นิยามคำว่า ‘เก่าแต่เก๋า’ น่าจะใช้ไม่ได้กับแบรนด์กระเป๋าหนังระดับตำนาน ‘ยาค้อบ’ (JACOB) เพราะคำที่เหมาะน่าจะต้องเป็น ‘เก่าแต่เก๋’ 

กล่าวคือ ‘คุณภาพการใช้งาน’ ยังคงเป็นเป้าหมายของหลักของยาค้อบ เหมือนที่วันวานเราทั้งหลายในชุดนักเรียนหนีบกระเป๋ายี่ห้อนี้แนบกาย บ้างก็อ้อนวอนขอให้พ่อแม่ซื้อเพื่อไปอวดเพื่อนช่วงเปิดเทอม หรือหนังสุดทนที่ตัดเย็บเข้าทีจนผ่านไปกี่สิบปีก็ยังคงสภาพเดิม

จากเหตุผลดังกล่าว แบรนด์กระเป๋าหนังยาค้อบจึงข้ามผ่านกาลเวลายืนยงถึง 84 ปี โดยปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่นที่ 3 อย่าง โนร่า ชลาวานิช และอนณ ชลาวานิช ลูกสาวและลูกชายของ รัศมีวรรณ ชลาวานิช ทายาทรุ่นที่ 2 

แต่จนถึงตอนนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือภาพลักษณ์ของแบรนด์ ที่ทายาทรุ่นที่ 3 บอกกับเราชัดเจนว่า ต้องทันสมัยและปรับฟังก์ชันการใช้งานให้เหมาะสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งพร้อมจะเติบโตกับยาค้อบต่อไปในอนาคตข้างหน้า

คำถามสำคัญคือ กลยุทธ์หรือวิธีการใดที่พวกเขาทั้งสองใช้กับยาค้อบ ออกแบบรูปทรงใหม่ เปลี่ยนสีสันหนังให้ฉูดฉาด หรือถึงขั้นรีแบรนด์?

เราขอชวนพาไปเปิดหลังบ้านของยาค้อบที่น้อยคนจะเคยสัมผัส พร้อมพูดคุยกับโนร่าและอนณ ถึงการบริหารแบรนด์กระเป๋าหนังสุดคลาสสิกนี้ โดยมี รัศมีวรรณ ชลาวานิช ร่วมเปิดกระเป๋าขุดคุ้ยความทรงจำล้ำค่าไปพร้อมกัน

ใช้ดี ใช้ทน ใช้เก๋มาตั้งแต่รุ่นตา

ท่ามกลางแดดร้อนระอุในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณย่านเสาชิงช้า ที่ปกติมีผู้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเดินขวักไขว่อยู่แล้วกลับคึกคักมากกว่าเดิมเป็นพิเศษ สาเหตุเพราะพวกเขามีหมุดหมายมายัง ‘ร้านศรีภัณฑ์ยาค้อบ’ ที่ ณ เวลานี้ มีการจัดงาน ‘JACOB Exhibition: Yesterday’s Tomorrow’ หรือนิทรรศการบอกเล่าความเป็นมาของแบรนด์กระเป๋าดังกล่าว ตั้งแต่ยุคใช้กรรไกร สิ่ว และเครื่องตัดเย็บแบบเท้าเหยียบเป็นอุปกรณ์

ไม่ช้า ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดดังกล่าว โนร่าและอนณ ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งบริษัท ศรีภัณฑ์ยาค้อบ จำกัด เดินออกมาทักทายเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ท่ามกลางผลิตภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์ ที่ปรับแต่งให้มีสีสันฉูดฉาดต่างจากภาพลักษณ์เดิมพอสมควร ก่อนที่โนร่าจะเริ่มเล่าถึงความตั้งใจของตัวเองและน้องชายในการทำให้กระเป๋ายาค้อบกลับมามีชีวิตชีวาอีกหน

โนร่า: ปีนี้เป็นปีที่ 84 ย่างสู่ปีที่ 85 ของยาค้อบ ถ้าเปรียบเป็นคนก็อยู่ในวัยผู้สูงอายุ แต่เป็นผู้สูงอายุที่ได้ฉีดสเต็มเซลล์เพื่อบำรุงและเปลี่ยนโฉมรูปลักษณ์ (หัวเราะ) โดยมีเป้าหมายต้องการกระชากวัยแบรนด์ และมีภาพลักษณ์ให้ทุกคนตื่นเต้น เราถึงอยากจัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา

อาจจะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนโฉมโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว เราว่าเป็นการหยิบจับกิมมิกที่ทุกคนรักและคิดถึงมานำเสนอโดยที่สามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่ในวัยเด็กเคยใช้งานกระเป๋ายาค้อบมาก่อน

“ช่วยย้อนประวัติของบริษัท ศรีภัณฑ์ยาค้อบ จำกัด ให้ฟังหน่อยได้ไหม” ผมถามพวกเขาในฐานะอดีตเด็กน้อยคนหนึ่งที่เคยฝันอยากใช้กระเป๋าดังกล่าว แต่ติดที่กฎโรงเรียนไม่อนุญาต จึงทำให้ต้องคอยดูนักเรียนโรงเรียนอื่นใช้เรื่อยมา

โนร่า: เรื่องนี้คงต้องให้คุณแม่ (รัศมีวรรณ ชลาวานิช) เป็นคนเล่าน่าจะสนุกกว่าค่ะ (ยิ้ม)

รัศมีวรรณ: บริษัท ศรีภัณฑ์ยาค้อบ จำกัด เริ่มก่อตั้งในปี 2482 หรือตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยนั้นคุณพ่อ (สุทิน เทพชาตรี) ผู้ก่อตั้งเริ่มผลิตสินค้าจำพวกเนกไทก่อน จนตอนหลังเริ่มผลิตกระเป๋าหนังขาย แต่ตอนนั้นอุปสรรคคือ มีการทิ้งระเบิดจากกองบินสัมพันธมิตร ทำให้ตอนกลางคืนต้องลี้ภัยไปหลบภัยในวัด ก่อนที่ตอนเช้าจะออกมาค้าขายตามปกติ ซึ่งตอนกลางคืนคุณพ่อก็ใช้พื้นที่เล็กๆ ของวัดในการเย็บกระเป๋าหนัง

ปรากฏว่าพอนำกระเป๋านี้มาขาย กลับมีพวกทหารของญี่ปุ่นมาอุดหนุน เพราะเขาชอบในคุณภาพความนุ่มของหนัง ก่อนต่อมาจะนำองค์ความรู้ที่มีในการผลิตกระเป๋าหนังมาต่อยอดผลิตเป็นสินค้าจำพวกอื่นๆ เช่น หมวก กระเป๋าธนบัตร เสื้อหนัง ถุงมือ เข็มขัด และรองเท้า โดยที่โรงงานผลิตของศรีภัณฑ์ยาค้อบแห่งแรกอยู่ที่ถนนตะนาว ใกล้กับศาลเจ้าพ่อเสือ 

นอกจากจะผลิตส่งขายในละแวกเสาชิงช้า ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากต่างจังหวัดเช่นจากภาคเหนือนำรับไปขาย ด้วยความนิยมประกอบกับคู่แข่งที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันในเวลานั้นน้อย ทำให้ความนิยมในผลิตภัณฑ์ของยาค้อบเพิ่มมากขึ้น ต่อมาจึงมีการเปิดโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ตรงสะพานมอญและที่ 3 ตรงถนนบางขุนนนท์

จวบจนวันนี้เราก็ยังคง ‘คุณภาพ’ ในการผลิต โดยเฉพาะหนังที่ต้องคัดสรรคุณภาพดีที่สุด ต้องหาแบบ ปรับเปลี่ยนส่วนประกอบแต่ละชิ้นให้ตรงใจกับลูกค้า ส่วนหนึ่งเพราะกรรมวิธี ‘ฟอกหนัง’ มีหลายแบบ อย่างของเรายังคงใช้กรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ มีการลงเงาบางเล็กน้อย ดังนั้น หนังจึงง่ายต่อการมีรอยขีดข่วนหรือรอยย่นตามข้อพับจุดต่างๆ แต่นั่นถือเป็นความคลาสสิกอย่างหนึ่งของกระเป๋าหนังยาค้อบ 

ทุกวันของยาค้อบในมือทายาทรุ่นที่ 3 คือการเรียนรู้

ก่อนหน้าที่ยาค้อบจะผลัดเปลี่ยนรุ่นมาสู่ยุค 3 รัศมีวรรณและพี่สาวอีก 2 คน คือ จามรี เบลนี เดวิดสัน และสุวรรณา เทพชาตรี อาจกล่าวได้ว่า เป็นยุคสมัยรุ่งเรืองของแบรนด์กระเป๋าหนังสุดคลาสสิกนี้ เพราะไม่ว่าจะหันซ้ายหรือหันขวา ก็มักเห็นลูกเด็กเล็กแดงใช้งานกันมากมาย รวมไปถึง ‘ความจริงใจ’ ที่มีต่อลูกค้า เมื่อมีปัญหาชำรุดหรือเหตุสุดวิสัยจากการผลิตที่เป็นเรื่องสามัญของผลิตภัณฑ์แฮนด์เมด ก็มักจะมีการรับเคลมและรับฟีดแบ็กกลับมาปรับปรุงเร็ววัน

จากโจทย์ของรุ่นที่ 2 มาวันนี้ รุ่นที่ 3 ของทายาทยาค้อบก็ยังพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้บริหารรุ่นก่อนหน้า เพียงแต่วันนี้ ทั้งโนร่าและอนณจะต้องข้ามกำแพงใหม่ของรุ่นที่ 3 ไม่ว่าจะเรื่องการขยับขยายสู่โลกออนไลน์ ไปจนถึงการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่มองเรื่อง ‘แฟชั่น’ สำคัญพอๆ กับประโยชน์การใช้งาน

โนร่า: แม้ตอนนี้เราจะรับหน้าที่ต่างๆ มาทำ แต่ก็ยังต้องเรียนรู้จากคุณแม่และพี่สาวคุณแม่อีกสองท่าน (จามรี เบลนี เดวิดสัน และสุวรรณา เทพชาตรี) เพราะประสบการณ์พวกท่านที่บริหารมานานกว่า 30 ปี 

มีหลายอย่างที่เรายังต้องกลับไปถาม โดยเฉพาะเรื่องของการผลิต เพราะผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นของยาค้อบเกิดขึ้นด้วยความพิถีพิถัน เช่น หนังชนิดนี้สามารถใช้เป็นวัตถุดิบได้กับผลิตภัณฑ์แบบไหน ผลิตภัณฑ์ที่เราทำขึ้นมาใหม่นี้หนังมันนิ่มเกินไปหรือเปล่า 

ย้อนความกลับไปตอนแรกสมัยเรียนจบใหม่ หน้าที่แรกที่เราได้รับจากคุณแม่คือการดูแลเรื่องยอดขายของสินค้าเราที่วางขายในห้าง คอยดูว่ามีส่วนไหนที่ขาดหายไป แล้วส่วนไหนที่ต้องเพิ่มในบริษัท รวมไปถึงดูแลเรื่องของระบบการขนส่งต่างๆ ก็ด้วย พอทุกอย่างอยู่ตัวเราจึงขยับเข้าไปดูในส่วนของการผลิตในโรงงาน ดูว่าจะสามารถพัฒนาสินค้าตรงไหนในฐานะคนกลางที่เชื่อมระหว่างหน้าบ้านกับหลังบ้าน

ลึกแล้วๆ ก็มีความกดดันอยู่นะ ว่าเราจะทำอย่างไรให้บริษัทอยู่ได้ยั่งยืนหรือมีมุมไหนบ้างที่เราจะสามารถต่อยอดจากรุ่นที่ 2 ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่เรามองมาโดยตลอด จะบอกว่ายากก็ยาก จะบอกว่าง่ายก็ง่าย เพราะรุ่นที่ 2 พร้อมจะให้ข้อมูลอยู่ตลอด แต่ส่วนที่ท้าทายและแอบกลัวลึกๆ คือเรื่องของตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราต้องมีความรู้พื้นฐานด้านเย็บปักทักร้อยพอสมควร และเราต้องเข้าไปคลุกคลีลงมือทำจริงๆ เช่น ทำไมเราเย็บตรงนี้แล้วชิ้นส่วนหัก หรือตรงหูกระเป๋าเราเย็บผิดจริงๆ แล้วต้องขยับจุดขึ้นไปอีก 

ย้อนกลับไปตอนสมัยเป็นเด็ก เรากับน้องชาย (อนณ ชลาวานิช) มีโอกาสได้แวะไปที่โรงงานผลิตตอนปิดเทอมเพื่อไปพับกล่องที่ใช้บรรจุ ซึ่งคุณแม่ก็จะให้ 1 บาท ต่อการพับกล่องเสร็จหนึ่งกล่อง (หัวเราะ) แต่ถามว่าสิ่งที่ทำตอนเด็กมีประโยชน์ต่อตอนโตไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ค่อยเท่าไร เพียงแต่เราได้ซึมซับบรรยากาศการทำงานของบุคลากรในองค์กร และรู้ว่าพนักงานแต่ละคนมีความใส่ใจในงานมากแค่ไหน

อนณ: หลังจากที่พี่สาว (โนร่า ชลาวานิช) เริ่มลงมือทำในส่วนต่างๆ เราที่เป็นน้องจึงเริ่มเข้ามาช่วยซัพพอร์ตในส่วนที่พี่สาววางแผนไว้แล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสลงมือทำ 

และด้วยความที่จบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ทำให้ผมสามารถช่วยเหลือในด้าน Interface และ Valor ว่าในองค์กรของเราใครทำอะไรแล้วเราสามารถเสริมศักยภาพให้เขาตรงไหนได้บ้าง

ว่าง่ายๆ คือพี่สาวให้เราลงมือทำและดูในส่วนของด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ด้วยยุคสมัยหลังโควิด-19 ยิ่งทำให้เราต้องปรับตัวไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น เมื่อก่อนลูกค้าส่วนใหญ่อาจจะอยู่ในฝั่งออฟไลน์ แต่พอเราขยายมาฝั่งออนไลน์มากขึ้น ลูกค้าเดิมของเราก็ตามมาด้วย และผมก็จะได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้ากลุ่มเก่าๆ ที่อยากอุดหนุนเราว่า ร้านเปิดที่ไหน ขายห้างไหนบ้าง ขายที่ชั้นไหน แต่สุดท้ายที่น่าสนใจ คือลูกค้าเหล่านี้ก็ยังอยากจะทดลองสัมผัสหนังของสินค้าจริงเพื่อตัดสินใจซื้อ 

ขณะเดียวกัน เราต้องข้ามอีกหนึ่งกำแพงของยาค้อบ คือทำอย่างไรให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เป็นสายแฟชั่น เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการที่จะจับสัมผัสคุณภาพของหนัง หนังแบบนี้อาจจะนุ่มสำหรับคนหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งอาจจะนิ่มเกินไปสำหรับเขา และด้วยความที่คนที่ซื้อกระเป๋าไป เขาซื้อเพราะต้องการจะใช้ ต่างจากสินค้าแฟชั่นประเภทเสื้อผ้าที่ซื้อไป แล้ววันหนึ่งเขาอาจจะเลิกใส่แล้วแขวนเก็บไว้ในตู้แทน

โนร่า: มีกระเป๋ารุ่นหนึ่งที่เราผลิตออกมาซึ่งกลุ่มลูกค้าในกรุงเทพฯ ชอบมาก เพราะจับไปแล้วนุ่มเหมือนหนังแกะ แต่กลับกันกลุ่มลูกค้าที่เป็นต่างจังหวัดกลับไม่ชอบ เพราะเขารู้สึกว่าจับไปแล้วเหมือนตัววัสดุจะฉีกขาด แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้ฉีกขาดง่าย เพียงแต่มันนุ่มจนเกินไป นุ่มจนเขานิยามว่า นุ่มเหมือนตูดเด็ก (หัวเราะ)

อีกความท้าทายของรุ่นที่ 3 คือทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์คน Gen Z แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถดูแลกลุ่มลูกค้า Gen Baby Boomer ได้อยู่ โดยที่ลูกค้ากลุ่มหลังเขายังชอบดีไซน์แบบเดิมๆ เช่นบรรจุได้เยอะ แต่ถ้าเราผลิตแบบเดิมโดยที่ไม่สนใจกลุ่ม Gen Z ภาพลักษณ์ของเราที่มีต่อเขาก็จะกลายเป็นแบรนด์ที่ล้าหลังโดยปริยาย

Yesterday’s Tomorrow นิทรรศการที่บอกว่า ยาค้อบพร้อมไปต่อสู่วันพรุ่งนี้

มาถึงบ้านของยาค้อบทั้งทีคงน่าเสียดาย ถ้าเราไม่ถามถึงการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ จากแบรนด์ที่มีกลิ่นอายความคลาสสิก ในวันนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีสีสันฉูดฉาดผ่านนิทรรศการ Yesterday’s Tomorrow ที่โนร่าระบุว่า ต้องการสื่อให้ลูกค้าทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่เห็นถึงการก้าวสู่วันข้างหน้า แต่ก็ไม่ลืมที่จะโอบกอดวันวานอันแสนมีค่า 

จักรเย็บผ้าที่ใช้ตั้งแต่แบรนด์ยาค้อบเพิ่งตั้งไข่

ค้อน กรรไกรตัดผ้า จนถึงแปรงสำหรับทากาวที่ล้วนผ่านการใช้งานประกอบกระเป๋ายาค้อบจำนวนนับไม่ถ้วน

ดังนั้น Yesterday’s Tomorrow จึงไม่ใช่แค่งานนิทรรศการเปิดบ้านอวดอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์ แต่ยังรวมไปถึงการเปิดตัวคอลเลกชันกระเป๋ายาค้อบที่ดูแล้วเปรียบเสมือนตัวแทนของทายาทรุ่นที่ 3  

โนร่า: นิทรรศการ Yesterday’s Tomorrow ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์คน Gen Z ให้เขากลับมาสนใจกระเป๋าของเราอีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันเรายังเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถ Custom กระเป๋าในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะทั้งสีและลาย เพราะเราเล็งเห็นว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีความเป็นตัวเองสูง 

เราใช้เวลาพัฒนาโปรเจกต์นี้มากกว่าสิบปี ตั้งแต่สมัยที่เรายังเรียนอยู่ (หัวเราะ) คือเรามักคิดเสมอว่า ทำอย่างไรให้คนที่เคยใช้กระเป๋ายาค้อบตอนเรียน มีโอกาสได้ใช้กระเป๋าอีกครั้งในวัยทำงาน จึงนำมาสู่การทำคอลเลกชัน Yesterday’s Tomorrow ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถออกแบบกระเป๋ายาค้อบในแบบของตัวเองได้ เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะเราอยากสร้างประสบการณ์การซื้อที่หาไม่ได้แบบนี้ให้กับลูกค้าอีกหลายคน 

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ก่อนที่กระเป๋าคอลเลกชัน Yesterday’s Tomorrow จะขาย เราเคยเอาหนังลายช้างสีเงินมาเป็นต้นแบบเพื่อวางขายหนึ่งใบ ตอนแรกคุณศรันย์ (ศรัณย์ เย็นปัญญา – ดีไซน์เนอร์ชื่อดังชาวไทย และผู้ร่วมออกแบบนิทรรศการ Yesterday’s Tomorrow) ยังพูดติดตลกว่า จะมีคนซื้อหรือเปล่า แต่พอขายจริงปรากฏว่ามีคนซื้อ แต่ที่น่าสนใจคือเขาถามพนักงานว่า กระเป๋าใบนี้มีวางขายใบเดียวใช่ไหม จะไม่มีผลิตซ้ำอีกแล้วใช่ไหม พอพนักงานบอกว่า ลายนี้ในกระเป๋าทรงแบบนี้ไม่มีผลิตอีกแล้ว ครู่เดียวเขาตัดสินใจซื้อทันที เพราะเขาต้องการความเป็นครอบครองเป็นของเขาคนโดยที่ไม่ซ้ำกับใคร 

ดังนั้น กระเป๋าคอลเลกชันนี้คุณสามารถเลือกสีแบบ Duo Tone หรือ Triple Tone เพียงแต่สีเหล่านี้จะถูกล็อกไว้ชัดเจนว่า ต้องใช้กับส่วนนี้ของกระเป๋าเท่านั้น เช่น สีเขียวใช้กับส่วนหูปีกแมงดาของกระเป๋าเท่านั้น รวมไปถึงด้ายที่ใช้ได้แค่สีเดียว นั่นก็เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน

ส่วนที่เลือกคุณศรันย์มาเป็นศิลปินที่ร่วมทำงานในงานนิทรรศการนี้ เพราะเราเล็งเห็นว่า คุณศรันย์เป็นศิลปินที่ถนัดในการนำของเก่ามาเล่าใหม่ (Modern Twist) 

ต้องบอกก่อนว่า เราไม่เคยมีโอกาสได้ใช้กระเป๋ายาค้อบจริงจังตอนสมัยเรียน เพียงแต่คุณแม่เขาจะมาเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนกระเป๋าของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องของแฟชั่น แต่ถูกผลิตมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานด้านการเรียนโดยเฉพาะ เราจึงใช้หนัง ‘ควาย’ มาผลิต เพราะหนังชนิดนี้มีความทนพิเศษ โดยที่ด้านในก็จะถูกแยกออกเป็นสามช่องกว้าง เพื่อให้นักเรียนได้ใส่สมุด ใส่หนังสือเยอะๆ 

ทว่าต่อมารุ่นของคุณแม่เขาไม่เคยคิดเลยว่า กระเป๋าที่ผลิต ผู้ใช้จะเอากิ๊บหนีบก้นกระเป๋าเพื่อให้กระเป๋าแบนจนกลายเป็นแฟชั่น ภายหลังเราจึงเปลี่ยนรูปทรงของกระเป๋าจากสามชั้นเป็นสองชั้นเพื่อให้บางลงจนถูกใจผู้ใช้งาน

อนณ: ครั้งแรกที่เราคุยกับคุณศรันย์ เขาบอกกับเราว่า เขาอยากนำ DNA ของยาค้อบมากระจายในรูปแบบต่างๆ เราจึงเห็นกระเป๋ายาค้อบในรุ่นที่ 3 มีหลายขนาด หลายสี โดยที่กระเป๋าแต่ละแบบ จะมีการนำองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของกระเป๋านักเรียนมาใช้เป็นกิมมิก เช่น ลายเส้นการเดินด้าย วิธีการตัดเย็บ หรือช่องใส่การ์ดกระเป๋าบัตรนักเรียนก็ตาม ล้วนแล้วเป็นความ Nostalgia ที่หลายคนโหยหา

ส่วนประกอบต่างๆ ของกระเป๋ายาค้อบ ที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ  Yesterday’s Tomorrow

แม้เปลี่ยนแต่ยังคง ‘หัวใจดวงเดิม’ เหมือนที่เป็นมาตลอด 84 ปี

“บทเรียนที่ได้จากการก้าวเป็นผู้บริหารของพวกคุณทั้งสองคืออะไร” ผมถามทายาทรุ่นที่ 3 แห่งยาค้อบก่อนจะจากกัน เป็นประจำดังที่ถามนักธุรกิจรายอื่นๆ ที่เคยสัมภาษณ์มา ทว่าคำตอบที่ได้กลับเรียบง่ายจนน่าประหลาดใจ กลับกันนี่คือคำตอบที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขามีความจริงใจและใส่ใจต่อผู้บริโภคมากล้น ดังเช่นที่ผู้บริหารทั้งสองรุ่นก่อนหน้าของยาค้อบเคยทำมามิเสื่อมคลาย

โนร่า: สิ่งที่เราได้รับ คือจะอยู่และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ในเมื่อเรามีฐานลูกค้าที่สนับสนุนมาตลอด 84 ปี แต่ในวันที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว และเราต้องเปลี่ยน แต่จะยังคงความเป็นยาค้อบได้อย่างไร

อีกหนึ่งข้อคิดที่ได้จากคุณแม่คือ อะไรที่เราพยายามจะเคลียร์ก็เหมือนการปัดฝุ่น เพราะสุดท้ายปัญหาเหล่านั้นก็จะกลับมา คำตอบคือจะอย่างไรก็ตามเราก็ต้องแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งนี่เป็นหัวใจสำคัญของคนทำงานและผู้บริหาร

อนณ: ด้วยความที่ผมดูแลในส่วนอีคอมเมิร์ซ แม้จะมีแอดมินทำหน้าที่ตอบคำถามลูกค้า แต่เราก็จะนึกสนุกลงไปช่วยเขา มีวันหนึ่งเราช่วยแอดมินตอบแชตลูกค้าคนหนึ่งที่เขาอยากซื้อกระเป๋าให้แฟน ช่วยแนะนำอยู่อย่างนั้นเกือบสามชั่วโมง จนสุดท้ายเขาตัดสินใจเลือกแบบกระเป๋าที่จะซื้อได้แล้ว ลูกค้าตอบกลับมาสั้นๆ ว่า แอดมินบริการน่ารักมาก 

นั่นทำให้เรารู้สึกสนุกและอยากที่จะทำตรงนี้ต่อไป เราว่านี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญเลยนะ ถ้าลูกค้าเขาได้รับบริการที่ดี ก็จะยิ่งเพิ่มเปอร์เซ็นต์ที่เขาอยากสนับสนุนเรามากขึ้น

โนร่า: เรายังตอบไม่ได้ว่า หน้าตาหรือรูปแบบในอนาคตของยาค้อบจะเป็นอย่างไรต่อไป หรือถ้าหากมีทายาทรุ่นที่ 4 เขาจะพาแบรนด์ไปในทิศทางไหน เพราะคุณตาท่านคงไม่ได้นึกมาก่อนว่าแบรนด์จะมาไกล หรือเห็นร้านถูกตกแต่งด้วยสีสันฉูดฉาดแบบนี้ (หัวเราะ) ตอนนี้โจทย์สำคัญของเรายังอยู่ที่ทำอย่างไรให้ยาค้อบสามารถอยู่กับคนไทยต่อไปได้เรื่อยๆ (ยิ้ม)

Fact Box

  • นิทรรศการ Yesterday’s Tomorrow มีตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 ณ ร้านศรีภัณฑ์ยาค้อบ ถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพฯ นอกจากจะได้ซึมซับบรรยากาศสุดคลาสสิก และรู้ความเป็นมาของแบรนด์กระเป๋ายาค้อบ ยังสามารถเลือกซื้อรวมถึงออกแบบกระเป๋ายาค้อบสุดเอ็กซ์คลูซีฟในแบบของตัวเอง 
  • ชื่อแบรนด์ยาค้อบ (JACOB) นั้น มีที่มาจาก สุทิน เทพชาตรี ผู้ก่อตั้งต้องการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความทันสมัย จึงตัดสินใจนำชื่อของนักบุญ เซนต์ยาค้อบ (St. Jacob of Nisibis) มาใช้เป็นชื่อแบรนด์ กระทั่งภายหลังผู้คนมักเรียกติดปากว่า ‘จาคอบ’ เสียมากกว่า
Tags: , , , ,