“เราเล่าเรื่องผู้ชายคนหนึ่งกับการเดินทางของเขา”
โดนัท – มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล กล่าวถึงแนวคิดในการถ่ายทอดเรื่องราวภาพยนตร์สารคดี บันทึกทางไกล…ถึงพ่อ (The Journey) ซึ่งเธอเป็นทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และผู้เขียนบทภาพยนตร์
เนื่องจากเป็นการเล่าเรื่องเส้นทางชีวิตพระมหากษัตริย์ที่คนไทยเคารพรัก แต่หากต้องถ่ายทอดเป็นภาษาหนังซึ่งเป็นภาษาสากล การกลับสู่วิถีการเล่าที่สุดเรียบง่ายจริงใจก็เพียงพอ เพื่อทำให้ผู้ชมได้สัมผัส ‘ความรู้สึก’ ที่มีปลายทางเป็นความเข้าใจอันลึกซึ้ง ว่าทำไมกษัตริย์พระองค์นี้จึงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย
ภาพยนตร์เรื่องนี้รวบรวมเรื่องราวการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 นับแต่ พ.ศ. 2476-2494 เล่าผ่านพระราชหัตถเลขาและไปรษณียบัตร รวมถึงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ วิดีทัศน์พระราชทานสัมภาษณ์ และการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่เคยถวายงานพระองค์ จากเมื่อครั้งเสด็จประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งเดินทางมาถึงประเทศไทย
การเดินทางในภาพยนตร์กินเวลายาวนาน แต่การทำภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาสร้างอันรวบรัด ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ นอกจากโดนัทแล้วยังมีกำลังหลักที่ประกอบไปด้วย โบ-พรมนัส รัตนวิชช์ โปรดิวเซอร์และผู้เขียนบท ซึ่งเคยทำงานด้านภาพยนตร์ในฮอลลีวูด สเตฟาน ลอมแบร์ โปรดิวเซอร์รายการสารคดีชาวฝรั่งเศส และลีซองดร์ ไซไรดารีส บุตรชายของนายเกลย์อง เซไรดารีส อดีตครูที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการผลิต
การเดินทางของเรื่องราว
การเดินทางของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 วันที่ประชาชนชาวไทยได้รับรู้ข่าวการสวรรคต
สิ่งแรกคือความเศร้าที่เกาะกุมในใจเช่นเดียวกับที่หลายๆ คนต้องประสบ แต่สิ่งที่ตามมา คือแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ภาพยนตร์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9
“บังเอิญวันนั้นอยู่กับโบ (พรมนัส -โปรดิวเซอร์) และบังเอิญอีกว่า ตอนนั้นเรามีตั๋วไปยุโรป เราก็เลยเริ่มฟุ้งซ่าน บอกโบว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง และเพื่อนเรียนมหาลัยของโดนัทเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ หาทางให้โดนัทได้เจอคุณลีซองดร์ เขาก็เสนอว่าจะพาไปดูสถานที่ต่างๆ เราก็เลยเริ่มทำการบ้าน และหาข้อมูล ซึ่งคุณลีซองดร์เองก็ได้ออกหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ร.9 และเจ้านายไทยในโลซานน์มาแล้วก่อนหน้านี้”
จากนั้นมา ทีมงานจึงลงมือค้นข้อมูล ติดต่อหน่วยงานต่างๆ เช่น หอภาพในสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส เพื่อนำเอาภาพเก่าๆ มาจากคลังข้อมูล และเดินทางไปยังสถานที่จริง ประหนึ่งการตามรอย
เนื้อหาในภาพยนตร์จึงมีทั้งบรรยากาศในสถานที่จริง หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภาพเก่าๆ ที่หาดูได้ยาก และบทสัมภาษณ์ผู้คนเติมเข้ามาเพื่อทำให้เราเข้าใจบริบทของหลักฐานเหล่านั้นมากขึ้น
“นี่ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างภาพยนตร์ แต่เป็นโปรเจ็กต์ศิลปะที่อยู่บนพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ผมร่วมมือด้วยความเต็มใจ เพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้” ลีซองดร์ เซไรดารีส อธิบายเหตุผลที่ทำให้เขายินดีสนับสนุนทีมงาน ทั้งในฐานะเป็นผู้ให้ข้อมูล และคอยประสานงานกับองค์กรต่างๆ เพื่อนำหลักฐานมาใช้ในการถ่ายทำเพิ่มเติม
“และผมมองว่าผมควรทำมัน ทั้งเพื่อที่จะให้คนไทยได้รับรู้ และเพื่อให้คนในประเทศอื่นได้เข้าใจเรื่องราวส่วนนี้มากขึ้น”
เส้นทางสู่อดีต ปลายทางที่ยังภักดี
โดนัทเล่าว่าช่วงหลังมานี้เธอสนใจดูภาพยนตร์สารคดีมากขึ้น เพราะทั้งสนุกและได้ความรู้ แต่กับการเขียนบทสารคดีที่เล่าเรื่องกษัตริย์ของคนไทย นับเป็นเรื่องท้าทาย
“ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ก็มีความยาก มีความเฉพาะตัวของตัวเองอยู่ ตรงที่ว่าประเทศเรามีพระมหากษัตริย์มายาวนาน เราเคารพยกย่อง และมีราชาศัพท์ไว้ใช้โดยเฉพาะด้วย เพราะฉะนั้นเวลาเราจะเล่าเป็นภาษาหนัง หากจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก็จะนึกไม่ออกว่าจะเล่าอย่างไร”
เธอกับทีมงานจึงตัดสินใจเล่าเรื่องด้วยความเรียบง่าย เล่าถึงการเดินทางของชายคนหนึ่ง ที่มีความคิด ความฝัน ความหลงใหล และความรัก
“การเดินทางตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ การเดินทางเป็นพันๆ กิโลเมตร การเดินทางที่ไม่เคยหยุดพักเพื่อจุดหมายปลายทางคือประชาชนชาวไทย
“เมื่อได้อ่านบันทึกการเดินทางของท่านก็รู้สึกว่านี่เป็นข้อมูลใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน สำหรับโดนัท การเดินทางทำให้คนเราเปลี่ยน ทำให้มองโลกเปลี่ยนไป และสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ โดนัทก็เลยอยากรู้ว่า แล้วในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเป็นนักเดินทางแบบไหน ท่านบันทึกอะไรไว้ เพราะในสมัยก่อน จากประเทศไทยไปสวิตเซอร์แลนด์ ถ้าเดินทางด้วยเรือก็ใช้เวลา 30 วัน ใช้เวลาและใช้ยานพาหนะหลากหลาย เราก็เลยอยากรู้ว่าระหว่างเดินทาง ท่านทำอะไร ท่านคิดอะไร และเห็นอะไร”
แม้บรรดาภาพยนตร์หรือรายการสารคดีในปัจจุบันจะสนุกสนานด้วยกลเม็ดการเล่าเรื่องต่างๆ แต่กับสารคดีที่ต้องการความเที่ยงตรงทางประวัติศาสตร์ ทีมงานก็มีข้อจำกัดที่จะต้องยอมรับ
“สารคดีเรื่องนี้มีความยากและความง่ายอยู่ในตัว ความง่ายก็คือ เรามีไทม์ไลน์อยู่แล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ความยากก็คือเราไม่สามารถเขียนเส้นเรื่องเพิ่มได้ เพราะเดี๋ยวนี้ สารคดีมีการเขียนเส้นเรื่องเพิ่มบ้าง แต่เราไม่สามารถทำอย่างนั้น เพราะว่าทุกอย่างต้องถูกต้อง และคงไว้ทั้งราชาศัพท์ซึ่งใช้ต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา และชื่อของพระองค์ในขณะนั้นด้วย ซึ่งตรงนี้ก็จะมีความซับซ้อน”
ดนตรีประกอบที่ไพเราะเบิกบาน ภาพฉากสวยงามในสถานที่ต่างๆ ระหว่างการเดินทาง คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในตัวอย่างภาพยนตร์ ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายแก่สาธารณชนในวันที่ 12 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป
“ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราว แต่คือความรู้สึกที่ได้รับจากภาพยนตร์ และก็ไม่ใช่แค่อารมณ์ธรรมดา แต่คือความรู้สึกที่กลั่นกรองออกมาหลังจากได้ดู” สเตฟาน ลอมแบร์ กล่าวเสริม ในฐานะชาวต่างชาติที่มองว่า แม้ไม่รู้ที่มาของภาพยนตร์ แต่ก็ ‘รู้สึก’ อะไรบางอย่างได้ไม่ยาก
โดนัทกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางทำภาพยนตร์เรื่องนี้ คือข้อเท็จจริงที่ว่า “นักเดินทางเขาจะพูดกันว่าจุดหมายปลายทางไม่สำคัญเท่าระหว่างทาง แต่สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 ระหว่างทางไม่สำคัญเท่าจุดหมาย เพราะทุกครั้งที่ท่านเดินทาง ท่านไปเพื่อประชาชนของท่าน จุดหมายปลายทางจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”
FACT BOX:
ผู้สนใจสามารถติดตามและรับชมภาพยนตร์สารคดี บันทึกทางไกล…ถึงพ่อ (The Journey) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามช่องทางและรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- ระหว่างวันที่ 12-15 ตุลาคม 2560 ณ โรงภาพยนตร์เอส เอฟ ทั่วประเทศ โดยในวันที่ 12-15 ตุลาคม ฉายที่โรงภาพยนตร์เอส เอฟ ในเขตกรุงเทพฯ และ วันที่ 13-14 ฉายที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ทั่วประเทศ ดูรอบฉายที่ sfcinemacity.com
- ระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคม 2560 ณ ห้องออดิทอเรียมหอศิลปกรุงเทพฯ จำนวนทั้งหมด 6 รอบ โดยรอบฉายในวันที่ 12 ตุลาคม ได้แก่ 13.00 น. 15.00 น. และ 19.00 น. และรอบฉายในวันที่ 13 ตุลาคม ได้แก่ 15.00 น. 17.00 น. และ 19.00 น. หลังการฉายรอบสุดท้ายมี Q&A กับผู้กำกับภาพยนตร์
- ระหว่างวันที่ 20-28 ตุลาคม 2560 ณ แบงค็อก สกรีนนิง รูม (Bangkok Screening Room) ศาลาแดง ทั้งหมด 9 รอบ ดูรอบฉายที่ bkksr.com
- ฉายบนเที่ยวบินสายการบินไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี
- วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2560 เวลา 11.00-12.00 น. และ วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2560 เวลา 20.30-21.30 น. รับชมผ่านทางช่อง GMM25
- วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2560 เวลา 11.00-12.00 น. วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2560 เวลา 21.30-22.30 น. และวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2560 เวลา 22.00.23.00 น. รับชมผ่านทางช่องอัมรินทร์ ทีวี