ปัจจุบันเราอาจไม่คุ้นชินกับภาพยนตร์ขาวดำมากนัก ไม่ว่าจะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปหรือเทคโนโลยีก็ตาม ภาพยนตร์ที่เราได้ดูได้ชมส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์สี มีความอลังการงานสร้าง เทคนิคแพรวพราว และช่างน่าตื่นตาตื่นใจ การเริ่มต้นของภาพยนตร์สีจึงนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนของภาพยนตร์ขาวดำ แต่ก็ใช่ว่ามันจะตายจากไปจนไม่เหลือลมหายใจ

เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การสร้างภาพยนตร์สีนั้นเริ่มขึ้นในปี 1906 แต่ขณะนั้นมันก็ยังไม่สมบูรณ์มากนัก จนกระทั่งในปี 1920 เทคนิคคัลเลอร์ก็ทำให้ภาพยนตร์มีสีสันมากขึ้น ภาพยนตร์เรื่อง The Gulf Between (1917) เป็นเรื่องแรกที่ใช้เทคนิคนี้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสีที่ได้ก็จะยังไม่สวยงามเท่าไร จนมาถึงเรื่อง The Viking (1928) ที่สามารถให้สีได้เต็ม 100% และนับจากนั้นมันเป็เปลี่ยนผ่านจากขาวดำกลายมาเป็นสี

ในช่วงกลางทศวรรษ 1950s ภาพยนตร์ขาวดำยังผลิตออกมาประมาณครึ่งหนึ่งของภาพยนตร์ทั้งหมด แต่เมื่อการสร้างภาพยนตร์สีเข้าถึงได้ง่าย และฟิล์มสีมีราคาถูกลงมาก ภาพยนตร์ขาวดำก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมลดลงจนห่างหายไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าอย่างไรภาพยนตร์ขาวดำก็ยังปรากฎตัวอยู่เรื่อยๆ ตามวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ ซึ่งรายชื่อภาพยนตร์ด้านล่างนี้เป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้คุณพลาด เพราะมันเต็มไปด้วยสีสันที่ทั้งสดใสและหม่นหมอง ซ้ำยังให้สุนทรียะที่ต่างออกไปจนเราอาจลุ่มหลงไปกับมัน

The White Ribbon (2009)

The White Ribbon เขียนบทและกำกับโดยไมเคิล ฮาเนเก้ เขาพัฒนาโปรเจกต์นี้มากว่าสิบปี ซึ่งแรกเริ่มนั้นบทถูกเขียนออกมาเป็นมินิซีรีส์เพื่อฉายโทรทัศน์ แต่เมื่อไม่มีผู้อำนวยการสร้างคนไหนลงทุน เขาก็ระงับโปรเจกต์ไปพักใหญ่ ก่อนที่ผลงานชิ้นนี้จะถูกพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง

ในการคัดเลือกนักแสดงเด็ก ทีมงานสัมภาษณ์เด็กมากกว่า 7,000 คนในระยะเวลาหกเดือน แต่สำหรับบทบาทของผู้ใหญ่ในเรื่อง ไมเคิลเลือกที่จะใช้นักแสดงที่เคยร่วมงานด้วยมาก่อน ซึ่งเขารู้ดีว่าใครเหมาะสมกับบทบาทไหน

ฉากหลังของภาพยนตร์อยู่ที่ทางตอนเหนือของเยอรมนี โดยย้อนกลับไปยังช่วงกรกฎาคม 1913 ถึง สิงหาคม 1914 หมู่บ้านในความทรงจำของชายชราคนหนึ่งค่อยๆ ปรากฎขึ้น มันเป็นหมู่บ้านที่จะพาเราไปพบกับรากเหง้าของความรุนแรง ซึ่งถึงที่สุดแล้วมันก็ปะทุออกจนกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด และความเน่าหนอนที่บ่อนเซาะอยู่ภายใน

หมู่บ้านแห่งนี้เต็มไปด้วยหลากหลายครอบครัว ซึ่งแต่ละครอบครัวก็มีความเป็นอยู่และวิธีดูแลลูกหลานของตัวเองในแบบต่างๆ กัน แต่ว่าการอบรมเลี้ยงดูนั้นถูกต้องเหมาะควรจริงหรือ วิธีที่พวกผู้ใหญ่ปฏิบัติต่อเด็กๆ บ่มเพาะเมล็ดอะไรลงไปในตัวพวกเขา เด็กๆ ซึมซับอะไรไป แสดงออกอย่างไร บรรดาพ่อๆ แม่ๆ อยากหล่อหลอมให้ลูกเติบโตมาเป็นคนดี แต่ทุกอย่างดูจะกลับตาลปัตรไปหมด เหตุการณ์เลวร้ายค่อยๆ เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ความสูญเสียลุกลามไปเคาะประตูแต่ละบ้านให้เปิดออก สิ่งที่พวกเขามอบให้กำลังสะท้อนกลับคืน ความไร้เดียงสากลายเป็นความโหดร้าย ซึ่งคนที่ปลูกฝังให้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพวกผู้ใหญ่เองและสังคมที่บิดเบี้ยว แม้ภาพยนตร์จะไม่ได้บอกโต้งๆ ว่าโศกนาฏกรรมนี้เป็นฝีมือใครกันแน่ แต่มันก็ไม่ยากนักที่คาดเดาว่าอะไรเป็นอะไรจากความอำมหิตผิดมนุษย์นั่น

The Artist (2011)

The Artist ภาพยนตร์ฝรั่งเศสผลที่นำเสนอในแบบของหนังเงียบขาว-ดำ ที่เหมือนว่าผู้กำกับตั้งใจพาเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนไปยังช่วงต้นของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในศตวรรษที่หนังเงียบได้รับความนิยมสูงสุด และมันกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง

นักแสดงนำในเรื่องทั้งสองคน ได้แก่ ฌอง ดูฌาร์แดง และเบเรนีซ เบโจ ต้องซ้อมเต้นเป็นเวลากว่าห้าเดือนก่อนที่จะเริ่มการถ่ายทำ พวกเขาฝึกซ้อมทุกวันในสตูดิโอเดียวกับที่เดบบี เรย์โนลส์ และจีน เคลลี เคยฝึกซ้อมสำหรับ Singin ‘in the Rain (1952) เบโจเล่าว่ามันยากมากจริงๆ แม้แต่ตอนที่ชมภาพยนตร์ เธอไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเธอทำมันได้ และราวกับรู้สึกได้ถึงความเจ็บที่เกิดขึ้นจากการซ้อมหนัก

เรื่องราวเกิดขึ้นระหว่างปี 1927-1932 จอร์จ วาเลนติน เป็นดาราชายที่โด่งดังในยุคหนังเงียบ เขาประสบความสำเร็จอย่างล้มหลาม มากความสามารถ และมีความทะนงตนอยู่ในที ในช่วงเวลาแห่งความสำเร็จนี้เองที่ทำให้เขาได้เจอกับแฟนคลับ เป๊ปปี้ มิลเลอร์ หญิงสาวที่ใฝ่ฝันจะก้าวเข้ามาในแสงไฟ แล้วคว้าชื่อเสียงไว้ในมือบ้าง การพบกันนี้ทำให้พวกเขาได้ผูกสัมพันธ์ต่อกัน แต่ก็ไม่ได้เกินเลยไปว่านั้น เพราะจอร์จมีคนรักอยู่แล้ว

วันเวลาผ่านไป โลกหมุนเดิน และกำลังถึงจุดเปลี่ยน การถ่ายทำภาพยนตร์เองก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดสิ้นสุดของยุคหนังเงียบ แล้วเทนที่ด้วยหนังพูดแทน แต่จอร์จยังคงยึดมั่นในความคิดของตัวเองว่าหนังพูดก็เป็นแค่แฟชั่นเท่านั้น ส่วนหนังเงียบจะยังสามารถรุ่งเรืองได้อีก ซึ่งเขาคิดผิด  และทำให้ตัวเองตกต่ำลงเรื่อยๆ ต่างกับเป๊ปปี้ที่เจิดจรัสเป็นดาวดวงใหม่ เธอปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังเป็นห่วงเป็นใยจอร์จอยู่ไม่ห่าง เธอไม่ต้องการเห็นเขาจมลงไปในหลุมลึก ดังนั้น เป๊ปปี้จึงตัดสินใจที่จะคว้ามือจอร์จให้ลุกขึ้นมาอีกครั้ง การยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ยอมโอนอ่อนเลยมีแต่จะทำให้แพ้ ฉะนั้นแล้วหากต้องการอยู่รอดบางครั้งเราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแล้วฟาดฟันมันในอีกวิธีหนึ่งแทน! 

Blancanieves (2012)

เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของสโนว์ไวท์กันมาแล้ว หญิงงามที่โดนวางยาด้วยแอปเปิ้ล และรอคอยจุมพิตจากเจ้าชายเพื่อฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง นี่เป็นเรื่องราวที่ถูกหยิบมาดัดแปลงหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นทีของพาโบล เบอร์เกอร์ ที่นำนิยายคลาสสิคมาตีความใหม่ และเล่าออกมาในรูปแบบหนังเงียบขาว-ดำ 

แรงบันดาลใจของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อพาโบลเห็นรูปถ่ายที่คนแคระสู้กับวัวกระทิง EspañaOculta (1989) ของช่างภาพชาวสเปน คริสติน่า การ์เซีย โรเดโร แล้วเขาก็เริ่มเขียนบทตั้งแต่ช่วงปี 2003 แต่กว่าจะได้ถ่ายทำจริงๆ ก็ในอีก 8 ปีต่อมา และยังได้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ของสเปนที่ส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 2012 ด้วย

เรื่องราวเปิดตัวด้วยมาธาดอร์ผู้โด่งดัง อันโตนิโอ วิลลาทา เขาวาดลวดลายความเก่งกาจอยู่ในสนามประลอง และเขาคงจะคว้าชัยชนะเหนือวัวกระทิงไปได้หากไม่ประสบอุบัติเหตุเข้า ทุกอย่างผิดพลาดไปหมดจนเขากลายเป็นอัมพาต ซึ่งในวันเดียวกันนี้เองภรรยาเขาก็คลอดลูกและตายจากไปโดยที่ยังไม่ทันได้กอดเจ้าตัวเล็กเลยด้วยซ้ำ

ไม่นานหลังจากนั้นอันโตนิโอก็แต่งงานใหม่กับเอนคาร์นา อดีตนางพยาบาลที่หวังเพียงเงินทองของเขา ภายใต้ใบหน้าใจดีนั้นกลับไร้ความปราณี ส่วนคาร์เมน ลูกสาวของอันโตนิโอก็ไปอยู่บ้านคุณย่า เธอได้รับการดูแลอย่างดี จนกระทั่งย่าก็เสียชีวิตไป เอนคาร์นาจึงต้องรับเธอมาเลี้ยงอย่างช่วยไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะให้ความเป็นอยู่ที่ดี คาร์เมนต้องนอนในโรงนา ทำงานอย่างหนัก และถูกห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้ขึ้นไปชั้นสองของบ้าน เพราะพ่อเธออยู่บนนั้น แถมยังไม่เคยได้รับการดูแลใดๆ ความอยากรู้อยากเห็นของเด็กน้อยมากพอจะแหกกฎ คาร์เมนจึงแอบเข้าไปในคฤหาสน์ เธอพบกับพ่อผูกพันกันด้วยสายเลือดและเรื่องราว ศิลปะการต่อสู้กับวัวกระทิงถูกถ่ายทอดให้เด็กน้อย ซึ่งวันหนึ่งเธอคงเติบใหญ่จนปีกกล้าขาแข็งพอจะหลุดจากวังวนแห่งความโชคร้ายนี้! แต่ในเมื่อเรื่องอยู่ภายใต้ธีมของสโนว์ไวท์ ชีวิตของคาร์เมนจะมีความสุขได้จริงๆ ไหม หรือต้องตายด้วยแผนการของแม่เลี้ยงใจร้าย? ที่แน่ๆ มันมีความมืดหม่นอย่างนิทานกริมม์ฉบับดั้งเดิมอยู่มากทีเดียว ใครอยากรู้ว่าพาโบลตีความใหม่ในแบบไหนต้องไปหามาดู

Ida (2013)

ผู้กำกับ ปาเวล ปาวลีคอฟสกี เกิดและเติบโตที่โปแลนด์ถึงช่วงอายุ 14 ปี หลังจากปี 1971 เขากับแม่ก็ย้ายไปอยู่ที่อังกฤษ ในการสร้างภายนตร์เรื่องนี้สำหรับปาเวล มันจึงเหมือนเป็นการพยายามย้อนไปในวันวาน รื้อฟืนโปแลนด์ในความทรงจำ และถ่ายทอดมันออกมา

ในขั้นตอนการเลือกนักแสดงนำ ปาเวลประสบปัญหาในการคัดเลือกนักแสดงอยู่นาน เขาสัมภาษณ์ไปมากกว่า 400 คน แต่ก็ยังไม่พบคนที่ถูกใจ จนเพื่อนของปาเวลไปเจออากาธา เซบูชอฟสกา เข้า และแนะนำให้พวกเขาได้เจอกัน ซึ่งแม้ว่าอากาธาจะไม่เคยมีประสบการณ์ในการแสดงมาก่อน เธอก็ตกลงที่จะไปพบกับปาเวล เพราะเธอเป็นแฟนภาพยนตร์เรื่อง My Summer of Love (2004)

อิดา เด็กสาวกำพร้าที่เติบโตมาในคอนแวนต์โปแลนด์ เธอใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเด็กสาวคนอื่นๆ ซิสเตอร์ทั้งหลาย และความเรียบง่ายของชีวิต อนาคตของเธอที่วางไว้ก็คือการเป็นนักบวช เดินไปบนเส้นทางแห่งศีลธรรมอย่างที่เคยเป็นมา แต่อยู่ๆ ชีวิตเธอก็เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนเล็กๆ เมื่อซิสเตอร์ใหญ่พบญาติของเธอที่ยังมีชีวตอยู่ คนๆ นั้นน่าจะเป็นเพียงคนเดียวที่รู้เรื่องเกี่ยวกับครอบครัวของอิดา เธอจึงได้รับอนุญาตให้ไปเยี่ยมป้า และผจญกับโลกกว้าง

เมื่อได้พบกับป้าแวนดา สิ่งต่างๆ รอบตัวของอิดาก็เปลี่ยนไป มันเป็นครั้งแรกที่เธอรู้ว่าตัวเองเป็นใคร เธอมีเชื้อสายยิว พ่อแม่ถูกฆ่าตายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และป้าที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวก็เต็มไปด้วยความแค้นและความทุกข์ เธอดูเป็นหญิงกร้านโลก เจนจัดในเรื่องอบายมุก มีความสัมพันธ์อย่างไม่คิดผูกพัน ป้ายังบอกกับอิดาด้วยว่าก่อนที่จะตัดสินใจทำตามคำปฏิญาณ เธอก็ควรลองทำบาปและมีความสุขกับโลกใบนี้เสียก่อน ในระหว่างการเดินทางตามหาศพพ่อแม่ของอิดา หญิงสาวต่างวัยสองคนจึงได้ใช้เวลาร่วมกัน เปลือกที่มีค่อยๆ หลุดลอกออก และหัวใจของทั้งคู่จะต้องสั่นคลอนเพราะการได้มาพบกัน

Roma (2018)

ผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับอัลฟอนโซ กัวรอน ซึ่งเป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติ นำเสนอเรื่องราวของคนใกล้ชิด โดยร้อยเรียงผ่านประวัติศาสตร์ของเม็กซิโกในช่วงที่บ้านเมืองยังคุกรุ่นไปด้วยปัญหาต่างๆ มากมาย

อัลฟอนโซเป็นเพียงคนเดียวที่รู้เรื่องราวและทิศทางทั้งหมดของภาพยนตร์ ก่อนการถ่ายทำในแต่ละวันเขาจะยื่นบทให้กับนักแสดง และเก็บเกี่ยวทุกอารมณ์ที่ไม่คาดฝันของนักแสดงไว้ นั่นหมายความว่าความวุ่นวายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ

ชื่อภาพยนตร์ Roma หากเขียนเรียงใหม่จากหลังไปหน้าคือ ‘amor’ คำนี้หมายถึงความรักในภาษาสเปน

Roma เป็นเรื่องราวในช่วงปี 1971 ของประเทศเม็กซิโก โดยเล่าเรื่องผ่านครอบครัวชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่งในย่านโรม่า ผ่านมุมมองและสายตาของสาวใช้ในบ้านอย่าง คลีโอ เธอดูแลบ้านร่วมกับสาวใช้อีกสองคน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่ ตั้งแต่การดูแลเด็กๆ ซักผ้า เก็บกวาดบ้าน หุงหาอาหาร แต่นอกเหนือไปจากภาระงานแล้วเธอก็ยังมีชีวิตในแบบอื่นอย่างใครๆ เขา คลีโอมีความรัก คบหาชายหนุ่ม วันหยุดไปออกเดท และมีสัมพันธ์ลึกซึ้ง โดยที่ไม่รู้เลยว่าสักวันเขาจะจากไปอย่างไม่ไยดี

เมื่อคลีโอตั้งท้อง เขาก็ทิ้งเธอ ในจังหวะเดียวกับที่คุณผู้ชายในบ้านก็ทอดทิ้งภรรยาและลูกๆ ไปอยู่กับผู้หญิงคนอื่น บ้านทั้งบ้านอับเฉา ผู้หญิงสองคนต้องยืดหยัดต่อสู้กับความสูญเสีย พวกเธอแตกสลาย เจ็บปวดสาหัสเพราะมรสุมชีวิตซัดสาด แต่การจมปลักกับความเศร้าย่อมไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ดังนั้นเพื่อที่จะลุกขึ้นเดินหน้าต่อพวกเขาทั้งหมดจึงต้องช่วยเหลือกันและกัน ปลอบประโลมกันและกัน และไม่ทอดทิ้งกันและกัน อย่างเช่นที่พวกเขาโดนทอดทิ้งมา