ในปี 2007 รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนจะปรับปรุงเขตยองซาน (Yongsan) จากย่านที่อยู่อาศัยของชาวบ้านให้เป็นเมืองใหม่ การเวนคืนที่ดินให้ค่าชดเชยอย่างไม่สมเหตุสมผล การรื้อไล่ชาวบ้านออกจากที่พักอาศัยเริ่มต้นในปี 2008 ผู้ชุมนุมไม่เพียงมาจากเขตยองซาน หากยังรวมเอาผู้คนจากเขตอื่นๆ ที่ถูกรัฐกระทำแบบเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านออกมาประท้วงยืดเยื้อลุกลาม จนกลุ่มผู้ชุมนุมบุกยึดตึกร้างใช้เป็นศูนย์บัญชาการ ที่บนหลังคาตึก พวกเขาสร้างโกดังขึ้นมาอย่างง่ายๆ เพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการ
การประท้วงเป็นไปอย่างดุเดือด จนในวันที่ 20 มกราคมปี 2009 รัฐบาลตัดสินใจใช้กำลังเข้าปราบปราม โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ส่งหน่วยสวาทขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ ไปยังยอดตึก มีการยิงเครื่องฉีดน้ำความแรงสูงใส่ผู้ชุมนุมซึ่งปาระเบิดขวดใส่ตำรวจเพื่อตอบโต้ ตามด้วยเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเมื่อเพลิงโหมไหม้โกดัง เหตุการณ์จบลงด้วยความสูญเสีย ผู้ชุมนุมห้ารายถูกไฟคลอกตาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตหนึ่งนาย
หลังการสอบสวนในชั้นศาล โดยไม่มีหลักฐานเพียงพอ ศาลตัดสินว่าเหตุการณ์ไฟไหม้นั้นเกิดจากระเบิดขวดของผู้ชุมนุมเอง ไม่ได้มาจากการกระทำเกินกว่าเหตุโดยรัฐ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะแกนนำต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลาสี่ปี ขณะที่นายตำรวจผู้นำการสลายการชุมนุมได้เลื่อนขั้นอย่างต่อเนื่อง
Kim Il-Ran และ Hong Ji-Yoo เป็นคนทำหนังสารคดีที่ติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้น ในปี 2011 เขาและเธอทำสารคดีเรื่อง Two Doors ที่โฟกัสเหตุการณ์ไปยังการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ และในปีนี้พวกเขาก็กลับมาทำสารคดีที่เป็นเหมือนภาคต่อในชื่อ The Remnants โดยเปลี่ยนมุมจากรัฐมาเป็นการตามติดชีวิตของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะแกนนำการประท้วง ซึ่งไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดๆ มากไปกว่าความล่มสลายในชีวิตของพวกเขาเองอย่างไม่อาจหวนกลับ
โดยรูปแบบแล้ว The Remnants เป็นงานสารคดีในขนบที่เดินประเด็นผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนไปเรื่อยๆ ตัดสลับกับฟุตเตจจากเหตุการณ์ในอดีต ผู้ถูกสัมภาษณ์มีตั้งแต่ หัวหน้าลี-ผู้นำการชุมนุมที่ถูกลงโทษหนักกว่าใครเพื่อน ไม่เพียงแค่ถูกจำคุก แต่ต้องเสียพ่อที่เป็นผู้ร่วมชุมนุมไปในกองไฟ บาปผิดติดตัวของเขาคือการคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าเขาเลือกอีกทางหนึ่ง พ่อของเขาก็คงไม่ต้องตาย หรือผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ที่มีตั้งแต่คนจากเขตอื่นที่มาช่วยสนับสนุน ถูกจับติดคุกโดยไม่รู้ว่าภรรยาล้มป่วย หลังออกจากคุก เขาทุ่มเวลาทั้งหมดดูแลภรรยาที่ป่วยเป็นมะเร็ง สูญเสียโลกทั้งใบให้กับการต่อสู้ ผู้ร่วมชุมนุมอีกคนที่กลายเป็นคนติดเหล้าเศร้าซึม บางคนก็ไม่อาจกลับเข้าสังคมได้ พวกเขาใช้ชีวิตเยี่ยงอาชญากรทั้งที่เป็นผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง
แอกของการต่อต้านไม่ได้นำมาซึ่งวีรบุรุษอย่างที่เราเข้าใจกัน หากนำมาซึ่งความพินาศของชีวิตในระดับปัจเจก ถ้าไม่สู้ก็ถูกขับไล่อย่างไร้อำนาจต่อรอง หากเมื่อลุกขึ้นสู้ก็กลายเป็นอาชญากร นี่คือผลลัพธ์ของการต่อต้านรัฐ
แอกของการต่อต้านไม่ได้นำมาซึ่งวีรบุรุษอย่างที่เราเข้าใจกัน หากนำมาซึ่งความพินาศของชีวิตในระดับปัจเจก
ไม่มีวีรบุรุษหลงเหลือ
อดีตผู้ชุมนุมอาจยังคงรวมตัวกันเพื่อรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวทุกปี หรือออกไปประท้วงประณามเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ดิบได้ดีทั้งที่เคยมือเปื้อนเลือด แต่ถึงที่สุดทุกคนล้วนกลับมาสู่ตำแหน่งแห่งที่ของปัจเจกผู้โดดเดี่ยว อดีตคนคุกที่พยายามจะมีชีวิตใหม่ไปตามทางที่ตัวเองพอจะเลือกได้
ดูเหมือนราคาของการเป็นแกนนำการประท้วงจะสูงเกินไป หนังไม่เพียงแต่พาเราไปสำรวจตรวจสอบความล่มสลายของชีวิตหลังการชุมนุมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หนังพาเราย้อนกลับไปยังสิ่งสำคัญที่สุดของทุกประวัติศาสตร์บาดแผล นั่นคือการกลับไปชำระสะสางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การเผชิญหน้ากับอดีตในฐานะข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความทรงจำ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการก้าวต่อไปสู่อนาคต
หนังพาเราไปพบกับผู้ชุมนุมที่เชื่อว่าหนึ่งในผู้ชุมนุมเป็นคนช่วยชีวิตเขา ตายแทนเขา บาปผิดติดตัวของเขาคือการที่เพื่อนต้องมาตายแทน ก่อนที่จะพบว่าอันที่จริงไม่ใช่คนคนนั้นที่ช่วยเขา แต่เป็นคนอื่น เขาไม่ได้ทำให้เพื่อนต้องตาย เช่นเดียวกันกับที่หัวหน้าลีถูกกล่าวหาว่า เขาอาจเป็นคนที่ทำให้พ่อตัวเองต้องตายเพราะหนีออกมาก่อน หนังพาเราไปร่วมวิเคราะห์หลักฐานจากภาพวิดีโอที่หลงเหลืออยู่ เพื่อที่จะพบว่าความทรงจำของแต่ละคนนั้นซ้อนทับและปะปนกัน ทั้งจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและความเชื่อ ถึงที่สุดความจริงจึงเป็นเพียงชิ้นส่วนความทรงจำผิดๆ ถูกๆ บาปในใจผิดๆ ถูกๆ ที่แต่ละคนปะติดปะต่อขึ้น และแบกเอาไว้
ขยับไปไกลกว่านั้น หนังค่อยๆ ฉายภาพรอยปริแตกในตัวขบวนการเอง ผู้ชุมนุมบางคนกล่าวโทษหัวหน้าว่าพาคนไปตาย ฝ่ายหัวหน้ามองว่าผู้ชุมนุมเหล่านี้ไม่ได้นัดเจอด้วยเป้าหมายเพื่อการชุมนุม แต่นัดกันสังสรรค์กินดื่ม เมาแล้วโวยวายถามถึงความอยุติธรรมโดยไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีสิทธิอะไรที่พวกเขาจะเอาภาพของการชุมนุมอันบริสุทธิ์และก้าวหน้าไปใช้ ถึงที่สุดมันนำไปสู่คำถามว่าใครกันแน่ครอบครองอำนาจแห่งการเป็นเหยื่อ ใครที่มีสิทธิ์เอาภาพของการชุมนุมไปใช้แทนตัวเอง คนธรรมดา แกนนำ หรือผู้ได้รับผลกระทบ หนังค่อยๆ แสดงให้เราเห็นว่า แต่ละคนมีความทรงจำต่อการชุมนุมต่างกัน รับรู้การชุมนุมที่ตนเข้าร่วมแตกต่างกัน การแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงแตกต่างกันไปด้วย แม้เหตุการณ์จะจบลงไปแล้ว แต่มันไม่มีข้อยุติที่แท้จริง มีเพียงรอยแตกหักในความเชื่อของแต่ละคนที่ประสานคืนไม่ได้
แม้เหตุการณ์จะจบลงไปแล้ว แต่มันไม่มีข้อยุติที่แท้จริง มีเพียงรอยแตกหักในความเชื่อของแต่ละคนที่ประสานคืนไม่ได้
แล้วหนังก็พาเรากลับไปยังยองซานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะพบว่าในที่สุดโครงการเมืองใหม่ก็ไม่ได้ถูกสร้าง ตึกหลังนั้นถูกทุบทำลาย พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมไปแล้วนั้นถึงที่สุดกลายเป็นลานรกร้างสำหรับจอดรถ การต่อสู้ การเสียสละ ความตาย ทุกอย่างถูกเวลากลืนเกลี่ยให้จางลง หกปีล่วงผ่าน ไม่มีใครจดจำเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ยองซานอีกแล้ว มีแต่เพียงเหยื่อที่สูญเสียครอบครัว ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต หรือแม้แต่ชีวิตที่เหลือเท่านั้น ที่ยังจำมันได้
นี่อาจเป็นสารคดีที่ไม่มีอะไรพิเศษในเชิงเทคนิคหรือความเป็นกวี อีกทั้งไม่ใช่สารคดีจำพวกขุดคุ้ยข้อมูลเพื่อท้าทายความจริงฉบับของรัฐ แต่มันเป็นสารคดีที่มุ่งหมายสำรวจชีิวิตของผู้คน ทุบทำลายภาพฝันโรแมนติกของการเป็นผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐ เปิดเผยให้เห็นสัมภาระของนักประท้วง ไปไกลกว่านั้น มันท้าทายต่อความคิดที่ว่า การชุมนุมเป็นพลังมวลชนที่สมัครสมานสามัคคี ความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นเป็นจุดอ่อนที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้น
แต่ผู้ชุมนุมไม่ใช่พหูพจน์ไร้ใบหน้า
พวกเขาล้วนมีเป้าประสงค์และจุดหมายของตนเอง ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และจำเป็นต้องมี การดิสเครดิตว่าการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมขัดแย้งกันเองเป็นการชุมนุมที่ไร้คุณค่าจึงกลายเป็นรูปแบบการพูดที่ไร้เดียงสาที่สุด เฉกเช่นเดียวกับความเชื่อว่า รัฐชาติที่ดี สังคมที่ดี คือสังคมที่สงบสุขปราศจากข้อขัดแย้ง
เพราะเราจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเราอยู่ในสังคมของการกำกับควบคุม มากกว่าอยู่ในสังคมที่ผู้คนสามารถเห็นต่างกันได้
Tags: สารคดี, Protest, ประวัติศาสตร์, The Remnants, Kim Il-Ran, Hong Ji-Yoo, Yongsan, การชุมนุมประท้วง, ยองซาน, เกาหลีใต้, ภาพยนตร์, อำนาจรัฐ