ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวและการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของเหล่าบรรดานักเรียน นักศึกษา เยาวชน คนรุ่นใหม่ รวมถึงประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดในประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญและพลังความคิดสร้างสรรค์ในการต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิไตย จนส่งแรงบันดาลใจให้ผู้คนในหลากหลายวงการที่เคยเงียบเฉย ให้ลุกขึ้นมาแสดงพลังสนับสนุนกระแสการเคลื่อนไหวนี้กันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่วงการศิลปะ
ธงพรรค Alliance 90/The Greens, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Alliance_90/The_Greens
หลายคนอาจบอกว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องข้องแวะกับการเมืองเสมอไป แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่ศิลปะเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะหลายกระแสก็เกิดจากสถานการณ์ทางการเมือง หรือแม้แต่พรรคการเมืองบางพรรคยังก่อตั้งขึ้นโดยศิลปินด้วยซ้ำไป
พรรคการเมืองนั้นมีชื่อว่า ‘Die Grünen’ หรือ ‘The Greens’ พรรคการเมืองแนวคิดเชิงสิ่งแวดล้อมที่ก่อตั้งขึ้นในเยอรมนีตะวันตกในปี 1979 ภายหลัง The Greens รวมตัวกับพรรค Bündnis 90 หรือ Alliance 90 ที่ก่อตั้งขึ้นในเยอรมนีตะวันออกในปี 1993 (ก่อนหน้่านั้น พรรค The Greens เองก็รวมตัวกับพรรค Green ของเยอรมันตะวันออกหลังการรวมชาติเยอรมันในปี 1990 มาแล้ว) จนกลายเป็นพรรคการเมืองชื่อ ‘Bündnis 90/Die Grünen’ (Alliance 90/The Greens) หรือเรียกง่ายๆ ว่า Grünen (Greens) นั่นเอง
โจเซฟ บอยส์ ในสำนักงาน องค์การเพื่อประชาธิปไตยทางตรงโดยการลงประชามติ (Organization for Direct Democracy) ดึสเซิลดอร์ฟ ปี 1971 ภาพโดย Bernd Jansen, ภาพจาก http://www.seismopolite.com/appealing-for-an-alternative-ecology-and-environmentalism-in-joseph-beuys-projects-of-social-sculpture
ปัจจุบัน Greens เป็นพรรคฝ่ายค้านของรัฐสภาแห่งเยอรมนี โดยก่อนหน้านี้พรรค Greens เคยเข้าร่วมในรัฐบาลผสมกับพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี ในปี 1998 – 2005 ทุกวันนี้ Greens เป็นพรรคการเมืองอันดับสี่ในเยอรมนี จากจำนวนสมาชิก 101,561 คน
ที่น่าสนใจก็คือ The Greens เป็นพรรคการเมืองที่ศิลปินผู้หนึ่งมีส่วนในการริเริ่มก่อตั้งขึ้นมา เขาเป็นศิลปินผู้เคลื่อนไหวในกระแสศิลปะของยุโรปและอเมริกา และยังเป็นศิลปินยุโรปในยุคหลังสงครามที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
‘โจเซฟ บอยส์’ (Joseph Beuys)
ศิลปินชาวเยอรมันผู้ทำงานหลากสื่อหลายแขนง ตั้งแต่สื่อแบบประเพณีนิยมอย่างจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ งานวาดเส้น ไปจนถึงสื่อที่นำเสนอด้วยกระบวนการทางความคิด และสื่อศิลปะที่อาศัยเวลาเป็นตัวแปรในการนำเสนอผลงาน (Time-based) อย่างงานศิลปะจัดวาง ศิลปะแสดงสด ศิลปะสถานการณ์ ผลงานส่วนใหญ่ของเขามีความเกี่ยวพันกับสังคมและการเมืองอย่างแนบแน่นลึกซึ้ง
พื้นที่เวิร์คช็อปของ FIU ที่จัดขึ้นระหว่างมหกรรมศิลปะ documenta ครั้งที่ 6 ในปี 1977 © documenta Archiv / Joachim Scherzer, ภาพจาก http://www.seismopolite.com/appealing-for-an-alternative-ecology-and-environmentalism-in-joseph-beuys-projects-of-social-sculpture
การมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคการเมืองของโจเซฟ บอยส์ เริ่มต้นในปี 1967 เมื่อเขาร่วมก่อตั้ง ‘Deutsche Studentenpartei’ (German Student Party) หรือ พรรคนักศึกษาเยอรมัน และองค์การเพื่อประชาธิปไตยทางตรงโดยการลงประชามติ (Organization for Direct Democracy) ในปี 1971 ไปจนถึงองค์กรปลดปล่อยมหาวิทยาลัยสากลเพื่อความคิดสร้างสรรค์และการค้นคว้าทางสหวิทยาการ หรือ FIU (Free International University for Creativity and Interdisciplinary Research) จนนำไปสู่การร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองอย่าง Die Grünen (The Greens) ในที่สุด
…..
ในเดือนมกราคม 1979 บอยส์ได้พบกับนักสังคมวิทยาหนุ่ม ลูคาส เบ็คมันน์ (Lukas Beckmann) ทั้งสองเริ่มวางแผนจัดตั้งกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นในสตูดิโอของเขาที่สถาบันศิลปะดึสเซิลดอร์ฟ (Kunstakademie Düsseldorf) ในตอนแรก พวกเขาตั้งใจให้ The Greens เป็นองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมและการจัดระเบียบโครงสร้างสังคมในอนาคต ภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์กร FIU แต่หลังจากนั้นองค์กรนี้ก็กลายเป็นองค์กรทางการเมืองอย่างรวดเร็ว
Der Unbesiegbare. Bei dieser Wahl: die Grünen (The invincible. In this election: the Greens) (1979) โปสเตอร์หาเสียงของพรรค The Green ที่ทำจากผลงานของ โจเซฟ บอยส์ ออกแบบโดย โยฮานเนส ชตุทท์เจน (Johannes Stüttgen) ภายใต้การกำกับของบอยส์, ภาพจาก https://www.fondazionebonotto.org/en/collection/fluxus/beuysjoseph/video/7351.html?from=3585
พรรค Greens เป็นองค์กรทางการเมืองที่มีแนวคิดที่ถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ไม่เพียงใส่ใจต่อการปกป้องธรรมชาติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หากแต่ยังแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางการเมือง จุดร่วมที่ดึงดูดให้บอยส์และสมาชิกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกันคือความสนใจเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และสิทธิเสรีภาพ
บอยส์กล่าวถึงเหตุผลในการก่อตั้งและเข้าร่วมพรรคนี้ว่า
“ผมยืนหยัดข้างพรรค Greens เพราะชัดเจนว่าทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงชีวิตของเราจะไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง ถ้าชีวิตของเราถูกคุกคาม ผมทำงานให้พรรคกรีนเพราะพวกเขามีความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดีมากกว่าพรรคอื่นๆ ผมยืนหยัดเพื่อพวกเขาเพราะมีเพียง ‘ผู้คนสีเขียว’ ทั่วโลกเท่านั้น ที่จะใช้พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาพลิกเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราอย่างมีความหมาย ด้วยเหตุนี้ เสียงโหวตของคุณเพื่อพรรค Greens คือการโหวตเพื่อโลกที่ดีกว่านี้”
นอกจากการเป็นศิลปิน บอยส์ยังกลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ เขามีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์และการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ผลงานศิลปะของเขาในช่วงนี้หลายชิ้นเองมีประเด็นเกี่ยวข้องกับนโยบายของพรรคการเมืองที่เขาสังกัดอยู่อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เพลงและมิวสิควิดีโอ ‘Sonne statt Reagan’ (Sun Instead of Reagan!) (1982) ที่มีเนื้อหาต่อต้านสงครามและอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า
“เราต้องการดวงอาทิตย์มากกว่าเรแกน (อดีตประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกา) เพื่อมีชีวิตที่ปราศจากอาวุธ ไม่ว่าจะตะวันออกหรือตะวันตก ปล่อยให้พวกขีปนาวุธขึ้นสนิมไปซะ!” (ใส่ hyperlink https://www.youtube.com/watch?v=DQ1_ALxGbGk)
ในช่วงแรก โจเซฟ บอยส์ มีบทบาทเป็นผู้นำของพรรค Greens ควบคู่ไปกับสามาชิกคนอื่นๆ ที่เป็นนักการเมืองอาชีพผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่ก็เป็นแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะเขาไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักการเมืองอาชีพเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้เขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นตัวแทนลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป ในช่วงกำลังหาเสียง เขายังทำโปสเตอร์หาเสียงของพรรคจากผลงานของเขาในปี 1963 อย่าง The Invincible ที่เป็นรูปตุ๊กตากระต่ายยืนเผชิญหน้ากับทหารของเล่นที่ถือปืนเล็งมาที่มัน การใช้ ‘ของเล่น’ ในโปสเตอร์นี้เชื่อมโยงกับปรัชญาในการทำงานของเขา รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงการใช้ “กระต่าย” ในผลงานของเขาที่ผ่านมา และยังเป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณแห่งการถือกำเนิดและพลังแห่งความหยั่งรู้ของกระต่าย ในการต่อต้านการรุกรานทางทหารของลัทธิชาตินิยม (ซึ่งในที่นี้อาจเป็นทั้ง ทุนนิยม หรือ คอมมิวนิสต์ ก็ได้)
ถึงแม้ โจเซฟ บอยส์ จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ด้วยความที่ในช่วงเวลานั้น ตัวเขาและพรรคยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากสื่อต่างๆ นัก แต่บอยส์ก็ยังมีบทบาทในพรรค Greens ตลอดช่วงต้นทศวรรษ 1980 และมีส่วนในการผลักดันให้พรรคกลายเป็นปัจจัยสำคัญในระบบการเมืองของเยอรมัน โดยเฉพาะการหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่เคยถูกละเลยขึ้นมาถกเถียงในสภา เช่น ความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาวุธนิวเคลียร์ และสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของประชาชน
เสาหินบะซอลต์ 7,000 ต้น ในโครงการศิลปะ 7,000 Oaks ของ โจเซฟ บอยส์ ในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 7 ในปี 1982 © documenta Archiv / Dieter Schwerdtle, ภาพจาก http://www.seismopolite.com/appealing-for-an-alternative-ecology-and-environmentalism-in-joseph-beuys-projects-of-social-sculpture
7000 Oaks – City Forestation Instead of City Administration (1982) ภาพจาก https://alchetron.com
…..
หลังจากหันเหจากบทบาทในพรรคการเมือง บอยส์หันกลับมาทุ่มเทเวลาให้กับวิธีคิดที่นำศิลปะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ชุมชน สังคม ที่เขาเรียกว่า ‘ประติมากรรมสังคม’ (Social Sculpture) บอยส์สร้างแนวคิดนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมความรู้ความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับศักยภาพของศิลปะที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ในฐานะที่เป็นงานศิลปะ ประติมากรรมสังคมไม่จำเป็นต้องเป็นผลงานศิลปะอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้น หากแต่รวมถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่มุ่งมั่นที่จะจัดระบบและก่อร่างสร้างสังคมหรือสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ แนวความคิดหลักของประติมากรรมสังคมคือการที่ศิลปินสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางสังคม ด้วยการใช้ ภาษา ความคิด การกระทำ และวัตถุ
บอยส์เชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้ ถ้าเขาเหล่านั้นใช้คุณสมบัติในเชิงสร้างสรรค์ในชีวิตส่วนตัว ก็ถือว่ามีคุณสมบัติเป็นศิลปิน บอยส์ต้องการเชิดชูพลังสร้างสรรค์ของปัจเจกชน เขาเชื่อว่า คนคนหนึ่ง นอกจากเป็นหน่วยหรือองค์ประกอบของจักรกลขนาดมหึมาอย่างสังคมแล้ว เขาเหล่านั้นยังเป็นผู้มีพลังในการเยียวยารักษา ตลอดจนรังสรรค์ให้ชีวิตส่วนตนและส่วนรวมงอกงามในทางสร้างสรรค์ บอยส์เชื่อว่าประติมากรรมสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนแต่ละคนตระหนักในศักยภาพในทางสร้างสรรค์ที่เป็นสากลของตัวเอง ซึ่งหมายถึง ทุกคนต่างรู้ว่า ตัวเองมีความสำคัญและมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการสร้างสรรค์สังคมอันดีงาม
7000 Oaks – City Forestation Instead of City Administration (1982) ภาพจาก https://alchetron.com
ประติมากรรมสังคมของบอยส์จึงไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมทางศิลปะที่ทำขึ้นในพื้นที่ทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น หากแต่เป็นกิจกรรมทางสังคมที่เชื่อมโยงกับพื้นที่สาธารณะและสิ่งแวดล้อมในชุมชนและสังคมรอบข้างอย่างแนบแน่น
ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในแนวทางนี้ของเขา คือกิจกรรมทางศิลปะที่เขาทำในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 7 ในปี 1982 ที่มีชื่อว่า 7000 Oaks – City Forestation Instead of City Administration บอยส์รณรงค์ให้ปลูกต้นโอ๊กจำนวน 7,000 ต้นในเมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่แสดงงานศิลปะเข้ากับการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของเมืองให้เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว ต้นโอ๊กทั้งหมดก็ยังคงยืนต้นงอกงามอยู่ในเมืองคาสเซิลจวบจนทุกวันนี้ (โดยต้นที่โอ๊กดั้งเดิมที่ถูกปลูกในโครงการนี้จะมีเสาหินบะซอลต์ปักกำกับอยู่ข้างๆ)
Save the woods (1971) ภาพจาก https://blogs.infobae.com
หรือผลงานที่มีชื่อว่า Save the woods (1971) ที่บอยส์และลูกศิษย์จำนวน 50 คน เข้าไปทำกิจกรรมประติมากรรมสังคม ด้วยการกวาดใบไม้ในป่ากราเฟนแบร์เกอร์ (Grafenberger) ในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี เพื่อประท้วงเทศบาลเมืองที่วางแผนจะโค่นป่าพื้นเมืองแห่งนี้ทิ้งเพื่อสร้างสนามเทนนิส และก็ทำได้สำเร็จเสียด้วย
ผลงานเหล่านี้ของโจเซฟ บอยส์แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่ในฐานะศิลปิน คุณก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมได้ ถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจพอ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ศิลปินอย่างเขามีส่วนร่วมในการก่อตั้งขึ้นมา
ข้อมูล
https://www.e-flux.com/announcements/69282/joseph-beuysthe-green-tent/
https://www.e-flux.com/announcements/69282/joseph-beuysthe-green-tent/
https://en.wikipedia.org/wiki/Joseph_Beuys
https://en.wikipedia.org/wiki/Alliance_90/The_Greens
หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ผู้เขียน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ สำนักพิมพ์แซลมอน
บทความ “ประติมากรรมสังคมของบอยส์กับนาวิน ปาร์ตี้” ผู้เขียน วรเทพ อรรคบุตร