ในโลกอินเทอร์เน็ตทุกอย่างมาไวไปไว แต่ขณะเดียวกันหลายสิ่งก็คงอยู่ตลอดกาล ไม่สูญหายไปไหน เช่น ‘มีม’ (meme) บรรดารูปภาพต่างๆ ที่ถูกส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ จนแพร่หลาย มีมมีที่มาจากทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นจากข่าวสาร ภาพสต็อก ศิลปะคลาสสิก ฯลฯ และแน่นอนว่าต้องมีภาพยนตร์เป็นหนึ่งในนั้น หลายครั้งที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งอาจไม่ได้รับความนิยมเลยในตอนแรก แต่เมื่อเกิดการกระจายมีมไปทั่ว ผู้คนก็กลับมาให้ความสนใจภาพยนตร์ตามมาได้เหมือนกัน
ริชาร์ด ดอว์กินส์ ได้บัญญัติคำว่า ‘meme’ ขึ้นเป็นครั้งแรก ในหนังสือ The Selfish Gene เมื่อปี ค.ศ.1976 เพื่ออธิบายการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมส่งต่อกันเป็นทอดๆ ซึ่งสามารถพัฒนาหรือต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นได้ แม้ปัจจุบันความหมายมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงรูปแบบบางอย่างอยู่
อยากชวนมาลองชม ‘มีม’ ยอดนิยมที่เราผ่านตากันบ่อยๆ จากภาพยนตร์ 8 เรื่องนี้
Vampire’s Kiss (1989)
ภาพยนตร์อีกเรื่องที่ล้มเหลวในด้านรายได้โดยสิ้นเชิง แต่กลับเป็นหนึ่งในมีมที่เด่นดังและถูกนำมาใช้มากที่สุด เพราะการแสดงอันเวอร์วังของ นิโคลัส เคจ ซึ่งบางฉากบางตอนพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นก็มาจากการเลียนแบบความเคลื่อนไหวของ Nosferatu ต้นฉบับดั้งเดิมของแวมไพร์ และคริสเตียน เบล ก็ยังใช้การแสดงของเคจในเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับบทบาทของเขาในฐานะ ‘แพทริค เบทแมน’ ใน ภาพยนตร์เรื่อง American Psycho (2000) ด้วย
ปีเตอร์ทำงานเป็นตัวแทนวรรณกรรมในการดำเนินการขายและเจรจาข้อตกลงต่างๆ โดยพฤติกรรมส่วนตัว—เขาเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ และต้องเข้าพบนักจิตบำบัดเป็นประจำ วันหนึ่งปีเตอร์ถูกราเชล—คู่รักกัดเข้าต้นคอขณะที่ทั้งคู่กำลังร่วมรักกัน ทำให้เขาเชื่อว่าตัวเองก็กำลังจะกลายเป็นแวมไพร์ในไม่ช้า และมันทำให้เขายิ่งบ้าคลั่ง วิกลจริต จนแทบจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้อีกต่อไป
Pulp Fiction (1994)
Pulp Fiction ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับฯ เควนติน ทาแรนติโน และถูกมองว่าเป็นแหล่งต้นน้ำทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อภาพยนตร์และสื่ออื่นๆ ตามมา ต้นทุนในการถ่ายทำประมาณ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มันกลับทำรายได้ทะลุไปกว่า 200 ล้านเหรียญ และยังกวาดรางวัลจากเวทีต่างๆ มาอย่างบ้าคลั่ง
ความวุ่นวายอันเป็นบ่อเกิดของความ ‘ฉิบหายวายป่วง’ เริ่มต้นจากสองคู่หูมือปืนที่ทำงานตามเก็บกวาดให้หัวหน้ากลุ่มอาชญากร มาเซลลัส วอลเลค จู่ๆ ทั้งคู่ก็ได้รับคำสั่งให้ทำภารกิจที่แตกต่างออกไป นั่นคือให้พวกเขาดูแล มีอา วอลเลคภรรยาสาวของหัวหน้า ระหว่างที่เขาไม่อยู่ แล้วไหนจะเรื่องเบี้ยบ้ายรายทางที่ต้องเคลียร์ให้เป็นไปดั่งใจหัวหน้าอีก งานนี้ไม่ใครก็ใครต้องเดือดร้อนแน่นอน รับประกันด้วยคาวเลือดบนปลายปืนและความซวยจากปลายเข็ม
ความจริงในภาพยนตร์มีมากมายหลายฉากซึ่งเป็นที่จดจำ ไม่ว่าจะฉากเต้นประจันหน้า ฉากสองคู่หูเอาปืนจ่อพร้อมกัน แต่ฉากที่โดนนำมาล้อบ่อยสุดจนเป็นมีม ก็ต้องฉากที่ จอห์น ทราโวลตา ทำหน้ามึนงงยืนอยู่กลางบ้านนี่แหละ
Toy Story 2 (1999)
แอนิเมชันภาคต่อที่ทำรายได้ถล่มทลายยิ่งกว่าภาคแรก โดยความตั้งใจของผู้กำกับฯ แล้ว เขาเคารพภาพยนตร์ต้นฉบับและอยากสร้างโลกใบนั้นขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ของเล่นจะรู้สึกอย่างไร หากเด็กๆ พากันละทิ้งและไม่สนใจของเล่นอีกต่อไปแล้ว หรือเมื่อพวกเขาโตเกินไปที่จะให้ความสนใจของเล่นเก่าๆ ที่เคยครอบครอง
ในระหว่างที่แอนดี้ไปเข้าค่ายฤดูร้อน แม่ของเขานำของเล่นบางส่วนไปวางขายเลหลัง นั่นทำให้วู้ดดี้ตัดสินใจไปช่วยเพื่อน แต่ตัวเขากลับโชคร้าย เพราะถูกนักสะสมของเล่นเจ้าเล่ห์ขโมยตัวไป วู้ดดี้ได้พบกับของเล่นตัวอื่นๆ ที่พยายามเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับความจริงว่าพวกเขาไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไปแล้ว แต่มีหรือที่เหล่าเพื่อนๆ ของเล่นที่บ้านของวู้ดดี้จะทอดทิ้งเขา ดังนั้น บัซ ไลท์เยียร์ และของเล่นตัวอื่นๆ จึงตามรอยไปเพื่อตามวู้ดดี้กลับมาให้ได้
มีมอันโด่งดังจากภาคนี้ก็คือ ฉากที่บัซเข้าไปคุยกับวู้ดดี้ที่กำลังอารมณ์เสียอยู่
Love Actually (2003)
ภาพยนตร์รักของ ริชาร์ด เคอร์ติส ที่ยังถูกพูดถึงซ้ำๆ ในแต่ละเทศกาลของช่วงปี จนหลายคนอาจเบือนหน้าหนีไปแล้วเมื่อได้ยิน แต่เราไม่อาจปฏิเสธว่า มันเป็นภาพยนตร์อบอุ่นที่มีความลงตัวจริงๆ เรื่องราวของมันซอยย่อยให้เป็นเรื่องความสัมพันธ์หลากรายหลายรูปแบบ ซึ่งเราจะเห็นความเชื่อมโยงกันทั้งหมดระหว่างผู้คนเหล่านั้น กับเหตุการณ์ในช่วงเวลาห้าสัปดาห์ก่อนวันคริสต์มาสที่ดำเนินไปจนถึงบทส่งท้าย
แต่ละวันในมหานครลอนดอนมีอะไรๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องร้าย และเรื่องรัก Love Actually มุ่งเน้นไปที่เรื่องรักภายใต้ 10 เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่เด็กน้อยไปจนถึงผู้ใหญ่ อาทิ ประธานาธิบดีที่ตกหลุมรักสาวใช้ในทำเนียบขาว, ภรรยาที่กำลังสงสัยว่าสามีปันใจให้คนอื่น, พ่อม่ายที่เพิ่งสูญเสียภรรยาและต้องดูแลลูกตามลำพัง, นักเขียนหนุ่มผู้หลบไปเลียแผลใจ แต่ดันไปตกหลุมรักอีกครั้ง หรือศิลปินหนุ่มที่แอบชอบแฟนสาวของเพื่อนสนิท
มวลเรื่องราวแห่งความรักนั้น มีทั้งเรื่องที่ชอกช้ำ เรื่องที่สมหวัง เรื่องที่ชวนเสียดาย และเรื่องที่แก้ไขอะไรไม่ได้อีก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ฉากบอกรักหน้าบ้านด้วยป้ายถ้อยคำต่างๆ ก็ยังคงตราตรึงและกลายเป็นมีมให้เห็นจนทุกวันนี้ ซึ่งบางทีก็ลามไปเป็นมีมที่ดัดแปลงไปใช้ในประเด็นการเมืองด้วยซ้ำ
Mean Girls (2004)
ภาพยนตร์วัยรุ่นที่มีเนื้อหาบางส่วนมาจากหนังสือ Queen Bees and Wannabes ของ โรซาลินด์ ไวส์แมน ทันที ทีน่า เฟย์ นักเขียนบทอ่านหนังสือจบลง เธอรู้ทันทีว่ามันเหมาะจะเป็นภาพยนตร์ และเธอก็ทำมันสำเร็จ
เรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มเด็กสาวชั้นมัธยมฯ ปลายที่ออกจะว้าวุ่นอยู่เหมือนกัน คาดี้ เฮรอน เพิ่งเคยได้เข้าโรงเรียนครั้งแรก เพราะเธอเรียนโฮมสคูลมาตลอด นั่นทำให้คาดี้ต้องปรับตัวใหม่หมด ลำพังแค่ย้ายโรงเรียนบางทียังทำใจยาก แต่นี่เหมือนเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไรอย่างนั้น โชคช่วยที่คาดี้ได้เพื่อนใหม่ในเวลาไม่นาน แถมยังมีที่ทางในแก๊งพลาสติก—กลุ่มนักเรียนหญิงที่โด่งดังมากในโรงเรียน ซึ่งพวกเธอจะน่าคบหาด้วยไหมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใครจะไปตัดสินความเป็นเพื่อนได้ หากยังไม่เห็นธาตุแท้กัน จริงไหม?
มีมที่เห็นได้บ่อยจากเรื่องนี้ก็คือฉากขับรถ “Get in, Loser.” ที่คนมักจะนำมาดัดแปลงให้กลายเป็น “Get in, ____, we’re _____” แบบสวยๆ เฟียร์ซๆ ปรายหางตาใส่กันไป
Napoleon Dynamite (2004)
ภาพยนตร์เล็กๆ เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสั้นเรื่อง Peluca ของผู้กำกับฯ จาเรด เฮสส์ ซึ่งมีจอน เฮเดอร์ เพื่อนสนิทของเขาเป็นนักแสดงนำ แต่จอนต่างหากที่เป็นคนจ่ายเงิน 1,000 เหรียญ เพื่อให้ตัวเองได้มารับบท นโปเลียน ไดนาไมต์
หลังการฉายภาพยนตร์ก็เกิดเทศกาล ‘Napoleon Dynamite’ ขึ้น ตั้งแต่ปี 2004-2008 ในเพลสตัน ไอดาโฮ เมืองที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเทศกาลดังกล่าวจะมีการแข่งขันรายการต่างๆ ตามฉากในภาพยนตร์ที่จอนได้ฝากความประทับใจไว้
นโปเลียน ไดนาไมต์ เป็นเด็กเนิร์ด 100% ตั้งแต่นิสัยยันการแต่งตัว เขาเป็นเด็กวัยรุ่นที่หน้าตาไปไกลเกินวัย พักอาศัยอยู่ในฟาร์มของลุงกับคิป พี่ชายที่ไม่ได้เอาใจใส่เขาเท่าไรนัก นโปเลียนมีบุคลิกประหลาด เข้ากับคนไม่ค่อยได้ แต่ก็พอจะมีเพื่อนอยู่บ้าง เขาไม่ใช่คนโดดเด่นอะไรเลย ความสามารถก็ไม่มี วันๆ ก็หมกมุ่นอยู่กับเรื่องไม่กี่เรื่อง คือการวาดภาพสัตว์เลี้ยง และสองสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คืองานเต้นรำ และการเลือกตั้งประธานนักเรียน
มีมที่เราเห็นจะมีทั้งภาพของนโปเลียน รวมถึงคิป—พี่ชายที่เอาแต่แชตกับสาวไปวันๆ
The Babadook (2014)
ภาพยนตร์สยองขวัญ–จิตวิทยาสัญชาติออสเตรเลีย ผลงานเรื่องแรกของ เจนนิเฟอร์ เคนท์ ที่ควบทั้งตำแหน่งนักเขียนบทและผู้กำกับฯ ความคิดแรกเริ่มของเธอในการสร้างผลงานมาจากลูกชายของเพื่อนเธอเอง เด็กชายตัวน้อยคนนั้นคิดว่าเขาเห็นสัตว์ประหลาดทุกที่ในบ้าน นั่นทำให้เคนท์คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสิ่งนี้เป็นความจริง มันจึงกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง Monster (2005) ก่อนจะมาถึง The Babadook (2014)
นิทานก่อนนอนควรจะเป็นสิ่งที่ทำทำให้เด็กเข้าสู่นิทราและฝันดี แต่ทันทีที่แม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างอมีเลีย อ่านหนังสือ The Babadook ให้แซมมวลฟัง เขาก็ยิ่งมั่นใจว่าสัตว์ประหลาดในจินตนาการมีชีวิตจริงๆ และนั่นคือ ‘บาบาดุค’ มันมีลักษณะคล้ายมนุษย์ รูปร่างสูง หน้าตาซีด และใส่หมวกทรงสูงตลอดเวลา ซึ่งแซมมวลเชื่อว่าบาบาดุคต้องการทำร้ายพวกเขาสองแม่ลูกให้เจ็บปวด แต่เมื่อแซมมวลพยายามเตือน แม่กลับไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูด
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องสยองขวัญ แต่ยังแฝงไว้ด้วยปมต่างๆ จากการเลี้ยงดูและปัญหาภายในครอบครัว การแสดงของเด็กชาย โนอาห์ ไวส์แมน ในบทแซมมวลนั้นโดดเด่นมาก ตัวละครมีการพัฒนาอารมณ์ไปเรื่อยๆ และฉากที่เขากรีดร้องที่กลายเป็นมีมก็แทบจะทำให้เรากรีดร้องตาม!
Midsommar (2019)
ภาพยนตร์เขย่าขวัญที่ไม่ได้มาหลอกหลอนเราในความมืด แต่เลือกมาในแสงสว่างสดใส ท่ามกลางหมู่มวลดอกไม้ และงานเฉลิมฉลอง Midsommar ผลงานของ แอรี แอสเตอร์ ผู้ท้าทายความสยองขวัญของผู้ชมด้วยมุมมองใหม่เสมอ ซึ่งเขาให้คำนิยามของเรื่องนี้ไว้ว่ามันคือ Wizard of Oz ในอีกเวอร์ชันหนึ่ง ที่ประกอบไปด้วยความหลอนในดินแดนที่เราไม่รู้จัก
กลุ่มวัยรุ่นอเมริกันตัดสินใจพากันเดินทางมายังหมู่บ้านอันห่างไกลในประเทศสวีเดน ก่อนมาถึงพวกเขาแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับที่นี่ มีแค่ข้อมูลเบื้องต้นที่เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟัง และเมื่อมาถึงก็พบกับบรรยากาศที่แตกต่างไปจากที่ที่พวกเขาจากมาทันที…ทุ่งหญ้า สายลม ผู้คน เสียงกระซิบกระซาบ พิธีกรรมสำคัญกำลังจะเกิดขึ้น เรียกได้ว่าทั้งกลุ่มนี้เดินทางมาในช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะ เพราะเทศกาลนี้จะจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 90 ปี เป็นเวลา 9 วัน และ 9 วันที่ว่านี้พระอาทิตย์จะไม่ลับไปจากท้องฟ้า แต่เมื่อยิ่งพวกเขาอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้กลับยิ่งเจออะไรแปลกๆ และเริ่มไม่แน่ใจว่าจะได้กลับบ้านของตัวเองอีกไหม… ซีนที่ถูกนำมาขยี้บ่อยที่สุดคือฉากการร้องไห้รวมหมู่ ซึ่งมักถูกแปะเติมด้วยข้อความต่างๆ นานา
Tags: Napoleon Dynamite, The Babadook, Midsommar, love actually, Vampire’s Kiss, Pulp Fiction, Toy Story 2, Mean Girls