หากไม่นับพื้นที่ในเขตขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้แล้ว เมืองที่ได้ชื่อว่าหนาวที่สุดในโลกก็คือ ออย์มยาคอน (Oymyakon) ในไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย ที่ซึ่งมีอุณหภูมิในฤดูหนาวโดยเฉลี่ย -50 องศาเซลเซียส

    ชื่อเมืองออย์มยาคอน แปลว่า ‘น้ำที่ละลาย’ มีเหตุผลมาจากต้นน้ำในบริเวณใกล้ๆ ที่เมื่อน้ำแข็งละลายจะเป็นลำธารให้คนเลี้ยงสัตว์แวะไปใช้เป็นแหล่งน้ำในวันอุ่นช่วงฤดูใบไม้ผลิ

ภาพ ออย์มยาคอน โดย Maarten Takens https://www.flickr.com/photos/takens/8684784715

อุณหภูมิเยือกหนาวที่สุดในออย์มยาคอนที่เคยวัดได้ในปี 1924 อยู่ที่ -71.2 องศาเซลเซียส ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนต์ ระบุว่า เป็นฤดูหนาวที่อันตรายมาก หากว่าต้องสวมแว่นตาเดินออกจากบ้าน เพราะแว่นตาจะแข็งติดใบหน้าของผู้สวมใส่ได้ แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ ที่มาพร้อมกับอากาศหนาวแบบสุดขั้ว

    ยังมีเรื่องอื่นๆ ในชีวิตที่ชาวเมืองออย์มยาคอนต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับอากาศหนาว อย่างเช่น พื้นผิวถนนที่เกาะกุมด้วยน้ำแข็ง ทำให้ยากในการติดตั้งท่อระบายน้ำ ด้วยเหตุนี้ คนส่วนใหญ่จึงต้องสร้างส้วมหลุมไว้ที่นอกบ้าน ก่อนพิธีฝังศพทุกครั้งจะต้องก่อกองไฟเพื่อให้น้ำแข็งบนผิวดินละลาย ชาวเมืองที่มีรถยนต์จะต้องติดเครื่องทำความอุ่นไว้ในโรงรถ ส่วนรถที่หยุดจอดบนถนนจะต้องเปิดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะสตาร์ตไม่ติด เครื่องบินไม่สามารถลงจอดที่เมืองหรือภูมิภาคนี้ได้ในฤดูหนาว และที่เสี่ยงต่อชีวิตอย่างมหาศาล คือการอยู่ข้างนอกโดยปราศจากเครื่องนุ่งห่มที่มิดชิด แม้เพียงไม่กี่นาที

  สาเหตุเพราะความเยือกหนาว ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกพืชอะไรในออย์มยาคอนได้ ชาวเมืองจึงบริโภคเนื้อเป็นหลัก และแน่นอน-เนื้อแช่แข็ง และส่วนใหญ่นิยมรับประทานแบบดิบ

  ฤดูร้อนในออย์มยาคอนอากาศค่อนข้างอุ่น อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 15-20 องศาเซลเซียส บางปีสูงสุดถึง 30 องศาเซลเซียส และเป็นช่วงเวลาค่อนข้างสั้น แต่ก็น่าแปลกตรงที่ชาวเมืองนี้ชอบฤดูหนาวมากกว่าฤดูร้อน

 

ความเยือกหนาวติดอันดับของเมืองที่เหลือ

      นอร์ธ ไอซ์ (North Ice) ประเทศกรีนแลนด์ มีสถานีวิจัยสภาพอากาศ ตั้งอยู่บนภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ อุณหภูมิหนาวสุดวัดได้เมื่อปี 1954 อยู่ที่ -65.9 องศาเซลเซียส

    สแน็ก (Snag) เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในเขตยูคอน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแคนาดา ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่เหน็บหนาวที่สุดของทวีปอเมริกาทั้งหมด สามารถวัดอุณหภูมิต่ำสุดได้ที่ -63 องศาเซลเซียสเมื่อปี 1947 แม้ว่าในอาณาเขตนี้เคยขึ้นชื่อเรื่องเหมืองทองในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่เพราะความเยือกหนาวของอากาศ ทำให้นักขุดทองต้องพากันอพยพ ทิ้งให้เป็นสถานที่รกร้าง นอกจากนั้น ในปี 1950 ยังเคยมีเครื่องบินเล็กมาสูญหายในแถบนี้ และไม่เคยมีใครเคยพบซากหรือร่องรอยของมันอีกเลย

ภาพ สแน็ก โดย RichardBH (ถ่ายเมื่อปี 1973) https://www.flickr.com/photos/rbh/4886164146

ยูเรกา (Eureka) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศแคนาดา ที่นี่มีศูนย์วิจัยสภาพอากาศขนาดเล็กบนคาบสมุทรฟอสไฮม์ นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จำนวน 8 คนแล้ว ก็ไม่มีประชากรใดอื่น อุณหภูมิในฤดูหนาวปกติวัดได้ -40 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอุณหภูมิแทบไม่แตกต่างกัน พบว่ามีน้อยครั้งที่จะอุ่นกว่า -20 องศาเซลเซียส

ภาพ ยูเรกา โดย ceedub13 https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Eureka_airport_road.jpg

อูลานบาตอร์ (Ulaanbaatar) ประเทศมองโกเลีย ถูกจัดให้เป็นเมืองหลวงที่แห้งและหนาวที่สุดของโลก มีแสงแดดต่อปีเต็มที่ไม่เกิน 260 วัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ -2 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาวราว -25 องศาเซลเซียส มีประชากรอาศัยอยู่เกือบ 1.5 ล้านคน ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงช่วงฤดูหนาว และตระเวนไปตามที่ต่างๆ ในช่วงเดือนที่เหลือของปี

ภาพ อูลานบาร์ตอร์ โดย ชนิษฎา ศรีบุญเรือง https://themomentum.co/happy-travel-ulaanbaatar

อัสตานา (Astana) เมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐคาซักสถาน แม้อุณหภูมิเฉลี่ยจะไม่เหน็บหนาวเท่าอูลานบาตอร์ แต่ในค่ำคืนของฤดูหนาว บางคราวอุณหภูมิอาจลดลงถึง -40 องศาเซลเซียส จุดหนาวสุดที่เคยวัดได้คือ -52 องศาเซลเซียส นับเป็นเมืองหลวงที่หนาวที่สุดอันดับสองของโลก

ภาพ อัสตานา โดย Ninara https://www.flickr.com/photos/ninara/8239492922/

ฟุนเทนเซ (Funtensee) พื้นที่หนาวสุดของยุโรปกลางอยู่ในเยอรมนี บริเวณทะเลสาบฟุนเทน ในเขตอุทยานแห่งชาติแบร์ชเทสกาเดน รัฐบาวาเรีย ซึ่งเคยวัดอุณหภูมิต่ำสุดได้ -45.9 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูหนาวเมื่อปี 2001 แต่นั่นไม่ใช่สถิติความหนาวครั้งแรกและครั้งเดียวที่ได้รับการบันทึก นอกจากนั้น ในอาณาบริเวณทะเลสาบฟุนเทนยังมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เพราะบนพื้นที่เหนือทะเลสาบขึ้นไปอีกเพียง 100 เมตรอากาศจะอุ่นกว่ามาก…อย่างไม่น่าเชื่อ

ภาพ ฟุนเทนเซ โดย Hauke Musicaloris https://www.flickr.com/photos/musicaloris/35052353691

 

 

อ้างอิง:
The Weather Channel
www.reiseblogonline.de

Tags: , , , , , ,