ชื่อชั้นของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ นับเป็นชื่อที่อยู่ในความคุ้นเคยของคนดูหนังมาตั้งแต่ยุค 70s เขาเป็นที่รู้จักจากการทำหนังถึงเลือดถึงเนื้อ กลิ่นอายของเจ้าพ่อมาเฟีย สังคมอเมริกันอันมืดหม่น แร้นแค้น และการกำกับที่เล่าเรื่องผ่านภาษาภาพยนตร์ รายละเอียดต่างๆ ในหนังของสกอร์เซซี่นั้นอยู่นอกเหนือจากไดอะล็อก พ้นไปจากแววตาของนักแสดง มันอยู่ในงานภาพ การจัดแสง หรือแม้แต่จังหวะการทิ้งกล้องอันกระชากกระชั้นหรือช้าเชือน จนงานกำกับของสกอร์เซซี่นั้นมักถูกยกเป็นกรณีศึกษาของเหล่านักเรียนทำหนังอยู่เนืองๆ เพราะ ‘ภาษาภาพยนตร์’ ของเขานี่เอง
Taxi Driver (1976) คนขับแท็กซี่หนุ่มผู้รวดร้าวโทรศัพท์ไปหาหญิงสาวที่หมายปอง กล้องจับจ้องไปยังแผ่นหลังของชายหนุ่มที่ซุกใบหน้าลงกับเงามืด ปลายสายนั้นตอบคำขอของเขากลับมาพร้อมกับที่กล้องค่อยๆ เคลื่อนออกจากเขาไปสู่ห้องโถงโล่งกว้างและจืดชืด เพื่อจะบอกว่านับจากนี้ไป คำตอบของหญิงสาวได้ทำให้ชีวิตของชายขับแท็กซี่กลับสู่ความโดดเดี่ยวเย็นชาอีกครั้ง หรือฉากเปิดของ Goodfellas (1990) ที่เอาคนดูอยู่หมัดตั้งแต่นาทีแรกของเรื่องเมื่อกล้องจับไปยังสีหน้าเคร่งเครียดของชายหนุ่มที่กำลังขับรถ เพื่อนร่วมทางกึ่งหลับกึ่งตื่นอีกสองคนและเสียงโครมครามที่ทำให้คนดูรับรู้ถึงความ ‘ผิดปกติ’ ของสถานการณ์ ตลอดจนฉากสงครามกลางเมืองใน Gangs of New York (2002) ที่มองผ่านสายตาของเด็กชายที่เห็นความเถื่อนระห่ำของมนุษย์ผู้ใหญ่ในโลกที่เขาเองไม่เข้าใจ
ดังนั้นแล้ว งานภาพจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในหนังของสกอร์เซซี่ และนั่นเองทำให้การมาถึงของหนังลำดับล่าสุดของเขาอย่าง The Irishman (2019) เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะกำกับภาพโดย ร็อดริโก้ ปริเอโต ที่เคยร่วมงานกับสกอร์เซซี่มาแล้วจาก The Wolf of Wall Street (2013) และ Silence (2016) มันจึงเป็นหนังที่สมควรค่าที่จะทุ่มสมาธิไปกับเนื้อเรื่อง งานภาพ ตลอดจนองค์ประกอบอื่นๆ ในเรื่อง และเน็ตฟลิกซ์—สตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ที่ทุ่มเงินทุนกว่าร้อยล้านเหรียญฯ ในการถือครองลิขสิทธิ์หนัง—ดูจะตระหนักถึงคุณสมบัติข้อนี้ในหนังของสกอร์เซซี่ดี จึงให้ The Irishman มีทั้งแบบซาวด์แทร็กและแบบพากย์ไทยในวันที่เตรียมออกฉายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
The Irishman หนังดราม่า-อาชญากรรมความยาวสามชั่วโมงครึ่ง ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ แฟรงค์ ชีแรน (โรเบิร์ต เดอ นีโร ที่กลับมาร่วมงานกับสกอร์เซซี่เป็นครั้งที่เก้า) นายทหารผ่านศึกที่กลายมาเป็นมือปืนของเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในยุค 70s ในวัยเหยียบ 80 ปี เขาย้อนรำลึกอดีตถึงตัวเองในวัยหนุ่ม วัยกลางคนและวัยชราที่ล้วนแล้วพัวพันกับความเป็นความตายของผู้ทรงอิทธิพลในชีวิตเขาอย่าง จิมมี่ ฮอฟฟา (อัล ปาชิโน่) ประธานสหภาพแรงงานที่ผู้คนทั้งรักทั้งชัง และรัสเซล บุฟฟาลีโน่ (โจ เพชชี่) หัวหน้ากลุ่มมาเฟียที่เป็นเสมือนใจกลางอำนาจมืดคอยประคับประคองแฟรงก์เสมอมานับตั้งแต่วันที่แฟรงค์ตัดสินใจเป็นมือสังหาร
แน่แท้ว่ามันเป็นหนังดราม่า-ธริลเลอร์สไตล์ถนัดของสกอร์เซซี่ และเป็นเสมือนสังเวียนระเบิดพลังการแสดงอันน่าตื่นตระหนกของ เดอ นีโร, ปาชิโน่ และเพชชี่ งานพากย์ไทยจึงเป็นงานที่เรียกร้องความละเอียดอ่อนและประณีตอย่างยิ่ง และหลังจากกระบวนการแคสต์เสียงอันยาวนาน เน็ตฟลิกซ์ก็ได้นักพากย์อาชีพอย่าง ติ่ง—สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล มาให้เสียงของเดอ นีโร, เล็ก—โฆษิต กฤษตินันท์ แทนเสียงของปาชิโน่ และเอก—เอกชัย พงศ์สมัย เป็นเสียงภาษาไทยของเพชชี่
“หนังมันยาวสามชั่วโมงครึ่งเลยนะ” สุภาพเล่าถึงเบื้องหลังการพากย์เสียง “ปกติหนังสักเรื่องนี่ใช้เวลาพากย์สี่หรือห้าชั่วโมงก็เสร็จแล้ว แต่เรื่องนี้ลากยาวไปเลย 12 ชั่วโมงเต็ม
สุภาพขยายความว่าเหตุผลหลักๆ ที่ The Irishman กินเวลาการทำงานของเขาครึ่งวันเต็มนั้นไม่ใช่แค่เพราะความยาวของตัวหนังเองเท่านั้น หากแต่เป็นไดอะล็อกยาวเหยียดตามฉบับหนังดราม่าและการต้องเข้าถึงห้วงอารมณ์ตัวละครที่รับบทโดยยอดฝีมืออย่างเดอ นีโร “หนังเรื่องนี้มันใช้อารมณ์เยอะ ตัวละครแฟรงค์ที่ เดอ นีโร รับบทนี่ในเรื่องมีอยู่สามช่วงอายุ แล้วผมต้องพากย์ทั้งสามช่วงเลย ตั้งแต่วัย 40 ที่ยังหนุ่ม กำลังสร้างตัว มาจนช่วง 60 ที่ตัวละครทำอะไรช้าลงไปมาก และอายุ 80 นี่เสียงแหบพร่า พูดไปหอบไปแล้ว” สุภาพหัวเราะ “ซึ่ง เดอ นีโร เขาแสดงละเอียดมาก ทิ้งจังหวะหายใจ หรือเลือกเว้นวรรคที่เราก็ต้องเว้นให้ได้ตรงตามเขาอีก”
“มันเป็นหนังเจ้าพ่อที่ไม่ได้เหมือนหนังแอ็กชั่นเรื่องอื่นๆ น่ะครับ” โฆษิตเสริม เขาเองคร่ำหวอดอยู่ในสังเวียนการพากย์หนังแอ็กชั่นมาเนิ่นนาน จากปีที่แล้วเขายังให้เสียงเป็นจอมเถื่อนถล่มเรือนจำใน Escape Plan 2: Hades (2018) เขาเล่าว่า “อย่างหนังแอ็กชั่นเรื่องอื่นเวลาสู้กันมันจะมีเสียง โอ๊ะ โอ๊ย แต่เรื่องนี้ไม่เลย อย่างตัวละครจิมมี่ ฮอฟฟา ที่ผมพากย์เสียงเขาเป็นประธานสหภาพแรงงานและเป็นคนพูดเก่ง วิธีพูดของเขามันมีหลายแบบ ความเป็นเจ้าพ่อของเขามันทำให้เขาไม่ต้องพูดออกมาชัดๆ ว่าอยากเก็บใคร บางทีแค่ส่งเสียง ‘อื้อ’ ก็รู้แล้ว แต่มันมี ‘อื้อ’ หลายแบบอีก แบบไหนล่ะที่สั่งให้ไปเก็บคนอื่น”
“อย่างคำว่า ‘ฆ่ามัน’ วิธีพูดของพวกเจ้าพ่อก็ต่างกันแล้ว” สุภาพบอก “บางทีเจ้าพ่อระดับนั้นเขาก็ไม่ได้มาพูดดังๆ ว่าให้ฆ่าหรืออะไร บางทีเขาก็แค่บอก (ทำเสียงเรียบ) ‘ฆ่ามัน’ ก็รู้แล้ว”
“งานพากย์เองมันเป็นงานที่ต้องไต่ระดับอารมณ์ด้วยนะครับ” เอกชัยว่า (และหากใครที่เคยดูแฟรนไชส์ยักษ์อย่าง Harry Potter พากย์ไทยมาก่อน คงคุ้นเคยเสียงของเขาดีจากการสวมบทบาทเป็นศาสตราจารย์อัลบัส ดัมเบิลดอร์ อาจารย์ใหญ่ของฮอกวอตส์) “ที่ผ่านมา เราก็มีประสบการณ์ในการพากย์มากพอจนบางทีเราจะเดาๆ ได้เองแหละว่าตอนนี้ตัวละครกำลังคิด รู้สึกอะไร บางทีก็อาจจะพากย์โดยไม่ซ้อม แต่กับเรื่องนี้นี่ไม่ได้เลย ไม่มีเลย”
ความละเมียดละไมของงานพากย์นี้ อยู่ภายใต้การดูแลของ จอช เจคอบสัน ผู้จัดการฝ่ายการพากย์นานาชาติ (Creative – Films, International Dubbing) “เราอยากให้กลุ่มคนดูเน็ตฟลิกซ์ชาวไทยเข้าถึงเรื่องราวของ The Irishman ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ เราต้องมั่นใจว่างานพากย์ของเราเหมาะสมกับหนังจริงๆ ประโยคพูดไม่สั้นเกินไป ไม่ยาวเกินไป ตลอดจนทำให้มันเป็นเสียงที่ราวกับอยู่ในบรรยากาศของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ เพื่อให้คนดูได้สัมผัสประสบการณ์การดูหนังอย่างเต็มที่ และมีพากย์เป็นภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษามากครับ และเราก็ฟังทุกเสียงตัวละครจากแต่ละภาษาอย่างละเอียดจริงๆ ทั้งเวอร์ชั่นภาษาอิตาลี ภาษาฝรั่งเศส เพราะผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดมันคือการที่ทำให้คนดูได้รู้สึกร่วมไปด้วยกันให้ได้มากที่สุด
“The Irishman คือหนังที่ว่าด้วยอาชญากรรมและความเป็นอเมริกันในอดีต และด้วยความสัตย์จริงนะ ตัวผมเองก็โตมาห่างจากภูมิภาคและช่วงเวลาในท้องเรื่องมาก” จอชว่า “แต่ผมกลับมีความรู้สึกร่วมกับตัวละครหลายอย่างมากเพราะเขาเผชิญปัญหาเดียวกับที่หลายๆ คนมี เรื่องราวในชีวิต ความเป็นครอบครัว การงาน และผมเองคิดว่าการพากย์ไทยคงจะมีส่วนช่วยในการทำให้คนดูเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครทั้งหมดได้ดี ซึ่งสำหรับผมเองนะครับ การได้เห็นนักพากย์ทุ่มเทลงเสียงทำให้ผมภูมิใจมากจริงๆ ที่ได้มีส่วนในการร่วมงานกับพวกเขา คือที่สุดแล้วหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่มีเนื้อเรื่องที่ดี มีการกำกับที่ดีและมีการแสดงที่ดีอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังเต็มไปด้วยการประสานงานจากทีมงานมืออาชีพอีกด้วย”
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่กระบวนการคัดเลือกนักพากย์จะกินเวลานานและเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน นักพากย์ที่เข้ารับคัดเลือกจะได้รับบทที่ยาวและ ‘แสดงอารมณ์’ มากที่สุดในเรื่องของตัวละครแล้วพากย์ทับกลับไปเพื่อรับการพิจารณา หนึ่งตัวละครจึงมีเบื้องหลังเป็นนักพากย์หลายชีวิตที่เข้ารับการคัดเลือกเพื่อหาคนที่เหมาะสมที่สุด
“แล้วนักแสดงออสการ์ทั้งนั้นเลยนะครับ” โฆษิตยิ้ม นั่นเพราะอัล ปาชิโน่ที่เขาพากย์เสียงทับนั้นชิงออสการ์มาแล้วถึงแปดครั้ง และเป็นอีกหนึ่งนักแสดงอาชีพที่ได้รับการยกย่องว่ามากฝีมือที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวูด “เขาแสดงดีมากๆ บางครั้งเรารู้สึกว่าเราพากย์ไปแล้ว เสียงแบบนี้ๆ แต่มันไม่ไปกับสีหน้า แววตาที่เขากำลังแสดง ผมก็รื้อใหม่หมด พากย์ใหม่ทั้งหมดเลย”
“อย่างตัวละครรัสเซลของผมนี่เป็นคนสุขุมมากนะครับ” เอกชัยเสริม “แต่ในความสุขุมนั้น เขาก็เป็นหัวหน้าอาชญากร เราจึงต้องใส่อารมณ์ลงไปในความสุขุมนั้นด้วย เขาสุขุมแต่ก็พูดจาเชือดเฉือนหรือถากถาง เราต้องอ่านอารมณ์ให้ออก”
นั่นทำให้เรานึกหวนกลับไปยังประเด็นของ ‘ภาษาภาพยนตร์’ ในหนังของสกอร์เซซี่ สำหรับนักพากย์ที่ต้องทำงานเสียงเพื่อขับเน้นความสนใจของคนดูให้อยู่ที่งานภาพ -พวกเขามองประเด็นนี้อย่างไร
“จริง จริงมากครับ” สุภาพย้ำ “เวลาที่เราฟังภาษาไทยแล้วใช้สมาธิไปที่ตัวภาพนี่มันชัดกว่าอยู่แล้ว เพราะมันไม่ต้องพะวงกับการอ่านตัวหนังสือด้านล่างของจอ ยิ่งกับเรื่องนี้ที่ตัวละครพูดเยอะมาก บางทีใช้ศัพท์เฉพาะที่ไม่เข้าใจอีก เราแปลเป็นภาษาไทย หาคำศัพท์ที่ตรงกันกับความหมายต้นฉบับแล้วพากย์ออกมา ผมว่ามันช่วยให้สมาธิเราอยู่ที่งานของผู้กำกับได้ดีเลยล่ะ”
และหากจะกล่าวกันให้ถึงที่สุด แง่มุมหนึ่ง งานนักพากย์จึงเป็นเสมือนจุดขับเน้นงาน ‘กำกับ’ ของคนทำหนังอีกทอดหนึ่งในวันที่หนังออกก้าวไปฉายในต่างแดน พวกเขาจึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนดูเข้าถึงห้วงอารมณ์และความรู้สึกของต้นฉบับแบบเดียวกับที่คนดูเจ้าของภาษารู้สึก และยังเป็นแรงส่งสำคัญอีกเช่นกันที่ทำให้เราเห็นงานกำกับผ่านภาพ สีและแสงบนจอภาพยนตร์ได้ชัดเต็มตา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่นักพากย์เหล่านี้จะเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับการยอมรับและเคารพอย่างสูงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะในยุคสมัยที่พวกเขายังต้องไปพากย์สดในโรงหนัง เรื่อยมาจนในยุคที่เราฟังเสียงพวกเขาผ่านเว็บไซต์สตรีมมิ่งเช่นนี้
Tags: The Irishman, พากย์ไทย, Netflix, Martin Scorsese