หนังเกี่ยวกับอะไร

หนังสร้างจากเรื่องจริงของ ‘วินนี ปาเซียนซา’ (ไมล์ส เทลเลอร์) นักมวยดีกรีแชมป์โลกที่เพิ่งแพ้มาติดต่อกัน 3 ไฟลต์ จนผู้จัดการให้สัมภาษณ์ว่าเขาควรแขวนนวมไปทำอย่างอื่น แต่เขาขอชกอีกครั้งโดยได้ไปฝึกกับ ‘เควิน’ (แอรอน เอ็กฮาร์ต) อดีตเทรนเนอร์ของ ไมค์ ไทสัน ซึ่งได้แนะนำให้เขาลองเสี่ยงเพิ่มน้ำหนักเพื่อข้ามทีเดียว 2 รุ่นไปขึ้นชก และเขาก็เป็นแชมป์โลก แต่เส้นทางที่ดูจะไปได้ด้วยดีต้องจบลงเมื่อเขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนคอหัก แพทย์ลงความเห็นว่าเขาอาจจะเดินไม่ได้และแนะนำให้เขาผ่าตัดกระดูกสันหลัง แต่เขาเลือกจะเสี่ยงใส่เฮโล (อุปกรณ์ที่ป้องกันเส้นกระดูกสันหลังฉีกขาด) เพื่อรอวันร่างกายรักษาตัวเอง ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะกลับมาชกมวยได้อีกครั้ง แต่เขาก็ทำได้

สิ่งที่ควรรู้ก่อนไปดูหนัง

ทั้งลำดับการชก ยกที่ชนะ และคู่ชกในหนังไม่ตรงกับประวัติการชกของ วินนี ปาเซียนซา ในวิกิพีเดีย แต่การกลับมาชกหลังประสบอุบัติเหตุคือเรื่องจริง

สิ่งที่ชอบที่สุดจากหนัง

การเน้นย้ำถึงการเดิมพัน หนังจงใจใส่ฉากโชว์ให้เห็นวิธีคิดในการเล่นพนันของเขา รวมถึงการตัดสินใจเดิมพันแต่ละครั้ง ตั้งแต่เดิมพันขยับขึ้นชกข้ามที 2 รุ่น (ซึ่งพ่อเขาเองยังแสดงถึงความกังวล), เขาไม่เชื่อคำแนะนำของหมอและการตัดสินใจของแม่ที่ให้ผ่าตัด และเลือกเดิมพันใส่เฮโล เพราะเชื่อว่าร่างกายตัวเองสามารถกลับมาเป็นปกติได้, และเมื่อเขาอยู่ในช่วงพักฟื้น ซึ่งต้องใส่เฮโลตลอดเวลา เขาก็ยังเดิมพันความเสี่ยงด้วยชีวิตอีกครั้ง โดยการออกกำลังกายฟิตซ้อมให้พร้อมขึ้นชก แม้เทรนเนอร์ของเขาจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในหนังว่าผู้กำกับจงใจเน้นย้ำถึงคำว่า เดิมพัน และมันยิ่งชัดเจนถึงทัศนคติของเขาในการสัมภาษณ์ก่อนขึ้นชกว่าเขาพร้อมตายบนเวที สิ่งนี้ทำให้ธีมหลักของหนังดูมีอะไรมากกว่าจะเอาประวัติมาเล่าเพื่อสร้างกำลังใจแก่ผู้ชม

เพราะเรามองว่าการตัดสินใจเดิมพันของปาเซียนซาอาจมาจากการที่เขามองปลายอุโมงค์ว่า การชกมวยคือทางเลือกที่ดีที่สุด แม้หนังจะไม่ได้เล่าปูมหลังหรือการศึกษาของเขา แต่จากการตัดพ้อว่าหากไม่ชกมวย เขาก็คงเป็นได้แค่บาร์เทนเดอร์ หรือโค้ชมวย มันยิ่งชัดเจนว่าเขาไม่ได้มีทางเลือกในชีวิตมากนัก ดูจากฐานะแล้วคงยังไม่ได้มีเงินเก็บเพียงพอจะตั้งตัวด้วยซ้ำ ดังนั้นการตัดสินใจแต่ละก้าวหลังอุบัติเหตุจึงเป็นเพราะเขามองชีวิตตัวเองว่าอยู่ได้ด้วยการเป็นนักมวย เขายอมตายดีกว่าต้องกลายเป็นคนธรรมดา ที่พอแก่ไปก็ทำได้แค่นั่งเล่าความหลังสมัยเคยเป็นแชมป์โลก ซึ่งการเดิมพันของเขาโชคดีที่คนรอบตัวช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะบทบาทของเควินในฐานะโค้ชที่ช่วยดูแลและให้คำแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมในช่วงพักฟื้นร่างกาย

สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดจากหนัง

จุดน่าเสียดายของหนังคือ ดูเหมือนผู้กำกับอย่าง เบน ยังเกอร์ จะไม่ทะเยอทะยานในการขยายขอบเขตการเล่าเรื่องสักเท่าไหร่ ทำให้เส้นเรื่องของหนังเป็นเส้นตรงที่แข็งทื่อมากๆ คือเล่าแค่การกลับมาของปาเซียนซาที่น่าเหลือเชื่อเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ให้น้ำหนักองค์ประกอบต่างๆ ที่รายล้อม (เจ็บหนัก, โปรโมเตอร์อยากให้แพ้, อยากให้สละแชมป์ หรือครอบครัวกลัวต้องเจ็บอีกครั้ง)

เราเรียนรู้อะไรจากหนัง

เป็นเรื่องดีที่เราจะเอาชีวิตจริงของ วินนี ปาเซียนซา มาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ต้องไม่ลืมถึงเดิมพันที่เขาเสี่ยงแลกมาด้วยเช่นกัน ฟังดูใจร้าย แต่เราไม่อยากให้ทุกคนเอาชีวิตไปยึดติดกับอะไรเพียงอย่างเดียว ในกรณีของวินนี มันคือการเสี่ยงที่เดิมพันด้วยชีวิต ซึ่งต้องบอกว่าเขาโชคดีและแข็งแกร่งจริง จึงสามารถรอดพ้นวิกฤติแล้วกลับมาขึ้นชกอาชีพอีกครั้งได้อย่างสวยหรู แต่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีได้เหมือนเขา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกคนควรจดจำไว้คือ ถ้าหากเราต้องป่วยหรือบาดเจ็บอะไร เราต้องมีกำลังใจในการอยากมีชีวิตอยู่ อย่าพาจิตใจตัวเองไปกังวลกับสภาพร่างกาย เพราะมันจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากหนัง

เพื่อท่วงท่าลีลาการชกที่สมจริงของ ไมล์ส เทลเลอร์ เขาต้องไปเก็บตัวฝึกซ้อมกับ ดาร์เรลล์ ฟอสเตอร์ เทรนเนอร์ของ ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด ซึ่งเคยฝึกซ้อมให้ วิล สมิธ ตอนรับบท มูฮัมหมัด อาลี

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

ถ้าให้เฉพาะเจาะจง คงเหมาะกับนักกีฬาสมัครเล่นและอาชีพทุกคนในเกือบทุกชนิดกีฬาที่ต้องใช้ร่างกายในการแข่งขัน ซึ่งย่อมไม่มีใครอยากเกิดอาการบาดเจ็บ แต่บางครั้งเมื่อบาดแผลเกิดขึ้น นักกีฬาทั้งหลายมักจะเกิดความวิตกกังวลว่าจะกลับไปเล่นกีฬาเหมือนเดิมได้ไหม ซึ่งหนึ่งในคำตอบอาจอยู่ในหนังเรื่องนี้

ควรชวนใครไปดู

ในแง่หนึ่งของหนังก็สร้างกำลังใจให้คนเรามองเห็นคุณค่าของตัวเอง แม้บางครั้งอาจจะต้องเดิมพันบางสิ่งบางอย่าง ดังนั้นลองชวนคนที่เขากำลังรู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตตอนนี้ให้มาดู Bleed for This กันดีกว่า

ความคุ้มค่าต่อเงินที่เสียไป

สัปดาห์นี้มีหนังที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น A Monster Calls, Nocturnal Animals รวมถึง Bleed for This ด้วย ซึ่งสำหรับเราแล้ว ถ้าจะต้องเลือกลำดับการดูจริงๆ เราจะเริ่มต้นจากหนังที่มันมอบประสบการณ์ใหม่ๆ จากการเขียนบทที่มีชั้นเชิงอย่าง 2 เรื่องแรกมากกว่า แล้วค่อยมาตามเก็บ Bleed for This ทีหลัง ด้วยเหตุผลหลักๆ คือมันไม่ได้ให้ความแตกต่างจากหนังชกมวยที่เคยทำกันมาก่อนหน้านี้

ขอ 3 พยางค์จากหนังเรื่องนี้

โคตร เหลือ เชื่อ