เชื่องช้า ละเมียดละไม เหนียวข้นแต่เปราะบาง น่าจะพอเป็นคำอธิบายนิยายเรื่องนี้ได้
The Museum of Innocence ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาตุรกีเมื่อปี 2008 ผ่านมาเกือบสิบปี คนไทยจึงได้อ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย (แปลจากภาษาอังกฤษ) และเป็นเรื่องน่ายินดีที่งานของ ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนรางวัลโนเบลตีพิมพ์พร้อมกัน 2 เล่ม จากต่างสำนักพิมพ์ คือ The Museum of Innocence (สำนักพิมพ์มติชน) และ หิมะ (สำนักพิมพ์บทจร) เรื่องแรกเขาว่าเป็นนิยายรัก ส่วนอีกเรื่องเป็นนิยายการเมือง
แต่เมื่ออ่าน The Museum of Innocence จบแล้วจึงค้นพบว่านี่เป็นนิยายรักที่แทรกเรื่องการเมืองได้ชาญฉลาด ละเอียดลออเหลือร้าย ทั้งที่มีกลิ่นความรักอวลอยู่ตลอดเล่มและชูเรื่องความหลงใหลอยู่ตลอดเวลา แต่ปามุกกลับทำให้เรารับรู้ถึงสภาพสังคมการเมืองของตุรกียุค 70’s ได้อย่างกระจ่างแจ้ง สิ่งที่โดดเด่นอย่างมากคือการเล่าแบบลงรายละเอียดทุกเม็ด อธิบายฉากได้ชัดเจนเหมือนตาเห็น และแทรกบทสนทนาออกมาอย่างลงตัว
เราขออนุญาตเล่าพล็อตเรื่องให้ฟังสั้นๆ…
‘เคมาล’ ชายหนุ่มวัย 30 จากตระกูลร่ำรวย แอบเป็นชู้กับ ‘ฟูซุน’ ญาติห่างๆ ที่อายุน้อยกว่า 12 ปีและยากจน ทั้งที่เคมาลมีคู่หมั้นที่สวยและเพียบพร้อมอยู่แล้ว แต่เขาก็หลงใหลฟูซุนอย่างมาก จนก่อให้เกิดเรื่องราวสะเทือนใจในท้ายที่สุด
สิ่งที่ทำให้งานเขียนชิ้นนี้แตกต่างและเหนือชั้นคือกลวิธีเล่าเรื่อง ออร์ฮาน ปามุก ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบบุรุษที่ 1 โดยใช้คำว่า ‘ผม’ แทนตัว ‘เคมาล’ แล้วใส่ตัวเอง (ออร์ฮาน ปามุก) เข้าไปในเรื่อง เพื่อฟังเคมาลเล่าแล้วหยิบนำมาเขียนอีกที
ประโยคแรกของเรื่องเป็นประโยคที่บอกจุดไคลแมกซ์อย่างไม่กลัวสปอยล์ เพราะทั้งเรื่องเป็นการเล่าแบบย้อนความหลัง ทั้งหมดเป็นความทรงจำของเคมาล และเขาอธิบายความรู้สึกได้อย่างเข้มข้น
“ช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่ผมมีความสุขที่สุดในชีวิต แม้ตอนนั้นผมจะยังไม่รู้ตัวก็ตาม หากผมรู้ หากผมเปรมปรีด์กับเวลาแสนประเสริฐนั้น ทุกสิ่งจะต่างไปไหมหนอ ต่างสิ ถ้าผมรู้ว่านั่นเป็นเวลาแห่งความสุขสมบูรณ์แบบ ผมจะยึดมันไว้แน่น ไม่ยอมปล่อยให้หลุดมือไป…”
ฉากหลังเป็นอิสตันบูล ภายในอพาร์ตเมนต์ที่มีเสียงเด็กเตะฟุตบอลลอยขึ้นมาเสมอ เป็นรังรักของเคมาลและฟูซุน ไม่ว่าโลกภายนอกจะดำเนินไปเช่นไร ทั้งสองจะจูบกัน ร่วมรักกัน มีความสุขด้วยกันอย่างล้ำลึก เคมาลเก็บของทุกอย่างที่สะท้อนคืนวันอันหอมหวานของเขากับฟูซุน แล้วสร้างพิพิธภัณฑ์รวบรวมไว้ เขาเก็บต่างหู กระเป๋าถือ ก้นบุหรี่ที่สูบแล้วสี่พันสองร้อยสามอิบเอ็ดอัน ชุดว่ายน้ำ เข็มกลัด และอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน หนังสือเล่มนี้เปรียบเหมือนคู่มือเดินชมพิพิธภัณฑ์ เพราะเขาเขียนอธิบายว่าของชิ้นไหนสะท้อนถึงความรู้สึกตอนไหนไว้ตลอดเรื่อง เช่น
“ไม่นานสายตากังวลที่เราต่างมองกันก็ฟ้องว่าเราสองคนหวั่นใจเหลือเกินกับความยากลำบากที่เราหาใส่ตัว ฟูซุนถอดต่างหูออกทั้งสองข้าง (ข้างหนึ่งเป็นของชิ้นแรกที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ตอนนี้) วางไว้บนโต๊ะข้างเตียง”
ถ้าใครชอบก็จะชอบมาก แต่ถ้าใครเบื่อความข้นหนืดก็อาจขัดใจในหลายๆ ฉาก
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธความสุดยอดในการใช้ภาษาของ ออร์ฮาน ปามุก ได้เลย
อ่านแล้วก็อยากเดินชมพิพิธภัณฑ์จริงๆ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกจากการอ่าน และออร์ฮาน ปามุกก็ทำให้นิยายเรื่องนี้ไปไกลกว่าเรื่องเล่าด้วยการเปิด The Museum of Innocence ขึ้นมาจริงๆ ในปี 2012 ตั้งอยู่ในย่านชุคุร์จุมาของอิสตันบูล ประเทศตุรกี จนทำให้ความรัก ความปวดร้าว ความสุขที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้นดูจับต้องได้และสะเทือนใจยิ่งขึ้น
นอกจากความรักที่เป็นเส้นเรื่องหลักแล้ว ยังมีเรื่องสังคมการเมืองของตุรกีแทรกอยู่อย่างลงตัว ตุรกีในยุค 70’s เป็นช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้ามา ขณะเดียวกัน ขนบประเพณีเดิมแบบชาวตะวันออกและชาวมุสลิมก็คงอยู่เข้มข้น กลุ่มคนรวยเติบโต ตรงข้ามกับที่ยังมีคนจนอยู่มากในประเทศ ในขณะที่ผู้คนยังเคร่งศาสนา เรื่องการถือพรหมจรรย์เป็นสิ่งสำคัญของผู้หญิงตุรกี สังคมชายเป็นใหญ่ยังอยู่อย่างคงมั่น ออร์ฮาน ปามุกสะท้อนสิ่งเหล่านี้ผ่านความคิด บทพูดของตัวละคร วิธีตัดสินใจของผู้คน ฉากหลังบ้านเมือง สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ขณะเดียวกันก็บรรยายถึงความรักของเคมาลกับฟูซุนได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นความรักที่แหวกขนบจนน่าตกใจ ทั้งสองมีอะไรกันก่อนแต่งงาน ทั้งยังเป็นความสัมพันธ์ของญาติอีกด้วย (แม้จะห่างมากๆ ก็ตาม) นอกจากนี้ยังแตกต่างกันทั้งฐานะ อายุ และสังคม เรียกได้ว่าเป็นรักต้องห้ามสมบูรณ์แบบ ประเด็นแบบนี้จึงทำให้เรื่องน่าติดตาม แต่ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องแบบลงรายละเอียดยิบของปามุก อาจทำให้บางคนอดทนรอไม่ถึงความสุดยอดของเรื่อง เพราะเขาต้องการเล่าทุกอย่างให้สมจริงที่สุด ชัดเจนที่สุด จึงมีการบรรยายแบบลงลึกในความรู้สึก อย่างบทที่พูดถึงความเจ็บปวด เขาก็อธิบายความเจ็บปวดได้เป็นหน้าๆ อธิบายการรอคอยได้ทรมานกัดกินหัวใจอย่างมาก อ่านแล้วเหมือนต้องทนรอเป็นตัวละครไปด้วย ถ้าใครชอบก็จะชอบมาก แต่ถ้าใครเบื่อความข้นหนืดก็อาจขัดใจในหลายๆ ฉาก อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธความสุดยอดในการใช้ภาษาของออร์ฮาน ปามุกได้เลย
สิ่งหนึ่งที่ตราตรึงมาก คือความสวยและเสน่ห์ของฟูซุน เขาบรรยายออกมาได้งดงาม จนไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชายคนหนึ่งจะหลงรักผู้หญิงคนนี้หัวปักหัวปำ และยอมทำทุกอย่างได้ขนาดนี้
หากใครชอบนิยายรัก นี่เป็นเรื่องราวความรักที่จะติดอยู่ในใจไปอีกนาน หากชอบเรื่องสังคมการเมือง นี่เป็นเรื่องที่สะท้อนตุรกีได้อย่างถึงแก่น หากชอบอ่านหนังสือท่องเที่ยว นี่เป็นการบรรยายบ้านเมืองได้สวยสดยิ่งกว่าไกด์บุ๊กเล่มไหนๆ และหากใครชอบความไร้เดียงสา นี่เป็นเรื่องของคนไร้เดียงสาที่มีเสน่ห์มากๆ
พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (The Museum of Innocence)
ออร์ฮาน ปามุก เขียน
นพมาส แววหงส์ แปล
นันท์ชนก คามชิตานนท์ บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์มติชน
จำนวน 624 หน้า ราคา 620 บาท
DID YOU KNOW?
- พิพิธภัณฑ์ที่ปามุกสร้างขึ้น (The Museum of Innocence) ได้รับรางวัล European Museum of the Year Award (EMYA) ในปี 2014
- ปามุกได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีเมื่อปี 2006 และเป็นผู้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ งานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 60 ภาษา ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในอิสตันบูล เขาเขียนหนังสือมาตลอด 40 ปี และไม่เคยทำอาชีพอื่นเลย