หลังจากการได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2006 ถนนทุกสายในโลกวรรณกรรมก็มุ่งหน้าสู่อิสตันบูล มหานครที่เป็นต้นกำเนิดของเรื่องราวจากจินตนาการของออร์ฮาน ปามุก สิ่งที่เกียรติยศจากรางวัลนำพามาด้วยคือการได้เผยแพร่ผลงานออกไปสู่ภาษาอื่นๆ ทั่วโลก และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากความสำเร็จก็ทำให้เขาบรรลุเป้าหมายอีกอย่าง นั่นคือ การเปิด พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (Museum of Innocence)
ในปี 2012 แกรนท์ จี (Grant Gee) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอังกฤษได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ที่อิสตันบูล เขาไปถึงที่นั่นโดยไม่รู้อะไรเลย แต่ก็มีความประทับใจในภูมิทัศน์ของมหานคร ในระหว่างนั้น ภรรยาของเขากำลังอ่านหนังสือ Istanbul: Memories and the City ของปามุกอยู่และแนะนำให้เขาอ่านด้วย การอ่านหนังสือเกี่ยวกับเมืองที่เขาไม่รู้อะไรเลยผ่านสายตาและจินตนาการของนักเขียนที่รักและผูกพันกับเมืองอันเป็นบ้านเกิดที่สุดได้ทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้ในความคิดของเขา
หลังจากเทศกาลภาพยนตร์จบลง จีกลับไปอังกฤษพร้อมความคิดที่ว่าเขาควรจะหาทางไปที่อิสตันบูลอีกเพื่อถ่ายทำอะไรสักอย่างที่นั่น จากนั้นไม่นาน เขาเห็นข่าวการเปิดตัวของ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ในนิตยสาร นั่นคือจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์สารคดีชื่อ Innocence of Memories
Innocence of Memories (2015) เป็นภาพยนตร์สารคดีที่สร้างขึ้นจากนวนิยาย พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (The Museum of Innocence) ซึ่งมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับทั้งวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาและตัวพิพิธภัณฑ์เอง แต่ตัวสารคดีไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เนื้อเรื่องยังนำความคิดของปามุกและภูมิทัศน์ปัจจุบันของเมืองมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ทำให้ตัวภาพยนตร์คือจุดบรรจบกันของอดีตที่เกิดขึ้นในนวนิยายกับปัจจุบันขณะของการถ่ายทำ
สำหรับการดำเนินเรื่องของสารคดี Innocence of Memories ปามุกซึ่งมีส่วนในการเขียนบทได้นำตัวละครชื่อ ‘อัยลา’ เพื่อนของฟูซุนที่จากอิสตันบูลไปสิบสองปี มาพูดถึงการย้อนกลับมาตามหาสิ่งที่สูญหาย ในการตามหานี้เองที่ให้ภาพสะท้อนของความทรงจำกับความไร้เดียงสา
จากบทภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อการสำรวจความทรงจำในเรื่องราวความรักระหว่างเคมาลกับฟูซุนผ่านสายตาของอัยลา ปามุกได้เพิ่มข้อเขียนและบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสารคดีและตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ Hatiralarin Masumiyeti ในปี 2016 ก่อนจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Innocence of Memories ในปี 2018
เนื้อหาของหนังสือ The Innocence of Memories แบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ บทภาพยนตร์ที่ใช้ในสารคดี ข้อเขียนเกี่ยวกับนวนิยายกับพิพิธภัณฑ์และภาพยนตร์ของปามุก พัฒนามาจากบทสัมภาษณ์ขนาดยาวที่บางส่วนถูกนำไปดัดแปลงใช้ในฉากต่างๆ ของสารคดี และบทสัมภาษณ์จีที่สัมภาษณ์โดยปามุกเอง นั่นหมายถึงว่าหนังสือเล่มนี้คือเบื้องหลังการถ่ายทำ แต่ด้วยความที่ตัวสารคดีมีความเกี่ยวพันกับทั้งภูมิทัศน์ปัจจุบัน นวนิยาย และพิพิธภัณฑ์ หนังสือจึงทำหน้าที่ของการเป็นจุดเชื่อมให้เห็นภาพของความเกี่ยวเนื่องให้ชัดเจนขึ้น
ประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดทั้งในบทภาพยนตร์และข้อเขียนของปามุกคือการสำรวจความทรงจำผ่านคำจำกัดความของความไร้เดียงสา ในภาษาอังกฤษ คำว่า ‘innocence’ มีความหมายครอบคลุมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้โลกย์ พรหมจรรย์ การกระทำไร้สาระหรือแม้กระทั่งการขาดความเป็นศิลปะ ปามุกใช้มิติอันหลากหลายนี้สร้างเรื่องราวเพื่อบันทึกความทรงจำของตัวละครเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1975-1984 การบันทึกที่ตัวละครบางตัวในเรื่องบอกว่าเรื่องราวเหล่านั้นเกิดขึ้นอีกแบบ หรือลืมไปหมดแล้วว่าเคยมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็ให้ตัวละครอีกตัวกลับมาค้นหาความหมายผ่านการลืมและการย้อนคืนเมื่อเวลาล่วงไป และการมีอยู่/หายไปของบางสิ่งมีความเกี่ยวพันอย่างไรกับความไร้เดียงสาของความทรงจำ
เมื่อใดก็ตามที่เอ่ยถึงความทรงจำในโลกของวรรณกรรม ชื่อของมาร์แซล พรูสต์ (Marcel Proust) และมโนทัศน์เรื่องการฟื้นตื่นฉับพลันของความทรงจำหลับใหล (Involuntary Memory) จะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ (แม้แต่ในส่วนท้ายของนวนิยาย พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา เองก็มีการเอ่ยถึงพรูสต์) แต่มโนทัศน์ของความทรงจำแบบพรูสต์ต่างจากมโนทัศน์ของความทรงจำในพิพิธภัณฑ์ ที่การจัดวางของสิ่งของนั้นเกิดขึ้นเพื่อสร้างเรื่องราว เพื่อหล่อเลี้ยงให้ความทรงจำไม่สูญหายไปในกาลเวลา
นอกจากประเด็นเรื่องความทรงจำแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ปามุกยืนยันผ่านข้อเขียนทั้งโดยตรงและโดยนัยคือความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่บุคลิกลักษณะเฉพาะของปัจเจกบุคคลคือความหมายของการจัดแสดง สำหรับเขาแล้ว การสร้างพิพิธภัณฑ์คือการแสดงออกอย่างหนึ่งในด้านการเมืองผ่านวัฒนธรรม การมีพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่จัดแสดงแค่ความหมายหรืออุดมการณ์เฉพาะของชาตินั้นมีปัญหา เพราะความทรงจำในเชิงปัจเจกก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าความทรงจำของรัฐชาติและสถาบันอันทรงอำนาจต่างๆ
เมื่อพิจารณาจากจุดมุ่งหมายของการเปิดเผยเบื้องหลังและเป็นจุดเชื่อมของภาพยนตร์สารคดี นวนิยาย และพิพิธภัณฑ์เข้าด้วยกันแล้ว The Innocence of Memories ถือว่าทำได้ดีในการเติมเต็มช่องว่างระหว่างความเกี่ยวเนื่อง แต่สิ่งที่มีปัญหาของหนังสืออยู่ตรงที่ว่า นอกจากบทสัมภาษณ์จีที่ปามุกสัมภาษณ์เองแล้ว ที่เหลือไม่ใช่สิ่งที่สดใหม่ ประเด็นและความเห็นต่างๆ ถูกเอ่ยถึงแล้วทั้งในตัวนวนิยาย สารคดี และสูจิบัตรของพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการรวมเล่มในชื่อ The Innocence of Objects (2012) ดังนั้น สำหรับผู้ที่มองหาความคาดไม่ถึงจากปามุกอาจจะต้องพบกับความผิดหวัง แต่ก็ไม่ใช่ความผิดหวังแบบอกหักเสียทีเดียว แน่นอนว่ามืออาชีพระดับนี้ย่อมมีอะไรให้เราตื่นเต้นบ้างอยู่แล้ว
และหากจะมีแรงบันดาลใจอะไรที่คมคายในความไม่สดใหม่จากมุมมองของความไร้เดียงสาของความทรงจำ สิ่งนั้นคงเป็นแรงบันดาลใจในการตามหาและการเก็บสะสมเรื่องราวของสามัญชนและวัตถุที่หล่นหายไปจากประวัติศาสตร์ของดินแดนที่ลอยเลื่อนอยู่ในความจริงและจินตนาการแห่งหนึ่ง ดินแดนที่ความทรงจำที่จะถูกอนุรักษ์ไว้มีเพียงความทรงจำของชนชั้นสูง
ดินแดนที่ความไร้เดียงสากำลังถูกทำให้เป็นอนาคตของความทรงจำ
Fact Box
แกรนท์ จี (Grant Gee) เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษ ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบ สารคดีเกี่ยวกับวงการดนตรี เขาเคยทำสารคดีเกี่ยวกับวง Radiohead และ Joy Division และก่อนหน้าที่จะมาร่วมงานกับปามุก เขาได้สร้างสารคดีชื่อ Patience (After Sebald) (2012) ที่ดัดแปลงจากหนังสือชื่อ The Rings of Saturn ของ W.G. Sebald