สิ่งหนึ่งที่คนมักจะนึกถึงช่วงปลายปีก็คือปณิธานปีใหม่ หรือเป้าหมายที่อยากทำในปีหน้า ซึ่งมีผลวิจัยจัดอันดับว่าคนตั้งใจในเรื่องอะไรกันบ้าง อันดับหนึ่งคืออยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น อยากลดความอ้วน อันดับที่สองอยากมีความสุขมากขึ้น อันดับสามคืออยากบริหารเวลา สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว และอันดับที่สี่คือการเก็บออม แต่ที่น่าเศร้าคือมีปณิธานข้อหนึ่งที่ติดอันดับบอกว่าต้องการทำปณิธานปีใหม่ให้เป็นจริงสักที เพราะมีผลวิจัยเพิ่มเติมที่เคยบอกไว้ว่าคนเรามักจะเลิกล้มปณิธานปีใหม่กันตั้งแต่วันที่สาม

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ควบคุมตัวเองไม่ได้

02.19

การออมนั้นเป็นเรื่องที่ใครก็รู้ว่าดีแต่ว่าทำยากเพราะค่อนข้างจะใช้วินัย คนเรามักมีความเชื่อมั่นแบบประหลาดว่าเราสามารถควบคุมตัวเองได้ ทั้งที่จริงแล้วมีงานวิจัยออกมาว่าเราควบคุมไม่ได้หรอก เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีหลักเหตุและผล เช่นเวลาเดินเข้าห้างแล้วตั้งใจว่าจะไม่ซื้อหรอก เดินเฉยๆ แต่พอออกมาหอบถุงมาเพียบ เวลาใครถามว่าซื้อมาทำไมมันไม่มีเหตุผลหรอก แค่เราชอบในเวลานั้นเราก็ซื้อแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาออมเราก็ต้องไม่เชื่อตัวเองว่าเรามีวินัยสูงส่ง และสร้างเป็นระบบขึ้นมา

กฎของความเฉื่อย

05.11

เวลาเราสมัครบริการอะไรทิ้งไว้เช่นรับข้อความทางโทรศัพท์มือถือ เรามักจะขี้เกียจยกเลิกแม้จะต้องเสียเงินทุกเดือนก็ตาม ซึ่งความจริงแล้วเราก็สามารถนำกฎนี้มาใช้กับการออมเงินได้ ใครที่มีรายได้ประจำแนะนำให้สร้างระบบที่ตัดเงินไปออมอัตโนมัติ เช่นเปิดบัญชีธนาคารอีกหนึ่งบัญชี แล้วบอกกับธนาคารให้ตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีนี้อัตโนมัติให้หน่อย หรืออาจจะเลือกตัดเข้าไปกองทุนรวมก็ได้ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เราขี้เกียจไปยกเลิกถึงธนาคาร กฎความเฉื่อยจะเริ่มทำงาน

แต่ความสำคัญอยู่ที่ยอดเงินเริ่มต้นด้วย หากเราอยากเก็บเงินทั้งปีก็ขอให้เริ่มในสเกลที่เริ่มได้จริง อาจไม่ใช่จำนวนที่ทำให้เราร่ำรวยได้ แต่เป็นการทำอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งนี้เราทำได้ แล้วค่อยเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นจะดีกว่า

เก็บภาษีตัวเอง

12.13

พอเราเริ่มเก็บเงินผ่านไปได้สัก 4-5 เดือน ก็จะเริ่มรู้สึกตระหนักในการใช้เงิน มีวินัยกับตัวเองมากขึ้น แต่คนเราทำงานก็ต้องกินต้องใช้ โค้ชหนุ่มจึงแนะนำวิธีการ ‘เก็บภาษีตัวเอง’ คือถ้าเราประเมินแล้วว่าการกินอยู่แบบไหนที่เราคิดว่าเกินจำเป็นเกินไป เราก็จะเก็บเงินตัวเองเพิ่มสัก 10% เช่นปกติถ้าเรากินข้าวมื้อละ 70-80 บาทก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องเก็บภาษี แต่ถ้าเกิดมีมื้อยิ่งใหญ่ เกินมาตรฐาน จ่ายไป 500 บาท ก็ให้เราจ่าย 500 นั้นไป และเก็บภาษีตัวเองเพิ่ม 50 บาท ซึ่งเมื่อมีภาษีแบบนี้เราก็จะเริ่มคัดสรรการใช้จ่ายของตัวเราเองมากขึ้น

สร้างกิมมิกให้ตัวเอง

17.03

บางคนก็สร้างกิมมิกน่ารักๆ ในการเก็บเงินให้ตัวเอง อย่างเช่นเมื่อไรที่มีแบงค์ 50 ที่ปกติจะหายากเข้ามาที่ตัวเองก็จะเก็บแบงค์นั้นไว้ออม พอสิ้นปีมาดูก็จะได้เงินเก็บที่จำนวนไม่น้อย ซึ่งแต่ละคนก็สามารถหากิมมิกง่ายๆ สนุกๆ แบบนี้ไว้ใช้กับตัวเองได้เช่นกัน และเรายังสามารถนำวิธีแบบนี้ไปใช้สอนเด็กๆ ได้เช่นกัน

เก็บเงินเพื่อบริจาค

18.38

บางคนอาจไม่ได้เก็บเงินเพื่อตัวเอง แต่เก็บเงินเพื่อคนอื่น บางคนเมื่อมีเหรียญเข้ามาก็จะเก็บสะสมใส่กล่องไว้ เมื่อเวลาผ่านไปครบเดือนเค้าก็จะถือกระปุกของเค้าไปตามห้าง แล้วแกะออกเพื่อหยอดตามตู้ ก็เป็นการเติมเต็มความสุขให้กับเราได้เช่นกัน เหมือนที่มีคนบอกไว้ว่า “คนเราถ้าได้เติมเต็ม ก็รู้สึกแล้วว่ามั่งคั่ง”

เทคนิคสอนลูก

22.19

โค้ชหนุ่มจะมีวิธีสอนการออมให้แก่ลูกด้วยการบอกว่า พ่อให้เงินไปโรงเรียน 20 บาท ถ้าเหลือกลับมาเท่าไหร่พ่อจะเพิ่มให้อีกเท่านึง ลูกชายก็เอาเงินไปใช้ วันแรกกลับมาเหลือห้าบาทพ่อก็หยิบอีกห้าบาทส่งให้ วันต่อมาลูกเก็บเงินกลับบ้านมาทั้ง 20 บาทเลย พอเป็นแบบนี้พ่อก็ริบเงินคืน แล้วบอกว่าวันพรุ่งนี้ไม่ให้เงินแล้ว พอลูกถามว่าทำไมก็ตอบว่าเหลือกลับมาแบบนี้แสดงว่าเงินไม่จำเป็นไง ถ้ามีเงินแล้วไม่ใช้เราจะมีเงินไปทำไม ถ้ามีก็ให้ใช้เลย แต่ให้เหลือเก็บไว้ด้วยเท่านั้น

หรืออย่างการซื้อของ โค้ชหนุ่มจะพาลูกชายทั้งสองคนไปซื้อขนมสัปดาห์ละครั้ง ให้เงินไปหนึ่งร้อยบาท และสร้างเงื่อนไขว่าขนมที่ซื้อนี้ต้องใช้กินกันทั้งสัปดาห์ แล้วก็เดินดูของไปกับลูก คอยสอนให้ดูความคุ้มค่าของขนมที่จะซื้อ อย่างอันนี้มีซื้อหนึ่งแถมหนึ่งด้วยนะ ก็ไปซื้อแบ่งกันทั้งสองคน และถ้าเหลือเงินเท่าไหร่ก็จะให้ลูกเก็บเอาไว้ ก็เป็นการสอนวิธีออมอย่างหนึ่ง

แล้วทำไมหลายคนถึงทำไม่สำเร็จ

25.54

สิ่งที่ทำให้แต่ละคนไม่ประสบความสำเร็จในการเก็บออมนั้นถ้าตอบแบบวิชาการก็คือเพราะเราไม่มีวินัย แต่เบื้องหลังของวินัยมันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมาก บางคนอาจจะมองว่าเพราะมันยุ่งยาก ก็ต้องปรับให้มันง่ายขึ้นอย่างเช่นกฎความเฉื่อยที่ปรับเพียงแค่ครั้งเดียวพอ หรือบางทีเราก็ตั้งใจมากเกินไปและกำหนดจำนวนเงินเริ่มต้นมากเกิน คือถ้าเราเก็บสะสมมานาน จะเก็บทีละเยอะๆ ก็คงไม่เป็นไร แต่สำหรับคนที่เริ่มต้นควรพยายามแบบค่อยเป็นค่อยไป ยกตัวอย่างจากลูกศิษย์คนหนึ่งของโค้ชหนุ่มที่มาปรึกษาเรื่องการออมเงิน โค้ชก็แนะนำให้เริ่มตัดออม ซึ่งเค้าก็กลับไปตัด 50% เลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือชีวิตที่อยู่ยาก และเมื่อถึงวันหนึ่งที่ทนไม่ไหว อยากจะคลายตัวมันก็จะพังลงทันทีเพราะความเครียดมันถูกสะสมไว้เยอะ เพราะฉะนั้นให้สะสมแบบค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอจะดีกว่า

New Year’s Resolution

29.30

สำหรับโค้ชหนุ่มนั้นใจแต่ละปีจะมีการตั้งเป้าหมายไว้ 6 ข้อ เรียกว่า ‘การวางแผนให้รวยแบบ 6 มิติ’

เรื่องแรกคือเรื่องสุขภาพ ที่ตั้งไว้ว่าอยากนอนเท่านี้ ออกกำลังกายเท่านี้

เรื่องที่สองคือเรื่องครอบครัว ที่อยากจะออกไปท่องเที่ยวด้วยกัน

เรื่องที่สามคือเรื่อการงาน เราจะพัฒนางานของเราให้มันดีขึ้น เก่งขึ้นได้อย่างไนบ้าง

เรื่องที่สี่คือเรื่องการเงิน ถ้ามีหนี้ลองตั้งเป้าว่าจะผ่อนให้ลดเหลือเท่าไร จะเคลียร์ได้มากแค่ไหน

เรื่องที่ห้าคือการพัฒนาตัวเอง อยากเก่งภาษา อยากทำอะไรเป็น ให้ลองลิสต์เอาไว้

และเรื่องที่หกคือการคืนสู่สังคม ก็ตั้งเป้าเอาไว้ว่าเงินที่ได้มาในแต่ละปีจะมีการบริจาคให้กับที่ต่างๆ สักเท่าไร

ทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายที่ไม่ใหญ่มาก จับต้องได้ และเมื่อไปถึงเราก็มีความสุขได้กับทุกอัน

Tags: