ใครที่คุ้นชื่อ ยอร์โกส ลันธิโมส (Yorgos Lanthimos) อยู่แล้วคงไม่แปลกใจอีกต่อไป กับอารมณ์ขันหน้าตาย บรรยากาศโหดร้ายเย็นชา สายตาวิพากษ์ถากถาง และพฤติกรรมประหลาดโลกของตัวละครอันเป็นลายเซ็นในหนังทุกเรื่องของเขา ไม่ว่าจะเป็น Dogtooth (2009), Alps (2010) หรือ The Lobster (2015) ที่เพิ่งสร้างกระแสฮิตเล็กๆ ในหมู่นักดูหนังชาวไทยไปเมื่อตอนที่เข้าฉาย ผู้กำกับชาวกรีกคนนี้ยังคงเดินหน้าทำหนังนอกบ้านเกิดต่อไปกับ The Killing of a Sacred Deer ผลงานซึ่งเพิ่งไปฉายเปิดตัวในสายประกวดเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ และคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครอง
หนังยังคงเขียนบทโดยลันธิโมสร่วมกับ เอฟธีมิส ฟิลิปโป (Efthymis Filippou) มือเขียนบทคู่บุญของเขา เล่าเรื่องราวของ สตีเฟน เมอร์ฟี (โคลิน ฟาร์เรลล์ ที่กลับมาร่วมงานกับลันธิโมสอีกครั้งหลังจาก The Lobster) ศัลยแพทย์หัวใจมือดีที่สานสัมพันธ์อย่างลับๆ กับ มาร์ติน (แบร์รี คีโอแกน จาก Dunkirk) เด็กหนุ่มผู้สูญเสียพ่อของตนไปในการผ่าตัดครั้งที่สตีเฟนดื่มแอลกอฮอล์ไปไม่นานก่อนหน้า แรกเริ่มความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ดูไม่น่ามีพิษภัยใด สตีเฟนกลบความรู้สึกผิดบาปด้วยการซื้อของขวัญมาเอาใจมาร์ตินอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่นานหลังจากที่เขานำมาร์ตินไปแนะนำให้ภรรยา (นิโคล คิดแมน) กับลูกๆ ของตนรู้จัก ความชิบหายวายป่วงทั้งปวงจึงบังเกิด
อาจกล่าวได้ว่าเงื่อนไขสำคัญในหนังของลันธิโมสคือการวางรั้วรอบกรอบกั้นให้ตัวละครถูกจำกัดอยู่ในสังคมปิดแล้วสำรวจดูพลวัตความสัมพันธ์ที่พลุ่งพล่านอย่างเงียบงันอยู่ภายใน
ใน Dogtooth มันคือครอบครัวบิดเบี้ยวที่พ่อแม่สร้างกฎเกณฑ์ประหลาดมาควบคุมการรับรู้โลกภายนอกของลูกๆ (ห้ามออกนอกบ้านจนกว่า ‘ฟันหมา’ จะหลุด, แมวคือสัตว์ร้ายที่คอยจ้องเขมือบคน, ‘คีย์บอร์ด’ แปลว่าจิ๋ม และ ‘จิ๋ม’ แปลว่าไฟดวงใหญ่!) ใน Alps มันคือองค์กรพิลึกที่รับจ้างสวมบทเป็นคนที่ตายไปแล้วเพื่อให้คนที่ยังอยู่ทำใจได้ง่ายขึ้น ใน The Lobster มันคือโรงแรมคนโสดที่หากหาคู่ไม่ได้ภายในวันที่กำหนดจะต้องกลายร่างไปเป็นสัตว์ชั่วชีวิต
เงื่อนไขที่รัดรึงชีวิตตัวละครใน The Killing of a Sacred Deer นั้น คือความสมบูรณ์แบบตามวิถีอเมริกันชนของครอบครัวเมอร์ฟี ซึ่งถูกสั่นคลอนด้วยเงื่อนไขของผู้รุกรานอย่างมาร์ตินที่ต้องการชำระแค้นให้พ่อตัวเอง สตีเฟนถูกบังคับให้ต้องเลือกฆ่าสมาชิกในครอบครัวตัวเองหนึ่งคนเป็นการทดแทน หาไม่แล้ว ทุกคนในครอบครัวของเขาจะตายหมด แถมเป็นการตายจากอาการประหลาดที่หาคำอธิบายทางการแพทย์ไม่ได้ เริ่มด้วยขาเป็นอัมพาต เบื่ออาหาร เลือดออกตา ก่อนจะจบลงด้วยการเสียชีวิต
หนังโดดเด่นด้วยความน่าสะพรึงซึ่งมาพร้อมกับพฤติกรรมที่แสนกำกวมต่างๆ ของตัวละคร หรือวิธีที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ในขณะที่พวกเขาทำสิ่งต่างๆ ที่ดูแปลกประหลาด ราวกับโลกในหนังแยกขาดจากความเป็นจริง แต่ความพิสดารเหล่านี้ก็สะท้อนให้เราเห็นด้านน่าขันของสิ่งที่มนุษย์ทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยยิบย่อยในเรื่องไม่จำเป็นเพียงเพื่อจะได้มีบทสนทนา การล่วงล้ำพื้นที่ส่วนตัวซึ่งกันและกันหน้าตาเฉย ไปจนถึงความด้านชาไม่สมประกอบในสายสัมพันธ์ครอบครัวที่(ดูเหมือนจะ)สมบูรณ์แบบ
สำหรับความกำกวมดังกล่าว ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมวิธีกำกับและทีมนักแสดงที่ลดทอนความประดิดประดอยในการแสดงแบบทั่วไปลง แล้วทำให้สีหน้าท่าทางที่แสดงออกมาดูเรียบง่าย เฉยเมย และคลุมเครือ ที่น่าชื่นชมที่สุดคือคีโอแกน ผู้ผสานความไร้เดียงสาเข้ากับเจตนาร้ายกาจได้อย่างน่าขนลุก แต่แน่นอนว่าบรรยากาศกดดันปั่นป่วนที่ครอบทับหนังทั้งเรื่องนั้นมาจากการเลือกใช้ดนตรี การออกแบบซาวนด์ และงานภาพเป็นส่วนสำคัญ
หนังเปิดเรื่องด้วยภาพหัวใจเต้นตุบอยู่ในอกที่ถูกผ่าเปิดออก กล้องค่อยๆ ซูมออกมาจากอวัยวะส่วนนี้ที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ก่อนจะขึ้นชื่อหนัง เป็นอารัมภบทก่อนที่หนังทั้งเรื่องจะจดจ้องไปยังร่างกายภายนอกของมนุษย์ด้วยสายตาระแวดระวัง เย็นชา และไม่ไว้วางใจ
ความหมกมุ่นที่หนังมีต่อร่างกายมนุษย์ไม่เพียงแสดงออกมาผ่านอาชีพแพทย์ของตัวละคร (ที่สนใจอยู่กับร่างกายคน การวินิจฉัยตรวจวัดค่าต่างๆ) แต่ยังพบเห็นได้เรื่อยๆ ระหว่างทางหนัง ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานของมาร์ตินที่ปรากฏอาการประหลาดทางกาย ความหลงใหลที่แม่มาร์ตินมีต่อมือคู่งามของสตีเฟน การปลุกเร้าอารมณ์ก่อนมีเพศสัมพันธ์ด้วยการให้เมียนอนแผ่เป็นร่างแน่นิ่ง ความสนใจที่ตัวละครมีต่อพัฒนาการทางกาย (ลูกสาวที่เพิ่งมีประจำเดือน กับการขอดูขนรักแร้ของคนที่โตกว่า) ฯลฯ
การหมกมุ่นอยู่กับร่างกายยังเผยให้เห็นลักษณะชีวิตตัวละครซึ่งมีความเป็นกิจวัตรอันแข็งทื่อ ดูเผินๆ พวกเขาราวกับเป็นเพียงเครื่องจักรที่ทำหน้าที่ไปตามบทบาทที่ได้รับของตน นั่นคือการเป็นพ่อแม่ที่ดี ผัวเมียที่ดี ลูกที่ดี หรือครอบครัวอเมริกันที่ดี แต่เมื่อพูดกันถึงร่างกาย เราคงหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยถึงจิตวิญญาณไม่ได้ (ในฐานะที่ร่างกายเป็นเสมือนพาหนะให้จิตวิญญาณได้ใช้สำรวจและรับประสบการณ์ต่อโลก) การละเลยจิตวิญญาณอันเป็นเสมือน ‘หัวใจ’ ของความเป็นมนุษย์จึงเป็นความผิดบาปที่ตัวละครเหล่านี้ต้องชดใช้
เงื่อนไขของมาร์ตินกลายเป็นบ่วงพันธนาการที่เรียกร้องให้ร่างกายเหล่านี้หลุดออกจากวงจรเครื่องจักรของตน บังคับให้พวกเขาต้องตัดสินใจปัญหาเชิงจริยธรรมอันแสนยากเย็น ว่าใครในครอบครัวนี้ที่สมควรมีชีวิตอยู่ต่อ ใครที่ต้องถูกบูชายัญเพื่อให้คนอื่นดำเนินชีวิตต่อไป และครอบครัวที่ยอมบูชายัญสมาชิกของตนนั้น ควรค่าแก่การอยู่รอดต่อไปหรือเปล่า หรืออีกนัยหนึ่ง คำถามเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องย้อนกลับมาสนใจสิ่งที่ละเลยมาโดยตลอด นั่นคือหัวใจ ความรู้สึกรู้สา และความเป็นมนุษย์ของพวกเขาเอง
ชื่อของหนังสะท้อนไปถึงละครกรีกโบราณเรื่อง Iphigenia in Aulis ของยูริพิดีส (Euripides) ที่เล่าถึงอากาเมมนอน ผู้นำทัพกรีกในสงครามเมืองทรอยที่เผลอไปฆ่ากวางศักดิ์สิทธิ์ของเทพีอาร์เทมีสโดยบังเอิญ จนต้องสังเวยชีวิตลูกสาว (อีฟิจีเนีย) ให้เป็นการไถ่โทษ เพื่อที่การสงครามจะได้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น การไถ่บาปของครอบครัวเมอร์ฟีจึงสะท้อนความยุติธรรมยุคโบราณ นั่นคือการชำระแค้นแบบเลือดแลกด้วยเลือด คือการยอมแลกชีวิตมนุษย์เพื่อจุดหมายบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวมนุษย์
ในกรณีของอากาเมมนอนคือการศึกและความพึงพอใจของเทพเจ้า ในกรณีของสตีเฟนมันคือการรักษาไว้ซึ่งครอบครัว ค่านิยมชนชั้นกลาง ความมั่นคง และวิถีชีวิตแบบวงจรที่พวกเขายึดถือ บาปที่พวกเขาต้องไถ่ถอนจึงเป็นบาปของระบบที่สนใจเพียงโลกทางกายภาพ โลกทางวัตถุ และเมินเฉยต่อจริยธรรมความเป็นคน
เป็นบาปของอภิสิทธิ์ชนผู้ยังสามารถมีชีวิตโอ่อ่าได้ต่อไป แม้จะพลั้งมือฆ่าคนตายไปก็ตาม บาปของเรือนร่างที่มองหัวใจไม่เห็น
Tags: รีวิว, Movie, ภาพยนตร์, Yorgos Lanthimos, The Killing of a Sacred Deer