หลายวันก่อน ขณะขับรถกลับบ้าน คลื่นวิทยุที่ฟังประจำเปิดเพลง ‘Tears in Heaven’ ของเอริก แคลปตัน (Eric Clapton) อยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นได้ว่าผมไม่เคยรู้ที่มาที่ไปของเพลงนี้เลย อาจด้วยความไพเราะของเมโลดี้และเสียงกีตาร์อันบาดลึกของอีริกได้กลบความจริงบางอย่างเอาไว้
ความสงสัยทำให้ลงมือสืบค้นต้นตอของเพลง และพบที่มาของความกินใจในหลายวรรคตอนที่แต่ก่อนไม่เคยรู้ที่มาที่ไป นอกจากเพลงนี้แล้ว อยากเล่าถึงที่มาของเพลงดังอื่นๆ ที่ศิลปินต่างได้แรงบันดาลใจมาจากการสูญเสียอะไรสักอย่างในชีวิต เป็นความหลังและความทรงจำที่กลายเป็นเนื้อเพลงและท่วงทำนองอันไพเราะ
1. ‘Tears in Heaven’: Eric Clapton
เป็นซาวนด์แทร็กประกอบหนังเรื่อง Rush (1991) ที่อีริก แคลปตัน เขียนขึ้นจากความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสียลูกชายวัย 4 ขวบที่ชื่อคอเนอร์ (Conor) ซึ่งเกิดจากลอรี เดล แซนโต (Lory Del Santo) ภรรยาของเขา
เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 1991 ขณะที่ภรรยาและลูกชายอาศัยอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ในนิวยอร์ก พอดีกับที่แม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดโดยเปิดหน้าต่างทิ้งไว้เพื่อระบายอากาศ ด้วยความซนตามประสาเด็ก คอเนอร์พลัดตกลงมาจากชั้น 53 ของอพาร์ตเมนต์ เด็กน้อยเสียชีวิตในทันที กลายเป็นเรื่องเศร้าที่สุดของอีริกนับแต่นั้น และเป็นที่มาของเพลง ‘Tears in Heaven’ ที่ไพเราะแบบไร้กาลเวลา และเรียกน้ำตาให้เอ่อท้นใจคนเป็นพ่อเป็นแม่ได้ทุกครั้ง ยามได้ยินเสียงพร่าเครือกระซิบว่า “Would you hold my hands, if I saw you in heaven…”
2. ‘Supermarket Flowers’: Ed Sheeran
แทร็กที่ 12 จากอัลบั้ม Divide ของไอ้หนุ่มหัวแดงจากอังกฤษ เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) เพลงนี้เขาได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงมาจากคุณยายที่ป่วยและเสียชีวิตระหว่างที่เขากำลังเข้าห้องอัดทำอัลบั้ม Divide นั่นเอง เขาจึงอยากจะให้เพลงนี้เป็นเหมือนความทรงจำของเขาที่มีต่อคุณยาย ในเพลงพูดถึงคนที่สูญเสียแม่ และเจ็บปวดกับทุกร่องรอยที่บอกว่าแม่ไม่ได้อยู่ในที่นั้นแล้ว หลายคนฟังแล้วมักคิดว่าเขาแต่งเพลงนี้ให้แม่ แต่แท้จริงแล้ว เขาเขียนถึงคุณยายจากมุมรู้สึกของแม่ และคุณตาของเขาคือผู้ที่คะยั้นคะยอให้เขารวมเพลงดังกล่าวไว้ในอัลบั้ม Divide
3. ‘Candle in The Wind’: Elton John
เดิมที เพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อไว้อาลัยแก่ มาริลีน มอนโร เพราะในเนื้อเพลงประโยคแรกขึ้นต้นด้วย “Goodbye Norma Jean” ซึ่งนอร์มา จีน มอร์เทนเซน (Norma Jeane Mortenson) คือชื่อเมื่อตอนแรกเกิดของเธอ และยังเป็นเพลงที่อยู่ในอัลบั้ม Goodbye Yellow Brick Road ในปี 1973 โดยเอลตัน จอห์น (Elton John) นำมาร้องอีกครั้งในพระราชพิธีศพของเจ้าหญิงไดอานาในปี 1997 โดยแปลงประโยคแรกจาก “Goodbye Norma Jean” เป็น “Goodbye England’s rose” จนกลายเป็นอีกหนึ่งเพลงฮิตของเขาในเวลาต่อมา
4. ‘Wake Me Up When September Ends’: Green Day
แม้แต่วงพังก์ร็อกอย่าง Green Day ก็มีอารมณ์ซึ้งเหมือนกัน เพลงนี้แต่งโดยบิลลี โจ อาร์มสตรอง (Billie Joe Armstrong) นักร้องนำของวงที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการสูญเสียคุณพ่อที่จากไปด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่เขาอายุ 10 ขวบ แถมเพลงนี้ยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในเหตุการณ์ 9/11 และเฮอร์ริเคนแคทรีนา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
5. ‘The Show Must Go On’: Queen
วงร็อกสัญชาติอังกฤษที่โด่งดังในยุค 70s-80s หยิบวลี ‘The show must go on’ มาทำเพลงได้แสนกินใจ เพลงนี้แต่งโดยไบรอัน เมย์ (Brian May) มือกีตาร์ของวง เขียนขึ้นในปี 1990 ระหว่างที่เฟรดดี เมอร์คูรี (Freddie Mercury) นักร้องนำของวง กำลังต่อสู้กับโรคเอดส์ และยังไม่มีการประกาศให้สาธารณชนรับรู้ เพลงนี้ถูกตัดเป็นซิงเกิลในประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1991 เพียง 6 สัปดาห์ก่อนที่เฟรดดี เมอร์คูรี จะเสียชีวิต
ไบรอัน เมย์ เคยเล่าถึงการทำงานในห้องอัดว่าท่อนหนึ่งของเพลงต้องใช้เสียงร้องที่สูงเป็นพิเศษ เขากังวลว่าเพื่อนที่ป่วยหนักจะไม่สามารถทำได้ แต่เฟรดดีกลับหันมาบอกว่า “ฉันจะทำให้ดู…” และคว้าไมค์ขึ้นร้องเพลงนี้ฝากไว้ให้เราได้จดจำ
6. ‘See You Again’: Wiz Khalifa Ft. Charlie Puth
เพลงดังจากหนังเรื่อง Fast & Furious 7 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพอล วอล์กเกอร์ (Paul Walker) เสียชีวิตขณะถ่ายทำภาคนี้ ทำให้ค่ายเพลง Atlantic Records แต่งเพลงนี้ขึ้นมาเสมือนเป็นการอุทิศแด่พอล วอล์กเกอร์ โดยได้วิซ คาลิฟา (Wiz Khalifa) แร็ปเปอร์ชาวอเมริกัน ร่วมร้องกับชาร์ลี พูท (Charlie Puth) นักร้องชาวอเมริกันอีกคน สำหรับอีกคนที่มีส่วนร่วมในเพลงนี้คือไมก์ นอบล็อก (Mike Knobloch) ประธานฝ่ายเพลงและหนังของ Universal Pictures ที่ช่วยในการสร้างสรรค์ตั้งแต่การเลือกนักร้องและการเลือกใช้เพลงว่าจะเข้ามาในฉากใดของหนัง
ความร้อนแรงของเพลงนี้ถึงขนาดติดชาร์ต Top 100 ของบิลบอร์ดนานติดต่อกันถึง 12 สัปดาห์ และแน่นอน เป็นอีกหนึ่งเพลงฮิตที่มียอดวิวในยูทูบเกินหนึ่งพันล้านวิว
7. ‘Rehab’: Amy Winehouse
เพลงที่เอมี ไวน์เฮาส์ (Amy Winehouse) เขียนถึงชีวิตอันเหลวแหลกของเธอ ก่อนหน้านี้เธอดูจะไปได้สวยบนเส้นทางดนตรี หลังจากอัลบั้มแรก Frank ออกมาในปี 2003 ศิลปินสาวแนวโซลคนนี้ก็กลายเป็นป็อปสตาร์คนใหม่ ทว่าในทางกลับกัน ชีวิตของเธอก็วุ่นวายและหมกหมุ่นอยู่กับการใช้ยาเสพติดและเหล้า นั่นจึงกลายเป็นเรื่องราวชั้นดีที่นำมาเขียนเป็นเพลง ‘Rehab’ ที่อยู่ในอัลบั้มที่สอง Back to Black ในปี 2007 ซึ่งเป็นอัลบั้มมาสเตอร์พีชของเธอ และเป็นอัลบั้มสุดท้ายก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในวัย 27 ปี จากสาเหตุมีแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินขนาด
นี่เป็นตัวอย่างของเพลงดังที่มีต้นตอมาจากความเศร้า ยังมีเพลงอีกมากที่มีจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กัน
ยิ่งเรารู้ที่มาที่ไปของเพลงเหล่านี้ เชื่อว่าเพลงที่ไพเราะอยู่แล้วจะเพราะพริ้งมากยิ่งขึ้นแน่นอน
Tags: Tears in Heaven, Supermarket Flowers, Candle in The Wind, Wake Me Up When September Ends, The Show Must Go On, See You Again, Rehab