“‘ผี’ ไม่ใช่มนุษย์ เพราะไม่มีชีวิตแต่ ‘ผี’ ก็มีชีวิต แต่ก็เป็นชีวิตที่แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอย่างเราๆ (…) เป็นสภาวะของขั้วความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ดำรงอยู่ (presence) และไม่ดำรงอยู่หรือสิ่งที่หายไป (absence)”
—จากหนังสือ ภาพยนตร์ของ Derrida และ Derrida ของภาพยนตร์ โดย ธนา วงศ์ญาณณาเวช
หนังสือที่จะพูดถึงจริงๆ คือ The Ghosts of Tokyo โดย รติพร ชัยปิยะพร เป็นหนังสือเกี่ยวกับ วัฒนธรรมใต้ดิน (Underground culture, Underground scene) หรือ วัฒนธรรมย่อย (subculture) ในประเทศญี่ปุ่นโดยเน้นเล่าถึงโตเกียวเป็นหลัก แต่ที่ยกโควตข้างต้นมา เพราะเห็นว่าเป็นข้อความที่สามารถอธิบายความเป็น ‘ผี’ ที่หนังสือเล่มนี้เลือกมาใช้เป็นชื่อเรื่องได้ดี
วัฒนธรรมใต้ดินมีชีวิตโลดแล่นไม่ต่างจากวัฒนธรรมทั่วไป แต่ก็เป็นรูปแบบของชีวิตที่ต่างออกไปจากปกติ ตัวอย่างเช่นการชมดนตรี โดยทั่วไปตามคอนเสิร์ตต่างๆ ศิลปินเล่นเครื่องดนตรีบนเวที ร้องเพลง ทักทายคนดู แต่ในวัฒนธรรมย่อย เช่น ดนตรีนอยซ์ (noise music) หรือ ดนตรีทดลอง (experimental music) ศิลปินอาจจะสร้างเสียงด้วยการหอนของไมค์ (audio feedback) แล้วแสดงกับเสียงนั้น หรือเขาอาจจะขับรถแบคโฮทะลุกำแพงของสถานที่แสดงขึ้นเวทีและทำลายข้าวของให้เกิดเป็นเสียงดังแทนการใช้เครื่องดนตรี
การจะบอกว่านั่นเป็นดนตรีหรือไม่อาจต้องถกกันยาว แต่ที่แน่ๆ ผู้ชมจากทั้งสองกลุ่มต่างเพลิดเพลินไปกับคอนเสิร์ตแบบที่ตัวเองเลือก
แน่นอนว่างานดนตรีแบบทั่วไปต้องได้รับความนิยมกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า มีจำนวนผู้ชมมากกว่า และต่อให้เราไม่ได้เพ่งความสนใจก็อาจพบเจอจากการได้ยินดนตรีทางวิทยุหรือตามสื่ออื่นๆ พูดโดยรวมได้ว่า ดูจะมีตัวตนในสังคมปกติมากกว่า แต่กับดนตรีเฉพาะกลุ่มที่กลายสภาพเป็นวัฒนธรรมใต้ดิน ก็เพราะรสนิยมของคนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น และการจะพบตัวมันเลยยิ่งยากขึ้นไปอีก ทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้เหมือน ‘ไม่ได้ดำรงอยู่’ (absence)
แต่หากเพ่งมองดีๆ สืบเสาะหาก็อาจจะพบว่ามัน ‘ดำรงอยู่’ (presence) ในรูปแบบเฉพาะตัว คล้ายกับ ‘ผี’ ในนิยามที่ยกมาพูดไว้ข้างต้น
หากถามว่าวัฒนธรรมเหล่านี้พิเศษกว่าวัฒนธรรมทั่วไปหรือไม่ ทุกอย่างดูจะเป็นความแตกต่างที่แชร์พื้นที่ร่วมกันมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าใครจะให้ความสำคัญกับอะไร ซึ่งหนังสือ The Ghosts of Tokyo นอกจากจะพาเราสำรวจโลกใต้ดินแล้ว ยังใช้กลุ่มวัฒนธรรมย่อยเหล่านั้นพาให้เราไปรู้จักกับวัฒนธรรมหลักในพื้นที่ร่วมกัน (หรือบางกรณีก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมย่อย) และยังพูดถึงบริบททางสังคมในแต่ละช่วงเวลาที่ส่งผลให้เกิด ‘ผี’ เหล่านี้อีกด้วย
วัฒนธรรมเหล่านี้เหมือน ‘ไม่ได้ดำรงอยู่’ (absence) แต่หากเพ่งมองดีๆ สืบเสาะหาก็อาจจะพบว่ามัน ‘ดำรงอยู่’ (presence) ในรูปแบบเฉพาะตัว
วิธีเล่าแบบนี้ยังสะท้อนลักษณะพิเศษบางอย่างของสังคมญี่ปุ่นไปในตัว หนึ่งคือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแปลงสิ่งที่รับเข้ามาหรือผสมมันเข้ากับวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้ว สร้างเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง อย่างเช่น ขนมเค้กของญี่ปุ่นจะมีความโดดเด่นไม่เหมือนกับขนมเค้กตะวันตก หรือการ์ตูนมังงะที่เกิดจากอิทธิพลของการ์ตูนคอมมิค (comic) ผสมกับศิลปะภาพวาดและภาพพิมพ์โบราณที่มีรากฐานมายาวนานของญี่ปุ่น ไปจนถึงหนังโป๊ที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัว อาจจะเถียงได้ว่า ทุกที่ไม่ว่าจะรับอะไรเข้ามาก็ต้องมีการปรับอยู่แล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลผลิตจากญี่ปุ่นมักจะทำให้เรารู้แทบทันทีว่ามาจากไหนและค่อนข้างมีมาตรฐานคุณภาพที่ไว้ใจได้
สองคือ ประเทศนี้ค่อนข้างหมกหมุ่นกับรายละเอียดและความสมบูรณ์แบบ แม้แต่เรื่องที่ดูเล็กที่สุดก็จะถูกเอาใจใส่จัดการอย่างจริงจังที่สุด นั่นทำให้สังคมถูกประกอบขึ้นจากรายละเอียดเล็กๆอย่างเป็นระเบียบและทุกชิ้นส่วนเล็กๆ ก็ส่งผลต่อเนื่องกันอย่างเป็นระบบ ทำให้การพูดถึงวัฒนธรรมย่อยในหนังสือเล่มนี้สามารถสะท้อนภาพสังคมโดยรวมออกมาได้อย่างชัดเจนด้วย
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่า The Ghosts of Tokyo จะพูดถึงแต่แง่งามอย่างเดียว เพราะก็เหมือนกับทุกสังคมในโลกนี้ ญี่ปุ่นเองก็มีมุมมืดที่เป็นปัญหา ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ฉายภาพสะท้อนออกมาทางหน่วยย่อยเหล่านี้ไม่ต่างจากแง่ดีของมัน โดยเรียงลำดับเรื่องได้อย่างน่าสนใจ
เสียงดนตรีและความแปลกแยก
บทแรกๆ ในหนังสือพูดถึงวัฒนธรรมเกี่ยวกับดนตรีเป็นหลัก เริ่มต้นที่ทศวรรษ 1960s ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มแผ่ขยายไปทั่วโลก ลากยาวไปจนถึงยุค 1970s ที่วัฒนธรรมฮิปปี้ (Hippie) เบ่งบาน
สาเหตุหนึ่งที่หนุ่มสาวญี่ปุ่นในยุคนั้นรับเอาความเป็นตะวันตกเข้ามา เพราะพวกเขาเองไม่ค่อยพอใจกับสังคม โดยเฉพาะประเด็นใหญ่อย่างเรื่องที่ญี่ปุ่นยอมให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ ความคิดเกี่ยวกับการต่อต้านสงคราม วิถีแห่งสันติภาพ และความเป็นเสรีชน ตลอดจนวัฒนธรรมดนตรีโฟล์กและร็อคของเหล่าฮิปปี้จึงดูสอดพ้องกันพอดีกับความต้องการของวัยรุ่นญี่ปุ่นยุคนั้น
รวมถึงความตื่นตัวทางการเมืองก็ถูกพ่วงมากับอุดมการณ์เหล่านั้นด้วย จนทำให้เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ในช่วงปลายยุค 1960s ที่รุนแรงระดับที่มีการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับเจ้าหน้าที่รัฐ การเข้ามาของร็อคแอนด์โรลในญี่ปุ่น จึงทำให้เห็นว่าความขบถเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มีการเปิดรับหรือสร้างอะไรแปลกใหม่
ในช่วงปลายยุค 70s ที่ฝั่งตะวันตกมีการเคลื่อนไหวของกระแสดนตรีทดลองหรือดนตรีอวองการ์ด (avant-gard) พอดีกับการเกิดขึ้นของไลฟ์เฮ้าส์ (Live House) หรือรูปแบบของบาร์ที่เปิดพื้นที่ให้มีการแสดงดนตรีสดอย่างจริงจังในฝั่งญี่ปุ่น ช่วยให้กลุ่มวัฒนธรรมย่อยทางดนตรีตลอดจนศิลปะแขนงอื่นๆ เชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น
จนมาในยุค 1980s ไลฟ์เฮ้าส์ก็เต็มไปด้วยประเภทที่หลากหลาย ซึ่งไลฟ์เฮ้าส์นี่เองที่ถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมดนตรีใต้ดินของญี่ปุ่นแข็งแรงและมีสีสัน ในยุคนี้วงการใต้ดินคึกคัก ให้กำเนิดศิลปินสุดโต่งมากมาย เช่น เหล่าศิลปินน๊อยซ์อย่าง Merzbow, Hijokaidan หรือ Hanatarash ผู้เล่นกับเสียงแตกพร่ามัวรุนแรงและมีรูปแบบการแสดงสดอันบ้าคลั่ง อย่างที่เคยกล่าวยกตัวอย่างถึงในตอนแรกว่าศิลปินบางคนอาจขับรถแบคโฮทะลุกำแพงขึ้นเวทีและทำลายข้าวของทุกอย่างให้ราบ พวกเขามีตัวตนจริงๆ ซึ่งนั่นคือกลุ่ม Hanatarash
ศิลปินบางคนอาจขับรถแบคโฮทะลุกำแพงขึ้นเวทีและทำลายข้าวของทุกอย่างให้ราบ พวกเขามีตัวตนจริงๆ ซึ่งนั่นคือกลุ่ม Hanatarash
ต่อเนื่องไปปลายยุค 80s จนถึง 90s ญี่ปุ่นมีศิลปินน๊อยซ์เกิดขึ้นเยอะและทำอย่างจริงจังถึงขนาดมีค่ายเพลงอิสระสำหรับดนตรีประเภทนี้โดยเฉพาะ ศิลปินเหล่านี้มีชื่อเล่นอีกอย่างว่ากลุ่ม ‘เจแปนอยซ์’ (Japanoise ที่มาจาก Japanese + Noise)
จะเห็นว่าตั้งแต่ช่วง 60s-90s วัฒนธรรมดนตรีของญี่ปุ่นทั้งหลักและย่อยหลายกลุ่มเริ่มต้นมาจากอิทธิพลของตะวันตก แต่การเกิดขึ้นของวงร็อคญี่ปุ่นหรือเจแปน๊อยซ์น่าจะทำให้เราพอเห็นได้ว่าเวลาญี่ปุ่นนำเข้าสิ่งใด พวกเขาแปลงมันให้กลายเป็นของตัวเอง สร้างเอกลักษณ์ หรืออาจเรียกว่า ‘ทำให้มันญี่ปุ่น’ (Japanize) ได้ดีขนาดไหน ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น คือการส่งออกวัฒนธรรมที่ถูกแปลงแล้วเหล่านั้นกลับไปสู่โลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใต้ดินอย่างเจแปนอยซ์ หรือวงสไตล์วิชวลเคย์ (Visual kei) อย่าง X Japan ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกในช่วงยุค 90s ก่อนจะกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยในช่วงหลังปี 2000
X Japan วงดนตรีที่แต่งหน้าทาปาก แต่งตัวอลังการแฟนตาซี เล่นเพลงหนักหน่วงซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีฮาร์ดร็อค (Hard Rock) และเฮฟวี่เมทัล (Heavy Metal) ทั้งหมดนี้คือสุนทรียะแบบวิชวลเคย์อย่างชัดเจน X Japan ก้าวสู่ความสำเร็จทั้งในระดับประเทศและนานาชาติตอนช่วงทศวรรษที่ 90s ซึ่งเป็นยุคที่ด้านมืดของสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่เริ่มปรากฏให้เห็น
ในช่วงยุค 80 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเฟื่องฟู เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว สังคมเติบโตไปในรูปแบบของยูโทเปียทุนนิยม แต่ช่องว่างทางความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเริ่มมากขึ้น และมีความกดดันจากการแข่งขันที่สูง จนต่อมาเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในยุค 90s ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2000 ซึ่งช่วงเวลานี้ถูกเรียกเป็น ทศวรรษที่สูญหาย (Lost Decade) สำหรับญี่ปุ่น
ในทศวรรษที่สูญหายนี้เองทำให้บางคนสิ้นศรัทธาต่อการสร้างชาติแบบทุนนิยมที่ใช้ซารารีมัง (salaryman) หรือมนุษย์เงินเดือนในการขับเคลื่อน รวมถึงเกิดช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่นของวัยรุ่นกับพ่อแม่ ที่ทำให้วัยรุ่นเริ่มไม่ไว้ใจในสิ่งที่ผู้ใหญ่สอน ผู้คนมากมายเกิดความเครียดสะสม และทำให้หลายคนต่อต้านสังคม (อาจมองได้ว่าเจแปน๊อยซ์ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการแสดงการต่อต้านด้วยเสียงที่รุนแรง)
ในทศวรรษที่สูญหายนี้เองทำให้บางคนสิ้นศรัทธาต่อการสร้างชาติแบบทุนนิยมที่ใช้ซารารีมัง (salaryman) หรือมนุษย์เงินเดือนในการขับเคลื่อน
ความป่วยไข้เริ่มปรากฏตัวออกมาในรูปแบบของการฆ่าตัวตายหมู่ของวัยรุ่น รวมถึงเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างการก่อการร้ายของลัทธิโอมชินริเกียว (Aum Shinrikyo) ในปี 1995 ที่สมาชิกลัทธิรมแก๊สพิษใส่ผู้โดยสารในรถไฟใต้ดิน
ด้วยภาพลักษณ์ของศิลปินผู้มืดหม่นบรรเลงบทเพลงหนักหน่วงปวดร้าวและแสดงความแปลกแยกต่อสังคม ทำให้ X Japan กลายเป็นหนึ่งในสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของวัยรุ่นยุคนั้นราวกับพระเจ้าสำหรับใครบางคน
แต่พวกเขาเองก็ได้รับผลกระทบจากสังคมด้วยเช่นกัน นักร้องนำ โทชิ (Toshimitsu Deyama) ไปเข้าร่วมกับลัทธิแห่งหนึ่ง (ไม่ใช่โอมชินริเกียว) ทำให้เสียเงินไปมากมายและถูกล้างสมอง (เป็นคำพูดจากปากคำของเจ้าตัวเองที่ออกมาบอกในภายหลัง) จนเป็นสาเหตุหนึ่งของรอยร้าวในวง X Japan และในปี 1998 ฮิเดะ (Hideto Matsumoto) มือกีต้าร์ผู้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของขบถวัยรุ่นในยุคนั้นก็จากไปด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นจุดสิ้นสุดยุครุ่งเรืองของวิช่วลเคย์ เมื่อศรัทธาของพวกเขาจากไป วัยรุ่นบางคนทำร้ายตัวเองหรือถึงขนาดพยายามฆ่าตัวตายตามในงานศพของฮิเดะ แสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นเปราะบางได้แค่ไหน
เซ็กซ์ ความสัมพันธ์และความโดดเดี่ยว
อีกสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับญี่ปุ่นคือเรื่อง เซ็กซ์ คาแรคเตอร์สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทำให้โลกแห่งเซ็กซ์ของญี่ปุ่นมีสีสันและโดดเด่นกว่าที่อื่น คือการไม่เขินอายที่จะสร้างสิ่งตอบสนองแฟนตาซีในทุกรูปแบบไม่ว่าจะสุดโต่งแค่ไหน ตั้งแต่อุตสหกรรมหนังโป๊ที่ใหญ่โตและจัดหมวดหมู่แยกประเภทอย่างละเอียดสำหรับทุกรสนิยม หรือการ์ตูนโป๊รูปแบบเฉพาะตัว อย่าง เฮนไต (Hentai) ไปจนถึงสินค้าและบริการทางเพศที่พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของทุกคน
ด้วยความหลากหลายและสุดโต่งนี้เองทำให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสวรรค์ของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยทางเซ็กซ์ เนื้อหาภายในหนังสือพาเราไปสำรวจกับกลุ่มเหล่านี้ผ่านกิจกรรมของพวกเขา ทั้งงานเฟติชเฟส (Feti-Fest) มหกรรมสำหรับชาวเฟติชทุกรูปแบบ การมัดเชือกแบบคินบาคุ (Kinbaku) หรือชาวต่างชาตินิยมเรียกว่าชิบาริ (Shibari) ที่ตอนนี้ในไทยเองก็เริ่มมีผู้คนให้ความสนใจจนมีการแสดงรวมถึงเวิร์กช็อป และโลกของชาว S&M หรือ Sadomasochism สำหรับผู้ที่มีความสุขจากการให้ความเจ็บปวดหรือรับความเจ็บปวด
อาจเป็นเพราะการค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องเพศ รสนิยมทางเพศต่างๆ จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดไม่ว่ามันจะเฉพาะตัวแค่ไหน ตราบใดที่ยังอยู่ในความยินยอม (consent) ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกเอาเปรียบ ซึ่งด้วยความเปิดกว้างนี้เองที่ทำให้การถกเถียงกันเรื่องความยินยอมหรือประเด็นซับซ้อนต่างๆ ในเรื่องเพศสามารถนำมาพูดกันได้อย่างชัดเจนในสังคมญี่ปุ่น จนทำให้เรื่องเซ็กซ์มีกฎและหลักการในการจัดการที่เป็นระบบเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ
อาจเป็นเพราะการค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องเพศ รสนิยมทางเพศต่างๆ จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดไม่ว่ามันจะเฉพาะตัวแค่ไหน ตราบใดที่ยังอยู่ในความยินยอม (consent)
และหากลองสังเกตจะพบว่าบางครั้ง เรื่องเพศในกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะเหล่านี้ยังถูกมองในฐานะสุนทรียะทางศิลปะด้วย เช่น หลายคนอาจให้ความสนใจกับงานเฟติชเฟสในฐานะสุนทรียะแบบนึงโดยที่ไม่ได้ยึดโยงกับรสนิยมทางเพศของตัวเอง หรืออย่างคินบาคุ ก็ถูกนำเสนอสู่โลกศิลปะรวมถึงวัฒนธรรมป๊อบในช่วงยุค 70s โดยช่างภาพระดับตำนานอย่าง โนบูโยชิ อารากิ (Nobuyoshi Araki) เรื่องนี้เลยสามารถสะท้อนการมองสุนทรียะหรือความงามในแบบที่หลากหลายของชาวญี่ปุ่นได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการข้ามเส้นแบ่งของรูปโป๊อล่างฉ่างกับศิลปะภาพถ่ายของอารากิ หรือผลงานศิลปะที่ผสานความน่าเกลียดขยะแขยง (grotesque) ให้รวมกับความงามแบบอีโรติกของกลุ่ม อีโร-กูโร (Ero guro) ซึ่งศิลปินที่ถูกนับอยู่ในกลุ่มนี้มีตั้งแต่นักเขียน คนทำหนัง ไปจนถึงนักวาดการ์ตูน อย่างเช่น โทชิโอะ มาเอดะ (Toshio Maeda) ผู้ทำให้ปีศาจหนวด (Tentacle) ออกอะละวาดไปทั่วโลก จนโด่งดังในวัฒนธรรมป๊อบและได้ร่วมงานกับแบรนด์ซูพรีม (Supreme) หรือ ซูฮิโร่ มารูโอะ (Suehiro Maruo) นักวาดการ์ตูนที่แสดงความรุนแรงทางเพศระดับเลือดสาดออกมาได้อย่างงดงามชวนกระอักกระอ่วน
การเปิดกว้างความหลากหลายทางสุนทรียะนี้เองอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นโอบรับเอาวัฒนธรรมการดัดแปลงร่างกายอย่างบอดี้มอด (Body Mod ย่อมาจาก Body Modification) เข้ามาอย่างอบอุ่นจากตะวันตกในช่วงทศวรรษที่สูญหายหรือยุค 90s และเริ่มได้รับความนิยมในช่วงปี 2000 ซึ่งในหนังสือก็พาเราไปทำความรู้จักกับบอดี้มอดได้อย่างน่าสนใจ ทั้งรูปแบบในการเข้ามาของมัน สำรวจทัศนคติของวัยรุ่นและพ่อแม่ในยุคนั้นต่อวัฒนธรรมนี้ และสาเหตุที่ทำให้ความเห็นของพวกเขาเป็นอย่างนั้น รวมถึงพาเราไปสู่โลกของของบอดี้มอดอย่างใกล้ชิดผ่านงานอีเว้นท์ใหญ่อย่าง Torture Garden ที่นอกจากแสดงสุนทรียะแล้ว ยังมีกิจกรรมเดินทางเข้าสู่จิตใจภายในผ่านความเจ็บปวด อย่างการแสดงสุดหวาดเสียว Body Suspension ซึ่งเป็นการเอาตะขอเกี่ยวห่วงที่เจาะผิวหนังและยกร่างให้ลอยขึ้นกลางอากาศ
นอกจากเซ็กซ์แล้ว แฟนตาซีด้านความสัมพันธ์ก็มีให้เลือกสรรอย่างหลากหลายในญี่ปุ่น อย่างบริการการ ‘เช่า’ ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อนผู้รับฟัง ไปจนถึงผู้ใหญ่อบอุ่นผู้เข้าใจ และชายในฝันจากโฮสต์คลับหรือบาร์โฮสต์ (Host Club, Bar Host) ถึงจะดูดีในแง่การเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ทางจิตใจอย่างละเอียดอ่อน แต่การที่ต้องพึ่งบริการเหล่านี้ก็ได้แสดงภาพความเหงาในสังคมเมืองสมัยใหม่ของญี่ปุ่นได้อย่างน่าขนลุก
นอกจากเซ็กซ์แล้ว แฟนตาซีด้านความสัมพันธ์ก็มีให้เลือกสรรอย่างหลากหลายในญี่ปุ่น อย่างบริการการ ‘เช่า’ ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ
The Ghosts of Tokyo เลือกจบบทสุดท้ายด้วยเรื่องเกี่ยวกับสลัมในเขตซันยะ (Sanya) ที่ยิ่งเป็นการเผยให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวในโตเกียวชัดขึ้นไปอีก ซันยะเป็นดินแดนของผู้ถูกทอดทิ้งราวกับนครดาวตกในการ์ตูนเรื่อง Hunter × Hunter ทั้งคนไร้บ้าน คนงานไม่มีที่ไป หรือ ผู้สูงอายุที่ไม่มีใครรับทำงานอีกต่อไป ต่างก็อาศัยอยู่ที่นี่ ทุกคนรอคอยรถมารับเพื่อเป็นแรงงานรายวัน พวกเขาต่างฆ่าเวลาและเอาชีวิตรอดไปวันๆ ภาพของ ‘ผี’ ที่อยู่ระหว่างการมีตัวตนและการหายไปล้วนฉายอยู่บนตัวแทบทุกคน
วัฒธรรมย่อยยังมีกลุ่มของตัวเอง มีการดำเนินชีวิตและความหวัง ที่สำคัญคือได้ ‘เลือก’ ที่จะเป็นอะไรบางอย่าง แต่ผู้คนที่ถูกทิ้งไว้ที่นี่ส่วมมากสิ้นหวังและไม่ได้เลือกที่จะอยู่ แต่เป็นเพราะไม่มีที่ไหนให้ไปอีกแล้ว แล้วทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลจากกลไกบางอย่างของสังคม โตเกียวที่เราเห็นแง่ดีในความเจริญ ก็มีวิญญาณมากมายถูกทิ้งไว้ด้วยเช่นเดียวกัน วิธีการที่หนังสือ The Ghosts of Tokyo เรียงลำดับเรื่องราวต่างๆไปจนถึงการเลือกจบเล่มด้วยบทนี้จึงดูมีแง่มุมน่าสนใจ
ด้วยทั้งหมดที่ว่ามานั้นเลยทำให้ The Ghosts of Tokyo เป็นมากกว่าแค่การสำรวจกลุ่มวัฒนธรรมย่อยหรือคนชายขอบอย่างโดดๆ แต่เชื่อมโยงทั้งหมดเข้ากับภาพใหญ่โดยรวม จนเราสามารถใช้รายละเอียดย่อยเหล่านี้ทำความเข้าใจสังคมรวมถึงประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นหรืออย่างน้อยในโตเกียวได้อย่างคร่าวๆ
อาจจะเรียกได้ว่าใช้ ‘ผี’ ช่วยวาดภาพคน แล้วให้ผู้อ่านใช้ผีกับคนวาดภาพสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกัน
อ้างอิง:
- https://www.japantimes.co.jp/culture/2017/11/19/arts/1968-year-japan-truly-raised-voice/#.XDggps8zZBw
- https://www.huffingtonpost.com/entry/japan-loneliness-aging-robots-technology_us_5b72873ae4b0530743cd04aa