วันหนึ่งในฤดูแห้งๆ ของเมืองเชียงใหม่ ผมเลือกหนีฝุ่น PM 2.5 ข้ามโลกไปมีส่วนร่วมกับการอพยพครั้งใหญ่ของเหล่าสัตว์ป่าแอฟริกา (The Great Migration) ไกลถึงทุ่งหญ้าสะวันนา (Savannah) ในประเทศแทนซาเนีย (Tanzania) แต่ก็ไปเจอฝุ่นคลุ้งไม่น้อยไปกว่ากันเท่าไร

ตลอดเวลา 5 วันที่ผมอยู่ห่างจากอารยธรรมมนุษย์ ไปใช้ชีวิตกลางทุ่งหญ้าในอุทยานแห่งชาติ โงรอนโกโร (Ngorongoro) และเซเรนเกติ (Serengeti) ทำให้ผมเห็นสัจธรรมชีวิตครบถ้วน เข้าใจถ่องแท้ทั้งวงจรชีวิต Circle of Life 

The Great Migration หรือการอพยพครั้งใหญ่ เป็นการย้ายถิ่นฐานตามแหล่งอาหารของสัตว์กินหญ้าจำนวนนับล้านตัว ที่เดินทางข้ามทุ่งหญ้าและแม่น้ำกว่า 3,000 กิโลเมตร เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี พวกสัตว์จะเดินทางตามเข็มนาฬิกา วนเวียนอยู่ระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติโงรอนโกโรและเซเรนเกติในแทนซาเนีย แล้วข้ามไปยังอุทยานแห่งชาติมาไซมารา (Masai Mara) ในเคนยา (Kenya) แล้วเดินทางวนกลับมาที่เดิมอีกครั้งตามความสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร

The Great Migration หรือการอพยพครั้งใหญ่ เป็นการย้ายถิ่นฐานตามแหล่งอาหารของสัตว์กินหญ้าจำนวนนับล้านตัว

การเดินทางครั้งใหญ่เพื่อตามแหล่งอาหารนี้ ทำให้พวกสัตว์กินหญ้าต้องแลกไปด้วยชีวิตของพวกมันเองเป็นหลักแสนตัวกับการอพยพในแต่ละปี การอพยพครั้งใหญ่ของเหล่าสัตว์แห่งแอฟริกานี้ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์ลำดับต้นๆ ของโลก

วิลเดอบีสท์ และ ลูกเกิดใหม่

สำหรับผมแล้ว การเลือกเดินทางไปร่วมการอพยพของสัตว์ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาที่พวกฝูงสัตว์ขนาดมหึมาเดินทางสู่ทุ่งเซเรนเกติและโงรอนโกโรในแทนซาเนียเพิ่งจะคลอดลูก ทำให้ทุ่งเซเรนเกติมีชีวิตชีวาขึ้น มองไปไหนก็จะเห็นฝูงวิลเดอบีสท์ (Wildebeest) ซึ่งหน้าตาพิลึกกึ่งวัวกึ่งแพะกึ่งกวาง ยืนกระจายกันเต็มทุ่งหญ้าสุดลูกหูลูกตา สลับกับฝูงม้าลายสีดำขาว ตัดกับสีน้ำตาลสดจากฝูงกาเซลล์ (Gazelle)และอิมพาลา (Impala) 

ม้าลายสีดำขาว

ตอนเช้าของวันแรกที่ไปถึง พวกเราพากันขึ้นรถแลนด์โรเวอร์คันเก่าๆ ไปแอบดูแม่สัตว์ท้องแก่กินหญ้า ที่มักจะทำตัวเนียนๆ อยู่กลางฝูงสัตว์เพื่อแอบคลอดลูกให้พ้นตาสัตว์กินเนื้อ ต้องสังเกตดีๆ จะเห็นขาหรือหัวของลูกกวางหรือลูกม้าห้อยออกจากบั้นท้ายของตัวแม่ ไม่กี่อึดใจ ลูกสัตว์ก็จะหล่นผลุบกลางทุ่ง และไม่กี่วินาทีถัดมา ลูกสัตว์ที่โชคดีพอที่จะมีร่างกายสมบูรณ์ ก็ลุกขึ้นอย่างเก้งก้าง เดินโขยกเขยกตามแม่ของมันไปได้ทันทีอย่างน่ามหัศจรรย์ ซึ่งหากแม่หรือลูกใช้เวลานานขึ้นไม่กี่วินาที พวกนักล่าประจำสะวันนาอย่างฝูงครอบครัวสิงโตหรือไฮยีนา (Hyena) จะตามกลิ่นเลือดและกลิ่นคาวของการเกิดใหม่มาอย่างรวดเร็วและไม่ลังเลที่จะจัดการทั้งแม่กับลูกเป็นอาหารเช้าในทันที

แม้ดูเผินๆ ว่าพวกวิลเดอบีสท์และม้าลายเหล่านี้จะมีจำนวนมากมายเต็มทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ แต่ผมก็อดทำใจที่จะไม่รู้สึกเศร้าไม่ได้ ว่าพวกมันมีชีวิตที่แสนจะเปราะบาง ลูกสัตว์น่าสงสารบางตัวไม่มีโอกาสแม้แต่จะให้เท้าแตะพื้นดินยอดหญ้า เพราะได้กลายสภาพเป็นโปรตีนที่เพิ่มพลังให้ครอบครัวไฮยีนาหรือสิงโตไปแล้ว

คอฟฟี่ กับ มิลค์ สองเสือชีตาห์แห่งทุ่งสะวันนา

ช่วงบ่ายวันหนึ่ง ระหว่างที่รถแลนด์โรเวอร์ปราศจากแอร์ของเราขับวนกลางทุ่ง คลุ้งด้วยไอฝุ่นและแดดร้อนๆ อยู่นั้น คนขับรถหรือไกด์กิติมศักดิ์ของเราผู้มีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า โซซี่ (Sosy) เห็นจุดแปลกๆ น่าสนใจใต้ต้นอคาเซีย (Acacia) กลางทุ่งหญ้า พอขับไปไกล้ๆ พวกเราก็พากันดีใจ เพราะได้เห็นเสือชีตาห์ (Cheetah) สองตัวนอนเหยียดอยู่บนพื้นอย่างสบายใจ 

โซซี่เล่าให้ฟังว่า เสือสองตัวนี้เป็นเสือตัวผู้พี่น้อง ชื่อ คอฟฟี่ กับ มิลค์ พวกมันเป็นคู่พี่น้องทีมเวิร์กมหัศจรรย์ สามารถล้มสัตว์ตัวใหญ่โตเต็มวัยที่ชีตาห์ตัวอื่นๆ ได้แต่มอง 

โซซี่ชี้ให้ดูว่า ท้องของพวกมันไม่ได้ป่องออกมาเท่าไร น่าจะแปลว่าพวกมันน่าจะไม่ได้กินอาหารมาสักพักแล้ว น่าจะกำลังหิวและพร้อมจะออกล่าหาอาหารให้พวกเราเห็นในอีกไม่นาน

เกือบหนึ่งชั่วโมงกับการนั่งจ้องเสือชีตาห์สองตัวหลับนิ่งๆ พร้อมกับการปัดแมลงและขยับหลบแดดในรถไปพลางๆ พร้อมกับการรวมกันของฝูงรถนักท่องเที่ยวเกือบ 20 คันที่มาจอดรอฉากสำคัญของการมาท่องซาฟารี และแล้ว คอฟฟี่และมิลค์ก็ขยับตัว บิดขี้เกียจ แล้วหันจ้องอย่างสนใจไปทางฝูงวิลเดอบีสท์ที่เล็มหญ้าอยู่ห่างๆ 

โซซี่กระซิบบอกพวกเราให้รีบนั่งลง แล้วรีบถอยรถออกจากวงรถล้อมเจ้าสองเสืออย่างรวดเร็ว แล้วควบรถเต็มพิกัดพาเรากระเด้งกระดอนในทุ่งหญ้าไปหยุดที่มุมเงียบๆ ห่างออกไปจากฝูงวิลเดอบีสท์อีกทิศหนึ่ง 

โซซี่รีบอธิบายว่า จากประสบการณ์ของเขาที่สังเกตการล่ามาหลายครั้ง จุดที่เราอยู่ แม้จะห่างจากฝูงวิลเดอบีสท์ แต่จะเป็นจุดที่ทำให้เราเห็นภาพการล่าได้หมดและครบถ้วน ซึ่งก็เป็นความจริง ในไม่ช้า เจ้าคอฟฟี่ก็ขยับตัว ‘ย่อง’ มากลางพงหญ้าใกล้ๆ ฝูงวิลเดอบีสท์ แต่ฝูงเหยื่อก็ไม่ได้โง่ พวกมันค่อยๆ ขยับตัวหนีไปอีกทางหนึ่ง แต่ก็ไม่ทันเจ้าคอฟฟี่และเจ้ามิลค์ ที่จู่ๆ เร่งความเร็วสมชื่อสัตว์บกที่วิ่งได้เร็วที่สุดในโลกเข้าหาฝูงวิลเดอบีสท์ ผมยกกล้องและเลนส์ 100-400 ขยับตามเจ้าชีตาห์และรัวชัตเตอร์อย่างบ้าคลั่ง เจ้าชีตาห์กระโจนเข้าไปในม่านฝุ่นที่คลุ้งจากฝูงวิลเดอบีสท์ โซซี่รีบขับรถตามเข้าไปทันที และเราก็เห็นเจ้าคอฟฟี่นอนงับคอวิลเดอบีสท์ตัวเขื่องอย่างภูมิใจ พร้อมส่งเสียงเรียกน้องชายที่วนเวียนอยู่ไม่ไกลให้เข้ามาแบ่งอาหารเย็นกันอย่างมีความสุข

ในวันถัดมา พวกเราก็ได้เจอชีตาห์ตัวเมียอีกตัวหนึ่ง กำลังหมอบย่องตามฝูงกาเซลล์อยู่ แต่ดูแล้ว ฝูงกาเซลล์ดูจะรู้ตัวไว ขยับหนีไปเร็วมากจนเจ้าชีตาห์สาวดูเหมือนจะถอดใจ แต่พระเอกโซซี่ก็สะกิดเราให้ดูลูกกาเซลล์ตัวเล็กที่ซ่อนอยู่ใต้พงหญ้าห่างจากชีตาห์สาวไม่กี่เมตร จนน่าแปลกใจที่เจ้าชีตาห์หามันไม่เจอ ทันใดนั้นเอง ดูเหมือนลมจะเปลี่ยนทิศ เจ้าชีตาห์ทำจมูกเชิดในอากาศ แล้ววิ่งกวดเข้าหาลูกกาเซลล์ทันที ผมกดชัตเตอร์ไปก็เศร้าใจไป เพราะเจ้าลูกกาเซลล์ตัวน้อยตาแป๋วไม่มีโอกาสรอดชีวิตแน่ๆ และก็เป็นอย่างคาด หลังจากลูกกาเซลล์กระโดดหนีได้ไม่กี่ก้าว ก็ถูกชีตาห์สาวคาบคอไว้ จบชีวิตน้อยๆ ของมันไปในวินาทีนั้นเอง ตอนนั้นเอง เราเห็นกาเซลล์ตัวหนึ่งวิ่งผลุนผลันออกจากฝูงเข้ามาใกล้ชีตาห์กับร่างไร้วิญญาณของลูกกาเซลล์ โซซี่บอกว่าเป็นแม่ของลูกกาเซลล์แน่ๆ แต่สักพัก มันก็หยุดชะงักลง ดูลังเลอยู่เพียงครู่เดียว แล้วก็ตัดใจวิ่งหลบฉากไป เพราะมันคงรู้ว่า ไม่มีอะไรที่มันทำได้นอกจากจะตกเป็นอาหารมื้อใหญ่ให้เจ้าชีตาห์ไปอีกตัวหนึ่ง ส่วนฝูงกาเซลล์ที่พอเห็นการล่าจบลง ก็ดูผ่อนคลายอย่างเห็นได้ชัด ก้มหน้ากินหญ้ากันต่อไป ไม่มีแม้แต่อาการผิดปกติเศร้าใจในชีวิตของสมาชิกฝูงตัวเล็กที่พึ่งจบไปแม้แต่นิดเดียว

ในอุทยานแห่งชาติโงรอนโกโร เป็นบ้านของสิงโตหลายครอบครัว โซซี่ผู้รู้จักสิงโตทั้งหมดเล่าเรื่องราวของพวกมันให้เราฟังตลอด เป็นเรื่องดราม่าน้ำเน่าไม่น้อยกว่าละครเมียหลวงเมียน้อยเลือดข้นคนจางของไทยเราเลย เพียงแต่เรื่องน้ำเน่าของสิงโตไม่ได้จบกันด้วยรอยตบของเหล่านางเอกนางอิจฉา แต่จบลงด้วยหยดเลือดและการสิ้นสุดของชีวิต

สิงโตในฐานะราชา เป็นผู้ล่าสูงสุดของทุ่งสะวันนา

สิงโตในฐานะราชา เป็นผู้ล่าสูงสุดของทุ่งสะวันนา พวกมันใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ที่หลังแคมป์พักแรมของเราก็มีครอบครัวสิงโตเล็กๆ ที่ชาวแคมป์เรียกว่าพวกครอบครัวหลังบ้าน (Backyard Pride) ที่คำรามกันทุกคืน ได้ยินชัดๆ จากเตนท์พักแรม เล่นเอาผมรู้สึกหนาวๆ สั่นๆ อยู่บ้างในกลางดึก และห่างจากไปอีกไม่ไกล เป็นอาณาเขตครอบครัวสิงโตใหญ่อีกครอบครัวหนึ่ง มีตัวเมียเต็มวัยหลายตัว และมีตัวผู้พี่น้องรุ่นหนุ่มคุมฝูงอยู่ด้วยกันสามตัว เจ้าสิงโตหนุ่มสามพี่น้องวัยหนุ่มเพิ่งจะครองตำแหน่งผู้นำฝูงแทนสิงโตตัวผู้สองตัวที่มาขับไล่จ่าฝูงตัวเก่าก่อนหน้านั้นออกไป เจ้าสิงโตสองตัวนี้อยู่ๆ ก็ทิ้งฝูงหายตัวไปเสียอย่างนั้น ทำให้สิงโตหนุ่มสามพี่น้องมาแทนที่แบบไม่ต้องเสียกำลัง แต่โซซี่ทำนายไว้ว่า เจ้าสามพี่น้องตัวไม่เต็มวัยไม่น่าจะครองตำแหน่งอยู่ได้ ถ้ามีสิงโตตัวผู้เต็มวัยเข้ามาท้าประลอง

ห้าวันที่เราอยู่ที่เอนดูทู เราเห็นครอบครัวใหญ่ของสิงโตนี้ทุกวัน เห็นเจ้าตัวผู้วัยหนุ่มที่ขนคอยังขึ้นไม่เต็มที่ตามมาเก็บส่วนแบ่งอาหารกับตัวเมียในฝูง มีลีลาออดอ้อนกันตามประสาสิงโต เจ้าตัวผู้นี่สบายมาก ดูวันๆ ไม่ต้องทำอะไร คอยเดินเก็บส่วยอาหารกับตัวเมีย ยิ่งตอนช่วงเช้าในช่วงการอพยพ The Great Migration สิงโตทั้งหลายดูจะอิ่มหมีพีมันเป็นพิเศษ กินอาหารก็ไม่ค่อยหมด ปล่อยให้แร้งกับหมาแจ๊คกัล (Jackal) มาเก็บส่วนที่เหลือกันสบายใจ

ลูกสิงโตคือขวัญใจของนักท่องเที่ยวทุ่งสะวันนาทุกคน

วันท้ายๆ พวกเราโชคดีได้เห็นลูกสิงโตน่ารักอายุน่าจะเพิ่งครบเดือน ขวัญใจของนักท่องเที่ยวทุ่งสะวันนาทุกคน พวกมันกำลังแย่งกันปีนขึ้นเนินเตี้ยๆ กลางทะเลหญ้าที่แม่สิงโตพาไปซ่อนตัวไว้ ดูพวกมันไต่ขึ้นลงกันสนุกสนาน มีคุณแม่สิงโตโผล่หัวมาปรามเป็นระยะๆ จริงๆ แล้วชีวิตของลูกราชาแห่งแอฟริกานี้ก็ไม่ได้ง่ายสักเท่าไร เพราะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวผู้หัวหน้าฝูง ตัวผู้ตัวใหม่จะตามไปจัดการฆ่าลูกสิงโตสายเลือดของจ่าฝูงเก่าทั้งหมดทันที ด้วยสัญชาตญาณธรรมชาติที่ต้องการให้สิงโตในฝูงสืบทอดพันธุกรรมจากตัวผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้น 

แต่โซซี่เล่าให้เราฟังว่า แม่สิงโตก็มีมารยาทหญิงในการปกป้องลูกๆ ของมันใช่เล่น บางตัวพอมีตัวผู้ใหม่เข้ามา มันอาจพาลูกๆ หนีออกจากฝูงโดยทันที บางตัวจะยั่วยวนตัวผู้ใหม่ให้ขยับไปไกลจากที่ซ่อนของลูกๆ ของมัน และถ้าจ่าฝูงตัวใหม่เจอลูกสิงโตในท้ายที่สุด แม่สิงโตจะขัดขวางต่อสู้เต็มที่ แต่โดยปกติ ตัวเมียมักจะทัดทานกำลังตัวผู้ไม่ไหว ต้องทนดูเจ้าตัวผู้ใหม่สังหารลูกๆ ของมันต่อหน้าต่อตาโดยทำอะไรไม่ได้เลย

สิงโตกำลังกัดกินซากวิลเดอบีสท์อย่างหิวโหย

บ่ายวันสุดท้ายที่ผมอยู่ในโงรอนโกโร หลังจากที่เราประสบความสำเร็จในการได้รูปถ่ายเสือดาว สัตว์ใหญ่ชนิดสุดท้ายหนึ่งในห้าของการส่องสัตว์ซาฟารี (Africa Big 5) โซซี่พาเราแวะริมทะเลสาบที่เกลื่อนกลาดไปด้วยซากของวิลเดอบีสท์ที่ตายจากการข้ามลำน้ำ กลิ่นซากศพเน่าคละคลุ้งอบอวลไปทั่วพร้อมกองทัพแมลงวันที่บินกันให้ว่อนจนผมต้องคว้าหน้ากากมาใส่ ตามชายฝั่งและน้ำตื้นเต็มไปด้วยฝูงแร้งและนกกินซากเดินกินอาหารอยู่แน่นขนัด 

แต่วันนั้นที่ทะเลสาป มีตัวละครที่แปลกไป คือสิงโตตัวผู้หนังหุ้มกระดูกตัวหนึ่งกำลังเดินโซเซกัดกินซากเน่าๆ ของวิลเดอบีสท์อยู่ด้วย โซซี่บอกเราว่า เจ้าตัวนี้เคยเป็นหนึ่งในสามของราชาฝูงสิงโต แต่อยู่ๆ ก็ป่วย พวกนักอนุรักษ์เจอมันนอนนิ่งๆ อยู่สองวันก่อนลงความเห็นว่ามันคงไม่น่าจะรอดชีวิต แต่มันคงจะใช้ความพยายามครั้งสุดท้ายโซซัดโซเซมากินซากสัตว์เน่าๆ ที่ปกติสิงโตไร้วรรณะในฝูงยังไม่แม้แต่จะแลชำเลืองมอง 

รูปสุดท้ายของการเดินทางของผม จบลงด้วยภาพของอดีตราชาสะวันนา กำลังพยายามกัดเนื้อเน่าๆ จากซากวิลเดอบีสท์อย่างหิวโหยอยู่เดียวดาย มีฝูงแร้งจ้องมองอยู่ใกล้ๆ เห็นได้ชัดว่า พวกแร้งไม่ได้อยากจะแย่งซากจากสิงโตที่ใกล้จะตาย พวกมันคงตั้งเป้าหมายกับเนื้ออุ่นๆ ใหม่ๆ ของอดีตราชาของป่าแอฟริกัน

Fact Box

  • วิธีการเดินทางไปอุทยานเซเรนเกติและโงรอนโกโรจากกรุงเทพฯ ที่ง่ายที่สุด คือหาเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ บินไปสนามบินคิลิมันจาโร (Kilimanjaro airport) ของแทนซาเนีย ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องบินในประเทศแอฟริกาตะวันออกเช่น ไนโรบีของเคนยา หรือ แอดดิส อะบาบาของเอธิโอเปีย หรือที่ตะวันออกกลางที่ โดฮา กาตาร์ หากเลือกเวลาต่อเครื่องบินดีๆ น่าจะใช้เวลาบินทั้งหมดน้อยกว่าสิบชั่วโมง
Tags: ,