“ถ้าอยากร้องเรียนการกระทำของนายกรัฐมนตรี ผมต้องคุยกับใคร? ส.ส. ท้องถิ่น? ผู้นำฝ่ายค้าน? หรือว่าพระราชินี?”
สหราชอาณาจักรถือเป็นประเทศต้นแบบด้านการเมืองการปกครองให้หลายประเทศในโลก เป็นประเทศที่โด่งดังเรื่องระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐที่ไม่มีบทบาททางการเมือง แต่ถึงอย่างนั้น สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ชาวอังกฤษจะต้องรู้จัก จนพานให้ใครหลายคนคิดว่า หากมีเรื่องอยากร้องเรียน การบอกเรื่องราวนั้น ๆ แก่พระราชินีคงทำให้ปัญหาที่เจอมาถูกแก้ไขโดยเร็ว ซึ่ง ไมเคิล เฟแกน (Michael Fagan) ได้ตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่มีใครกล้าทำด้วยการลอบเข้าห้องบรรทมของพระราชินี เพื่อพูดคุยถึงความอัดอั้นตันใจแบบเปิดอก
ในปี 1982 สื่อทุกสำนักในประเทศอังกฤษรายงานข่าวชายคนหนึ่งที่ไปเข้าเฝ้าพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต ชื่อของเขาคือ ไมเคิล เฟแกน ที่สามารถผ่านระบบรักษาความปลอดภัยทันสมัย (ในยุคนั้น) ปีนข้ามรั้ว ไต่ท่อระบายน้ำ เข้าไปในตัวพระราชวังทางหน้าต่าง ผ่านเหล่าองครักษ์และตำรวจไปถึงห้องบรรทมของสมเด็จพระราชินี
สื่อบางสำนักคาดการณ์ว่าเขานั่งอยู่ห่างจากพระราชินีราว 6 ฟุต ขอบุหรี่จากพระองค์หนึ่งมวน และนั่งคุยกันราว 10 นาที ก่อนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะเข้ามาคุมตัวเขาออกไป เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้นักข่าวต่างตั้งคำถามว่าเฟแกนลอบเข้าวังไปได้อย่างไร ทำไมระบบรักษาความปลอดภัยของสำนักพระราชวังถึงหละหลวม และเฟแกนใช้เวลาอันน้อยนิดพูดอะไรกับพระราชินี ?
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงถูกนำมาเล่าอีกครั้งในซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์อังกฤษเรื่อง The Crown ซีซัน 4 ตอน 5 ที่มีชื่อตอนว่า ‘Fagan’ โดยเส้นเรื่องจะเล่าถึงประเทศอังกฤษภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ระหว่างที่เธอกำลังทุ่มงบประมาณแผ่นดินกว่า 3 พันล้านปอนด์ ทำสงครามกับรัฐบาลเผด็จการทหารอาร์เจนตินาที่เข้ายึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษกลับคืนมา
ขณะที่นายกหญิงทุ่มแรงกายแรงใจไปกับสงคราม อัตราการว่างงานในประเทศก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และ ไมเคิล เฟแกน ในฉบับซีรีส์ ได้แสดงมุมมองทางการเมืองอย่างเปิดเผยว่าเขาไม่ชอบการบริหารงานของแทตเชอร์และรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม มองว่ารัฐบาลควรสนใจปากท้องคนในประเทศมากกว่าไปทำสงครามกับต่างชาติ
แทบทุกวันไมเคิลต้องนั่งรถเมล์ผ่านพระราชวังบักกิงแฮม เขาเป็นชายตกงาน ชีวิตล้มเหลว อาศัยในแฟลตรูหนูย่านยอร์กทาวน์ เคยมีภรรยากับลูก 4 คน แต่สุดท้ายเธอหอบลูกหนีไปอยู่กับสามีใหม่เพราะเขาไม่สามารถดูแลใครได้ เฟแกนเดินทางมาทำเรื่องว่างงานกับสังคมสงเคราะห์ เขารู้สึกว่าพนักงานไม่ได้ใส่ใจตนเท่าไหร่หนักนักจึงอยากร้องเรียนไปถึงหัวหน้า แต่พนักงานบอกเขาว่า “ถ้ารู้สึกว่าที่นี่ปฏิบัติกับคุณอย่างไม่เป็นธรรม กรุณาไปบอกกับ ส.ส. เขตตัวเอง” เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับเรื่องและส่งไปยังสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน
เมื่อได้ฟังดังนั้น เฟแกนจึงเดินทางไปพบกับตัวแทนเขตตามที่พนักงานสังคมสงเคราะห์บอก เขากล่าวกับ ส.ส. ว่ารู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาล แสดงความเกลียดชังนโยบายบริหารประเทศของนางแทตเชอร์ และไม่เชื่อว่าผู้แทนเขตจะบันทึกเรื่องร้องเรียนของเขา ส.ส. จึงบอกว่าหากไม่เชื่อและอยากประท้วงก็ให้ประท้วงผ่านการเลือกตั้ง หรือประท้วงบนถนนอย่างสันติตามแบบสังคมประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว หรือส่งเรื่องไปยังผู้นำฝ่ายค้านที่จะถามนางแทตเชอร์ถึงนโยบายการปกครองในสภาสามัญชน และพูดเล่นทิ้งท้ายว่า “ถ้าทำหมดแล้วยังไม่สำเร็จ ก็ให้ไปบอกพระราชินีที่พระราชวงบักกิงแฮม เพราะนายกรัฐมนตรีต้องไปเข้าเฝ้าประมุขแห่งรัฐเป็นการส่วนตัวทุกวันอังคาร”
เฟแกนมีปัญหาชีวิตหลายอย่าง ทั้งการว่างงาน สิทธิในการขอเลี้ยงดูลูก ไหนจะห้องเช่าที่เขาต้องซ่อมแซม เฟแกนต้องไปทำเรื่องที่สังคมสงเคราะห์ ไปหาคณะกรรมการเขต ไปหาเทศบาล รวมถึงไปหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตตัวเอง แต่ด้วยระบบราชการล่าช้าที่ทุกฝ่ายต่างโยนเรื่องของเขาไปมา เทศบาลโยนเรื่องให้คณะกรรมการเขต ส่วนคณะกรรมการเขตก็บอกให้ไมเคิลไปแจ้งเรื่องที่เทศบาล พอไปหา ส.ส. ก็บอกให้เขาไปหาผู้นำฝ่ายค้านหรือพระราชินีแห่งอังกฤษ คล้ายกับว่านายเฟแกนกำลังพายเรือวนอยู่ในอ่างอย่างไรอย่างนั้น
หลังเห็นชีวิตสุดรันทดของสามัญชนชาวอังกฤษ The Crown พาเรากลับไปทางฝั่งสมาชิกราชวงศ์ที่กำลังพบปะประชาชน แต่ถึงอย่างนั้นชาวอังกฤษที่ได้เข้าเฝ้าล้วนถูกคัดสรรโดยสำนักพระราชวังที่เลือก ‘ประชาชนชาวอังกฤษที่เหมาะสม’ การพบประชาชนของพระราชินีจึงเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวในสังคมอังกฤษเท่านั้น และนายเฟแกนก็คงไม่มีวันผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าพบสมาชิกราชวงศ์อย่างแน่นอน
ปัญหาชีวิตมากมายที่รุมเร้า เฟแกนตัดสินใจลอบเข้าพระราชวังบักกิงแฮมด้วยการปีนรั้วแบบสบาย ๆ จากนั้นไต่ท่อระบายน้ำ เข้าวังทางหน้าต่างฝ่ายมหาดเล็ก เดินผ่านหลายห้อง และดื่มไวน์ขาวไปครึ่งขวดก่อนจากไป จนกระทั่งสี่สัปดาห์ต่อมา เขากลับมาอีกครั้งและพบกับพระราชินี ในซีรีส์จะเล่าว่าชายคนนี้ต้องการบอกกับประมุขแห่งรัฐว่านางแทตเชอร์พาอังกฤษมาถึงจุดตกต่ำที่สุด เล่าว่าตัวเองตกงาน อีก 3 ล้านคนก็กำลังตกงาน เขาพยายามเขียนจดหมายถึงพระราชินี ไปแจ้งเรื่องกับ ส.ส. แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น และสักวันหนึ่งแทตเชอร์ก็จะทำให้พระราชินีตกงานด้วยเช่นกัน
“พวกนั้นบอกว่าผมมีปัญหาทางจิต แต่มันไม่ใช่ ผมแค่จน”
The Crown ตอน ‘Fagan’ ถือเป็นอีกหนึ่งตอนที่เสียดสีสังคม การเมือง ระบบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างน่าสนใจ เราจะพบว่าการโยนประชาชนไปมาของระบบราชการ คือเหตุการณ์ร่วมที่หลายคนทั่วโลกต่างต้องเคยเจอสักครั้ง และเมื่อพูดกับพนักงานแล้วไม่ได้ความ ประชาชนบางส่วนจึงตัดสินใจพูดกับคนที่มีตำแหน่งใหญ่กว่า มีอำนาจสั่งการหรือมีอำนาจตัดสินใจมากกว่าอย่างนายกรัฐมนตรีหรือพระมหากษัตริย์
ไมเคิล เฟแกน (ตัวจริง) ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการทางจิตและติดสารเสพติด ก่อนบุกเข้าพระราชวังบักกิงแฮมเขาเคยถูกจับในข้อหาค้าเฮโรอีน ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงคดีลักเล็กขโมยน้อย เมื่อข่าวการลอบเข้าวังขึ้นหน้าหนึ่ง สื่อจึงพากันไปสัมภาษณ์ครอบครัวของเฟแกนเพื่อถามหาสาเหตุการลอบเข้าวัง แม่ของเขากล่าวกับ The Sun ว่า เฟแกนมีน้องสาวสองคนชื่อเอลิซาเบธกับมาร์กาเร็ต (ชาวอังกฤษลงความเห็นว่าเป็นความบังเอิญที่ตลกร้าย) ส่วนคำบอกเล่าของพ่อกล่าวว่าเฟแกนเป็นพวก ‘คลั่งไคล้ราชวงศ์’ จนอาจเผลอคิดว่าตัวเองรู้จักพระราชินีดีกว่าใคร ทำให้รู้สึกสบายใจหากได้เล่าความกังวลของตัวเองให้ประมุขแห่งรัฐฟัง
รายงานอย่างเป็นทางการของสกอตแลนด์ยาร์ดยืนยันว่าพบเศษแก้วบนเตียง ผ้าปูเตียงของพระราชินีมีคราบเลือดของเฟแกนเพราะโดนเศษกระจกบาดนิ้ว การเข้าวังของเขาทำให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งถูกสั่งพักงาน อีกสองคนถูกปลดจากตำแหน่ง ส่วนเฟแกนไม่โดนตั้งข้อหาอาญาเพราะเขาทำผิดแค่ลอบเข้าพื้นที่ส่วนบุคคล ทำลายข้าวของ (ทุบกระจก) และดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่ในวังเท่านั้น
หลังออกจากโรงพยาบาลจิตเวชพาร์คเลน เฟแกนถูกถามถึงการลอบเข้าพระราชวังบักกิงแฮมหลายต่อหลายครั้ง แต่คำตอบของเขามักเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในปี 2012 เขาให้สัมภาษณ์กับ The Independent ถึงเหตุการณ์ลอบเข้าวังสองครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 7 มิถุนายน 1982 เข้าไปเดินเล่นอยู่ทั่วปราสาท เดินผ่านห้องนอนของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ แต่ตัดสินใจว่าจะไม่รบกวนพระองค์ จากนั้นเดินผ่านห้องที่ติดป้ายว่าเจ้าหญิงไดอาน่า ห้องเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ผ่านแกลเลอรีศิลปะอีกหลายห้อง และหยุดดูถังขยะที่เขียนว่า ‘corgi food’ จากนั้นจึงเดินออกจากตึก แล้วปีนรั้วออกไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เมื่อการลอบเข้าวังครั้งแรกทำได้ง่ายดาย สี่สัปดาห์ถัดมาจึงกลับมาอีกครั้งในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 9 กรกฎาคม เฟแกนกล่าวว่าเขาไม่คิดจะไปถึงห้องบรรทมของพระราชินี แต่เมื่อเดินหลงมาถึงแล้วจึงตัดสินใจก้าวไปตรงหน้าต่าง เปิดม่านให้แสงอาทิตย์สาดเข้ามาในห้อง การกระทำนั้นทำให้พระองค์ตื่นบรรทม ประโยคแรกที่ราชินีตรัสคือ “คุณมาทำอะไรที่นี่!?” พระองค์พยายามกดกริ่งเรียกหน่วยรักษาความปลอดภัย แต่พวกเขามาช้า นางจึงวิ่งออกจากห้องไปทั้งชุดนอน แต่บางครั้งเฟแกนก็เล่าว่าหลังพบพระราชินี เขาไปซ่อนอยู่ในตู้จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เข้ามาถึงห้องบรรทม
เมื่อถามถึงสาเหตุที่บุกเข้าไป เฟแกนตอบว่าไม่รู้จริง ๆ ทำไมตัวเองถึงเลือกทำแบบนั้น ตอนนั้นเพียงแค่รู้สึกเศร้ากับชีวิตคู่ที่พังทลายซ้ำร้ายยังคิดไม่ตกเรื่องการว่างงาน พร้อมกับต่อว่าระบบรักษาความปลอดภัยของวังว่าไม่ได้เรื่อง ทุกอย่างมันง่ายไปหมด และไม่อยากจะจินตนาการเลยว่าจะเป็นอย่างไรหากคนอื่นที่ไม่ใช่เขาเข้าถึงตัวพระราชินีได้สบาย ๆ แบบนี้
ช่วงเวลาเกือบ 10 นาที ที่มีโอกาสพบกับประมุขแห่งรัฐ เฟแกนตัวจริงไม่เคยเอ่ยว่าตัวเองวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลแทตเชอร์ หรือเตือนราชินีว่านายกรัฐมนตรีหญิงคิดผันตัวเองเป็นประธานาธิบดีแบบในซีรีส์ The Crown และปริศนาที่ว่าเฟแกนคุยอะไรบ้างกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ความจริงทั้งหมดได้ นอกจากตัวของนายเฟแกนและพระราชินี
ที่มา
https://www.netflix.com/th/title/80025678
https://www.vanityfair.com/hollywood/2020/11/queen-elizabeth-intruder-true-story-fagan-the-crown
https://www.cosmopolitan.com/uk/reports/a34626171/queen-intruder-bedroom-the-crown-michael-fagan/
https://hollywoodlife.com/feature/who-is-michael-fagan-4260291/
https://www.theguardian.com/theguardian/2012/sep/24/michael-fagan-buckingham-palace-archive-1982
Tags: The Momentum, Culture, ราชวงศ์อังกฤษ, เน็ตฟลิกซ์, The Crown, Michael Fagan, ไมเคิล เฟแกน, Netflix, ซีรีส์