนให้ทุกอย่างมันเร็วไปหมด ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่ เรามีมือถืออันเดียว เราสามารถค้นข้อมูลได้เร็วมาก ขนาดพ่อเราอายุ 80 แล้วก็รอไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าเขาใช้สมาร์ตโฟนเป็น 

อยากจะฝากถึงคนทุกรุ่นว่า ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่ามาแบ่งแยกระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า แต่มาทำความเข้าใจว่า การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเอาจุดแข็งของน้องๆ รุ่นใหม่มาพัฒนาองค์กรไปด้วยกันดีกว่า

Tags: , , , ,