นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เวลาชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ล้วนจดจ่อไปกับการดูภาพยนตร์และซีรีส์ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงออนไลน์มากกว่าการดูผ่านโทรทัศน์หรือในโรงหนัง เราจึงเห็นสตริมมิงหลายแบรนด์มีผลกำไรเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด และลดลงอย่างน่าใจหายไปพร้อมๆ กัน หากไม่สามารถหาคอนเทนต์สดใหม่และแสดงตัวตนที่ชัดเจนของแบรนด์ได้

ในสนามแข่งขันธุรกิจสตรีมมิงรูปแบบ OTT (Over The Top) ช่วง 2-3 ปีมานี้ เกิดปรากฏการณ์หนึ่งน่าสนใจ เมื่อ Viu (วิว) แพลตฟอร์มสตรีมมิงจากฮ่องกงมีผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มขึ้นถึง 58.6 ล้านคน จนกลายเป็นแบรนด์ Top of mind ของคอซีรีส์ที่นอกจากจุดแข็งด้านคอนเทนต์เกาหลีแล้ว Viu (วิว) ยังมีคอนเทนต์ที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม รวมถึงคอนเทนต์ Original ที่ผลิตขึ้นเอง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจนสามารถกวาดรางวัลจากเวทีระดับโลกมาเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จ

Viu Thailand เปิดให้บริการในไทยเมื่อปี 2015 และกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญของแบรนด์สตรีมมิงจากฮ่องกง ด้วยการขนคอนเทนต์สไตล์ Asian Premium เข้ามาเสิร์ฟเอาใจคนดูอย่างต่อเนื่อง แต่แน่นอนความสำเร็จดังกล่าวย่อมมีเครื่องหมายคำถามตามมาว่าวิธีการใดที่ทำให้ Viu Thailand ก้าวขึ้นมาเป็นฐานที่มั่นสำคัญของแบรนด์ Viu (วิว) ได้เหนียวแน่น เพราะลำพังแค่การนำคอนเทนต์ซีรีส์เอเชียมาฉายอาจไม่ได้ตอบโจทย์ผู้บริโภคไปเสียหมด

The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ เอ็ม—อคิรากร อิกิติสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Viu (วิว) ประเทศไทย ในฐานะฟันเฟืองคนทำงานถึงบทบาทการบริหารแบรนด์สตรีมมิงให้โดดเด่นและอยู่รอดเหนือแบรนด์อื่นๆ พร้อมเผยอีกหนึ่งบทบาทกับการเป็นนักสะสมนาฬิกาข้อมือรุ่น ‘Seiko Monster’ อันดับต้นๆ ในประเทศไทย ว่าเหตุผลใดเขาถึงหลงใหลนาฬิกาฉายา ‘ปีศาจแห่งท้องทะเล’ มากมายได้ถึงเพียงนี้ 

ท่ามกลางกระแสที่ผู้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจรับชมภาพยนตร์หรือซีรีส์ โดยเฉพาะจากฝั่งเอเชีย การบริหารแพลตฟอร์มสตรีมมิง Viu (Thailand) เป็นอย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่าต้นปี 2022 ถือเป็นปีที่ดีของ Viu (วิว) เราเริ่มเจาะกลุ่มฐานผู้ชมที่ต่างจากเจ้าอื่นๆ คือ กลุ่มผู้ชื่นชอบซีรีส์เกาหลี จากนั้นเราจึงค่อยพัฒนาเพิ่มในส่วนของ Local Content เข้ามา 

ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นที่โควิด-19 โรคระบาดมีส่วนทำให้ผู้คนหันมาหาแพลตฟอร์มสตรีมมิงมากขึ้น ประจวบเหมาะพอดีกับช่วงนั้นที่ Viu (วิว) นำคอนเทนต์สดใหม่เข้ามาหลายเรื่อง เช่น ซีรีส์ A World of Married Couple ซึ่งถูกจริตกับคนดูชาวไทย กลายเป็นว่าซีรีส์เกาหลีไม่ได้มีฐานคนดูแค่กลุ่มแฟนเกิร์ลที่ติดตามโอปป้าในดวงใจ หรือต้องการเพียงเสพความโรแมนติกฟินจิกหมอน แต่ยังมีกลุ่มฐานคนดูกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องการติดตามซีรีส์เกาหลี ซีรีส์เอเชียในหมวดต่างๆ อย่างแนวแฟนตาซี สืบสวนสอบสวน กฎหมาย แอ็กชัน ฯลฯ ทำให้เราได้ฐานกลุ่มคนดูทุกเพศทุกวัย จนเรามีบัญชีผู้ใช้และรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดดในทุกปี 

นอกจากนี้ เรายังมีคอนเทนต์ Original ทั้งไทยและเกาหลีเป็นของตัวเองมากกว่าเดิม เพราะเรามีจุดมุ่งหมายต้องการผลิตคอนเทนต์ Asian Premium ส่งออกไปทั่วโลกมากขึ้น แต่เราก็ยังไม่ทิ้งในส่วนของคอนเทนต์พาร์ตเนอร์เจ้าเก่า ที่เรายังซื้อคอนเทนต์เข้ามาฉายเอาใจผู้ชมเหมือนเดิม โดยรวมแล้วเราพอใจกับการเติบโต ณ เวลานี้ มากๆ

กลยุทธ์อะไรที่ทำให้ Viu (Thailand) แตกต่างจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงอื่นๆ

เรามีความแตกต่างจากสตรีมมิงเจ้าอื่นตั้งแต่จุดเริ่มต้น หากย้อนกลับไป 4-5 ปีก่อน Viu (วิว) เป็นเจ้าแรกที่มีเป้าหมายต้องการจับกลุ่มตลาดคนดูเอเชีย ต่างจากเจ้าอื่น เช่น Iflix, Netflix, HBO GO, Prime Time ฯลฯ ที่มีคอนเทนต์คล้ายกันคือดึงเอาซีรีส์จากตะวันตกมาฉายอย่าง Game of Thrones ทำให้จากตอนแรกที่คิดว่าเราต้องไปแข่งกับเจ้าดังๆ ทั้งหลาย กลายเป็นเราต้องมาแข่งกับพวกเว็บดูหนังเถื่อน (หัวเราะ) 

ช่วงนั้นถือเป็นยุคมืดของซีรีส์เอเชีย เพราะไม่ค่อยมีเจ้าไหนกล้าทุ่มซื้อเอามาฉาย เราจึงต้องเฟ้นหาวิธีมาสู้กับพวกเว็บเถื่อน และกลายเป็นเจ้าแรกที่เอากลยุทธ์ Hybrid Model ที่สามารถดูฟรีและดูแบบจ่ายเงินไม่มีโฆษณาคั่นมาใช้

กลยุทธ์ Hybrid Model จริงๆ เกิดจากการศึกษาพฤติกรรมฐานคนดูซีรีส์เอเชีย ส่วนใหญ่เวลาเข้าไปดูต้องเจอกับปัญหาลิงก์เว็บปลิว ซับแปลไม่ตรง ช้ากระตุก คุณภาพไม่ได้ เราเลยตั้งใจจะแก้ไขและเสริมคุณภาพในส่วนนี้ 

เจ้าอื่นเองเขาก็พยายามนำคอนเทนต์แบบเดียวกับเราเข้ามา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร บ้างก็เอาเข้ามาได้แป๊บเดียว เพราะเราสามารถยึดฐานกลุ่มคนดูประเภทนี้ไว้ได้ก่อนแล้ว และเรายังพยายามเติมเต็มคอนเทนต์ประเภทภาพยนตร์หรือรายการวาไรตี้เข้ามาอีก ขณะเดียวกัน Viu (วิว) ยังมีจุดแข็งที่ราคาสมาชิกถูก มีโปรโมชันตลอด เป็นเจ้าเดียวที่ออกซีรีส์เกาหลีเวอร์ชันพากย์ไทยเร็วที่สุด รวมถึงปรับแต่งให้มีพากย์เวอร์ชันภาษาเหนือและภาษาอีสาน

เรายังพยายามเจาะกลุ่มคนดูรุ่นใหม่ด้วยคอนเทนต์แนวอนิเมะ ซีรีส์ใหม่ๆ แนว Demon Slayer, Attack on Titan โดยที่เราพยายามเอาอนิเมะระดับตำนาน เช่น Slam Dunk, Sailor Moon, Detective Conan มาฉายควบคู่เพื่อดึงดูดกลุ่มคนดูรุ่นเก่าด้วย

หมายความว่า Viu (Thailand) ใช้วิธีโฆษณาทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

รูปแบบออนไลน์เป็นอะไรที่ไม่ยาก ถ้าเป็นซีรีส์ที่มีกลุ่มคนดูตามอยู่แล้ว เขาจะรู้เลยว่าซีรีส์เรื่องนี้มาเมื่อไร นักแสดงที่เขาชอบมีคิวถ่ายทำช่วงไหน เราก็อาศัยติดตามหาข้อมูลจากคอมมูนิตี้ดังกล่าว อย่าง 4 ปีก่อน เรามีบริษัทเชี่ยวชาญด้าน KOL สายเกาหลีตัวท็อปของเมืองไทย มาเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์หลักเพื่อทำรายการและหาคอนเทนต์น่าสนใจร่วมกัน จริงๆ รูปแบบออนไลน์นับเป็นไวรัลในตัวมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่เราเข้าไปช่วยเพิ่มกระแสให้มันแรงขึ้น อย่างตอนนี้ที่ Viu (วิว) มีซีรีส์เรื่อง WANNABE (ฝัน-กล้า-บ้า-ดัง) ที่เกี่ยวกับแร็ปเปอร์ เราก็ได้ร่วมมือกับเพจแร็ปเปอร์ รวมถึงแร็ปเปอร์ตัวจริงทำ Rap Challenge ทำ Meme, Fake Poster และบางคอนเทนต์ก็จะใช้ KOL ฝั่งแมสต์ พวกยูทูบเบอร์ชื่อดังอย่าง ‘เสือร้องไห้’ กับ ‘บี้ เดอะสกา’ มาร่วมสร้างกระแส เพื่อช่วยโปรโมทคอนเทนต์ให้ Mass มากขึ้น

ส่วนรูปแบบออฟไลน์ เราพยายามลงพื้นที่ไปเจาะกลุ่มคนดูภาคอื่นๆ อย่างไม่นานมานี้ก็เพิ่งลงไปแถบภาคอีสานไปออก Road Show ประชาสัมพันธ์ ทำป้ายผ้าโปรโมตซีรีส์น่ารักๆ ร่วมกับร้านขายอาหาร 

ยากไหมกับการที่ต้องมาหันจับงานสตรีมมิงออนไลน์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผ่านงานบริหารรูปแบบทีวีดิจิทัลมาเสียส่วนใหญ่

จริงๆ เราพยายามมองให้ธุรกิจทุกอย่างเป็นการขาย Product หรือ Services มากกว่า ซึ่งโจทย์คือจะทำยังไงให้คนรู้สึกอยากใช้ อยากซื้อซ้ำ เราก็แค่เปลี่ยนจาก Based on Product จากแพลตฟอร์ม MVAS Device, Set Top Box, Pay TV มาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือคอนเทนต์ OTT ส่วนการทำงานเรายังต้องเข้าไปคุย เข้าไปดีลกับผู้ผลิตเหมือนเดิม สุดท้ายเป้าหมายสูงสุดคือทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน เพียงแต่เราอยู่ในทีมที่มีค่าเฉลี่ยอายุเด็กกว่าเดิม จึงต้องพยายามเรียนรู้เทรนด์ของพวกน้องๆ ว่าเขาชอบดูอะไร กินอะไร ภาษาแปลกๆ ที่เขาพูดกันมีความหมายว่าอะไร

ก่อนหน้าจะเข้ามาทำงานที่ Viu (วิว) ผมแทบจะไม่ดูซีรีส์เกาหลีเลย พอเข้ามาก็ต้องเริ่มหันมาดูบ้าง จะได้ลงมือทำงานกับน้องในทีมรู้เรื่อง และเมื่อต้องลงมือผลิตคอนเทนต์ Original เอง เราก็รู้ว่าสไตล์ซีรีส์แบบนี้ควรเลือกคนเขียนบท หรือควรเลือกผู้กำกับภาพเป็นใคร

หากให้นิยามตัวตนของ Viu (วิว) ที่ต้องการจะสื่อไปถึงผู้บริโภค จะนิยามว่าอะไร

เราต้องการให้คนผู้บริโภคเห็นแพลตฟอร์มเราแล้วรู้สึกดี ช่วยเติมเต็มชีวิต เป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้ในทุกเวลา ไม่ว่าคุณจะเหงา ดีใจ เสียใจ หรือเครียด ก็อยากให้นึกถึง Viu (วิว) เปิดดู Viu (วิว) หรืออาจจะแวะไปหาเจ้าอื่นๆ ด้วยก็ได้ไม่เป็นไร เราเข้าใจได้ คนดูเองเขามีทางเลือก แค่เราเชื่อว่าการที่เราชูคอนเทนต์ความเป็นเอเชีย สุดท้ายคนดูก็จะย้อนกลับมาหาเราอยู่ดี

เปลี่ยนมาคุยเรื่องส่วนตัวของคุณกันบ้าง ทราบมาว่าคุณเป็นนักสะสมนาฬิกาข้อมือตัวยงระดับต้นๆ ในประเทศไทย เหตุผลใดทำให้คุณเลือกที่จะสะสมนาฬิกา

ส่วนตัวผมเป็นคนชอบนาฬิกาข้อมือมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นเก็บนาฬิกา Swatch ตัวเรือนทำจากพลาสติกที่ตอนนี้ไม่รู้หายไปไหนแล้ว ต่อมาช่วงมัธยมก็ได้นาฬิกายี่ห้อ G-SHOCK ซึ่งถือเป็นไอเทมที่โคตรเจ๋งในกลุ่มเด็กโรงเรียนชายล้วน (โรงเรียนวัดสุทธิวราราม) พอเราต่อมัธยมปลาย พ่อก็ซื้อนาฬิกา TAG Heuer รุ่นก้างปลาให้เป็นของขวัญ เทรนด์นาฬิกาข้อมือส่วนใหญ่ ณ ตอนนั้น จะเป็นแบบบางๆ ไม่ใหญ่เทอะทะ 

จนกระทั่งเรียนจบทำงาน พ่อก็ให้นาฬิกา Rolex Datejust มาอีกเรือน แล้วเราเป็นเด็กจบใหม่ สภาพนักร้องไว้ผมยาวๆ ใส่ไปทำงานก็รู้สึกว่ามันไม่เข้า เลยอยากได้นาฬิกาเรือนใหม่เป็นของตัวเอง ทีแรกเล็งนาฬิกายี่ห้อ Panerai แต่ราคาแพงเกินตัว ถ้าซื้อไปครอบครัวด่าเอาแน่ๆ ก็ต้องพยายามขวนขวายไปเสิร์ชหาข้อมูลนาฬิการาคาย่อมเยาตามเว็บบอร์ด เทียบไปเทียบมาจนมาสะดุดเข้ากับนาฬิกายี่ห้อ Seiko รุ่น Monster ที่ถือเป็นสุดยอดแห่งความเป็น Poorman Watch ตอนนั้น ด้วยสีสันจัดจ้าน รูปร่างหน้าตาดุดัน ฟังก์ชันครบถ้วน

แสดงว่าคุณพ่อเป็นนักสะสมนาฬิกาเช่นกัน

ไม่เลยครับ พ่อด่าทุกวันตอนซื้อใหม่ๆ ทั้งที่ตัวเขาเองชอบเก็บสะสมพระ (หัวเราะ) เราก็บอกเขาแหละว่าแยกกันไป เราเป็นนักสะสมของคนละแบบ

ช่วยแนะนำนาฬิกา Seiko Monster เรือนแรกๆ ที่เก็บสะสมหน่อย

2 เรือนนี้ครับ (ชี้) เป็นนาฬิกา Seiko Monster Original สีส้มกับสีดำ ราคาตามห้างประมาณ 10,000 บาท ยิ่งถ้ารู้จักร้านดีลเลอร์ข้างนอกจะเหลือแค่ 6-7 พันบาท และด้วยความพิเศษตรงที่สามารถนำสายข้อมือมาเปลี่ยนแมตช์เข้ากับลุคการแต่งตัว ยิ่งทำให้รู้สึกหลงรักอยากสะสมมากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้าเคยเกือบตัดสินใจซื้อรุ่น Limited Edition สีเหลืองที่ผลิตแค่ 300 เรือนในโลก ราคา 35,000 บาท แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีกำลังทรัพย์พอ จะให้ไปตามสีอื่นๆ อย่างสีน้ำเงินกับสีแดงก็คงไม่ไหว จนมาตอนโตการงานคงที่ก็ค่อยมาตามเก็บทีหลัง 

ปัจจุบันมี Seiko Monster ผลิตขึ้นมาใหม่หลายรุ่น เช่น Mini หรือ Generation 3 ที่หันกลับมาทำตัววัสดุมาร์กเกอร์เป็นแบบทรงเหลี่ยมป้าน ไล่มาถึง Generation 4 ออกแบบคล้ายกับทรงเดิมแต่รูปทรงตัวเข็มด้านในเปลี่ยนไป ก็พยายามเก็บมาเรื่อยๆ บางตัวที่มีก็ผลิตขึ้นในไทยเป็นโปรเจกต์พิเศษ อย่างตัวสีส้มนี้ (ชี้) เป็นตัวที่ออกแบบจากโปรเจกต์ทำบุญสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เรียกได้ว่าทุกวันนี้เก็บสะสม Monster จนครบทุกเรือนแล้ว จนเป็น 1 ในนักสะสม Seiko Monster ที่ดังมากๆ คนหนึ่งของไทยและของโลก ล่าสุดผมยังเป็นคนไทยคนแรกที่ทางเว็บไซต์ Hodinkee.com ติดต่อมาขอสัมภาษณ์อีกด้วย

Seiko Monster ที่อยู่ตรงหน้า คุณได้นำไปเปลี่ยนวัสดุสายข้อมือเป็นซิกเนเจอร์ตามแบบของตัวเองทั้งหมดเลยหรือเปล่า

เปลี่ยนเกือบทุกเรือนเลยครับ อันไหนที่ไม่ได้ใส่เป็นสายหนังหมายความว่ายังนึกหาสายที่จะมาแมตช์ด้วยไม่ออก เพราะที่ผ่านมาใช้วัสดุมาใช้เปลี่ยนเยอะมาก เช่น หนังวัว หนังจระเข้ พีกสุดเป็นหนังตะกวดกับหนังกบออสเตรเลีย บางคนเคยเห็นนาฬิกาของเราก็เอาภาพไปให้ร้านที่ร้านขายดู ร้านเขาก็งง เพราะดั้งเดิมจริงๆ ของ Seiko Monster ไม่ใช่แบบนี้ แต่จะเป็นสายสเตนเลสหรือพลาสติกตามคอนเซปต์ความเป็น Sport Watch ผมว่าตรงนี้เป็นความสนุกอย่างหนึ่งของการสะสมนาฬิกาข้อมือ กลับมาบ้านเหนื่อยๆ ก็มานั่งไขลานให้มันเดิน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

มุมมองก่อนและหลังเข้ามาอยู่ในแวดวงนักสะสมนาฬิกาของคุณเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน

เหมือนเดิมมาตลอด เพียงแต่กลุ่มคนสะสมใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเราหาของข้อมูลนาฬิกาได้ง่ายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันแบรนด์จำพวก Basic Mass Premium เช่น Rolex หรือตัว Seiko Monster ก็ตามต่างมีมูลค่าสูงขึ้นตามความต้องการของคน ทั้งนักสะสมจริงๆ กับคนซื้อมาปั่นราคา บางตัวเราได้มาราคาถูกมาก พออาทิตย์ต่อมาราคาสูง 2-3 เท่า คล้ายกับเดี๋ยวนี้ที่คนหันมาลงทุนกับเหรียญคริปโตฯ กับ NFT 

ส่วนตัวผมรู้สึกว่านาฬิกาเป็นเครื่องประดับที่มีมูลค่าสม่ำเสมอ เปลี่ยนเป็นเงินจับต้องได้ง่าย ตอนเศรษฐกิจไม่ดีคนก็พยายามนำไปปล่อยแลก พอเศรษฐกิจดีก็พยายามแย่งซื้อกันจนราคาพุ่งเกินจริง

นาฬิกาเรือนไหนบ้างที่คุณตั้งใจเก็บไว้เก็งกำไรหรือเทรดไว้แลกเปลี่ยนกับรุ่นอื่น

ไม่มีสักเรือน (ตอบทันที) เราตั้งใจเก็บมานานมากๆ เราเก็บแล้วมีความสุข เคยสัญญากับตัวเองว่าถ้าอยากได้เรือนใหม่จะไม่เอาไปปล่อย ไม่เอาไปเทรด หาเงินเพิ่มแล้วมาซื้อดีกว่า เคยมีชาวต่างชาติมาขอซื้อถึงราคา 1 ล้าน ทั้งที่ราคาจริงประมาณ 2 แสน บางคนถามว่าบ้าหรือเปล่าไม่ปล่อย จะให้ทำอย่างไรก็เรารักและหลงใหลไปแล้ว อย่างไรก็ไม่ขาย นาฬิกากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว เป็นเครื่องประดับในร่างกายที่ขาดไม่ได้ 

เห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวที่ว่า คนเก็บสะสมนาฬิกาต้องเป็นคนมีเงินหรือฐานะร่ำรวย

ไม่เกี่ยวข้องเลย นิยามการเก็บสะสมนาฬิกาอยู่ที่เรามองและตีค่าราคาเองเสียมากกว่า ไม่ได้หมายความว่าคุณมีรายได้ต่ำแล้วจะไม่มีสิทธิ์เก็บสะสมนาฬิกา อย่างล่าสุดที่มีเหตุการณ์คนไปต่อคิวซื้อนาฬิกา Omega Moonwatch ราคาไม่กี่พัน แต่คนคิดจะซื้อไปเก็งกำไรราคามันก็แพงขึ้น นั่นคือการตีความมูลค่าของนาฬิกา สุดท้ายขึ้นอยู่กับเราว่าจะเลือกซื้ออย่างไร เดี๋ยวนี้มีกลุ่มกับเว็บบอร์ดให้เราศึกษาประกอบการตัดสินใจเยอะแยะ

อยากบอกอะไรกับคนที่อยากเริ่มเข้ามาสะสมนาฬิกาข้อมือ

ต้องแยกให้ออกว่าคุณซื้อเพื่อเก็งกำไรหรือซื้อเพื่อความชอบนำเอาไปใช้ ควรศึกษาเทรนด์และราคาในตลาดให้ดี เพราะของสะสมประเภทนี้มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นดูอะไรที่เหมาะกับตัวเราเองดีกว่า เอาให้เกิดความชอบความสนุก เดี๋ยวพอมันเจอทางแล้วทุกอย่างจะตามมาเอง

หากเปรียบ Viu (วิว) เป็นนาฬิกา Seiko Monster?

ถ้าสังเกตจะเห็นว่า Seiko Monster มีให้เลือกทุกสีเข้ากับทุกอารมณ์ สามารถสนุกไปกับการแมตช์สายข้อมือและชุดแต่งกายอื่นๆได้ เช่นเดียวกับ Viu (วิว) ที่มีคอนเทนต์ให้เลือกหลากหลาย Genre เข้าไปนั่งอยู่ในใจคนดูได้ทุกประเภท อยู่กับเราแล้วคุณจะรู้สึกมีความสุขไปด้วยกัน

สุดท้ายพอบอกกับเราได้ไหมว่าอนาคต Viu (วิว) จะมีเป้าหมายไปในทิศทางใด

หนึ่งคือเราต้องโตขึ้น (หัวเราะ) ต้องมองถึงการขยายตลาดให้กว้างขึ้น หัวเมืองใหญ่เรามีฐานกลุ่มคนดูที่แข็งแรงมากแล้ว ดังนั้นเราอยากพยายามขยายฐานไปยังต่างจังหวัด เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ รวมถึงกลุ่มคนมีอายุ และกลุ่มคนที่ชื่นชอบการพักผ่อนอยู่บ้าน 

สองคือเราอยากผลักดันให้ศิลปินและดาราไทยก้าวขึ้นไปแข่งขันในตลาดเอเชียได้ ตอนนี้เราเริ่มเห็นลู่ทางและกลุ่มตลาดนอกชัดเจนแล้วจากการส่งออกซีรีส์ Original ไปออกฉายยังต่างประเทศ

Fact Box

  • Viu (วิว) เป็นบริการสตรีมมิงรูปแบบ OTT (Over The Top)  ที่ก่อตั้งในประเทศฮ่องกง ปี 2015 ภายใต้เครือบริษัท PCCW Group บริษัทโทรคมนาคมและความบันเทิงยักษ์ใหญ่ โดยมีเจ้าของ คือ ริชาร์ด ลี (Richard Li) นักธุรกิจและมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการบันเทิงโทรทัศน์มายาวนาน ก่อนจะขยายสาขาไปทั่วเอเชียรวมถึงประเทศไทยในปี 2017 ทั้งนี้ PCCW Group ยังมีธุรกิจในเครืออีกมากมาย เช่น บริษัทโทรศัพท์มือถือ Now, บริการฟรีทีวี ช่อง Viu TV, และ บริการสตรีมมิงดนตรี  Moov บริการสตรีมมิงดนตรี 
  • Seiko Monster เป็นนาฬิกาประเภท Sport Watch ไว้สำหรับใส่ดำน้ำหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ช่วงแรกนาฬิการุ่นดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากนัก จนกระทั่งปี 2002 ทอมมี (Tommy) แห่งเว็บบอร์ดสยามนาฬิกา (Siamnaliga.com) และ เรโท คาสเทลลาสซี แห่งเว็บบอร์ด Poor Mans Watch Forum ได้นำมาเผยแพร่ข้อมูล จนบรรดานักสะสมนาฬิกาในไทยต่างอยากไขว่คว้ามาเป็นเจ้าของ เพราะด้วยขนาดกะทัดรัด รูปทรงดีไซน์โฉบเฉี่ยว และราคาเพียงหลักหมื่นบาท 
  • ปัจจุบันอคิรากรถือเป็นนักสะสมนาฬิการุ่น Seiko Monster อันดับต้นๆ ในไทย ปัจจุบันเขาเก็บสะสมไว้มากกว่า 60 เรือน อาทิรุ่น Original, Mini, Generation 3, Generation 4 และรุ่น Limited Edition
Tags: , , , , ,