(หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยใจความของภาพยนตร์)
งานศิลปะชิ้นต่อไปที่หอศิลป์กำลังจะจัดแสดง คือพื้นที่สี่เหลี่ยมว่างเปล่าบนพื้น พื้นที่สี่เหลี่ยมศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความรักความห่วงใย ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกผู้นาม
ฟังดูนามธรรม เพ้อเจ้อ คิดไปเอง แต่ความคิดไปเองนี้ก็เป็นเช่นทุกหลักการในชีวิตที่มนุษย์กำหนดขึ้น เรากำหนดพื้นที่สี่เหลี่ยมศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เช่นว่า เราเป็นคนโอบอ้อมอารี มองคนเท่ากัน ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และไม่เคยคิดร้ายกับใคร จากนั้น สิ่งที่มนุษย์กำหนดให้มีคุณค่า ได้นำคุณค่าของมันมาแว้งกัดมนุษย์กลับได้อย่างไร นั่นคือแก่นของภาพยนตร์เรื่อง The Square
หนังเล่าถึง ‘คริสเตียน’ ภัณฑารักษ์ของหอศิลป์ที่รับผิดชอบการจัดแสดงงานชิ้นนี้ ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยเรื่องยุ่งยากอย่างไม่คาดฝัน เช่นเขาเองก็งงงวยเมื่อต้องมาตอบคำถามถ้อยแถลงเว่อร์วังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเอาไว้ วันหนึ่งเขาเจอคนร้องให้ช่วยกลางถนน แม้ไม่อยากยุ่งเกี่ยวแต่เลือกไม่ได้ หลังเหตุการณ์นั้น เขาพบว่ามือถือและกระเป๋าเงินหายไป เมื่อให้ลูกน้องติดตามจีพีเอสมือถือ ถึงรู้ว่ามันอยู่ในแฟลตของคนยากจน ลูกน้องจึงออกความคิดให้เขียนจดหมายขู่ไปหย่อนในตึกเพื่อเอาของคืน โดยที่ไม่รู้ว่าจะนำเรื่องราวมาให้ เช่นเดียวกันการพยายามประชาสัมพันธ์พื้นที่ ‘จัตุรัสแห่งความห่วงใย’ ผ่านคลิปไวรัลที่เล่นแรง หรืองานเปิดตัวการแสดงที่ศิลปินแสดงสดด้วยการกลายเป็นสัตว์ป่า หรือการเผลอมีอะไรกับสาวอเมริกันที่มาสัมภาษณ์
ทุกอย่างกลายเป็นบททดสอบของชายหนุ่มเสรีนิยม ที่เชื่อมั่นในเสรีภาพการพูด ที่เข้าใจว่าตัวเองเป็นคนดิบคนดีคนหนึ่ง
ดูเหมือนงานศิลปะคือความลักลั่นย้อนแย้งในตัวมันเองเสมอ โดยเฉพาะเมื่องานศิลปะพูดถึงประเด็นใหญ่โตทางการเมือง อย่างเรื่องผู้ลี้ภัย คนยากจน ความเท่าเทียม หรือมนุษยธรรม ในหนังเรื่องนี้ หน้าหอศิลป์หรูหราใหญ่โต กำลังจัดแสดงงานที่สะท้อนให้ผู้ชมตระหนักรู้ถึงความยากจน ความไม่เท่าเทียมของมนุษยชาติ แต่ก็มีความจริงทิ่มตาว่า ที่หน้าหอศิลป์มีคนเร่ร่อนอาศัยนอนไปทั่ว มีขอทาน มีผู้อพยพ มีคนหิวโหยอยู่ตรงหน้า ให้เราเดินผ่านเข้าไปในหอศิลป์เพื่อตระหนักรู้ถึงความทุกข์ยากนั้นผ่านศิลปะอีกที และความลักลั่นย้อนแย้งนี้เองเป็นสิ่งที่หนังสำรวจตรวจสอบ
ดูเหมือนงานศิลปะคือความลักลั่นย้อนแย้งในตัวมันเองเสมอ โดยเฉพาะเมื่องานศิลปะพูดถึงประเด็นใหญ่โตทางการเมือง อย่างเรื่องผู้ลี้ภัย คนยากจน ความเท่าเทียม หรือมนุษยธรรม
หนังของรูเบน ออสต์ลันด์ (Ruben Ostlund) คือสรวงสวรรค์ของความกระอักกระอ่วนเสมอมา เขาคือคนทำหนังชาวสวีเดนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างหนังเสียดสีชนชั้นกลางไม่ไว้หน้าใคร แบบหนังของผู้กำกับชาวออสเตรียอย่าง ไมเคิล ฮาเนเก้ (Michael Haneke) (เจ้าของหนังอย่าง Hidden หรือ Amour) และคนทำหนังร่วมชาติ เจ้าของหนังตลกหน้าตายที่ทำให้มนุษย์เป็นเพียงสิ่งของประกอบฉากเพื่อพูดถึงความเย็นชาและอ่อนแออย่างน่าขำของมนุษย์เองอย่าง รอย แอนเดอร์สัน (Roy Anderson) (คนทำหนังพิลึกอย่าง Songs From The Second Floor หรือ A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence)
กล่าวให้ถูกต้องคือ เขาอยู่ระหว่างความเกรี้ยวกราดแบบปัญญาชนของคนแรก และความขำขื่นแบบศิลปินของคนที่สอง งานของเขาจึงมุ่งแสวงหาความกระอักกระอ่วนของมนุษย์ เมื่อหลักการนามธรรม เช่น ภราดรภาพ ความรักในมนุษย์ ความซื่อสัตย์ ความเป็นผู้นำ สิ่งใดๆ ก็ตามที่มนุษย์ยึดถือ กลายเป็นสถานการณ์จริงที่พุ่งเข้าโจมตีผู้คน
เมื่อนามธรรมกลายเป็นรูปธรรม เขาจับสังเกตความกระอักกระอ่วนของมนุษย์ในยามที่มนุษย์ไม่สามารถโต้ตอบอย่างตรงไปตรงมาเพราะหลักการดูจะขัดกับสัญชาตญาณแห่งการเอาตัวรอดภายใน
หนังเรื่องก่อนหน้าของเขาอย่าง Force Majeure คนที่ถูกทดสอบคือผัวและพ่อ (หรือกล่าวให้ถูก คือ ความเป็นชาย) เมื่อครอบครัวไปเที่ยวสกีในวันหยุดแล้วเกิดหิมะถล่มขณะนั่งชมวิว โดยไม่ทันตั้งตัว พ่อพระเอกทิ้งลูกเมียไว้ แล้วลนลานหนีตายไปคนเดียวตามสัญชาตญาณ หนังที่เหลือคือการทดสอบว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ในความไม่ตั้งใจนี้อย่างไร ความอ่อนแอของผู้ชายถูกเปิดโปง ถูกตีแผ่ และในที่สุด ก็ให้ทางออกที่บอกว่า ความเป็นตัวผู้นั้นกระจอกเสียยิ่งกว่าที่เราคาดคิด
ในจัตุรัสของความรักและความห่วงใยนี้มีคนสองแบบ คือคนที่อยู่ในจัตุรัสและนอกจัตุรัส เราอาจแทนค่าจัตุรัสนี้ทั้งในระดับแคบ คือ ตัวจัตุรัสเอง ตัวจัตุรัสในฐานะงานศิลปะ ตัวหอศิลป์ก็แทนพื้นที่ในจัตุรัส และอาจหมายรวมไปถึงประเทศทั้งประเทศ รัฐชาติในทุกรัฐชาติ ผู้ชมคือคนในจัตุรัส เพราะเป็นคนที่ตระหนักรู้ความมีอยู่ของจัตุรัสนี้
ในขณะที่คนที่ควรได้รับความรักและความห่วงใยที่จัตุรัสพูดถึง แท้จริงแล้วอยู่นอกจัตุรัส เป็นคนนอก เป็นผู้ไม่ได้ชมงาน เพราะคนนอกไม่จำเป็นต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของจัตุรัส ในพื้นที่ชีวิตของคนนอก จัตุรัสมีอยู่จริง แต่มีเพื่อกีดกันพวกเขาออกไป
คนนอกไม่จำเป็นต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของจัตุรัส ในพื้นที่ชีวิตของคนนอก จัตุรัสมีอยู่จริง แต่มีเพื่อกีดกันพวกเขาออกไป
ในระดับต่อมา คนในหอศิลป์ คนอย่างคริสเตียนและมิตรสหายก็อยู่ในจัตุรัสของเสรีภาพทางการพูด พวกเขามีอำนาจที่จะพูดได้ การถูกคุกคามของคริสเตียนทั้งในระดับปัจเจก (การตามทวงของที่หายไปโดยใช้จดหมายหยาบคาย) และในระดับองค์กร (คลิปไวรัลชักชวนคนมาดูงาน จัตุรัสถูกส่งต่อในฐานะคลิปที่ไร้ความรับผิดชอบและไม่มีมนุษยธรรม) จึงเป็นการเผชิญหน้าต่อสิ่งที่ตนเองแถลงเกี่ยวกับความรักความห่วงใยในจัตุรัส
เมื่อจัตุรัสขยายวงออกไป ความตระหนักรู้เป็นสิ่งไร้ความหมาย เพราะความตระหนักรู้ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติหรือพฤติกรรม การถูกคุกคามของคริสเตียนในฐานะหอศิลป์ และคริสเตียนในฐานะมนุษย์จึงเป็นภาพแทนของพื้นที่ปลอดภัยในจัตุรัสที่คนจะพูดอะไรก็ได้ แม้ไม่อาจรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดออกไปได้เลย
มันจึงล้อกันอย่างสนุกสนาน ระหว่างคลิปไวรัลเด็กขอทานผมทอง (ที่ดูเหมือนคนสวีเดน) กับเด็กเปรตผมดำ (ที่ดูเหมือนคนอพยพ) เด็กสองคนที่สลับบทบาทหน้าที่กันเมื่อเด็กผมทองทำหน้าที่สร้างความตระหนักรู้ ความน่าสงสาร ความรู้สึกที่ว่านี่อาจเกิดกับลูกหลานเราเข้าสักวัน เราอาจกลายเป็นคนอพยพ และจัตุรัสแห่งความห่วงใยที่โอบอ้อมอารีอาจทำลายเรา (และเราได้ตระหนักรู้ว่าเราต้องโอบอ้อมอารีจากใจไม่ใช่แค่คำพูด) ในขณะเดียวกัน เมื่อเราต้องเผชิญกับเด็กลูกหลานผู้อพยพที่ไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน ความโอบอ้อมอารี การปกป้องเสรีภาพในการพูด ความรักความห่วงใยใดๆ จึงไม่ถูกใช้กับเด็กเหล่านี้
หนังแทรกภาพของคนอพยพ ขอทาน คนเร่ร่อน ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเหยื่อน่าสงสารโหยหาความรักความเมตตาจากจัตุรัสแห่งความห่วงใย แต่เป็นคนที่ขอเงินตลอดเวลา น่ารำคาญ คนที่เมื่อซื้ออาหารให้กินก็จู้จี้จุกจิกไม่เอานั่นนี่ คนที่เห็นศักดิ์ศรีสำคัญกว่าสิ่งอื่น คนที่เป็นวัตถุดิบทางศิลปะ และถูกศิลปะกีดกันออกไป คนทำความสะอาดที่ไถเอากองกรวดที่เป็นงานศิลปะออกไป คนงานที่ยกรูปปั้นแล้วทำหล่นตกแตก คนไร้ความเข้าใจในศิลปะที่พูดถึงตนเอง คนนอกจัตุรัสซึ่งไม่สมควรได้รับความรักความห่วงใยหรือความเท่าเทียมใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ทำให้ฉากสำคัญในหนังสองฉากกลายเป็นฉากที่ตลกที่สุด สยองขวัญที่สุด กระอักกระอ่วนที่สุด และสามารถอธิบายถึงทุกสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้ว นั่นคือฉากงาน Q&A ของศิลปินที่เขาต้องเจอกับการถูกแทรกแซงโดยชายที่่ป่วยเป็นโรคควบคุมการพูดไม่ได้ แล้วตะโกนหยาบคายตลอดเวลา ขอดูจิ๋มพิธีกร และด่าว่างานนี้เป็นขยะอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ในขณะที่ผู้ชมชนชั้นกลางผู้แสนดีทุกคนที่เชื่อในฟรีสปีชพยายามแสดงความรักความห่วงใยในจัตุรัสแห่งหอศิลป์ด้วยการเอื้ออารีให้แก่ทุกคน แม้จะเป็นคนที่น่ารำคาญสักเพียงไหนก็ตาม
ฉากนี้ควรพิจารณาร่วมกับอีกฉากหนึ่ง นั่นคือ ฉากงานเลี้ยงที่ศิลปินเปลี่ยนตัวเองให้เป็นสัตว์ป่า (ศิลปินกลายเป็นสัตว์ป่า ย้อนทางกับสัตว์ป่าที่เป็นศิลปิน แบบลิงซิมแพนซีในบ้านสาวอเมริกันที่คริสเตียนมีอะไรด้วยแล้วทำท่าสนใจภาพวาดจนเห็นว่าลิงวาด) พร้อมกับถ้อยแถลงว่า คุณอาจซ่อนในฝูงก็ได้ แต่คุณรู้ใช่ไหมว่าจะมีคนอื่นต้องตกเป็นเหยื่อ เมื่อศิลปินเริ่มคุกคามผู้ชม งานศิลปะที่แท้จริงล้ำเส้น (เหมือนคลิปไวรัล) ออกมาปะทะกับผู้ชมจริงๆ แบบเล่นกันถึงเนื้อถึงตัว (เหยื่อรายแรกคือศิลปินในฉากแรก) ความอดทนก็ถึงที่สุด ขอบเขตอยู่ที่การควบคุมการถูกคุกคามว่าเข้ามาในจัตุรัสหรือเปล่า การตระหนักรู้จึงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการแสดงความรักความห่วงใยที่แท้จริง คนอพยพ คนยากจน คนพิการ ขอทานที่จัตุรัสกล่าวถึง จึงไม่ใช่อะไรนอกจากมโนภาพอันน่ารักน่าใคร่เกี่ยวกับผู้คน
ในขณะที่ผู้คนจริงๆ คือสัตว์ป่า ชั่วร้าย คาดเดาไม่ได้ บ้าบอ และไม่สำนึกบุญคุณ ถึงที่สุด จัตุรัสที่แท้จริงๆ จึงไม่ใช่พื้นที่แห่งความรักความห่วงใย แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนได้แสร้งว่าตนเองเชื่อมั่นในความถูกต้อง และเสรีภาพในการพูด
จัตุรัสที่แท้จริงๆ จึงไม่ใช่พื้นที่แห่งความรักความห่วงใย แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนได้แสร้งว่าตนเองเชื่อมั่นในความถูกต้อง และเสรีภาพในการพูด
อย่างไรก็ตาม แม้หนังจะเสียดสีผู้คนอย่างรุนแรง จนเหมือนเย็นชาและไร้หัวใจ หนังมีฉากเล็กๆที่งดงามซึ่งทำให้นึกถึงหนังของอากิ คอริสมากี้ (Aki KaurismakiX คนทำหนังชาวฟินแลนด์ ซึ่งตลอดหลายสิบปี เขาทำหนังเกี่ยวกับความหวังในชีวิตอันแร้นแค้นของคนเล็กคนน้อย หนังของเขาเป็นโลกกึ่งเทพนิยาย ที่มีแต่คนยากจนเท่านั้นที่ช่วยเหลือกัน ดูแลกันตามกำลัง และโลกยังมีความหวังอยู่) ในฉากนั้น คริสเตียนพลัดหลงกับลูกสาวกลางห้าง ไม่มีใครช่วยเขา เพราะทุกคนเอาแต่ดูคลิปไวรัลสร้างความตระหนักรู้ที่ทีมงานเขาทำขึ้น เว้นก็แต่ชายขอทานที่เขาไม่ยอมให้เงินคนหนึ่ง เขาขอร้องให้ชายคนนั้นดูของให้เขาขณะเขาออกไปตามหาลูกสาว และชายคนนั้นนั่งลงเฝ้าของให้
ในฉากเล็กๆ ฉากนี้เอง ความหวังเพียงเล็กน้อยได้เรืองขึ้น และแน่นอน ทั้งหมดนั้นปรากฏอยู่นอกจัตุรัสแห่งความรักและความห่วงใย
Tags: ภาพยนตร์, ศิลปะ, ผู้ลี้ภัย, ศีลธรรม, พิพิธภัณฑ์, รูเบน ออสต์ลันด์