นักวิทยาศาสตร์จาก NASA และ NOAA’s เผยข้อมูลค่าเฉลี่ยอุณหภูมิ ในปี 2019 ว่า หลายส่วนของโลกร้อนขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของรัฐอลาสกา ในสหรัฐอเมริกา อยู่สูงกว่าจุดเยือกแข็ง และหลายพื้นที่ในโลก อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โปแลนด์ บางส่วนของยุโรปตะวันออกและแอฟริกาใต้ มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าที่เคยมีการบันทึกไว้
ไม่เพียงแต่บนแผ่นดินเท่านั้นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น กลุ่มนักวิจัยทดลองวัดอุณหภูมิน้ำทะเล โดยนำทุ่นจำนวน 3,800 ชิ้น หย่อนลงไปในทะเลทั่วโลกที่ระดับความลึก 2,000 เมตร แล้วพบว่า ตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา มหาสมุทรดูดกลืนความร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบเท่าดูดกลืนพลังงานความร้อนจากการระเบิดอย่างต่อเนื่องของขีปนาวุธลิตเติ้ลบอย ที่สหรัฐฯ ใช้ยิงเมืองฮิโรชิม่า ในปี 1945 จำนวน 5 ลูกตลอดทุกวินาทีของปี ซึ่งขีปนาวุธลิตเติ้ลบอยลูกหนึ่งมีพลังงานประมาณ 63,000,000,000,000 จูล
หรือถ้านึกถึงความร้อนที่ขีปนาวุธลิตเติ้ลบอยผลิตไม่ออก ลองจินตนาการว่า คนทั้งโลกถือไดร์เป่าผมคนละ 100 อัน จ่อไปที่มหาสมุทรตลอดทั้งปีก็ให้ความร้อนใกล้เคียงกัน
โดยนักวิจัยชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 1987-2019 ผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นราว 1 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระดับอุณหภูมิที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 1955-1986 ถึง 4.5 เท่า
อุณหภูมิของมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น ยกระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้น สัตว์ทะเลบางชนิด เช่น โลมา จะไม่สามารถอาศัยได้ เพราะปรับตัวกับความร้อนที่สูงขึ้นไม่ทัน นอกจากนี้ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้มวลน้ำระเหยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ส่งผลให้ความชื้นในอากาศสูงขึ้น และจะทำให้ปรากฎการณ์ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น พายุไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน รวมถึงฝนตกมีความรุนแรงมากขึ้น
มหาสมุทรดูดกลืนความร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกกว่า 90 เปอร์เซนต์ ดังนั้น การที่อุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้นสะท้อนว่า สภาพอากาศทั่วโลกกำลังร้อนขึ้นได้แม่นยำกว่าวัดจากสภาพอากาศ อุณหภูมิในอากาศอาจจะมีขึ้นลงได้ทุกปี แต่น้ำมีความหนาแน่มากกว่าอากาศ จึงต้องใช้เวลามากกว่าในการปรับขึ้นของอุณหภูมิ ดังนั้น อุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นจึงสะท้อนว่า โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนได้ชัดเจน
และแม้ว่าเป้าหมายของการประชุมข้อตกลงสภาพแวดล้อมโลกที่ปารีส ในปี 2015 จะอยู่ที่การยับยั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส แต่นักวิทยาศาสตร์ขององค์กรสหประชาชาติชี้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 1.5 กับ 2 องศาเซลเซียส มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ หากเพิ่มขึ้นที่ 1.5 องศาเซลเซียส ประชากรทั่วโลก 350 ล้านคนจะพบกับสภาวะขาดแคลนน้ำดื่ม แต่ปะการังบางชนิดจะยังคงมีชีวิตรอด ขณะที่ถ้าเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ประชากรมากกว่า 410 ล้านคนจะขาดแคลนน้ำดื่ม และแนวปะการังจะถูกฟอกขาวทั้งหมด
อ้างอิง:
- https://www.vice.com/en_us/article/884gx3/scientists-deliver-once-again-a-horrifying-report-about-how-hot-earth-is-getting
- https://www.vice.com/en_us/article/3a8q9w/5-hiroshima-bombs-of-heat-every-second-the-worlds-oceans-absorbed-record-level-heat-last-year
- https://www.sciencealert.com/the-ocean-is-warming-at-a-rate-of-5-atom-bombs-per-second-says-study?fbclid=IwAR1UuOHgqWKBMgLTVSEFxlxlQh_Dj-bXdrDKHldZs39J77upRbX1kFuuOGs
Reuters/ Stringer .
Tags: ขีปนาวุธ, มหาสมุทร, โลกร้อน, ความร้อน, ลิตเติ้ลบอย, ฮิโรชิมา