‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ ถูกบัญญัติว่าเป็นวัฏจักรสังขารของมนุษย์ที่ใครก็ไม่สามารถหลีกหนีได้พ้น ทว่าที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่า เราสามารถชะลอการเกิดสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่เว้นแม้แต่ความเจ็บป่วย

เมื่อก่อนผู้คนอาจเชื่อว่าการเป็น ‘โรค’ เปรียบเหมือนชะตากรรมที่ฟ้ากำหนดมา เราทำได้เพียงแค่ก้มหน้ารับชะตานั้นด้วยความจำนน โดยหารู้ไม่ว่า กุญแจดอกสำคัญในการไขรหัสลับของชีวิตก็คือ ‘DNA’ ที่ไหลเวียนอยู่ในตัวเรานี่เอง 

ความมหัศจรรย์ของ DNA สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่ามนุษย์แต่ละคนมีความเสี่ยงจะเกิดโรคอะไรบ้าง และควรดูแลสุขภาพอย่างไร เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหล่านั้น นี่เป็นเทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำที่กำลังเข้ามาพลิกโฉมระบอบสาธารณสุขแบบเก่าไปอย่างสิ้นเชิง 

ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของข้อมูลทาง DNA ดร.นพ. สาครินทร์ บุญบรรเจิดสุข และ ดร.จาริกา มากคช ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมเป็นทุนเดิม จึงรวมตัวกับทีมงานคนอื่นๆ ก่อตั้ง บริษัท Genfosis ขึ้นมา เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพลงลึกถึงระดับ DNA แก่คนไทย 

หลังดำเนินงานมากว่าหนึ่งปี พวกเขาเห็นอะไรบ้างจากการผลักดันตรงนี้ โรงพยาบาลให้การตอบรับแค่ไหน ตลอดจนความรับรู้ของคนไทยต่อการตรวจ DNA คืบหน้าไปอย่างไร

 

ตามความเข้าใจของคนทั่วไปที่ว่า ‘DNA สามารถพยากรณ์โรคได้’ อธิบายให้ฟังหน่อย แท้จริงแล้ว DNA คืออะไร 

จาริกา: เมื่อพูดว่าองค์กรนี้มี DNA แบบนี้มันคือเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนกันกับในตัวเราซึ่งมีสารหนึ่งที่ชื่อว่า DNA คอยเป็นตัวบอกว่าสิ่งมีชีวิตนี้คืออะไร หมาก็มี DNA แบบหนึ่ง กล้วยหอมหรือเมล็ดกาแฟก็มี DNA แบบหนึ่ง คนก็มี DNA แบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนทุกคนจะมี DNA ที่คล้ายๆ กันอยู่ ซึ่งคนเรามี DNA เหมือนกัน 99.9% แต่อีก 0.1% ทำให้คนเกิดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น คนนี้ตาสองชั้น คนนี้หมู่เลือดอะไร รวมไปถึงว่าคนนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไร 

สมัยก่อนเราอาจคิดว่าเป็นคนเป็นมะเร็งเพราะความซวย แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมาถึงจุดที่รู้แล้วว่าจริงๆ ไม่ใช่ความซวย มันมีสิ่งที่อยู่ใน DNA เป็นตัวบอกได้ว่าคนๆ นี้เสี่ยงอะไร เสี่ยงโรคอะไร เสี่ยงแพ้อาหาร แพ้ยาอะไร ข้อมูลสามารถบอกได้ถึงขนาดนั้นเลย แต่ DNA ไม่ได้เป็นตัวบอกว่าคุณต้องเป็นมะเร็งแน่ๆ มันแค่สามารถได้บอกว่าคุณอาจจะเสี่ยงกว่าคนอื่นๆ ดังนั้น คุณต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตยังไงไม่ให้เสี่ยง 

ถ้าเปรียบเทียบกับการดูหมอ ปกติหมอดูจะชอบพูดว่าชีวิตคนมีอยู่ 3 ส่วน ฟ้า ดิน คน ฟ้าคืออะไรที่เราเกิดมาพร้อมกับมัน เป็นพื้นดวง เป็นชะตา แก้ไม่ได้ ดินคือฮวงจุ้ย และคนก็คือพฤติกรรม ลักษณะเหมือนกันเป๊ะ DNA ก็คือฟ้า เราเกิดมาพร้อมกับมันแก้ไม่ได้ ถ้าจะแก้ต้องไปปรับในส่วนที่เป็นสภาพแวดล้อมหรือปรับพฤติกรรมเรา อันนี้คือคอนเซ็ปต์ของเทคโนโลยี DNA ที่เราเอามาปรับใช้กับสุขภาพ

สาครินทร์: มันเป็นแนวทางการแพทย์สมัยใหม่ที่เรียกว่า ‘Precision Medicine’ หรือการแพทย์แม่นยำ แนวทางนี้เขาจะมองว่าปัจจัยของการเกิดโรคมีอยู่ 3 อย่าง 1. พันธุกรรม 2. สภาพแวดล้อม 3. การใช้ชีวิต ทุกโรคจะมี 3 ปัจจัย เพียงแต่ว่าปัจจัยไหนจะเด่นในโรคไหน อย่างเช่น โรคธาลัสซีเมียหรือโรคเลือดจาง เกิดจากพันธุกรรมเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นเลย สิ่งแวดล้อมกับการใช้ชีวิตแทบจะไม่มีผล แต่ในบางโรคอย่าง เช่น โรคอ้วน เมื่อก่อนอาจคิดกันว่าโรคอ้วนเกิดจากการกินเยอะอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วพันธุกรรมก็มีส่วน ถ้ารู้ DNA เราสามารถปรับพฤติกรรมของตัวเองได้ 

จาริกา: เพราะฉะนั้น ในแนวการแพทย์ยุคใหม่รู้ก่อนว่าเราเสี่ยงอะไร เราก็ไปป้องกันตรงนั้น โดยการปรับพฤติกรรม สมัยก่อนเราต้องป่วยก่อนถึงไปโรงพยาบาล แต่ทุกวันนี้เราไม่จำเป็นต้องตรวจเจอมะเร็งก่อนถึงค่อยไปรักษา เราสามารถรู้ความเสี่ยงได้ก่อนว่าเราเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง 

สมมติเราเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ ปกติคนอายุ 40-50 ปี หมอจะแนะนำใช่ไหมว่าให้ตรวจสุขภาพนะ ต้องส่องกล้อง 5-10 ปี แต่ถ้าคุณมาพร้อมข้อมูล DNA แทนที่จะไปรอส่องกล้อง 5 ปี แล้วเจอมะเร็ง คุณสามารถส่องกล้องทุกปีเพื่อเช็กมะเร็งให้บ่อยขึ้นได้ ถ้าเจอแค่นิดเดียวจะได้แก้ไขทัน ไม่ต้องรอให้เป็นก้อนเนื้อใหญ่โตหรือพัฒนาเป็นมะเร็ง และค่ารักษาในการป้องกันก็ถูกกว่ามากๆ ถ้าเป็นมะเร็งค่ารักษา 2-3 ล้านแน่ๆ กว่าจะคีโม กว่าจะฉายรังสี แต่ถ้าเรารู้ก่อนแล้วไปส่องกล้องทุกปี ค่าส่องกล้องมันถูกกว่าอยู่แล้ว 

สาครินทร์: ผลการรักษาก็ดีกว่า ถ้ารักษาตั้งแต่ระยะต้นในช่วงแรก 

คล้ายว่าการแพทย์ลักษณะนี้สามารถพลิกโฉมระบบสาธารณสุขได้เลย 

จาริกา: ใช่ การดูแลรักษาร่างกายตามการแพทย์แม่นยำ หรือการตรวจ DNA ช่วยให้เราพยากรณ์โรคได้ก่อนว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับคุณ แล้วคุณก็ค่อยไปปรับการใช้ชีวิต ปรับการตรวจเช็กร่างกาย โรงพยาบาลเองก็ไม่ต้องดูแลผู้ป่วยหนัก ซึ่งระบบการรักษาแบบรอให้เกิดโรคมันทรมานทั้งผู้ป่วยและญาติพี่น้องของเขา การแพทย์แม่นยำจึงค่อนข้างเซฟทุกส่วน

นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะทำ Genfosis รู้สึกว่าข้อมูล DNA สามารถจะเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขได้ เราจึงอยากเข้าไปมีส่วนผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้คนเราได้รับการรักษาเหมือนๆ กัน ปวดหัวเหรอ เอาพาราฯ ไปคนละ 2 เม็ด แต่เทคโนโลยีการแพทย์ทำให้เรารู้ว่า One size doesn’t fit all คนเรามีความต่างกันตั้งแต่แรก คนเราไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเหมือนๆ กัน 

เอาง่ายๆ เช่น ข้อมูลการแพ้ยา ถ้าเราเช็กข้อมูลการแพ้ยาของทุกคน แล้วเราให้ข้อมูลได้เลยว่าคนๆ นี้เสี่ยงจะแพ้ยาอะไรบ้าง ตัวยาที่แพ้ทุกอันอยู่บัตรของโรงพยาบาล หรืออยู่ในบัตรประชาชน คุณเป็นอะไรขึ้นมา เอาบัตรนี้ให้ดู หมอจะรู้ว่าควรจะใช้ยาอะไรในการรักษา ดังนั้น เราจึงมองว่าข้อมูล DNA เป็นการแพทย์อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้มีแค่ Telehealth เรายังมีการรักษาจำเพาะบุคคลอีก

ไม่ใช่เรื่องของการรักษา แต่เป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็สามารถใช้ข้อมูล DNA ได้เหมือนกัน อย่าง สกินแคร์ ถ้าเรารู้ว่าผิวเราเป็นยังไง เสี่ยงแพ้อะไร เราก็ไม่ต้องลองใช้ไปก่อนแล้วรอให้เกิดอันตรายกับใบหน้าเรา หรือถ้าเราอยากจะลดความอ้วน การเลือกว่าจะกินอะไรดีระหว่างกาแฟดำหวานปกติกับกาแฟนมแต่ไม่หวานเลย ระหว่างน้ำตาลกับไขมัน อะไรทำให้เราอ้วนได้มากกว่า จริงๆ DNA บอกได้นะ หรือถ้าเราจะกินอาหารเสริมอะไรสักตัวหนึ่ง อยากเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย DNA บอกได้เหมือนกันว่าสารอะไรที่เราต้องการเพิ่มเติม อะไรที่ได้รับพอเพียงอยู่แล้วไม่ต้องไปกิน เพราะฉะนั้น มันเป็นการดูแลตัวเองได้ทั้งในโรงพยาบาลและชีวิตประจำวัน

ในการแพทย์สมัยใหม่หรือสาธารณสุขสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนกินอะไรเหมือนๆ กัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เหมือนๆ กัน เพราะมันได้ผลลัพธ์ต่างกันอยู่แล้ว นั่นเป็นสิ่งที่เราอยากให้คอนเซ็ปต์นี้ถูกนำไปปรับใช้กับทุกๆ อุตสาหกรรม อาจจะเริ่มจากอุตสาหกรรมการแพทย์ก่อน แต่ว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสามารถใช้ได้หมด และ Personalize Marketing หรือการตลาดเฉพาะบุคคล ก็ไม่มีอะไรจะเฉพาะบุคคลไปมากกว่า DNA แล้ว 

ข้อมูลทาง DNA สามารถตรวจครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิตเลยหรือเปล่า 

สาครินทร์: ใช่ครับ DNA ตรวจครั้งเดียวสามารถใช้ไปได้ตลอดชีวิต ถ้าตรวจตั้งแต่ตอนเด็กว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง แต่พออายุ 80 ปี ไม่เป็น ก็แสดงว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตเขาดี ถึงแม้จะมีความเสี่ยง เราไม่ได้รู้เพื่อให้กลัวนะ เรารู้เพื่อป้องกัน เหมือนกับคอนเซ็ปต์ของ Big Data ยิ่งถ้าเรารู้ข้อมูลเยอะ ก็ยิ่งสามารถวางแผนในทุกธุรกิจต่างๆ ได้ เราให้ข้อมูลคุณเพื่อให้คุณดูแลสุขภาพ เรามีหน้าที่ให้ข้อมูลว่าคุณเสี่ยงแบบนี้ๆ คุณต้องการอาหารแบบนี้ๆ สิ่งที่คุณจะทำได้คือไปปรับพฤติกรรมให้เป็นนิสัย 

จาริกา: เรารู้ก่อน รู้ไว้เพื่อจัดการตั้งแต่แรก จะได้ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง 

ก่อนจะมาทำงานตรงนี้ ทั้งสองคนเคยมีประสบการณ์ส่วนตัวที่เชื่อมโยงกับการตรวจ DNA ไหม 

สาครินทร์: เดิมทีผมเป็นหมอเฉพาะทางหู คอ จมูก ปาก ตอนนั้นก็ตรวจคนไข้เหมือนหมอทั่วไป แต่จุดเปลี่ยนคือผมไปเรียนต่อปริญญาเอกเรื่อง Molecular ซึ่งเกี่ยวกับยีน เกี่ยวกับ DNA ผมก็คิดว่าเป็นศาสตร์ที่เจ๋งดีนะ เพราะเรารู้ลึกไปถึงระดับ DNA เลย และเราสามารถเอามาใช้ได้จริงในทางการแพทย์ทั่วโลก ทีนี้พอเรียนจบมีโอกาสได้เข้าไปทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับโครงการตรวจ DNA ชื่อว่า Genomics Thailand ซึ่งจะทำการตรวจ DNA คนไทย แต่ตอนนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เมื่อเข้าไปทำผมรู้สึกว่ามันเป็นโครงการที่ดี คนไทยก็เริ่มสนใจ เลยมองเห็นโอกาสตรงนี้ จึงรวมทีมน้องๆ มาทำ Genfosis ด้วยกัน 

จาริกา: ส่วนเรามาจากสายวิจัย เมื่อทำงานวิจัยเราก็หวังอยากให้คนที่อยู่ในชีวิตประจำวันสามารถใช้งานของเราได้ ทีนี้พอเรียนจบ เราได้ไปเจออาจารย์ท่านหนึ่งที่ศิริราช อาจารย์เขาบอกว่ามีโครงการเกี่ยวกับ DNA อยู่ อยากให้ภาคเอกชนของไทยช่วยผลักดันให้ธุรกิจแบบนี้เกิด เนื่องจากข้อมูลเรื่องของ DNA เป็นข้อมูลที่ควรจะมีเป็นของประเทศ และก็ควรที่จะปรับใช้กับระบบสาธารณสุขของประเทศโดยทีมของคนไทย ดังนั้น มันจึงตรงกับความรู้สึกข้างในเราแต่แรกที่ว่า เราอยากทำอะไรให้คนได้ใช้ประโยชน์และเห็นผลกับมันจริงๆ

แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเชื่อใน DNA มากๆ คือประสบการณ์ส่วนตัวของเราเอง เราแต่งงาน แต่ยังไม่อยากมีลูกตอนนี้ เราจึงไปทำการเก็บไข่เอาไว้ ซึ่งเวลาเก็บไข่เขาจะให้เราฉีดฮอร์โมนเพื่อให้ไข่โตแล้วก็ดูดออกมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราได้รับฮอร์โมนมากเกินไป ตามปกติ เวลาที่เราฉีดฮอร์โมนทุกคนไม่ควรที่จะได้รับโดสเหมือนๆ กัน และอาจจะด้วย DNA ของเรามีความไวกับฮอร์โมนตรงนั้นมากเกินไป เลยกลายเป็นว่ารังไข่เราโตมากผิดปกติ พอเราดูดไข่ออกมาจึงเกิดอาการแทรกซ้อน กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตจนต้องเข้าโรงพยาบาลฉุกเฉิน 

ย้อนกลับไป ถ้าเรามีข้อมูล DNA ก่อน แล้วเรารู้ว่าเราต้องใช้ยาตัวนี้ในโดสที่ต่ำกว่าคนอื่นเขา ก็คงจะไม่เกิดเหตุฉุกเฉินแบบนั้นขึ้นมา เราเลยรู้สึกว่า DNA เป็นข้อมูลสำคัญที่ทุกคนต้องมี 

ณ ปัจจุบัน การตรวจ DNA ในโรงพยาบาลมีให้บริการในรูปแบบใดบ้าง 

สาครินทร์: การตรวจ DNA มีอยู่สองสาย คือสายที่เป็นเกี่ยวกับโรค เช่น ตรวจความเสี่ยงโรคมะเร็ง หรือเลือกยามุ่งเป้าที่รักษามะเร็ง อันนี้มีการใช้ในโรงพยาบาลแล้ว กับอีกอันเราอาจจะเคยได้ยินคนท้องไปตรวจว่าลูกเป็นดาวน์ซินโดรมหรือเปล่า พวกนั้นคือการตรวจโดยใช้ Molecular หรือยีน ส่วนในเรื่องการตรวจ DNA เพื่อการดูแลสุขภาพ ในเมืองไทยเพิ่งเริ่มมีเข้ามา 

จาริกา: ทาง Genfosis จึงคิดว่าต้องมีบริการแบบนี้เป็นของตัวเอง ในเมืองไทยควรมีบริษัทวิเคราะห์ DNA ของคนไทย โดยเฉพาะเพื่อความแม่นยำ เรื่องเชื้อชาติมีผลนะ DNA ของเรากับฝรั่งไม่เหมือนกัน ดังนั้น ข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์จึงสำคัญ แต่ตอนนี้ฐานข้อมูลคนไทยยังไม่พร้อม เราจึงต้องใช้ฐานข้อมูลของเอเชีย โปรแกรมซอฟต์แวร์ของเราสามารถเลือกเชื้อชาติได้เลย เพราะเราเข้าใจว่าเชื้อชาติมีความสำคัญ คราวนี้ในเรื่องของจุดเริ่มต้นที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพของไทย จริงๆ แล้วมีอยู่สองทางแยก 

ในต่างประเทศ เขาจะมีชุดตรวจ DNA ส่งมาที่บ้าน แต่เรามองว่าถ้าเราเป็นแบบนั้นตั้งแต่ทีแรก สุดท้ายการตรวจ DNA จะไม่สามารถเข้าไปควบรวมกับบริการต่อยอดของโรงพยาบาลได้ ดังนั้น เราจึงรู้สึกว่าการตรวจ DNA ในเชิงป้องกันโรคหรือพยากรณ์โรคแบบนี้ เราจะมุ่งทำงานกับโรงพยาบาลก่อน ขอให้โรงพยาบาลใช้เราก่อน เพราะคนที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เขาสามารถไปใช้บริการของโรงพยาบาลต่อได้ ไม่อย่างนั้นถ้าสมมติว่าเขาถือผลตรวจของเราเข้าไปโดยที่หมอไม่รู้จัก Genfosis หมอก็จะไม่เข้าใจว่าคุณไปตรวจอะไรมา ยอมรับได้เหรอ ผมไม่รักษาต่อให้นะ หากเป็นแบบนี้จึงค่อนข้างไปต่อยาก ดังนั้น สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ จึงเป็นการทำงานกับโรงพยาบาลในลักษณะเป็นซัพพลายเออร์ให้กับคลินิกหรือโรงพยาบาล เพื่อให้ผลตรวจของเราจะได้รับการยอมรับ และไปต่อในระบบสาธารณสุขของไทยได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการจะเปลี่ยน ซึ่งหลังก่อตั้งมาได้ 1 ปี เราก็เริ่มมีพาร์ตเนอร์เป็นโรงพยาบาลมากขึ้น ตามโรงพยาบาลทั้งหลายที่มีโฆษณาว่าดูแลสุขภาพด้วย DNA เบื้องหลังเป็นทีมเราช่วยดูแลอยู่

ส่วนใหญ่อะไรที่ทางคลินิกหรือโรงพยาบาลต้องการให้ Genfosis เข้าไปเสริม 

สาครินทร์: ปกติ การดูแลรักษาในปัจจุบันจะเป็นการตรวจเช็กสุขภาพประจำปี ตรวจเบาหวาน ตรวจน้ำตาล ตรวจตับ ตรวจไต ตรงนี้โรงพยาบาลเขามีอยู่แล้ว แต่การจะตรวจสุขภาพให้ลงลึกระดับ DNA เป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างใหม่ เขาจึงทำงานร่วมกับเราในแง่นี้ ผลที่ได้ก็จะไปประกอบรวมกันกับผลตรวจสุขภาพทั่วไป เพื่อช่วยในการดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยทางเราได้เข้าไปช่วยดูแล ให้การตรวจ ให้ข้อมูล รวมถึงช่วยฝึกอบรมบุคลากรที่เขาสนใจ เพราะความรู้ตรงนี้ค่อนข้างใหม่ เราจึงต้องมีการจัดฝึกอบรมอะไรด้วย หมอก็ต้องไปอบรมเหมือนกัน เพราะหมอส่วนใหญ่ไม่ได้รู้ตรงนี้ ยังเป็นความรู้ใหม่อยู่

จาริกา: ถ้าพูดในเชิงธุรกิจ โรงพยาบาลเองก็ต้องการสร้าง Engagement กับคนไข้เหมือนกัน หมายความว่าคนไข้ปัจจุบันนี้ เวลาเขาไปตรวจสุขภาพแต่ละครั้ง บางคนอาจจะเปลี่ยนโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับว่าโรงพยาบาลไหนมีโปรโมชัน ข้อมูลที่โรงพยาบาลแต่ละโรงพยาบาลจึงขาดความต่อเนื่อง แต่ถ้ามีโรงพยาบาลหนึ่งใช้ข้อมูล DNA และมีข้อมูล DNA ของคนไข้คนนี้อยู่แล้ว รู้ว่าคนๆ นี้ต้องทำอะไรต่อไป ต้องส่องกล้องทุกๆ กี่ปี ต้องเช็กค่าเลือด ต้องดูค่าตับเป็นพิเศษ สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ บริการของเราสามารถไปช่วยเสริมให้โรงพยาบาลมี Engagement กับคนไข้ได้มากขึ้น ทำให้คนไข้อยากใช้บริการโรงพยาบาลต่อเนื่อง เพราะโรงพยาบาลมีข้อมูลของเขาเก็บเอาไว้อยู่แล้ว 

นั่นเป็นเหตุว่าทำไมเราถึงหาพาร์ตเนอร์เป็นโรงพยาบาลให้ได้เยอะที่สุด ด้วยความหวังว่าเมื่อคนไทยถือผลตรวจ DNA ไป หมอที่ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าเจอคนไข้สามารถทราบได้ทันทีว่ายาตัวไหนบ้างที่คนไข้แพ้ หรือต้องดูค่าอะไร ต้องอัลตราซาวด์ตรงไหนเป็นพิเศษ ถ้าหมอรู้ข้อมูล DNA เขาจะรู้ว่าคนๆ นี้ต้องไปต่อกับบริการยังไง สมมติคนไข้มีการแพ้ยาเกิดขึ้น มันไม่ได้ซวยแค่คนไข้นะ หมอที่สั่งยาไปเขาก็ซวยเหมือนกันนะ 

การมีข้อมูล DNA ทำให้หมอทำงานได้ง่ายขึ้น การวิเคราะห์แม่นยำมากขึ้น ตรงจุด มีการรักษาที่ไม่ต้องลองของไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ เราก็มองหาพาร์ตเนอร์หลายส่วน ไม่ใช่แค่โรงพยาบาล เพราะการดูแลตัวเองสามารถเกิดได้ในทุกๆ วัน ดังนั้น ฝั่งของอาหาร ฝั่งสกินแคร์อะไรพวกนี้ เราก็พยายามเข้าหา

สาครินทร์: นอกจากฝั่งของโรงพยาบาล อีกฝั่งที่ Genfosis เน้นคือ ถ้าเรายังสุขภาพดี เราไม่ได้เป็นโรค แต่เราไม่อยากเข้าโรงพยาบาล เพราะ 1. เชื้อโรคเยอะ 2. เสียเงินเยอะ เราจะทำยังไงให้เรายังคงสุขภาพดี อันนี้ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ Genfosis เน้น คือการรู้ข้อมูล DNA เพื่อดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค 

ในต่างประเทศ ข้อมูลทาง DNA เข้าไปมีบทบาทต่อระบบสาธารณสุขขนาดไหน

จาริกา: เคสในต่างประเทศที่ค่อนข้างเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไปเลย คือเคสของ แอนเจลีนา โจลี สิ่งที่เขารู้ตั้งแต่แรกคือแม่เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม และคุณยายก็เสียชีวิตด้วยมะเร็งรังไข่ เขาเลยไปใช้บริการตรวจ DNA ปรากฏว่ายีนของเขาเป็นยีนกลายพันธุ์ หรือมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นจาก DNA ทำให้โอกาสเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านมสูงถึง 87% มีแค่ 13% เท่านั้นที่จะไม่เป็น ซึ่งค่อนข้างร้ายแรงมาก 

สิ่งที่เขาทำคือตัดความเสี่ยงนั้นออก ด้วยการตัดเต้านมแล้วก็เสริมใหม่ให้มันสวยงาม และถ้าเขาอยู่ในวัยหมดฮอร์โมน เขาก็จะเอารังไข่ออกไปด้วยเหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องการรู้ก่อนแล้วตัดสินใจ คอนเซ็ปต์แบบเดียวกันเลย รู้ก่อนว่าความเสี่ยงจะเป็นอะไร ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์การแพทย์แม่นยำ

ส่วนภาพรวมของเทรนด์การตรวจ DNA นั้น มีอยู่ 2 ฝั่ง คือเป็นการตรวจ DNA ที่ไม่ได้ผ่านโรงพยาบาล เป็นการตรวจว่ามีเชื้อชาติอะไร อย่างอเมริกาค่อนข้างจะให้ความสำคัญมากเรื่องนี้ เจ้าที่เป็นเจ้าหลักชื่อว่า 23andMe โดยจะเป็นรูปแบบสั่งชุดตรวจทางออนไลน์ไปตรวจที่บ้าน อาจจะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำด้วย แต่หลักๆ เป็นเรื่องของการตรวจที่บ้าน กับอีกฝั่งคือเข้าไปตรวจ DNA ที่โรงพยาบาลเลย ไม่ได้หมายความว่าฝั่งแรกไม่แม่นยำนะ แต่อีกฝั่งเป็นการตรวจเพื่อจะไปต่อกับบริการของโรงพยาบาล มันจะค่อนข้างแยกฝั่งกันอย่างชัดเจน ถามว่าใครใช้อะไรมากกว่า จริงๆ จุดประสงค์ต่างกัน ฝั่งที่เป็นการดูแลนอกโรงพยาบาลคือเราไม่ได้เป็นโรค เราป้องกันตัวเองก่อนจะเป็นโรค แต่ฝั่งโรงพยาบาลก็คือข้อมูล DNA มีประโยชน์ทั้งในการวินิจฉัยโรค การเลือกการรักษาที่ได้ผล จึงมีประโยชน์ทั้งฝั่งคนที่เป็นโรคแล้วและฝั่งคนที่ยังไม่เป็นโรค ซึ่งตอนนี้ เทรนด์การตรวจ DNA ในฝั่งตะวันตกค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ในฝั่งเอเชียก็เริ่มมาแล้ว แต่จะอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 

ตอนนี้มีทั่วโลกมีคนประมาณ 30 กว่าล้านคนที่มีรหัส DNA เป็นของตัวเอง ซึ่ง 70% เป็นฝั่งอเมริกากับยุโรป ฝั่งเอเชียยังค่อนข้างน้อยอยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าเชื้อชาติค่อนข้างมีผล สิ่งที่เราสนใจจึงเป็นเรื่อง DNA ของคนที่อยู่เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เพราะค่อนข้างมีความหลากหลายมาก เรามีทั้งคนจีนเข้ามา คนฝั่งลาวเข้ามา คนฝั่งมาเลย์เข้ามา มีเยอะเต็มไปหมด ซึ่งถ้าเราเก็บข้อมูลได้เยอะขึ้น จะทำให้เราแปลผลได้ค่อนข้างแม่นยำขึ้น เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของคนในฝั่งภูมิภาคตรงนี้มากขึ้นด้วย

เรามองว่าตรงนี้สำคัญมาก ถือเป็นโจทย์และความท้าทายของ Genfosis ด้วยในการรวบรวมข้อมูลตรงนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องการให้คำแนะนำ เพราะเวลาที่เราให้ผลตรวจ DNA เราไม่ได้ให้เปล่าๆ เราต้องให้คำแนะนำกับเขาว่าถ้าผล DNA คุณเป็นแบบนี้ คุณควรกินอะไร 

ถ้าเราเป็นบริษัทเมืองนอกเข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคุณต้องกินผักเคลนะ ต้องกินอาร์ติโชคนะ แล้วคนไทยจะไปหากินทุกมื้อได้ยังไง การให้คำแนะนำพวกนี้ต้องรู้วัฒนธรรมของคนในภูมิภาคนั้นด้วย วิธีคิดคนไทยก็ไม่เหมือนฝรั่งนะ คนไทยต้องการการดูแลต่อเนื่องมากกว่า ฝรั่งชอบค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง ไม่ต้องบอกฉันเยอะ แต่คนไทยไม่ใช่ คนไทยที่เริ่มดูแลสุขภาพเชิง DNA จึงค่อนข้างที่จะต้องการคำแนะนำ 

เราทำผลิตภัณฑ์นี้มาหนึ่งปี ตอนแรกเข้าใจว่าเขาน่าจะเข้าใจว่าต้องไปต่อยังไง แต่มันกลายเป็นว่าการไปต่อกับลูกค้าสำคัญกว่าที่คิด ไปต่อในที่นี้หมายถึงเอาผลไปใช้งาน เขาควรกินอะไร ออกกำลังกายยังไง คนไทยค่อนข้างต้องการการดูแลต่อเนื่องจากนั้นเยอะมาก แต่ถ้าเรามีข้อมูลของ DNA เรียบร้อยแล้ว คำแนะนำหลังจากนั้นจะง่ายขึ้นมาก 

ความรู้ความเข้าใจของคนในสังคมถือเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งไหม ที่ทำให้การตรวจข้อมูลทาง DNA ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไรนัก

สาครินทร์: ปัจจุบันนี้คนเข้าใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับแต่ก่อน แต่ก็ยังมีหลายส่วนที่ยังต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม เราก็พยายามสื่อสารอยู่ พยายามให้ความรู้ เป็นไปได้ก็อยากให้ DNA เป็นเหมือนความรู้ที่เข้าถึงง่าย สามารถนำไปใช้ได้จริง 

จาริกา: เราว่าแยกเป็นสองส่วนคือคนทั่วไปกับคนที่ใช้ ซึ่งก็คือโรงพยาบาล ฝั่งของโรงพยาบาลเริ่มจะเปิดรับมากขึ้น ถ้าย้อนกลับไป 20-30 ปีที่แล้ว การตรวจสุขภาพประจำปีไม่ได้รับการยอมรับนะ เพราะคนมีความรู้สึกว่าไม่ป่วยจะมาโรงพยาบาลทำไม แต่ ณ ปัจจุบัน ทุกคนรู้แล้วว่าตรวจสุขภาพประจำปีนั้นสำคัญ ตอนนี้เขาก็เริ่มที่จะยอมรับการตรวจ DNA เหมือนกัน 

ฝั่งของคนทั่วไป จริงๆ แล้วความเข้าใจยังค่อนข้างน้อย เขาจะรู้สึกว่าราคาค่อนข้างแพง เพราะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นยังไม่มีกระบวนการของรัฐเขามาสนับสนุน ทั้งที่จริงๆ การตรวจ DNA เป็นสวัสดิการพนักงานก็ยังได้นะ อย่างในอเมริกา บริษัทประกันจ่ายให้ส่วนหนึ่งเลย แล้วคุณก็ไปใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดี เพราะบริษัทไม่อยากจะมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล 2 ล้านหรอก หรือถ้าบริษัทมีโครงการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว โดยให้งบประมาณเราก้อนหนึ่งว่าจะเอาไปตรวจอะไร เขาอาจจะเลือกตรวจ DNA ก็ได้ การตรวจ DNA มันเป็นหนึ่งในแพ็กเกจของต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยเราพยายามผลักดันอยู่ เพราะหลายบริษัทให้สิทธิในการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว 

อย่างตอนนี้สถานการณ์โควิด วัคซีนเราไม่พอ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถ้าในหนึ่งบริษัทมีพนักงาน 100 คน ใครควรที่จะได้รับวัคซีนก่อน เราจะใช้เกณฑ์ธรรมดา เช่น อายุ โรคอ้วน อะไรแบบนี้ใช่ไหม แต่ความจริงแล้ว DNA สามารถบอกได้นะว่าใครเสี่ยงจะติดง่ายกว่ากัน หรือใครติดแล้วจะมีอาการมากกว่าคนอื่น ใครติดแล้วโคม่าแน่ๆ จริงๆ DNA สามารถบอกได้ ถ้าสมมติทุกคนรู้ DNA เราสามารถจัดสรรได้ว่าวัคซีนควรไปลงที่ใครก่อน ซึ่งก็ควรจัดสรรให้คนที่เสี่ยงจะมีอาการเยอะก่อน อันนี้เป็นส่วนที่ถ้าการตรวจ DNA มีราคาถูกลงกว่านี้ และมีมาตรการสนับสนุนบุคลากรหรือคนในประเทศมากกว่านี้ มันจะเอาไปปรับใช้ได้เยอะมาก

ราคาในการตรวจ DNA ก็ดูจะเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง ถ้าเทคโนโลยีการตรวจ DNA พัฒนามากขึ้นจนราคาถูกลงเหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆ จะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงได้การตรวจ DNA ได้มากแค่ไหน 

จาริกา: สมัยก่อน คนแรกที่เขาถอดรหัสพันธุกรรม DNA ออกมา เขาใช้เงินประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่เพียงแค่ 20 ปีมานี้ ราคามันถูกลงมาก จากเดิมต้องตรวจทีละคน เราได้พัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถตรวจได้พร้อมๆ กันเป็นสิบเป็นร้อยคนได้ พอทำเยอะขึ้น ราคาก็เฉลี่ยๆ กันไป ตอนนี้ต้นทุนถ้าถอดทุกๆ ตำแหน่งใน DNA เลยนะ ราคาอยู่ที่ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ก็คือ 3 หมื่นบาท แต่ถ้าดูข้อมูลเฉพาะตำแหน่งเหมือนของเรา เริ่มต้นแค่หลักหมื่นต้นๆ 

ถ้าเทียบว่าวันหนึ่งมันเคย 3 หมื่นล้านบาทมาก่อน ปัจจุบันเหลือแค่ 3 หมื่นบาท หรือ 1 หมื่นบาท มันก็ถูกมากแล้ว แต่ถ้าแล็ปในการตรวจถูกลงเรื่อยๆ ก็มีทางที่จะกลายเป็นบริการที่คนเข้าถึงง่ายขึ้น จริงๆ ค่าบริการตอนนี้ก็ไม่ได้ต่างกับการตรวจสุขภาพประจำปีที่เป็นแพ็กเกจพรีเมียมเท่าไหร่เลย

ปัจจุบันการตรวจ DNA ที่ทาง Genfosis ให้บริการมีอะไรบ้าง 

จาริกา: บริการของ Genfosis หลักๆ มีอยู่ 3 ประเภท ถ้าเป็นคนที่ครอบครัวมีประวัติอยู่แล้วหรือกำลังจะวางแผนครอบครัว เป็นแพ็กเกจ Legend ที่เราแนะนำ ซึ่งค่อนข้างจะใช้เทคโนโลยีที่ละเอียดกว่าอีกสองแพ็กเกจ เป็นตัวเดียวกับที่แอนเจลินา โจลีทำ ก็จะมีหมวดของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเพื่อการวางแผนครอบครัว แต่ถ้าเราดูแลสุขภาพปกติธรรมดา ไม่ได้มีประวัติครอบครัวอะไร จะเป็นแพ็กเกจ Health กับแพ็กเกจ Life 

Health จะเป็นเรื่องความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบประสาทและสมอง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงผลของยีนต่อการตอบสนอง ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยา ความเสี่ยงต่อความไวต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ แพ็กเกจนี้ค่อนข้างดังเหมือนกัน 

ส่วนแพ็กเกจ Life ก็จะเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ อาหาร สุขภาพ ความสวยความงามเป็นหลัก หรืออิทธิพลของ PM 2.5 ที่มีต่อสุขภาพของเรา เรื่องของความเครียด การนอนหลับอะไรแบบนี้ แต่บางโรงพยาบาลที่เป็นพาร์ตเนอร์อาจจะไม่ได้ให้บริการนี้เป๊ะๆ เพราะมีการปรับให้เหมาะสมด้วย เช่น หมอบางคนเป็นหมอเฉพาะทางโรคหัวใจ อาจจะไม่ได้ถนัดโรคไต และบางโรงพยาบาลเขาแยกตามโรคเลย 

คาดหวังอยากเห็นการตรวจ DNA เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการดูแลสุขภาพไทยอย่างไร

สาครินทร์: สำหรับผมแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ถ้าเป็นฝั่งของการแพทย์ ผมมองว่าตรงนี้เป็นแนวทางที่จะใช้ DNA มาเข้าสู่การรักษา เพียงแต่ว่าในเมืองไทยยังเป็นแนวทางเพิ่งเริ่มต้นอยู่ เนื่องจากเราเป็นภาคเอกชนคล้ายกับสตาร์ทอัพ ในอนาคตเราก็อยากผลักดันให้การตรวจหรือการใช้ข้อมูล DNA ครอบคลุมไปถึงการแพทย์วงกว้าง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาคเอกชน แต่อาจจะไปสู่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด โรงพยาบาลไกลๆ ที่เขาจำเป็นต้องใช้ ต้องตรวจ นี่เป็นสิ่งที่ผมฝันเอาไว้ กับอีกฝั่งเป็นเรื่องของสุขภาพระดับบุคคล เพราะเราอยากให้การดูแลสุขภาพดีขึ้น แม่นยำขึ้น ทุกคนจะได้มีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า 

จาริกา: สุดท้าย เรามองว่าชีวิตคนเราไม่ต้องการอะไรเยอะไปกว่าสุขภาพดี มีความสุข อายุยืน เราสามารถอายุยืนได้แน่นอน แต่ว่าอายุยืนในสภาพไหน บางคนอายุยืนแบบผัก เราไม่อยากเห็นตรงนั้น แล้วเชื่อว่าวันที่เรารู้ข้อมูลของ DNA มากขึ้นเท่าไหร่ คนก็ยิ่งรู้สึกว่าเขามีอายุยืนได้โดยมีสุขภาพที่ดีและมีความสุข 

Fact Box

  • Genfosis เป็นบริษัทที่นำเสนอการตรวจ DNA เฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยี Next generation sequencing และ Genome-wide SNP array ที่ทันสมัยและแม่นยำ พร้อมมีบริการให้คำปรึกษาสำหรับผู้รับบริการหลังการส่งมอบผล เพื่อต่อยอดบริการทางสุขภาพต่อไป 
  • ขั้นตอนการเก็บตัวอย่าง DNA ของ Genfosis จะเป็นการเก็บจากน้ำลาย โดยสามารถสั่งซื้อชุดตรวจทางออนไลน์ ก่อนจะส่งกลับมาให้ทางบริษัทวิเคราะห์แล้วรอผล สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.genfosis.com/
Tags: , , , , , , ,