เช้าวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 สื่อหลายสำนักรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 10 พฤษภาคม ปรากฏข้อความปริศนา #ตามหาความจริง ถูกฉายด้วยลำแสงโปรเจ็กเตอร์บนผนังหรืออาคารสถานที่สำคัญหลากหลายจุด ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภา 2553 ทั้ง วัดปทุมวนาราม สยามพารากอน กระทรวงกลาโหม ซอยรางน้ำ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำครั้งนี้เป็นของกลุ่มใด แม้จะทราบโดยข้อความและสถานที่ว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ครบ 10 ปีของการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 

การฉายภาพหรือข้อความด้วยลำแสงของโปรเจ็กเตอร์เป็นทั้งการใช้งานในการสื่อสารทั่วไป หรืองานศิลปะ และในขณะเดียวกันเทคโนโลยีนี้ก็ถูกหยิบจับมาใช้สื่อสารในเชิงศิลปะการประท้วงแบบกองโจรโดยใช้การฉายโปรเจ็กเตอร์ หรือที่เรียกว่า ‘Guerilla Projection’ โดยที่ไม่อาจล่วงรู้ได้มาก่อนว่าจะเกิดขึ้นที่ใด เมื่อไร และบางครั้งก็ไม่อาจรู้ได้ว่าใครเป็นผู้ทำ 

ศิลปะการประท้วงแบบกองโจรโดยใช้การฉายโปรเจ็กเตอร์ หรือ ‘Guerilla Projection’ นี้ ในหนังสือเรื่อง Augmented Reality Art: From an Emerging Technology to a Novel Creative Medium เรียบเรียงโดย Vladimir Geroimenko ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า แม้จะไม่ทราบว่าผู้ใดหรือศิลปินคนใดเป็นผู้หยิบยืมนำมาใช้ในเชิงการประท้วงเป็นครั้งแรก แต่ผู้ที่ถือเป็นผู้นำและได้รับการจดจำในการใช้โปรเจ็กเตอร์มาเป็นสื่อศิลปะในการประท้วงทางการเมืองก็คือ คริสซตอฟ โวดิซโก (Krzysztof Wodiczko) ศิลปินชาวโปแลนด์ 

ผลงานอันโด่งดังของคริสซตอฟ โวดิซโกที่ถูกหยิบมาเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกก็คือ การฉายภาพมือของโรนัลด์ เรแกน ที่เห็นเฉพาะมือในเสื้อเชิ้ตสีขาวมีคัฟฟ์ลิงค์ติดอยู่บนอาคาร AT&T Long Lines ในนครนิวยอร์ก ในช่วงสี่วันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในปี 1984 และแน่นอนว่าโรนัลด์ เรแกน คว้าชัยชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้นไป 

หรือผลงานในปี 1985 เมื่อเขาฉายโปรเจ็กเตอร์รูปสวัสดิกะบนอาคารของสถานทูตแอฟริกาใต้ ในกรุงลอนดอน เพื่อประท้วงการต่อต้านแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ซึ่งแม้จะปรากฏให้เห็นไม่เกิน 2 ชั่วโมงก่อนที่ตำรวจจะมาถึง แต่ภาพข่าวนั้นก็แพร่กระจายไปทั่วโลก ในวันที่ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย 

ผลงาน Guerilla Projection ที่น่าสนใจที่ผ่านมา

นอกจาก #ตามหาความจริง ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ในอดีตมีการนำเอาศิลปะการประท้วงแบบกองโจรโดยใช้การฉายโปรเจ็กเตอร์มาใช้และเป็นที่จดจำ น่าสนใจหลายชิ้นด้วยกัน เช่นตัวอย่างต่อไปนี้ 

  1. การประท้วงพลังงานนิวเคลียร์ของกรีนพีซ

ในปี 1989 กลุ่มกรีนพีซประท้วงเรื่องอันตรายของพลังงานนิวเคลียร์โดยฉายข้อความ “We Have Nuclear Weapons on Board” (เรามีอาวุธนิวเคลียร์อยู่บนเรือ) ลงบนเรือ ARK ROYAL ในขณะที่เทียบท่าที่เมืองฮัมบวร์ก 

  1. 99% การประท้วงยึดวอลล์สตรีท

การประท้วงยึดวอลล์สตรีทในปี 2011 โดยชูประเด็น 99% ซึ่งหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่คือคน 99% ที่ถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากคน 1% ของสังคม โดยในการประท้วงครั้งนี้มีการฉายสัญลักษณ์สไตล์แบทแมน (Batman Signal) เป็นภาพตัวเลข 99% ขึ้นไปบนตึกสูง 32 ชั้น Verizon Building ที่อยู่ตรงข้ามสะพานบรูคลิน เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์การประท้วง

  1. Citizen Safety Law ประท้วงกฎหมายลงโทษการชุมนุมในสเปน

ในปี 2015 สเปนออกกฎหมายที่ชื่อ  Citizen Safety Law หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ The Gag Law ซึ่งนอกจากจะจำกัดสิทธิในการประท้วงตามกฎหมายแล้ว ยังมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ออกมาประท้วงอีกด้วย โดยการประท้วงหน้ารัฐสภาอาจมีโทษปรับสูงถึง 30,000 ยูโร จึงเกิดความเคลื่อนไหวที่ชื่อ  ‘NoSomosDelito’ (เราไม่ใช่อาชญากร) นำเอาเทคโนโลยีโฮโลแกรมฉายภาพผู้ประท้วงกว่า 2,000 คนเดินผ่านหน้ารัฐสภาในกรุงมาดริด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ถูกจับเพราะผู้ประท้วงเหล่านั้นเป็นภาพโฮโลแกรม

  1. Resist Trumpism Everywhere ประท้วงการมาเยือนอังกฤษของทรัมป์

การมาเยือนอังกฤษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018 ได้รับการต้อนรับอย่างเจ็บแสบจากกลุ่มที่เรียกว่า Bluman ด้วยการฉายโปรเจ็กเตอร์ด้วยคำว่า ‘Resist Trumpism Everywhere’ ไปทั่วเมือง ตั้งแต่ซุ้มประตู Houses of Parliament and Marble Arch สถานที่สำคัญอื่นๆ อย่าง Cable Street Mural 

  1. Racing Extinction ประท้วงการฆ่าสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์

การตายของสิงโตเซซิล ขวัญใจชาวโลก ในอุทยานแห่งชาติฮวางเก ในประเทศซิมบับเว ซึ่งถูกยิงตายด้วยฝีมือของทันตแพทย์อเมริกันที่ชื่อวอลเทอร์ พัลเมอร์ ในปี 2015 ซึ่งทำให้เกิดโปรเจ็กต์การฉายภาพสัตว์ที่เสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์บนตึกสูงในนิวยอร์กกว่า 160 ชนิด หนึ่งในนั้นมีภาพของเจ้าเซซิลด้วย แต่ที่จริงแล้วนี่เป็นผลงานของ Obscura Digital เพื่อโปรโมทสารคดีทางช่อง Discovery Channel เรื่องใหม่ ‘Racing Extinction’ อันว่าด้วยสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ 

  1. Columbia Protects Rapists ประท้วงมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

จากการที่นักศึกษาคณะศิลปะการแสดง เอ็มมา ซัลโควิกซ์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เดินแบกฟูกที่นอนเดินรอบมหาวิทยาลัยนานกว่า 1 ปี เพื่อประท้วงจากการที่เธอถูกนักศึกษาชายข่มขืนในหอพักนักศึกษา แต่ทางมหาวิทยาลัยโคลัมเบียไม่จัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น กลุ่มนักิจกรรมต่อต้านการข่มขืนที่ชื่อ  No Red Tape ร่วมกับกลุ่มศิลปิน The Illuminator ฉายข้อความ “Rape Happens Here” “Columbia Has a Rape Problem,” หรือ “Colunbia Protects Rapists” ในมหาวิทยาลัยเพื่อประท้วงการที่สิทธิของนักศึกษาหญิงไม่ได้รับการปกป้องจากมหาวิทยาลัย

อ้างอิง

http://www.takepart.com/article/2015/08/04/projection-protests 

https://www.avinteractive.com/news/projection/bluman-associates-supports-sumofus-anti-trump-london-protests-guerilla-projections-18-07-2018/ 

https://www.independent.co.uk/news/world/europe/spains-hologram-protest-thousands-join-virtual-march-in-madrid-against-new-gag-law-10170650.html 

http://www.blunderbussmag.com/a-call-to-arms-from-nycs-guerilla-superhero/ 

ภาพ : ตามหาความจริง ส่วนหนึ่งมาจากเฟซบุ๊ก Vinai Dithajohn

Tags: , , , ,