*มีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง

“อัสนีเทพเอย แว่วเสียงครวญจากเมฆา มืดครึ้มเปี่ยมนภา วอนพาฝนโปรยมา ขอท่านอย่าจากไป”

นี่คือกวีบทแรกที่ถูกเอ่ยขึ้นในสวนแห่งถ้อยคำ ในนิยายเรื่อง The Garden of Words หรือในชื่อภาษาไทย ยามสายฝนโปรยปราย กวีบทนี้ยกมาจาก มังโยชู (Manyoshu) งานเขียนรวบรวมกวีโบราณของญี่ปุ่นและมีบทโต้ตอบของมันอยู่ ซึ่งตัวละครในเรื่องได้ใช้เวลาอีกยาวนานผ่านเรื่องราวมากมายในช่วงเปราะบางของชีวิต กว่าจะได้เอ่ยตอบกลับกวีบทนี้

ยามสายฝนโปรยปราย เป็นไลท์โนเวลที่เขียนขึ้นจากอนิเมะปี 2013 ในชื่อเดียวกัน และเขียนโดยตัวผู้กำกับ มาโคโตะ ชินไค (Makoto Shinkai) เอง เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ทาคาโอะ’ เด็กหนุ่ม ม.ปลาย ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นช่างทำรองเท้า ในเช้าที่ฝนตกวันหนึ่งเขาเลือกจะโดดเรียนไปยังอุทยานหลวงชินจุกุ ที่นั่นเองเขาได้พบกับ ‘ยูคิโนะ’ หญิงสาวลึกลับที่มีอายุมากกว่า เธอนั่งดื่มเบียร์แกล้มกับช็อคโกแลต ก่อนจะจากไปเธอได้ทิ้งกวีบทหนึ่งไว้ให้เขา หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ถูกเชื่อมต่อกันด้วยแรงดึงดูดของฝน

The Garden of Words ฉบับอนิเมะนั้นมีความยาวเพียง 46 นาที โฟกัสไปที่ตัวทาคาโอะกับยูคิโนะ และเล่าเรื่องราวในช่วงเวลาที่ทั้งสองเจอกันเป็นหลัก ส่วนฉบับนิยายถึงจะเล่าเรื่องเดียวกันแต่ก็เพิ่มรายละเอียดมิติตัวละครมากขึ้น บอกที่มาที่ไปของเหตุการณ์ในฉบับการ์ตูน รวมถึงเล่าผ่านมุมมองจากตัวละครอื่นๆ ที่ในอนิเมะโผล่มาเป็นแค่ตัวประกอบ หลังจากทั้งได้อ่านและได้ดูแล้ว โดยส่วนตัวชอบนิยายกว่ามาก อย่างไรก็ตามเวอร์ชั่นอนิเมะก็มีบรรยากาศที่น่าสนใจและละเอียดอ่อนในแบบของมัน โดยเฉพาะงานด้านภาพที่งดงามมีเอกลักษณ์ จนแทบจะทำให้เราได้กลิ่นฝน 

มาโกโตะเองก็ได้เขียนคำตามไว้ในหนังสือว่าทั้งอนิเมะกับนิยายเองมีข้อดีในการใช้ต่างกัน ภาพบางภาพสื่ออารมณ์สู่ผู้ชมได้โดยตรงในแบบที่เขานิยามว่าเป็น “ความรู้สึกที่เกิดจากการได้รับผลกระทบของสิ่งเร้า” ส่วนนิยายก็สามารถใช้ถ้อยคำสื่ออารมณ์เฉพาะเจาะจงที่อาจทำเป็นภาพให้ทุกคนเข้าใจตรงกันได้ยาก ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว มาโคโตะ ใช้ศักยภาพของทั้งสองสื่อได้อย่างยอดเยี่ยม หากชื่อเสียงจากอนิเมะ Your Name (2016) เป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถในการใช้สื่อการ์ตูนของเขา The Garden of Words ฉบับนิยาย ก็นับว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถในการร้อยเรียงเรื่องในแบบนิยายของเขาเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้กับผู้แปลหนังสือด้วย ที่แปลออกมาได้สวยงามและลงตัวกับบริบทในภาษาไทย อย่างการถอดความบทกวีมังโยชูที่จะมีแทรกเป็นลูกเล่นอยู่ท้ายทุกบท หรือการไหลเปลี่ยนไปมาของสรรพนามผู้เล่า ทั้งหมดนี้จึงทำให้หนังสือเล่มนี้มีพลังพอที่จะทำให้เรามองมันในฐานะงานเขียนชิ้นหนึ่งที่มีชีวิตของตัวเองโดยไม่ต้องผูกติดกับเวอร์ชั่นอนิเมะ

ไลท์โนเวลเรื่องนี้ค่อนข้างมืดหม่น ตัวละครทุกตัวล้วนมีปัญหา อยู่ในสภาพที่พยายามก้าวเดินต่อไปแต่ทำไม่ได้ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าออกมาในแบบที่ไม่ฟูมฟาย แต่ก็ไม่เหมารวมให้กลายเป็นแค่ปัญหาแบบสเตอริโอไทป์ของวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ทั่วไป ผู้เขียนปฏิบัติต่อตัวละครอย่างละเอียดอ่อน และด้วยความที่แต่ละบทถูกเล่าผ่านมุมมองของแต่ละตัวละคร ทำให้เราสามารถรับรู้ความคิดและมิติของแต่ละคนได้อย่างลึกซึ้ง จนต่อให้เป็นเรื่องราวที่เลวร้ายเราก็อาจจะรู้สึกว่า “ก็พอเข้าใจได้นะว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น”

ทาคาโอะ คือเด็ก ม.ปลาย ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นช่างทำร้องเท้า อาชีพซึ่งไม่ใช่เส้นทางที่เดินได้ง่ายนัก แต่เขาก็จริงจังกับมันถึงขนาดเลือกที่จะไม่เข้ามหาวิทยาลัยแต่พยายามเก็บเงินเพื่อไปเรียนเฉพาะทางที่ต่างประเทศ พ่อแม่ของทาคาโอะหย่าร้างกัน เขาอยู่กับเรมิผู้เป็นแม่ และ โชตะ พี่ชายของเขา ทุกคนอาศัยร่วมกันในห้องเช่าเล็กๆ เรมิเป็นคนดื่มหนักและหลังจากหย่าก็มีคู่เดตอยู่เสมอ ถึงจะมีปัญหาความไม่ลงรอยกับโชตะตามประสาแม่ลูกอยู่บ้าง แต่เธอก็รักและเป็นห่วงลูกชายทั้งสองคนในแบบของเธอ ตอนนี้เรมิกำลังคบกับคุณชิมิสึชายหนุ่มที่อายุอ่อนกว่าเป็นสิบปี ส่วนโชตะ พี่ชายของทาคาโอะ เป็นพนักงานบริษัทผู้ซึ่งเพิ่งจะทำงานสำคัญพลาดไป เขากำลังวางแผนจะย้ายออกไปอยู่กับ ริกะ แฟนสาวที่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย และในขณะเดียวกันเธอก็เป็นนักแสดงละครเวทีคณะเล็กๆ ที่ตั้งใจจะหาเลี้ยงชีพด้วยงานที่เธอรักให้ได้ 

ฝั่งของ ยูคิโนะ ที่จริงแล้วเธอเป็นครูในโรงเรียนที่ทาคาโอะเรียนอยู่ เธอถูก โชโกะ นักเรียนหญิงคนหนึ่งป่วนจนทำให้ไปสอนไม่ได้เพราะแฟนหนุ่มของโชโกะดันไปชอบครูยูคิโนะ แล้วเหมือนตลกร้ายอีกชั้นที่ในที่สุดยูคิโนะก็มารักกับทาคาโอะนักเรียนคนหนึ่งในโรงเรียนเข้าจริงๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของครูอิโต แฟนเก่าของยูคิโนะที่ดันเป็นครูประจำชั้นของทาคาโอะ ซึ่งเขาต้องมาช่วยยูคิโนะทำเรื่องลาออกอีก เรื่องราวที่เกิดขึ้นอาจถูกเล่าออกมาแบบดราม่าเข้มข้น เต็มไปด้วยประเด็นทางศีลธรรมได้ แต่ตัวนิยายเลือกที่จะเล่ามันออกมาอย่างนุ่มนวลสวยงามและปราศจากการตัดสิน ทุกคนล้วนใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง มีปัญหาในแบบของตัวเอง และนอกจากการเป็นแม่ คุณครู นักเรียน พนักงานบริษัท ฯลฯ ทุกคนล้วนเป็นคนคนหนึ่งที่พยายามเดินต่อไปในทางของตัวเองอย่างโดดเดี่ยว

นอกจากการเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครที่หลากหลาย นิยายเรื่องนี้ยังใช้การบรรยายความรู้สึกภายในจิตใจเป็นที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว หลายทีที่มีการจงใจนำบทบรรยายความคิดของตัวละครกับสิ่งที่เขาตัดสินใจพูดออกไปมาเรียงต่อกัน และมันก็มักจะดำเนินไปในทางตรงกันข้าม เพราะบางครั้งเราก็ทำร้ายคนที่เรารักแม้ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะไม่ให้มันเกิดขึ้น หรือบางครั้งก็มีอะไรบางอย่างทำให้ไม่สามารถจริงใจกับความรู้สึกของตัวเองได้ 

ด้วยความที่งานเขียนไลท์โนเวลส่วนมาก มีตัวเอกรวมถึงกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านในวัยประถมจนถึงมัธยมปลาย เนื่อหาจึงง่ายที่จะถูกจัดเป็นเรื่องของการ coming of age ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ยามสายฝนโปรยปราย ไม่ได้เล่าเพียงการ coming of age ของตัวละครหลักวัยรุ่นอย่างทาคาโอะ แต่ยังรวมถึงผู้ใหญ่คนอื่นๆในเรื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นยูคิโนะที่อยู่ในวัยทำงานแล้ว หรือแม้แต่ เรมิ แม่ของทาคาโอะในวัยกลางคน ทุกคนล้วนกำลังพยายามที่จะข้ามผ่านอะไรบางอย่าง เพราะบาดแผลที่เพิ่มมากขึ้น มุมมองที่หดหู่กับชีวิตซึ่งค่อยๆ ซึมเข้ามาระหว่างการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถึงแม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่ใช่ว่ากระบวนการนี้จะสิ้นสุดลง พอรู้ตัวอีกทีเราก็อาจจะไม่สามารถจริงใจต่อตัวเอง พบว่าเรากำลังโดดเดี่ยว หรือกระทั่งเดินไปข้างหน้าอีกไม่ได้แล้ว แต่ในช่วงเวลาเหล่านั้นเองเราก็อาจจะได้พบกับใครบางคนหรืออะไรบางอย่างที่ช่วยให้เจอรองเท้าคู่ใหม่ที่ใช้ในการก้าวเดินต่อไป 

มาโคโตะ ได้เขียนไว้ในบทตามของหนังสือว่า กวีโบราณในสมัยมังโย มักจะใช้คำว่า ‘ความเหงาเศร้า’ (โคอิ) ในพูดสื่อถึงคำว่า ‘รัก’ และเรื่องราวในนิยายเล่มนี้เอง สำหรับเขาคือเรื่องราวความเหงาเศร้าก่อนที่จะกลายเป็นความรัก

หลังจากผ่านเหตุการณ์ทั้งหมดภายใต้สายฝนที่โปรยปราย ทาคาโอะเลือกเรียนต่อในทางที่ตนตัดสินใจ ยูคิโนะ กลับไปเป็นครูในโรงเรียนบนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง เรมิเข้าใจการตัดสินใจของลูกชายและหวนนึกถึงการตัดสินใจของตัวเองเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น โชตะย้ายออกจากบ้านไปอยู่กับริกะ รวมถึงตัวละครอื่นๆ ต่างก็แยกย้ายกันไปตามทางของตัวเองและพยายามก้าวเดินต่อไป จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ทาคาโอะ กับ ยูคิโนะ นัดเจอกันอีกครั้ง คราวนี้เขาได้ทำรองเท้าคู่หนึ่ง รองเท้าที่เหมือนต้นแบบที่เคยทำไว้เมื่อหลายปีก่อน แต่ครั้งนี้มันสามารถใส่ได้จริง เพื่อใช้ก้าวเดินต่อไปในฤดูใบไม้ผลิอันสดใส หลังฤดูฝนอันยาวนาน

“อัสนีเทพเอย แว่วเสียงครวญจากเมฆา แม้ฝนมิโปรยมา เพียงเจ้าวอนขอ ข้ามิจากไป”

Tags: ,