‘The Pool นรก 6 เมตร’ หนังเรื่องล่าสุดของค่าย T Moment – ค่ายที่กล้าทำหนังออกมาอย่างแหวกแนวฝ่ากระแสเรื่องอื่นๆ หนังเล่าเรื่องราวของเดย์ (เคน ธีร์เดช) ฝ่ายอาร์ตของกองถ่ายโฆษณา ที่ต้องอยู่เก็บของที่สระน้ำขนาดใหญ่หลังเลิกกอง เขาหลับไปบนแพยางในสระหลังทำงานหนักมาทั้งคืน ก่อนจะรู้ว่าเพื่อนร่วมงานคนสุดท้ายที่เพิ่งกลับไปได้ปล่อยน้ำออกจากสระไปแล้ว ในขณะที่ระดับน้ำลดลงเรื่อยๆ จนเขาขึ้นจากสระไม่ได้ ก้อย (เกรซ รัชย์ณมนทร์) แฟนสาวของเดย์มาหาที่สระและกระโดดลงมาจากแท่นกระโดด แต่ด้วยเสียงห้ามของเดย์ทำให้ก้อยเสียหลักล้มจนบาดเจ็บสาหัสอยู่ในสระ ทั้งสองต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดจากพื้นที่ปิด ในขณะที่มีสัตว์ร้ายจ้องรอเล่นงานพวกเขาอยู่ในนั้นด้วย

หรือสระว่ายน้ำคือวังวนเดิมๆ ของชนชั้นกลาง?

(ข้อความต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง)

ตลอดทั้งเรื่อง หนังตัดสลับระหว่างการเอาตัวรอดในสระ กับชีวิตและทัศนคติของเดย์ต่อการมีลูก เขาบอกว่าคนระดับเขาไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้หากแฟนตัวเองท้องขึ้นมา และคิดว่าจะให้เอาเด็กออก ในแง่หนึ่ง สระน้ำที่ไม่มีบันได อดทำให้ผู้เขียนเชื่อมโยงไม่ได้ว่าเป็นเสมือนกับดักของชนชั้นกลางที่มักจะรู้สึกว่าตน “ดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว” โดยเฉพาะเดย์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นชนชั้นกลางค่อนล่างที่ยังไม่มีอาชีพมั่นคง แม้เขาจะมีความรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าตัวเองสามารถดีกว่านี้ได้ แต่ก็ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน และไม่สามารถรับภาระใดๆ นอกเหนือจากชีวิตของตัวเองและคู่รักได้

ฉากหนึ่งที่เป็นซีนอารมณ์ของเรื่องคือฉากที่ก้อยบอกให้เดย์สร้างเรื่องจดจำให้ลูก (ซึ่งกำลังอยู่ในท้องก้อย) ภูมิใจด้วยการพาทุกคนขึ้นจากสระ นั่นทำให้เดย์ฉุกคิดขึ้นมาในฐานะพ่อคน ว่าเขามีอีกหนึ่งชีวิตให้ต้องดูแล หนังตัดภาพให้เห็นครอบครัวที่มีความสุขของเดย์และก้อย และมีภาพของเดย์ที่ดูเหมือนจะเลื่อนขึ้นไปเป็นชนชั้นกลางค่อนสูงแล้ว ซึ่งทำให้เดย์คิดหาวิธีเอาตัวรอดต่อไป

สิ่งที่ทำให้เดย์ไม่ยอมแพ้ ก็น่าจะเป็นลูกและความฝันถึงครอบครัวอันเพียบพร้อมนี่เอง โดยที่ความฝันใฝ่ส่วนตนของเขาที่เกี่ยวกับตัวเขาล้วนๆ ไม่ได้มีบทบาทถึงเพียงนั้น

จึงน่าสนใจที่หนังเลือกยกย่อง ‘สถาบันครอบครัว’ อย่างเต็มที่ ให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการต่อสู้กระเสือกกระสน และเป็นแรงบันดาลใจขั้นสูงที่จะทำให้ชนชั้นใดๆ ต่อสู้ให้พ้นไปจากสถานะอันยากลำบากของตน ท้ายที่สุดครอบครัวอันสมบูรณ์แบบตามครรลอง ก็ดูจะเป็นรางวัลชิ้นงามสำหรับผู้ที่ต่อสู้จนพาตัวเองพ้นจากสภาพที่คิดว่าไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านั้นได้แล้ว

ซึ่งการเชิดชูสถาบันครอบครัวในแง่นี้ ในทางหนึ่งน่าจะเหมาะกับกลุ่มคนดูจำนวนหนึ่งทีเดียว ที่คนเลือกจะต่อสู้สุดใจ ‘เพื่อครอบครัว’ แต่ขณะเดียวกันนั้น อาจกลายเป็นการลดทอนความน่าสนใจในทางเลือกของการ ‘วางแผนครอบครัว’ ที่แท้จริงอาจจะ practical สำหรับบางครอบครัวก็เป็นได้ แม้จะไปกันไม่ได้กับค่านิยมเรื่องศีลธรรมที่คนส่วนใหญ่ยึดถือก็ตาม

และถึงอย่างนั้น อีกจุดหนึ่งที่ละไปไม่ได้ใน The Pool คงจะเป็นตัวละครสัตว์ ที่สร้างข้อกังขาหรือกลายเป็นที่สนใจสำหรับใครหลายคนตั้งแต่หนังเริ่มโปรโมท

เมื่อบรรดาสัตว์ที่มีทีท่าเหมือนมนุษย์

ตัวละครสำคัญอีกสองตัวในเรื่องคือเจ้าลัคกี้ สุนัขของเดย์ และจระเข้ที่ตกลงไปในสระว่ายน้ำ ทั้งสองตัวมีลักษณะบางประการร่วมกัน นั่นคือมันถูกทำให้มีนิสัยและท่าทีเหมือนคน (anthropomorphized) อย่างเช่น การช่วยเหลือเจ้านายของตนเอง หรือการแสดงอารมณ์กราดเกรี้ยวเมื่อสิ่งที่มันรักถูกทำลาย โดยเว็บไซต์ทางจิตวิทยา psychcentral อธิบายไว้ว่า การทำให้เป็นมนุษย์เช่นนี้ทำให้สิ่งมีชีวิตที่ถูกทำให้เป็นมนุษย์นั้นมีการตอบสนองทางศีลธรรม และมีส่วนรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำ เช่น ควรได้รางวัลหรือได้รับการลงโทษ

การสร้างภาพของสัตว์เช่นนี้ ในแง่หนึ่งก็ทำให้หนังดูเข้มข้นขึ้นในฐานะหนังทริลเลอร์ ซึ่งตัวเอกต้องใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มี (สัตว์ก็เป็นหนึ่งในนั้น) เพื่อเอาตัวรอด และต้องต่อสู้กับปัจจัยเสี่ยง (ซึ่งเป็นสัตว์อีกเช่นกัน) การที่สัตว์ฉลาดทำให้ตัวเอกใช้ประโยชน์หรือถูกคุกคามจากมันได้ ผู้ชมจะมีอารมณ์ร่วมเป็นพิเศษเมื่อสัตว์แต่ละตัวประสบชะตากรรมแตกต่างกันไป แต่ในอีกทางหนึ่ง การทำให้สัตว์ดูเป็นมนุษย์เช่นนี้ทำให้เนื้อเรื่องกลับดูไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควรนัก และสำหรับผู้เขียนเอง ก็พบว่าหนังได้ลดทอนความน่าสนใจทางจิตวิทยาลงไปมากทีเดียว

ในท้ายที่สุดผู้ชมหันไปโฟกัสภัยคุกคามจากจระเข้มากกว่าที่จะสนใจว่าสระว่ายน้ำลึก 6 เมตรทำอันตรายอะไรกับชีวิตได้บ้าง และอดไม่ได้ที่จะเทียบกับหนังประเภทเดียวกัน ซึ่งตัวเอกต้องเอาตัวรอดจากพื้นที่จำกัดอย่างเรื่อง 127 Hours ที่สร้างจากชีวิตจริงของแอรอน ราลสตัน ที่ไปติดอยู่ระหว่างซอกผาในยูทาห์พบว่า 127 Hours ไม่ต้องใส่องค์ประกอบคุกคามอย่างอื่นเข้ามาเลยนอกจากฉากและประสบการณ์ในใจของตัวเอก แต่กลับดึงผู้ชมให้อยู่กับหนังได้จนจบเรื่อง และสร้างอารมณ์ร่วมได้อย่างเข้มข้น

ดังนั้นแล้ว การใส่สัตว์บางชนิดโดยเฉพาะจระเข้ เข้ามาในเนื้อเรื่องทำให้หนังเปลี่ยนโทนไปมาก แทนที่หนังจะเป็นแนวจิตวิทยาระทึกขวัญ (psychological thriller) อย่างที่ในโปสเตอร์หนังบางเวอร์ชั่นทำให้ผู้ชมเชื่อได้ว่าเป็น ก็กลับเป็นหนังระทึกขวัญ (thriller) ที่เน้นการให้ประสบการณ์ทางอารมณ์เสียมากกว่า  ทั้งที่ได้นักแสดงระดับเคน ธีรเดช มาเป็นนักแสดงนำ และมีพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่มาแต่แรก จึงนับเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อย สำหรับ The Pool

Tags: , ,