“หลายคนชอบพูดว่า บิตคอยน์เป็นเงินที่เสกออกมาจากอากาศ ผมกลับมองว่าจริงๆ แล้ว เงินกระดาษเป็นเงินที่เสกออกมาจากอากาศชัดๆ” 

ในขณะที่หลายคนเพิ่งจะได้รู้จักกับสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่า ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) และมีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ว่าบิตคอยน์นั้นเป็นเพียงแค่การพนันหรือเป็นการลงทุนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ จนหลายคนอาจไม่กล้าที่จะลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าว

‘ท็อป’ – จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอของบริษัท Bitkub แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล บอกกับ The Momentum ว่า แน่นอนที่หลายคนจะยังไม่เข้าใจ เพราะมันคือสิ่งที่ใหม่สำหรับโลกนี้ แต่ด้วยสิ่งใหม่นี้เอง ที่ทำให้บริษัทของเขานั้นเติบโตขึ้นถึง 1000% ภายใน 1 เดือน หากจะพูดว่าบิตคอยน์เป็นเพียงแค่ ‘การพนัน’ คงจะดูไม่สมเหตุสมผลนัก 

อีกทั้งยังเปิดเผยถึงทุกปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Bitkub และหลายคำครหาต่อตัวเขานั้นเป็นจริงหรือไม่? 

สถานะของบิตคอยน์ ในปัจจุบันมันคืออะไรกันแน่

สถานะของบิตคอยน์ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป บางประเทศมันคือเงิน บางประเทศมันคือทรัพย์สิน หรือบางประเทศมันก็ยังไม่เป็นอะไรเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่โลกใบนี้ไม่เคยมีมาก่อน 

สำหรับในประเทศไทย มันยังไม่ใช่ ‘เงิน’ โดยความหมายของเงินถูกเปลี่ยนครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2475 และกว่าจะเปลี่ยนความหมายได้ครั้งหนึ่งใช้เวลานานมาก เนื่องจากบิตคอยน์มีสถานะเป็น ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ในประเทศไทยฝ่ายกำกับดูแลจึงเป็น ก.ล.ต. แทน

เหมือนก่อนหน้านี้ที่พวกเราทุกคนเดินทางด้วยการขี่ม้า แต่พอรถยนต์ออกมา มีการใช้สอยเหมือนกัน แถมยังเร็วกว่า เราจะเอารถยนต์ไปเทียบกับม้าก็ไม่ได้ หรือเปรียบเทียบไฟฟ้ากับเทียนไขก็ไม่ได้ ดังนั้นจะเอาบิตคอยน์ไปเทียบกับเงินก็ยังเทียบไม่ได้เช่นกัน

หากจะพูดความหมายในเชิงลึกต้องเท้าความไปก่อนว่า ในโลกเรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘Protocol’ ซึ่งเป็นเหมือนกับภาษาที่ใช้สั่งการในการพูดคุยกันบนโลกอินเทอร์เน็ต เหมือนกับการแชร์ข้อมูลกัน และในยุคแรกสุด Protocol เป็นสิ่งที่มีจำนวนไม่จำกัด แต่ว่าบิตคอยน์เป็น Protocol แรกที่มีจำนวนจำกัด เราจึงสามารถถ่ายโอนมูลค่ากันได้ ข้อมูลมันมีจำนวนไม่จำกัดได้ไม่เป็นไร แต่เงินมันต้องมีจำนวนที่จำกัดมันถึงจะมีมูลค่า

ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain ที่เกิดขึ้นมาในปี 2009 ซึ่งคิดค้นโดย ซาโตชิ นากาโมโตะ เขาคิดค้น ‘Bitcoin Protocol’ ที่ทำให้เราสามารถโอนข้อมูลระหว่างกันได้โดยตรงแบบ ‘Peer-to-peer’ แบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง แท้จริงแล้วนั้นบิตคอยน์ไม่ใช่สินทรัพย์ดิจิทัล แต่เป็น Protocol ที่มีจำนวนจำกัดจึงสามารถใช้แทนมูลค่ากันได้

หากจะพูดถึงสกุลเงินดิจิทัลคงต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า จริงๆ เราใช้สกุลเงินดิจิทัลกันมานานมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมที่มีหน่วยเงินของเกมที่เอาไว้ซื้อสินค้าในเกม หรือการโอนเงินผ่าน PayPal, WeChat หรือโอนเงินผ่านธนาคาร มันคือสกุลเงินดิจิทัลชนิดหนึ่งเหมือนกัน เพราะว่าธนาคารไม่ได้หอบเงินเป็นถุงๆ วิ่งไปหากันอีกต่อไปแล้ว

แต่เราเรียกมันว่า Centralize Digital Currency (สกุลเงินดิจิทัลแบบรวมศูนย์) ที่ผ่านระบบ Baht Net ที่แบงก์ชาติสร้างขึ้น และคอยดูว่าแต่ละธนาคารมีเงินเหลือเท่าไหร่กัน เช่นแบงก์สีม่วงโอนเงินไปหาแบงก์สีเขียว แบงก์สีม่วงลบ 100 แบงก์สีเขียวบวก 100 

บิตคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกในประวัติศาสตร์ที่มัน Decentralize (กระจายตัว) ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเหมือนกับที่อธิบายมาเลย เพียงแต่ว่าจะไม่มีใครสามารถที่จะโกงกันได้ และไม่จำเป็นต้องมีใครมากำกับดูแลอีกต่อไป จะไม่มีใครที่สามารถควบคุมมันได้อีกต่อไป ซึ่งมันถูกออกแบบให้ทุกคนต้องเล่นตามกฎ คนที่โกงจะสูญเสียมากกว่าได้รับ คนจึงโกงระบบไม่ได้

อีกมุมหนึ่งต้องอธิบายว่าประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกไม่ใช่ประเทศจีน แต่เป็น ‘ประเทศอินเทอร์เน็ต’ โดยในปัจจุบันมีคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 5 พันล้านคนทั่วโลก จาก 7 พันล้านคน ซึ่งใหญ่กว่าประเทศจีน 3 เท่า และจีนมีระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ที่ผลิตสินค้า และบริการที่เรียกว่า GDP โดยตัวที่เอาไว้กระจายสินค้า และบริการเหล่านี้ประเทศจีนใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘เงินหยวน’ 

ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็ใช้ระบบเศรษฐกิจรวมศูนย์เช่นเดียวกัน แต่ธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตมันไม่ใช่อย่างนั้น มันมี ‘ความกระจายตัว’ ที่ไม่สามารถที่จะถูกควบคุมได้ด้วยประเทศใดประเทศหนึ่งได้ หากประเทศจีนไม่ใช้อินเทอร์เน็ต ประเทศอื่นก็ยังจะคงใช้กันอยู่ ตัวที่กระจายสินค้าและบริการของประเทศอินเทอร์เน็ตจึงต้องมีความกระจายตัวตาม บิตคอยน์จึงกลายเป็นสกุลเงินของของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เงินในโลกอินเทอร์เน็ตเกิดเป็นมูลค่าในโลกความเป็นจริงได้อย่างไร

เนื่องจากตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่ง 90% ของเงินในโลกนี้ยังเป็น Fiat Currency คือเงินที่ถูกกำกับโดยรัฐบาล หรือเงินกระดาษอย่างเช่น เงินบาท เงินหยวน หรือเงินดอลลาร์ฯ จึงต้องมีตัวกลางที่เป็นสะพานข้ามจากโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ โดยการแลกเงิน Fiat ไปยังเงินดิจิทัล เป็นการแลกข้ามไปข้ามมา แต่สะพานที่ใช้ข้ามนี้มันต้องแข็งแรง ระบบกฎหมายในโลกเก่าต้องแข็งแรง และการข้ามไปใช้เงินในโลกใหม่ต้องเข้าใจง่าย ใช้ง่าย และไม่มีกฎเกณฑ์มากมายเหมือนโลกที่แล้ว หากสะพานไม่แข็งแรงมันมีโอกาสที่สะพานนี้จะล่มได้ ซึ่งต้องเป็นสะพานที่ถูกต้องตามกฎหมายในการแลกเปลี่ยนอย่างเช่นแพลตฟอร์ม Bitkub ของผม

หลายคนชอบพูดว่า บิตคอยน์ เป็นเงินที่เสกออกมาจากอากาศ ผมกลับมองว่าจริงๆ แล้วเงินกระดาษเป็นเงินที่เสกออกมาจากอากาศชัดๆ ผมขอยกตัวอย่างประกอบ หากใครเรียนเศรษฐศาสตร์จะรู้ว่าในปี 1971 มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า Nixon Shock คือการที่ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยนั้นออกมาประกาศว่า เงินดอลลาร์ฯ ลอยตัวจากทองคำ ทุกเงินดอลลาร์ฯ ที่ผลิตออกมาไม่จำเป็นต้องมีทองคำมารองรับอีกต่อไป

ดังนั้นทุกเงินดอลลาร์ฯ ที่ผลิตออกมาจึงกลายเป็นเหมือนแบงก์กาโม่ มีแค่กระดาษก็เปลี่ยนเป็นมูลค่าได้แล้ว ในความเป็นจริง การผลิตเงินเพิ่มต้องใช้ทองคำที่มีอยู่จำนวนจำกัดในการค้ำเอาไว้ พอนิกสันบอกว่าลอยตัวจากทองคำ การผลิตเงินที่เป็นกระดาษ ซึ่งมีจำนวนไม่จำกัดออกมาเรื่อยๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ มันจึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เงินเฟ้อ’

สังเกตได้ว่าตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา ราคาของสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากกำลังการซื้อของเงินดอลลาร์ฯ มันด้อยคุณภาพลง เพราะปริมาณเงินมันเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่า Productivity ในการผลิตสินค้าจะเพิ่มขึ้น Input น้อยลง Output มากขึ้น แต่ด้วยความที่ว่าเงินมันออกมาเร็วกว่า Productivity จึงทำให้เงินมันด้อยมูลค่า เงินมากขึ้น สินค้าก็แพงขึ้นอยู่ดี

ซึ่ง บิตคอยน์ ไม่สามารถปรินต์เพิ่มได้เหมือนเงินดอลลาร์ฯ Blockchain มันกำหนดไว้แล้วว่า สุดท้ายมันจะมีเพียงแค่ 21 ล้านบิตคอยน์ทั่วโลกเท่านั้น

แล้วคำถามที่ว่ามูลค่ามาจากไหน ก็ต้องตอบว่ามันมาจาก ‘Network’ หรือจำนวนผู้ใช้งาน ยิ่งคนใช้เพิ่มขึ้นทุกปี มูลค่าของมันก็จะเพิ่มตาม หากพูดตามหลักเศรษฐศาสตร์เราจะเข้าใจเลยว่า Demand มันเพิ่มขึ้นทุกปี และ Supply ที่มีจำนวนจำกัด ราคามันต้องสูงตามไปด้วย

บิตคอยน์นั้นมีความคล้ายเครื่องแฟกซ์มาก ย้อนกลับไปเมื่อก่อน ถ้าผมเป็นคนไทยคนเดียวที่มีเครื่องแฟกซ์ มันก็ไม่มีประโยชน์ มากที่สุดก็เอาไว้ทับกระดาษ แต่ถ้ามีคนที่มีเครื่องแฟกซ์ทั่วประเทศนั้นหมายความว่าเราจะสื่อสารกันได้ทั่วประเทศเลย มูลค่ามันไม่ได้อยู่ที่เครื่องแต่มันอยู่ที่ ‘เครือข่าย’ ของผู้ใช้งาน

บิตคอยน์ก็เหมือนกัน ถ้าผมเป็นคนเดียวที่มีบิตคอยน์ ก็ไม่มีประโยชน์เพราะว่าผมจะเอาไปแลกกับใคร โอนมูลค่ากับใครก็ไม่มีใครรับ แต่ถ้าคนทั้งโลกใช้บิตคอยน์มูลค่าของมันยังไงก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะมันมีคนใช้ แต่จำนวนของมันมีจำกัด

ถ้าวันหนึ่งทุกประเทศจับมือกันแบนให้บิตคอยน์ผิดกฎหมาย ผู้ใช้หายไปมูลค่าจะหายตามไปหรือเปล่า

หากบอกว่าให้มันผิดกฎหมาย ต้องถามต่อว่าแล้วเครือข่ายผู้ใช้หายไปไหม หรือถ้าจะบอกว่าให้เครือข่ายมันหายไปเลย แน่นอนว่ามันก็จะไม่มีมูลค่าใดๆ เลย แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ณ ปัจจุบัน บิตคอยน์มันเกินจุดที่ประเทศใดจะไปสั่งห้ามมันได้แล้ว จำนวนการแลกเปลี่ยนมันกระจายไปทั่วโลกแล้ว ถ้าจีนอยากจะสั่งแบนบิตคอยน์ ประเทศไทยก็ยังมีคนขุดอยู่ ประเทศแอฟริกาก็ยังมีคนขุดมันอยู่ เพราะการขุดมันใช้เพียงแค่คอมพิวเตอร์ ไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ต สามอย่างนี้เท่านั้น

ถ้ารัฐบาลจะแบนจริงๆ ต้องไปห้ามการขุดบิตคอยน์ทั่วโลก ทุกมุม ทุกตารางเมตร มันทำได้ในเชิงทฤษฎี ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ หรือในฝั่งของคนใช้งาน ถ้าอยากห้ามให้คนใช้บิตคอยน์ รัฐก็ต้องห้ามคนใช้อินเทอร์เน็ต แต่ถามว่าปัจจุบันมีใครปิดอินเทอร์เน็ตได้เหรอ

ถ้ามูลค่ามันเพิ่มเพราะมีจำนวนจำกัด ทองคำก็มีจำนวนจำกัดเหมือนกัน แถมยังจับต้องได้ด้วย ทำไมราคาบิตคอยน์ถึงเอาชนะทองคำได้

ต้องเข้าใจว่าอะไรที่มันมีประโยชน์มากกว่า แต่มีจำนวนจำกัดเหมือนกัน ราคาของที่มีประโยชน์มากกว่าก็ต้องสูงกว่าอยู่แล้ว คือเงินมันไม่ต้องมีคุณสมบัติที่ต้อง ‘จับต้อง’ ได้ ทุกวันนี้เงินผมก็โอนผ่านแบงก์ ไม่จำเป็นต้องจับต้องได้

คุณสมบัติของเงินมีหลายประการ แต่สิ่งที่สำคัญคือมีจำนวนจำกัด และทุกๆ ชิ้นต้องมีมูลค่าเท่ากัน  แต่ไม่มีข้อไหนที่บอกว่าต้องจับต้องได้ บิตคอยน์มีลักษณะเหมือนทองคำแทบทุกประการเลย มีจำนวนจำกัดเหมือนทอง บิตคอยน์ทุกชิ้นก็มีค่าเท่ากัน แต่สิ่งที่ชนะทองคำคือคือ ‘ส่งต่อกันง่ายกว่า’ ซึ่งคือหนึ่งในคุณสมบัติของเงิน หากผมอยากจะซื้อเครื่องบินที่อังกฤษ แต่ผมมีทองคำเก็บไว้ในตู้เซฟที่บ้าน ผมจะขนไปซื้อก็ลำบากใช่มั้ย แต่ถ้าใช้บิตคอยน์ ผมนอนบนโซฟาใช้นิ้วโป้งนิ้วเดียวก็ถึงเกาะอังกฤษแล้ว

ทองคำใช้เวลาทั้งหมด 4000 ปี ในการทำให้คนทั่วโลกยอมรับว่า หินสีเหลืองก้อนนี้มันมีมูลค่า ถ้าสมมติว่ามีคนที่สามารถสังเคราะห์ทองขึ้นมาได้ ทองคำก็คงจะมูลค่าไม่เท่าเดิมถูกต้องไหม

ถ้าทั่วโลกใช้งานบิตคอยน์กันแล้ว สมมติว่าประเทศของเราไม่มีบิตคอยน์อยู่เลยจะทำอย่างไร เพราะจำนวนบิตคอยน์มันมีอยู่จำกัด

คงต้องยอมซื้อบิตคอยน์ในราคาที่สูงขึ้นในราคาที่ประเทศเรายอมจ่ายได้ แบงก์ชาติควรที่จะซื้อบิตคอยน์เก็บไว้บ้าง ตอนนี้แบงก์ชาติเก็บไว้เพียงแค่ทองคำ และสกุลเงิน SDR เท่านั้น

SDR เป็นสกุลเงินที่ถูกออกโดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปี 1969 คือทุกสกุลเงินทั่วโลกที่ออกมาจะต้องมี 5 สกุลเงินที่มีอิทธิพลคอยรองรับอยู่ ซึ่ง 5 สกุลเงินนี้จะต้องถูกปรับเปลี่ยนในทุกๆ 5 ปี ขึ้นอยู่ว่า GDP ของประเทศไหนมีอิทธิพลมากที่สุด

20 ปีให้หลังมานี้ จีนเติบโตไวมาก เงินหยวนจึงกลายเป็นหนึ่งใน SDR แบงก์ชาติควรจะซื้อบิตคอยน์ไว้บ้าง เพราะ GDP ในโลกอินเตอร์มันเติบโตได้ไวมากเช่นเดียวกัน

แต่วันหนึ่ง ราคาของบิตคอยน์มันจะนิ่ง เพราะในระยะสั้น ราคามันขึ้นลงเร็วเนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานยังน้อย เปรียบได้กับสระว่ายน้ำเท่านั้น หากมีคนอ้วนคนหนึ่งที่เปรียบเสมือนบุคคลที่ถือบิตคอยน์ไว้เป็นจำนวนมาก กระโดดลงไปในสระ แรงกระเพื่อมของน้ำจะมีเยอะมาก แต่หากวันใดผู้ใช้บิตคอยน์มีจำนวนมากเหมือนกับมหาสมุทรแล้ว ต่อให้คนอ้วนกระโดดลงไป แรงกระเพื่อมมันจะส่งผลน้อยมาก ราคามันแทบจะไม่ขยับ และนี่คือคุณสมบัติที่ดีของสกุลเงิน

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทุกวัน Blockchain จะป้องกันการ ‘แฮ็ก’ บิตคอยน์ได้ในระดับไหน

การแฮ็กนั้นมีอยู่ทั้งหมด 2 ระดับ ระดับแรกคือระดับการแฮ็กเพื่อผลิตบิตคอยน์เพิ่ม (ระดับ Protocol) ระดับที่สองคือระดับแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน เหมือน Bitkub หรือ Binance 

ซึ่งในระดับแรกไม่เคยมีใครแฮ็กบิตคอยน์ได้มาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ มีแค่เพียงในระดับที่สองเท่านั้น 

สมมติว่าบิตคอยน์เป็นเงิน และในระดับที่สองคือธนาคาร สาเหตุที่ธนาคารโดนปล้น เพราะว่าเขาไม่ยอมจ้างยามที่เปรียบได้กับ Protocol ความปลอดภัยสูงสุดมาป้องกันไว้ จึงทำให้โจรสามารถที่จะปล้นธนาคารไปได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเงินที่ถูกปล้นไปนั้นมันมีช่องโหว่ หรือไม่น่าเชื่อถือ ธนาคารอื่นที่ทำตาม Protocol ไม่ได้โดนปล้นไปด้วย ความเชื่อมั่นมันก็หมดลงแค่ธนาคารสาขาที่โดนปล้นเท่านั้น

ธนาคารโดนปล้น รัฐยังมีการผลิตเงินมาชดเชยให้ แต่บิตคอยน์ที่ผลิตเพิ่มไม่ได้จะทำอย่างไร

คิดแบบนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าโจรปล้นเงินไป 100 ล้าน และรัฐผลิตเงินเพิ่มมาให้ธนาคาร 100 ล้าน ผมซึ่งไม่เกี่ยวข้องก็ต้องรับกรรมไปด้วย เพราะว่าเงินของผมจะซื้อของได้น้อยลง ทั้งๆ ที่เป็นความผิดของแบงก์ อะไรที่ผลิตมามากเกินไปมันจะทำให้สิ่งนั้นด้อยคุณค่าลง

แล้ว Bitkub มี Protocol ป้องกันอย่างไร

มันมีสิ่งที่เรียกว่า Hot Wallet ที่เป็นข้อมูลในส่วนของออนไลน์ และ Cold Wallet ที่เป็นส่วนของออฟไลน์ เราแทบจะเก็บทุกอย่างของเราไว้ในออฟไลน์ ทำให้ Private Key ของเราปลอดภัยกว่า

ประการที่สองคือเรามีเงินสมทบ ยิ่งคนฝากเงินมามากเท่าไหร่ เราจะนำกำไรของบริษัทมาเป็นเงินส่วนนี้เพิ่มตามเพื่อเป็นการรับประกันให้กับลูกค้าว่า เขาจะมีเงินของเขาอยู่ ปีนี้ลูกค้าทั้งหมดฝากเงิน 1 หมื่น 2 พันล้านบาท เราต้องเติมเงินเข้าไป 2 เท่าชดเชยไว้ 

นอกจากนี้เราถูกบังคับให้ใช้ Third Part ในการเก็บเหรียญบิตคอยน์ เราไม่ได้เก็บเหรียญไว้ที่เราเอง และเขาก็มีประกันเงินจำนวนหนึ่งให้กับบริษัทเราด้วย

เกิดอะไรขึ้นกับ Bitkub ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ต้องอธิบายก่อนว่า ตอนนี้บริษัทของเราเปิดมาได้ 3 ปี ในปีแรกผมเห็นเทรนด์แล้วว่าบริษัทของเราเติบโตมาได้ 300% ผมในฐานะกรุ๊ปซีอีโอ เลยตั้งเป้าหมายใหม่ของปีถัดไปไว้ว่าเราต้องโตให้ได้อย่างน้อย 600% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ยากมากสำหรับบริษัทภายในประเทศไทย แต่ปรากฎว่าในปีที่ผ่านมาบริษัทเรากลับโตเกินคาดไปถึง 1000% ดังนั้นในปีนี้ 2021 เราก็เลยตั้งเป้าหมายของเราไว้ว่า เราจะต้องโตเพิ่มอีก 1000% เพิ่มให้ได้ในอีก 12 เดือน 

จุดเปลี่ยนของเหตุการณ์มันคือเหตุการณ์ที่ราคาของ ‘บิตคอยน์’ มันพุ่งไปถึงราคา 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นเลขกลมๆ สวยๆ ที่มีผลในเชิงจิตวิทยาของคนไทยพอดี “1 บิตคอยน์ เท่ากับ 1 ล้านบาท ซื้อรถคันหนึ่งได้เลยนี่นา” คนเลยแห่กันมาสมัคร Bitkub กันเพราะเราเป็นบริษัทที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุด

ปรากฎว่าภายใน 7 วันตั้งแต่เปิดต้นปีใหม่ เรากลับทำตามเป้าหมาย มียอดเติบโตไปถึง 1000% จากปีก่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากที่เราคิดว่าเราจะมีเวลาทั้งหมด 12 เดือน ในการเตรียมตัว ขยายทีมให้รองรับต่อการเติบโตของผู้ใช้ แต่กลับมีเวลาเพียงแค่ 7 วัน ตอนแรกเราเข้าใจว่ามันคือ ‘ปัญหาที่ดี’ เพราะว่าเราทำตามเป้าหมายทั้งปีได้ในเวลาเพียงแค่ 7 วัน แต่มันกลับทำให้เรามีปัญหาทางด้านจัดการทรัพยากรของบริษัทที่ไม่ทันกับการเติบโต

เพื่อเป้าหมายของเรา ตอนแรกผมคาดไว้ว่า จำเป็นต้องเพิ่มพนักงานจาก 250 คน เป็น 500 คน และเรามีเวลา 12 เดือนในการเตรียมการ แต่งานที่เข้ามาในช่วงต้นปีมันเทียบได้กับการใช้คน 600 คน ในช่วงที่มีปัญหาพวกเราแทบจะไม่ได้นอนกันเลย เรื่องของคุณภาพของเรามันเลยตก ต่อให้คุณจะเก่งยังไงแต่การเติบโตแบบก้าวกระโดดแค่นี้ยังไงต้องมีปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ด้วยความคาดหวังของลูกค้าเดิมที่คาดหวังว่าระบบของเราจะยังเหมือนเดิมมันผิดไป คนเลยหาว่า Bitkub โฆษณาเกินจริง

แต่เดิมเราต้องการที่จะคัดคนเก่งที่สุดของประเทศมาอยู่ในบริษัท เพราะผมเชื่อในเรื่องของค่าเฉลี่ยของ 5 คน ถ้าเราอยู่กับคนเก่ง เราก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าแผนการหาคนแบบนั้นเราใช้ได้เฉพาะในช่วง Peace Time คือการที่บริษัทของเราอยู่ตัวแล้ว และค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคงไป แต่ในช่วงต้นปีเราต้องกลับมาอยู่ในช่วง War Time อีกครั้ง

เราเลยต้องมีการปรับเปลี่ยนทุกอย่าง ทั้งเรื่องการรับคน เรื่องอุปกรณ์ และคลาวด์การเก็บข้อมูล ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา เราไม่สามารถคงคุณภาพของเราไว้ตามเดิมได้ ในส่วนของตัวผมก็โดนว่าในแง่ลบต่างๆนาๆ ถึงขั้นที่บอกว่าผมหอบเงินไปหนีต่างประเทศก็มี แต่ทุกอย่างเราก็กลับมาเปิดเว็บไซต์ได้ตามปกติ คนก็เทรดกันเหมือนเดิม แต่ยังไม่สามารถเปิดรับลูกค้าใหม่ได้

สาเหตุที่โตเร็วขนาดนั้นเป็นเพราะอะไร

ทุก 4 ปี จะเป็นปีทองของบิตคอยน์ที่เราเรียกว่าการ Halving คือการที่ระบบของบิตคอยน์จะทำการลดจำนวนเหรียญที่เกิดใหม่ของบิตคอยน์ ต่อ 1 บล็อกต่อ 10 นาทีลงครึ่งหนึ่ง ในทุก ๆ 4 ปี การขุดบิตคอยน์จะมีความยากขึ้นมากกว่าเดิม และเรารู้อยู่แล้วว่าปีนี้มันคือปีทอง เราจึงโฆษณาแอพพลิเคชันของเราทั่วประเทศเลย 

คนเทรดจึงมีจำนวนมากขึ้นมาตลอด ในปี 2017 ที่ราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 6 แสนบาทต่อหนึ่งเหรียญ แล้วมันตกลงมา ส่วนใหญ่คาดว่าคนจะเลิกเล่นบิตคอยน์กันแล้ว แต่จริงๆ แล้วยอดเทรดไม่เคยตกลง คนกลับเทรดมากขึ้นกว่าเดิม

ทุกวันนี้ยอดเทรดของ Bitkub อยู่ที่ 4 พันล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 10% ของการเทรดในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ใช้เวลาถึง 40-50 ปี แต่ Bitkub ของเราใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปี เท่านั้น บริษัทของเรามันโตขึ้นตามราคาของบิตคอยน์เท่านั้นเอง

เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องความเชื่อมั่น Bitkub จะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาอย่างไร เพราะตอนนี้เริ่มมีคู่แข่งเข้ามาบ้างแล้ว

จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีต่อความเชื่อมั่นด้วยซ้ำไป เพราะบริษัทของเรามีการแสดงความจริงใจให้แก่ลูกค้าว่าเราออกมารับผิดชอบ เรามีกองทุน 100 ล้านมาใช้แจกจ่ายคืนค่าเสียหายให้ บริษัทที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ลูกค้าไม่มีทางโอนเงิน 10 ล้านเข้าไปฝากเล่นอย่างแน่นอน กลับกันเรามีเหตุการณ์นี้เป็นตัวบ่งบอกว่าเรามีความรับผิดชอบต่อลูกค้า เรามีประสบการณ์มาก่อน ยังไงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องดีสำหรับเรา เพราะทุกคนผิดพลาดได้ แต่ถ้าผิดพลาดแล้วคุณจะรับผิดชอบต่อลูกค้าหรือเปล่า 

ตั้งแต่ Bitkub กลับมาเปิด ปริมาณเทรดของเราไม่ตกไปจากเดิมเลย คนยังคงเทรดกัน 5พัน-6พันล้านบาทต่อวันเหมือนเดิม อีกอย่างที่คนไปสมัครแอพฯ อื่น เพราะว่าเราปิดรับสมัคร ถ้าเปิดให้ลูกค้าใหม่เข้ามาอีกครั้งเรามั่นใจว่าเขาจะกลับมาใช้บริการของเราอย่างแน่นอน

อยากทราบมุมมองของคุณ ต่อนโยบายของ ก.ล.ต. ในการสั่งปิด Bitkub ที่ผ่านมา

โดยส่วนตัว ผมต้องชื่นชม ก.ล.ต. เขาทำหน้าที่ของเขาได้ดี เนื่องจากสำหรับวงการการเงิน เขาเป็นผู้กำกับอยู่แล้ว เขาก็ต้องปกป้องนักลงทุน และก็ต้องขอบคุณ ก.ล.ต. มากๆ ที่ทำให้เราแข็งแรงขึ้น มั่นคงยิ่งกว่าเดิม ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่เขาช่วยแนะนำว่าเราควรจะบริหารบริษัทยังไง อีกอย่างคือก่อนที่ ก.ล.ต. จะประกาศ ทีมงานของเราก็มีการคุยกันว่าจะปิดรับลูกค้าใหม่อยู่แล้วเพื่อที่จะรักษาคุณภาพให้บริการของเราดีกว่าเดิม เพราะก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนจากลูกค้าเก่าเข้ามา 

การที่ทำให้ลูกค้าของเราแฮปปี้ก็เป็นเรื่องที่ยากมากเหมือนกัน เพราะทุกคนมีเรื่องที่ตัวเองต้องการอยู่ตลอด ลูกค้าเก่าก็จะบอกว่าไปรับลูกค้าใหม่ทำไมทำให้ระบบช้า ลูกค้าใหม่ก็จะบอกเราว่าเมื่อไหร่จะเปิดรับให้เขาสมัครใช้บริการได้เสียที

ตอนนี้ Bitkub เป็นแพลตฟอร์มทางการเงินอันดับหนึ่งของไทย เป้าหมายต่อไปคืออะไร 

ต้องพูดว่าตอนนี้เป้าหมายของเรา คือการแข่งกับตัวเอง เราแข่งกับตัวเองตลอดเวลาเพื่อที่จะได้เป็นคนที่เก่งขึ้น เป็นบริษัทที่ดีขึ้นทุกวัน แต่เป้าหมายจริงๆ ของเราคือการที่เป็น ‘ยูนิคอร์น’ (ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) ตัวแรกของไทย รู้ไหมว่าประเทศเรายังไม่เคยมียูนิคอร์นเลย เวียดนามยังมีบริษัทระดับยูนิคอร์นแล้ว เราเป็นที่เดียวในอาเซียนที่ยังไม่มี 

ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาของประเทศเรา เหมือนเป็นช่วงเวลาที่หายไปเลยสำหรับการพัฒนา เราติดอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ‘Middle Income Trap’ ถ้าสังเกตในตลาดหุ้นไทยดีๆ มีแต่บริษัทของยุคที่แล้ว ขายอิฐ ขายปูน ขายเหล็ก เรายังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีเลย ซึ่งเราก็หวังว่า Bitkub จะเป็นบริษัททางเทคโนโลยีตัวแรกที่ถ้าประสบความสำเร็จเราจะทำให้ทั้งโลกเห็นว่าเราก็ทำได้ ทำไมต้องยอมให้เมืองไทยเป็น ‘เมืองขึ้นทางเทคโนโลยีของชาติอื่นด้วย’ คนอื่นจะได้กล้าที่จะลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรบางอย่างได้เหมือนเรา อันนี้คือเป้าหมายที่แท้จริงของเราเลย

เราจะดึง GDP กลับมา ขยายตลาดไปยังประเทศอื่นบ้าง ไม่ใช่ให้ต่างประเทศมาเก็บเงินจากเราเพียงอย่างเดียว

มองว่ารัฐควรส่งเสริมการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีไทยอย่างไรบ้าง

ตัวระเบียบข้อบังคับที่ออกจากทางรัฐเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากการออกข้อบังคับที่ไม่เหมาะสมจะทำให้หยุดการเจริญเติบโตของวงการใหม่เลย

อีกทั้งธรรมชาติของมนุษย์นั้นมี ‘ความกลัว’ ต่อสิ่งใหม่อยู่เสมอ ตอนรถยนต์ออกมาใหม่ๆ คนก็กลัวมัน ด้วยสาเหตุที่ว่ามันทับคนตาย ก็ออกกฎหมายให้คนต้องวิ่งโบกธงนำหน้ารถในปี 1896  เมื่อไฟฟ้าออกมาใหม่ๆ ก็กลัวเพราะบอกว่ามันช็อตคนตาย ใช้เทียนไขดีกว่า ปัจจุบันคนก็บอกว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ไม่ดี ใช้ถ่านหิน น้ำมันเหมือนเดิมดีกว่า 

กฎหมายที่มาจากความอนุรักษ์นิยมนี้ จะทำลายการพัฒนาของประเทศ ถ้าเมืองไทยมี Mindset ที่เปิด และกฎหมายที่เอื้ออำนวยก็จะทำให้ประเทศไทยมีบริษัทที่เปลี่ยนโลกก่อน และสามารถไปบุกต่างประเทศได้มากขึ้น

เหมือนเมื่อก่อน เวลาเราใช้ Grab มันคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย ถูกจับเข้าคุก หรือจริงๆ แล้ว หากคนไทยจะทำโปรแกรมแชทอย่าง LINE ก็ทำได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นคือกลับมีการถามว่า “ผิดกฎหมายนะ คุณมีใบอนุญาตหรือเปล่า?” ทำให้เราทำโปรแกรมแชทของคนไทยไม่ได้ แต่ตอนที่ญี่ปุ่นเขาเข้ามา เขาก็ไม่ได้สน เขาก็เปิดไลน์ อยู่ดี 

เราอยู่ในโลก Globalization ที่เซิร์ฟเวอร์มันอยู่ออนไลน์ ทำให้ใครๆ ก็ใช้ไลน์ ได้ ผิดกฎหมายคนก็ยังใช้กัน สุดท้ายตอนนี้จำนวนผู้ใช้มันใหญ่จนถูกกฎหมายไปแล้วทั้ง LINE, Grab และ Airbnb คือสุดท้ายแล้วประชาชนจะเป็นคนกำหนดเองว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้วกฎหมายมันจะเปลี่ยนตามเอง ซึ่งผมมองว่ามันต้องมีพื้นที่ให้ทดลองสร้างสิ่งใหม่ให้กับประเทศบ้าง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีพื้นที่สำหรับบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศไทยเลย 

อย่างที่สองคือ ภาครัฐชอบเข้ามาเล่นเอง แต่เราพิสูจน์มาตลอด 50 ปีแล้วว่า ภาครัฐยังไงก็สู้ภาคเอกชนไม่ได้ เพราะฉะนั้นภาครัฐควรจะทำตัวให้เล็กลง แล้วปล่อยให้เอกชนทำอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น

ประการสุดท้ายคือ เราต้องรอให้ประเทศของเราแข็งแรงก่อน สมมติว่า 10 ปีก่อน คนไทยกำลังจะสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเอง แต่พอ Facebook เข้ามา รัฐบาลบอกว่า ‘มาสิเข้ามาเลย’ คนไทยก็ไม่เกิด เพราะอย่างนั้นเราอาจต้องดูประเทศจีนหรืออเมริกาเป็นตัวอย่าง เช่นตอนที่ Facebook จะมาเมืองจีน ทางจีนบอกว่า ‘ไปไกลๆ Baidu/WeChat ของเรายังไม่แข็งแรง’ แต่ตอนนี้ Baidu กับ WeChat แข็งแรงพอ เห็นได้ว่าตอนนี้เขาเริ่มไปบุกประเทศอื่นแล้ว ของอเมริกาก็เหมือนกันตอน TikTok ที่แข็งแรงมากจะเข้ามาในอเมริกา เขายื่นคำขาดเลย ‘TikTok อยากเข้ามาเหรอ เปลี่ยนสัญชาติมาเป็นอเมริกาสิ ไม่งั้นก็ไปไกลๆ’ เหมือนกัน

เขาสนับสนุนให้เอกชนสามารถที่จะทำธุรกิจกันได้อย่างเต็มที่ ไม่อย่างนั้นภาษีจะวิ่งออกนอกประเทศหมด LINE ในปีที่แล้วจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยศูนย์บาท คนใช้กัน 47 ล้านบัญชี Bitkub ยังจ่ายภาษีมากกว่า LINE อีก Facebook คนใช้กัน 70 กว่าล้านบัญชี ปรากฎว่าทำกำไรแค่ 10 ล้านบาท จ่ายภาษีน้อยกว่า Bitkub เหมือนกัน

ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคของ ‘เมืองขึ้นทางเทคโลยี’ ในยุคที่แล้วอังกฤษได้ทำการล่าอาณานิคมประเทศอื่นเพื่อดึงทรัพยากร แล้วนำกำไรกลับไปยังประเทศเขา 

ยุคนี้มันเปลี่ยนไปเพราะเราใช้เทคโนโลยีในการยึดประเทศแทน ยกตัวอย่างเช่น Netflix ของอเมริกาเข้ามาบุกประเทศไทยทำให้ ‘ช่อง 3’ สู้ไม่ได้ มีกำไรลดน้อยลง โดยที่ก่อนหน้านี้มีกำไรเป็นหมื่นล้านจ่ายภาษีให้กับสรรพากรไทย แล้วลองมองดู แอพพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือมีแอพฯ ใดบ้างที่เป็นของคนไทยเราที่เราใช้กันทุกวัน ณ ตอนนี้ก็คงจะมีแค่ Bitkub กับแอพฯ ของธนาคารที่ติด Top 10 ของ App store 

ขนาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทำรายได้มากที่สุด แต่ถามว่า Traveloka กับ Agoda เป็นของใคร ผมหนักใจกับประเทศไทยมาก ยิ่งช่วงโควิดเราหาเงินเข้าประเทศจากการท่องเที่ยวไม่ได้แล้วด้วย แล้วเมืองไทยจะอยู่อย่างไร ในเมื่อมีแต่เงินไหลออก ไม่มีเงินไหลเข้า

แล้วตอนนี้เหลือพื้นที่ให้คนไทยสร้างอะไรอีกไหม

โอกาสมันอยู่ทุกที่ อย่าไปคิดว่า แจ๊ก หม่า หรือ เจฟฟ์ เบโซส์ เอาโอกาสของเราไปหมดแล้ว ถ้าวันนั้น 2 คนนี้คิดว่า บิล เกตส์ เอาโอกาสของเขาไปหมดแล้วคงไม่เกิด Alibaba หรือว่า Amazon มันต้องมีสิ่งใหม่มาตลอดมาทดแทน ยิ่งการเข้ามาของ 5G หลังจากนี้มันคือยุคของ Big data, AI , Blockchain และ IoT ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อยู่ได้เสมอ นี่คือวิถีของโลกที่สิ่งใหม่จะมาแทนสิ่งเก่าอยู่เสมอ ขอแค่ลองลงมือทำเราจะเห็นทั้งโอกาส และปัญหาแต่มันจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ อย่าไปกลัวเงินทุน อย่าไปกลัวกฎหมาย 

เวลาในการทำงานของพวกเรามีแค่ 30 ปีเอง ช่วงอายุ 20-50 ปี หลังจาก 50 ปี เราอาจจะทำงานไม่ได้เต็มที่แล้ว เพราะฉะนั้น เวลาเป็น ‘สกุลเงินที่แพงที่สุด’ เราอย่าปล่อยเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ใครอยากทำอะไรลงมือทำทันที อย่าไปกลัวเยอะ ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้ทำอะไรกันพอดี

เหตุการณ์ที่ Tesla ทุ่มเงินซื้อบิตคอยน์กำลังจะบอกอะไรเรา

มันคือจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการสินทรัพย์ดิจิทัล นี่คือเหตุการณ์ที่บอกเราว่า ‘เงินทุนของสถาบัน’ ไหลเข้ามาแล้ว แสดงว่าตลาดนี้กำลังจะโตได้อีกอย่างมหาศาล เพราะที่ผ่านมาทั้งหมด 8 ปี มีแค่เงินทุนของรายย่อยซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก 

Tesla มีเงินที่เก็บไว้นิ่งๆ อยู่ที่ 1 หมื่น 9 พันล้านดอลลาร์ฯ เขาเห็นแล้วว่าในช่วงที่อเมริกาผลิตเงินออกมาเรื่อยๆ ในช่วงโควิดกำลังทำให้เงินของเขาด้อยมูลค่าลงเนื่องจากเงินเฟ้อ เขาจึงเอาเงินมาซื้อบิตคอยน์เพื่อรักษามูลค่าเงินของเขาไว้ดีกว่า เผื่อจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ค่อยขายออกมา มูลค่าไม่หายไป 

ซึ่งดูดีๆ แล้ว เวลาเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาบนโลก กลุ่มเทคโนโลยีจะเป็นคนแรกๆ ที่ยอมรับมันก่อนเสมอ (Early Adopter) ซึ่งตอนนี้ต้องจับตาดู Apple ให้ดี เพราะ Tesla ขยับแล้ว และ Apple มีเงินมากกว่า Tesla ถึง 10 เท่า ถ้า Apple ขยับเมื่อไหร่ทุกคนขยับแน่นอน แต่จริงๆ แล้วแค่ Tesla ขยับทุกคนก็ขยับ อีลอน มัสก์ เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์อยู่แล้ว ตอนนี้ Mass Adoption กำลังจะมา 

ในทุกการเปลี่ยนผ่านจะมีคนที่ได้และเสียประโยชน์อยู่เสมอ ถ้าใครมองเห็นถึงโอกาสและมีเงินที่เสี่ยงได้ แค่คุณถือ 1 บิตคอยน์ คุณจะเป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในโลกแน่นอน 

Tags: , , ,