เพลง ‘Blue in Green’ ของ Miles Davis ที่ถูกเปิดในร้าน The Decorum ช่างชวนเคลิ้ม รื่นรมย์ และปลุกเร้าให้ผมอยากเสียเงินไปกับเชิ้ตญี่ปุ่นที่แขวนเรียงกันบนราวนามว่า kamakura รองเท้าคุณภาพดีจากเวียดนามที่ชื่อ Fugashin ขณะที่บริการตัดสูทอย่างดีของ Sartisan จากเกาหลีก็น่าสนใจไม่น้อย
ผมยืนอยู่ในร้าน สำรวจตรวจตราไปทีละมุม ขณะที่หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน บอล-วรงค์ ภัทรชัยกุล สวมสูทผูกเนคไท อธิบายความดีงามของแต่ละชิ้นให้ฟัง ไม่นานนักหุ้นส่วนอีกคน กาย-ศิรพล ฤทธิประศาสน์ ก็ตามมา เขาใส่สูทพอดีตัว กางเกงค่อยๆ ไล่ระดับไปจนปลายขา คล้ายกับมันสร้างมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ
นี่ก็เป็นข้าราชการที่แต่งตัวดีชะมัด ผมคิดในใจ เพราะ กาย-ศิรพล ฤทธิประศาสน์ เป็นถึงเศรษฐกรชำนาญการ อยู่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ขณะที่บอล-วรงค์ ภัทรชัยกุล เป็นเจ้าของธุรกิจขายเสื้อผ้าลูกไม้ผู้หญิง แต่ชอบการแต่งตัวแบบ Classic Menswear ทั้งคู่จึงมาทำร้านนี้ด้วยกัน
คอมมูนิตี้ของผู้ชายสายคลาสสิก
ไม่มีข้อสงสัยไหน ที่เราอยากรู้มากเท่ากับว่า The Decorum คืออะไร ในเรื่องนี้ กาย-ศิรพล ก็ให้คำตอบได้อย่างชัดเจน
“มันเป็นเหมือนร้านมัลติแบรนด์ของ Classic Menswear เรามีเชิ้ต รองเท้า เนคไท และโปรแกรมตัดสูทแบบ Made to Measure คือเราทำครบวงจร รวมไปถึงการทำอีเวนต์ เราเอาช่างทำสูท ช่างทำรองเท้า จากต่างประเทศเข้ามาให้คนไทยได้สัมผัส เพราะการตัดสูทที่เรียกว่า Bespoke มันไม่ใช่แค่การเจอกับช่างแค่ครั้งเดียวแล้วได้เลย ยิ่งคุณบินไปตัดที่ต่างประเทศ มันต้องบินไปกลับหลายรอบกว่าจะได้สูทหนึ่งชุด”
“หน้าที่หลักของเราคือเป็นคิวเรเตอร์ หาของที่มีคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผล เราต้องใช้เองด้วย เพื่อที่จะแนะนำให้กับลูกค้าได้ บางอย่างราคาสูงก็ต้องสอดคล้องกับคุณภาพที่ตามมา ของแพงถ้าไม่ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพ เราก็ไม่เอาเข้ามาขาย นี่คือสิ่งที่พวกเราพยายามจะทำ
“มันไม่ใช่เรื่องของถูกหรือแพง ความคุ้มค่าอยู่ที่คุณค่าของงาน คนไทยได้สัมผัสสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้จัก แล้วเป็นช่างที่มีชื่อเสียง สุดท้ายการจ่ายเงินของลูกค้าก็คือการจ่ายค่าแรงให้กับช่างที่เขาทำให้คุณ แล้วจะเห็นได้ชัดว่าความสวยงาม ไม่ได้อยู่ที่ยี่ห้อ เราแคร์เรื่องคุณภาพและฟิตติ้งที่พอดีกับเรามากกว่า”
ค้นหาสิ่งที่ใช่
ขณะที่บอล-วรงค์ ได้อธิบายถึงกลุ่มลูกค้าของ The Decorum ว่าอย่างแรกต้องเป็นผู้ชายที่ชอบใส่เชิ้ต
“ผู้ชายที่ชอบใส่เชิ้ต อาจเป็นพนักงานออฟฟิศที่สนใจภาพลักษณ์ อยากได้เชิ้ตที่พอดีกับตัวเอง มีการตัดเย็บที่ดี คือมันเป็นไอเท็มพื้นฐานของผู้ชายที่รักการแต่งตัว เอาเข้าจริงแล้วตั้งแต่เปิดร้านมาก็มีตั้งแต่นักศึกษาไปจนถึงวัยทำงาน 40 กว่า”
“เชิ้ตมันเป็นสิ่งแรกที่ดึงให้คนเข้ามาหาเรา คุยกับลูกค้าหลายคน เขาอยากแต่งตัว แต่ไม่ค่อยมีตัวเลือก เราแนะนำเขาได้ จากเชิ้ตก็มาที่กางเกง รองเท้าบ้าง ก็เป็นสเต็ปไป เราไม่ได้ขายสินค้าที่ราคาสูงมาก คือมันไม่ได้ถูก แต่ไม่ overpriced แน่นอน”
“ผมว่าลูกค้าอยากได้เชิ้ตที่มันพอดีตัวเขา ลูกค้าที่ซื้อเชิ้ตตัวแรกของเราไปจะรู้เลยว่ามันดีอย่างไร ทั้งขนาดที่พอดีตัว คัตติ้งการตัดเย็บ” กาย-ศิรพล ให้ความเห็น
ระหว่างที่ทั้งสองคนกำลังเล่าถึงความดีงามของเชิ้ต kamakura แบรนด์ญี่ปุ่นที่ผมเองก็ยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ
“คุณเอกลองได้นะครับ แล้วจะรู้ว่ามันดีอย่างไร” บอล-วรงค์ ชวนผมลองเชิ้ตของเขา ไม่ทันไร เขาก็หยิบสายวัดมาวัดรอบคอผม
“เป็นวิธีการวัดหาขนาดเสื้อที่ต้องการ คือมันจะละเอียดกว่าปกติ” เขาอธิบาย
“แม้จะเป็นแบรนด์ใหญ่ในญี่ปุ่น แต่เขามีปรัชญาที่แน่วแน่มาก เขาอยากให้มันสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงให้กับลูกค้า และไม่ลดราคาด้วย มันจะเป็นการขายตรงจากโรงงานสู่ผู้บริโภคเลย ตอนผมไปคือก็ไปคุยแบบคนไม่เคยทำธุรกิจด้านแฟชั่นมาก่อน ก็อ้อนวอนให้เขายอมให้เอาเข้ามาขายในเมืองไทย ก็ได้โอกาสนัั้นมา เราก็อยากทำให้สำเร็จ มีเป้าหมายคือเปิดร้านใหญ่ในเมืองไทย” กาย-ศิรพล เล่าถึงความดีงามของแบรนด์นี้
“นี่คือรองเท้าเวียดนามยี่ห้อ Fugashin” กาย-ศิรพล หยิบรองเท้าขึ้นมาให้เราดู
“เราไปเจอมาที่เวียดนาม เป็นโรงงานที่ทำรองเท้าได้คุณภาพเหมือนยุโรปเลย ราคาจับต้องได้ เราเลยเอาเข้ามาแนะนำในเมืองไทย เป็นอีกตัวที่ภูมิใจว่าแบรนด์ใหม่จะมาพิสูจน์ด้วยคุณภาพ”
“ส่วนด้านบนเป็นสูทแบรนด์ Satisan จากเกาหลี คือเราได้ช่างเกาหลีที่เคยอยู่อิตาลี เป็นเพื่อนกับเรานี่แหละที่มาช่วยทำให้ เป็นสูทสไตล์อิตาเลียนที่ไม่ค่อยมีใครทำในเมืองไทย ข้อดีของสูทสไตล์อิตาเลียนคือใส่แล้วดูธรรมชาติมากกว่าสูทจากอังกฤษที่บ้านเรานิยมกัน”
เราจะใส่สูทกันไปทำไม
ข้อสงสัยที่ว่าเราจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใส่สูท ในสังคมไทยที่อาจไม่ได้มีภาพวัฒนธรรมของการใส่สูทมากนัก
“ผมว่าสังคมไทยมี mentality เกี่ยวกับการใส่สูทที่ว่าเราไม่กล้าหลุดจากการใส่แค่สูทดำ” กาย-ศิรพล ออกความเห็น
“อย่างผมใส่สูทไปทำงานเกือบทุกวัน บางทีเราออกไปประชุมกับเอกชน มันเป็นการ represent ความเป็นข้าราชการในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่บรรทัดฐานของสังคมไทยจะไปทิศทางการแต่งตัวเยอะเสียมากกว่า มันอยู่ที่ว่าเราต้องการแบบไหน ความฟุ่มเฟื่อยอยู่ที่มุมมอง การจัดสรรเงินที่มีของคุณให้เหมาะสม”
สูทที่ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพงเสมอไป แต่มันต้องเป็นสูทที่ฟิตกับเรา มันไม่ตอบโจทย์ว่าสูทราคาแสนหนึ่ง คุณใส่แล้วก็จะดูดี ถ้าสูทราคาแค่ห้าพันแต่ฟิตพอดีกับเรา ย่อมดีกว่า”
“คุณอาจจะเคยได้ยินว่ามีสูทดีๆ แค่ตัวสองตัวก็ใช้ได้ไปตลอด มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของคุณได้เลย สูทที่ดีจะเสริมจุดเด่น และกลบจุดด้อยของเรา”
แล้วผู้ชายไทยเหมาะกับสูทแบบไหน? ผมสงสัย
กาย-ศิรพลให้ความเห็นว่า “อยู่ที่โครงสร้างสูท อย่างสูทสไตล์อังกฤษจะดูเต็มกว่า มีรายละเอียดเยอะ แต่สูทสไตล์อิตาเลียนจะดูน้อยกว่า ดูบางกว่า ใส่แล้วจะสบายว่า คือสูทที่พอดีกับเรามันจะเสริมให้เราดูดีเวลาทำงานหรือแม้แต่การจีบสาว”
“ผู้ชายไทยใส่สูทเยอะขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี ผมว่าให้เวลาอีกหน่อย แล้วจะกล้ากันมากขึ้น คนให้ความสนใจมากขึ้น สมัยก่อนผมก็มีปัญหาเหมือนกันนะ เวลาอยากได้สูท ก็เอาไปให้ร้านตัด ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี สุดท้ายเราก็ต้องเรียนรู้เอง ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ”
ไอเท็มที่เราอยากแนะนำของร้านนี้
Kamakura Shirts แบรนด์เชิ้ตจากญี่ปุ่นที่คุณจะหาไซส์ที่ใช่ได้อย่างแน่นอน แล้วจะรู้ว่าเชิ้ตที่พอดีกับตัวคุณจะเป็นแบบไหน ราคาเริ่มต้นที่ 2,950 บาท
Fugashin รองเท้าหนังจากเวียดนามที่ใช้การตัดเย็บพื้นแบบ Goodyear welt ที่การันตีเรื่องความแข็งแรง ทนทาน
Sartisan สูทแบบ Bespoke โดยช่างจากเกาหลี ที่นัดวัดตัวและตัดตามรูปร่างของเรา รับรองได้ว่าคุณจะได้สูทที่เกิดมาเพื่อคุณคนเดียว ราคาเริ่มต้นที่ 42,000 บาท
ถ่ายภาพโดย ภาณุทัช โสภณอภิกุล
FACT BOX:
The Decorum อยู่ที่อารีย์สัมพันธ์ซอย 5 กรุงเทพฯ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/thedecorumbkk