แม้ไม่ได้มีโอกาสออกฉายในโรงภาพยนตร์ตามปกติ และได้ลงจอเฉพาะทาง HBO เท่านั้น แต่หนังเล็กๆ อย่าง The Tale ก็เรียกคำวิจารณ์แง่บวกมาเป็นกระบุงเมื่อได้ไปฉายเปิดตัวที่เทศกาลหนังซันแดนซ์ และหาได้พร่องขาดในความเป็นภาพยนตร์ไปแม้แต่น้อย เหนือสิ่งอื่นใด กลับเป็นหนังที่สำรวจถึงพลังของเรื่องเล่าและภาพยนตร์ ในการทำความเข้าใจความยุ่งเหยิงของชีวิตและความทรงจำได้อย่างน่าตื่นตะลึงเสียด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะเมื่อความยุ่งเหยิงที่ว่า คือความทรงจำถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กของตัวผู้กำกับเอง
เจนนิเฟอร์ ฟ็อกซ์ (Jennifer Fox) เป็นคนทำสารคดีผู้เคยมีผลงานอย่าง Beirut: The Last Home Movie (1987) และ My Reincarnation (2011) การเล่าเรื่องเป็นความหมกมุ่นหลักของเธอมาโดยตลอด และใน The Tale ผลงานหนังฟิกชั่นเรื่องแรก ฟ็อกซ์ได้หันสายตาที่เคยแต่สอดส่องออกไปยังผู้อื่น มาดำดิ่งลงไปในความทรงจำของตัวเธอเอง แล้วพยายามเล่าเรื่องราวนั้นออกมา โดยได้นักแสดงชั้นดีอย่าง ลอรา เดิร์น (Laura Dern) มาสวมบทเป็นเสมือนร่างทรงของตัวเธอ
เรื่องราวในหนังเริ่มขึ้นเมื่อแม่ของฟ็อกซ์ (เอลเลน เบอร์สตีน) เจอเรียงความที่เธอเคยเขียนสมัยมัธยม เล่าถึงความสัมพันธ์ในช่วงซัมเมอร์ ระหว่างตัวเธอในวัย 13 กับครูสอนขี่ม้าสวยสะคราญนามมิสซิสจี (เอลิซาเบ็ธ เดบิกกี) และบิลล์ ครูฝึกวิ่งหนุ่มชู้รักของนาง (เจสัน ริตเตอร์)
สำหรับฟ็อกซ์ เธอจดจำมันในฐานะความสัมพันธ์แสนวิเศษที่เธอได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม แต่สำหรับแม่ของเธอ มันกลับดูเป็นเรื่องราวชวนช็อคว่าลูกสาวเธอโดนล่วงละเมิดทางเพศอย่างไรตอนยังเป็นเด็กเสียมากกว่า เรียงความชิ้นนี้จึงกลายมาเป็นต้นตอให้ฟ็อกซ์ได้ขุดคุ้ยเรื่องราวที่เกิดมานานแสนนานในอดีต และทำให้เธอต้องรื้อถอนเรื่องราวที่เธอพร่ำบอกตัวเองมาตลอดชีวิตเสียใหม่
นั่นทำให้ The Tale ไม่ใช่เพียงหนังบันทึกความทรงจำ (memoir) ทั่วไปที่เล่าอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับเต็มไปด้วยลีลาทางภาพยนตร์ ตามความเลี้ยวลดคดเคี้ยวของเส้นทางความทรงจำของฟ็อกซ์ และการวิเคราะห์ใคร่ครวญที่เธอมีต่อความทรงจำของตัวเอง ดังเห็นได้จากการตัดสลับไปมาระหว่างปัจจุบันกับอดีตตลอดทั้งเรื่องที่ฟ็อกซ์พยายามหาคำตอบต่อเรื่องราวทั้งหมด หรือจะเป็นหลายฉากในอดีตที่นักแสดงหันตรงมาที่กล้องและพูดคุยกับคนดูโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นมิสซิสจีกับบิลล์ที่พูดถึงเหตุผลของสิ่งที่พวกเขาทำลงไป หรือกระทั่งตัวฟ็อกซ์ในวัยเด็กเองที่พยายามให้คำอธิบายถึงตัวตนรวมไปถึงการตัดสินใจต่างๆ ของเธอ ซึ่งดูเหมือนว่าฟ็อกซ์ในวัยผู้ใหญ่ที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาอย่างโชกโชนนั้นไม่อาจจดจำตัวเองในอดีตได้อีกต่อไป
ตัวละครจากอดีตจึงไม่ได้กำลังพูดกับคนดูเท่านั้น แต่พูดตรงมายังตัวฟ็อกซ์ในปัจจุบัน และสร้างบทสนทนาโต้ตอบอยู่ในหัวของเธอเอง โดยแน่นอนว่าพวกเขาย่อมไม่ใช่ภาพแทนของตัวคนในชีวิตจริงของฟ็อกซ์ แต่เป็นตัวแทนของความทรงจำและมุมมองที่ฟ็อกซ์มีต่อพวกเขามากกว่า นั่นทำให้ในฉากที่น่าจดจำฉากหนึ่ง คือฉากเมื่อแม่ของฟ็อกซ์ยื่นรูปของเธอในวัย 13 ให้ดูว่ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ฉากในอดีตในช่วงต้นของหนังจึงเปลี่ยนตัวแสดงอย่างฉึบฉับรวดเร็ว จากเด็กหญิงที่ดูเติบโตและมั่นอกมั่นใจมากกว่า มาเป็นเด็กหญิงตัวเล็กที่ขี้อายในรูปร่างของตัวเองแทน (ซึ่งแสดงได้อย่างน่าประทับใจโดยหนูน้อย อิซาเบลล์ เนลีสส์)
ความไหลลื่น-เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอดเวลาของฉากในอดีต ไม่เพียงสะท้อนธรรมชาติของความทรงจำที่เชื่อไม่ได้เพียงเท่านั้น หากยังเป็นความพยายามของฟ็อกซ์ในการประกอบสร้างฉากในความทรงจำของตัวเองขึ้นมาให้คนดูเห็น ไปพร้อมๆ กับความมุมมองที่เธอมีต่อความทรงจำเหล่านั้น ซึ่งทำให้เธอหลงคิดมาตลอดเวลาว่าความสัมพันธ์ที่เธอในวัยเด็กมีต่อผู้ใหญ่สองคนนี้เป็นความสัมพันธ์รักใคร่แบบยินยอม
“เราเล่าเรื่องของเราเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิต” ข้อความของ โจน ดิเดียน (Joan Didion) ที่ฟ็อกซ์หยิบยืมมาใช้ในหนังจึงน่าพรั่นพรึงยิ่ง เพราะหากความเข้าใจทั่วไปที่มีต่อการเล่าเรื่อง คือมันเป็นการคลี่เอาความยุ่งเหยิงในชีวิตประจำวันมนุษย์มาทำให้เป็นเรื่องราว เพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจหรือจัดการกับปมปัญหาบางอย่างได้ง่ายขึ้น ฟ็อกซ์ก็ได้ฉายให้เห็นอีกด้านของการเล่าเรื่อง ที่เป็นไปเพื่ออำพรางความจริงและกล่อมเกลาตัวเองให้มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องทนเจ็บปวด
หากภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นไม่แปรเปลี่ยน The Tale ได้แสดงให้เห็นว่ามุมมองและการตีความเหตุการณ์นี่เองที่สร้างเรื่องราวที่ไม่เหมือนเดิม และบ่อยครั้งเราก็ตีความสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อถนอมใจตัวเราเองโดยที่เราไม่รู้ตัว เราอาจเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งดีๆ ย่อมเกิดขึ้นกับเรามากกว่าสิ่งร้ายๆ หรือเราอาจเลือกมองแต่ด้านดีของสิ่งที่เกิดกับเรา …จนกระทั่งถึงวันที่เราไม่อาจทำเช่นนั้นได้อีกต่อไป
ในวัย 40 กว่า ฟ็อกซ์จึงเพิ่งค้นพบว่าเธอได้เล่าเรื่องอันแสนสวยงามให้ตัวเองหลงเชื่อมาตลอดชีวิต เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงความจริงอันแสนเจ็บปวดว่าตัวเองเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ความจริงที่ว่าเธอถูกล่อลวงให้ยินยอมต่อการล่วงละเมิดทางเพศซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพียงเพราะผู้ใหญ่ทั้งคู่ทำให้เธอรู้สึกเป็นคนสำคัญและมอบหนทางหลีกหนีจากชีวิตในบ้านอันน่าอึดอัด ความจริงที่ได้สร้างบาดแผลซึ่งครอบงำเธอมาชั่วชีวิต เพียงแต่เธอไม่เคยได้ตระหนักถึงมันมาก่อน
จนเมื่อการเล่าเรื่องของฟ็อกซ์ค่อยๆ เผยรายละเอียดให้ได้เข้าใจและยอมรับความจริงได้มากขึ้นนี่เอง ที่บาดแผลของเธอจึงดูเหมือนจะได้รับการเยียวยาได้ แต่แน่นอนว่าหนังไม่ได้พาคนดูไปถึงจุดที่บาดแผลของเธอได้รับการเยียวยา เพราะมันสิ้นสุดลงเมื่อเธอยอมรับและเผชิญหน้ากับความจริงที่เกิดขึ้นกับเธอได้แล้วเท่านั้น ตัวหนังทิ้งคนดูไปด้วยความเจ็บปวดที่แผ่ซ่านอยู่ในสีหน้าและอากัปกิริยาของฟ็อกซ์ (ซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่านการแสดงอันแสนละเอียดลึกซึ้งของเดิร์น) พร้อมทั้งความคลุมเครือว่าเราควรรู้สึกยินดีหรือใจสลายไปกับการตระหนักถึงความจริงอันแสนเลวร้ายนี้
ในยุคที่ #MeToo ได้สร้างบทสนทนาเรื่องการล่วงละเมิดและความเท่าเทียมทางเพศกันอย่างกว้างขวาง The Tale ได้มอบเรื่องราวที่สำคัญต่อความเคลื่อนไหวนี้ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในการพูดถึงความรุนแรงทางเพศ แต่แน่นอนว่าตัวหนังเองก็เป็นมากกว่าหนังเกาะกระแส #MeToo เพียงอย่างเดียว ด้วยการสร้างฉากความทรงจำขึ้นมาใหม่ที่ถูกวิเคราะห์ สำรวจ และรื้อถอนซ้ำไปซ้ำมา แทนที่จะทำเป็นสารคดีแบบตรงไปตรงมา ฟ็อกซ์ได้สร้างผลงานที่ทั้งท้าทายพลังของสื่อเล่าเรื่อง และกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับตัวตนกับความมืดมนในชีวิตของเธอเอง
นี่จึงเป็นหนังที่สำคัญยิ่งกับตัวฟ็อกซ์เอง ราวกับว่าการสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นหนทางเดียวที่เธอจะได้เยียวยาและก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางชีวิตได้ในที่สุด
Tags: ความรัก, หนัง, ภาพยนตร์, การล่วงละเมิดทางเพศ, HBO, การล่วงละเมิดเด็ก, เจนนิเฟอร์ ฟ็อกซ์, เทศกาลหนังซันแดนซ์