ปัจจุบันวัฒนธรรมเกาหลียังคงเติบโตและแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง หากเป็นหลายสิบปีก่อนหน้านี้คงไม่มีใครจินตนาการออกว่าดินแดนที่ถูกแบ่งออกเป็นฝั่งเหนือและฝั่งใต้ ซึ่งบอบช้ำมาจากพิษสงครามและปัญหาหลายทิศทางจะสามารถก้าวพ้นขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกได้ ไม่ว่าจะด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมร่วมสมัย อย่างเค-ป๊อป ซีรีส์ และภาพยนตร์

แต่ภายใต้ความก้าวหน้าทั้งหมดทั้งมวลนี้ย่อมยังหลงเหลือบางสิ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ภาวะความเครียดจากการเรียนการทำงาน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่เท่าเทียม ซึ่งที่ผ่านมาเราได้หยิบยกทั้งซีรีส์และภาพยนตร์อันโดดเด่นจากเกาหลีมาแนะนำกันอยู่ไม่ขาด มาสัปดาห์นี้เราจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจชั้นหนังสือกันบ้างว่ามีหนังสือแปลเล่มไหนน่าหยิบมาอ่าน และถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าแปลมาจากเกาหลี แต่ขณะหยิบขึ้นมาอ่าน มันก็ไม่ต่างอะไรกับกระจกที่สะท้อนมาสู่ประเทศเราหรือตัวเราเลย ถ้าใครยังลังเลเล็งเล่มไหนไว้อยู่ตอนนี้ไม่ต้องลังเลแล้ว!

คิมจียอง เกิดปี 82

ผู้เขียน: โชนัมจู
ผู้แปล: ตรองสิริ ทองคำใส
สำนักพิมพ์: เอิร์นเนสต์

คิมจียอง เกิดปี 82 เป็นผลงานของโชนัมจู ที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2016 และกลายเป็นหนังสือขายดีอย่างรวดเร็ว รวมถึงยังทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างถึงพริกถึงขิงในเกาหลีใต้ อาจเพราะประจวบเข้ากับการเคลื่อนไหว #MeToo ด้วยประการหนึ่ง

เรื่องราวในหนังสือไม่ได้มีเรื่องใดน่าตื่นเต้น ไม่มีการผจญภัยชวนค้นหา แต่เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่สามารถมีปากมีเสียงในสังคมได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่เล็กจนโต ตั้งแต่อดีตไปจนถึงอนาคต  จียองเป็นชื่อสามัญในเกาหลีเช่นเดียวกับนามสกุลคิม ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงจึงสามารถเห็นภาพของเธอซ้อนทับกับตัวเองได้ไม่ยาก ซึ่งโชเองก็ไม่ได้ปั้นแต่งจียองขึ้นมาอย่างลอยๆ เธอมีข้อมูลสถิติประกอบอยู่เรื่อยๆ ตามรายทาง เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่านี่คือความเป็นไปที่เกิดขึ้นจริง

ชีวิตของจียองจะถูกแบ่งออกเป็นตอนๆ ไล่เรียงจากเหตุการณ์แปลกประหลาดของเช้าวันหนึ่ง แล้วกลับไปยังช่วงวัยเด็ก ตลอดจนวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน วัยแต่งงาน และวัยที่เธอกลายเป็นแม่คน จียองเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดา เธอเป็นลูกสาวคนกลางที่มีพี่สาวและน้องชาย จียองกับพี่สาวต้องคอยแบ่งเบาภาระงานที่บ้านแทบจะตั้งแต่จำความได้ แต่เธอไม่เคยเห็นว่าน้องชายต้องทำอะไรเลย แถมหลายครั้งเขายังได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่าเสียอีก นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ภายในบ้านที่ทำให้จียองเห็นว่าการเกิดเป็นลูกสาวนั้นไม่มีค่าเท่าลูกชาย และเมื่อยิ่งโต เธอก็ยิ่งได้เห็นได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง ความไม่เท่าเทียมปรากฎให้เห็นอยู่ในทุกๆ อณู การจับโรคจิตแก้ผ้ากลายเป็นความผิด เพราะไม่มียางอาย การโดนเด็กผู้ชายเดินตามกลายเป็นเรื่องน่าโมโห เพราะไม่รู้จักระวังตัว การทุ่มเทให้หน้าที่การงานกลายเป็นสิ่งไร้ค่า เพราะอย่างไรสักวันผู้หญิงต้องลาออกไปเลี้ยงลูก 

ทั้งหมดคือสิ่งที่จียองถูกเอารัดเอาเปรียบเพียงเพราะเธอเกิดมาเป็นผู้หญิง ดังนั้น ชีวิตของจียองจึงเป็นภาพแทนของผู้หญิงอีกหลายชีวิตในสังคมเกาหลีใต้ และมันก็ยังดำเนินอยู่อย่างนั้นซ้ำรอยจากชีวิตหนึ่งไปสู่ชีวิตหนึ่ง วันนี้พวกเธอหวังว่าเสียงที่เปล่งออกมาจะดังพอ เพื่อลูกหลานของพวกเธอจะได้มีที่สิทธิ์มีเสียงและที่ยืนของตัวเอง

มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม

ผู้เขียน: คิมย็อนซู และคนอื่นๆ
ผู้แปล: อิสริยา พาที
สำนักพิมพ์: Chaichai Books

มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นคัดสรรจากนิตยสาร Koreana ที่รวบรวมผลงานของนักเขียนเกาหลีร่วมสมัยเอาไว้อย่างหลากหลาย แต่ละเรื่องล้วนมีทิศทางและเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง สะท้อนให้เห็นสังคมเกาหลีในมุมที่แตกต่างกัน

เรื่องสั้นแรกของเล่มคือ ‘เมื่อเคียวเห่า’ เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคโชซอน สังคมยังถูกปกครองด้วยระบบศักดินา การศึกษามีไว้ให้ชนชั้นขุนนางเท่านั้น ส่วนพวกทาสก็ทำงานใช้แรงงานไปตามหน้าที่ แต่ลูกทาสอย่าง ซูบก กลับชอบที่จะขีดเขียน เด็กชายผู้ไม่รู้ผิดถูกจึงแอบหยิบกิ่งไม้ขึ้นมาจับทุกครั้งที่มีโอกาสจนโดนจับได้ ซูบกเพียงวาดตามสิ่งที่เห็น เขาไม่มีความรู้อะไรไปมากกว่านั้น แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่นายท่านต้องการ เพราะการไม่รู้หนังสือก็หมายความว่าเขาจะไม่มีพลังอำนาจอะไร พลังของตัวอักษรนั้นมากมายเกินกว่าที่ซูบกจะเข้าใจ รูปเคียวที่เขาวาดบนพื้นไม่สามารถทำอะไรใครได้ แต่หากเป็นเหล่าขุนนางเคียวที่ว่านั่นสามารถบั่นคอใครก็ได้ง่ายๆ ตัวอักษรเพียงตัวเดียวลบล้างบางตระกูลได้ภายในพริบตา

เรื่องสั้นที่สามคือ ‘ฉันไปร้านสะดวกซื้อ’ เล่าเรื่องหญิงสาววัยมหาวิทยาลัยที่ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ไม่ไกลจากรัศมีที่พักมากนัก เธอเข้าร้านสะดวกซื้ออยู่เป็นประจำ อย่างน้อยก็หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ โดยมีร้านให้เลือกเข้าอยู่สามร้านด้วยกัน ของที่เธอซื้อก็เป็นของใช้ประจำวันทั่วๆ ไป ชอบกินอะไรตอนดึก ขนมขบเคี้ยวต้องแบรนด์ไหน ใช้ผ้าอนามัยยี่ห้ออะไร ยาสระผมประเภทไหน หรืออีกหลายสิ่งอย่างที่มีให้จับจ่าย แต่อยู่ๆ วันหนึ่งความสะดวกสบายก็กลายเป็นความอึดอัด เธอเริ่มหวาดระแวงว่าการเดินเข้าออกร้านบ่อยๆ จะเป็นการเผยให้เห็นพฤติกรรมและเรื่องส่วนตัวของเธอ ยิ่งถ้าโดนพนักงานหรือเจ้าของร้านคนไหนคุยด้วย เธอยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวยังมีอยู่ไหมในปัจจุบัน หรือทุกเรื่องของเรากลายเป็นข้อมูลของคนอื่นไปหมดแล้ว!?

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงสองในเจ็ดเรื่องเท่านั้น ส่วนที่เหลือในเล่มก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ทุกเรื่องถูกเล่าผ่านตัวละครธรรมดาๆ ฉายให้เราได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมเกาหลีที่แฝงไว้ด้วยเรื่องการเมือง ความสัมพันธ์ ความเป็นปัจเจก ความเป็นส่วนตัว และวัฒนธรรม ทั้งหมดมีเสียงโน๊ตเป็นของตัวเองที่เราต้องอ่านเท่านั้นถึงจะได้ยิน

มีอะไรในสวนหลังบ้าน

ผู้เขียน : คิม จินยอง
ผู้แปล: วิทิยา จันทร์พันธ์
สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์

ความเหนอะหนะของอากาศ กลิ่นสาบที่ลอยมาจากสวนหลังบ้าน และความแตกต่างของสองชีวิต ทั้งหมดสอดประสานกันจนกลายมาเป็นความสัมพันธ์ที่เรายากจะคาดเดาว่าจะจบลงในทิศทางไหน ‘มีอะไรในสวนหลังบ้าน’ เป็นนิยายสืบสวนสอบสวนจากประเทศเกาหลีที่มียอดขายถล่มทลาย บ้างก็ว่าอ่านไปแล้วมีกลิ่นอาจแบบภาพยนตร์ Parasite ที่เพิ่งไปคว้ารางวัลออสการ์มา เพราะการชี้ให้เห็นช่องว่างระหว่างสองชนชั้น ชีวิตของผู้หญิงสองคนที่ต่างกันสุดขั้ว แต่มีจุดร่วมเหมือนกันคือการเป็นแม่และการเป็นเมีย

นิยายเล่มนี้เป็นเรื่องของผู้หญิงสองคนดูไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกันได้ คนหนึ่งคือ คิมจูรัน สาวสวยภรรยาคุณหมอเจ้าของโรงพยาบาล เธอมีชีวิตที่ใครๆ ก็อิจฉา อยู่บ้านหลังโตหรูหรา สามีหน้าที่การงานดี ฐานะมั่นคง ลูกชายก็ทั้งหล่อและฉลาด ไม่ว่าใครผ่านมาเห็นครอบครัวนี้ก็ต้องคิดว่าจะต้องเต็มไปด้วยความสุขแน่ๆ ในขณะที่อีกคนหนึ่งคือ อีซังอึน พนักงานขายท้องอ่อนที่ต้องหาเลี้ยงตัวเอง และไม่สามารถบอกใครได้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ เพราะเกรงว่าจะถูกให้ออกจากงาน สามีของเธอเป็นเซลล์ขายยาไม่ได้เรื่องได้ราว แถมยังชอบทุบตีเธอบ่อยครั้ง ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังไม่จากเขาไป จนกระทั่งใครบางคนพรากเขาไปจากเธอเอง

ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ปริแตกของสองครอบครัว เธอทั้งสองโคจรมาพบกันเพราะโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อจูรันได้กลิ่นโชยมาจากสวนหลังบ้าน ทีแรกเธอคิดว่ามันคงเป็นแค่ซากสัตว์ และอยากจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง เธอจึงลงมือหาคำตอบโดยไม่ปรึกษาสามี ซึ่งต้นตอที่แท้จริงดันเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะรับมือ ส่วนทางฝั่งซังอึนที่เปรียบเป็นคู่ตรงข้ามของจูรัน โชคร้ายดูจะเข้าข้างเธอมาตลอด และโชคร้ายที่หนักหนาที่สุดก็คือสายเรียกเข้าจากตำรวจ สามีเธอถูกพบเป็นศพที่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งเธอรู้มาว่าเขากับคุณหมอพัค สามีของจูรันมีนัดพบกันก่อนหน้านั้น พวกเธอต่างมีเรื่องราวที่ค้างคาใจและความจริงที่ต้องไข แต่ยิ่งเรื่องราวดำเนินไปไกลเท่าไร ปมที่ต้องคลี่คลายกลับแน่นขึ้น และกดดันจนเราแทบวางไม่ลง

อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี

ผู้เขียน: แบ็กเซฮี
ผู้แปล: ญาณิศา จงตั้งสัจธรรม
สำนักพิมพ์: B2S

คุณเคยถามตัวเองไหมว่าวันนี้รู้สึกอย่างไร ทั้งวันที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง เหน็ดเหนื่อยแค่ไหน อ่อนล้าหรือเปล่า หรือแฮปปี้มีความสุขดี หนังสือเล่มนี้อาจช่วยให้คุณมองเห็นรายละเอียดเล็กน้อยของชีวิตมากขึ้น ให้คุณได้ลองนั่งลงแล้วคุยกับตัวเองเหมือนที่ผู้เขียนเฝ้าทำความเข้าใจสิ่งที่ตนกำลังเผชิญ แล้วค่อยๆ กะเทาะความรู้สึกออกมาทีละน้อย เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงที่สุด

หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกเรื่องราวของผู้เขียน แบ็กเซฮี ผู้มีอาการโรคซึมเศร้า ซึ่งเข้ารักษาตัวและพบแพทย์อยู่เสมอๆ ตามใบนัด เธอมีอาการร่วมด้วยอีกสองอย่างนอกเหนือจากโรคซึมเศร้า นั่นคืออาการโรคสองบุคลิกและย้ำคิดย้ำทำ สิ่งที่แบ็กเซฮีเริ่มทำเป็นอันดับแรกๆ คือการนั่งทำความเข้าใจตัวเอง ถ่ายทอดสิ่งที่นึกคิด พบเห็น รู้สึก เพื่อให้เข้าใจกลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน ตลอดจนการพบแพทย์ว่ามีกระบวนการในการรักษาอย่างไรบ้าง พวกเขาพูดคุยกันด้วยประเด็นไหน คำถาม-คำตอบที่ตรงไปตรงมา ข้อแนะนำที่สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิต และการมองโลกในมุมที่ต่างไปจากเดิม

สิ่งที่เราได้รับกลับมาคือความเข้าใจที่มีต่อแบ็กเซฮี หรือคนที่อาจกำลังประสบปัญหาเช่นเธอ หรือแม้แต่ตัวเราเองที่บางภาวะก็อาจรู้สึกไม่ต่างกัน บางทีเราก็ไม่รู้ว่าควรรับมือกับเรื่องตรงหน้าอย่างไร เราหมดพลังงาน มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เจ็บปวดจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง แบกรับความทุกข์ไว้บนบ่าอย่างไม่ยอมวาง มองทุกอย่างด้วยสายตาเดิมๆ ทั้งที่ความจริงแล้วหากถอยออกมา เราก็พอจะเห็นภาพกว้างมากขึ้น และรับรู้ว่าเราควรทำอย่างไรกับมัน บางปัญหาไม่จำเป็นต้องแก้ทันทีทันใด เพียงแต่เราต้องมองมันให้รอบด้านเสียก่อน เดินเข้าหามันจากอีกมุม อย่างไม่รีบร้อน อย่างระมัดระวัง แล้วใจเราจะแข็งแกร่งได้ไม่แพ้ใคร รวมถึงตอบได้ว่า ‘ต็อกบกกี’ ของแบ็กเซฮี สำหรับเรานั้นคืออะไร ถึงมันจะเรียบง่ายมากๆ แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีความหมายมากๆ เช่นกัน

ยิ้มรับคนไม่ดีที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ผู้เขียน: ชองมุนจอง
ผู้แปล: ตรองสิริ ทองคำใส
สำนักพิมพ์: Springbooks

ในตลอดช่วงการมีชีวิตอยู่ เราต้องเจอผู้คนมากหน้าหลายตา บ้างเลือกได้บ้างเลือกไม่ได้ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าแต่ละคนมีนิสัยใจคออย่างไรจนกว่าจะได้เริ่มพูดคุยกัน ถ้าเจอคนที่เข้ากันได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าเจอคนที่เข้ากันไม่ได้ชีวิตก็คงจะขมๆ ไปเหมือนกัน ยิ่งถ้าเราเป็นคนไม่ค่อยมีปากมีเสียง อะลุ่มอล่วยไปเสียทุกเรื่อง นั่นอาจกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลให้คนอื่นมาเอารัดเอาเปรียบเราได้ และเราก็จะโดนกดทับไปโดยไม่รู้ตัว

‘ยิ้มรับคนไม่ดีที่ผ่านเข้ามาในชีวิต’ เป็นเหมือนการแนะนำแนวทางในการใช้ชีวิตกลายๆ ว่าหากเราเจอคนไม่ดี หรือที่ผู้เขียนแทนที่ด้วยคำว่า ‘คนทราม’ เราจะมีวิธีหลีกเลี่ยงหรือรับมือกับคนเหล่านี้อย่างไร เพราะสิ่งที่เขาทำบางทีก็เป็นการทำร้ายจิตใจเราทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ยิ่งในสังคมปัจจุบันเราเผลอทำร้ายจิตใจกันง่ายเหลือเกิน เพียงแค่ปลายนิ้วพิมพ์ ประโยคหลุดปาก คำทักทายไม่คิด นั่นก็มากพอจะเข้าไปกระทบจิตใจใครคนอื่นได้แล้ว จริงอยู่ว่ามันยากที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่น พวกเขาอยู่เหนือการควบคุมของเรา แต่สิ่งที่เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ก็คือตัวเราเอง

บ่อยหนที่เรายังเจ็บปวดใจจากคนต่างๆ ก็อาจเป็นเพราะเราไม่แข็งแกร่งพอจะยืนหยัดตอบโต้ และปล่อยให้เขาทำแบบนั้นกับเราซ้ำๆ เขาจึงนึกเอาว่าจะพูดอะไร จะทำอะไรกับเราก็ได้ ซึ่งการปะทะตรงๆ คงจะไม่ใช่ผลดีต่อทั้งสองฝ่ายเช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องแข็งขืนเพื่อต่อต้าน มันยังมีวิธีการคิด วิธีการแก้ไข เพื่อนำพาสถานการณ์ที่แย่อยู่ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ถ้าคุณปรารถนาจะมีชีวิตเป็นของตัวเอง โดยไม่ถูกคนอื่นมารังแกหรือสูบพลังงานไป ลองมาเพาะเลี้ยงเชื้อความเข้มแข็งของหัวใจกัน มาเติมความสุขให้ชีวิต แม้จะต้องเผชิญหน้าคนทรามพวกนั้นก็ตาม!

Tags: , ,