เชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยประสบปัญหาการวนอยู่หน้าเมนูเน็ตฟลิกซ์มาบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าวันไหนมีหนังในดวงใจที่เพิ่งลงใหม่ มีซีรีส์ที่ตั้งตาคอย มีบางเรื่องที่ต้องตามเก็บ การตัดสินใจดูก็คงง่ายขึ้นและไม่เสียเวลามากนัก แต่บางทีเราก็ไม่แน่ใจนักว่าจะดูอะไร สยองขวัญก็อยากดูนะ แต่ให้ดูคนเดียวคงไม่ไหว โรแมนติกก็เข้าท่านะ แต่ไม่ได้อยู่ในอารมณ์รักๆ เกรงจะไม่อิน หรือสารคดีก็น่าจะโอเค แต่อยากดูอะไรผ่อนคลายมากกว่า สรุปแล้วเราใช้เวลาในการตัดสินใจเลือกอย่างยาวนาน ซึ่งบางครั้งจบลงที่ปิดเน็ตฟลิกซ์แล้วเข้านอน วันนี้ดูอะไรดี กลายเป็นคำถามยากไม่ต่างจาก วันนี้กินอะไรดี ดังนั้น ถ้าใครกำลังเผชิญหน้ากับคำถามนี้อยู่ เราคัดภาพยนตร์ห้ามพลาดมาให้ 5 เรื่อง ไล่ตั้งแต่ลำนำโลกคาวบอยไปจนถึงมหากาพย์โลกมาเฟีย แล้ววันนี้คุณจะได้ไม่ต้องเข้าหมวดนั้นออกหมวดนี้จนถอดใจแล้วปิดไฟไปทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มต้นดูอะไรเลย

The Ballad of Buster Scruggs (2018)

ภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนบทและกำกับโดยพี่น้องโคเอน เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นทั้งหมดหกบท และร้อยเรียงกันผ่านหนังสือนิยายเรื่อง The Ballad of Buster Scruggs ลำนำอันขื่นขมนี้แวดล้อมไปด้วยเรื่องราวของคาวบอย การดวลปืน คณะละครเร่ การแสวงโชค อินเดียนแดง และการต่อสู้ในโชคชะตาของแต่ละคน

ตอนที่ 1 – บัสเตอร์ สครักส์ เสือปืนไวผู้ขับขานบทเพลงและเรื่องราวของตะวันตก ชีวิตของเขากำลังคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นกับความตาย แต่ก็ยังไม่วายทิ้งลวดลายความยียวนทั้งฝีปากและฝีมือ, ตอนที่ 2 – คาวบอยหนุ่มที่ริอ่านปล้นธนาคารที่ขึ้นชื่อว่าปล้นยากที่สุด การปะทะกันจึงเกิดขึ้น เสียงปืนดังไปทั่ว เมื่อรู้สึกตัวอีกทีเขาก็ถูกรัดรึงด้วยเชือก เตรียมถูกตัดสินให้ตายโดยการแขวนคอ แต่ไม่แน่ว่าเขาอาจยังไม่ถึงเวลาตายก็ได้, ตอนที่ 3 – ทุกพื้นที่มีเรื่องเล่าและนักเล่าเรื่อง ตอนนี้จึงเป็นบทของคณะละครเร่ ที่มีชายพิการไร้แขนขาเป็นนักเล่า เมื่อเดินทางไปถึงหมู่บ้านหนึ่ง หัวหน้าคณะก็จะพาเขาออกมาเปิดหมวก หารายได้น้อยนิดจากคนที่มานั่งฟัง แต่เมื่อกำไรลดลงเรื่อยๆ มูลค่าชีวิตของนักเล่าก็หดลงไปตาม และอาจน้อยกว่าไก่หนึ่งตัวด้วยซ้ำ, ตอนที่ 4 – ธรรมชาติสรรค์สร้างทุกสิ่ง ส่วนมนุษย์นั้นก็ไขว่คว้าทุกอย่าง ชายแก่ผู้แสวงโชคจึงเดินทางไปกลางป่าเขา ตามหาขุมทรัพย์ที่ซุกซ่อนอยู่ โดยมีอันตรายกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้, ตอนที่ 5 – ดินแดนตะวันตกนั้นดูจะเป็นโลกของชายหนุ่มมากกว่าหญิงสาว ภาพของอลิซในทีแรกจึงเต็มไปด้วยความใสซื่อ คล้อยตามสิ่งต่างๆ ได้โดยง่าย แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องเด็ดขาด เธอก็เด็ดเดี่ยวได้เหมือนกัน และตอนที่ 6 – การเดินทางของคนแปลกหน้าที่มีทั้งคนเป็นและคนตาย พวกเขาต้องอยู่บนรถคันเดียวกันซึ่งมุ่งหน้าไปเรื่อยๆ ยังปลายทาง สิ่งเดียวที่พวกเขาพอจะทำได้ระหว่างนี้ก็คือการพูดคุยถึงสิ่งต่างๆ ที่อาจเห็นพ้องหรือไม่เห็นพ้องกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องของความเป็นและความตายนั่นเอง

หากดูโดยภาพรวมแล้ว เราคงกล่าวได้ว่าทุกเรื่องถูกโยงไว้กับความตายทั้งหมด การดิ้นรนต่อสู้ชีวิตระหว่างทางคือสิ่งที่เราต้องเผชิญ ความไม่แน่นอนสามารถกระชากลากถูเราได้ทุกเวลา กลิ่นอายของเรื่องเล่านั้นเข้มข้นและชวนติดตาม ซึ่งเราได้แต่เอาใจช่วยให้ตัวละครนั้นรอดพ้น หากวันนี้จะยังเป็นของพวกเขา

Velvet Buzzsaw (2019)

ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับ แดน กิลรอย ที่เคยฝากผลงานสุดแสบสันต์ไว้ใน Nightcrawler (2014) และ Roman J. Israel, Esq. (2017) โดยคราวนี้แดนจะก้าวเข้าไปในอีกแวดวงหนึ่ง แล้วผูกปมเรื่องไว้ด้วยความสยองขวัญอย่างที่เขาถนัด

ไอเดียแรกเริ่มของแดนผุดขึ้นมาในปี 2017 เขากำลังเดินวนอยู่ในอาร์ตแกลเลอรีที่บีคอน นิวยอร์ก มันเป็นวันอังคารหลังวันคริสต์มาสประมาณห้าโมงเย็น แกลอรี่ใหญ่แทบจะร้างคน แล้วเมื่อเขาลงไปที่ชั้นใต้ดิน และพบกับงาน Installation ที่ฉายอยู่ เขาก็รู้สึกว่ามันเป็นสถานที่ดีสำหรับภาพยนตร์สยองขวัญ

Velvet Buzzsaw เล่าเรื่องของมอฟ แวนเดอวัล นักวิจารณ์ศิลปะผู้มีชื่อเสียงและฝีปากจัด เขาช่ำชองในงานที่ทำ สามารถแสดงความคิดเห็นให้คนคล้อยตามได้ บางครั้งถึงขนาดชี้เป็นชี้ตายแก่ศิลปินได้เช่นกัน เมื่อสิ่งที่เขาเขียนนั้นมีค่าจึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าของแกลเลอรี่ทั้งหลายอยากจะเข้าถึงตัวเขา โรโดราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอฉลาด เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว และมีศิษย์เป็นสาวผู้ทะเยอทะยานอย่าง โจเซฟีน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับมอฟ

โจเซฟีนค้นพบงานศิลปะล้ำค่าโดยบังเอิญ เพราะชายแก่ร่วมอพาร์ตเมนต์เสียชีวิตไป เธอถือวิสาสะเข้าไปในห้องของเขา และมันก็เต็มไปด้วยผลงานของคนตาย ลวดลายนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทว่าก็มีความมืดมนแอบแฝงอยู่ เธอขโมยผลงานเหล่านั้นมาให้มอฟและโรโดราได้เชยชม ซึ่งทุกคนที่ได้เห็นต่างก็หลงใหลมัน พวกเขาคาดว่ามันจะกลายเป็นผลงานชิ้นเอก แต่ไม่มีอะไรได้เปล่า เมื่อภาพไม่ได้เป็นแค่ภาพ มันมีชีวิตที่ซุกซ่อนหายนะเอาไว้ แล้วตอนนี้มันก็พร้อมเอื้อมมือออกมาคว้าลมหายใจของผู้ครอบครองแล้ว

แม้ว่าภาพยนตร์จะเคลือบไว้ด้วยความสยองขวัญ แต่สิ่งที่แดนพาเราไปขุดคุ้ยจริงๆ เป็นเบื้องหลังอันไม่สวยงามของวงการศิลปะเสียมากกว่า มันมีทั้งการแย่งชิง หลอกล่อ กลโกง เงินทอง และผลประโยชน์ อุตสาหกรรมศิลปะเองก็ไม่ได้งดงามอย่างที่เห็น มุมหนึ่งมันก็ฟอนเฟะอยู่เหมือนกัน

The King (2019)

ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงมาจากวรรณกรรมของวิลเลียม เชกสเปียร์ เล่าเรื่องพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 กษัตริย์แห่งราชวงศ์อังกฤษที่ขึ้นมามีบทบาทหลังการจากไปของบิดา โดยด้านการแสดงนั้นได้นักแสดงหนุ่มสองคนมาขับเคี่ยวกัน ได้แก่ ทิโมธี ชาลาเมต์ และ โรเบิร์ต แพตทินสัน และด้วยความบังเอิญทิโมธีมีชื่อกลางจริงๆ ว่า ฮัล ซึ่งตรงกับชื่อเจ้าชายพอดี

ในเรื่องราวที่ปรากฎอยู่นี้ ตัวละครทุกตัวมีตัวตนอยู่จริง ยกเว้น จอห์น ฟอลสตาฟฟ์ ซึ่งเชกสเปียร์อ้างอิงเขามาจากจอห์น โอลด์คาสเทิล แต่เขาต้องเปลี่ยนชื่อเสีย เนื่องจากอิทธิพลของตระกูลโอลด์คาสเทิล ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจอห์นกับเจ้าชายฮัลในเรื่องจึงไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย

แม้ว่าจะเป็นลูกของกษัตริย์ แต่เจ้าชายฮัลก็ไม่ได้มีสิทธิในการครองบัลลังก์อย่างเต็มตัว ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ประเด็นอะไร เพราะเขาเองไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นอยู่แล้ว เขาไม่เห็นด้วยกับสงครามที่ก่อ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กษัตริย์ทำ และไม่เห็นด้วยที่จะใช้ชีวิตภายใต้เงาเหล่านั้น หากบัลลังก์ว่างเปล่า คนที่จะขึ้นมาแทนที่ก็คงเป็นโธมัส น้องชายผู้ห้าวหาญ

แต่สถานการณ์ต่างๆ บีบบังคับให้ฮัลต้องขึ้นมาแทนที่ กษัตริย์สิ้นพระชนม์ โธมัสถูกสังหารคาสนามรบ บ้านเมืองคุกรุ่น ข้าศึกรอบด้านประชิดตัว เจ้าชายฮัลจึงขึ้นครองบัลลังก์ในนามกษัตริย์เฮนรี่ที่ 5 สิ่งแรกที่เขาพยายามจะทำคือคืนความสงบให้ประชาชน ไม่ทำสงคราม และหวังว่าสันติภาพจะเกิดขึ้น แต่นั่นดูเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เมื่อเขาถูกดูแคลนจากฝรั่งเศส ฮัลจึงลุกขึ้นแสดงความเด็ดเดี่ยวในฐานะกษัตริย์ และตัดสินใจยกทัพไปบุกฝรั่งเศส นี่เป็นส่วนเสี้ยวของสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส สงครามที่เรามักเชื่อเสมอว่าจะก่อให้เกิดสันติภาพตามมา แล้วมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ…

ภาพยนตร์ไม่ได้มีท่าทีเชิดชูพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 แต่ขยายออกมาให้เราเห็นภาพรวมของการศึกครั้งสำคัญ อะไรคือเหตุ อะไรคือปัจจัย และอะไรคือหนทางให้เราแต่ละคนบรรลุความสำเร็จ ความขัดแย้งกำลังขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วฝ่ายหนึ่งก็ต้องคว้าชัยชนะไปบนเลือดเนื้อของอีกฝ่ายหนึ่ง

The Two Popes (2019)

The Two Popes อ้างอิงมาจากชีวประวัติและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านพระสันตะปาปาสังฆราชาแห่งคริสตจักร ถึงสองครั้งสองคราในระยะเวลาเพียงไม่ถึงสิบปี ภาพยนตร์มีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สุนทรพจน์ และการอภิปรายทางศาสนาที่มีการตีพิมพ์  แต่บทสนทนาส่วนตัวระหว่าง ฮอร์เฮ มาริโอ เบร์โกกลิโอ และ โยเซฟ รัทซิงเงอร์ ส่วนใหญ่มาจากการคาดเดา

ผู้กำกับ เฟร์นันโด เมเรลเลส เห็น โจนาธาน ไพร์ส ขณะที่กำลังค้นรูปโป๊ปฟรานซิสทางอินเทอร์เน็ต รูปถ่ายของทั้งคู่คล้ายคลึงกันมาก และรูปไพร์สมักจะปรากฎปะปนอยู่ในรูปของโป๊ปฟรานซิสเสมอ สิ่งนี้ทำให้เฟร์นันโดตามไปดูทั้งผลงานและบทสัมภาษณ์ ท้ายที่สุดเขาก็มอบบทนี้ให้แก่ไพร์สไป

ในเดือนเมษายน 2005 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 สวรรคตลง คณะพระคาร์ดินัลจึงต้องเลือกโป๊ปองค์ใหม่โดยการลงคะแนนเสียง ซึ่งครั้งนี้เป็นการเชือดเฉือนกันระหว่างสองฝ่าย ได้แก่ โยเซฟ รัทซิงเงอร์ สนับสนุนโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยม กับฮอร์เฮ มาริโอ เบร์โกกลิโอ สนับสนุนโดยกลุ่มเสรีนิยม และผลที่ออกมาก็คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้รับคะแนนเสียงมากกว่า

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 จึงมีบทบาทนับจากนั้นมา แต่ระหว่างหลายปีนั้นศาสนาคริสต์ก็เกิดเรื่องฉาวโฉ่ขึ้นมากมาย และไม่ว่าจะด้วยเหตุบังเอิญหรือพระเจ้ายื่นมือเข้ามาช่วย โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ได้พบกับโป๊ปฟรานซิสอีกครั้ง เขาไม่ได้บอกจุดประสงค์ของตนแต่แรกว่าอยากพบด้วยเรื่องอะไร ส่วนโป๊ปฟรานซิสนั้นชัดเจนว่าเขาต้องการวางมือจากการรับใช้ศาสนาแล้ว

ในทีแรกเราจะได้เห็นทั้งคู่เพียงด้านเดียว แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ ความเป็นมนุษย์ของทั้งสองจะค่อยๆ เผยออกมา ไม่ว่าใครก็มีทั้งมุมเด็ดเดี่ยวและอ่อนแอ มุ่งมั่นและท้อถอย แต่ในความเงียบงันนั้น หากเงี่ยหูฟังดีๆ เราก็จะพบความสงบซุกซ่อนอยู่ ทั้งสองได้สารภาพบาปแก่กันและโปรดบาปแก่กัน ไม่นานจากนั้นโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ก็สละสมณศักดิ์โดยสมัครใจ ซึ่งผู้ที่ถูกเลือกให้มารับตำแหน่งโป๊ปองค์ใหม่นั้นได้แก่ โป๊ปฟรานซิส นั่นเอง

The Irishman (2019)

หากเอ่ยถึงภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ ชื่อของผู้กำกับคนแรกที่เรานึกถึงก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากมาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับรุ่นใหญ่ที่ยังคงสร้างผลงานเรื่อยมา แม้ว่าเรี่ยวแรงที่มีจะลดน้อยถอยลง โดยครั้งนี้เขานำเรื่องราวจากหนังสือ I Heard You Paint Houses ของชาร์ลีส์ แบรนด์ต มาดัดแปลง ว่าด้วยชีวิตมือปืนชาวไอริชนาม แฟรงก์ ชีแรน ซึ่งเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมสำคัญช่วงกลางยุค 70s

นอกจากจะมีผู้กำกับฝีมือดีแล้ว สิ่งที่หลายคนตั้งตาคอยใน The Irishman ก็คือการปรากฎตัวของนักแสดงวัยเก๋าที่หลายคนคิดถึง ซึ่งยกทัพมาทั้ง โรเบิร์ต เดอ นีโร, อัล ปาชิโน และโจ เปสซี นักแสดงแต่ละคนจะต้องเล่นเป็นตัวเองตลอดทั้งเรื่องไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนๆ ดังนั้นมาร์ตินจึงตัดสินใจใช้ CGI ในการลดอายุของแต่ละคน แต่อย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาก็คือแม้ว่าหน้าตาพวกเขาจะดูเยาว์กว่าความเป็นจริง แต่การเคลื่อนไหวก็ไม่สามารถกระฉับกระเฉงได้เท่าเดิม เพราะฉะนั้นทั้งหมดจึงต้องพยายามมากยิ่งขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวให้ได้ตามอายุที่กำลังแสดงอยู่

แฟรงก์ ชีแรน ชาวไอริชที่เคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากมีชีวิตรอดกลับมาเขาก็หันไปรับอาชีพพนักงานขับรถ แต่วันดีคืนดีเขาก็ไปรู้จักกับกลุ่มมาเฟียอิตาลีในสหรัฐอเมริกา และเริ่ม ‘รับใบสั่งงาน’ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ‘รับจ้างทาสีบ้าน’ ให้กับมาเฟียกลุ่มนี้ ซึ่งแก๊งนี้นำโดย รัสเซล บัฟฟาลิโน ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจดำมืดหลายๆ อย่าง

แต่ด้วยความที่แฟรงก์ไม่ได้มีเชื้อสายอิตาลี นั่นจึงส่งผลให้เขาไม่ถูกยอมรับเท่าที่ควรในแวดวงมาเฟีย แม้ในทางปฏิบัติเขาจะได้รับความไว้วางใจจากคนใกล้ชิดเป็นอย่างมาก และนี่เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้ทำงานหลักเป็นมือขวาของจิมมี ฮอฟฟา ประธานสหภาพแรงงาน ชีวิตของเหล่าผู้มีอิทธิพลได้สัมผัสกับชื่อเสียงและลาภยศ แต่ในโลกสีเทานี้ไม่มีทั้งมิตรแท้และศัตรูถาวร การจะมีชีวิตรอดอยู่ได้จำเป็นต้องคอยระวังหลังตลอดเวลา เพราะถ้าใครพลาด นั่นหมายความเขาคงลืมตาตื่นมาอีกครั้งในชีวิตหลังความตายเท่านั้น