ปี 1864 ที่รัฐเวอร์จิเนีย ระหว่างสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา สิบโท จอห์น แมคเบอร์นีย์ (โคลิน ฟาร์เรลล์) ทหารของฝ่ายสหภาพ ได้รับบาดเจ็บระหว่างการสู้รบ เขาหลบซ่อนตัวจากทหารของฝ่ายสมาพันธรัฐอยู่ในป่ารกร้างเพียงลำพัง ก่อนที่เด็กสาวคนหนึ่งจะเดินมาพบโดยบังเอิญ
จอห์นมีแผลฉกรรจ์จากสะเก็ดระเบิดที่ขาข้างซ้าย เขาคงจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ และสาวน้อยเอมี (โอนา ลอว์เรนซ์) ก็ทำใจไม่ได้ที่จะปล่อยเขาไว้ตามยถากรรม
เธอพาเขากลับไปที่โรงเรียนซึ่งเธอและผู้หญิงอีก 6 คนใช้เป็นที่พักอาศัย ที่นั่น บาดแผลของเขาได้รับการดูแลรักษาจนเกือบจะหายเป็นปกติ การปรากฏตัวของเขาทำให้สถานที่แห่งนั้นอบอวลไปด้วยรอยยิ้มและความมีชีวิตชีวา ส่วนตัวเขาเองก็วาดหวังที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นต่อไปโดยมีเพียงหญิงสาวรายล้อม
บรรยากาศในช่วงแรกของ The Beguiled ดำเนินไปอย่างอ้อยอิ่งเรียบเรื่อย บาดแผลและกำลังวังชาที่ดีขึ้นของจอห์นมาพร้อมกับเสน่ห์ที่เขาค่อยๆ หว่านกระจายสู่หญิงสาวที่รายรอบ
ในห้วงเวลานั้น จอห์นอาจจะรู้สึกว่าการตัดสินใจรับเงินแล้วเดินเข้าสู่สนามรบแทนคนอื่น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
แต่ภายใต้รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ คนดูคงคาดเดาไว้อยู่แล้วว่าจุดเปลี่ยนจะต้องปรากฏตัวในไม่ช้า และในค่ำคืนหนึ่ง หลังอาหารค่ำมื้ออร่อยและบทเพลงอันไพเราะ บรรยากาศของ The Beguiled ก็แปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
The Beguiled ฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2017 มันได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ และทำให้ โซเฟีย คอปโปลา คว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครอง
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีที่มาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ โทมัส พี. คูลลิแนน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1966 และเคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วเมื่อปี 1971
สำหรับผู้ชมจำนวนหนึ่ง The Beguiled อาจยัง ‘ไม่ถึง’ ในบางด้าน แม้บรรยากาศในช่วงหลังจะตื่นเต้นเร้าอารมณ์มากขึ้น แต่มันก็เหมือนกับการพุ่งทะยานแล้วกลับค่อยๆ มุดหัวลงก่อนไปถึงจุดสูงสุดที่คาดหมาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือฝีมือการแสดง ด้วยนักแสดงคุณภาพอย่าง นิโคล คิดแมน, เคียร์สเต็น ดันสต์, แอล แฟนนิง, โคลิน ฟาร์เรลล์ รวมทั้งนักแสดงเด็กอีก 4 คน ก็ทำให้ The Beguiled สอบผ่านได้โดยไม่ยาก
ในบรรยากาศของสงครามกลางเมืองที่อบอวลไปด้วยความรุนแรงและความวิตกกังวล ความศรัทธาในศาสนาอาจจะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผู้คนใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และสำหรับโรงเรียนหญิงล้วนที่แนบแน่นอยู่กับความศรัทธา การปรากฏตัวของทหารหนุ่มหน้าตาดีก็เป็นบททดสอบอันท้าทาย ซึ่งนำไปสู่ฝีมือการแสดงอันน่าชื่นชม
หนังเกริ่นถึงประเด็นนี้ตั้งแต่วันแรกที่จอห์นมาถึง เมื่อ มาร์ทา ฟาร์นสเวิร์ท (นิโคล คิดแมน) ผู้เป็นครูใหญ่ ต้องทำความสะอาดร่างกายของทหารหนุ่มที่สลบไสลไม่ได้สติ และเมื่อเขาฟื้นตื่นขึ้นมา เอ็ดวีนา มอร์โรว์ (เคียร์สเต็น ดันสต์) และอลิเซีย (แอล แฟนนิง) ครูและเด็กนักเรียนที่ต่างก็อยากออกไปเห็นโลกกว้าง ล้วนต้องเผชิญหน้ากับประเด็นนี้เช่นกัน
ในฐานะผู้นำของโรงเรียน มาร์ทาจำเป็นต้องกดข่มความรู้สึกและแสดงออกถึงการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ถึงแม้จะมีกันอยู่เพียงแค่ 7 คน แต่ในบรรยากาศของสงครามเช่นนี้ เธอไม่อาจยอมให้เสียงเรียกร้องจากภายในมีอำนาจเหนือการควบคุมจนเกินเลย
สำหรับทหารหนุ่ม เอ็ดวีนา มอร์โรว์ น่าจะเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมที่สุด ด้วยช่วงวัย แววตา และรอยยิ้มเล็กๆ เพียงเท่านี้ เขาก็มองเห็นแรงปรารถนาและความต้องการในชีวิตของเธอ แล้วเขาก็โปรยเสน่ห์ใส่เธอเต็มที่ แต่ในฐานะครูของโรงเรียน เอ็ดวีนาไม่อาจแสดงความรู้สึกของตัวเองได้อย่างเปิดเผย เธอทำได้เพียงเฝ้ามอง หาโอกาสพูดคุย และส่งยิ้มให้เขาเป็นระยะ
ต่างจากอลิเซีย สาวน้อยวัยแรกรุ่นที่อยากโบยบินออกไปเห็นโลกกว้าง เธอแสดงออกต่อจอห์นอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอรู้สึกอย่างไรกับเขา ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าเธออาจจะพอคาดเดาความรู้สึกของครูทั้งสองคนได้ แต่เธอก็ดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับมันไม่มากนัก
การกดข่มของมาร์ทา การแสดงออกเพียงบางส่วนของเอ็ดวีนา และการเปิดเผยอย่างเต็มที่ของอลิเซีย บวกรวมกับเสน่ห์ของชายหนุ่มผู้เป็นศูนย์กลางของแรงดึงดูด และความน่ารักในวัยเยาว์ของเด็กหญิงอีก 4 คน คือสิ่งที่นำพาคนดูเข้าสู่จุดเปลี่ยนของเรื่อง ซึ่งจะเผยแสดงให้เห็นอีกด้านของตัวละครแต่ละตัว
ตามพจนานุกรม beguile มีสองความหมาย คือ to interest and attract someone และ to persuade or trick someone into doing something
เมื่อดูจากความหมาย คำว่า beguile จึงไม่ได้มีความหมายไปในทางลบเสียทั้งหมด จากความตั้งใจแรกที่จะใช้คำว่า ‘ล่อลวง’ ในชื่อของบทความ ผมจึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘ความต้องการ’
เพราะเอาเข้าจริง การแสดงออกของตัวละครก็ล้วนมี ‘ความต้องการ’ อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจ ต่างกันก็เพียงแค่ ‘วิธีจัดการ’ กับความต้องการของแต่ละคน
Tags: beguile, แอล แฟนนิง, The Beguiled, โทมัส พี. คูลลิแนน, นิโคล คิดแมน, เคียร์สเต็น ดันสต์, โคลิน ฟาร์เรลล์